กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
อธิบายเรื่องพระมหาอุปราช


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

Second King



....................................................................................................................................................


อธิบายเรื่องพระมหาอุปราช


คำที่เรียกว่า อุปราช หรือ ยุวราช ตามตำราที่มาจากมัธยมประเทศ จะมาโดยมาทางข้างพระพุทธศาสนาก็ตาม หรือในทางข้างไสยศาสตร์ก็ตาม ยุติต้องกันว่า เป็นผู้ที่พระเจ้าแผ่นดินอภิเษกไว้รับรัชทายาท เพราะฉะนั้นโดยปกติย่อมเป็นสมเด็จพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งตั้งขึ้นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ บัญญัติเรื่องอุปราชนี้แปลกอยู่

กฎมณเฑียรบาลที่พิมพ์ในบานแพนกว่าตั้งเมื่อปีชวด จุลศักราช ๗๒๐ คือในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้นผิด จุลศักราช ๗๒๐ นั้นเป็นปีจอ มิใช่ปีชวด ที่จริงควรเป็นปีชวด จุลศักราช ๗๘๐ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งมีพยานเห็นได้ในกฎหมายนั้นเองที่กล่าวศักดินาๆเป็นของตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ยังไม่มี

ในกฎมณเฑียรบาลว่า "พระราชกุมารอันเกิดจากอัครมเหสีคือหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า พระราชกุมารเกิดจากแม่ยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช" ดังนี้ ทำให้เข้าใจว่าพระราชกุมารที่จะอภิเษกเป็นรัชทายาทนั้น ถ้าเกิดจากพระอัครมเหสีเรียกหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า ถ้าเกิดจากพระมารดาซึ่งมีบรรดาศักดิ์ชั้นรองลงมาจึงเรียกว่าพระมหาอุปราช และมีเรื่องในพระราชพงศาวดารประกอบกฎหมายนี้แห่ง ๑ คือเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงตั้งพระอาทิตยวงศ์ให้เป็นรัชทายาท เมื่อไปครองพิษณุโลกมีพระนามตามเรียกในฉบับหลวงประเสริฐว่า "สมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้า" ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม เรียก "สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร" แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเรียก "สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร" ที่ถูกข้าพเจ้าเห็นว่าควรเป็นหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าพระบรมราชา คือ ตั้งให้เป็นหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าตามกฎหมายนั้นเอง มีพระนามที่เป็นเจ้าครองเมืองว่า พระบรมราชา อย่างได้เคยมีมาแต่ก่อนหลายพระองค์ แต่การตั้งพระมหาอุปราชในพระราชพงศาวดารปรากฏครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อทรงตั้งพระราชโอรส ซึ่งฉบับหลวงประเสริฐเรียกว่า พระเชษฐา คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ให้เป็นพระมหาอุปราช แต่คำที่ใช้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร เห็นจะเอายุติเป็นแน่ไม่ได้ว่าองค์ไหนเป็นหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า องค์ไหนเป็นพระมหาอุปราช เพราะเป็นของแล้วแต่ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารจะเขียนลงไปตามความเข้าใจของตน

ในกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือน ซึ่งตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหมือนกัน ยังมีตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ คน ๑ เรียกว่า เจ้าพระยามหาอุปราช ชาติวรวงศ์ องค์ภักดีบดินทร์ สุรินทรเดโชไชย มไหศุริยศักดิอาญาธิราช ขุนนางในตำแหน่งนี้พบในหนังสือเก่าว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังมีตัว แต่อำนาจหน้าที่อย่างไรไม่ปรากฏที่อื่น นอกจากนี้ในหนังสือของ มองสิเออร์ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวไว้ว่า เจ้าพระยามหาอุปราช เป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไม่อยู่ และมีบรรดาศักดิ์สูงนั่งเฝ้าได้ไม่ต้องหมอบ ได้ความแต่เท่านี้ ตำแหน่งพระมหาอุปราชที่มีทั้งยศเจ้า และศขุนนางดังปรากฎในจดหมายเช่นนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ประเพณีไทยแต่เดิมมาพระราชกุมารที่จะได้รับรัชทายาท คงจะเป็นพระมหาอุปราชทั้งนั้น บรรดาศักดิ์หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า และเจ้าพระยามหาอุปราชเป็นของที่ตั้งขึ้นทีหลัง แต่จะตั้งขึ้นด้วยเหตุใดข้าพเจ้ายังคิดไม่เห็น

พระมหาอุปราช (จะเรียกหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าก็ตาม หรือจะเรียกพระมหาอุปราชก็ตาม) ผู้ซึ่งได้รับอภิเษกเป็นรัชทายาทนั้น ในชั้นเดิมคงจะเป็นแต่พระราชโอรส และคงจะมีทุกรัชกาล เว้นเสียแต่ที่มีความขัดข้อง เช่นพระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ไม่ทันตั้งเป็นตั้น พิเคราะห์ดูในพระราชพงศาวดาร ตำแหน่งพระมหาอุปราชมีเค้าอยู่อย่างนี้คือ

๑. สมเด็จพรรามาธิบดีที่ ๑ "มี"สมเด็จพระราเมศวรราชโอรส เป็นพระมหาอุปราช (ที่ว่า "มี" เพราะไม่ปรากฏว่าได้ตั้ง
๒. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เจ้าทองลันทรงพระเยาว์ยังไม่ทันตั้งเป็นพระมหาอุปราช หรือจะตกลงกันไว้ให้สมเด็จพระราเมศวรเป็นพระมหาอุปราช(๑)
๓. สมเด็จพระราเมศวร มีสมเด็จพระรามราชาราชโอรสเป็นพระมหาอุปราช
๔. สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑ มีแต่ลูกสนม ไม่ได้ตั้งพระมหาอุปราช เจ้าอ้ายเจ้ายี่จึงเกิดแย่งราชสมบัติกัน
๕. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ตั้งพระราเมศวรราชโอรส คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระมหาอุปราช
๖. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งพระเชษฐาราชบุตรเป็นพระมหาอุปราช แต่ติดสมเด็จพระบรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ จึงไม่ได้ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ๓ ปี
๗. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ไม่ได้ตั้งพระมหาอุปราช เพราะราชสมบัติเป็นของพระเชษฐาซึ่งเป็นพระมหาอุปราช
๘. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ตั้งหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าพระบรมราชา เป็นพระมหาอุปราช
๙. สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร (ที่จริงควรเรียก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔) พระรัษฎายังทรงพระเยาว์ไม่ทันตั้งเป็นพระมหาอุปราช
๑๐. สมเด็จพระไชยราชาธิราช พระแก้วฟ้ายังทรงพระเยาว์ ไม่ทันตั้งเป็นพระมหาอุปราช
๑๑. ขุนวรวงศาธิราช พอได้ราชสมบัติก็ตั้งนายจันบ้านมหาโลกผู้น้องเป็นมหาอุปราช จะเป็นมหาอุปราชอย่างเจ้าหรืออย่างขุนนางรู้ไม่ได้ เป็นได้สองสามวันก็ถูกกำจัดทั้งพี่ทั้งน้อง
๑๒. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตั้งขุนพิเรนเทพเป็นพระมหาธรรมราชาไปครองเมืองพิษณุโลก เข้าใจว่าตั้งไปเป็นเจ้าตรองเมืองตามแบบซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน ทำนองพระเจ้าประเทศราชมิใช่รัชทายาท เพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราเมศวรและสมเด็จพระมหินทราธิราชเป็นราชโอรสอยู่ถึง ๒ พระองค์ คงปลงพระทัยให้ใน ๒ พระองค์นี้เป็นผู้รับรัชทายาท แต่ไม่ตั้งให้ออกไปครองเมือง เอาไว้ทำราชการในราชธานีทั้ง ๒ พระองค์

ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเอาพระราเมศวรกับสมเด็จพระมหินทราธิราชไว้ในราชธานี บางทีจะเป็นด้วยเหตุเหล่านี้ คือ ประเพณีที่ตั้งเจ้านายไปครองเมือง แม้เป็นประโยชน์อยู่ในเวลากำลังแผ่พระราชอาณาจักร ก็มีข้อเสียสำคัญที่มักเกิดเหตุแย่งชิงราชสมบัติกัน ความจำเป็นที่ต้องมีเจ้าปกครองยังมีแต่เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นราชธานีฝ่ายเหนือ เมืองเดียว จึงตั้งพระมหาธรรมราชาไปครองโดยยกย่องความชอบ และโดยเป็นชาวเมืองพิษณุโลกเข้าพระทัยการงานทางนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่งจะไม่สู้ไว้พระทัยพระมหาธรรมราชานัก ไม่อยากจะแยกกำลังในราชธานีไปให้น้อย จึงเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอไว้เป็นกำลังในราชธานี แต่ก็คงจะได้ตั้งแต่งให้มีกำลังและพระเกียรติยศขึ้น ไม่ให้พระราชโอรสที่จะรับรัชทายาทเลวกว่าพระราชบุตรเขยเป็นแน่ สังเกตดูโดยพระนามที่ตั้งให้เป็นพระราเมศวร (เหมือนกับผู้รับรัชทายาทแต่ก่อนมา) พระองค์ ๑ เป็นพระมหินทรพระองค์ ๑ น่าเข้าใจว่าจะยกย่องให้มีพระเกียรติยศเป็นพระมหาอุปราช ทำนองที่เรียกกันในชั้นหลังว่า พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย แต่ในครั้งนั้นจะเรียกอย่างไรและให้กำลังวังชาอย่างไร ทราบไม่ได้

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าประเพณีที่มีเจ้านายซึ่งทรงศักดิ์สูงสุด ๒ พระองค์อยู่ในราชธานี ที่เขมรเรียกว่า มหาอุปโยราชและมหาอุปราช ก็ดี ที่ไทยเราเรียก พระบัณฑูรใหญ่และพระบัณฑูรน้อย ก็ดี วังหน้าวังหลังก็ดี น่าจะมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นปฐม

มีความที่กล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารเขมรแห่ง ๑ ว่า "ลุศักราช ๙๔๖ (ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) ศกวอกนักษัตร แต่พระองค์(นักพระสัฏฐา)ทรงราชย์มาได้ ๙ ปี พระชันษาได้ ๓๒ ปี พระองค์สบพระราชหฤทัยด้วยสมเด็จพระราชบุตรทั้ง ๒ พระองค์ ให้ทรงราชย์เป็นเสด็จ คือ กษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์ พระราชบุตรผู้พี่นั้น ปีวอกพระชันษาได้ ๑๑ ปี ได้ทรงอภิเษกทรงน้ำสังข์สรงพระเกศทรงพระนารายณ์ทรงพระขรรค์ ทรงพระนาม พระบาทสมเด็จเสด็จพระไชยเชษฐาธิราชรามาธิบดี พระราชบุตรผู้น้อยนั้น ปีวอกพระชันษาได้ ๖ ปี อภิเษกทรงน้ำสังข์สรงพระเกศทรงพระนารายณ์ทรงพระขรรค์ ทรงพระนาม พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี พระบาทบรมบพิตรทั้ง ๓ พระองค์ทรงราชย์" ดังนี้ เขมรชอบเอาอย่างไทยเป็นปรกติ เห็นได้ตั้งแต่พระนามพระเจ้ากรุงกัมพูชาตลอดมา ก็เอาอย่างพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จะถ่ายแบบสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตั้งพระราเมศวรกับพระมหินทร ไปอภิเษกราชโอรสทั้ง ๒ พระองค์นั้นบ้างดอกกระมัง ดูเวลาศักราชก็พอต่อกันดี

ครั้นเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ราชสมบัติ ก็มีสมเด็จพระราชโอรส ๒ พระองค์ เหมือนกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงอภิเษกเป็นสมเด็จพระนเรศวรพระองค์ ๑ เป็นสมเด็จพระเอกาทศรถพระองค์ ๑ เป็นพระมหาอุปราชทำนอง พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย อย่างที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงตั้งพระราเมศวรแลพระมหินทรมาแต่ก่อน

สมเด็จพระเอกาทศรถจะได้มีพระเกียรติยศเป็นพระมหาอุปราชพระองค์น้อย มาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพะมหาธรรมราชาธิราชแล้ว เมื่อสมเด็จพระนเรศวรผ่านพิภพ ถ้าคงประเพณีอยู่อย่างแต่ก่อน ก็คงให้สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เป็นพระเจ้าประเทศราชอย่างสมเด็จพระราชบิดา และพระองค์เองได้เคยครองมา แต่สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงเลิกประเพณีตั้งเจ้าใหญ่ไปครองเมืองเสียในครั้งนั้น (และมิได้มีต่อมาอีก) ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเอกาทศรถได้เป็นพระบัณฑูรมาด้วยกัน และได้ทำศึกสงครามอย่างเพื่อนเป็นเพื่อนตายกู้บ้านกู้เมืองมาด้วยกัน จึงดำรัสให้สมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชอย่างวิสามัญ มีพระเกียรติยศและใช้พระราชโองการเหมือนเป็นพระจ้าแผ่นดิน

ในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงเรื่องสมเด็จพระเอกาทศรถ ว่าเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคตนั้น สมเด็จพระนเรศวรถูกไปอยู่เป็นตัวจำนำที่เมืองหงสาวดี ทางนี้ข้าราชการจึงยกราชสมบัติถวายสมเด็จพระเอกาทศรถ ๆ ไม่รับราชสมบัติ ว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราชยังอยู่ จัรักษาราชสมบัติไว้ถวาย ครั้นเมืองสมเด็จพระนเรศวรหนีกลับมาได้ สมเด็จพระเอกทศรถจึงถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระนเรศวร ถ้าเรื่องจริงเป็นอย่างว่าในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็เป็นเหตุอันสมควรแท้ทีเดียวที่สมเด็จพระนเรศวรจะทรงยกย่องสมเด็จพระเอกาทศรถ อย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ ๑

แต่หลักฐานที่มั่นคงว่าเรื่องจริงมิได้เป็นอย่างว่าในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ความจริงสมเด็จพระนเรศวรเสด็จอยู่ในเมืองไทยตลอดรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และเมื่อสมเด็จพระมาธรรมราชาธิราชสวรรคตได้ทำสงครามกับหงสาวดีหลายครั้งมาแล้ว จะเป็นตัวจำนำอยู่ในเมืองหงสาวดีในเวลานั้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้นข้อควรสังเกตในพระราชพงศาวดารมีแต่ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชพระองค์แรกที่เป็นพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นพระมหาอุปราชพระองค์เดียวในชั้นกรุงเก่า ที่มีเกียรติยศอย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดิน.


(ชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)


....................................................................................................................................................


(๑) ผมเห็นว่า พระราเมศวรเป็นพระมหาอุปราชไม่ได้ พิเคราะห์ดูในพระราชพงศาวดารว่า เจ้าทองลันราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติได้ ๗ วัน สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในวังกุมเอาพระเจ้าทองลันได้ ให้ฆาฏเสียวัดโคกพระยา


..........................................................................



เรื่องพระมหาอุปราช


ในการประกาศอุปราชาภิเษกว่าทรงสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ "เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้ารับพระบัณฑูรที่พระมหาอุปราช" ใช้คำเช่นนี้ตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอธิบายความหมายหลายอย่างต่างกัน แต่ล้วนเนื่องด้วยตำแหน่งหน้าที่ของพระมหาอุปราช เอามาเรียกรวมเป็นพระนามคือ (๑) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (๒) ฝ่ายหน้า (๓) พระบัณฑูร (๔) พระมหาอุปราช คำเหล่านี้มีเค้ามูลในพงศาวดารว่า เกิดขึ้นด้วยเหตุต่างๆกัน และเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับจนถึงในกรุงรัตนโกสินทร์นี้

ตำแหน่ง "พระมหาอุปราช" ต้นตำรามาจากอินเดีย แต่ในอินเดียเขาเรียกเพียงว่า "อุปราช" เป็นตำแหน่ง Vice Roy ผู้ครองหัวเมืองมณฑลใหญ่ มีอำนาจถืออาญาสิทธิ์ต่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน มิได้หมายความว่าเป็นรัชทายาท (Heir Apprant) รัชทายาทนั้นมีคำสำหรับเรียกต่างหากว่า "ยุพราช"(๑) แต่ที่ไทยเราเอามาใช้เป็นแบบเพิ่มคำ "มหา" เข้าข้างหน้าคำ "อุปราช" ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าประสงค์จะแสดงว่า "มหาอุปราช" ทรงศักดิ์สูงกว่า "อุปราช" สามัญ หรือว่าอีกนัยหนึ่งคือ เดิมมีตำแหน่งอุปราชอยู่แล้ว(และอาจมีหลายองค์ในคราวเดียวกัน) เกิดประสงค์จะยกอุปราชองค์ใดองค์หนึ่งให้สูงศักดิ์กว่าอุปราชทั้งปวง จึงให้เรียกว่า "พระมหาอุปราช" ทำนองเดียวกับที่ใช้คำว่า "กษัตริย์" กับ "มหากษัตริย์" และ "ขุน" กับ "พ่อขุน" ฉะนั้น ถ้าว่าตามที่ปรากฏในพงศาวดาร ตำแหน่งพระมหาอุปราชเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยสมเด็จฯพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งกฎมณเฑียรบาล เมื่อปีชวด(๒) พ.ศ. ๒๐๑๑ กำหนดศักดิ์พระราชกุมารให้เป็นชั้นกันโดยลำดับดังนี้

ชั้นที่ ๑ พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระมเหสีซ้ายขวาทรงศักดิ์เป็น "สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งในหนังสือพงศาวดารว่า "สมเด็จหน่อพุทธางกูร" (หมายความอย่างเดียวกัน)(๓)

ชั้นที่ ๒ พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระราชเทวีหรือพระอัครชายา เรียกว่า "แม่หยั่วเมือง"(๔) ทรงศักดิ์เป็น "พระมหาอุปราช"

ชั้นที่ ๓ พระราชกุมารอันเกิดด้วยลูกหลวง (เช่นพระมารดาเป็นพระองค์เจ้า) กินเมืองเอก

ชั้นที่ ๔ พระราชกุมารอันเกิดด้วยหลานหลวง (เช่นพระมารดาเป็นหม่อมเจ้า) กินเมืองโท

ชั้นที่ ๕ พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระสนม เป็น "พระเยาวราช" (ตรงนี้เห็นได้ว่า เอานามตำแหน่งรัชทายาทตามตำราอินเดียมาใช้เรียกพระราชกุมารชั้นต่ำ)

เพราะราชกุมารศักดิ์ที่กล่าวมา เพิ่งกำหนดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปัญหาจึงมีว่าเมื่อก่อนนั้นแบบแผนเป็นอย่างไร ข้อนี้หลักฐานที่จะรู้ได้เพียงว่า เรียกพระราชกุมารว่า "เจ้า"(๕) เช่นเจ้าทองลันและเจ้าอ้ายพญาเป็นต้น ถ้าเจ้าได้ครองเมือง(๖)มีราชทินนามว่า "พระ" เช่นพระราเมศวร พระบรมราชา และพระอินทรราชาเป็นต้น สันนิษฐานว่าเดิมเจ้าที่ครองหัวเมืองเอกคงเป็น "อุปราช" ตรงตามตำราอินเดีย เพราะมีตำแหน่งอุปราชอยู่แล้วเช่นนั้น เมื่อตั้งกฎมณเฑียรบาลจะให้มีอุปราชซึ่งทรงศักดิ์สูงยิ่งขึ้นไป จึงให้เรียกว่า "พระมหาอุปราช" แต่เหตุใดจึงกำหนดให้พระราชกุมารชั้นที่ ๒ เป็นพระมหาอุปราช ข้อนี้พิเคราะห์ดูเหมือนจะหมายความว่าเป็นรัชทายาทเมื่อไม่มีพระราชกุมารชั้นที่ ๑ เปรียบเช่นว่า พระมเหสีไม่มีพระราชกุมาร มีแต่พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระอัครชายา จะตั้งเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธางกูรที่รัชทายาทก็ขัดข้องอยู่ด้วยพระมเหสีอาจมีพระราชกุมาร จึงให้ไปครองเมืองอย่างอุปราช แต่ให้เรียกว่า "พระมหาอุปราช" เพราะเทียบที่รัชทายาท (Heir Presumtire) ส่วนพระราชกุมารชั้นที่ ๓ ที่ได้ครองหัวเมืองใหญ่ก็คงเรียกกันว่าอุปราชอยู่ตามเดิม

ตรวจดูตัวอย่างที่มีมาในพงศาวดาร ปรากฎว่าเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ ต้องเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกนั้น โปรดฯให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า พระบรมราชา ครองพระนครศรีอยุธยา ในหนังสือพงศาวดารว่า "ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน" แต่เห็นจะเป็นสมเด็จหน่องพุทธางกูร หรือสมเด็จหน่อพุทธเจ้าตามกฎมณเฑียรบาลนั้นเอง ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๐๒๘ ทรงตั้งพระราชโอรสอีกพระองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระ(ชัย)เชษฐา ให้เป็นพระมหาอุปราชได้ครองเมืองพิษณุโลก แล้วมาได้เสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยาต่อสมเด็จพระบรมราชา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ก็ทรงตั้ง พระอาทิตยวงศ์ ราชโอรสเป็นพระบรมราชาที่สมเด็จหน่อพุทธางกูรให้ไปครองเมืองพิษณุโลก แล้วได้รับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุธยา เรียกพระนามในหนังสืองพงศาวดารว่า "สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร"

ครั้นมาถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราเมศวรราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นที่สมเด็จหน่อพุทธางกูรแต่อยู่ในราชธานี เพราะพระมหาธรรมราชาธิราชบุตรเขยได้เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ทรงตั้งพระนเรศวรราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นสมเด็จหน่อพุทธางกูรไปครองเมืองพิษณุโลกอย่างเดิม ในหนังสืองพงศาวดารก็ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลนั้นเอง เมื่อทำสงครามกู้อิสระประเทศสยาม ก็ต้องรวมกำลังมาตั้งต่อสู้ข้าศึกที่กรุงศรีอยุธยาแห่งเดียว พระเนศวรก็ต้องเสด็จลงมาประทับอยู่ในพระนคร แม้ทำสงครามชนะข้าศึก หัวเมืองก็ยับเยินเสียมากไม่เหมือนแต่ก่อน ถึงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงเลิกประเพณีตั้งพระราชกุมารไปครองหัวเมือง แม้สมเด็จพระเอกาทศรถราชอนุชาซึ่งทรงสถาปนาเป็นรัชทายาท อย่างสมเด็จหน่อพุทธางกูรแต่ก่อน ก็ให้เสด็จประทับอยู่ในราชธานี ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงตั้งเจ้าฟ้าสุทัศน์ราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นรัชทายาท แต่ให้ทรงศักดิ์เป็นพระมหาอุปราชและอยู่ในราชธานี แต่นั้นจึงถือว่า พระมหาอุปราช เป็นรัชทายาทและอยู่ในราชธานีเป็นประเพณีสืบมา(๗)

คำว่า "ฝ่ายหน้า" น่าจะเป็นคำสำหรับเรียกรัชทายาทในภาษาไทยมาแต่โบราณ มีตัวอย่างในหนังสือเก่าเรียกสมเด็จพระเอกาทศรถเมื่อก่อนเสวยราชย์ว่า "พระเจ้าฝ่ายหน้า" และเรียกเจ้าฟ้าสุทัศน์พระมหาอุปราชในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถว่า "เจ้าฟ้าฝ่ายหน้า" ดังนี้ พิเคราะห์ดูเค้ามูลเห็นมีเป็น ๒ นัย ถ้าเรียกกันขึ้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เห็นจะมาแต่เรียกวัง(จันทรเกษม)อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร เมื่อเป็นรัชทายาทว่า "วังหน้า" เพราะอยู่ทางด้านหน้า และเรียกวังที่สวนหลวง(ริมวัดสบสวรรค์)ว่า "วังหลัง" เพราะอยู่ด้านหลังพระราชวัง(หลวง) แล้วเลยเรียกพระองค์รัชทายาทว่า "พระเจ้าฝ่ายหน้า" หรือ "เจ้าฟ้าฝ่ายหน้า" แต่เค้ามูลมีอีกนัยหนึ่ง ซึ่งอาจจะเรียกมาแต่ดึกดำบรรพ์ตามหน้าที่ของรัชทายาทซึ่งต้องเป็น "หน้าศึก" เช่นเป็นทัพหน้าในเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทำสงคราม หรือต้องออกทำสงครามแทนพระองค์ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เสด็จไปเอง อันเป็นประเพณีเก่าแก่และใช้มาจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ คำว่า "ฝ่ายหน้า" อาจจะมาแต่หน้าที่เป็นหน้าศึกดังกล่าวมานี้ได้อีกนัยหนึ่ง


คำว่า "พระบัณฑูร" นั้นสำหรับเรียกคำสั่งของพระมหาอุปราช เค้ามูลมาแต่คำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินกำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาลเป็น ๒ อย่าง เรียกว่าพระราชโอการ(๘)อย่าง ๑ เรียกว่าพระบัณฑูรอย่าง ๑ ข้อนี้พึ่งเห็นได้ในคำเริ่มต้นเมื่อตั้งกฎหมาย แต่โบราณใช้ว่า "มีพระราชโองการมานบัณฑูร" ต่อกันดังนี้ ถ้าว่าตามพิเคาระห์คำต้นศัพท์ "โองการ" หมายความว่าปกาสิตของพระอิศวร "ราชโองการ" ก็หมายความว่าปกาสิตของพระอิศวร เมื่อแบ่งภาคลงมาเป็นพระราชาอยู่ในมุนษย์โลก ซึ่งเรียกว่า สมมุติเทวราช คำ "บัณฑูร" นั้นเป็นภาษาเขมร หมายความว่า สั่ง เดิมคงใช้ว่า "มีพระราชโองการบัณฑูร" คำว่า "มาน" (เป็นคำภาษาเขมรแปลว่า มี นั่นเอง) เห็นจะเพิ่มเป็นสัมผัสให้เพราะขึ้นในชั้นหลัง

แต่อธิบายในกฎมณเฑียรบาลแยกพระราชโองการกับพระบัณฑูรออกต่างหากจากกัน ด้วยกล่าวว่า ถ้าขัดขืนพระราชโองการต้องโทษถึงประหารชีวิต ถ้าขัดพระบัณฑูรโทษปรับไหมจตุรคูณ ดังนี้ แต่อย่างไรก็ดีที่ให้เรียกคำสั่งของพระมหาอุปราชว่า พระบัณฑูร นั้นพึงเข้าใจได้ว่าให้มีอำนาจในสถานหนึ่งเสมอพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน แต่อำนาจพระบัณฑูรนี้พระราชทานเจ้านายพระองค์อื่นนอกจากพระมหาอุปราชก็มี เรียกว่า "พระบัณฑูรน้อย" เคยมีตัวอย่างทั้งในกรุงศีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์นี้(เมื่อรัชกาลที่ ๑) พระบัณฑูรน้อยจะมีตำแหน่งหน้าที่อย่างใดไม่ปรากฏ แต่เมื่อพระมหาอุปราชได้รับรัชทายาท ทรงตั้งพระบัณฑูรน้อยเป็นพระมหาอุปราชทุกคราว


คำว่า "กรมพระราชวังบวรมหาสถานมงคล" มีเรื่องตำนามมาแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อรวมคนหัวเมืองเหนือลงมาตั้งสู้ศึกพม่าที่พระนครศรีอยุธยา ครั้งนั้นพระนเรศวรสร้างวังเป็นที่ประทับอยู่ด้านหน้าพระราชวังหลวง คนทั้งหลายคงเรียกวังนั้นตามนามวังที่เคยประทับ ณ เมืองพิษณุโลกว่า "วังจันทร์" บ้าง เรียก "วังหน้า" บ้าง สันนิษฐานว่าในครั้งนั้น คงสร้างวังขึ้นที่สวนหลวงทางด้านหลังพระราชทานพระเอกาทศรถอีกวัง ๑ คนทั้งหลายก็เรียกกันว่า "วังหลัง"จึงเกิดมีวังหลวงวังหน้าวังหลังขึ้นแต่ครั้งนั้นมา ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระศรีสุธรรมาธิราช(พ.ศ. ๒๑๙๙)สมเด็จพระนารายณ์ได้เป็นพระมหาอุปราชประทับอยู่ที่วังหน้า แล้วเกิดรบกับสมเด็จพระศรีสุธรรมาธิราช สมเด็จพระนเรศวรได้ราชสมบัติ แต่ไม่เสด็จมาอยู่วังหลวง ประทับอยู่วังหน้าต่อมาอีกหลายปี สันนิษฐานว่าเห็นจะเปลี่ยนนามวังจันทร์เกษมเป็น "พระราชวังบวรสถานมงคล" ในตอนนี้ เพราะเป็นพระราชวัง และเป็นมงคลสถานที่ได้เสวยราชย์ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้นปรากฏว่าพระไตรภูวนาถทิตยวงศ์ราชอนุชาองค์ ๑ ประทับอยู่ที่วังหลัง แต่หาได้เพิ่มพระยศศักดิ์อย่างใดไม่ ครั้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาธิราชตั้งราชวงศ์ใหม่ จะตั้งให้หลวงสรศักดิ์ผู้เป็นบุตรเป็นพระมหาอุปราช และจะตั้งนายจบคชประสิทธิ์ผู้เป็นหลานเป็นเจ้าชั้นสูงรองแต่พระมหาอุปราชลงมา ให้อยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล คือ วังหน้า องค์ ๑ ให้อยู่วังหลังองค์ ๑ จึงเอาระเบียบการตั้งกรมเจ้านายบังคับบัญชาซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงบัญญัติขึ้นมาใช้ ให้ขนานนามข้าราชการบรรดาที่มีตำแหน่งขึ้นอยู่ในพระมหาอุปราช เรียกรวมกันตามชิ่อวังว่า "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" แล้วเอาแบบนี้ไปตั้งขึ้นสำหรับวังหลังขนานนามว่า "กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข" จึงเกิดนามเรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข แต่นั้นสืบมา



พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


....................................................................................................................................................

(๑)ที่พระบาทสมเด็จฯพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ใช้คำ "อุปราช" เรียกข้าราชการผู้มีตำแหน่งปกครองหลายมณฑลรวมกันเป็นภาค ทรงอนุมัติตามตำราเดิม

(๒) ในกฎหมายฉบับพิมพ์ว่า "ปีชวด จุลศักราช ๗๒๐" นั้นผิด เพราะศักราชเป็นรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ที่ถูกต้องเป็น "ปีชวด จุลศักราช ๘๓๐"

(๓) ความที่กล่าวในข้อสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้านี้เคือบคลุมอยู่บ้าง เป็นต้นว่าถ้าพระราชกุมารเกิดด้วยพระมเหสีหลายพระองค์ จะทรงศักดิ์เป็นหน่อพระพุทธเจ้าทุกองค์(เช่นเรียกว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ") หรือเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าแต่เฉพาะองค์ที่เป็นรัชทายาท(เช่นเรียกว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช") ข้อนี้พิจารณาตัวอย่างในพงศาวดาร ดูเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าแต่พระองค์ที่เป็นรัชทายาทองค์เดียว เมื่อพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาศักดิ์ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช" ก็ทรงพระราชดำริเห็นเช่นนั้น

(๔) แม่หยั่วเมือง เป็นคำไทยเก่า เห็นจะใช้กันมาก่อนตั้งกฎมณเฑียรบาล สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนริศฯ ทรงสันนิษฐานว่าจะตรงกับ "แม่อยู่เมือง" นับเป็นยศรอง "แม่อยู่หัว" คือพระมเหสี

(๕) คำว่า "เจ้าฟ้า" เพิ่งใช้ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (พ.ศ. ๒๑๑๒ - ๒๒๓๓) สืบมา

(๖) คำว่า "กินเมือง" กับ "ครองเมือง" หมายความต่างกัน กินเมือง หมายความว่าได้รับส่วยเมืองนั้นเป็นผลประโยชน์ ครองเมือง หมายความว่าไปบังคับบัญชาการอยู่เมืองนั้น

การ "ครองเมือง" นี้ผมสงสัยอยู่ว่าคือการที่ทรง "สถาปนากรม" เป็นนามเมืองในราชประเพณีต่อมา พระราชดำริเดิมคงจะทรงสถาปนานามกรมเป็นนามเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี ตามชั้นพระราชกุมาร แต่ก็ยังไม่ได้เอามาเทียบดูสักที*

(๗) ในทำเนียบศักดินาพลเรือนมีตำแหน่ง "เจ้าพระมหาอุปราช" เป็นขุนนางถือศักดินาหมื่น ยศสูงกว่าสมุหนายกและสมุหกลาโหม แต่ไม่บอกว่ามีหน้าที่อย่างไร ในพงศาวดารก็ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยได้เป็นเจ้าพระยามหาอุปราช แต่ไปปรากฏอยู่ในหนังสือของมองสิเออ์ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่าครั้งนั้นเจ้าพระยามหาอุปราชบัญชาการรักษาพระนครศรีอยุธยาในเวลาสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปประทับอยู่เมืองลพบุรี จึงสันนิษฐานว่าตำแหน่ง เจ้าพระยามหาอุปราช นั้นจะมีขึ้นต่อชั้นหลังมา สำหรับตั้งต่อเมื่อมีผู้ทรงคุณวิเศษเช่นเดียวกับตั้ง สมเด็จเจ้าพระยา ใครได้เป็นก็เป็นหัวหน้าข้าราชการทั้งปวง ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ไม่มี(เจ้าเป็น)พระมหาอุปราชด้วยก็พอเหมาะดี

(๘) คำว่า "บรม" เพิ่งเพิ่มขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เพิ่มให้เป็นคู่กับคำว่า "บวร" ซึ่งใช้สำหรับพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


..........................................................................



ว่าด้วยหน้าที่และพระอัธยาศัยในกรมพระราชวังบวรฯกรุงรัตนโกสินทร์คราวๆ


ว่าด้วยหน้าที่ของพระมหาอุปราช พระมหาอุปราชมีหน้าที่ในการศึกตรงกับคำที่เรียกว่า "ฝ่ายหน้า" เป็นสำคัญกว่าอย่างอื่น พึงเห็นอธิบายได้แม้ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ในรัชกาลที่ ๑ พระมหาอุปราชก็ต้องทำศึก ทั้งที่โดยเสด็จและเสด็จไปโดยลำพังพระองค์มาจนตลอดพระชนมายุ ถึงรัชกาลที่ ๒ พม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ถึงรัชกาลที่ ๓ เกิดกบฏเวียงจันทน์ พระมหาอุปราชก็เสด็จไปบัญชาการศึกทั้ง ๒ คราว แต่ถึงรัชกาลที่ ๔ จะยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง พระมหาอุปราชทรงศักดิ์อย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดฯให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จไปบัญชาการศึกต่างพระมหาอุปราช(๑)เป็นตัวอย่างมาดังนี้

นอกจากทำศึก พระมหาอุปราชยังมีหน้าที่ตลอดไปถึงการป้องกันพระราชอาณาเข ข้อนี้มีมาจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เช่นในการสร้างป้อมปราการที่เมืองพระประแดงและเมืองสมุทรปราการ พระมหาอุปราชก็ทรงบัญชาการทั้งในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ ที่โปรดฯให้พระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดทหารบกทหารเรือขึ้นทางฝ่ายวังหน้า ก็เนื่องมาแต่หน้าที่ของพระมหาอุปราชในการป้องกันพระราชอาณาเขตนั่นเอง เมื่อว่าโดยย่อหน้าที่ของพระมหาอุปราชเป็นฝ่ายทหาร เนื่องด้วยการทำสงคารมมาแต่โบราณ จึงมีผู้คนทั้งนายและไพร่ขึ้นอยู่ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมากกว่ากรมอื่นๆ เพื่อเกิดสงครามเมื่อใดพระมหาอุปราชจะได้เรียกรี้พลได้ทันที ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่มีขุนนางวังหน้า เรียกว่า "ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวร" ขึ้นเป็นจำนวนมากอีกแผนก ๑

แต่ในเวลาว่างศึกสงครามพระมหาอุปราชมีหน้าที่ในการปกครองพระราชอาณาเขตอย่างใดไม่ คำซึ่งกล่าวกันมาแต่ก่อนว่า "พระมหาอุปราชเสวยราชย์กึ่งพระนคร" นั้นมีมูลมาแต่การแบ่งเขตรักษาท้องที่ในบริเวณพระนคร อันเป็นแบบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ในกรุงเทพฯนี้ปันเขต(ว่าตามแผนที่ในปัจจุบันนี้)ตามแนวถนนพระจันทร์ ตั้งแต่ท่าน้ำตรงไปทางตะวันออกจนถึงประตูสำราญราษฎร์(ถนนบำรุงเมือง) ท้องที่ข้างใต้เป็นอำเภอวังหลวง กรมนครบาลวังหลวงรักษา ท้องที่ข้างเหนือเป็นอำเภอวังหน้า กรมนครบาลวังหน้ารักษา แต่ปันเขตเพียงถึงคูพระนครเท่านั้น ท้องที่นอกออกไปเป็นอำเภอวังหลวงทั้งนั้น

ที่ไม่ให้พระมหาอุปราชเกี่ยวข้องในการปกครองบ้านเมือง น่าจะมีเหตุทำให้เห็นจำเป็นมาแต่โบราณ ด้วยพิเคราะห์ตามเรื่องพงศาวดาร แม้พระมหาอุปราชเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่พ้นมีเหตุร้ายได้ทุกรัชกาล ยิ่งพระมหาอุปราชมิได้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว มักเกิดเหตุร้ายยิ่งกว่าที่จะเรียบร้อย มีตัวอย่างมาหลายคราว ฐานะของพระมหาอุปราชจึงมาความลำบากอยู่ไม่น้อย(๒)

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาพระมหาอุปราชจะทรงประพฤติอย่างไรหาทราบไม่ แต่ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ประพฤติผิดกันทุกพระองค์ ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นพระมหาอุปราช พระอัธยาศัยอยู่ข้างจะมีทิษฐิมานะ เกิดบาดหมางกับพระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหลายครั้ง แทบถึงจะรบกันก็มี จนที่สุดเมื่อสวรรคตพวกวังหน้าที่เป็นคนใกล้ชิดก็กำเริบ ถึงต้องปราบปรามกัน บางที่เหตุที่มีในรัชกาลที่ ๑ นั้น จะเป็นตัวอย่างให้พระมหาอุปราชระวังพระองค์ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จฯพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เป็นพระมหาอุปราชในตอนปลายรัชกาลที่ ๑ ก็ไม่ปรากฏว่าประพฤติพระองค์ให้ผิดกับเมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธออย่างใด เมื่อถึงรัชกาลที่ ๒ พระมหาอุปราชทรงชอบชิดสนิทเสน่หากับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมาแต่เดิม ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จฯพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีรับสั่งให้ทรงช่วยว่าราชการ ก็เสด็จลงมาประทับที่โรงละครหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตรวจตราข้อราชการต่างๆก่อนเสด็จเข้าเฝ้าในท้องพระโรงเป็นนิจจนตลอดพระชนมายุ

ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงสถาปนากรมหมื่นศักดิพลเสพขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ปรากฏว่าถ่อมพระองค์มาก เป็นต้นว่าประทับอยู่เพียงที่มุขไม่เสด็จประทับบนพระพิมานวังหน้า พระราชยานก็ไม่ทรงเสลี่ยงอย่างเป็นต่างกรม(๓) เรือพระที่นั่งก็ทรงเรือกราบกันยาหลังคากระแซงอย่างพระองค์เจ้า(๔)ไม่ดาดสีเหมือนเรือเจ้าฟ้า และไม่เข้าเกี่ยวข้องในราชการบ้านเมืองเหมือนพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๒

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยู่ในฐานะที่พระมหาอะปราชให้มีพระยศเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน(๕) พระราชทานเครื่องราชูปโภคต่างๆ กับทั้งตำแหน่งข้าราชการวังหน้าเพิ่มขึ้นให้เป็นทำนองเดียวกับวังหลวง เป็นแต่ลดลงบ้างเล็กน้อย ถึงกระนั้นพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถ่อมพระองค์ ไม่โปรดในการแสดงยศศักดิ์ เป็นต้นว่าไม่เสด็จออกให้ขุนนางเฝ้าในท้องพระโรงนอกจากเวลามีงานพิธี โดยปกติเสด็จออกให้เฝ้าที่โรงรถ การที่เสด็จไปไหนด้วยกระบวนแห่เสด็จก็เฉพาะแต่ในงานพิธี หรือเสด็จลงมาเฝ้าตามตำแหน่ง ถ้าโดยปกติเสด็จไปตามวังเจ้านายที่ชอบชิด ก็ทรงม้ามีคนตามเสด็จคนหนึ่งหรือสองคน(๖) และยังทรงโปรดดำเนินเที่ยวเตร่ตามบ้าน เหมือนเมื่อยังเป็นกรมอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เสด็จอยู่วังหน้าโดยปกติโปรดทรงฝึกซ้อมหัดทหาร หรือมิฉะนั้นก็นัดคนไปขี่ม้า ถ้ากลางวันเล่นคลีกลางคืนเล่นซ่อนหา แต่ส่วนการบ้านเมืองนั้นไม่ทรงเอาเป็นพระราชธุระทีเดียว แม้เมื่อฝรั่งต่างชาติเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ก็ไม่ทรงเกี่ยวข้องในการปรึกษาหารือ

ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงสถาปนากรมหมื่นบรมวิชัยชาญเป็นมหาอุปราช เป็นเวลาว่างการทัพศึก แต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินประสงค์จะรักษาหน้าที่ของพระมหาอุปราชตามประเพณีเดิมไว้ จึงจัดให้เสด็จไปตรวจตราป้อมที่เมืองสมุทรปราการและเมืองจันทบุรี และต่อมาให้ทรงบัญชาการซ่อมแซมป้อมเสือซ่อนเล็บ ที่เมืองสมุทรปราการด้วย แต่ส่วนพระองค์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญนั้น โดยปกติก็ถ่อมพระองค์ทรงพยายามที่จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นว่าเสด็จลงมาเฝ้าในเวลาเสด็จออกขุนนางและในงานพระราชพิธีเสมอเป็นนิจ แต่ไม่เข้าเกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมือง เวลาเสด็จประทับอยู่ในพระราชวังบวร ก็ไม่โปรดเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรง คงออกขุนนางที่โรงรถเหมือพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เลิกการเล่นกีฬาและไม่เสด็จไปเที่ยวเยี่ยมเยือนเจ้านาย แม้การฝึกหัดทหารก็เพียงรักษาแบบแผนให้คงอยู่.



....................................................................................................................................................

(๑) เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำนงว่า ถ้าตีเมืองเชียงตุงได้สำเร็จ จะทรงสถาปนากรมหลวงวงศาฯเป็น กรมพระราชวังหลัง

(๒) เจ้าฝรั่งองค์หนึ่งเคยตรัสกับข้าพเจ้าถึง เรื่องเจ้ารัชทายาทในประเทศยุโรป เธอชี้แจงว่าเจ้ารัชทายาทนั้นอยู่ในที่ยาก เพราะถ้าไม่เอาใจใส่ในการบ้านเมืองเลย คนทั้งหลายก็ดูหมิ่นว่าโง่เขลาหรือเกียจคร้าน ถ้าเอาใจใส่เกินไปก็เป็นแข่งบารมีพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นต้องระวังวางพระองค์แต่พอเหมาะอยู่เสมอ

(๓)พระเสลี่ยงของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เดิมแก้เป็นธรรมาสน์ไว้ที่วัดบวรนิเวศ เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร

(๔) กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทอดกฐิน ก็ทรงเรืออย่างเดียวกันในบางวัน แต่บางวันทรงเรือสีตามอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๕) เรียกตามภาษาอังกฤษว่า Second King พระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ฝรั่งเลยเรียกพระมหาอุปราชว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ มาจนกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

(๖) พระองค์ประดิษฐวรการ อธิบดีช่างหล่อ(อยู่ข้างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ตรงที่สร้างสวนสราญรมย์เดี๋ยวนี้)เคยตรัสเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงม้ามีมหาดเล็กตามเสด็จคนหนึ่งไปเคาะประตูเรียก พระองค์ประดิษฐฯออกมารับเชิญเสด็จไปประทับที่ท้องพระโรง เป็นเวลาค่ำมีแต่ไต้จุดอยู่ดวงหนึ่ง พระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับสนทนา และทรงเขี่ยไต้ไปพลางจนเสด็จกลับ



Create Date : 27 มีนาคม 2550
Last Update : 27 มีนาคม 2550 13:04:03 น. 0 comments
Counter : 8038 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com