กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระราชมรดกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก





พระปฐมบรมราชานุสรณ์



....................................................................................................................................................


พระราชมรดกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก


ความมั่นคงของชาติไทยกับประเทศสยาม ซึ่งได้มีมาด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเพียงใด ผู้ที่ได้อ่านหนังสือพงศาวดารและจดหมายเหตุต่างๆ ทราบเรื่องประวัติของไทยเราใน ๑๕๐ ปีนี้คงมีมาก แต่ผู้ที่ไม่ได้อ่านหรือไม่ได้ทราบความก็คงจะมีมากกว่า จะนำความบางข้อมากล่าวในปาฐกถานี้ให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงทำสิ่งใดไว้บ้าง ซึ่งตัวเรายังได้รับประโยชน์อย่างว่าได้พระราชทานพระราชมรดกอยู่ในกาลบัคนี้ จะเลือกมาพรรณนาแต่ที่เป็นข้อสำคัญ มิให้เปลืองเวลายืดยาว


พระราชมรดกที่ ๑ นั้น คือกรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ที่เราอยู่ทุกวันนี้ บางทีผู้ที่ยังไม่รู้เรื่องสร้างกรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์จะมีมาก จะเล่าให้ฟัง

เมื่อพม่าตีได้กรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น บ้านเมืองเสียหายยับเยินมาก ผู้คนตกถึงมือก็จับกวาดต้อนเอาไปเมืองพม่าหมด สินทรัพย์สิ่งใดถึงมือก็เอาไปหมด วัดวารั้ววังและบ้านเมืองที่เอาไปไม่ได้ก็เผาเสีย เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นมาจากเมืองจันทบุรี ไปตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ชนะพม่า พม่าแตกหนีทิ้งกรุงศรีอยุธยา แต่ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีได้คืนมาแต่ซากเมือง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบอยู่ว่าพม่าคงยกมาอีก จะทำอย่างไรดี ถ้าจะเอาพระนครศรีอยุธยาเป็นฐานทัพต่อสู่ข้าศึกอย่างเดิมก็ขัดข้องเป็นข้อสำคัญอยู่ ๒ ประการ คือพระนครศรีอยุธยาใหญ่โต ผู้คนไม่พอรักษาพระนครต่อสู้ข้าศึกได้ อีกข้อหนึ่งพระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่ที่ลำน้ำตื้น ข้าศึกอาจยกกองทัพบกเข้ามาถึงพระนครได้ง่าย จึงลงมาตั้งราชธานีที่เมืองธนบุรี ที่เอาเมืองธนบุรีเป็นราชธานีก็เพราะเหตุ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งรักษาง่ายกว่าพระนครศรีอยุธยา ด้วยเป็นเมืองเล็กและอยู่ต่ำลงมาถึงตอนลำน้ำลึก อาจจะใช้กองทัพเรือต่อสู้ข้าศึก และข้าศึกก็จำเป็นจะต้อมีกองทัพเรือจึงจะมาได้สะดวกนี้อย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ นั้น เพราะเมืองธนบุรีอยู่ใกล้ทะเล อาจจะหาของต้องการจากต่างประเทศได้ง่าย หรือที่สุดเข้าต่อสู้ข้าศึกไม่ไหวก็อาจถอยกองทัพไปทางเรือได้ ไม่เสียผู้คนแก่ข้าศึก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี และเอาแบบอย่างเมืองพิษณุโลกมาสร้างกำแพง ๒ ฟาก เอาลำน้ำไว้กลางพระนคร เพื่อจะรักษากองทัพเรือไว้ในพระนคร

ก็แต่ต่อมาในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง เมื่อพม่าได้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองเมืองพิษณุโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรักษาเมืองพิษณุโลกต่อสู้ข้าศึกอยู่ถึง ๔ เดือน ได้ทรงทราบตระหนักว่าที่ที่มีลำน้ำอยู่กลางนั้น ลำบากในการที่จะต่อสู้เมื่อข้าศึกเข้ามาล้อมเมือง เพราะจะถ่ายเทผู้คนไปช่วยกันยาก ที่เมืองพิษณุโลกครั้งนั้นทำสะพานข้ามแม่น้ำถึง ๓ สะพาน แต่กระนั้นยังลำบากเต็มที ที่กรุงธนบุรีนี้ ลำน้ำใหญ่และลึก จะทำสะพานก็ไม่ได้ ถ้าข้าศึกเข้ามาได้ถึงเมืองจะรักษาไม่ไกหว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คงจะได้ทรงพระราชดำริเห็นมานานแล้วว่า ควรย้ายพระนครมาตั้งทางฝั่งตะวันออกแต่ฟากเดียว เพราะเป็นชัยภูมิด้วยอยู่ตรงหัวแหลม มีลำแม่น้ำใหญ่เป็นคูพระนครถึง ๒ ด้าน สันนิษฐานว่า ปัญหาเรื่องย้ายราชธานีข้ามฟากน่าจะเคยได้ปรึกษาในรัฐบาลครั้งกรุงธน และจะได้ตรวจทำแผนที่พิสูจน์เสร็จแล้ว แต่หากพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือติดด้วยมีเหตุการณ์ขัดขวาง จึงระงับมาจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบดาภิเษก ทรงพระราชดำริเห็นเป็นแน่ว่า ในไม่ช้าคงจะมีศึกพม่ามาตีเมืองไทยอีก จึงจรัสสั่งให้รีบลงมือสร้างกรุงอมรรัตนโกสินทร์ในเดือนเมษายนที่เสด็จปราบดาภิเษกนั่นเอง ด้วยเดชะบุญในเวลาสร้างพระนครนั้น ทางเมืองพม่าพระเจ้าปะดุงพึ่งจะได้เป็นใหญ่ พม่ายังต้องรบพุ่งกันเอง บ้านเมืองไม่ปรกติ ไทยมีเวลาว่างศึกษาอยู่ ๓ ปี พอสร้างพระนครสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ ในปีนั้นเอง พระเจ้าปะดุงก็ยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า


พระราชมรดกสิ่งที่ ๒ นั้น คือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต ซึ่งเรานับถือกันศิริของบ้านเมือง พระแก้วมรกตพระองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปที่คนทั้งหลายนักถือสักการบูชาเป็นมิ่งขวัญของประเทศที่เป็นอิสระแต่โบราณมาหลายแห่ง นับแต่ที่ใกล้เคียง คือเมืองเชียงใหม่เมื่อเป็นประเทศลานนา และเมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันท์ เมื่อเป็นประเทศล้านช้างหรือเรียกอีกอย่างว่า กรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ประหลาดอยู่ที่ไม่เคยได้มาไว้ในประเทศสยามทั้งในสมัยกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเป็นจอมพลขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตมีชัยชนะ จึงได้พระมหามณีรัตนปฏิมากรมาสู่ประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ เป็นศรีพระนคร จึงทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นประดิษฐานไว้ให้เราทั้งหลายได้สักการบูชามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้พุทธศาสนิกชนชาวต่างประเทศก็พากันมาสักการบูชา ด้วยนับถือเป็นมหาเจดีย์อันหนึ่งที่มีในโลก

พระราชมรดกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสิ่งที่ ๓ นั้นคืออิสรภาพของชาวสยาม จะเล่าเรื่องให้ฟังต่อไปคือ

พอสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้วในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ ปีนั้นเอง พม่ายกกองทัพมาตีเมืองไทย ศึกพม่าครั้งนี้พระเจ้าปะดุงเป็นจอมพลเอง ยกกองทัพหลวงมาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ เวลานั้นพระเจ้าปะดุงมีอานุภาพคล้ายพระเจ้าหงสาวดีแต่โบราณ ด้วยปราบประเทศที่ใกล้เคียงเอาไว้ในอำนาจได้รอบข้าง กะเกณฑ์ให้พวกเมืองขึ้นที่อยู่ต่อแดนไทยยกกองทัพมาสมทบตีเมืองไทยด้วย ข้าศึกจึงยกกองทัพเข้ามาทุกทิศทุกทางจำนวนพลมาก เป็นศึกใหญ่ยิ่งกว่าครั้งไหนๆที่เคยมีมาในพงศาวดารแต่ก่อนทั้งสิ้น ฝ่ายไทยเราในเวลานั้นก็มีกำลังน้อยยิ่งกว่าที่เคยสู้ศึกพม่ามาใสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือในสมัยกรุงธนบุรี ด้วยหัวเมืองฝ่ายเหนือยับเยินเสียเมื่อครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้ไม่มีกำลังรี้พลทางหัวเมืองเหนือมาช่วยดังแต่ก่อน มีรี้พลอยู่แต่ในที่ใกล้กรุงเทพฯเท่านั้น อาศัยพระปัญญาบารมีที่ทรงพระราชดำริกระบวนยุทธ์ ซึ่งอาจจะว่าได้ว่าเป็นอย่างงวิเศษสุด คือเอาคนน้อยสู้คนมากชนะได้ด้วยความคิดดี จำนวนพม่าที่ยกเข้ามาในคราวนั้น ถ้าจะเปรียบกับจำนวนไทยที่มีต่อสู้เห็นจะราวสองเอาหนึ่ง รอดตัวอยู่อย่างเดียวที่กองทัพพม่ายกเข้ามาไม่พร้อมกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสืบทราบข่าวศึกที่ยกมาทางไหนๆแล้ว จึงโปรดฯให้จัดกำลังที่จะต่อสู้เป็น ๓ กองทัพ กองทัพฝ่ายตะวันตกให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯเป็นแม่ทัพ ยกไปตั้งที่ตำบลลาดหญ้าในแขวงจังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นที่ราบเชิงเขาบรรทัด ซึ่งพม่าต้องเดินกองทัพข้ามมา ให้คอยสะกัดกองทัพหลวงของข้าศึก ซึ่งพระเจ้าปะดุงยกมาเอง อย่าให้ลงมาถึงที่ราบได้ อีกกองทัพหนึ่งเป็นกองทัพสำหรับต่อสู้ข้าศึกที่มาทางเหนือ ให้กรมพระราชวังหลังเป็นแม่ทัพ ยกไปตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำโพ แต่มีคำสั่งไปว่ามิให้รบรุกข้าศึก เป็นแต่ให้ตั้งมั่นกันมิให้ข้าศึกทางนี้ล่วงลงมาถึงกรุงเทพฯได้ อีกกองทัพหนึ่งเป็นกองทัพหลวงพระบาทสมเด็จพระพุทมธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเป็นจอมทัพเอง ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯนี้ ถ้าศึกหนักมือทางไหนก็จะได้ช่วยทางนั้นให้ทันท่วงที กระบวนยุทธศาสตร์เป็นดังนี้

กองทัพพระเจ้าปะดุงที่ยกมาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ต้องเดินทางปีนป่ายมาบนเขา ทั้งต้องหาบขนเสบียงอาหารมาด้วยความลำบากระยะทางกว่า ๑๐ วัน พอกองทัพหน้าข้ามาถึงเชิงเขาที่ลาดหญ้าก็ถูกกองทัพไทยตีต้านมิให้ลงมายังที่ราบได้ รบกันอยู่หลายวัน ไทยตีกองทัพหน้าของพม่าแตกฉานไป ฝ่ายกองทัพหลวงและกองทัพอื่นของพม่าต้องติดคั่งอยู่บนเขา ก็เกิดอดอยากอิดโรยไปทั้งนั้น เมื่อพระเจ้าปะดุงทราบว่าทัพหน้าแตกแล้ว ก็ต้องเลิกทัพกลับไป ครั้นกองทัพหลวงของพม่าถอยไปแล้ว กองทัพไทยทางฝ่ายเหนือก็ระดมตีกองทัพพม่าที่ยกมาทางนั้นแตกฉานไปหมด ส่วนกองทัพกรมพระราชวังบวรฯก็ยกลงไปตีกองทัพพม่าที่ยกลงมาทางฝ่ายใต้ จนถึงเมืองนครศรีธรรมราช ไล่พม่าออกจากพระราชอาณาเขตได้หมด

การที่ไทยชนะสงครามครั้งที่กล่าวนี้ เป็นมหาชัยด้วยอาศัยพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในกระบวนยุทธศาสตร์ ถ้าไทยแพ้พม่าครั้งนั้นก็คงเสียบ้านเมือง และบรรพบุรุษของเราก็คงถูกจับเอาไปเป็นเชลยอีกเหมือนเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นการที่ชนะศึกในครั้งลาดหญ้า จึงเป็นการรักษาอิสรภาพไว้ให้เป็นมรดกแก่เราอีกอย่างหนึ่ง


พระราชมรดกสิ่งที่ ๔ นั้น คือความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งถึงความเสื่อมทรามมาแต่เมื่อบ้านแตกเมืองเสียครั้งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าพระสงฆ์ตลอดจนคัมภีร์พระธรรมต้องกระจัดกระจายหายสูญไปเสียเป็นอันมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพยายามรวบรวมขึ้นใหม่ แต่ทำไม่ได้เท่าใดก็กลับเกิดจลาจลในพระศาสนาอีก มาถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงฟื้นพระพุทธศาสนาให้คงดีดังเดิม คือทำนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์ซึ่งทรงศีลสังวรและรอบรู้พระธรรมวินัย แล้วโปรดฯให้ประชุมช่วยกันทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎฑกให้ถูกต้อง ได้เป็นหลักฐานในการศึกษา และสั่งสอนพระพุทธศาสนาสืบมาในประเทศสยามจนทุกวันนี้ จึงควรนับว่าเป็นพระราชมรดกพระราชทานไว้ให้แก่เราทั้งหลายอีกอย่างหนึ่ง


พระราชมรดกสิ่งที่ ๕ นั้น คือกฏหมายและแบบแผนประเพณีสำหรับบ้านเมือง ซึ่งกระจัดกระจายไปเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น โปรดฯให้เสาะหารวบรวมฉบับ แล้วทรงเลือกสรรข้าราชการเก่าที่มีความรู้ให้ประชุมปรึกษากันตรวจชำระ และทรงตรวจตราแก้ไขด้วยพระองค์เองเป็นที่สุด แล้วตราไว้เป็นหลักสำหรับพิพากษาอรรถคดีสืบมา แม้ในเวลานี้ที่ทำประมวลกฏหมายขึ้นใหม่แล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงตั้งไว้ ไม่เลิกได้หมดทีเดียวจึงควรนับว่าเป็นพระราชมรดกอีกอย่างหนึ่ง


แต่พระราชมรดกที่สำคัญอย่างยิ่งยังมีอีกสิ่งหนึ่ง คือที่ทรงประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ให้สืบสันตติวงศ์มาถึง ๗ รัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในราชวงศ์นี้ทุกพระองค์ ก็ได้ทรงทำนุบำรุงประเทศสยามมา ทั้งด้วยการป้องกันภยันตรายภายนอกและภานใน ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีอิสระและความสุขสำราญสืบกันมา และได้ทรงจัดการแก้ไขระเบียบวิธีการปกครองบ้านเมืองให้เทียมทันประเทศอื่น จนประเทศสยามของเราได้รับการยกย่องขึ้นเสมอบ่าเสมอไหล่กับประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งนี้ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชจักรีวงศ์ อันสืบสันตติวงศ์มาแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทุกพระองค์ทรงปกครองชาวเราตั้งแต่ชั้นบรรพบุรุษให้รับความร่มเย็นเป็นสุขสืบกันลงมาจจนถึงตัวเราในบัดนี้ ก็เป็นพระราชมรดกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งพระราชทานแก่ชาวสยาม


ท่านทั้งหลายเมื่อไปบูชาพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ ควรระลึกถึงพระเดชพระคุณดังกล่าวมา ถ้ามีน้ำใจเช่นนั้นแล้วความสวัสดิมงคลและความสุขสำราญก็จะมีแก่ท่านทั้งหลายทั่วไปตลอดกาลนาน

ส่วนการพระราชพิธีอีกแผนกหนึ่งนั้น เป็นส่วนในบรมราชวงศ์ คือเฉลิมราชศิริสมบัติให้ทรงพระเจริญสุขเกษมสำราญ อีกภาคหนึ่งคือการบำเพ็ญพระราชพิธีทักษิณานุปทานนั้น เป็นการส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศพระราชกุศลต่างๆ ที่ได้ทรงบำเพ็ญแล้วถวายสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบุรพการีเหมือนอย่างกราบทูลให้ทรงอนุโมทนาในการที่พระองค์ได้ทรงเป็นประมุขนำชาวสยามกระทำให้เกิดสวัสดิมงคล และเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมืองครั้งนี้ สิ้นข้อความปาฐกถาเพียงเท่านี้.


....................................................................................................................................................


ชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่อง พระราชมรดกในพระบาทสมเด็จพระพุมธยอดฟ้าจุฬาโลก


Create Date : 20 มีนาคม 2550
Last Update : 20 มีนาคม 2550 15:35:33 น. 0 comments
Counter : 1898 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com