กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
แรกมีโรงพยาบาลในเมืองไทย - ศิริราชพยาบาล

มีเรื่องเกร็ดที่ฉันได้รู้เห็นในสมัยเมื่อมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการป้องกันความไข้เจ็บมาแต่ก่อนหลายเรื่อง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในการไม่ปรากฏจดหมายเหตุ ถ้าไม่มีใครเขียนลงไว้เมื่อหมดตัวผู้รู้ก็จะเลยสูญเสีย จึงมาเขียนเล่าในนิทานนี้ แต่เป็นเรื่องยาวจึงแยกเป็นนิทาน ๒ เรื่อง เล่าเรื่องในสมัยเมื่อก่อนฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเรียกว่า "เรื่องตั้งโรงพยาบาล" เรื่องหนึ่ง แล้วเล่าเรื่องในสมัยจัดการป้องกันความไข้เจ็บ เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว เรียกว่า "เรื่องอนามัย" ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง





ศิริราชพยาบาล



....................................................................................................................................................


เรื่องตั้งโรงพยาบาล


(๑)

เมื่อพ.ศ. พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้มีโรงพยาบาลขึ้นในบ้านเมืองสมกับเป็นประเทศที่รุ่งเรือง ทรงตั้งกรรมการคณะหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ให้เป็นพนักงานจัดการตั้งโรงพยาบาลตามพระราชประสงค์ ผู้ซึ่งเป็นคณะกรรมการรวม ๙ คนด้วยกัน คือ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ เป็นนายก ๑
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ๑
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ๑
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ (กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์) ๑
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ๑
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ๑
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เสถียร ต้นสกุล "โชติกเสถียร") ๑
เจ้าหมื่นสรรเพชญ์ภักดี (บุศ เพ็ญกุล) ๑
ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน แพทย์ประจำพระองค์ ๑

กรรมการประชุมปรึกษากัน เห็นว่าโรงพยาบาลเป็นของใหม่แรกจะมีขึ้น ควรตั้งแต่แห่งเดียวก่อน เมื่อจัดการรักษาพยาบาลให้คนทั้งหลายเห็นคุณของโรงพยาบาลประจักษ์ใจแล้ว จึงคิดขยายการตั้งโรงพยาบาลให้แพร่หลายออกไปในชั้นต้น จึงกราบบังคมทูลขอแบ่งที่วังหลังข้างตอนใต้อันเป็นที่หลวงร้างอยู่ทางฟากธนบุรี สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่นั้น และซื้อที่ริมน้ำข้างเหนือโรงเรียน(แหม่มโคล)ของมิชชั่นนารีอเมริกันทำท่าขึ้นไปยังโรงพยาบาล เดิมเรียกว่า "โรงพยาบาลวังหลัง" เป็นโรงพยาบาลหลวงแรกมีในเมืองไทย


(๒)

ในการตั้งโรงพยาบาลนั้น กรรมการสมมติให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์(จะเรียกต่อไปโดยสะดวกว่า พระองค์ศรี) กับตัวฉันเป็นผู้ทำงาน เช่น เป็นอนุกรรมการด้วยกัน ๒ คนแบ่งหน้าที่กัน ตัวฉันเป็นพนักงานก่อสร้าง พระองค์ศรีเป็นพนักงานจัดการภายในโรงพยาบาล ความประสงค์ของกรรมการในชั้นนี้ จะให้มีโรงพยาบาลพร้อมด้วยพนักงานรักษาพยาบาลและคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลบ้างแล้ว จึงจะเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทำพิธีเปิดโรงพยาบาล พระองค์ศรีกับฉันจึงต้องพบปะปรึกษาหารือรู้เห็นการที่ทำนั้นด้วยกันเสมอ

การแผนกที่ฉันทำมีจำกัดอยู่ที่เงินทุนที่จะใช้มีน้อย การก่อสร้างจึงทำแต่พอให้ตั้งเป็รโรงพยาบาลได้ ว่าโดยย่อคือ รื้ออิฐปูนกำแพงวังหลัง ก่อกำแพงและปูถนนในบริเวณโรงพยาบาลอย่างหนึ่ง ซื้อที่ทำโรงพยาบาลอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นก็ให้ไปรื้อเรือนไม้หลังใหญ่ของพระไชยบูรณ์(อิ่ม)ซึ่งตกเป็นของหลวง พระราชทานให้เอามาปลูกเป็นที่ว่าการรวมกับที่ผสมยาหลังหนึ่ง และปลูกเรือนผู้ดูการโรงพยาบาลกับโรงครัวโรงแถวที่อยู่ของคนรับใช้ที่ริมน้ำหมู้หนึ่ง ปลูกโรงพยาบาลด้วยเครื่องไม้มุงจาก ๔ หลังพอคนไข้อยู่สัก ๕๐ คนอย่างหนึ่ง การก่อสร้างชั้นต้นว่าตามที่ยังจำได้ดูเหมือนจะเพียงเท่านั้น ไม่ยากลำบากอันใด แต่การในแผนกของพระองค์ศรมีความลำบากมากแต่ตั้นหลายอย่างดังจะพรรณนาต่อไป ซึ่งคิดดูในเวลานี้บางอย่างก็น่าจะเห็นขัน


(๓)

ความลำบากข้อแรก เริ่มแต่หาหมอประจำโรงพยาบาล ตามความคิดของกรรมการ หมายจะหาหมอที่ชำนาญการการรักษาไข้เจ็บจนมีชื่อเสียง ซึ่งมักจะเป็นหมอหลวงโดยมากมาให้รับเงินเดือนเป็นตำแหน่งนายแพทย์และแพทย์รองประจำโรงพยาบาล แต่เมื่อพระองค์ศรีไปเที่ยวตรัสชวนหมอหลวง ปรากฏแก่เธอว่าหมอถือตัวกันเป็นต่างพวก ใช้วิธีรักษาและยารักษาโรคร่วมกันแต่ในพวกของตน ซึ่งมักเป็นลูกตัวหรือลูกเขยหรือเป็นศิษย์ของหมอที่เป็นตัวครู ต่างพวกต่างรังเกียจกัน ตามคำที่พระองค์ศรีเธอตรัสว่า "ดูราวกับเห็นพวกอื่นว่าไม่เป็นหมอไปเสียทั้งนั้น"

ฉันเคยทูลถามว่า "ถ้าเช่นนั้น เอาตำราหมอของหลวงใช้เป็นหลักสำหรับโรงพยาบาลไม่ได้หรือ" เธอตรัสว่า "ได้ลองถามดูแล้ว ต่างคนต่างก็บอกว่าตำราหลวงนั้นใช้เป็นหลักไม่ได้จริง อ้างเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นตำรายา ว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ประชุมหมอหลวงแต่งตำรายาที่จารึก ณ วัดพระเชตุพนฯ หมอหลวงต่างคนก็ปิดพรางตำรายาดีของตนเสีย ไม่ได้ลงไปในตำราหลวง คงมีแต่ตำราที่แต่งไว้แต่ยาอย่างบรมโบราณ อันใครๆก็รู้ด้วยกันหมด แต่วิธีรักษาและยาดีที่ใช้ในปัจจุบันหามีไม่"

เมื่อไม่สามารถจะให้หมอร่วมมือกันได้เช่นนั้น กรรมการก็ต้องให้พระองค์ศรีหาหมอที่มีชื่อเสียงแต่คนหนึ่งเป็นตำแหน่งนายแพทย์ ส่วนนายแพทย์รองนั้นให้นายแพทย์หามาจะเป็นลูกหลานหรือศิษย์ก็ตาม สุดแต่ให้โรงพยาบาลใช้วิธีรักษาไข้และใช้ยาอย่างเดียวกันเป็นสำคัญ พระองค์ศรีจึงเชิญพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง(หนู) เมื่อยังเป็นพระประสิทธิ์วิทยา เป็นหมอมีชื่อเสียงทรงคุ้นเคยยิ่งกว่าคนอื่น เป็นตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ประจำโรงพยาบาล ส่วนแพทย์รองนั้นพระยาประเสริฐฯ พาหมอหนุ่มๆซึ่งเคยเป็นศิษย์มาให้เป็นตำแหน่ง ๒ คน ชื่อว่า หมอคงคนหนึ่ง หมอนิ่มคนหนึ่ง หมอ ๒ คนนี้มาประจำอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่ยังหนุ่ม ได้เห็นและรักษาโรคต่างๆอยู่เนืองนิจ ผิดกับหมอเชลยศักดิ์ซึ่งได้เห็นไข้ต่อเมื่อเขาหาไปรักษา จึงได้ชำนิชำนาญการรักษาไข้เชี่ยวชาญ นานมาหมอคงถึงได้เป็นพระยาพิษณุประสาทเวท และหมอนิ่มก็ได้เป็นพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง ขึ้นชื่อเสียงนับถือว่าเป็นหมอดีทั้ง ๒ คน


(๔)

นอกจากความลำบากเรื่องหาหมอ ยังมีความลำบากด้วยเรื่องหาคนไข้ต่อไป เมื่อมีโรงพยาบาลและมีพนักงานรักษาพยาบาลแล้ว กรรมการให้ประกาศว่าโรงพยาบาลหลวงจะรับรักษาไข้เจ็บให้เป็นทาน ทั้งจะให้คนไข้กินอยู่นุ่งห่มเวลาอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียเงินค่าขวัญข้าวค่ายาอย่างหนึ่งอย่างใดด้วย แต่อย่างนั้นคนก็ไม่ไว้ใจ ไม่มีคนไข้ไปยังโรงพยาบาล คอยอยู่หลายวันเริ่มมีผู้ส่งคนไข้ไปให้รักษา แต่ก็ล้วนเป็นคนไข้อาการเพียบส่งไปเมื่อไม่มีใครรับรักษาแล้ว ไปถึงโรงพยาบาลไม่ช้าก็สิ้นใจ ไม่มีโอกาสจะรักษาให้หายได้ ทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นเรือนตายของคนไข้ กรรมการพากันวิตกเกรงจะเสียชื่อโรงพยาบาลจึงปรึกษากันให้เที่ยวหาคนไขที่พอจะรักษาหายหาเข้าโรงพยาบาล

มีผู้แนะนำว่าพวกคนเป็นโรงมะเร็งตามหน้าแข้งนั่งขอทานอยู่ที่สะพานหันและแห่งอื่นๆในถนนสำเพ็งมีมาก หมอเคาแวนว่าจะรักษาให้หายได้ไม่ยาก จึงให้ไปรับพวกเป็นมะเร็งเหล่านั้น แต่กลับมีผลผิดคาด ด้วยพวกเป็นมะเร็งล้วนเป็นเจ๊กขอทาน ไม่มีใครยอมไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล บอกสัญญาจะรักษาให้หายก็กลับโกรธ เถียงว่าถ้าแผลหายเสียแล้วจะขอทานเขากินอย่างไรได้ ลงปลายกรรมการต้องขอแรงกันเอง ให้ช่วยชักชวนพวกพ้องบ่าวไพร่ของตน ที่เจ็บป่วยแม้เพียงเล็กน้อย ไปขอยาหรือรักษาตัวที่โรงพยาบาลพอเป็นตัวอย่างแก่มหาชน โดยกระบวนนี้พอปรากฏว่ามีคนไปรักษาตัวหายเจ็บกลับมาจากโรงพยาบาลก็มีผู้อื่นตามอย่าง ความเชื่อถือโรงพยาบาลจึงค่อยมียิ่งขึ้นโดยลำดับ


(๕)

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ ในเวลาที่กำลังสร้างโรงพยาบาลที่วังหลังนั้น ประจวบงานพระเมรูพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ที่ท้องสนามหลวง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระมารดาของสมเด็จเจ้าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ทรงพระราชดำริว่าในงานพระเมรุแต่ก่อนๆ ได้เคยทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกื้อกูลแก่สาธารณประโยชน์อย่างอื่นมามากแล้ว

ในงานพระเมรุครั้งนั้นจะทรงเกื้อกูลแก่โรงพยาบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และทรงแนะนำแก่ผู้ประสงค์จะช่วยงานพระเมรุ ให้ช่วยในการจัดตั้งโรงพยาบาลด้วย การสร้างโรงพยาบาลก็สำเร็จด้วยได้รับความอุดหนุนในงานพระเมรุสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เพราะเหตุนั้นเมื่อสร้างสถานที่และวางระเบียบการสำเร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทำพิธีเปิดโรงพยาบาล เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑ จึงพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า "ศิริราชพยาบาล" คนทั้งหลายชอบเรียกกันตามสะดวกปากว่า "โรงพยาบาลศิริราช" แต่นั้นมา เมื่อเปิดโรงพยาบาลศิริราชแล้ว ก็โปรดให้รวมการพยาบาลตั้งขึ้นเป็นกรมหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๓๑ เรียกว่า "กรมพยาบาล" ทรงพระกรุณาโปรดฯให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เป็นตำแหน่งอธิบดี ส่วนกรรมการเมื่อได้จัดการสำเร็จตามรับสั่งแล้ว ก็เลิกในคราวนั้นด้วย


(๖)

เมื่อวันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงทำพิธีเปิดโรงพยาบาล "ศิริราชพยาบาล" กรรมการเชิญผู้คนไปมาก พอเห็นว่าตั้งโรงพยาบาลสำเร็จก็พากันเลื่อมใส เพราะการบรรเทาทุกข์เพื่อนมนุษย์ย่อมถือว่าเป็นกุศลกรรมทุกศาสนา แต่นั้นมาคนทั้งหลายไม่เลือกว่าชาติใดหรือถือศาสนาใด ก็มีแก่ใจช่วยโรงพยาบาลด้วยประการต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๗ (พ.ศ. ๒๔๓๐) มีการฉลองรัชกาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียครบ ๕๐ ปี พวกอังกฤษที่อยู่ในกรุงเทพฯประสงค์จะสร้างสิ่งอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ เขาปรึกษากันเห็นว่าควรจะช่วยสร้างโรงพยาบาลที่รัฐบาลตั้งขึ้นใหม่ จึงเรียรายเข้าทุนกันส่งเงินมายังกรมพยาบาล ขอให้สร้างตึกรับคนไข้ขึ้นในโรงพยาบาลหลังหนึ่ง จึงได้สร้างตึก "วิกตอเรีย" เป็นตึกหลังแรกในโรงพยาบาลนั้น

ต่อมาในปีนั้นเอง เจ้าภาพงานศพพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ทรงศรัทธาบริจาคทรัพย์ช่วยสร้างตึกรับคนไข้ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ขนานนามว่า "ตึกเสาวภาคนารีรัตน์" เรียกโยย่อว่า "ตึกเสาวภาค" เริ่มีตึกขึ้นเป็น ๒ หลัง และยังมีผู้บริจาคทรัพย์พอสร้างเรือนไม้สำหรับคนไข้ได้อีกหลายหลัง ผู้ที่เกื้อกูลในการอื่นก็ยังมีต่อมาเนืองนิจ เลยเกิดเป็นประเพณีถือกันว่าโรงพยาบาลเป็นที่ทำบุญแห่งหนึ่ง

เมื่อพระองค์ศรีฯทรงเห็นว่าโรงพยาบาลศิริราชจะเจริญต่อไปได้มั่นคงแล้ว ก็ทรงพระดำริขยายการกรมพยาบาลต่อออกไป การที่จัดต่างกันเป็น ๓ อย่าง คือ ปลูกฝีดาษให้เป็นทานแก่ประชาชนอย่างหนึ่ง ตั้งโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นที่อื่นอย่างหนึ่ง ตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์อย่างหนึ่ง ดั้งพรรณนาเป็นอย่างๆต่อไป


(๗)

การปลูกฝีดาษนั้น มีเรื่องตำนานปรากฎมาแต่ก่อนว่า ดอกเตอร์ บรัดเล มิชชั่นนารีอเมริกัน เป็นนำวิชาปลูกฝีเข้ามาสู่เมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๓ เดิมสั่งพันธุ์หนองฝีที่สำหรับปลูกมาแต่ประเทศอเมริกา ก็ในสมัยนั้นการคมนาคมระหว่างประเทศยังใช้เรือใบไปมา กว่าจะถึงกันนานหลายวัน เมื่อได้พันธุ์หนองมาไม่แน่ใจว่ายังจะใช้ได้หรือไม่

กล่าวกันว่าหมอบรัดเลลองปลูกฝีลูกของตนเองก่อน เมื่อฝีขึ้นได้ดังประสงค์จึงเอาหนองฝีจากแผลลูกปลูกที่คนอื่นต่อๆกันไป แต่ปลูกเพียงฤดูหนาวซึ่งอากาศเย็นหมาะแก่การปลูกฝียิ่งกว่าฤดูอื่น แล้วต้องรอพันธุ์หนองฝีที่จะมาจากอเมริกาคราวหน้าต่อไป แต่การที่หมอบรัดเลปลูกฝีดาษมีคนเชื่อถือมาแต่แรก แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็ทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นประโยชน์ ถึงโปรดให้หมอหลวงไปหัดปลูกฝีต่อหมอบรัดเลแลพระราชทานเงินหมอบรัดเลเป็นเงิน ๕ ชั่ง โปรดฯใหพิมพ์หมายประกาศเป็นใบปลิว ๑๐,๐๐๐ ฉบับ แจกจ่ายชวนชาวพระนครให้ปลูกฝี หมอบรัดเลเขียนไว้ในจดหมายเหตุว่า รัฐบาลไทยใช้การพิมพ์หนังเป็นทีแรกในครั้งนั้น

กรมพยาบาลปลูกฝีก็ยังใช้วิธีเก่าเช่นพรรณนามา คือ สั่งพันธุ์หนองสำหรับปลูกฝีมาแต่ยุโรป ส่งมาทางไปรษณีย์มาถึงเมืองไทยได้ในราว ๒ เดือน เร็วกว่ามาจากอเมริกา ใช้โรงพยาบาลศิริราชเป็นสถานปลูกฝี เมื่อปลูกขึ้นแล้ว เลือกดูเด็กที่มีกำลังแข็งแรง จ้างแม่ให้เลี้ยงเด็กคนนั้นอยู่ที่โรงพยาบาลจนกว่าแผลจะแห้ง คราวละสองสามคน เอาหนองฝีที่แผลเด็กเป็นพันธุ์ปลูกให้คนอื่นต่อไปจนสิ้นฤดูปลูกฝี

แต่ผู้ใดจะให้หมอโรงพยาบาลไปปลูกฝีที่บ้านเรือนของตนเอง ด้วยพันธุ์หนองต่างประเทศก็รับปลูก แต่เรียกค่าปลูกเช่นหมอเชลยศักดิ์อื่นๆ ตั้งแต่กรมพยาบาลรับปลูกฝีก็มีคนนิยมมากมาแต่แรก เพราะราษฎรจะไปปลูกฝีได้โดยง่าย ผู้มีทรัพย์ก็ชอบให้โรงพยาบาลไปปลูกฝี เพราะเห็นเป็นผู้ชำนาญและเชื่อว่าได้หนองฝีที่ดีไว้ใจได้


(๘)

เรื่องตั้งโรงพยาบาลที่อื่นออกไปนั้น ก็อยู่ในวงความคิดของกรรมการมาแต่เดิม แต่เมื่อตั้งกรมพยาบาลแล้วมีเหตุอย่างหนึ่ง เตือนให้รีบจัดด้วยมีผู้ขอส่งคนเสียจริตให้โรงพยาบาลรักษาเนื่องๆ จะรับรักษาในโรงพยาบาลศิริราชก็ไม่ได้ จะบอกปิดไม่รับรักษาคนเสียจริตก็เห็นขัดกับหน้าที่กรมพยาบาล จึงคิดตั้งโรงพยาบาลต่อออกไปที่อื่นพร้อมกับตั้งโรงพยาบาลรักษาคนเสียจริต การตั้งโรงพยาบาลเพิ่มเติม ไม่ยากเหมือนเมื่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช เพราะได้ตั้งแบบแผนในโรงพยาบาลแล้ว หมอและพนักงานก็มีอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชพอที่จะแบ่งไปประจำอยู่โรงพยาบาลอื่นได้

ความลำบากมีอยู่แต่เงินทุนไม่พอที่จะปลูกสร้างเป็นโรงพยาบาลขึ้นใหม่ จึงกราบทูลขอบ้านที่เป็นของหลวง เช่น บ้านเจ้าภาษีนายอากรตีใช้หนี้หลวง เป็นต้น มาแก้ไขเป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลที่ตั้งเพิ่มขึ้นครั้งนั้น ๔ แห่ง คือ

- ได้ตึกบ้านพระยาภักดภัทรากร(เจ้าสัวเกงซัว)ที่ปากคลองสาน ตั้งเป็นโรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งหนึ่ง

- ได้ตึกบ้านอากรดา ที่ริมคลองคูพระนครตรงหน้าวังบูรพาภิรมย์ ตั้งเป็นโรงพยาบาลสามัญ เรียกว่า "โรงพยาบาลบูรพา" แห่งหนึ่ง

- ได้บ้านหลวงที่ปากถนนสีลมติดกับถนนเจริญกรุงซึ่งหมอเฮส์ได้รับอนัญาตใช้เป็นที่รักษาพยาบาลฝรั่งอย่าง Nursing Home โอนมาเป็นของกรมพยาบาลแห่งหนึ่ง

- สร้างโรงพยาบาลใหม่ที่ปากถนนหลวง ตรงกับวักเทพศิรินทราวาส ด้วยเรือนไม้สองชั้นของพระราชทานครั้งงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์เป็นที่ว่าการ และปลูกเรือนไม้รับคนไข้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลศิริราชแห่งหนึ่ง เรียกว่า "โรงพยาบาลเทพศิรินทร์" แห่งหนึ่ง

ถึงตอนนี้ คนทั้งหลายเห็นคุณของโรงพยาบาลแล้ว พอเปิดโรงพยาบาลที่ไหน ก็มีคนไข้ไปให้รักษาไม่ต้องขวนขวายหาคนไข้เหมือนแต่แรก


(๙)

การตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์นั้น เดิมมีความประสงค์สองอย่างคือ จะหาหมอสำหรับประจำโรงพยาบาลต่อไป มิให้ต้องลำบาดกเหมือนเมื่อแรกตั้งโรงพยาบาลดังพรรณนามาแล้วอย่างหนึ่ง ด้วยเห็นว่าหมอไทยแต่ก่อนมาเรียนรักษาโรคแต่ด้วยวิธีใช้ยา ไม่ได้เรียนวิธีรักษาด้วยตัดผ่า(Surgery) จะเพิ่มวิชานั้นให้แก่หมอไทย จึงให้สร้างตึกตั้งโรงเรียนขึ้นที่ริมแม่น้ำหน้าโรงพยาบาลศิริราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ รับนักเรียนที่สมัครจะเรียนวิชาแพทย์ ให้เรียนวิชารักษาไข้และใช้ยาไทยที่ในโรงพยาบาลศิริราช ให้ดอกเตอร์ ยอช แมกฟาแลนด์ หมออเมริกัน(ภายหลังได้เป็นที่พระอาจวิทยาคม)ซึ่งสามารถสอนด้วยภาษาไทยได้เป็นครูสอนวิธีตัดผ่าและยาฝรั่ง แต่โรงเรียนนั้นยังไม่เป็นผลในสมัยพระองค์ศรีฯและสมัยเมื่อฉันรับราชการต่อมา

จน พ.ศ. พ๔๓๖ ในสมัยเมื่อกรมพยาบาลขึ้นอยู่ในเจ้าพระภาสกรวงศ์ นักเรียนจึงมีความรู้จบหลัสูตรสอบวิชาได้ประกาศนียบัตร เรียกกันว่า "หมอประกาศนียบัตร" เป็นครั้งแรก มี ๙ คน บางคนกรมพยาบาลให้เป็นหมอประจำโรงพยาบาล นอกจากนั้นไปเที่ยวรับรักษาไข้เจ็บเป็นหมอเชลยศักดิ์โดยลำพังตน

แต่ผลของโรงเรียนวิชาแพทย์ในชั้นแรก ไม่เป็นประโยชน์ได้ดังหวัง เพราะคนทั้งหลายยังเชื่อถือหมอที่เป็นลูกศิษย์ของหมอที่มีชื่อเสียงอยู่อย่างเดิม หมอประกาศนียบัตรเที่ยวรักษาไข้เจ็บหาผลประโยชน์ไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องไปหาการอื่นทำช่วยเลี้ยงตัว บางคนถึงทิ้งวิชาแพทย์ไปหาเลี้ยงชีพด้วยการอย่างอื่นก็มี เลยเป็นผลร้ายไปถึงโรงเรียนด้วยมีคนสมัครเป็นนักเรียนแพทย์น้องลงกว่าแต่ก่อน

โรงเรียนแพทย์มาพ้นความลำบากได้ เมื่อกระทรวงมหาดไทยมีเหตุดังจะเล่าในนิทานเรื่องอนามัย เลือกเอาแต่หมอประกาศนียบัตร ตั้งเป็นแพทย์ประจำหัวเมือง และต่อมาเมื่อกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงจัดการทหารบก ก็เลือกเอาแต่หมอประกาศนียบัตรตั้งเป็นแพทย์ทหาร เพราะรู้วิชาตัดผ่ารักษาแผลอาวุธ แต่นั้นคยก็สมัครเรียนวิชาแพทย์มากขึ้น โรงเรียนแพทย์จึงกลับรุ่งเรือเป็นลำดับมา จนกลายเป็น แพทยาลัย


(๑๐)

ได้กล่าวมาข้างต้น ว่าพระบาทสมเเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกรรมการ ๙ คน ให้จัดการตั้งโรงพยาบาล และกรรมการได้สมมติให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์กับตัวฉันเป็นผู้ทำการด้วยกัน ๒ คน ตัวฉันเป็นพนักงานก่อสร้าง อันเป็นงานชั่วคราวไม่ยากลำบากอันใด พอสร้างโรงพยาบาลสำเร็จก็เสร็จธุระของฉัน แต่พระองค์ศรีฯเป็นพนักงานจัดการภายในโรงพยาบาลอันเป็นงานประจำมีความลำบากมาแต่แรก ตั้งแต่หาหมอ หาคนไข้เป็นต้น ดังพรรณนามาแล้ว เมื่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นแล้ว งานในหน้าที่ของพระองค์ศรีฯก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นลำดับมา พระองค์ศรีฯทรงสามารถจัดการภายในโรงพยาบาลให้เจริญมาจนตั้งโรงพยาบาลได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้เธอเป็นอธิบดีกรมพยาบาลแต่แรกตั้งกรมนั้น

แต่พระองค์ศรีฯมีหน้าที่ราชการอย่างอื่นอีก คือ เป็นอธิบดีดำนวยการหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาอย่างหนึ่งและเป็นตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ด้วย อีกตำแหน่งหนึ่ง มาตั้งแต่ก่อนเป็นกรรมการตั้งโรงพยาบาล เวลาเช้าเธอต้องเสด็จไปทำการที่โรงพยาบาล ถึงกลางวันต้องเสด็จไปยังสำนักงานหนังสือราชกิจจานุเบกษา เวลาค่ำยังต้องเข้าไปเขียนร่างรับสั่งทุกคืน ส่วนพระองค์ของพระองค์ศรีฯนั้น แม้เวลาเป็นปกติก็แบบบางอยู่แล้ว เมื่อมาต้องทำงานหนักขึ้นและเวลาที่จะพักผ่อนบำรุงพระองค์น้องลงกว่าแต่ก่อน ในไม่ช้าเท่าใดพระอนามัยก็ทรุดโทรมลง

พอฉันสังเกตเห็นก็ได้เคยทูลตักเตือนแต่แรกว่าเธอทำราชการเกินพระกำลังนัก ควรคิดแบ่งเบาถวายเวนคืนหน้าที่เขียนพระราชนิพนธ์ซึ่งผู้อื่นทำแทนได้ไม่ยาก เอาพระกำลังและเวลาไปทำการกรมพยาบาลถวายแต่อย่างเดียว เจ้าพี่เจ้าน้องพระองค์อื่นก็ทรงตักเตือนอย่างนั้น แต่เธอไม่ฟัง ตรัสว่า ถ้าพระเจ้าอยู่หัวยังทรงใช้อยู่ตราบใด เธอจะไม่ทิ้งพระเจ้าอยู่หัวด้วยเห็นแก่พระองค์เป็นอันขาด เธอฝืนพระกำลังทำราชการมาจนประชวรลง หมอตรวจก็ปรากฏว่า พระปับผาสะพิการเป็นวัณโรคภายใน(น่าสงสัยว่า จะเริ่มเป็นมานานแล้วมากำเริบขึ้นเมื่อ้องทำงานหนัก) สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบก็ตกพระทัย ออกพระโอษฐ์ว่า "ไม่รู้เลยว่าใช้ศรีเกินกำลัง" แต่ส่วนพระองค์ศรีฯเอง เวลานั้นตำหนักที่วังของเธอยังไม่ได้สร้าง เธอยังประทับอยู่ที่แพจอดที่บางยี่ขัน พอรู้พระองค์ว่าประชวรเป็นวัณโรค ก็ย้ายไปประทับรักษาพระองค์อยู่ที่ตึกเสาวภาคในโรงพยาบาลศิริราช ใครชวนพระองค์ให้ไปรักษาที่อื่นก็ไม่ยอม

เธอเคยตรัสแก่ฉันว่า ถ้ารักษาไม่หายก็อยากจะตายในโรงพยาบาล คิดดูก็ชอบกล ถ้าเป็นผู้อื่นก็เห็นจะไม่อยากไปอยู่ในที่คนเจ็บคนตายในโรงพยาบาล คงเป็นเพราะพระหฤทัยเธอรักโรงพยาบาลเปรียบเหมือนเช่นรักลูกที่เธอได้ให้เกิดและเลี้ยงมาเอง จึงไม่รังเกียจและถึงปลงพระหฤทัยอยากจะสิ้นพระชนม์ในโรงพยาบาลเช่นนั้น ก็ไม่มีใครขืนพระทัย แม้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล พระญาติและมิตรก็กันไปช่วยรักษาพยาบาลไม่ขาด มาจนกระทั่งสิ้นพระชมน์เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระชนมายุเพียง ๒๗ ปี ได้เป็นอธิบดีกรมพยาบาลอยู่ไม่ถึง ๒ ปี

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสงสาร จอมมารดาเหม ซึ่งมีพระเจ้าลูกเธอแต่พระองค์ศรีฯพระองค์เดียว กับทั้งหม่อมเจ้าโอรสธิดาของพระองค์ศรีฯซึ่งเป็นกำพร้าแต่ยังเล็กอยู่ทั้ง ๒ พระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯตั้งเจ้าจอมมารดาเหม ให้เป็นท้าวสมศักดิ์รับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นบำนาญ และโปรดฯให้รับหม่อมเจ้าหญิงสุรางค์ศรีไปทรงชุบเลี้ยงที่ในพระบรมมหาราชวัง แต่หม่อมเจ้าชายปิยสรรพางค์นั้น กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงรับไปเลี้ยง ตามที่ได้สัญญาไว้กับพระองค์สรีฯ จนเจริญพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯส่งให้ไปศึกษาในยุโรป เมื่อพระองค์ศรีฯสิ้นพระชมน์แม้คนทั้งหลายอื่นภายนอก ตลอดจนคนไข้ที่เคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล บรรดาได้เคยรู้พระคุณวุฒิมาแต่ก่อนก็พากันเสียดายทั่วไปไม่เลือกหน้า

มีเรื่องเนื่องกับประวัติพระองค์ศรีฯอยู่เรื่องหนึ่ง ในเวลานี้ดูเหมือนจะรู้อยู่แต่ตัวฉันคนเดียว ด้วยเป็นเรื่องเนื่องในประวัติของฉันด้วย จะเขียนลงไว้มิให้สูญไปเสีย ประเพณีแต่ก่อนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดให้เป็นกรม อาลักษณ์เป็นพนักงานคิดนามกรม เมื่อครั้งตัวฉันจะรับกรม พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจาริยางกูร) เห็นว่าฉันรับราชการทหาร จึงคิดนามกรมว่า "กรมหมื่นจตุรงครังสฤษฏิ์ นามหนึ่ง ว่า กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ นามหนึ่ง" ถวายทรงเลือก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดนามหลัง แต่ทรงปรารภถึงคำ "ภาพ" ที่ลงท้าย ว่าเมื่อถึงนามกรมพระองค์ศรีฯซึ่งเป็นเจ้าน้องต่อตัวฉันจะหาคำสัมผัสให้คล้องกันได้ยาก พระยาศรีสุนทรฯกราบทูลรับประกันว่าจะหาให้ได้ จึงทรงรับฉันเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ พระยาศรีสุนทรฯกราบทูลรับแล้วก็ไมนอนใจคิดนามกรมสำหรับพระองค์ศรีฯขึ้นสำรองไว้ว่า "กรมหมื่นศุภกาพย์กวีการ" เพราะเธอทรงชำนิชำนาญการบทกลอนภาษาไทย

แต่ลักษณะพิธีรับกรมสมัยนั้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานพระสุพรรณบัตรที่วังเจ้านาย คือต้องสร้างวังก่อนแล้วจึงรับกรม พระองค์ศรีฯด่วยสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังไม่ได้สร้างวัง จึงมิได้เป็นกรม นามกรมที่พระยาศรีสุนทรฯคิดไว้ก็เลยสูญ เมื่อโปรดฯให้พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตเจ้าน้องถัดพระองค์ศรีฯไปรับกรม พระยาศรีสุนทรคิดพระนามใหม่ว่า "กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา" ก็สัมผัสคำ "ภาพ" ได้ไม่ขัดข้อง


(๑๑)

เมื่อพระองค์ศรีเสาวภางค์สิ้นพระชนม์ ประจวบกับเวลาตั้งกระทรวงธรรมการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้รวมกรมพยาบาลเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระทรวงธรรมการซึ่งตัวฉันเป็นอธิบดี ฉันจึงได้ว่ากรมพยาบาลต่อพระองค์ศรีฯมา แต่ผิดกันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ด้วยฉันต้องบังคับบัญชาการกรมต่างๆซึ่งรวมอยู่ในกระทรวงธรรมการ ไม่มีเวลาจะไปดูแลกรมพยาบาลได้มากเหมือนพระองค์ศรีฯ จึงต้องกราบทูลขอให้พระยาไกรโกษา(เทศ)เป็นอธิบดีผู้รักษาการกรมพยาบาล ตัวฉันเป็นแต่ผู้คิดการต่างๆที่จะให้จัดและไปตรวจการงานเองเป็นครั้งคราวเช่นไปตามโรงพยาบาลทุกแห่งสัปดาห์ละครั้งหนึ่งเป็นต้น การพยาบาลที่จัดในสมัยเมื่อขึ้นอยู่กับฉันก็ล้วนแต่จัดการต่างๆที่พระองค์ศรีฯได้ทรงริเริ่มจัดไว้ ให้สำเร็จไปทุกอย่าง มีการจัดใหม่ในสมัยของฉัน แต่เรื่องวิธีพยาบาลคนคลอดลูก ดังจะพรรณนาต่อไป


(๑๒)

เมื่อจะเล่าเรื่องแก้วิธีพยาบาลคนคลอดลูก จะต้องกล่าวถึงวิธีพยาบาลอย่างเดิมเสียก่อน ธรรมดาการคลอดลูกย่อมเสี่ยงภัยแก่ชีวิตทั้งแม่และลูกที่คลอดใหม่ จึงต้องพยาบาลด้วยความระมัดระวังอย่างมาก มนุษย์ต่างชาติต่างมีวิธีพยาบาลการคลอดลูก ที่เชื่อว่าจะปลอดภัยได้ดีกว่าอย่างอื่นและใช้วิธีที่ตนเชื่อถือสืบกันมา ไม่พอใจเปลี่ยนแปลงเพราะเกรงคนกลางจะเป็นอันตราย ก็วิธีรักษาพยาบาลคนคลอดลูกที่ไทยเราใช้กันมาแต่โบราณนั้น ให้หญิงที่คลอดลูกนุ่งผ้าขัดเตี่ยนอนบนกระดานแผ่นหนึ่งเรียกว่า "กระดานอยู่ไฟ" มีเตาสุมไฟไว้ข้างกระดานนั้น ให้ส่งความร้อนกว่าอากาศปกติถึงผิวหนังคนคลอดลูกอยู่เสมอ ตลอดเวลาราว ๑๕ วัน และให้กินยาทายาไปด้วยกัน ต่อเมื่อสิ้นเขต "อยู่ไฟ" แล้วจึงลงจากกระดานไฟ อยู่กับเรือนเหมือนแต่ก่อน ไทยเราโดยเฉพาะพวกผู้หญิง แต่ก่อนมาเชื่อคุณของการอยู่ไฟอย่างมั่นคง ถึงชอบยกเป็นเหตุอ้างเมื่อเห็นผู้หญิงคนใดคลอดลูกแล้วร่างกายทรุดโทรม ว่าเป็นเพราะ "อยู่ไฟไม่ได้" ถ้าอ้วนท้วนผิวพรรณผ่องใสก็ชมว่าเพราะ "อยู่ไฟได้" เลยเป็นปัจจัยให้ตัวผู้หญิงที่ยังไม่คลอดลูก เชื่อว่าอยู่ไฟเป็นการป้องกันอันตรายและให้คุณแก่ตนเมื่อภายหลัง แม้ไม่สบายก็ไม่รังเกียจ

แต่ที่จริงการอยู่ไฟถึงจะเป็นคุณหรือไม่ให้โทษก็แต่เฉพาะคนที่ไม่มีอาการ ถ้ามีพิษไข้อยู่ในตัว ไอไฟกลับให้โทษ ขืนอยู่ก็อาจจะเป็นอันตราย แต่วิธีพยาบาลอย่างเดิม ถ้าคนคลอดลูกเป็นไข้ก็เป็นแต่ลดไอไฟให้น้อยลง หากล้าเลิกอยู่ไฟไม่ จึงเป็นเหตุถึงตายด้วยอยู่ไฟบ่อยๆ

ที่นี้จะเล่าถึงมูลเหตุที่เปลี่ยนวิธีพยาบาลคนคลอดลูก กรมหมื่นปราบปรปักษ์เคยตรัสเล่าให้ฉันฟัง ว่าเมื่อท่านยังเป็นหม่อมเจ้ามีบุตรคนแรก(คือเจ้าพระยาพระเสด็จ) หม่อมเปี่ยมมารดาเป็นไข้ทุรนทุรายทนความร้อนไม่ได้ แต่พวกผู้ใหญ่ที่พยาบาลบังคับขืนให้อยู่ไฟจนหม่อมเปี่ยมตาย ท่านก็ทรงปฏิญาณแต่นั้นมา ว่าถ้ามีลูกอีกจะไม่ให้หม่อมอยู่ไฟเป็นอันขาด ต่อมาเมื่อท่านมีลูกอีก ประจวบเวลาหมอเคาแวนเข้ามารับราชการเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระเจ้าอยู่หัว จึงให้หมอเคาแวนเป็นผู้ผดุงครรภ์และพยาบาลตามแบบฝรั่ง ก็ปลอดภัยสบายดี แต่นั้นมาท่านก็ใช้แบบฝรั่งทั้งหม่อมและบุตรธิดาของท่านก็อยู่เย็นเป็นสุขไม่มีใครเป็นอันตราย ผู้อื่นอกจากกรมหมื่นปราบฯก็เลื่อมใสวิธีพยาบาลคนคลอดลูกตามแบบฝรั่งก็น่าจะมี แต่คงเป็นเพราะพวกผู้หญิงในครัวเรือนไม่ยอมเลิกอยู่ไฟ และไม่มีเหตุบังคับเหมือนกรมหมื่นปราบฯ กรมหมื่นปราบฯจึงเป็นผู้เลิกการอยู่ไฟใช้วิธีพยาบาลคนคลอดลูกตามแบบฝรั่งก่อนผู้อื่น

กรมหมื่นปราบฯเป็นผู้ภักดีอุปฐากสนองพระคุณสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีอยู่เสมอ ได้ยินว่าเมื่อครั้งประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ มีพระอาการเป็นไข้ กรมหมื่นปราบฯ กราบทูลชี้แจงแสดงคุณของวิธีพยาบาลแบบฝรั่ง สมเด็จพระบรมราชินีทรงเลื่อมใส ขอพระราชทานบรมราชานุญาตเลิก "ผทมเพลิง" ให้หมอเคาแวนพยาบาลตามแบบฝรั่งก็คงสมบูรณ์พูลสุข ตระหนักพระราชหฤทัยว่าดีกว่าวิธีอยู่ไฟอย่างเดิม แต่นั้นก็เริ่มเลิกวิธีอยู่ไฟในพระบรมมหาราชวัง และพวกผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ข้างนอกวังก็เอาอย่างตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชินี มีมากขึ้นเป็นลำดับมา

ฉันจึงคิดวิธีพยาบาลอย่างฝรั่งในโรงพยาบาล ขยายประโยชน์ต่อลงไปถึงราษฎร แต่ในเวลานั้นผู้หญิงไปคลอดลูกในโรงพยาบาลยังมีน้อยและขอร้องให้ใช้วิธีพยาบาลอย่างเดิม เช่นให้วงสายสิณจน์แขวนยันต์รอบห้องที่อยู่และอย่ไฟเป็นต้น ชี้แจงชักชวนให้ใช้วิธีอย่างใหม่ก็ไม่มีใครยอม จึงเกิดขัดข้องเพรราะถ้าขืนใจคงไม่มีใครไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล เมื่อความขัดข้องนั้นทราบไปถึงสมเด็จพระบรมราชินี ทรงรับช่วย ด้วยโปรดประทานอนุญาตให้กรมพยาบาลอ้างกระแสรับสั่งชี้แจงแก่คนที่จะคลอดลูกในโรงพยาบาลว่า พระองค์เองได้เคยผทมเพลิงมาแต่ก่อน แล้วมาเปลี่ยนใช้วิธีพยาบาลอย่างใหม่ ทรงสบายกว่าอยู่ไฟอย่างแต่ก่อนมาก มีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรได้ความสุขด้วยจึงทรงแนะนำให้ทำตามพระองค์ อย่าได้กลัวเลยหามีอันตรายไม่ ถ้าใครทำตามที่ทรงชักชวนจะพระราชทานเงินทำขวัญลูกที่คลอดใหม่คนละ ๔ บาท พอมีกระแสรับสั่งของสมเด็จพระบรมราชินีอย่างนั้น ก็เริ่มมีคนสมัครให้พยาบาลคลอดลูกตามวิธีใหม่

ในชั้นแรกหมอเคาแวนไปดูแลคนไข้เอง แล้วฝึกหัดหมอกับคนพยาบาลมาจนชำนาญ แต่กระนั้นคนสมัครให้พยาบาลอย่างใหม่ยังมีน้อย ในห้องเดียวกันมีทั้งคนคลอดลูกที่อยู่ไฟและไม่อยู่ไฟปนกันมาอีกหลายเดือน ต่อเมื่อเห็นกันว่าคนที่ไม่อยู่ไฟไม่ล้มตาย กลับสบายดีกว่าคนอยู่ไฟทั้งได้เงินทำขวัญลูกด้วย จำนวนที่ขออยู่ไฟก็น้อยลงจนเกือบไม่มี กรมพยาบาลจึงสามารถตั้งข้อบังคับรับให้คนคลอดลูกในโรงพยาบาลแต่คนที่สมัครไม่อยู่ไฟ เลิกประเพณีอยู่ไฟในโรงพยาบาลแต่นั้นมา

ฉันได้ว่าการกรมพยาบาลอยู่ ๒ ปี พอถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดฯให้ฉันย้ายจากกระทรวงธรรมการไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็สิ้นเกี่ยวข้องกับกรมพยาบาลเพียงนั้น


นิทานโบราณคดี เรื่อง ตั้งโรงพยาบาล
พระนิพนธ์ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


....................................................................................................................................................


Create Date : 17 มีนาคม 2550
Last Update : 21 มีนาคม 2550 8:37:17 น. 0 comments
Counter : 2575 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com