กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตำนานกรุงศรีอยุธยา

คำนำของผู้เรียบเรียง


ตำนานกรุงเก่านี้ พึ่งมีความคิดเรียบเรียงขึ้นตามที่นึกได้ในระหว่างเวลาว่างตรวจการทำพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ ซึ่งเป็นเวลากำลังฉุกละหุกมีเวลาน้อย ไม่พอที่จะตรวจสอบกับตำราทั้งหมดให้ละเอียดได้ ที่งการพิมพ์ก็เร่งรัดที่จะให้แล้วเร็จทันวันงานพระราชพิธีรัชมงคล และการที่ทำโดยรีบร้อนเช่นนี้ ก็ย่อมจะมีที่ผิดพลั้งอยู่เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าหนังสือฉบับนี้จะมีที่คลาดเคลื่อนประการใด ขอท่านผู้อ่านทั้งหลายจงโปรดให้อภัยแก่ผู้เรียบเรียง และขอให้เป็นที่เข้าใจไว้ว่า ถ้าจะมีที่ผิด ก็เป็นด้วยความพลั้งเผลอและตรวจตราไม่ละเอียด หรือความเข้าใจผิดของผู้เรียบเรียง แต่ไม่ใช่เป็นด้วยผู้เรียบเรียงตั้งใจจะให้ท่านทั้งหลายเข้าใจผิดกับความจริง

อนึ่งตามโบราณสถานแต่ก่อนมา เป็นที่รกแล้วไปด้วยต้นไม้และเครือเขาเถาลัดดาปกคลุม ยิ่งในพระราชวัง รูปลวดลายพระที่นั่งตำหนักน้อยใหญ่และสถานต่างๆ ก็จมอยู่ในโคกและเนินสูงเหลือที่จะเห็นได้ทั่วถึงได้ มาในรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖ นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดพระราชวังเป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในพระราชพิธีรัชมงคล ซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกมาได้ ๔๐ ปี เท่ากับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ ซึ่งเสวยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเวลายืนยาวกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นนั้น โบราณสถานซึ่งจมดินและรกชัฏมากว่าร้อยปี ก็ผุดขึ้นมาเห็นรูปทรงลวดลายและเตียนสะอาด ด้วยอำนาจพระบารมี

เพราะฉะนั้นผู้เรียบเรียงตำนานนี้ ขอชักชวนท่านทั้งหลายบรรดาที่ได้ชมพระบรมโพธิสมภาร จงอธิษฐานน้ำใจถวายพระพรไชยมงคล ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญ พระชนมายุยืนนาน จะเสด็จดำรงอยู่ในศิริราชสมบัติโดยทรงพระเกษมสำราญ นิราศสรรพโรคพิบัติอุปัทวันตรายทั้งปวง เทอญ


โบราณศาลากรุงเก่า
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖
(พระยาโบราณบุรานุรักษ์)



....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๑ ประวัติกรุงเก่า

พระราชพงศาวดารสังเขป


เมืองหนึ่งซึ่งอยู่เหนือจากกรุงเทพมหานครขึ้นไปที่เรียกกันว่ากรุงเก่าในเวลานี้ ใช่จะได้เป็นเมืองหลวงของประเทศสยามฉะเพาะแต่ครั้งที่สมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง) เสด็จมาสร้างเป็นพระนครขึ้นที่หนองโสนเป็นคราวแรกก็หาไม่ ตามตำราโบราณมีพระราชพงศาวดารเหนือเป็นต้น กล่าวความชัดเจนว่า เมืองนี้ก่อนแต่ศักราช ๓๐๐ ขึ้นไป ก็เคยได้เป็นเมืองหลวงของประเทศสยามชื่อว่ากรุงศรีอยุธยา มีกษัตริย์ทรงปกครองสืบต่อมาเป็นหลายพระองค์ แต่ความในพระราชพงศาวดารฉะบับนั้น บกพร่องไม่ใคร่จะติดต่อกันได้ ลงท้ายชื่อกรุงศรีอยุธยาสูญหายกลายเป็นเมืองเรียกว่า เมืองเสนาราชนคร จึงเห็นว่าคงจะเป็นด้วยกรุงศรีอยุธยาเสื่อมถอยลง เมืองอื่นมีอำนาจเข้มแข็งก็กปแผ่ลงมาได้ไปเป็นเมืองขึ้น จึงได้ลดจากกรุงลงมาเป็นเมืองไป

ครั้งเมื่อจุลศักราช ๗๑๒ ปี พระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์เชียงราย ซึ่งเสวยราชสมบัติในเมืองเทพนคร เมืองนี้ทีจะอยู่ใกล้กับเมืองที่มีอำนาจ จะเป็นที่คับแคบ ซึ่งพระเจ้าอู่ทองจะขยายแดนออกไปอีกไม่ได้ หรือกลัวเมืองอื่นจะมาทำอันตรายได้ง่ายในอย่างใด จึงได้เสด็จลงมาสร้างเมืองหลวงขึ้นที่ตำบลหนองโสนข้างทิศตะวันตกกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่ได้ไปตั้งที่กรุงเดิมนั้น ก็คงจะทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้แม่น้ำแต่ด้านเดียว ที่ๆสร้างกรุงใหม่ได้แม่น้ำถึง ๓ ด้าน เมื่อสร้างกรุงแล้วจึงขนานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา ต่อมาเรียกกรุงเทพทวาราวดีบ้าง กรุงศรีอยุธยาบ้าง แต่ชื่อศรีอยุธยาเป็นที่นิยมใช้กันมาก ตลอดถึงต่างประเทศ และพม่า มอญ เขมรลาว ก็เรียกเมืองไทยว่ากรุงศรีอยุธยา แต่ฝรั่งใช้คำห้วนเรียกว่าอยุธยา

ก็เพราะด้วยศรีอยุธยาเคยเป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศสยามมาช้านานแล้ว พระเจ้าอู่ทองเสด็จมาครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดี เฉลิมพระนามบรมนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระรามาธิบดี คือประกาศแสดงความอิสรภาพของประเทศเป็นเอกราช เมื่อสิ้นสุดรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง)แล้ว ก็มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมา ยกเสียแต่ขุนวรวงศาธิราช ซึ่งไม่นับเข้าในลำดับกษัตริย์ในพระราชพงศาวดาร ได้ ๑๕ พระองค์ ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิในระหว่าง ๑๕ รัชกาลนี้ บางแผ่นดินก็ได้มีการยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองและประเทศที่ใกล้เคียง คือ หัวเมืองเหนือและลาว เขมร มลายู หลายครั้ง

อนึ่งในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้น กษัตริย์กรุงหงสาวดีทรงพระนามว่าตะเบงซวยตี้ พงศาวดารมอญเรียกพระเจ้ามังส่วย หรืออีกนัยหนึ่งวว่ามังโสถิ์ ตั้งต้นก่อสงครามยกทัพพม่ามอญเข้ามาตีกรุงเทพทวาราวดีถึง ๒ ครั้งก็หาได้ไม่ มาภายหลังเมื่อพระเจ้าตะบเงซวยตี้ดับสูญไปแล้ว บุเรงนองเชื้อพระวงศ์ได้เป็นพระเจ้าหงสาวดี ในพงศาวดารมอญเรียกพระเจ้าฝรั่งมังตรี หรืออีกนัยหนึ่งเรียกพระเจ้าชนะสิบทิศ เพราะเป็นผู้มีอำนาจมาก ยกทัพพม่ามอญมาตีกรุงทวาราวดีอีก ๒ ครั้ง ครั้งหลังตีได้ในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช เมื่อจุลศักราช ๙๑๘ ปี พระเจ้าหงสาวดีจึงตั้งให้พระมหาธรรมราชาครองราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระสรรเพชญ์ นับเป็นพระองค์ที่ ๑ ในพระนามนี้ ครั้งนั้นกรุงเทพทวาราวดีก็ตกไปอยู่ในอำนาจกรุงหงสาวดี

มาจนถึงศักราช ๙๒๗ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้ทรงพระอุตสาหะเริ่มก่อกู้เอาประเทศสยามออกพ้นจากอำนาจกรุงหงสาวดี กลับตั้งขึ้นเป็นเอกราชและมีอำนาจใหญ่ ได้ทำสงครามกับมอญพม่า มีชัยได้แผ่นดินมอญมาเป็นเมืองขึ้น ล่วงมาได้ ๑๕ แผ่นดิน ในระหว่างนี้ก็มีแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ที่ได้ทรงแต่งกองทัพไปตีเมืองพม่ากับเมืองเชียงใหม่

ถึงในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาพระองค์ที่ ๓ นับตามลำดับกษัตริย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๓ พระนามเดิมเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี เมื่อเสวยราชสมบัติแล้วมีพระนามวิเศษอีกอย่างหนึ่งว่า พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ที่ออกพระนามดังนี้ ก็เป็นด้วยเหตุที่โปรดประทับอยู่ในพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ คนทั้งหลายจึงได้เรียกพระนามพระที่นั่ง ในครั้งนั้นข้างฝ่ายพม่า มังลองได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีชื่อใหม่ว่า พระเจ้าอลองพรายี ยกมาตีกรุงเทพทวาราวดี ครั้งที่ ๑ไม่ได้ เลิกทัพกลับไปดับสูญกลางทาง ภายหลังมังระราชบุตรผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่า จึงแต่งให้มังมหานอรธากับเนเมียวเป็นแม่ทัพยกเข้ามาตีกรุงอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัทรินทร์เสวยราชสมบัติได้ ๙ พรรษา เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๙ ปี กรุงเทพทวาราวดีก็เสียแก่กองทัพทัพพม่าข้าศึก พม่าเก็บริบทรัพย์สมบัติและเครื่องศาสตราวุธ แล้วเอาไฟเผาพระราชวังและวัดวาอารามบ้านเรือนข้าราชการเป็นอันตราย กวาดต้อนพระราชวงศานุวงศ์ ครอบครัวข้าราชการ ราษฎรไปเมืองอังวะ ประมาณ ๓๐๐๐๐ เศษ

แต่ที่แตกหนีเที่ยวเร้นซ่อนตามป่าดงและหัวเมืองต่างๆ ทั้งอดอยากล้มตายเสียก็มาก แม่ทัพพม่าตั้งให้พระนายกองอยู่รักษากรุง สำหรับรวบรวมผู้คนซึ่งยังแตกฉานซ่านเซ็นอยู่ในที่ต่างๆ พระนายกองตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้น พระนายกองคนนี้เป็นมอญเก่าอยู่ในกรุง มีความชอบที่เจ้ารับอาสาพม่าไปตีค่ายบางระจันแตก และคงจะทำการรบพุ่งในที่อื่นแข็งแรงจนพม่าไว้ใจ จึงตั้งให้เป็นที่สุกี้ คำไทยเรียกว่าพระนายกอง

คิดอายุกรุงเทพทวาราวดีแต่แรกที่สมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง)ทรงตั้งเป็นเอกราช มาจนเสียกรุงแก่พระเจ้าบุเรงนองกรุงหงสาวดีในแผ่นดินพระมหินทราธิราชนับได้ ๒๐๖ ปี ตกไปอยู่ในอำนาจกรุงหงสาวดี ๙ ปี เมื่อจุลศักราช๙๒๗ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้ทรงก่อกู้ ขาดจากอำนาจกรุงหงสาวดีกลับเป็นเอกราชมาจนเสียกรุงแก่พม่าข้าศึก ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอบยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ นับได้ ๒๐๒ ปี รวมอายุกรุงเทพทวาราวดีแต่แรกสร้างจนเสียแก่พม่าปัจจามิตร ๓ ยุคได้ ๔๑๗ ปี


พระนามสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพทวาราวดี


พระราชวงศ์เชียงราย
๑. สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๑ คือพระเจ้าอู่ทอง
เสวยราชย์ศักราช ๗๑๒(พ.ศ. ๑๘๙๓) อยู่ในราชสมบัติ ๒๐ ปี สุดรัชกาลศักราช ๗๓๑(พ.ศ. ๑๙๑๒)
๒. สมเด็จพระราเมศวร (ครั้งที่ ๑)
เสวยราชย์ศักราช ๗๓๑(๑๙๑๒) อยู่ในราชสมบัติ ๑ ปีหย่อน สุดรัชกาลศักราช ๗๓๒(๑๙๑๓)

พระราชวงศ์สุพรรณภูมิ
๓. สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ที่ ๑ พระเจ้าพฤฒิเดช นัยหนึ่งว่ามหาเดชก็เรียก (ขุนหลวงพงัว)
เสวยราชย์ศักราช ๗๓๒(๑๙๑๓) อยู่ในราชสมบัติ ๑๓ ปี สุดรัชกาลศักราช ๗๔๔(๑๙๒๕)
๔. สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์ พระเจ้าทองลั่นก็เรียก
เสวยราชย์ศักราช ๗๔๔(๑๙๒๕) อยู่ในราชสมบัติ ๗ วัน สุดรัชกาลศักราช ๗๔๔(๑๙๒๕)

พระราชวงศ์เชียงราย
๕. สมเด็จพระราเมศวร (ครั้งที่ ๒)
เสวยราชย์ศักราช ๗๔๔(๑๙๒๕) อยู่ในราชสมบัติ ๖ ปี สุดรัชกาลศักราช ๗๔๙(๑๙๓๐)
๕. สมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช (พระยาราม)
เสวยราชย์ศักราช ๗๔๙(๑๙๓๐) อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๗๖๓(๑๙๔๔)

พระราชวงศ์สุพรรณภูมิ
๖. สมเด็จพระอินทราชา พระองค์ที่ ๑ อีกพระนามเรียกพระมหานัครินทราชาธิราช
เสวยราชย์ศักราช ๗๖๓(๑๙๔๔) อยู่ในราชสมบัติ ๑๗ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๗๘๐(๑๙๖๑)
๗. สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระองค์ที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)
เสวยราชย์ศักราช ๗๘๐(๑๙๖๑) อยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๗๙๖(๑๙๗๗)
๘. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เสวยราชย์ศักราช ๗๙๖(๑๙๗๗) อยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี สุดรัชกาลศักราช ๘๑๑(๑๙๙๒)
๙. สมเด็จพระอินทราชา พระองค์ที่ ๒
เสวยราชย์ศักราช ๘๑๑(๑๙๙๒) อยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี สุดรัชกาลศักราช ๘๓๒(๒๐๑๓)
๑๐. สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๒
เสวยราชย์ศักราช ๘๓๒(๒๐๑๓) อยู่ในราชสมบัติ ๔๐ ปี สุดรัชกาลศักราช ๘๗๑(๒๐๕๒)
๑๑. สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร
เสวยราชย์ศักราช ๘๗๑(๒๐๕๒) อยู่ในราชสมบัติ ๕ ปี สุดรัชกาลศักราช ๘๗๕(๒๐๕๖)
๑๒. สมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร
เสวยราชย์ศักราช ๘๗๔(๒๐๕๖) อยู่ในราชสมบัติ ๕ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๘๗๖(๒๐๕๗)
๑๓. สมเด็จพระชัยราชาธิราช
เสวยราชย์ศักราช ๘๗๖(๒๐๕๗) อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี สุดรัชกาลศักราช ๘๙๑(๒๐๗๐)
๑๔. สมเด็จพระยอดฟ้า
เสวยราชย์ศักราช ๘๘๙(๒๐๗๐) อยู่ในราชสมบัติ ๒ ปีครึ่ง สุดรัชกาลศักราช ๘๙๑(๒๐๗๒)
๑๕. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(ครั้งที่ ๑)
เสวยราชย์ศักราช ๘๙๐(๒๐๗๑) อยู่ในราชสมบัติ ๒๔ ปี สุดรัชกาลศักราช ๙๑๔(๒๐๙๕)
๑๖. สมเด็จพระมหินทราธิราช(ครั้งที่ ๑)
เสวยราชย์ศักราช ๙๑๔(๒๐๙๕) อยู่ในราชสมบัติ ๒ ปี สุดรัชกาลศักราช ๙๑๖(๒๐๙๗)
๑๕. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(ครั้งที่ ๒)
เสวยราชย์ศักราช ๙๑๖(๒๐๙๗) อยู่ในราชสมบัติ๑ ปี สุกรัชกาลศักราช ๙๑๗(๒๐๙๘)
๑๖. สมเด็จพระมหินทราธิราช(ครั้งที่ ๒)
เสวยราชย์ศักราช ๙๑๗(๒๐๙๘) อยู่ในราชสมบัติ ๑ ปีหย่อน สุดรัชกาลศักราช ๙๑๘(๒๐๙๙)

พระราชวงศ์สุโขทัย
๑๗. สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๑ (พระมหาธรรมราชา)
เสวยราชย์ศักราช ๙๑๘(๒๐๙๙) อยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี สุดรัชกาลศักราช ๙๔๐(๒๑๒๑)
๑๘. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๒ คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เสวยราชย์ศักราช ๙๔๐(๒๑๒๑) อยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี สุดรัชกาลศักราช ๙๕๔(๒๑๓๕)
๑๙. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๓ คือสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช
เสวยราชย์ศักราช ๙๕๔(๒๑๓๕) อยู่ในราชสมบัติ ๘ ปี สุดรัชกาลศักราช ๙๖๓(๒๑๔๔)
๒๐. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๔ (เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์)
เสวยราชย์ศักราช ๙๖๓(๒๑๔๔) อยู่ในราชสมบัติ ๒ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๙๖๔(๒๑๔๕)

พระราชวงศ์ทรงธรรม
๒๑. สมเด็จพระบรมราชา พระองค์ที่ ๑ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม อย่างหนึ่งเรียกว่าพระเจ้าทรงธรรม (พระพิมลธรรม)
เสวยราชย์ศักราช ๙๖๔(๒๑๔๕) อยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๙๘๙(๒๑๗๐)
๒๒. สมเด็จพระบรมราชา พระองค์ที่ ๒ คือพระเชษฐาธิราช
เสวยราชย์ศักราช ๙๘๙(๒๑๗๐) อยู่ในราชสมบัติ ๑ ปี ๗ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๙๙๑(๒๑๗๒)
๒๓. สมเด็จพระอาทิตยวงศ์
เสวยราชย์ศักราช ๙๙๑(๒๑๗๒) อยู่ในราชสมบัติ ๖ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๙๙๒(๒๑๗๓)

พระราชวงศ์ปราสาททอง
๒๔. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๕ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า สมเด็จพระรามาธิเบศร์ คือพระเจ้าปราสาททอง
เสวยราชย์ศักราช ๙๙๒(๒๑๗๓) อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สุดรัชกาลศักราช ๑๐๑๗(๒๑๙๘)
๒๕. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๖ (เจ้าฟ้าชัย)
เสวยราชย์ศักราช ๑๐๑๗(๒๑๙๘) อยู่ในราชสมบัติ ๙ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๑๐๑๘(๒๑๙๙)
๒๖. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๗ (พระศรีสุธรรมราชา)
เสวยราชย์ศักราช ๑๐๑๘(๒๑๙๙) อยู่ในราชสมบัติ ๒ เดือน สุดรัชกาลศักราช ๑๐๑๘(๒๑๙๙)
๒๗. สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๓ คือสมเด็จพระนารายณ์มหาเอกาทศรฐราช
เสวยราชย์ศักราช ๑๐๑๘(๒๑๙๙) อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สุดรัชกาลศักราช ๑๐๔๔(๒๒๒๕)

พระราชวงศ์บ้านพูลหลวง (แซก)
๒๘. สมเด็จพระมหาบุรุษ อีกพระนามหนึ่งเรียกว่าพระธาดาธิเบศร์ (พระเพทราชา)
เสวยราชย์ศักราช ๑๐๔๔(๒๒๒๕) อยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๑๐๕๙(๒๒๔๐)

พระราชวงศ์ปราสาททอง
๒๙. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๘ อีกพระนามหนึ่งเรียกพระสุริเยนทราธิบดี คือพระพุทธเจ้าเสือ
เสวยราชย์ศักราช ๑๐๕๙(๒)(๒๒๔๐) อยู่ในราชสมบัติ ๙ ปี สุดรัชกาลศักราช ๑๐๖๘(๒๒๔๙)
๓๐. สมเด็จพระสรรเพชญ์ พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระภูมินทราชา หรือขุนหลวงทรงเบ็ดก็เรียก คือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
เสวยราชย์ศักราช ๑๐๖๘(๒๒๔๙) อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สุดรัชกาลศักราช ๑๐๙๔(๒๒๗๕)
๓๑. สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระองค์ที่ ๓ เมื่อสวรรคตแล้ว เรียกพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เสวยราชย์ศักราช ๑๐๙๕(๒๒๗๖) อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปีเศษ สุดรัชกาลศักราช ๑๑๒๐(๒๓๐๑)
๓๒. สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระองค์ที่ ๔ อีกพระนามหนึ่งเรียกพระมหาอุทุมพร มหาพรวินิจ พระนามเดิมเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิจ เมื่อทรงผนวชเรียกกันว่า ขุนหลวงหาวัด
เสวยราชย์ศักราช ๑๑๒๐(๒๓๐๑) อยู่ในราชสมบัติ ๑๐ วัน สุดรัชกาลศักราช ๑๑๒๐(๒๓๐๑)
๓๓. สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระองค์ที่ ๓ พระนามเดิม เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี อีกพระนามหนึ่งเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์
เสวยราชย์ศักราชย์ ๑๑๒๐(๒๓๐๑) อยู่ในราชสมบัติ ๙ ปี สุดรัชกาลศักราช ๑๑๒๙ (๒๓๑๐)(วัน ๓ฯ๕ ค่ำ ปีกุน)


ต้นเหตุที่กรุงเทพทวาราวดีจะหมดกำลัง

เหตุที่กรุงเทพทวาราวดีจะเสื่อมถอยหมดกำลังลงนั้น เริ่มต้นเกิดมาตั้งแต่พระเจ้าทรงธรรมแย่งราชสมบัติพระศรีเสาวภาคย์ เมื่อจุลศักราช ๙๖๔ ปี ครั้งนั้นก็ฆ่าขุนนางเก่าเสียมาก มาแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองฆ่าขุนนางพวกพระเชษฐาธิราช แต่เห็นจะน้อย ครั้นถึงแผ่นพระนารายณ์ ฆ่าขุนนางที่เป็นพวกเจ้าฟ้าชัยและพระศรีสุธรรมราชาเห็นจะเกือบหมด จนต้องใช้ขุนนางแขก ขุนนางลาว ขุนนางฝรั่ง มีพระยารามเดโช พระยาราชวังสัน พระยาสีหราชเดโช เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นต้น แผ่นดินพระเพทราชา ฆ่าขุนนางแผ่นดินพระนารายณ์ หย่อยมาจนไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมืองนครราชสีมา เห็นจะเรียกว่าเกือบหมดได้ แผ่นดินพระพุทธเจ้าเสือเห็นจะฆ่ามาก เพราะคนนิยมเจ้าพระขวัญกับพวกเจ้าพระพิชัยสุรินทร์ก็น่าจะเป็นขุนนางอยู่ไม่ได้ แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อจุลศักราช ๑๐๙๔ ข้าราชการวังหลวงเห็จจะตายเกือบหมด คิดดูในระหกว่าง ๑๓๐ ปีฆ่าเททิ้งกันเสียถึง ๗ ครั้ง เป็น ๑๘ ปีฆ่ากันครั้งหนึ่ง หรือถ้ารอดตายก็กลายเป็นไพร่หลวงและตะพุ่นหญ้าช้าง ถ้าจะนับพวกที่รอดตายก็ต้องว่าผู้ดีกลายเป็นไพร่ ไพร่กลายเป็นผู้ดีในระหว่างนั้น ๗ ครั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้มาในตอนหลังบ้านเมืองจะมีกำลังอย่างไรได้ และเมื่อขุนหลวงหาวัดได้ราชสมบัติ ก็ยังสำเร็จโทษเจ้าเสียอีก ๓ กรม ซ้ำขุนหลวงหาวัดเองกับพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ก็ไม่ปรองดองกัน จึงพาให้การปกครองบ้านเมืองแปรปรวนรวนเรไป เพราะฉะนั้นเมื่อศึกพม่ามาติดพระนครจึงไม่มีตัวข้าราชการที่สามารถเป็นแม่ทัพนายกองนำพลเข้าต่อสู้ข้าศึก ท้าวพระยาเสนาบดีคนไรเป็นแม่ทัพก็ไม่ได้รบพุ่ง เช่นพระยายมราชเป็นแม่ทัพตั้งอยู่ที่เมืองนนท์ พอพม่าตีเมืองธนบุรีได้กำปั่นลูกค้าอังกฤษซึ่งรับอาสาต่อสู้พม่าถอยหนีขึ้นมา พระยายมราชยังไม่ทันรบก็พลอยเลิกทัพหนีไปด้วย พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพถือพลถึง ๑๐๐๐๐ ยกออกไปตีค่ายพม่าที่วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ พม่ายิงปืนมาต้องพลทัพไทยล้มลง ๔ - ๕ คน กองทัพนั้นก็ถอยมาสิ้น อยู่มา ๒ - ๓ วัน รับสั่งให้พระยาพระคลังยกออกไปตีค่ายปากน้ำประสบอีก ยังไม่ทันได้รบ พม่าแต่งกลหลอกให้เข้าใกล้แล้วออกไล่ยิงแทงพลทัพไทยตายลง กองทัพใหญ่ก็พลอยแตกพ่ายเข้าพระนคร ครั้งหนึ่งโปรดให้ท้าวพระยาอาสาหกเหล่ายกทัพเรือข้ามไปตีค่ายพม่าวัดการ้อง พม่ายิงปืนมาถูกนายเริก ซึ่งเห็นจะเมายืนรำดาบ ๒ มือเป็นเป้าอยู่หน้าเรือตกน้ำลงคนหนึ่ง ทัพเรือก็เลิกถอยเข้าพระนคร

เมื่อทัพพม่ายกเข้าในพระราชอาณาเขต เกณฑ์ให้พระยาพิษณุโลกเอากองทัพมาตั้งที่ภูเขาทอง พอพม่าจวนจะถึงกรุง พระยาพิษณุโลกในพระยาพลเทพกราบทูล ขอกราบถวายบังคมลาขึ้นไปปลงศพมารดา ให้หลวงโกษามหาดไทย หลวงเทพเสนาคุมกองทัพอยู่แทน ก็โปรดพระราชทานพระราชานุญาตให้ไปตามขอ น้ำพระทัยพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ มีพระกรุณาเยือกเย็นอยู่เป็นพื้นเสมอดังนี้ จะได้ปรากฏว่า ผู้ไม่ปลงใจในการต่อสู้ข้าศึกต้องรับพระราชขอาญาบ้างก็หามิได้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ใครจะอยากรบ เหตุการที่เป็นมาแต่ต้นจนเสียเมืองก็สมกับพงศาวดารกล่าวว่า ชาตากรุงทวาราวดีถึงกาลขาด


ขุนหลวงตากตั้งตัว

ในขณะเมื่อกองทัพพม่าข้าศึกยกเข้ามาติดพระราชอาณาเขตนั้น เจ้าตากพระนามเดิมชื่อสิน ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ทรงโปรดให้เป็นเจ้าเมืองตาก ในเวลานั้นเข้ามาอยู่ในกรุง จึงโปรดเลื่อนให้เป็นที่พระยากำแพงเพ็ชร และให้เป็นนายกองทัพเรือยกออกไปตั้งคอยสกัดตีทัพเรือพม่า ซึ่งจะมาทางทุ่งวัดใหญ่นอกพระนครด้านตะวันออก พระยากำแพงเพ็ชรตั้งค่ายอยู่ที่วัดพิชัยวัดกล้วย แลเห็นว่ากรุงจะเสียแก่พม่า ไม่มีช่องทางอันใดซึ่งจะป้องกันเอาไว้ได้แล้ว จึงได้คิดหลีกหนีตีฝ่ากองทัพพม่า ซึ่งตั้งล้อมกรุงออกไปทางบ้านหันตราบ้านข้าวเม่า ไปจนถึงแขวงเมืองระยองก็ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า เพราะจะให้เป็นที่คนนิยมนับถือและกลัวเกรงอำนาจ เรียกว่าเจ้าตาก หาเรียกเจ้ากำแพงเพ็ชรไม่ แล้วยกไปตีเมืองจันทบุรีได้ ตั้งมั่นรวบรวมรี้พลสะเบียงอาหารต่อเรือรบเรือไล่ไว้พร้อม

เมื่อรู้ว่ากรุงเสียแก่พม่าแล้ว ก็ยกทัพเรือเข้ามาตีพม่าที่ตั้งรักษาเมืองธนบุรี และค่ายโพสามต้นกรุงเก่าแตก แล้วก็มิได้ตั้งอยู่ที่กรุงเก่า พารี้พลกวาดครอบครัวราษฎรกับทั้งพระราชวงศ์และข้าราชการกรุงเก่า ซึ่งยังเหลือตกค้างอยู่ที่ค่ายโพสามต้น ไปตั้งเมืองธนบุรียกขึ้นเป็นกรุงธนบุรี สร้างพระราชวังขึ้นที่ปากคลองบางกอกใหญ่ คือที่โรงเรียนนายเรือในปัตยุบันนี้ เจ้าตากเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ณ กรุงธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๐ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชา นับตามลำดับพระนามเป็นพระองค์ที่ ๔


ขุนหลวงตากไม่อยู่กรุงเก่า

เหตุที่พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ตั้งอยู่ที่กรุงเก่านั้น ก็ด้วยกรุงเก่าเป็นเมืองใหญ่ ทั้งพระราชวังก็มีปราสาทสูงใหญ่ถึง ๕ องค์ และวัดวาอารามก็ล้วนแต่ใหญ่โต เมื่อบ้านเมืองถูกพม่าข้าศึกและพวกทุจจริตเอาไฟจุดเผาเป็นอันตรายเสียหายจนเกือบหมดสิ้น พระเจ้ากรุงธนบุรีพึ่งรวบรวมกำลังตั้งพระองค์ขึ้นใหม่ๆ จะเอากำลังวังชาทุนรอนที่ไหนไปซ่อมแซมบ้านเมืองที่ใหญ่โต ซึ่งทำลายแล้วให้กลับคืนคงดีขึ้น เป็นพระนครราชธานีได้เล่า

ประการหนึ่งถ้ามีข้าศึกศัตรูเข้ามา รี้พลที่จะรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันก็มีไม่พอ คงจะทรงเห็นว่าสู้ไปตั้งที่เมืองธนบุรีสร้างขึ้นเป็นเมืองใหม่ ด้วยมีกำลังน้อยก็ทำเมืองแต่เล็ก อีกประการหนึ่งถ้าจะมีข้าศึกมาติดเมือง ถ้าพลาดพลั้งลงประการใด กองทัพเรือก็มีอยู่เป็นกำลัง และทั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีเองก็ทรงชำนาญในการทัพเรือ จะได้พาทัพเรือออกทะเลไปเที่ยวหาที่ตั้งมั่นได้ง่าย เห็นจะไม่ใช่แต่ฉะเพาะเรื่องที่ว่าทางนิมิตฝันว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าทรงขับไล่มิให้อยู่แต่เรื่องเดียว

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีครองราชสมบัตินานมา ก็บังเกิดเสียพระจริตฟั่นเฟือนไป ในครั้งนั้นทรงโปรดให้พระวิชิตณรงค์ขึ้นไปตั้งเร่งเงินราษฎรที่กรุงเก่า ราษฎรร้อนรนหนักเข้าจึงนายบุญนากผู้เป็นหัวหน้าอยู่บ้านแม่ลา ซึ่งในเวลานี้เป็นท้องที่อำเภอนครหลวง แขวงกรุงเก่า เป็นหัวหน้าชักชวนชาวบ้านเข้าเป็นพรรคพวก ยกลงมาจับพระวิชิตณรงค์กับกรมการฆ่าเสียหลายนาย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้พระยาสรรค์ขึ้นไปจับพวกบ้านแม่ลา พระยาสรรค์กลับไปเข้าเป็นพวกนายบุญนาก ยกไพร่พลลงมาจับกรุงธนบุรี และให้เนียรเทศพระเจ้ากรุงธนบุรีออกเสียจากราชสมบัติ


ตั้งผู้รักษากรุง


ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเษก จึงทรงโปรดตั้งนายบุญนากบ้านแม่ลา เป็นเจ้าพระยาชัยวิชิตสิทธิสงครามผู้รักษากรุง ยกกรุงเก่าเป็นเมืองจัตวา ภายหลังโปรดให้เจ้าพระยาชัยวิชิตเป็นเจ้าพระยาพลเทพ และตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่าแต่นั้นก็ลดลงคงเป็นแต่พระยามา จนถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดให้เปลี่ยนสร้อยชื่อผู้รักษากรุง เป็นพระยาชัยวิชิต สิทธิสาตรา มหาประเทศราช สุรชาติเสนาบดี ครั้นมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เปลี่ยนนามผู้รักษากรุงเก่าเป็นพิเศษ ๒ ข้อ คือ "เจ้าพระยามหาศิริธรรม พโลปถัมภ์เทพทวาราวดี ศรีรัตนธาดา มหาปเทศาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการกรุงเก่า" กับ "พระยาสิงหราชฤทธิไกร ยุตินัยเนติธาดา มหาปเทศาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ" รักษากรุงที่ต่อพระยาสิงหราชฤทธิไกรลงมาก็คงเป็นที่ "พระยาชัยวิชิต" แต่สร้อยชื่อเป็น "สิทธิศักดา มหานคราธิราช" มาในรัชกาลปัตยุบันนี้(รัชกาลที่ ๕ - กัมม์) ชื่อผู้รักษากรุงคนเดิมเป็นพระยาชัยวิชิต สิทธิสาตรา มหาปเทศาธิบดี ครั้นเมื่อโปรดเกล้าฯให้พระยาชัยวิชิต(สิงห์โต) เป็นพระยาเพ็ชรพิชัย รับราชกาลอยู่ ณ กรุงเทพฯแล้ว โปรดเกล้าฯให้พระยาเพชฎา(นาค) เป็นผู้รักษากรุง แต่กลับเปลี่ยนสร้อยชื่อเป็น "พระยาชัยวิชิต สิทธิศักดา มหานัครธิราช" เหมือนชื่อพระยาชัยวิชิตในรัชกาลที่ ๔


ตั้งมณฑลเทศาภิบาล

ครั้นต่อมาในรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔ ทรงโปรดฯให้จัดการเทศาภิบาล คือ รวมกรุงเก่า ๑ เมืองอ่างทอง ๑ เมืองลพบุรี ๑ เมืองสระบุรี ๑ เมืองพระพุทธบาท ๑ เมืองสิงห์ ๑ เมืองพรหมบุรี ๑ เมืองอินทบุรี ๑ รวมเป็น ๘ เมืองเป็นมณฑล เรียกว่า "มณฑลกรุงเก่า" ตั้งที่ว่าการมณฑลที่กรุงเก่า โปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ครั้งยังไม่ได้ดำรงพระยศเป็นต่างกรม เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล

มาในศก ๑๑๕ โปรดฯให้ยกเมืองพระพุทธบาทเป็นอำเภอขึ้นเมืองสระบุรี ยกเมืองพรหมบุรี เมืองอินทบุรี เป็นอำเภอขึ้นเมืองสิงห์บุรี จึงคงมีเมืองใหญ่ในมณฑลนี้แต่ ๕ ครั้นรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ พระยาชัยวิชิต(นาค) กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ราชการโดยทุพลภาพ จึงโปรดเกล้าฯให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์(พร) (คือ ผู้เรียบเรียงเอง - กัมม์) ข้าหลวงมหาดไทยเป็นข้าหลวงรักษากรุง

มาถึงรัตนโกสินศก ๑๑๗ โปรดเกล้าฯให้เลื่อนหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ขึ้นเป็น พระอนุรักษ์ภูเบศร์ ถึงรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้พระอนุรักษ์ภูเบศร์เป็นผู้รักษากรุง และเป็นพระยาโบราณบุรานุรักษ์ พร้อมกันในศกเดียวนั้น ครั้นมาถึงรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าไปเป็นข้าหลวงพิเศษจักราชการตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี และโปรดเกล้าฯให้พระยาโบราณบุรานุรักษ์เป็นผู้รั้งตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล

มาจนรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรให้ พระยาโบราณบุรานุรักษ์ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่ารับราชการสนองพระเดชพระคุณมาจนทุกวันนี้



Paste มาจากคลังกระทู้เก่า ภูมิสถานและตำนานกรุงเก่า


Create Date : 16 มีนาคม 2550
Last Update : 16 มีนาคม 2550 15:00:18 น. 2 comments
Counter : 3801 Pageviews.  
 
 
 
 
ขอบคุณค่ะ
 
 

โดย: grippini วันที่: 18 กันยายน 2550 เวลา:18:06:52 น.  

 
 
 
ยินดีรับใช้ครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 20 กันยายน 2550 เวลา:14:12:02 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com