กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระราชกรัณยานุสรณ์

คำนำ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


หนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาล โดยพระราชประสงค์จะให้มีตำราราชประเพณีไว้สำหรับพระนคร ตั้งพระราชหฤไทยว่าจะทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ในเวลาว่างราชการไปทุกๆวันจนกว่าจะสำเร็จตลอดเรื่อง ด้วยในสมัยนั้นพระราชธุระในราชกาลต่างๆ อันมีประจำวันยังไม่สู้หนาแน่นทีเดียว ก็มีเวลาทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้มาตามพระราชประสงค์ตลอดระยะเวลากาลอันหนึ่ง ครั้นต่อมาเมื่อทรงพระราชดำริห์จัดการบ้านเมืองมากขึ้น พระราชกิจต่างๆซึ่งจำจะต้องทรงตรวจตราแลกระทำด้วยพระองค์เองก็มากขึ้น เวลาว่างสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือนี้ก็มีน้อยลงทุกที จนที่สุดต้องหยุดทรงพระราชนิพนธ์ด้วยความจำเปน หนังสือเรื่องนี้จึงไม่จบตลอดเรื่อง

ผู้ใดอ่านพระราชนิพนธ์ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คงจะมีความเห็นพ้องกันหมดว่า ถ้าหนังสือเรื่องนี้ทรงพระราชนิพนธ์สำเร็จตลอดเรื่องได้ดังพระราชประสงค์เดิม จะเปนหนังสืออย่างสำคัญที่สุดเรื่อง ๑ น่าเสียดายที่ไม่สามารถจะทรงให้สำเร็จได้ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูโดยรูปเรื่องหนังสือก็จะแลเห็นว่า หนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้กว่าจะจบจะเปนหนังสือมากตั้งร้อยเล่มสมุดไทย ดูพ้นวิไสยจริงๆที่จะทรงพระราชนิพนธ์ให้สำเร็จตลอดได้ ในเวลาที่ต้องทรงเปนกังวลด้วยพระราชกิจต่างๆอยู่เสมอ แต่ถึงกระนั้นผู้ที่ได้เคยอ่านมาแต่ก่อนก็ไม่วายเสียดาย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อทรงบัญชาการหอพระสมุดวชิรญาณแทนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ โปรดให้ขอแรงพวกสมาชิกผู้มีความสามารถช่วยกันแต่งหนังสือส่งให้พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ แลทรงรับว่าในส่วนพระองค์ก็จะแต่งประทานด้วยเหมือนกัน มีรับสั่งถามความประสงค์ของสมาชิกว่าจะให้ทรงเรื่องอย่างไร พวกสมาชิกซึ่งได้เคยอ่านหนังสือพระราชกรัณยานุสรจึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงพระราชนิพนธ์กรัณยานุสรนี้อย่างย่อๆ พอเปนประโยชน์ทางความรู้แก่สมาชิกทั้งปวง

เพราะฉะนั้นหนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้ คือต้นเค้าของพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือนนั้นเอง แต่มีความที่แปลกแลความพิศดารกว่าเรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน ควรอ่านเปนเรื่องหนึ่งต่างหากได้ แลโดยทางวรรณคดีก็น่าอ่านเพราะพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ไม่ว่าจะทรงบรรยายเรื่องใดๆ อ่านจับใจไม่รู้จักเบื่อทุกเรื่อง



................................................................................................


..... ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงสร้างพระเท่าพระชนมพรรษา แลมีการสมโภชเนื่องเข้าในเดือน ๕ นี้ด้วย คือเมื่อครั้งนั้นทรงพระราชดำริห์ปรารภด้วยพระปางต่างๆ โปรดให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส อันทรงผนวชอยู่วัดพระเชตุพน เมื่อยังเปนกรมหมื่นนิชิตชิโนรส เก็บรวบรวมแบบอย่างไว้ได้ถึง ๓๗ ปาง แล้วให้ช่างหล่อด้วยทองแดง น่าตักกว้าง ๔ นิ้ว ปางละองค์ รวมเปนพระพุทธรูป ๓๗ พระองค์ แล้วตั้งไว้ที่หอพระปริต ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตวันออก

ครั้งภายหลังมา พระพุทธรูปปางต่างๆ ๓๔ พระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จารึกถวายพระเจ้าแผ่นดินในกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา และกรุงธนบุรี ตามพระนามต่างๆ แลปางต่างๆดังนี้


สยามราชกาลที่ ๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๘๙๓ จนถึงพุทธศักราช ๑๙๑๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการนั่งกวักพระหัดถ์เรียกเอหิภิกขุพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครเฉลียงได้ ๖ ปี แล้วย้านมาทรงสร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๗๑๒ ปีขานโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๙ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๓๑ ปีรกาเอกศก

สยามราชกาลที่ ๒ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๑๓ จนพุทธศักราช ๑๙๒๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งพระหัดถ์ปกพระเพลาทั้งสองสำแดงชราธรรมพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด พระเจ้าพฤฒิเดช ไนยหนึ่งว่ามหาเดช เนื่องในพระวงษ์ได้ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๗๓๒ ปีจอโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๒ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๔๔ ปีจอจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๓ แต่เพียง ๗ วัน ในพุทธศักราช ๑๙๒๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งมีนาคปรกพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ เจ้าทองจันทร์ ไนยหนึ่งว่าเจ้าท้องลั่น เปนพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ได้รับราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครแต่เพียง ๗ วัน เมื่อพระชนกนารถสวรรคตแล้ว ในจุลศักราช ๗๘๘ ปีจอจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๒๕ จนพุทธศักราช ๑๙๓๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ขวาเสยพระเกษพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระราเมศวรที่ ๑ ซึ่งได้ปราดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เพราะพระองค์เปรพระอรรคราโชรสแห่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เมื่อจุลศักราช ๗๔๔ ปีจอจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๔๙ ปีเถาะนพศก

สยามราชกาลที่ ๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๓๐ จนพุทธศักราช ๑๙๔๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งโบกพระหัดถ์ขับพระวักกลีพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระเจ้าราม ซึ่งได้ราชาภิเศกสืบพระวงษ์ เพราะเปนพระราชโอรสแห่งพระราเมศวรที่ ๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๗๔๙ ปีเถาะนพศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี ออกจากราชสมบัติไปครองเมืองปทาคูจาม เมื่อจุลศักราช ๗๖๔ ปีมโรงจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๖ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๔๕ จนพุทธศักราช ๑๙๖๑ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งรับผลมะม่วงพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระมหานครินทราธิราช เปนพระราชนัดดาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เปลี่ยนแทนสมเด็จพระเจ้ารามเนื่องพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๗๖๔ ปีมโรงจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๘๐ ปีจอสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๖๑ จนพุทธศักราช ๑๙๗๗ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งทำภัตรกิจพระองค์นี้ ทรงสภาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระเจ้าสามพระยา พระราชโอรสสมเด็จพระนครินทราธิราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร สืบพระวงษ์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชเป็นที่ ๒ เมื่อจุลศักราช ๗๘๐ ปีจอสัมเรทธิศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปีขานฉศก

สยามราชกาลที่ ๘ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๗๗ จนพุทธศักราช ๑๙๙๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งชี้พระหัดถ์เดียว แสดงเอตทัคฐานพระอัคสาวกาพระอัคสาวิกาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปีขานฉศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๑๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๙๒ จนพุทธศักราช ๒๐๑๓ พระพุทธปฏิมากรมีอาการนั่งยกพระหัดถ์ขวาอธิฐานบาตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระอินทราชาธิราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๑๑ ปีมเสงเอกศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๑ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๓๒ ปีขาลโทศก

สยามราชกาลที่ ๑๐ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๑๓ จนพุทธศักราช ๒๐๕๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ขวาห้ามมารพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๓๒ ปีขายโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๓๙ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๗๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๑๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๕๒ จนพุทธศักราช ๒๐๕๖ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งรับน้ำด้วยบาตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๗๑ ปีมเสงเอกศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๔ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๗๕ ปีรกาเบญจศก

สยามราชกาลที่ ๑๒ แต่เพียง ๕ เดือน พุทธศักราช ๒๐๕๖ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งฉันมธุปายาศพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระราษฎาธิราชกุมาร พระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร ซึ่งได้ครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๘๗๕ ปีรกาเบญจศก อยู่ในราชสมบัติ ๕ เดือน

สยามราชกาลที่ ๑๓ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๕๗ จนพุทธศักราช ๒๐๗๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งฉันผลสมอพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๗๖ ปีจอฉศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๓ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๘๙ ปีกุนนพศก

สยามราชกาลที่ ๑๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๗๐ จนพุทธศักราช ๒๐๗๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ขวาปลงพระชนม์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉพาะต่อ พระยอดฟ้า พระราชโอรสสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งได้ครองราชสมบัติสืบพระวงษ์ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานค เมื่อจุลศักราช ๘๘๙ ปีกุนนพศก อยู่ในราชสมบัติแต่ปีกึ่ง เพียงจุลศักราช ๘๙๐ ปีชวดสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๑๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๗๒ จนพุทธศักราช ๒๐๙๘ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ซ้ายสำแดงโอฬาริกนิมิตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด พระมหาจักรพรรดิราชาธิราช ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศกัราช ๘๙๑ ปีฉลูเอกศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๑๗ ปีเถาะนพศก

สยามราชกาลที่ ๑๖ ตั้งพุทธศักราช ๒๐๙๘ จนพุทธศักราช ๒๐๙๙ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งสนเข็มพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทอศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระมหินทราธิราช ซึ่งได้ครองราชสมบัติสืบพระวงษ์ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๑๗ ปีเถาะสัปตศก อยู่ในราชสมบัติได้ปี ๑ เพียงจุลศักราช ๙๑๘ ปีมโรงอัฐศก

สยามราชกาลที่ ๑๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๙๙ จนพุทธศักราช ๒๑๒๑ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนผันพระองค์ ทรงแลด้วยอาการนาคาวโลกพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๑๘ ปีมโรงอัฐศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศก

สยามราชกาลที่ ๑๘ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๒๑ จนพุทธศักราช ๒๑๓๖ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ทั้งสองห้ามสมุทพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๔๐ ปีขานสัมเรทธิศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศก

สยามราชกาลที่ ๑๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๓๖ จนพุทธศักราช ๒๑๔๔ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนประสานพระหัดถ์ทั้งสองถวายพระเนตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติเรียงพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๘ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๖๓ ปีฉลูตรีศก

สยามราชกาลที่ ๒๐ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๔๔ จนพุทธศักราช ๒๑๔๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ซ้ายห้ามพระแก่นจันทร์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระศรีเสาวภาคย์ พระราชโอรวสสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๖๓ ปีฉลูตรีศก อยู่ในราชสมบัติได้ปี ๑ เพียงจุลศักราช ๙๖๔ ปีขานจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๒๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๔๕ จนพุทธศักราช ๒๑๗๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งห้อยพระบาท ณ เรือขนานพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครผลัดตั้งพระวงษ์ใหม่ เมื่อจุลศักราช ๙๖๔ ปีขานจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๘๙ ปีเถาะนพศก

สยามราชกาลที่ ๒๒ ตั้งพุทธศักราช ๒๑๗๐ จนพุทธศักราช ๒๑๗๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งห้อยพระบาทแบพระหัดถ์ขวารับช้างปาเลไลย์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระเชษฐาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม ซึ่งได้รับครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๘๙ ปีเถาะนพศก อยู่ในราชสมบัติได้ปี ๑ กับ ๗ เดือน เพียงจุลศักราช ๙๙๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๒๓ แต่เพียง ๖ เดือน ในพุทธศักราช ๒๑๗๓ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งห้อยพระบาทแบพระหัดถ์ทั้งสองรับมธุปายาศพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระอาทิตย์วงษ์อนุชาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม ซึ่งได้ครอบครองกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธมหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๙๑ ปีมเสงเอกศก อยู่ในราชสมบัติเพียง ๖ เดือน

สยามราชกาลที่ ๒๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๗๓ จนพุทธศักราช ๒๑๙๘ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งลอยถาดพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร ผลัดตั้งพระวงษ์ใหม่ เมื่อจุลศักราช ๙๙๒ ปีมเมียโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๑๗ ปีมแมสัปตศก

สยามราชกาลที่ ๒๕ แต่เพียง ๙ เดือน ในพุทธศักราช ๒๑๙๙ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยื่นพระหัดถ์ขวารับกำหญ้าคาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ เจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสสมเด็จพระรามาธิบดีศรีอยุทธยามหานครได้ ๙ เดือน เพียงจุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอกอัฐศก

สยามราชกาลที่ ๒๖ แต่เพียงเดือนหนึ่งกับ ๒๐ วัน ในพุทธศักราช ๒๑๙๙ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ทั้งสองประทับพระอุระรำพึงธรรมพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระศรีสุธรรมราชา พระราชอนุชาสมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง ซึ่งได้ครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร ได้เพียงเดือน ๑ กับ ๒๐ วัน ในจุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอกอัฐศก

สยามราชกาลที่ ๒๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๙๙ จนพุทธศักราช ๒๒๒๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยกพระบาทซ้าย พระหัดถ์ทั้งสองประทับพระเพลาจงกรมพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระนารายน์มหาเอกาทศรฐราช ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามมหานคร สืบพระวงษ์สมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง เมื่อจุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอกอัฐศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๔๔ ปีจอจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๒๘ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๒๕ จนพุทธศักราช ๒๒๔๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนห้อยพระหัดถ์ขวาทับพระหัดถ์ซ้าย ถือธารพระกรปลงพระกรรมฐานพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระธาดาธิเบศร์ ซึ่งได้ครอบครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร แทรกพระวงษ์เมื่อจุลศักราช ๑๐๔๔ ปีจอจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อจุลศักราช ๑๐๕๙ ปีฉลูนพศก

สยามราชกาลที่ ๒๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๔๐ จนพุทธศักราช ๒๒๔๙ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ขวาลูบพระกายสรงน้ำพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี ซึ่งราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์สมเด็จพระนารายน์มหาเอกาทศรฐราช เมื่อจุลศักราช ๑๐๕๙ ปีฉลูนพศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๙ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๖๘ ปีจออัฐศก

สยามราชกาลที่ ๓๐ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๔๙ จนพุทธศักราช ๑๑๗๕ พระพุทธปฏิมากรมีพระอาการทรงยืนอุ้มบาตรด้วยพระหัดถ์ทั้งสองพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระภูมินทรมหาราชา ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๐๖๘ ปีจออัฐศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๙๔ ปีชวดจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๓๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๗๖ จนพุทธศักราช ๒๓๐๑ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนเหยียบรอยพระพุทธบาทพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระมหาบรมราชาธิราชที่ ๓ ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครเรียงพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๐๙๕ ปีฉลูเบญจศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขานสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๓๒ แต่เพียง ๑๐ วันในพุทธศักราช ๒๓๐๑ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนกางพระหัดถ์ทั้งสองข้างเปิดโลกย์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิตราช ซึ่งได้เสวยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ ๑๐ วัน แล้วละสมบัติออกทรงผนวชในจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขานสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๓๓ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๐๑ จนพุทธศักราช ๒๓๑๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนลีลาห้อยพระหัดถ์ซ้ายยกพระบาทซ้ายพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อพระบรมเอกทัศอนุรักษมนตรีราช ซึ่งได้เสวยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษฺ เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขานสัมเรทธิศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๙ ปี เพียงจุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศก

สยามราชกาลที่ ๓๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๔๑๐ จนพุทธศักราช ๒๓๒๔ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งพระหัดถ์ทั้งสองประทับพระอุระทำทุกรกิริยาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ เจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งได้ครอบครองราชสมบัติตั้งกรุงที่แขวงเมืองธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศก อยู่ในราชสมบัติได้ ๑๔ ปี เพียงจุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก


แลพระพุทธรูปอิกสามปาง ซึ่งเหมือนกับพระพุทธรูปพระชนม์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงอมรรัตนโกสินทร์ ทั้งสามพระองค์นั้น มีขนาดเท่ากันกับพระพุทธรูปสำหรับพระเจ้าแผ่นดินกรุงทวาราวดี แปลกแต่มีฉัตรกั้นทั้งสามพระองค์ จารึกถวายเฉภาะพระองค์ว่า

สยามราชกาลที่ ๓๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๒๕ จนพุทธศักราช ๒๓๕๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งขัดสมาธิเพชรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชา มหาจักรกรีบรมนารถนเรศรราชวิวัฒนวงษ์ ปฐมพงษาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทโรดม บรมบพิตร ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา เปนปฐม เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขานจัตวาศก เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปีกับ ๕ เดือน เสด็จสวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๓๖ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๕๒ จนพุทธศักราช ๒๓๖๗ พระพุทธปฏิมากรมีอาการนั่งมารวิไชยพระหัดถ์ขวาปกพระเพลาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชฐมเหศวรสุนทร ไตรเสวตรคชาดิศรมหาสวามินทร์ สยามรัษฎินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาศธาดาราชาธิราช บรมนารถบพิตร ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา สืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปีกับ ๑๑ เดือน สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอกฉศก

สยามราชกาลที่ ๓๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๖๗ จนพุทธศักราช ๒๓๙๓ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งขัดสมาธิ์พระหัดถ์ขวาซ้อนพระหัดถ์ซ้ายพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสฐ มหาเจษฎาธิบดินทร์ สยามินทโรดม บรมธรรมิกราชมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา สืบพระวงษ์เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอกฉศก เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปีกับ ๘ เดือน สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๒๑๒ ปีกุนยังเป็นโทศก .......


....................................................................................................................................................


Create Date : 15 มีนาคม 2550
Last Update : 15 มีนาคม 2550 18:58:05 น. 1 comments
Counter : 3015 Pageviews.  
 
 
 
 
แลพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งจารึกในฐานพระพุทธรูป ๓๗ พระองค์นี้ บางทีจะเปนที่สงไสย ว่าพระนามไม่ต้องกับพระราชพงษาวดาร ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงไว้บ้าง ไม่เหมือนกับคำที่เรียกบ้าง ถ้าสงไสยดังนี้แล้วให้พึงเข้าใจว่า พระนามพระเจ้าแผ่นดินในกรุงสยามนี้ แต่เดิมมาเปนที่ห้ามหวงเกียจกันไม่ให้คนทั้งปวงเรียก ถ้าขืนเรียกก็เปนความหมิ่นประมาทต่อพระเจ้าแผ่นดิน คนทั้งปวงที่เปนข้าราชการเปนราษฎรบางคน จะเรียกพระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้ดำรงศิริราชสมบัติอยู่ในขณะนั้น ก็ต้องเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แลล้นเกล้าล้นกระหม่อม ฤๅพระเจ้าอยู่หัวเปล่าๆ ขุนหลวงบางก็มี

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตแล้ว พระศพยังประดิษฐานอยู่ในพระบรมโกษฐ ก็เรียกกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ ฤๅเรียกว่าพระบรมโกษฐเปล่าๆ ที่เรียกในพระบรมโกษฐเฉยๆก็มี เจ้าแผ่นดินซึ่งได้ดำรงศิริราชสมบัติใหม่ ก็ได้รับพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แลอะไรๆเหมือนดังเช่นว่ามาข้างบนแล้ว ถ้าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตลงอิก มีพระเจ้าแผ่นดินเปนพระเจ้าอยู่หัวแทนใหม่ขึ้น องค์ซึ่งสวรรคตเปลี่ยนเปนบรมโกษฐ บรมโกษฐองค์เก่าเปลี่ยนเปนพระพุทธเจ้าหลวง ฤๅพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐบ้าง ครั้นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๓ นี้สวรรคตลงอิก ก็เปลี่ยนพระนามเลื่อนขึ้นไปเปนชั้นๆ จนถึงพระพุทธเจ้าหลวงเก่า ต้องเปนพระพุทธเจ้าอยู่หัวอะไรๆ ฤๅขุนหลวงอะไรๆตามใจใครจะเรียก

มีที่นึกหมายสิ่งใดก็เรียกเอาตามที่นึกหมาย ที่เปนไพร่ก็เรียกตามลัทธิไพร่ เหมือนหนึ่งขุนหลวงขี้เรื้อน ท้าวอู่ทอง เปนต้น ฤๅเป็นชั้นกลางๆก็เรียกตามอย่างกลางๆ ขุนหลวงทรงปลา ขุนหลวงท้ายสระ เปนต้น ถ้าผู้เป็นนักปราชญ์แลเปนผู้มีตระกูลแลความรู้สมควรจะยักเรียกอย่างไรไป ก็เรียกตามชอบใจ เหมือนอย่างกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ท่านเรียกพระนครอินทร์เปน พระนครินทราชาธิราช พระเจ้ารามเปน สมเด็จพระรามาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกขุนหลวงหาวัดว่า สมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิต เพราะพระนามเดิมท่านอุทุมพร แล้วเปนกรมขุนพรพินิต พระเจ้าอยู่หัวที่นั่งสุริยามรินทร์เปน พระบรมเอกทัศอนุรักษมนตรีราช เพราะพระนามเดิมท่านเจ้าฟ้าเอกทัศ เปนกรมขุนอนุรักษ์มนตรี ดังเช่นจารึกไว้ในฐานพระพุทธรูปนี้เปนต้น

แต่พระนามอื่นซึ่งแปลกอยู่กับพระราชพงษาวดาร เหมือนขุนหลวงเสือเปนสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี ขุนหลวงท้ายสระเปนสมเด็จพระภูมินทราชา เปนต้นนี้ มีมาในคำให้การขุนหลวงหาวัด แต่ก็คงเปนอันยักเรียกตามชอบใจ เหมือนอย่างเช่นกล่าวมานี้

ให้คนทั้งปวงพึงเข้าใจว่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเรียกตามชั้นเลว ชั้นกลาง ชั้นสูง ดังนี้นั้นใช่ว่าท่านจะไม่มีพระนามทุกพระองค์นั้นก็หามิได้ ธรรมเนียมการพระบรมราชาภิเศกที่จะทำนั้น ต้องมีพระฤกษ์จารึกพระสุพรรณบัตรก่อน ครั้นเวลาเสด็จขึ้นพระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณ์จึงได้ถวายพระสุพรรณบัตร เหมือนกันดังนี้ทุกพระองค์ ยกเสียแต่พระเจ้าแผ่นดินซึ่งยังทรงพระเยาว์ ไม่มีผู้ทำนุบำรุงบัญชาการแทน แลพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนที่รังเกียจ ฤๅเกิดการรบพุ่งในบ้านเมืองเปนอันตราย ไม่ทันทำการราชภิเศกได้เพราะการไม่เรียบร้อยดังนี้ จึงไม่มีพระนาม

ก็แลพระนามซึ่งได้จารึกไว้แล้วนั้น ใช่ว่าจะเปนแต่ทิ้งไว้เปล่าๆ พระสุพรรณบัตรนั้นต้องเชิญเข้าพระราชพิธีต่างๆอยู่เสมอไม่ขาด ฤๅพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ซึ่งทรงตั้งพระราชกำหนดกฏหมายสำหรับแผ่นดิน ก็ออกพระนามใหญ่ดังเช่นจารึกในพระสุพรรณบัตรในเบื้องต้นของกฎหมายนั้นทุกฉบับ

แต่พระนามพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะทำให้คนทั้งปวงสันนิษฐานไม่ได้แน่ว่า พระองค์ใดทรงพระนามอย่างไรนั้นมีอยู่หลายอย่าง คือ พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงพระนามอย่างหนึ่งแล้ว พระองค์หลังๆลงมา ท่านไม่เปลี่ยนแปลงพระนามเดิมนั้นเสีย คงจารึกพระสุพรรณบัตรไปตามพระยนามเดิม แล้วไม่นับเปนที่หนึ่งที่สองไว้ด้วย เหมือนดังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระนาม สมเด็จพระรามาธิบดี ตามสมเด็จพระรามาธิบีที่ ๑ อู่ทอง เมื่อเวลาตั้งพระนามนั้น ได้ประชุมพระราชาคณะแลข้าราชการปฤกษาเลือกพระนามพระเจ้าแผ่นดินเก่าๆ แล้วตกลงใช้พระนามใดก็เปนการปรากฏแก่คนทั้งปวง ทั้งมีอยู่ในต้นกฏหมายซึ่งใช้กันอยู่ในประจุบันนี้ คนทั้งปวงก็ปรากฏทราบชัดว่าเปนสมเด็จพระรามาธิบดี ต่อมานั้น แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ก็เงียบหายไปไม่ได้ยินว่าพระนามอย่างไรไม่มีใครปริปากพูดถึงเลย แต่เมื่อสืบเอาแน่นอนก็ได้ความว่าพระสุพรรณบัตรจารึกสมเด็จพระรามาธิบดี เหมือนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจฬาโลกย์ ดังนี้ควรนับว่าเป็นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แต่ก็ไม่ได้นับกันเลย เมื่อคิดขึ้นไปถึงแผ่นดินก่อนๆซึ่งไม่ได้ออกพระนามไว้นั้น ถ้านอกจากเปลี่ยนวงษ์กันแล้ว ก็เห็นจะใช้ซ้ำกันดังนี้โดยมาก เปนแต่ความอนุมาน

อิกประการหนึ่งพระนามซึ่งเรียกนั้น บางทีพระองค์เดียว ดูในจดหมายแห่งหนึ่ง มีต้นแลสร้อยเปนอย่างหนึ่ง ดูอิกแห่งหนึ่ง เพิ่มเติมถ้อยคำลงบ้าง ตัดทอนเสียบ้างก็มี เปนแต่ใครอยากจะเรียกอย่างไรก็เรียกเพิ่มเล็กขาดน้อยก็ไม่ว่าไรกัน จึงพาให้เลอะไป อิกประการหนึ่งนั้น เพราะเหตุที่ไม่เรียกกันดังเช่นว่ามาแล้วพระนามจึงได้สูญ

เพราะเหตุที่เปนเหล่านี้ มาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้น ข้าราชการเรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ว่า พระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คนทั้งปวงก็เปลี่ยนเรียกไปใหม่ว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ไม่ทรงพระกรุณาโปรดฯ ดำรัสว่ามีแผ่นดินต้น แผ่นดินกลางแล้ว แผ่นดินประจุบันนี้ก็ต้องเปนแผ่นดินปลาย เปนคำอัปรมงคลอยู่

ในขณะนั้นพอทรงพระราชศรัทธาสร้างพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทหุ้มทองคำทรงเครื่องต้นด้วยเนาวรัตน์สองพระองค์ ตั้งไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระราชอุทิศถวายเปนฉลองพระองค์ในสมเด็จพระบรมไอยกาธิราชองค์หนึ่ง สมเด็จพระบรมชนกนารถองค์หนึ่ง จารึกพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ องค์หนึ่ง จารึกพระนามว่า พระพุทธเลิศหล้านภาไลย องค์หนึ่ง เพื่อเปนการเฉลิมพระเกียรติยศฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึงโปรดให้ออกพระนามเปลี่ยนคำคนที่เรียกว่าแผ่นดินต้นแผ่นดินกลางนั้นเสีย ให้เรียกพระนามตามพระนามพระพุทธรูป ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ดังนี้ ก็เปนการดีสมควรอย่างยิ่ง

แลในครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต คนทั้งปวงพากันเรียกว่าในพระบรมโกษฐ ต่อไปก็จะวนลงหาถ้อยคำอันไม่ไพเราะต่างๆ ตามน้ำใจนิไสยคนจะเรียก จึงทรงพระราชทานดำริห์ถวายพระนามเพิ่มท้าย ซึ่งเปนที่หมายของคนทั้งปวงจะเรียกเปนนามแผ่นดินเรียกแทนพระนาม ว่าแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในแผ่นดินประจุบัน คือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้านั้น ให้เรียกว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะจะให้คนเคยปาก อย่าให้ยักย้ายเรียกอะไรๆตามชอบใจไปได้ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ป้องกันถึงชั้นนั้นแล้ว ครั้นเวลาเสด็จสวรรคตลงคราวนี้ คนทั้งปวงก็ยังไม่ฟัง ขืนเรียกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าในพระบรมโกษฐ ในพระโกษฐ พระบาทสมเด็จในพระบรมโกษฐ สมเด็จพระบรมโกษฐ เพ้อเจ้อไปไม่ใคร่จะรู้แล้ว

ส่วนพระนามพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะตั้งใหม่นั้นเล่า ท่านผูบัญชาการก็ไม่เข้าใจพระราชดำริห์พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ขนานนามเอานามเจ้าแผ่นดินลงเปนนามแผ่นดินว่า พระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว เหมือนปิดปากไม่ให้คนเรียก คนทั้งปวงก็เรียกแต่ในหลวงๆ ไม่รู้จะเรียกอะไรว่าเกล้า ที่เปนเกษเกล้า ผ่านเกล้า เพ้อเจ้อไปบ้างก็มี หนังสือราชการซึ่งเคยออกพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ครั้นมาถึงแผ่นดินประจุบันนี้ต้องเรียกว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว" ครั้นทีหลังจะเปนใครเบื่อออกชื่อซ้ำสองหนสามหนขึ้นก่อนก็ไม่ทราบ แต่เห็นจะเปนพระยาศรีสุนทรโวหารฟัก เพราะตาแกถูกว่ากล่าวด้วยเรื่องนี้อยู่ไม่ขาด ไปตัดข้างท้ายออกเสียเรียกแต่ว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว" ตั้งแต่ปรมินทรถึงอลงกรณ์นั้นดีแล้ว แปลได้ตลอด แต่เกล้าขึ้นมานั้นไม่รู้จะแปลว่ากรไร การเรื่องที่วุ่นด้วยชื่อ เพราะผู้บัญชาการไม่ทราบเรื่องนี้

ต่อมาผู้ซึ่งแต่งหนังสือเรื่องนี้ ได้โต้ทานถุ้มเถียงการอันนี้กับพระยาศรีสุนทรโวหารฟัก แกก็เถียงว่าแกทราบการชัดหมดตลอด แต่พูดไม่ขึ้น แล้วยังแจ้งความต่อไปว่า ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงพระประชวรหนักใกล้จัดเสด็จสวรรคต ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งแกไว้ ว่าพระนามเจ้าแผ่นดินต่อไปนั้น รวังอย่าให้เปนปรเมศได้ ให้จดลงไว้ว่าปรมินทร กับคำอุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีนั้นใช้ได้เหมือนกับพระองค์ท่าน ให้คงอยู่ตามเดิม แต่ถ้ามารดาไม่ได้เปนเจ้าอย่าให้ใช้ กับคำว่าสยามาทิโลกยดิลกนั้นดูเพ้อเจ้อมากไป ให้แก้แต่เพียงว่า สยามาทินครวุตเมกราชดิลก นอกนั้นก็ให้คงอยู่ตามเดิม เปลี่ยนแต่คุณวิเศษของเจ้าแผ่นดินตามควร แลข้อแก้ไขที่ว่ามานี้ไม่เกี่ยวข้องกับที่ว่าด้วยเรื่องชื่อแผ่นดินนี้ดอก จะว่ากล่าวแปลให้ชัดเจนในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งตั้งใจไว้ว่า จะว่าเมื่อพิธีสิบสองเดือนแล้ว แต่ที่ยกมาว่าในครั้งนี้ เพราะจะให้เปนพยานอ้างอิงของคำที่จะกล่าวต่อไปข้างท้ายนี้อิกหน่อยหนึ่งดังนี้

คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งพระยาศรีสุนทรโวหาร ด้วยเรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินดังนั้นแล้ว ได้ทรงปรารภต่อไปว่า พระนามจอมเกล้านี้เปนคำสูงแลไพเราะ สมควรกับที่เปนพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าคนวันอังคารได้เปนจอมเกล้า พระองค์ท่านเองเป็นวันพฤหัศบดี เปนผ่านเกล้าจะดีกว่าเปนจอมเกล้า แต่การล่วงเลยมาเสียแล้ว ไม่รู้ที่จะทำอย่างไรได้ คิดว่าจะเปลี่ยนมานานแล้วแต่ยังไม่มีช่อง ถ้าคิดเปลี่ยนให้เสียได้เมื่อตายแล้วก็ดี ฤๅจะไม่เปลี่ยนให้เปนจอมเกล้าซ้ำสองคนก็จะเปนไรนักหนา ได้ทรงรับสั่งบ่นว่าเสียดาย ขอให้เปนดังนั้นได้จะดีอยู่หลายองค์ พระยาศรีสุนทรโวหารไม่อาจพูดขึ้นได้ ก็นิ่งเลยไป

ครั้นมาภายหลัง ผู้แต่งหนังสือนี้ได้ร้องปฤกษาโต้ทานกับท่านผู้ใหญ่ ที่เปนเจ้าของธรรมเนียม คือกรมหลวงวงษาธิราชสนิท แลเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี ท่านทั้งสองเห็นชอบด้วย ควรจะตั้งนามแผ่นดินใหม่ จึงได้ทูลปฤกษากรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านจึงขนานนามแผ่นดินมาว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สมพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคนทั้งปวงจะไม่รู้ว่าพระจอมเกล้าองค์ไหน จึงได้เติม "จุล" ลงข้างน่า ให้รู้ว่าเปน พระจอมเกล้าน้อยพระจอมเกล้าใหญ่ แลนามอันนี้ได้ปฤกษาด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ แลสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ ข้าราชผู้ใหญ่ก็เห็นชอบพร้อมกัน จึงได้ตั้งกำหนดเปลี่ยนนามแผ่นดินว่าพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ ในวันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีรกาเบญจศก จึงได้ใช้สืบมาจนบัดนี้

ความซึ่งเพ้อเจ้อแล้วมานี้ เปนข้อสาธกยกมาให้เห็นว่าแต่ในเร็วๆนี้ ยังเลอะเทอะเปรอะเปื้อนกันมาก พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนครั้งกรุงทวาราวดี ฤๅจะไม่เลอะเทอะยิ่งกว่านี้ ผู้ใดจะทรงจำไว้ได้ยืดยาวต่อมาหลายชั่วอายุ ด้วยนิไสยชาวเราเปนดังนั้นอยู่เองแล้ว ก็แต่ถ้าจะคิดสืบเสาะค้นคว้าเอาพระนามที่แท้ที่จริง อันได้จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นก็เห็นจะพอได้รูปอยู่บ้าง แต่ถ้าจะให้ยืนยันแล้ว ก็ยืนยันไม่ได้ จะยกแต่เหตุอ้างอิงขึ้นตามแต่ผู้อ่านจะคิดเห็นเอาเอง ว่าจะถูกฤๅผิด ขออย่าให้ว่าอวดรู้เกินผู้ใหญ่ เปนการคาดคเนทั้งสิ้น


บัดนี้จะได้ชี้แจงพระนาม ซึ่งจารึกในฐานพระ สอบกับพระนามซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร แลตามคำคนเรียก กับทั้งอย่างอื่นๆดังนี้

พระนามที่ ๑ สมเด็จพระรามาธิบดี นั้น เปนพระนามตรงได้จารึกในพระสุพรรณบัตรแท้ แลพระนามอันนี้ความประสงค์เดิม ว่ากรุงศรีอยุทธยาที่ตั้งในตำบลหนองโสนนี้ มีปริมณฑลคล้ายคลึงกับทวาราวดีศรีอยุทธยา ซึ่งเปนเมืองของพระนารายน์เปนเจ้า อวตารลงมาในปางที่ ๑๐ เรียกรามาวตาร จึงได้ขนานนามพระนครนั้นให้ต้องว่าทวาราวดีศรีอยุทธยา เมื่อพระนครเปนทวาราวดีศรีอยุทธยาแล้ว พระนามแผ่นดินจึงได้ใช้รามาธิบดีให้ตรงกันกับนารายน์รามาวตาร ก็แต่สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นี้ ในพระราชพงษาวดารเรียกว่าสมเด็จพระรามาธิบดี อู่ทอง คำราษฎรเรียกกันว่าพระเจ้าอู่ทองบ้าง ท้าวอู่ทองบ้าง ซึ่งเรียกว่าอู่ทองดังนี้มีคำปรากฏในพระราชพงษาวดารว่า เดิมพระเจ้าแผ่นดินครองสมบัติอยู่ในเมืองไตรตรึงษ์ เดิมชื่อเมืองแปบ เปนเมืองร้างอยู่ในสยามประเทศอันนี้ พระเจ้าแผ่นดินได้สืบบรมราชวงศ์กันมาสี่ชั่วแผ่นดิน ครั้งนั้นมีชายเข็ญใจคนหนึ่งเปนปมเปาทั่วทั้งตัว คนทั้งปวงเรียกว่านายแสนปม นายแสนปมนั้นทำไร่ปลูกพริกมะเขือ แลมะเขือต้นหนึ่งนั้นอยู่ใกล้ห้างที่อาไศรย นายแสนปมถ้ายปัสสาวะรดต้นมะเขือต้นหนึ่งนั้นอยู่ไม่ได้ขาด ในขณะนั้นพระราชธิดาพระเจ้าไตรตรึงษ์อยากเสวยผลมะเขือ จึงได้ผลมะเขื่อต้นนั้นไปเสวยก็ทรงครรภ์ ครั้นประสูตรแล้วพระไอยกาให้เสี่ยงทายหาบิดา พระราชกุมารรับเอาก้อนเข้าเย็นของนายแสนปม พระเจ้าไตรตรึงษ์ทรงลอาย จึงให้ขับเสียทั้งพระราชธิดาแลพระราชนัดดาไปอยู่ที่ไร่กับนายแสนปม พระอินทรจึงนำเอากลองทิพย์มาให้กับนายแสนปม นายแสนปมจึงตีกลองทิพย์ นฤมิตรขึ้นเปนบ้านเมือง แลจึงให้ช่างทองตีอู่ทองให้โอรสนอน จึงได้ปรากฏว่าอู่ทองราชกุมาร ในศักราช ๖๘๑ ปีมแมเอกศกนั้น ครั้นพระราชบิดาสวรรคตแล้ว อู่ทองราชกุมารได้ครองราชสมบัติในจุลศักราช ๗๐๖ แล้วจึงยกลงมาสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา ตำบลหนิงโสน ในจุลศักราช ๗๑๒ ปีขานโทศก เปนสมเด็จพระรามาธิบดี แต่นามอู่ทองเดิมนั้น ก็ยังมีผู้เรียกคงอยู่ รามาธิบดีองค์นี้ควรนับเปนที่ ๑

พระนามที่ ๒ สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระนามต้องกันกับในพระราชพงษาวดาร แต่ซึ่งเรียกว่าพระเจ้ามหาเดช พระเจ้าพฤฒิเดชนี้ จะเปนคำเดิมเรียกกันมาอย่างนั้นบ้าง ฤๅจะมีในพงษาวดารมอญคือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ ก็ไม่ทราบ ด้วยฉบับเดิมนั้นหายสูญไป ยังหาไม่ได้ ฤๅจะเปนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงพระราชดำริห์ ฤๅทรงแปลจากอันใดไม่ได้ทราบชัด แต่ในพระราชพงษาวดารเรียกว่าขุนหลวงพงัวพระองค์นี้ ควรนับเปนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑

ในที่ ๓ เจ้าทองจันทร์ ฤๅเจ้าท้องลั่น นั้น ไม่ได้ตั้งนาม เพราะไม่ได้ทำการราชาภิเศก พระนามก็เรียกตรงกัน

ที่ ๔ สมเด็จพระราเมศวร นี้ เรียกยืนที่อยู่ ต้องกันกับในพระราชพงษาวดาร แต่ถ้าจะคิดดูก็น่าสงไสยอยู่ จะเปลี่ยนเปนสมเด็จพระรามาธิบดีเมื่อภายหลัง เพราะในขณะนั้นสมเด็จพระราเมศวรตั้งเปนเจ้าครองเมืองลพบุรี พระบรมราชาธิราชครองเมืองสุพรรณบุรี ไม่ได้เปนวังน่าเหมือนธรรมเนียมทุกวันนี้ ครั้นเมื่อได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเปนเจ้าแผ่นดินใหญ่แล้ว จะเปลี่ยนรับพระนามของพระราชบิดาฤๅอย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะเห็นแบบอยู่ เมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปีขานฉศก ภายหลังลงไปพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ พระนามเดิมพระราเมศวรราชโอรส ซึ่งเสด็จไปครองเมืองพิศณุโลกย์ ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเปลี่ยนพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ พระราเมศวรนี้จะเปนตำแหน่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายเหนือฤๅกะไรไม่ทราบ แต่ถ้าจะคิดเสียอิกอย่างหนึ่งว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช ซึ่งครองเมืองสุพรรณบุรีได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ท่านก็คงใช้พระนามเดิมอยู่ ในครั้งนี้สมเด็จพระราเมศวรได้เถลิงถวัลยราชสมบัติก็จะใช้พระนามเดิม ซึ่งเปนของพระราชบิดาพระราชทานแล้ว นามนั้นก้เปนรามต้องนามพระนครอยู่แล้ว คำซึ่งเรียกสมเด็จพระราเมศวรนี้ ก็ปรากฏเหมือนกันทั่วทุกแห่ง ควรนับว่าเปนสมเด็จพระราเมศวรได้

ที่ ๕ นั้น สมเด็จพระรามราชาธิราช ต้องกันกับพระราชพงษาวดารย่อ แต่ในพระราชพงษาวดารพิศดารนั้น เดิมเรียกว่าพระยาราม คำที่เรียกว่าพระยารามราชโอรสนี้ ดูคล้ายๆกับข้างเรื่องราชพงษาวดารรามัญ ชั้นพระเจ้าราชาธิราช มีพระราชโอรสเรียกว่าพระยาเกียรติ พระยาราม แต่พระยารามนี้เปนเจ้าแผ่นดินขึ้นแล้ว จะเปลี่ยนนามตามสมเด็จพระอยกาเปนรามาธิบดี ฤๅจะไม่เปลี่ยนก็ไม่ทราบ แต่เปนคำได้ใช้กันถูกต้องมาช้านานแล้ว ควรนับเอาว่าเปนสมเด็จพระรามราชาธิราช ตามซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงไว้นั้น

ที่ ๖ สมเด็จพระมหานครินทราชาธฺราช ซึ่งเรียกว่านครินทร์นั้นออกจากนครอินทร์ พระนามเดิมที่เรียกว่าพระนครอินทร์นั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ท่านจะให้เรียกเพราะชดช้อยขึ้น ท่านจึเรียกเสียว่านครินทร์ เนื้อความก็เปนอันเดียวกัน แต่ถึงท่านเรียกดังนี้แล้วก็ไม่ตลอด ในพระราชพงษาวดารบางแห่งท่านก็เรียกเปนสมเด็จพระอินทราชา ถ้าหากวว่าจะเรียกเปนอินทราชา ดังนั้น ก็ควรนับเปนอินทราชาที่ ๑

ที่ ๗ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒

ที่ ๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ทั้งสองพระนามนี้ เปนพระถูกต้องกันทุกสถาน ไม่ต้องมีที่สงไสย

ที่ ๙ สมเด็จพระอินทราชาธิราช นี้ ท่านก็เปนพระราชนัดดาของสมเด็จพระนครินทราธิราช แต่พระนามนั้น ถ้าใช้ตามอย่างนครินทราชาธิราชอย่างเดิม ก็ควรนับว่าเปนที่ ๒ ฤๅท่านพระองค์เดิมเปนอินทราชาด้วย ก็ควรนับว่าเปนที่ ๒ เหมือนกัน

ที่ ๑๐ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

ที่ ๑๑ สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร นี้ ถูกต้องทุกสถาน

ที่ ๑๒ สมเด็จพระรัษฎาธิราช นี้ ทรงพระเยาว์จะได้ตั้งพระนามฤๅไม่ได้ตั้ง ไม่มีปรากฏในที่แห่งใด ในพระราชพงษาวดารเรียกว่าพระรัษฎาธิราชกุมาร เปนพระนามเดิม แต่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจารึกนี้ว่า พระราษฎาธิราช แปลคนละความ คงสันนิฐานว่า พระนามนี้เปนพระนามเดิม ไม่ใช่พระนามที่ตั้งใหม่ แต่เปนคำสมควรกับพระนามเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ควรรับเอาว่าเปนพระนามได้

ที่ ๑๓ สมเด็จพระไชยราชาธิราช เดิมเปนพระไชยราชาเชื้อพระวงษ์มาเติมธิราชข้างท้าย เมื่อเรียกพระนามเปนพระเจ้าแผ่นดินดังนี้ก็เปนอันใช้ได้

ที่ ๑๔ พระยอดฟ้า นี้ เมื่อเปนพระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระเยาว์นัก ไม่ได้ตั้งพระนาม จึงเรียกคงอยู่ตามเดิม แต่มีอยู่แห่งหนึ่งในพระราชพงษาวดารย่อ ที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงแต่ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่าพระแก้วฟ้า แต่เปนของแก้ใหม่ เมื่อตั้งพระนามพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เปนพระนามของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์พ้องกันไป จึงได้แก้หลีกเสีย แต่ในที่อื่นๆคงเรียกพระยอดฟ้าอยู่ตามเดิม

ที่ ๑๕ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช นี้ ถูกต้องแล้ว

ที่ ๑๖ พระมหินทราธิราช แต่ในพงษาวดารมอญคือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ เรียกว่าพระมหิงษราชา คำนี้เห็นจะผิดเปนแน่ แต่จะผิดชั้นที่มอญเขียนมา ฤๅจะผิดชั้นแปลเปนไทยก็ไม่ทราบ แต่เห็นว่า พระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ จะเปนกระบือไปนั้นเห็นจะไม่เปน คำที่ว่า มหินท นี้คนพอใจจะเรียกว่ามหิงษ์บ่อยๆ เหมือนเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ทุกวันนี้คนก็เรียกว่าเจ้าพระยามหิงษ์ชุม

ที่ ๑๑ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระนามซึ่งเรียกดังนี้ เรียกตามพระนามเดิม ซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระราชทานนาม ให้ขึ้นไปครองเมืองพระพิศณุโลกย์ พระนามนั้นในหนังสือต่างๆก็เรียกผิดอยู่ ว่าพระมหาธรรมราชาบ้าง มหาธรรมราชาธิราชบ้าง ให้พงษาวดารมอญเรียกว่าพระสุธรรมราชา แต่ในพระราชพงษาวดารพิศดารมีความว่า จุลศักราช ๙๙๘ ปีมโรงอัฐศก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ผ่านพิภพกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา ทรงพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์วงษ์กุรสุรโยดม เปนต้น มีพระนามต่อไปอิกเปนอันมาก ถ้าจะเรียกตามพระนามนี้ ก็จะเห็นว่าเปนที่ให้จำยากฤๅกระไร จึงได้เรียกพระนามเดิม แต่ถ้าโดยว่าจะเรียกตามนามเดิมก็ใช้ได้ ถ้าจะเรียกอย่างพระนามใหม่ ต้องเรียกว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ จึงจะรู้จักว่าสรรเพชญ์องค์ไหน

ที่ ๑๘ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั้น ก็เปนพระนามเดิมแต่ยังเสด็จครองเมืองพระพิศณุโกลย์ เวลาได้ราชาภิเศกนั้นจะใช้พระนามเดิมของสมเด็จพระราชบิดาต่อไปทีเดียวฤๅอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ในเวลานั้นมีการรบพุ่งกันมาก ในพระราชพงษาวดารก็หาได้กล่าวถึงการบรมราชาภิเศกไม่ เพราะดังนั้นถ้าจะว่าก็เหมือนหนึ่งคิดเดาเกินไป ด้วยพระนามสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้านี้ปรากฏโด่งดังมาก ถ้าจะเรียกตามพระนามเดิมก็เปนการสมควรอยู่ แต่ถ้าจะเทียบเคียงตามท่านไปน่าแลผู้ไปหลังให้รอบคอบ แลเทียบแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าด้วย ก็จะเห็นลงได้บ้างว่าท่านเห็นจะใช้พระนามสมเด็จพระราชบิดา เปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ ควรนับว่าเปนที่ ๒

ที่ ๑๙ สมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราชนั้น มีความปรากฏในพระราชพงษาวดารว่า ในศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศกนั้น พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัว เสด็จปราบดาภิเศกเสวยราชสมบัติ ในกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ ทรงพระนามสมเด็จพระศรีสรรเพชย์ สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี เปนต้น ถ้าจะนับเอาต้นพระนามใหม่ ก็เห็นเปนแน่ว่า เปนพระนามคล้ายกับพระราชบิดา ควรนับเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๓ ก็นี่แล สมเด็จพระเอกาทศรฐนี้พระนามก็ปรากฏโด่งดังเหมือนสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า ท่านยังเปลี่ยนตามสมเด็จพระราชบิดา จึงได้คาดคเนต่อไปว่า สมเด็จพระนเรศวร ผู้เปนพระเชษฐานั้น ท่างคงใช้พระนามนี้มาก่อนแล้ว พระอนุชาท่านจึงใช้ตามกันต่อมา

ที่ ๒๐ พระศรีเสาวภาคย์ นั้น พระนามเดิม เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ เมื่อเปนพระเจ้าแผ่นดินนั้น มีปรากฏในพระพงษาวดารว่า ได้ทำการราชาภิเศกแล้วดำรงราชสมบัติอยู่ถึงปีหนึ่งกับสองเดือน ให้ผู้อ่านคเนลองดูบ้างว่าพระศรีเสาภายค์นี้มิใช่ทรงพระเยาว์อยู่ ฤๅบ้านเมืองเปนจลาจลประการใด ก็เรียบร้อยเปนปรกติ จนได้ทำการราชาภิเศกดังนี้ จะตั้งพระนามฤๅไม่ตั้ง ฤาจะใช้เจ้าฟ้าเสาวภาคย์อยู่ตามเดิม ถ้าเห็นว่าจะตั้งพระนาม ก็คงเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์เปนแน่ ถ้าเป็นสมเด็จพระสรรเพชญ์แล้วต้องนับเปนที่ ๔

ที่ ๒๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม พระนามนี้ในพระราชพงษาวดารไม่ปรากฏ มีแต่ว่าทรงพระนามสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐ ก็เห็นว่าจะไม่ใช่พระนามจารึกพระสุพรรณบัตร มีในพงษาวดารมอญเรียกว่าพระบรมไจรโลกนารถ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านจึงทรงตามนั้น จะเปนพระนามจารึกในพระสุพรรณบัตรแน่ เพราะท่านทรงผนวชมานาน แลทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธสาสนามาก คล้ายคลึงกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถที่ ๑ จึงได้โปรดรับพระนามนั้น มาตั้งเปนพระนามพระองค์ ถ้าเปนดังนี้ก็เปนสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถที่ ๒

ที่ ๒๒ พระเชษฐาธิราช นั้น ก็ไม่ทราบว่าพระนามว่ากระไร ในพงษาวดารมอญก็ตัดเสียไม่กล่าวถึง แต่ได้ครองราชสมบัติอยู่นานถึงปี ๑ กับ ๗ เดือน คงจะตั้งพระนามแล้ว แต่ไม่มีปรากฏ ถ้าจะเทียบเอาพระนามสมเด็จพระราชบิดามาให้เปนพระนามนี้ด้วย ก็เห็นว่าเกินคุณวุฒิในพระองค์อยู่ จะเทียบเอาพระนามใดมา ก็เปนการคาดคเนมากไป ต้องคงว่าเป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราชอยู่ตามเดิม

ที่ ๒๓ พระอาทิตยวงษ์ นั้น ไม่มีพระนามแน่ เพราะได้ครองราชสมบัติยังทรงพระเยาว์นัก แล้วก็อยู่เพียง ๖ เดือน

ที่ ๒๔ สมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเรียกตามพงษาวดารมอญ แต่ในพระราชพงษาวดารว่าทรงพระนาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง ที่เรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง เพราะท่านทรงสร้างจักรวัติไพยนต์มหาปราสาทอย่าง ๑ อิกเรื่องหนึ่งนั้นมีในพงษาวดารมอญว่าเมื่อได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ท่านทรงสุบินว่าจอมปลวกที่เล่นเมื่อทรงพระเยาว์อยู่นั้น มีปราสาททองอยู่ใต้นั้น จึงเสด็จไปขุด ได้ยินเสียงดังครื้นเครงไปทั้งสิ้น ครั้นขุดลงไปจึงได้ปราสาททองนั้นบรรจุพระบรมธาตุแล้วตั้งไว้ในสรรเพชญ์ปราสาท อยู่มาจนครั้งหลังจึงสมมติพระนามเรียกว่าพระเจ้าปราสาททอง พระนามที่เรียกว่าปราสาททองนั้น ก็เปนคำสามัญ มิใช่จารึกในพระสุพรรณบัตร ถ้าจะคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองนี้ ท่านเปนต้นบรมวงษ์อันหนึ่ง แลเทียบสมเด็จพระนารายน์ซึ่งเปนพระราชโอรส ก็จะเห็นไปได้อิกทางหนึ่งว่า ท่านจะทรงพระนามรามาธิบดี ให้เหมือนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งเปนปฐมบรมวงษ์ในกรุงทวาราวดี ถ้าเห็นดังนี้ ควรนับว่าเปนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ ฤๅจะเทียบได้อิกอย่างหนึ่ง แต่เปนเรื่องเกร็ดไป มีคำเล่าว่าท่านเปนพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรฐ ถ้าเปนดังนั้นจริง ท่านจะใช้พระนามตามสมเด็จพระเอกาทศรฐ ว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์บ้างดอกกระมัง ถ้าเปนดังนั้น ก็ต้องเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ ถ้าคำที่พงษาวดารมอญๆเรียกว่ารามาธิเบศร์ ไม่เปนแต่คำยักเรียกให้แปลกแล้วก็เปนรามาธิเบศร์ที่ ๑

ที่ ๒๕ เจ้าฟ้าไชย ไม่มีพระนามปรากฏว่ากระไรเลย ได้ครองราชสมบัติอยู่ก็น้อย จะได้ราชาภิเศก ฤๅไม่ได้ราชาภิเศก ในพระราชพงษาวดารก็ไม่ว่าชัด พงษาวดารมอญตอนนี้ก็หาย ยกเสียเถิด อย่าคิดเลยว่าเปนพระนามว่าอย่างไร คงเปนเจ้าฟ้าไชยไปตามเดิม

ที่ ๒๖ พระศรีสุธรรมราชา ได้เปนเจ้าแผ่นดินอยู่ ๒ เดือนเศษ จะได้ราชาภิเศก ฤๅไม่ได้ราชาภิเศกก็ไม่ทราบ แต่ได้เสด็จเข้าไปอยู่ในพระราชวังหลวง ถ้าราชาภิเศกก็เห็นจะใช้พระนามเหมือนสมเด็จพระเชษฐาธิราช แต่อย่านับเลย ด้วยมามีเหตุปลายมือไม่ดี ให้คงเปนพระศรีสุธรรมราชาตามเดิม พราะไม่มีปรากฏในพระราชพงษาวดาร

ที่ ๒๗ สมเด็จพระนารายน์มหาเอกาทศรฐราช นั้น พระนามมีปรากฏชัดเจนในพระราชพงษาวดาร ว่าสมเด็จพระรามาธิบดี เปนต้น แต่พระนามพระนารายน์นั้น คนทั้งปวงเรียกติดปากเปนที่นิยมมาก พระนามรามาธิบดีจึงไม่หักล้างไปได้ เพราะติดเนื่องเปนพระนามเดียวกันอยู่ คือพระนาราน์อวตารลงมาเปนรามาธิบดี ครองกรุงศรีอยุทธยา ถึงพระราชบิดาจะทรงพระนามอื่นๆก็ดี ท่านก็เห็นจะไม่รับพระนามนั้นตาม คงจะเปนพระนามรามาธิบดีให้จงได้ เพราะถูกเรื่องถูกราวกัน ก็ถ้าพระเจ้าปราสาททองทรงพระนามเปนรามาธิบดีที่ ๓ พระนารายน์ก็ต้องเปนรามาธิบดีที่ ๔ ถ้าพระเจ้าปราสาททองเป็นสมเด็จพระสรรเพชย์ ฤารามาธิเบศร์ พระนารายน์ก็คงเปนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓

ที่ ๒๘ พระธาดาธิเบศร์ นี้ มีในพงษาวดารมอญ แต่ขุนหลวงหาวัดท่านจะคิดเห็นเพทราชา พระพรหมเปนใหญ่ในเวทจึงได้ใช้พระนามธาดาธิเบศร์ พอให้พ้นพระนามที่เรียกในพระราชพงษาวดารว่าแผ่นดินพระเพทราชา เปนชื่อของจางวางกรมช้างไป ดูก็ไม่สมควร แต่พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้น มีปรากฏในพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม เปนต้น

ที่ ๒๙ สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี พระนามนี้ในพงษาวดารมอญว่ามีนิมิตร เมื่อราชาภิเศก แสงสงว่างไปทั้งปราสาท จึงถวายพระนามว่าพระสุริเยนทราธิบดี แต่ที่จริงนั้น เห็นท่านจะยกย่องปู่ท่านมาก น่ากลัวจะออกจากสุรศักดิ์นั้นเอง เพราะถ้าจะคอยนิมิตรเวลาราชาภิเศกแล้วจึงจารึกพระสุพรรณบัตรเห็นจะไม่ทัน ไม่มาแต่อื่น เปนคำเรียกให้เพราะขึ้นสมควรกับที่เปนพระเจ้าแผ่นดิน เพราะในพระราชพงษาวดารนั้น ไม่ปรากฏว่าพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นอย่างไร คนทั้งปวงก็เรียกเสียว่าพระพุทธเจ้าเสือ เพราะพระองค์ท่านดุร้ายหยาบช้านัก ราษฎรก็เรียกเอาตามที่กลัวฤๅที่ชังตามชอบใจ แต่พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้น เห็นจะใช้นามอย่างเช่นพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง จะว่าด้วยเรื่องพระนามนี้ต่อไปข้างหลัง

ที่ ๓๐ สมเด็จพระภูมินทรมหาราชา พระนามนี้มาจากพงษาวดารมอญอิก ว่าเรียกพระภูมินทราชาก็เรียก พระบรรยงก์รัตนาศน์ก็เรียก แต่พระภูมินทราชานั้นเห็นจะถวายเอาเอง ในพระราชพงษาวดารเรียกว่าพระพุทธเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อธิบายว่าท่านเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ข้างท้ายสระ ก็ตรงกันกับความที่เรียกว่าพระบรรยงก์รัตนาศน์ ไนยหนึ่งเรียกว่าขุนหลวงทรงปลา จะเปนด้วยท่านทรงโปรดตกเบ็ด แลโปรดปลาตะเพียนฤๅกระไร แต่พระนามซึ่งจารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นไม่ปรากฏ ยังได้พบพบเห็นเปนพยานอยู่แห่งเดียวแต่วัดปากโมกข์ มีอักษรจารึกในแผ่นศิลาว่า ลุศักราช ๑๐๘๗ ฤๅ ๘๘ จำไม่ใคร่ถนัด สมเด็จพระสรรเพชญ์มีสร้อยพระนามออกไปอีกมาก ได้ทรงสถาปนาก่อกู้วัดปากโมกข์นี้ไว้มิให้เปนอันตรายด้วยอุทกไภยดังนี้เปนต้น ควรเห็นว่า พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นเปน สมเด็จพระสรรเพชญ์เปนแน่ไม่ต้องสงไสย

ก็พระพุทธเจ้าเสือนั้น ท่านจะทรงพระนามสรรเพชญ์ด้วยดอกกระมัง พระราชโอรสจึงได้ทรงพระนามดังนี้ เพราะไม่มีปรากฏในพระราชพงษาวดารเลย จะจารึกกันต่อๆมาไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ถ้าเปนดังนั้น จะคิดต่อขึ้นไปอิกชั้นหนึ่ง ว่าพระเจ้าปราสาททองนั้น ท่านก็เปนพระไอยกาของพระพุทธเจ้าเสือ ท่านจะมิใช้พระนามสรรเพชญ์ดังนี้ก่อนฤๅ จึงได้ใช้กันมา แต่พระนารายน์นั้นท่านไม่ยอมตาม เพราะพระนามเดิมของท่านเปนพระนารายน์อยู่แล้ว เปนรามาธิบดีถูกต้องกว่า ก็ถ้าจะเถียงอิกคำหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเสือท่านจะเปนรามาธิบดี ตามพระราชบิดามาแต่ก่อน ไม่ได้เปนนารายน์ก็มี แต่เห็นว่าถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าเสือเปนรามาธิบดีแล้ว พระพุทธเจ้าอยู่หัวท้ายสระคงเปนรามาธิบดีด้วยเปนแน่ นี่ท่านกลับเปนสรรเพชญ์ไปอย่างหนึ่ง ชรอยพระนามรามาธิบดีนั้น จะยกไว้เฉภาะพระนารายน์ดังเช่นว่ามาแล้ว ถ้าเห็นดังนี้ พระเจ้าปราสาททองต้องเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ พระพุทธเจ้าเสือเปนสรรเพชญ์ที่ ๖ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนี้เปนสรรเพชญ์ที่ ๗

ที่ ๓๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระนามนี้ถูกต้องดีอยู่แล้วเพราะท่านเปนพระอนุชา ใช้พระนามให้ผิดกับพระเชษฐา แลพระเชษฐาที่ไม่ชอบกันอยู่ ฤๅประสงค์ว่าเมื่อเกิดศึกกลางพระนครแล้ว จึ่งได้เปนพระเจ้าแผ่นดิน คล้ายกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แต่พงษาวดารมอญถวายพระนามว่า พระมหาบรมราชาก็เรียก พระบรมโกษฐก็เรียก คำราษฎรเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ ก็คำที่เรียกว่าในพระบรมโกษฐนั้น เปนไฉนจึ่งได้เรียกกันดังนั้น

ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจว่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนพระราชบิดาพระเจ้าแผ่นดินในประจุบันนั้น เรียกว่าพระบรมโกษฐดังเช่นว่ามาแล้วในข้างต้น เพราะพระบรมโกษฐนี้สวรรคตแล้ว พระราชโอรสได้เปนพระเจ้าแผ่นดินถึงสองพระองค์ก็จริงอยู่ แต่องค์หนึ่งได้เปน ๑๐ วัน องค์หนึ่งได้เปน ๙ ปีก็เสียกรุงแก่พม่า บ้านเมืองยับเยินไปแล้ว ข้าราชการเก่าๆจึ่งได้ประชุมกันตั้งบ้านเมืองขึ้น ก็คนทั้งปวงเหล่านั้น ล้วนแต่เปนข้าราชการอยู่ในพระบรมโกษฐแลพระราชโอรสในพระบรมโกษฐทั้งนั้น เมื่อเวลาบ้านเมืองยังตั้งอยู่แต่ก่อนเคยเรียกว่าในพระบรมโกษฐ คำที่เรียกนั้นก็ติดปากเจนใจ จนถึงมามีเจ้าใหม่ ก็ยังเรียกพระบรมโกษฐตามเดิม ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจว่า คำที่เรียกว่าพระบรมโกษฐนี้ ใช่จะได้เปนแต่ท่านพระองค์นี้ก็หาไม่ บรรดาเจ้าแผ่นดินคงได้เปนคราวหนึ่งทุกองค์ เหมือนอย่างลูกเจ้านาย เขาเคยเรียกพ่อเขาว่าในพระโกษฐก็มี ลูกขุนนางที่มียศได้พระราชทานโกษฐเขาก็เรียกปู่เรียกพ่อว่าเจ้าคุณในโกษฐก็มี นี่ท่านเปนเจ้าแผ่นดิน ก็เปนพระบรมโกษฐเท่านั้นเอง แต่พระนามในพระสุพรรณบัตรนั้น คงเปนบรมราชาธิราชที่ ๓

ที่ ๓๒ สมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิต นี้ ในพระราชพงษาวดารเปนสองอย่าง ที่ย่อว่าเสวยราชสมบัติอยู่ ๑๐ วัน แล้วก็ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระเชษฐาธิราช แต่ในพระราชพงษาวดารพิศดารนั้น แยกปีกันคนละปี ด้วยเมื่อในวันเดือน ๖ ปีขานสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๒๐ นั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ สวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งเปนกรมขุนพินิตเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทำโทษเจ้ากรมสามกรม แลทำพระราชพิธีปราบดาภิเศกในเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ ตั้งกรมหลวงพิพิธมนตรี พระราชมารดาเปนกรมพระเทพามาตย์ จนเดือน ๑๒ กรมพระเทพามาตย์สวรรคต จึ่งได้ทำการพระบรมศพพร้อมกัน แลสร้างวัดอุทุมพรวัดหนึ่ง ปฏิสังขรณ์หลังคามณฑปพระพุทธบาท หุ้มทองสองชั้น ได้ฉลองถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ แลยาจกวณิพกเปนอันมาก แล้วจึ่งไปถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมเชษฐา กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ๆ ได้เปนเจ้าแผ่นดินต่อศักราช ๑๑๒๑ เรียงปีกัน ในพระราชพงษาวดารพิศดารมีความดังนี้

เถียงกันกับพงษาวดารย่อ ที่ว่าครองราชสมบัติอยู่ ๑๐ วันนั้น ใครจะถืออย่างไรจะเชื่ออย่างไรก็ตามใจ ถ้าอยู่ ๑๐ วันแล้ว คงไม่ได้ปราบดาภิเศก พระนามคงไม่ได้จารึกในพระสุพรรณบัตร ตกลงเปนเจ้าฟ้าดอกมเดื่ออุทุมพร กรมขุนพรพินิตอยู่ตามเดิม ถ้าจะเชื่อข้างพระราชพงษาวดารพิศดาร ว่าได้ทำการปราบดาภิเศก ก็คงจะมีพระนาม ถ้าท่านมีพระนามจะทายว่าพระนามใด ก็เก็นจะต้องทายว่าเหมือนสมเด็จพระราชบิดา เพราะไม่ปรากฏในพระราชพงษาวดาร เพราะแต่ก่อนมาถ้าจะมีพระนามแปลกประหลาดออกไป คงจะต้องต้องกล่าวนามนั้นในราชพงษาวดารทุกมี ถ้าเห็นว่าเหมือนสมเด็จพระราชบิดาแล้ว คงเปนบรมราชาธิราชที่ ๔ ภายหลังออกทรงผนวชราษฎรจึ่งเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด

ที่ ๓๓ พระบรมเอกทัศอนุรักษมนตรีราช องค์นี้ พระนามเดิมเอกทัศ ภายหลังเปนกรมขุนอนุรักษมนตรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าท่านจึ่งทรงเรียกว่า พระบรมเอกทัศอนุรักษมนตรี แต่พระนามซึ่งจารึกในพระสุพรรณบัตรนั้น มีปรากฏว่า สมเด็จพระบรมราชา มหากระษัตริย์บวรสุจริต เปนต้น ควรจะนับว่าเปนสมเด็จพระบรมราชาที่ ๑

ที่ ๓๔ เจ้ากรุงธนบุรี ได้ตั้งตัวเปนเจ้า ณ เมืองธนบุรี ในจุลศักราช ๑๑๓๐ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งว่า แต่เดิมนั้นไม่ได้รับราชโองการ เพราะไม่มีพราหมณ์ที่จะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศกรับพระราชโองการเปนปฐม อิกประการหนึ่งก็หวาดหวั่นอยู่ กลัวจะเปนเหมือนหนึ่งเจ้าพระพิศณุโลกย์เรือง ตั้งตัวเปนเจ้าแผ่นดินพร้อมๆกัน รับราชโองการได้ ๗ วัน ก็เปนฝีขึ้นมาในฅอถึงแก่กรรมความตาย ขุนอินอากรผู้น้อง ซึ่งได้เปนเจ้าเมืองพระพิศณุโลกย์แทน ก็ไม่อาจตั้งตัวรับพระราชโองการดังพี่ชาย เจ้ากรุงธนบุรีก็พลอยคร้ามไปด้วย แต่ภายหลังจะได้ทำการบรมราชาภิเศกรับพระราชโองการฤๅอย่างไรไม่ปรากฏ แต่เรื่องพระนามนั้น ที่ยกย่องขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดินคราวแรก ก็ไม่ปรากฏว่าตั้งพระนามอย่างไร ในภายหลังเมื่อคลั่งอยู่แล้ว มีจดหมายในพระราชพงษาวดาร ว่าดำรัสสั่งให้พระรัตนมุนีขนานพระนามถวายใหม่ พระรัตนมุนีจึ่งขนานพระนามถวายให้ต้องพระไทย ว่าสมเด็จพระสยามยอดโยคาวจรเปนต้น จึ่งควรเห็นว่าพระนามเดิมคงมีอยู่ แต่จะใช้พระนามไร ก็ไม่รู้ที่จะสันนิฐาน ต้องยกไว้


และพระนามที่ ๓๕ ที่ ๓๖ ที่ ๓๗ นี้ เปนพระนามมีขึ้นใหม่ ในครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แรกบรมราชาภิเศก ทรงพระราชดำริห์นามแผ่นดิน ที่ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนต้น พอทรงพระราชดำริห์พระนามต่างต่อไป หมายว่าพระนามจารึกในพระสุพรรณบัตร ข้างต้นนั้นจะใช้นำน่าว่าบรมทุกๆพระองค์ ข้างหลังจึ่งผันแปรตามกาลในแผ่นดินนั้น แต่พระนามนี้ก็ไม่ได้ใช้ไปในที่อื่นๆ เห็นมีแต่ที่พระพุทธรูปสามพระองค์นี้ กับจารึกในกล่องศิลาซึ่งทรงพระบรมอัฐิทั้ง ๓ พระองค์ ต่อมาภายหลังก็เงียบไป ไม่เห็นมีที่ใช้ แต่พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นเปนสมเด็จพระรามาธิบดีแน่ ดังเช่นว่ามาแล้วทั้งสามพระองค์ ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจตามเช่นว่ามาแล้วนั้นเถิด คำอธิบายว่าด้วยหนังสือที่จารึกในพระพุทธรูป สิ้นเพียงเท่านี้

แต่นี้จะว่าด้วยเรื่องพระทั้ง ๓๗ พระองค์นี้ต่อไป ครั้นเมื่อจารึกแล้ว ให้ตั้งไว้ที่โต๊ะจีนน่าลับแลฉากข้างเหนือ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ครั้นภายหลังจึ่งทรงพระกรุณาโปรดใหสร้างหอสำหรับไว้พระพุทธรูปทั้งสองหมู่นี้ ที่กำแพงแก้วหลังพระอุโบสถ ด้านข้างเหนือ ผนังเขียนเรื่องราชพงษาวดารครั้งกรุงศรีอยุทธยา ครั้งนั้นขรัวอินช่างเขียนวัดราชบูรณะ เขียนรูปพระพิมลธรรมยิ้มขึ้นแคร่ที่พระบาท ทำหน้าตาเหมือนดีมาก ได้พระราชทานรางวัล ที่หลังบานน่าต่างเขียนเรื่องราชพงษาวดารความย่อๆไว้ทุกบาน พระราชทานชื่อว่า หอพระราชกรมานุสร เชิญพระพุทธรูปสำหรับพระเจ้าแผ่นดินเก่าไปประดิษฐานไว้ในที่นั้น

อิกหอหนึ่งข้างใต้ ให้เขียนเรื่องจดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร แลจดหมายเหตุย่อเนื้อความไว้ที่หลังบานน่าต่าง เหมือนหอข้างเหนือ พระราชทานนามว่า หอพระราชพงษานุสร เชิญพระพุทธรูปสำหรับในพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทรสามพระองค์ ไปประดิษฐานไว้ในที่นั้น

ก็แลเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระพุทธรูปทั้งปวงนี้ขึ้นไว้แล้วนั้น ภายหลังจึ่งทรงพระราชปรารภสร้างพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษา แห่งสมเด็จพระบรมไอยกาธิราช แลสมเด็จพระบรมชนกนารถ กับทั้งส่วนพระองค์ จึ่งโปรดให้ช่างหล่อพระพุทธรูปด้วยทองแดงแล้วก้าไหล่ทองคำแบ่งเปนสามอย่าง อย่างหนึ่งนั้นพระพุทธรูปทรงนั่งขัดสมาธิเพ็ชร พระหัดถ์ขวาปกพระเพลา ๗๔ พระองค์ มีฉัตรก้าไหล่ทองกั้น ๒๘ องค์เท่าปีในราชสมบัติ ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ อิกส่วนหนึ่งนั้นเปนพระพุทธรูปทรงนั่งมารวิไชย พระหัดถ์ขวาปกเพลา ๕๘ พระองค์ มีฉัตรก้าไหล่ทองกั้น ๑๖ องค์เท่าปีในราชสมบัติ ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ยังอิกส่วนหนึ่งนั้นเปนพระพุทธรูปทรงนั่งสมาธิ พระหัดถ์ขวาซ้อนพระหัดถ์ซ้าย ทรงสร้างมีจำนวนเท่าพระชนมพรรษาในขณะนั้น พระพุทธรูปส่วนซึ่งสำหรับปีอันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้นก็มีฉัตรเหมือนพระพุทธรูปสำหรับสองแผ่นดินก่อนนั้น

แล้วโปรดให้ทำมณฑปเปนม้าแปดเหลี่ยมซ้อนสามชั้น มีเสาแปดเสา ดาษเพดานรบายข่ายดอกมลิ มีฉัตรดอกมลิเบื้องบน ๕ ชั้นทุกๆมณฑป ฐานที่เปนม้าแปดเหลี่ยมนั้นมีขวดแก้วปักดอกไม้ตั้งสลับกันไปกับตะเกียงเปนชั้นล่าง ชั้นที่สองมีถ้วยแก้วปักพุ่มดอกไม้รายโดยรอบ ชั้นบนเปนที่ตั้งพระพุทธรูป เมื่อหล่อพระพุทธรูปอันนี้แล้ว ถึงวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนห้า จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งมณฑปกดอกไม้นั้น บนพระที่นั่งไพศาลทักษิณฝ่ายตวันออก ตั้งเครื่องนมัสการทุกมณฑป แล้วมีบายศรีสมโภช เวลาบ่ายท้าวนางจุดแว่น พระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการฝ่ายในเวียนเทียนสมโภช แล้วตั้งอยู่จนเวลาเช้าวันขึ้น ๓ ค่ำ บรรดาผู้ซึ่งมาถือน้ำพิพัฒสัจจาได้นมัสการ

ก็แลธรรมเนียมหล่อพระชนมพรรษาแล้วแลตั้งสมโภชดังนี้ เปนธรรมเนียมเนื่องมาแต่เดิมดังเช่นกล่าวมาข้างต้นแล้ว จนถึงประจุบันนี้ก็ยังเปนไปตามธรรมเนียมนี้อยู่ แต่ฤกษ์กำหนดหล่อพระพุทธรูปพระชนมพรรษานี้ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อถึงขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๕ ก็เปนกำหนดเททองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาเสมอไม่เลื่อนขึ้นเลื่อนลง ไม่มีกำหนดฤกษ์ดีฤกษ์ชั่ว เพราะฉะนั้น จนถึงวันขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๕ ปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ เปนวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ยังได้หล่อพระชนมพรรษาในวันนั้นพระองค์หนึ่ง จึ่งรวมพระพุทธรูปพระชนมพรรษาได้ถึง ๖๕ พระองค์ ที่มีฉัตร ๒๘ พระองค์ ถ้าจะนับเรียงปีมากกว่าพระชนมายุเดิมเกือบ ๒ ปีฤา ๒ ปีถ้วน เพราะท่านประสูตรวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ นับเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง สวรรคตวันพุธ ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๕ นับเปนพระพุทธรูปองค์หนึ่ง จึ่งรวมเปน ๖๕ ดังนี้

ครั้นต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเห็นชอบด้วยพระราชดำริห์เดิมอันนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้หล่อพระพุทธรูปสมาธิเพ็ชร พระหัดถ์ขวาซ้อนพระหัดถ์ซ้าย เท่าพระชนมพรรษา แต่เปลี่ยนเสียไม่ใช้หล่อด้วยทองแดง ใช้หล่อด้วยเงินแล้วก้าไหล่ทอง นำหนักองค์นึ่งชั่งห้าตำลึง พระพุทธรูปนั้นก็เปลี่ยนแปลงฝีมือผิดกับพระพุทธรูปปางต่างๆ แลพระชนมพรรษาซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้เปนฝีมือใหม่ ฐานพระพุทธรูปเดิมนั้นเกลี้ยงๆคล้ายฐานพระพิมพ์ แต่พระพุทธรูปใหม่นี้โปรดให้ทำลวดลายมีบัวคว่ำบัวหงายงามกว่าแต่ก่อน แต่กำหนดวันหล่อนั้น ไม่ทรงพระกรุณาโปรดอย่างเดิม เห็นว่าเปนฉ้อปีอยู่ จึ่งเลื่อนมาหล่อเสียในเดือน ๑๐ ก่อนน่าเฉลิมพระชนมพรรษา มีพระสงฆ์สวดมนต์ฉันเช้า ๑๐ รูป มีฤกษ์เสด็จพระราชดำเนินออกไปทรงหล่อ ที่โรงหล่อบ้าง ที่น่าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยบ้าง ที่หลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์บ้าง

แลการมณฑปนั้นก็เพิ่มมณฑปขึ้นอิก แลเปลี่ยนเปนสี่เหลี่ยมเหมือนหนึ่งสัณฐานบุษบก มีกระจังปฏิยานพนักรอบ แลมียอดแลรบายดอกไม้เหมือนกับของเก่า ตามฐานตั้งเครื่องแก้วดังสามบุษบกที่ว่ามาแล้ว รวมพระพุทธรูปซึ่งได้สร้างในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๖๕ พระองค์ มีฉัตร ๑๘ พระองค์

ครั้นมาถึงแผ่นดินประจุบันนี้ พระซึ่งเหลือจากปางต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างครั้งก่อนนั้น มีอยู่น้อยปาง ท่าทางเกะกะไปต่างๆ เห็นว่าพระคันธารราษฎร์ยังไม่มี จึงได้สร้างพระคันธารราษฎร์ขึ้นเท่าอายุในเวลานั้น แบบอย่างคล้ายคลึงกันกับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วให้ทำมณฑปเติมขึ้นอิกยอดหนึ่ง กับทำมณฑปเปลี่ยนมณฑปเก่าทั้งสาม ให้เหมือนอย่างมณฑปในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยูหัวทั้ง ๕ มณฑป แล้วตั้งสมโภชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตามพระราชประเพณีซึ่งมีมาแต่ก่อน

พระพุทธรูปพระชนมพรรษานั้น ก็ได้หล่อเพิ่มเติมขึ้นทุกปีเสมอมิได้ขาด แต่กำหนดวันหล่อนั้นเลื่อนขึ้นไปหล่อเดือน ๙ เพราะการเฉลิมพระชนมพรรษาตกในเดือน ๑๐ พระพุทธรูปเก่าซึ่งเปนของพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคตแล้วนั้น ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สามพระองค์นี้เชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนช่องกระจก ในหอพระธาตุมณเฑียร แต่พระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเชิญไปไว้ในตู้หลังพระบรมอัฐิ ในพระที่นั่งบรมพิมาน แต่พระพุทธรูปพระชนมพรรษาในแผ่นดินประจุบันนี้ ไว้ ณ หอสุราไลยพิมาน คือหอพระเจ้า ......
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 15 มีนาคม 2550 เวลา:18:45:00 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com