กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ว่าด้วยยศเจ้านาย

ยศเจ้านายในราชสกุลมี ๒ ประเภท สกุลยศ คือ ยศที่เกิดเป็นเจ้านายชั้นใดประเภท ๑ อิสริยยศ คือ ยศที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาตั้งแต่งในทางราชการประเภท ๑ จะกล่าวอธิบายทีละประเภทเป็นลำดับกันไป


สกุลยศ

สกุลยศของเจ้านายนั้น บรรดาผู้ที่เกิดในราชตระกูลจะเป็นราชบุตร ราชธิดา หรือราชนัดดา ก็ย่อมเรียกว่า "เจ้า" อันคำว่า "เจ้า" นี้ถือเป็นเกียรติยศของราชตระกูลไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ ได้พบในหนังสือเก่าใช้เรียกว่าเจ้ามาตั้งแต่ชนชาติไทยยังตั้งประเทศรวมกันอยู่ในแดนจีนทุกว่านี้ข้างฝ่ายใต้ ถ้าจะประมวลเวลามาจนบัดนี้กว่า ๑๐๐๐ ปี ถึงในปัจจุบันนี้บรรดาชนที่เป็นชาติไทย จะเป็นไทยใหญ่ไทยน้อยอย่างไรก็ตาม ยังใช้คำว่าเจ้าเป็นยศของราชตระกูลอยู่เหมือนกันทั่วไป ต่างกันแต่วิธีจัดลำดับเป็นเจ้าชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมจัดตามลัทธิของประเทศไม่เหมือนกัน จะกล่าวแต่ส่วนในสยามประเทศเท่าที่ได้พบในหนังสือเรื่องต่างๆ

เจ้าที่สกุลยศเป็นชั้นสูงนั้น เรียกว่า "เจ้าฟ้า" ที่มาใช้เป็นราชสกุลยศเห็นจะมาแต่คติเดิมของไทยเรียกเทวดาว่า ผีฟ้า จึงเรียกเจ้านายของตนว่า เจ้าฟ้า ตรงกับที่เรียกว่า สมมติเทวราช เข้าใจว่าเป็นยศเกิดขึ้นทางเมืองไทยใหญ่ก่อน เรียกแต่เจ้าผู้เป็นพระราชาครองเมืองว่า "เจ้าฟ้า" แต่พวกไทยชาวสยาม แต่เดิมเรียกเจ้าผู้ครองเมืองของตนว่า "ขุน" หรือ "ขุนหลวง" หาได้เรียกเจ้าฟ้าไม่ เมืองเขินและเมืองลื้อก็ยังเรียกเจ้าผู้ครองเมืองว่าเจ้าฟ้ามาจนทุกวันนี้ เช่น เจ้าฟ้าหมอกใหม่ เจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้าฟ้าเชียงรุ้ง เป็นต้น

ยศเจ้าฟ้าที่ปรากฏในประเทศสยาม มีในหนังพงศาวดารเหนือว่า เมื่อพระเจ้าจันทโชตครองเมืองละโว้ มีเชษฐาภคินีทรงนาม เจ้าฟ้าแก้วประพาฬ พระมเหสีทรงนาม เจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ ดังนี้ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้แต่งหนังสือนั้น ในชั้นหลังเอาคำเจ้าฟ้าเติมลงไปโดยพลการ ไม่เป็นความจริงในทางพงศาวดาร ความจริงจะเป็นอย่างที่สอบสวนได้ความในหนังสือพงศาวดารพม่า ว่าพึ่งมียศ เจ้าฟ้า ปรากฏในสยามประเทศนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๑ ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแต่ยังครองเมืองพิษณุโลก ให้เป็น เจ้าฟ้าสองแคว (คำว่าสองแควเป็นชื่อเดิมของเมืองพิษณุโลก) นามเจ้าฟ้าสองแควนั้น ก็ตรงกับว่า พระเจ้าพิษณุโลก เป็นนามตำแหน่งผู้ครองเมืองประเทศราช ต่อนั้นมาจึงปรากฏในหนังสือราชการของไทยมี่ใช้คำว่าเจ้าฟ้าเป็นครั้งแรก มีในพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระเอกาทศรถ อยู่ในกฎหมายลักษณะกบฏศึก ตั้งเมื่อปีมะเส็งจุลศักราช ๙๕๕ (พ.ศ. ๑๑๓๖) ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชหงสาวดีปี ๑ ในพระราชกฤษฎีกานั้นเรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า "สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์ อัครบุริโสดม บรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศวร์ เชษฐาธิบดี" ดังนี้ คำว่า เจ้าฟ้าในที่นี้หมายความว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีก

ที่มาใช้คำว่า เจ้าฟ้าเป็นสกุลยศสำหรับพระราชกุมาร ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารเป็นครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ เรียกพระราชโอรสว่า เจ้าฟ้าสุทัศน์ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ ก่อนนั้นขึ้นไป แม้ในกฎมณเฑียรบาลตรงที่กล่าวถึงศักดิ์ราชกุมาร ก็มิได้ปรากฏคำ เจ้าฟ้า ต่อชั้นหลังเห็นจะแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง จึงได้มีพระราชกำหนดแน่นอนว่า พระราชโอรสธิดาที่พระมารดาเป็นเจ้า มีราชสกุลเป็นเจ้าฟ้า

เจ้าฟ้ายังมีอีกชั้นหนึ่งซึ่งเป็นพระราชนัดดา คือ ถ้าพระมารดาเป็น เจ้าฟ้า พระโอรสธิดาก็เป็นเจ้าฟ้าตามอย่างพระมาดา เจ้าฟ้าชั้นนี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพงศาวดารครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ คือเจ้าฟ้าหญิงสังวาลย์และเจ้าฟ้าชายจีด พระบิดาทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าแก้ว ลูกเธอในสมเด็จพระเพทราชา เจ้าฟ้าเทพราชธิดาของพระเจ้าท้ายสระเป็นพระมารดา ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เป็นเจ้าฟ้าราชนัดดามาแต่เสด็จสมภพในรัชกาลที่ ๑ เพราะสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ พระบรมราชชนนีเป็นเจ้าฟ้า

ศักดิ์เจ้าฟ้าต่างกันเป็น ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ เจ้าฟ้าซึ่งพระมารดาเป็นอัครมเหสีหรือเป็นราชธิดา เรียกกันว่า "ทูลกระหม่อม" ชั้นที่ ๒ เจ้าฟ้าซึ่งพระมารดาทรงศักด์รองลงมา เรียกกันว่า "สมเด็จ" จะเรียกอย่างนี้มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือมาเรียกกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ไม่ทราบแน่ แต่อาศัยหลักในกฎมณเฑียรบาล ดังจะแสดงในตอนว่าด้วยอิสริยยศต่อไปข้างหน้า

ราชสกุลยศรองแต่เจ้าฟ้าลงมาเป็น "พระองค์เจ้า" พระองค์เจ้ามี ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ คือพระราชบุตรพระราชธิดาอันเกิดด้วยพระสนม ตรงกับที่เรียกในกฎมณเฑียรบาลว่าพระเยาวราช ชั้นที่ ๒ รองลงมา คือพระราชนัดดา ซึ่งบิดาเป็นเจ้าฟ้าและมารดาเป็นเจ้า พระราชโอรสธิดาของพระมหาอุปราช (ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้) ก็นับเป็นพระองค์เจ้าชั้น ๒ พระองค์เจ้าชั้นที่ ๓ คือพระราชนัดดา ซึ่งพระบิดาและพระมารดาเป็นพระองค์เจ้าด้วยกัน หรือพระบิดาเป็นเจ้าฟ้าชั้นที่ ๑ แต่มารดามิได้เป็นเจ้า

ราชสกุลรองแต่พระองค์เจ้าลงมาเป็นหม่อมเจ้า คือพระราชโอรสธิดาของเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าโดยสกุลยศ (เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแม้พระโอรสธิดาพระมหาอุปราช ถ้ามารดามิได้เป็นเจ้า ก็เป็นแต่เพียงหม่อมเจ้า เช่น หม่อมเจ้าอาทิตย์ ในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ เป็นตัวอย่างมีปรากฏอยู่ในคำจารึก)

ราชสกุลยศซึ่งเรียกว่าหม่อมราชวงศ์ คือโอรสธิดาพระองค์เจ้าตั้ง (ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า) และราชโอรสธิดาของหม่อมเจ้า

อันราชสกุลยศซึ่งเรียกว่าหม่อมราชวงศ์ในทำเนียบศักดินาพลเรือนก็มี แต่สงสัยว่าจะเป็นของเติมเข้าใหม่ เพราะคำว่าหม่อมราชวงศ์พึ่งใช้ในราชการเมื่อรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ แต่ก่อนนั้นเรียกกันว่า เจ้าบ้าง คุณบ้าง ครั้งกรุงศรีอยุธยาจะเรียกว่ากระไรไม่ปรากฏ ราชสกุลยศชั้นรองหม่อมราชวงศ์ลงมาเรียกว่า หม่อมหลวง คือโอรสธิดาของหม่อมราชวงศ์ ราชสกุลยศนับเพียงชั้นหม่อมหลวงเป็นที่สุด

อันคำว่าหม่อมหลวงมีในประกาศรัชกาลที่ ๔ ออกเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๒๒๖ (พ.ศ. ๒๔๐๗) ว่า "หม่อมราชวงศ์ที่ในข้าราชการเรียกว่า หม่อมหลวง ที่ไพร่ก็เรียกว่า เจ้า" ดังนี้ ดูเหมือนเดิมจะนับว่าหม่อมหลวงเป็นชั้นเดียวกับหม่อมราชวงศ์ ถึงรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดฯให้ลดลงมาใช้เรียกบุตรหม่อมราชวงศ์ เป็นระเบียบสืบมาจนบัดนี้



อิสริยยศ

ส่วนอิสริยยศ คือยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาเจ้านายให้มีศักดิ์สูงขึ้นนั้น ชั้นสูงสุดคือ พระราชกุมารผู้ที่จะรับรัชทายาทสืบพระวงศ์ ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งในในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๑ บัญญัติว่า "พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระอัครมเหสี (มียศ) เป็นสมเด็จหน่อพุทธเจ้า พระราชกุมารอันเกิดแต่แม่หยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช" ที่กล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลดังนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระราชกุมารซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะทรงสถาปนาให้เป็นรัชทายาทนั้น แม้พระมารดาเป็นอัครมเหสี ให้มีพระยศเรียกว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้า ถ้าพระราชกุมารที่จะเป็นผู้รับรัชทายาท พระมารดามียศต่ำกว่าพระอัครมเหสีลงมาเป็นแพยงแม่หยั่วเมืองไซร้ ให้มีพระยศเรียกเพียงว่า พระมหาอุปราช ข้าพเจ้าเข้าใจดังกล่าวนี้ เพราะพระอัครมเหสีและแม่หยั่วเมืองอาจมีพระราชกุมารหลายองค์ พระราชกุมารจะเป็นสมเด็จหน่อพุทธเจ้า หรือพระมหาอุปราชทุกพระองค์ไม่ได้อยู่เอง ตามที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร พระราชกุมารที่เรียกว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้ามีแต่พระองค์เดียว คือ สมเด็จพระบรมหน่อพุทธางกูร ซึ่งเป็นรัชทายาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แต่ชั้นหลังมา พระราชกุมารที่จะรับรัชทายาทเรียกแต่ว่าพระมหาอุปราชทั้งนั้น พระนามสมเด็จหน่อพุทธเจ้าจะเลิกใช้แต่เมื่อใดและเพราะเหตุใดหาปรากฏไม่

อิสริยยศสำหรับราชตระกูลรองแต่พระมหาอุปราชลงมา พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาให้มีพระนามขึ้นด้วยคำว่า "พระ" สันนิษฐานว่าจะเอาแบบของขอมมาอนุโลมใช้เป็นราชประเพณีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย มีตัวอย่างอยู่ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามกำแหงมหาราชว่า เมื่อยังเป็นลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ อยู่ มีความชอบชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด พระราชบิดาสถาปนาให้มีพระนามว่า "พระรามกำแหง" ดังนี้ อิสริยยศขึ้นพระนามว่า "พระ" ยังใช้มาในชั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีปรากฏหลายพระนาม คือ

๑. พระราเมศวร เคยมี ๔ พระองค์ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระองค์ ๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวรพระองค์ ๑ (แต่เพราะหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นตามอิสริยยศเดิมว่า พระราเมศวร จึงเรียกพระราชโอรสซึ่งได้รับรัชทายาทว่า "พระรามราชา" ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่จริงเป็นตำแหน่งพระราเมศวรนั้นเอง) แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ พระองค์ ๑ แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิองค์ ๑ ลูกเธอที่ยกขึ้นเป็นพระราเมศวรล้วนเป็นลูกเธอพระองค์ใหญ่ อยู่ในที่รับรัชทายาท ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเป็นพระนาม ๑ ซึ่งสำหรับตั้งผู้รับรัชทายาท

๒. พระนเรศวร มีแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชพระองค์เดียว จดหมายเหตุของโปรตุเกตว่า ราษฎรเรียกกันว่า เจ้าดำ (คู่กับ เจ้าขาว คือสมเด็จพระเอกาทศรถ) น่าเข้าใจว่า เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จะเรียกกันว่า พระองค์ดำ มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พึ่งมาอภิเษกเป็นพระนเรศวร (อันเทียบด้วยพระนาม พระราเมศวร นั้นเอง) เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ครองกรุงศรีอยุธยา

๓. พระมหินทร์ มีในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระองค์เดียว (เห็นจะแปลงมาจากพระนามอินทราชา เหตุที่แปลงนั้นจะเห็นได้ในอธิบายต่อไปข้างหน้า)

๔. พระเอกาทศรถ (ที่ใช้เป็นนามพระเจ้าลูกเธอ) มีในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชพระองค์เดียว

๕. พระอาทิตยวงศ์ มีในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์ ๑ ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมพระองค์ ๑

๖. พระไตรภูวนาทิตยวงศ์(ซึ่งเข้าใจว่าเทียบด้วยพระอาทิตยวงศ์นั้นเอง)มีในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองพระองค์ ๑

๗. พระศรีศิลป์ มี ๓ พระองค์ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชพระองค์ ๑ เป็นพระนามเดิมของพระเจ้าทรงธรรม (ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานของผู้ศึกษาพงศาวดาร ว่าเป็นพระนามยศเมื่อก่อนทรงผนวช เพราะเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พระองค์ ๑ ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมมีพระศรีศิลป์อีกพระองค์ ๑

๘. พระศรีเสาวราช มี ๒ พระองค์ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระองค์ ๑ ปรากฎพระนามนี้ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรอีกพระองค์ ๑

๙. พระเชษฐาธิราชกุมาร มี ๒ พระองค์ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระองค์ ๑ ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมพระองค์ ๑

๑๐. พระรัษฐาธิราชกุมาร มีในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร พระองค์เดียว

๑๑. พระนารายณ์ราชกุมาร หรือพระสุรินทรราชกุมาร ปรากฏเป็น ๒ นัยอยู่ คือ พระนามของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อยังเป็นลูกเธอในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

พระนามยศของเจ้านายครั้งกรุงศรีอยุธยายังมีอีกประเภท ๑ ซึ่งลงท้ายพระนามว่า ราชา คือ

๑๒. พระบรมราชา มี ๓ พระองค์ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระองค์ ๑ แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระองค์ ๑ แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์ ๑

๑๓. พระอินทรราชา มี ๔ หรือ ๕ พระองค์ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ พระองค์ ๑ (หรือ ๒ พระองค์) ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระองค์ ๑ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองพระองค์ ๑

๑๔. พระไชยราชา มีในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรพระองค์เดียว

๑๕. พระเทียรราชา มีในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชพระองค์เดียว

๑๖. พระมหาธรรมราชา มีในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระองค์ ๑ (หนังสือพระราชพงศาวดารว่า มีในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรอีกพระองค์ ๑ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เชื่อว่ามีจริง)

๑๗. พระศรีสุธรรมราชา มีในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองพระองค์ ๑ (เห็นจะแปลงมาจากพระมหาธรรมราชานั้นเอง)

พระนามเจ้านายที่ลงท้ายว่าราชา นี้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะเป็นพระนามสำหรับเจ้านายที่ทรงตั้งไปปกครองหัวเมืองที่เป็นประเทศราช จึงลงท้ายพระนามว่า ราชา มีตัวอย่างดังพระบรมราชาได้ครองเมืองสุพรรณบุรีพระองค์ ๑ ครองเมืองพิษณุโลกพระองค์ ๑ พระอินทราชาครองเมืองสุพรรณบุรี ๒ พระองค์ พระมหาธรรมราช (เอาอย่างนามพระเจ้ากรุงสุโขทัยแต่ก่อน) ตั้งไปครองเมืองพิษณุโลก แต่ที่เป็นตัวอย่างชัดเจนดีนั้น คือ สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เดิมเมื่ออยู่กรุงศรีอยุธยาทรงพระนามว่า พระอาทิตยวงศ์ ชั้นหนึ่งแล้ว เมื่อจะขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกจึงได้เป็นพระบรมราชา เจ้านายครองเมืองที่ไม่มีพระนามว่า ราชา ลงท้าย มีแต่ที่เป็นรัชทายาท คือ พระราเมศวร และพระนเรศวร ด้วยสังเกตเห็นดังนี้จึงเข้าใจว่าพระนามที่ลงท้ายด้วยราชาจะเป็นตำแหน่งสำหรับเจ้าครองเมือง แต่ตามการที่เป็นจริงดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร เจ้านายที่มีพระนามว่าราชาอยู่ข้างท้าย ไม่ได้ไปครองเมืองทุกองค์ เช่นพระเทียรราชา พระศรีสุธรรมราชา ก็ไม่ปรากฏว่าได้ออกไปครองเมือง

ยังมีพระนามเจ้านายอีกประเภท ๑ ที่เรียกในพระราชพงศาวดารว่า เจ้าทองลันก็ดี พระแก้วฟ้าหรือพระยอดฟ้าก็ดี ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นพระนามก่อนสถาปนาพระเกียรติยศเหมือนอย่าง (เจ้าฟ้า)พระขวัญ และ(เจ้าฟ้า)พระตรัสน้อย ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา

ประเพณีสถาปนาเกียรติยศเจ้านายให้มีพระนามขึ้นว่า "พระ" เช่นที่กล่าวมานี้ ที่เป็นพระองค์หญิงก็มี ปรากฏในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิคือ พระสุริโยทัยพระองค์ ๑ พระวิสุทธิกษัตรีย์พระองค์ ๑ พระเทพกษัตรีย์พระองค์ ๑ (อีก ๒ พระนามที่เรียกว่า พระสวัสดิราช และพระแก้วฟ้าในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเหมือนกันนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าผู้จดหนังสือหลงเอาคำ "พระ" มาใช้ในที่ซึ่งควรใช้คำว่า "เจ้า")

พระนามเจ้านายที่ปรากฏมาในพระราชพงศาวดารครั้งกรุงศรีอยุธยามีประหลาดน่าสังเกตอยู่ ๒ พระนาม ที่เรียกว่า เจ้าแก้วและเจ้าไทย ๒ พระนามนี้เห็นจะเป็นนามตำแหน่ง มิใช่นามเฉพาะพระองค์ แต่จะเป็นตำแหน่งอย่างไร และเป็นเจ้านายชั้นใด คิดยังไม่เห็น มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารครั้งแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เรียกว่า เจ้าแก้ว เจ้าไทย ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เมื่อไปตีกรุงกัมพูชาได้ ว่าได้ตัวพระยาแก้ว พระยาไทย (เขมร) เข้ามาด้วย แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารชั้นหลังเขียน "พระองค์" แทน "เจ้า" มีพระองค์แก้วต่อมาในพระราชพงศาวดารอีกหลายพระองค์ ส่วนพระองค์ไทยนั้นหายไป เปลี่ยนเป็นพระองค์ทองปรากฏครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า ตั้งให้ขึ้นไปว่าราชการเมืองพิไชยพระองค์ ๑

ประเพณีเรียกนามเจ้านายเป็นกรมต่างๆอย่างทุกวันนี้ พึ่งปรากฏขึ้นเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายร์มหาราช ตั้งแต่ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ เป็นเจ้ากรมหลวงโยธาทิพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี เป็นเจ้ากรมหลวงโยธาเทพ เป็นแรกที่มีอิสริยยศเจ้านายเรียกพระนามตามกรม แล้วใช้เป็นแบบแผนแต่นั้นสืบมา

เหตุใดจึงได้เลิกวิธีตั้งเจ้านายขึ้นพระนามว่า พระ เปลี่ยนใช้พระนามตามกรม ไม่ปรากฏอธิบายไว้ในหนังสือเก่าชัดเจน แต่ดูเหมือนจะพอสันนิษฐานเหตุได้ ด้วยปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่า เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มีเหตุเป็นอริกับพระเจ้าพี่ยาน้องยาเธอ ตั้งแต่เจ้าฟ้าไชยเป็นต้น ตลอดจนพระภูวนาทิตยวงศ์ พี่ยาน้องยาเธอที่ได้อิสริยยศ เชื่อได้ว่าได้มีมาแต่แผ่นดินพระเจ้าปราสาททองแล้ว ที่ยังไม่ได้สถาปนาอิสริยยศมีเจ้าฟ้าอภัยทศเป็นต้น ก็มิได้ปรากฏว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยกย่องอย่างใด นับว่าในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชงดการสถาปนาอิสริยยศเจ้านายชั้นสูงที่เป็นพระองค์ชายตลอดรัชกาล

มีเนื้อความปรากฏในหนังสือมองสิเออร์ลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศส แต่งเรื่องเมืองไทยในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวไว้แห่งหนึ่งว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงยกย่องพระราชธิดาให้มีข้าคนเป็นบริวาร และมีเมืองส่วยขึ้นเท่ากับเกียรติยศพระอัครมเหสี เนื้อความดังปรากฏในหนังสือพระราชพงสาวดารและในหนังสือของมองสิเออร์ลาลูแบร์ที่กล่าวนี้เป็นเค้าความสันนิษฐานว่า ที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ทรงตั้งกรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพนั้น ที่จริงมิใช่การสถาปนาอิสริยยศอย่างเราเข้าใจกันทุกวันนี้ ด้วยราชประเพณีเก่าก่อนนั้น แม้เจ้านายพระองค์หญิงเมื่อสถาปนาอิยริยยศให้สูงขึ้น ก็มีพระนามขึ้นว่า พระ เหมือนกับพระองค์ชาย มีตัวอย่างเช่น พระสุริโยทัย พระเทพกษัตรีย์ พระวิสุทธิกัษตรีย์ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร การที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตั้งกรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพนั้น ความจริงคือโปรดฯให้รวมคนเข้าสังกัดหมวดหมู่ตั้งขึ้นเป็นกรมใหม่ ๒ กรม ให้เจ้ากรมเป็นหลวง มีชื่อว่า กรมหลวงโยธาทิพ ๑ กรมหลวงโยธาเทพ ๑ กรมหลวงโยธาทิพให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาเทพให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสุดาวดี คนทั้งหลายจึงเรียกพระนามสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์นั้นว่า "เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ" เรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอว่า "เจ้ากรมหลวงโยธาเทพ" หมายความว่าผู้เป็นเจ้าของกรมโยธาทิพและกรมโยธาเทพ ไม่ใช่พระนามส่วนพระองค์ ความข้อนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ ด้วยเหตุนี้ชื่อเจ้ากรมจึงเหมือนกับพระนามเจ้าต่างกรมมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งเป็นพยานให้พิจารณาเห็นได้ว่า พระนามที่เรียกเจ้านายนั้นเป็นนามกรมมิใช่พระนามเจ้า

ประเพณีที่สถาปนาเป็นพระราเมศวรและพระบรมราชาเป็นต้น เป็นอันเลิกมาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ข้อนี้พึงเห็นด้วยเมื่อถึงแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ทรงประพฤติตามแบบแผนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสืบมา แต่มูลเหตุในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาผิดกับครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยเปลี่ยนราชวงศ์จำต้องสถาปนาอิสริยยศเจ้านายในราชวงศ์ใหม่ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าทำนองสมเด็จพระเพทราชามีพระราชประสงค์จะเลิกประเพณีที่เรียกในกฏมณเฑียรบาลว่า "กินเมือง" คือมีเมืองส่วยขึ้นในพระองค์เจ้านาย จึงเปลี่ยนเป็นตั้งกรมขึ้นให้บังคับบัญชาอยู่ในราชธานี ก็เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชานั้นทรงตั้งหลวงสรศักด์พระราชโอรสเป็นพระมหาอุปราช และให้พระมหาอุปราชเสด็จอยู่ที่วังจันทร์เกษม ซึ่ง(สันนิษฐานว่า)สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯให้เปลี่ยนนามให้ศักดิ์สูงขึ้นเสมอพระราชวังหลวงเรียกว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" จึงเลยเอาชื่อวังนั้นเป็นชื่อเรียกรวมบรรดาข้าราชการที่ขึ้นในพระมหาอุปราชว่า "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" นามนี้ก็เป็นหมวดหมู่ของข้าราชการที่ขึ้นในพระมหาอุปราช และยังมีอีกตำแหน่ง ๑ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ทีเดียวในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา คือเมื่อทรงตั้งนายจบคชประสิทธิศิลป์ ทรงบาศขวา ซึ่งเป็นคู่คิดเอาราชสมบัติ ให้เป็นเจ้ามีอิสริยยศชั้นสูงรองแต่พระมหาอุปราชลงมา และให้ไปอยู่วังหลัง เรียกนามวังหลังว่า "พระราชวังบวรสถานพิมุข" ก็เอานามนี้ใช้เป็นนามกรมของข้าราชการที่สังกัดขึ้นในวังหลังว่า "กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข" โดยทำนองเดียวกับข้าราชการที่ขึ้นในพระมหาอุปราช นอกจากนั้นจะทรงยกย่องเจ้านายพระองค์ใด ก็ให้ตั้งกรมและเรียกพระนามตามกรมตามแบบในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงเลยเป็นแบบตั้งเจ้านายต่างกรมสืบต่อมาด้วยประการฉะนี้

ในหนังสือราชการครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดลงมาจนรัชกาลที่ ๓ เมื่อออกพระนามเจ้านายต่างกรมยังใช้คำว่า "เจ้า" ก่อนมิได้ขึ้นคำว่า กรม ยกตัวอย่างดังในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีที่ไทยทำกับอังกฤษ เมื่อรัชกาลที่ ๒ ยังเขียนว่า "ได้ตรวจสัญญานั้นที่หน้าพระที่นั่งเจ้ากรมหมื่นสุรินทรรักษ์" ไม่ได้เรียกพระนาม "กรมหมื่นสุรินทรรักษ์" อย่างทุกวันนี้

เจ้านายครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่เรียกพระนามตามกรม


แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
๑. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ
๒. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ

แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา
๑. พระเจ้าสรศักดิ์ ราชโอรส (คือสมเด็จพระเจ้าเสือ) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช
๒. นายจบคชประสิทธิศิลป์ ทรงบาศขวากรมช้าง (ซึ่งเป็นคู่คิดเอาราชสมบัติ) กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
๓. พระองค์เจ้าหญิงแก้ว พระเจ้าลูกเธอสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าจอมมารดาเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอก พระน้องนางของสมเด็จพระเพทราชา ครั้งถึงแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาจึงยกพระองค์เจ้าแก้วขึ้นเป็นเจ้าฟ้าและเป็น กรมขุนเสนาบริรักษ์

แผ่นดินพระเจ้าเสือ
๑. พระมเหสีกลางของสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงและได้ทำนุบำรุงมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นกรมพระเทพามาตย์
๒. เจ้าฟ้าเพชร ราชโอรสพระองค์ใหญ่ (คือพระเจ้าท้ายสระ) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช
๓. เจ้าฟ้าพร ราชโอรส เป็นพระบัณฑูรน้อย แต่ไม่ปรากฏนามกรม

แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ
๑. เจ้าฟ้าพร สมเด็จพระอนุชาธิราช(คือพระเจ้าบรมโกศ) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช
๒. เจ้าท้าวทองสุก พระราชชายาเดิมยกเป็นพระอัครมเหสี มีกรมเป็นกรมหลวงราชานุรักษ์
๓. เจ้าฟ้านเรนทร์ ราชโอรส เป็นกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์

แผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ
๑. พระองค์ขาว พระราชชายาเดิมยกเป็นพระมเหสีขวา มีกรมเป็นกรมหลวงอภัยนุชิต
๒. พระองค์พลับ พระราชชายาเดิมยกเป็นพระมเหสีซ้าย มีกรมเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี
๓. เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร พระราชโอรส(คือเจ้าฟ้ากุ้ง) เป็นกรมขุนเสนาพิทักษ์ ภายหลังได้เลื่อนเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช
๔. เจ้าฟ้าเอกทัศ ราชโอรส(คือพระเจ้าสุริยามรินทร์) เป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี
๕. เจ้าฟ้าอุทุมพร (คือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ราชโอรสที่ปรากฏพระนามว่า พระเจ้าอุทุมพรราชา หรือขุนหลวงหาวัด) เป็นกรมขุนเสนีบริรักษ์
๖. เจ้าฟ้าบรม พระราชธิดา เป็นกรมขุนเสนีนุรักษ์
๗. เจ้าฟ้านุ่ม พระราชธิดาซึ่งพระราชทานให้เป็นพระชายา กรมพระราชวังบวร(มหา)เสนาพิทักษ์ เป็นกรมขุนพิศาลเสนี (ในหนังสือพระราชพงศาวดารเขียนว่า ยี่สานเสนี เห็นจะผิด)
๘. เจ้าฟ้าจีด ซึ่งพระองค์แก้วพระเจ้าลูกเธอสมเด็จพระเพทราชาเป็นพระราชบิดา เจ้าฟ้าเทพ พระราชธิดาในพระเจ้าท้ายสระเป็นพระมารดา ปรากฏในหนังสือบางฉบับว่าเป็น กรมขุนสุรินทรสงคราม
๙. พระองค์เจ้าแขก พระเจ้าลูกยาเธอ เป็นกรมหมื่นเทพพิพิธ
๑๐. พระองค์เจ้ามังคุด พระเจ้าลูกยาเธอ เป็นกรมหมื่นจิตรสุนทร
๑๑. พระองค์เจ้ารถ พระเจ้าลูกเธอ เป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ
๑๒. พระองค์เจ้าปาน พระเจ้าลูกเธอ เป็นกรมหมื่นเสพภักดี
๑๓. มีพระนามเจ้าต่างกรมปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอีกองค์หนึ่ง ทราบไม่ได้แน่ว่าใคร ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเป็นเจ้าพระพิชัยสุรินทร์ ราชนิกุล ที่มีความชอบครั้งถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าเสือนั้น เป็นกรมหมื่นอินทรภักดี

แผ่นดินพระเจ้าสุริยามรินทร์
๑. เลื่อนกรมหลวงพิพิธมนตรี สมเด็จพระราชชนนี เป็นกรม(พระ)เทพามาตย์
๒. ในคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับพม่า ว่าทรงตั้งพระองค์เจ้าแมลงเม่า พระอัครมเหสี เป็นกรมขุนวิมลภักดี
๓. หม่อมเจ้าอาทิตย์ ในกรมพระราชวังบวร(มหา)เสนาพิทักษ์ เป็นกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร


เจ้านายต่างกรมครั้งกรุงธนบุรี
๑. พระราชชนนี เป็นกรมพระเทพามาตย์
๒. พระมเหสีเดิม เป็นกรมหลวงบาทบริจาริกา
๓. พระญาติพระวงศ์ไม่ทราบว่าชั้นใด เป็นกรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระองค์ที่ ๑ เข้าใจว่าอยู่ไม่ช้าก็สิ้นพระชนม์)
๔. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย เป็นกรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระองค์ที่ ๒)
๕. เจ้าบุญมร หลานเธอซึ่งเป็นเจ้ารามลักษณ์ตำแหน่งราชนิกุลอยู่ก่อนแล้ว เป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม
๖. เจ้าบุญจันทร์ หลานเธอ เป็นกรมขุนรามภูเบศ

อิสริยยศเจ้านายต่างกรมครั้งกรุงศรีอยุธยาและครั้งกรุงธนบุรี พึงเห็นได้ในบัญชีที่แสดงมา ว่ามี ๔ ชั้น คือ

ชั้นที่ ๑ กรมพระ เป็นอิสริยยศสำหรับพระพันปีหลวง พระมหาอุปราชและวังหลัง
ชั้นที่ ๒ กรมหลวง เป็นอิสริยยศสำหรับพระมเหสี (มีนอกจากพระมเหสีแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง กรมหลวงมีแต่พระองค์หญิง
ชั้นที่ ๓ กรมขุน เป็นอิสริยยศสำหรับเจ้าฟ้าราชกุมาร
ชั้นที่ ๔ กรมหมื่น เป็นอิสริยยศสำหรับพระองค์เจ้า


มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเจ้านายในพระราชวงศ์ ก็ทรงตั้งเป็นต่างกรมตามชั้นยศซึ่งบัญญัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีผิดกันตามพฤติการณ์บ้างเล็กน้อย คือ

๑. กรมพระ ทรงตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และกรมพระราชวังสถานพิมุขตามแบบเดิม แต่ทรงสถาปนาสมเด็จพระพี่นางเธอ ๒ พระองค์เป็นกรมพระ เทียบด้วยกรมพระเทพามาตย์พระชนนีแต่โบราณ(๑)
๒. กรมหลวง ทรงตั้งเจ้าฟ้า (ที่เป็นใหญ่) ทั้งพระองค์ชายพระองค์หญิง
๓. กรมขุน ทรงตั้งเจ้าฟ้า (ที่เป็นชั้นเล็ก) แล้วจึงเลื่อนเป็นกรมหลวง พระองค์เจ้าที่เป็นกรมหมื่น แล้วเลื่อนเป็นกรมขุนก็มี
๔. กรมหมื่น ทรงตั้งพระองค์เจ้า

ในรัชกาลที่ ๒ ทรงตั้งและเลื่อนอิสริยยศเจ้านายต่างกรม อนุโลมตามระเบียบแบบอย่างรัชกาลที่ ๑ แก้ไขแต่กรมของสมเด็จพระบรมราชชนนีให้เรียกว่า "กรมสมเด็จพระ"

ถึงรัชกาลที่ ๓ โปรดฯให้พระองค์เจ้าเป็นได้จนกรมหลวง ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่เป็น "กรมสมเด็จพระ" เป็นชั้นสูงพิเศษขึ้นอีกชั้น ๑ และโปรดฯให้พระองค์เจ้าเป็นได้จน สมเด็จกรมพระ อิสริยยศต่างกรมทุกชั้นจึงเป็นได้ทั้งเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า ผิดกันแต่เจ้าฟ้าแรกรับกรมเป็นกรมขุน พระองค์เจ้าแรกรับกรมเป็นกรมหมื่น เป็นปรกติ

ราชอิสริยยศชั้นรองต่างกรมลงมาเป็นพระองค์เจ้าเรียกกันว่า "พระองค์เจ้าตั้ง" คือทรงสถาปนาหม่อมเจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้า และอาจเลื่อนขึ้นเป็นกรมหมื่น กรมขุน และกรมหลวงเป็นที่สัด แต่โอรสธิดาคงเป็นหม่อมราชวงศ์อยู่ตามสกุลศักดิ์ เพราะฉะนั้นพระองค์เจ้าตั้งจึงนับเป็นอิสริยยศ

อิสริยยศรองแต่ชั้นพระองค์เจ้าตั้งลงมา ถึงหม่อมราชนิกุลเป็นชั้นที่สุด ในทำเนียบศักดินาครั้งกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า "เจ้า" เช่น เจ้ารามราฆพ เจ้าทศเทพ เจ้าเทวาธิราช เป็นต้น แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา (ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ใช้คำ "พระ" เพิ่มเข้าไปอีกคำ ๑ คือ เจ้าพระพิชัยสุรินทร) ดังนี้(๒) สันนิษฐานว่าเมื่อใช้ยศเจ้าต่างกรมแล้ว เห็นจะเลื่อนคำ "พระ" มาใช้ในนามราชนิกุล และตัดคำ "เจ้า" ออกเสียตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงตั้งราชนิกุลในกรุงรัตนโกสินทร์ จึงโปรดฯให้ใช้แต่คำ "พระ" นำชื่อ เช่น พระฦาราชสุริยวงศ์ พระอนุรุธเทวา พระอินทรอภัย เป็นต้น ถึงรัชกาลที่ ๒ ทรงตั้งพระราชโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ให้เป็นพระพงศ์นรินทร์ พระอินทรอภัย อยู่ในตำแหน่งราชนิกุลสืบมา จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้เปลี่ยนคำ "พระ" ใช้คำ "หม่อม" แทน เป็นหม่อมราโชทัย หม่อมเทวาธิราช เป็นต้น


....................................................................................................................................................

(๑) เจ้ากรมของสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่เป็นพระยาเทพสุดาวดี แต่เห็นจะทรงตั้งเป็นส่วนตัวเจ้ากรมคนนั้น เหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งเจ้ากรมพระพิพิธโภคภูเบนทรเป็นพระยา แต่อิสริยยศชั้นกรมพระยายังหามีไม่

(๒) นามพระยาชัยสุรินทรและพระชัยสุรินทร มาแต่นามเจ้าราชนิกูลที่กล่าวนี้ ทรงตั้งแต่ราชนิกุลทั้งนั้น



พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




ในคลังกระทู้ ที่นี่ มีหลายความคิดเห็นซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์


....................................................................................................................................................


Create Date : 15 มีนาคม 2550
Last Update : 15 มีนาคม 2550 15:25:56 น. 2 comments
Counter : 3898 Pageviews.  
 
 
 
 
ทดสอบ
 
 

โดย: NickyNick วันที่: 15 มีนาคม 2550 เวลา:12:42:55 น.  

 
 
 
น่าอ่านทั้งนั้นเลยค่ะ
 
 

โดย: biebie999 วันที่: 28 มีนาคม 2550 เวลา:14:15:31 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com