กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตำนานการที่ไทยเรียนภาษาอังกฤษ


Jodie Foster ในบท Anna Leonowens
จากภาพยนตร์เรื่อง Anna and The King



ตำนานการที่ไทยเรียนภาษาอังกฤษ

ความจริงในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พึ่งมีไทยเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาไม่ช้านัก เมื่อในรัชกาลที่ ๒ มีแต่พวกฝรั่งก็ดีจีนซึ่งเป็นเชื้อสายโปรตุเกตศครั้งกรุงเก่า เรียนรู้ภาษาโปรตุเกศอยู่บ้าง คนพวกนี้ที่รับราชการในตำแหน่งเรียกว่า “ล่ามฝรั่ง” ในกรมท่า ที่มีอัตราในบัญชีเบี้ยหวัด ๕ คน ที่เป็นหัวหน้าล่ามเป็นที่ขุนเทพวาจารับเบี้ยหวัดปีละ ๗ ตำลึง พวกล่ามฝรั่งเหล่านี้จะมีความรู้ตื้นลึกสักเพียงไรทราบไม่ได้ แต่รู้ภาษาโปรตุเกศเท่านั้น หน้าที่ก็ไม่สู้มีอันใดนัก เพราะราชการที่เกี่ยวข้องกับโปรตุเกศมีแต่การค้าขายทางเมืองหมาเก่ นานๆ เจ้าเมืองหมาเก๊าจะมีหนังสือมาสักครั้งหนึ่ง

ส่วนภาษาอังกฤษ ถึงแม้ว่ามีเรือกำปั่นอังกฤษไปมาค้าขายอยู่ในสมัยนั้นบ้าง นายเรือรู้ว่าไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้ในเมืองนี้ ก็หาแขกมลายูเข้ามาเป็นล่าม เพราะฉะนั้นการที่ไทยพูดจากับอังกฤษที่เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ก็ดี หรือพูดจาทางราชการที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษที่เมืองเกาะหมากและสิงคโปร์ก็ดี ใช้พูดกันแต่ด้วยภาษามลายู แม้จนเมื่อผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษให้ Dr.ยอน ครอเฟิด เป็นทูตเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๖๔ ตรงกับคริสตศก ๑๘๒๑ ในตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ก็ต้องพูดจาราชการกับไทยทางภาษามลายู ความปรากฏในจดหมายเหตุที่ครอเฟิดแต่งไว้ ว่าการที่พูดจากับรัฐบาลไทยครั้งนั้น ทูตต้องพูดภาษาอังกฤษแก่ล่ามที่เอามาด้วย ล่ามต้องแปลเป็นภาษามลายูบอกหลวงโกชาอิศหาก หลวงโกชาอิศหากแปลเป็นภาษาไทยเรียนเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังตอบว่ากระไรก็ต้องแปลย้อนกลับไปเป็นต่อๆ อย่างเดียวกัน

ครั้นต่อมาเมื่อครอเฟิดกลับไปแล้ว ได้ไปเป็นเรสิเดนต์อยู่ที่เมืองสิงคโปร์ อังกฤษเกิดรบกับพม่าครั้งแรกเมืองปลายรัชกาลที่ ๒ ครอเฟิดจะบอกข่าวการสงครามมาให้ไทยทราบ ต้องให้แปลหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาโปรตุเกศเสียก่อน แล้วจึงส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ เพราะภาษามลายูถ้อยคำมีน้อย ไม่พอจะแปลความในหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเข้าใจได้แจ่มแจ้ง ครั้นต่อมาถึงต้นรัชกาลที่ ๓ ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษให้ เฮนรี เบอนี เป็นทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๖๘ ตรงกับคริสตศก ๑๘๒๕ การที่พูดจากับไทยสะดวกขึ้นกว่าครั้งครอเฟิดหน่อยหนึ่ง ด้วยเบอนีพูดภาษามลายูได้ ถึงกระนั้นหนังสือที่ทำก็ต้องใช้ภาษาต่างๆ กำกับกันถึง ๔ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาโปรตุเกศ และภาษามลายู เพราะไม่มีภาษาใดที่จะเข้าใจดีได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ในรัชกาลที่ ๓ นั้น เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๑ ตรงกับคริสตศก ๑๘๒๘ พวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ เป็นที่แรก อันนี้เป็นต้นเหตุที่ไทยจะได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นเดิมมา ด้วยลัทธิของพวกมิชชันนารีอเมริกันไม่ได้ตั้งตัวเป็นสมณะเหมือนพวกบาทหลวง วางตนเป็นแต่เพียงมิตรสหาย ใช้การสงเคราะห์เป็นต้นว่าช่วยรักษาโรค และช่วยบอกกล่าวสั่งสอนวิชาการต่างๆ ให้แก่ผู้อื่นเป็นเบื้อต้นของการสอยศาสนา เพราะฉะนั้นเมื่อคนทั้งหลายรู้จักคุ้นเคยจึงชอบสมาคมคบหากับพวกมิชชันนารีอเมริกันมาแต่แรก

สมัยนั้นผู้มีสติปัญญาที่เป็นชั้นสูงอยู่ในประเทศนี้ แลเห็นอยู่แล้วว่าการสมาคมเกี่ยวข้องกับฝรั่งต่างประเทศคงจะต้องมียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน และภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาสำคัญทางประเทศตะวันออกนี้ มีเจ้านายบางพระองค์และข้าราชการบางคนปรารถนาจะศึกษาวิชาการและขนบธรรมเนียมของฝรั่ง และจะเล่าเรียนให้รู้ภาษาอังกฤษ จึงพยายามเล่าเรียนศึกษากับพวกมิชชันนารีอเมริกันตั้งแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลานั้นยังทรงผนวชเป็นพระราชาคณะอยู่พระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นยังเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นยังเป็นหลวงนายสิทธินายเวรมหาดเล็ก แล้วได้เลื่อนเป็นจมื่นไวยวรนาถอีกองค์ ๑ แต่สมเด็จเจ้าพระยาทางภาษารู้แต่พอพูดอังกฤษได้บ้าง ไม่เชี่ยวชาญเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

และทั้ง ๓ ที่กล่าวมานี้ ศึกษาได้ความรู้การฝรั่งต่างประเทศทันได้ใช้วิชาช่วยราชการ มาแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ เพราะเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ ตรงกับคริสตศก ๑๘๕๐ รัฐบาลอังกฤษให้เซอเชมสะบรุกเป็นทูตมาด้วยเรือรบ ๒ ลำ จะเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาที่เบอนีได้ทำไว้ เซอเชมสะบรุกเข้ามาครั้งนั้นไม่เหมือนกับครอเฟิด และเบอนีที่มาแต่ก่อน ด้วยเป็นทูตตรงมาจากประเทศอังกฤษ การที่มาพูดจาและหนังสือที่มีมาถึงรัฐบาลไทยใช่ภาษาอังกฤษ กิริยาอาการที่มาก็ทะนงองอาจผิดกับทูตแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริหาผู้ที่สันทัดอย่างธรรมเนียมฝรั่ง ให้พอที่จะรับรองโต้ตอบกับเซอเชมสะบรุกได้ ความปรากฏในจดหมายเหตุกระแสรับสั่งในเรื่องเซอเชมสะบรุก (ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์เมื่อ ร.ศ. ๑๒๙ พ.ศ. ๒๔๕๓) ว่า

“ ทรงพระราชดำริ_____เห็นว่าผู้ใดมีสติปัญญาก็ควรจะเอาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้วย การครั้งนี้เป็นการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรจะเอาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ได้ แต่ก็ติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ (ด้วยครั้งนั้นไม่ไว้พระทัย เกรงอังกฤษจะเอาออำนาจมาบังคับให้แก้หนังสือสัญญาอย่างทำแก่เมืองจีน จึงให้ตระเตรียมรักษาป้อมคูให้มั่นคง) จมื่นไวยวรนาถก็เป็นคนสันทัดหนักในอย่างธรรมเนียมฝรั่ง ก็ลงไปรักษาเมืองสมุทรปราการอยู่ ให้พระยาศรีพิพัฒน์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นผู้รั้งราชการกรมท่า ด้วยเจ้าพระยาพระคลังลงไปสักเลกอยู่ที่เมืองชุมพรในเวลานั้น) แต่งคนดีมีสติปัญญาเข้าใจความ เชิญกระแสพระราชดำริลงไปปรึกษา”

และการที่มีหนังสือโต้ตอบกันเซอเชมสะบรุกครั้งนั้นปรากฏว่า หนังสือที่มีมาเป็นภาษาอังกฤษ ให้ Dr.ยอน(คือ Dr.ยอนเตเลอ โยนส์ มิชชันนารีอเมริกัน) แปลเป็นภาษาไทย กับล่ามของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีก ๒ คน เรียกว่า โยเซฟ เป็นฝรั่งยุเรนเซียนคน ๑ เรียกว่า เสมียนยิ้ม (คือ เชมส์ เฮ) อังกฤษอีกคน ๑ ส่วนหนังสือไทยมีตอบเซอเชมสะบรุกนั้น ร่างในภาษาไทยถวายทรงแก้ไขก่อน แล้วให้ Dr. ยอนกับล่ามช่วยกันแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วส่งไปถวาย “ทูลกระหม่อมพระ” คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง เพราะในทางภาษาอังกฤษทรงทราบดีกว่าผู้อื่นที่เล่าเรียนด้วยกันในครั้งนั้น

ไทยศึกษาวิชาความรู้กับมิชชันนารีในรัชกาลที่ ๓ ยังมีอีก แต่ไปเรียนทางวิชาอื่น เช่นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงกำกับกรมหมออยู่ในเวลานั้น ทรงศึกษาทางวิชาแพทย์ฝรั่งจนได้ประกาศนียบัตร ถวายเป็นพระเกียรติยศมาจากมหาวิทยาลัยแห่ง ๑ ในประเทศอเมริกา กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ อีกพระองค์ ๑ ว่าทรงศึกษาการช่างฝรั่ง แต่จะทรงศึกษากับใคร และทรงสามารถเพียงใดหาทราบไม่ ยังนายโหมด อมาตยกุลที่ได้เป็นพระยากระสาปนกิจโกศลเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อีกคน ๑ ได้ศึกษาเรื่องเครื่องจักรและวิชาผสมธาตุจากพวกมิชชันนารีอเมริกัน และหักชักรูปจากบาดหลวงหลุยลานอดีฝรั่งเศสแต่เมื่อยังถ่ายด้วยแผ่นเงิน เป็นผู้เรียนรู้วิชาฝรั่งมีชื่อเสียงมาจนรัชกาลที่ ๕ แต่ผู้ที่เล่าเรียนแต่ทางวิชาช่างไม่สู้จะเอาใจใส่ในทางภาษา จึงไม่ใคร่รู้ภาษา ถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เพราะเอาใจใส่ในวิชาต่อเรือกำปันเสียมาก จึงไม่สันทัดทางภาษาอังกฤษ

ผู้ที่เล่าเรียนรู้ภาษาอังกฤษในเมืองไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีปรากฏอีกแต่ ๒ คน คือหม่อมราโชไทย ผู้ที่แต่งหนังสือนิราศลอนดอนคน ๑ เกิดในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๘๑ พ.ศ. ๒๓๖๒ เดิมเป็นแต่หม่อมราชวงศ์ กระต่าย บุตรหม่อมเจ้าชอุ่มในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียรเรียนตามเสด็จจนรู้ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าชอุ่มได้เป็นกรมหมื่นเทวานุรักษ์ หม่อมราชวงศ์กระต่ายได้เป็นหม่อมราโชไทยแล้ว จึงได้เป็นตำแหน่งล่ามไปเมืองอังกฤษ กับพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เมื่อทูตไทยไปคราวแรก ครั้นกลับจากราชทูต ทราบว่าได้พระราชทานพานทองเล็ก แล้วได้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ อยู่มาจนอายุได้ ๔๙ ปี ถึงอนิจกรรมในปลายรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐

อีกคน ๑ ชื่อนายดิส เป็นมหาดเล็กเดิมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ฝึกหัดวิชาเดินเรือและเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเรียกกันว่า “กัปตันดิก” มีชื่ออยู่ในหนังสือเซอยอนเบาริง แต่งเรื่องเมืองไทย คนนี้ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นขุนปรีชาชาญสมัทร เป็นล่ามของจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ตรีทูตไปเมืองอังกฤษด้วย ต่อมาได้เป็นที่หลวงสุรวิเศษ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแทบทุกพระองค์ อยู่มาจนในรัชกาลที่ ๕ ไทยที่เรียนรู้ภาษาในเมืองไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ มีปรากฏแต่ ๔ ด้วยกันดังกล่าวมานี้

ยังมีไทยที่ได้ออกไปเล่าเรียนถึงยุโรปเมื่อรัชกาลที่ ๓ อีกคน ๑ ชื่อนายฉุน เป็นคนที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ เลี้ยงมา เห็นว่าฉลาดเฉลียวจึงฝากกัปตันเรืออังกฤษออกไปฝึกหัดวิชาเดินเรือกำปั่น ได้ไปเรียนอยู่ในเมืองอังกฤษจนได้ประกาศนียบัตรเดินเรือทะเลได้แล้วจึงกลับมา (เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔) ได้เป็นที่ขุนจรเจนทะเล และได้เป็นล่ามของพระยามนตรีสุริยวงศ์เมื่อไปเป็นราชทูตด้วย ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นหลวงชลธารพินิจจัยตำแหน่งเจ้ากรมคลอง แล้วเลื่อนเป็นพระยาชลธารพินิจจัย


Jodie Foster ในบท Anna Leonowens
จากภาพยนตร์เรื่อง Anna and The King


ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุดหนุนการเล่าเรียนภาษาอังกฤษมาก ถึงโปรดฯ ให้หญิงมิชชันนารีเข้าไปสอนข้างในพระบรมมหาราชวัง ผู้ที่เล่าเรียนครั้งนั้นเรียนรู้ภาษาอังกฤษพอพูดได้บ้าง ยังมีตัวอยู่ในเวลานี้ คือเจ้าจอมมารดากลิ่น เจ้าจอมมารดากรมพระนเรศวรฤทธิ์ ต่อมาโปรดฯ ให้หาผู้หญิงอังกฤษมาเป็นครู แล้วตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ให้บรรดาพระเจ้าลูกเธอทั้งชายหญิงที่พระชันษาพอจะเล่าเรียนได้ เข้าเล่าเรียนทุกพระองค์ ส่วนบุตรหลานข้าราชการถ้าผู้ใดอุตส่าห์เรียนรู้ภาษาฝรั่ง ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งให้มียศและบรรดาศักดิ์ ดังสมเด็จฯกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัสเป็นภาษิตในสมัยต่อมาว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ใครแข็งแรงทัพศึกก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๒ ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๓ ใครมีใจศรัทธาสร้างวัดวาก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๔ ถ้าผู้ใดรู้ภาษาฝรั่งก็เป็นคนโปรด ดังนี้


แอนนา ลีโอโนเวนส์


แต่ผู้ที่ได้เล่าเรียนรู้ทันรับราชการเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ทั้งเจ้านายและขุนนางมีปรากฏแต่ ๕ ด้วยกัน คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ ๑ ได้ทรงศึกษาเป็นพื้นมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ แต่ที่มาทรงทราบได้ดีทีเดียวนั้นด้วยทรงพระอุตสาหะศึกษาต่อมาโดยลำพังพระองค์เอง เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พวกฝรั่งกล่าวว่าตรัสภาษาอังกฤษได้ แต่ข้าพเจ้าเคยได้พบแปลคำนำหนังสือพิมพ์ข่าวจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เป็นของแปลถวายกรมพระราชวังฯ จึงเข้าใจว่าไม่ทรงทราบภาษาอังกฤษแตกฉานทีเดียวนัก แต่ในทางข้างวิชาช่างทรงเชี่ยวชาญมาก

พระยาอัครราชวราทร (หวาด บุนนาค) บุตรพระยาอภัยสงครามคน ๑ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ฝากนายเรือรบอเมริกันไปฝึกหัดวิชาทหารเรือ เรียนรู้แต่ภาษา กลับมาได้รับราชการเป็นหลวงวิเศษพจนการกรมท่า เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระศรีธรรมสาส์น แล้วเป็นพระยาจันทบุรี ได้พระราชทานพานทอง เมื่อชราโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาอัครราชวราทรในกรมท่า อีกคน ๑ คือ พระยาอัครราชวราทร(เนตร) เป็นบุตรพระยาสมุทบุรานุรักษ์ ออกไปเล่าเรียนที่เมืองสิงคโปร์เรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ดี กลับมาถวายตัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา พระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็นขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ แล้วเลื่อนเป็นหลวงศรีสยามกิจ ตำแหน่งไวส์กงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ มาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระยาสมุทบุรานุรักษ์ แล้วจึงเลื่อนมาป็นพระยาอัครราชวราทร อีกคน ๑ คือเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาฯ ส่งเป็นนักเรียนออกไปเรียนวิชาที่เมืองอังกฤษ เรียนอยู่ ๓ ปี ครั้นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เป็นราชทูตออกไปเมืองฝรั่งเศส เรียกมาใช้เป็นล่าม แล้วเลยพากลับเข้ามากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา พระราชทานสัญญาบัตรเป็นตำแหน่งนายราชาณัตยนุหาร หุ้มแพรวิเศษในกรมพระอาลักษณ์ พนักงานเชิญรับสั่งไปต่างประเทศ และทรงใช้สอยในหน้าที่เลขานุการถาษาอังกฤษมาจนตลอดรัชกาล ผู้ที่เรียนรู้ภาษาอังกฤษได้รับราชการในรัชกาลที่ ๔ มีจำนวนที่ทราบด้วยกันดังแสดงมา

นอกจากนี้มีผู้ที่เรียนในกรุงเทพฯ บ้าง ไปเรียนเมืองสิงคโปร์บ้าง รู้แต่พอพูดได้บ้างเล็กน้อยมีหลายคน ไม่ได้นับในจำนวนที่กล่าวมานี้ ที่เรียนเฉพาะวิชาจนมีชื่อเสียง มีนายจิตร อยู่กะดีจีนคน ๑ ได้หัดชักรูปกับบาดหลวงหลุยลานอดีฝรั่งเศส และฝึกหัดต่อมากับทอมสันอังกฤษ ที่เข้ามาชักรูปเมื่อในรัชกาลที่ ๔ จนตั้งห้างชักรูปได้เป็นที่แรก และได้เป็นขุนฉายาสาทิสลักษณ์เมื่อในรัชกาลที่ ๔ แล้วเลื่อนเป็นที่หลวงอัคนีนฤมิตรเจ้ากรมโรงแก๊สหลวง


หลวงอัคนีนฤมิตร (ฟรานซิส จิตร) เจ้ากรมโรงแก๊สหลวง


มีนักเรียนส่งไปเรียนยุโรปเมื่อในรัชกาลที่ ๔ อีก ๓ คน คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์คน ๑ นายสุดใจ บุนนาค ที่ได้เป็นพระยาราชานุประพันธ์ บุตรเจ้าพระยาภานุวงศ์คน ๑ ทั้ง ๒ คนนี้ไปเรียนที่เมืองอังกฤษ หลวงดำรงสุรินทรฤทธิ์(บิ๋น) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ส่งไปเรียนที่เมืองฝรั่งเศสคน ๑ เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ กำลังเล่าเรียนอยู่ทั้ง ๓ คน ได้กลับมารับราชการต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๕

ผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีอเมริกันเมื่อในรัชกาลที่ ๕ เสร็จการเล่าเรียนมาได้รับราชการในรัชกาลที่ ๕ ที่ทราบมี ๖ คน คือ

นายเทียนฮี้ เรียนกับมิชชันนารีรู้ภาษาแล้วออกไปเรียนถึงอเมริกา ได้ประกาศนียบัตรเป็นแพทย์ กลับมารับราชการในกรมมหาดเล็ก ได้เป็นที่หลวงดำรงแพทยาคุณ แล้วไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทยได้เป็นที่พระมนตรีพจนกิจ ในรัชกาลปัจจุบันได้เป็นพระยาสารสินสวามิภักดิ คน ๑

นายสิน เรียนรู้ภาษาพูดได้คล่องแคล่ว แต่หนังสือไม่สู้ชำนาญ ได้เป็นที่หลวงอินทรมนตรีฯ ในกระทรวงพระคลัง แล้วเป็นพระยาสมุทบุรานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ คน ๑

นายสุด รับราชการเป็นตำแหน่งล่ามในกระทรวงกลาโหม และกรมแผนที่ แล้วไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นหลวงนรภารพิทักษ์ มหาดไทยมณฑลพิษณุโลก แล้วเลื่อนเป็นพระ ต่อมาเป็นพระยาอุตรกิจพิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วได้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ แกหลายแห่ง อีกคน ๑

นายเปลี่ยน เป็นล่ามทูตไปประจำอยู่กรุงลอนดอนคราว ๑ กลับมาได้รับราชการในกรมทหารน้าเป็นนายร้อยเอก แล้วไปรับราชการในกรมตำรวจพระนครบาล เป็นที่หลวงวิสูตรบริหาร และไปรับราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นพระเสนีพิทักษ์ มาในรัชกาลที่ ๖ ได้เป็นพระยาชนินทรภักดีในกระทรวงมุรธาธร คน ๑

นายปุ่น รับราชการในกรมตำรวจพระนครบาล ได้เป็นหลวงอนุมัติมนูกิจ มาในรัชกาลที่ ๖ เลื่อนเป็นพระธรณีนฤเบศร คน ๑

นายอยู่ รับราชการเป็นล่ามทูตไปยุโรปคราว ๑ กลับมาได้เป็นล่ามในกรมไปรษณีย์โทรเลข และกรมทหารม้า แล้วมาอยู่กรมราชโลหกิจได้เป็นที่ขุนสกลโลหการ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นหลวงสกลโลหการ คน ๑

ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงบำรุงการเล่าเรียนภาษาอังกฤษยิ่งกว่าในรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่โรงทหารมหาดเล็ก เรียกครูอังกฤษมาสอน แล้วส่งบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอเข้าโรงเรียนนั้น มีเว้นแต่น้อยพระองค์ที่สมัครไปเรียนในโรงเรียนภาษาไทย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กับบรรดาเจ้านายที่ได้รับราชการเป็นตำแหน่งเสนาบดีในรัชกาลที่ ๕ ได้เริ่มทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนนี้เป็นเดิมมาแทบทุกพระองค์ และยังโปรดให้เลือกสรรหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ส่งไปเล่าเรียนที่สิงคโปร์อีกชุดหนึ่ง ในพวกนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊กในกรมหมื่นมเหศวรศิวลาศ และพระไชยสุรินทร์ มร.ว.เทวหนึ่งได้เลือกส่งไปเรียนที่เมืองอังกฤษ เป็นนักเรียนชุดแรกที่ส่งไปยุโรปในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาการเล่าเรียนภาษาและวิชาการของฝรั่งเจริญแพร่หลายอย่างไร เป็นการชั้นหลังขอยุติไว้


ผลงานของมิชชันนารีอเมริกันด้านการศึกษา



.........................................................................................................................................................



(คัดจากจดหมายเหตุและนิราศลอนดอน)




Create Date : 12 กรกฎาคม 2550
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 16:33:58 น. 2 comments
Counter : 4744 Pageviews.  
 
 
 
 
วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด

ขอบคุณท่านมากๆครับ

 
 

โดย: moonfleet วันที่: 26 กรกฎาคม 2550 เวลา:10:19:06 น.  

 
 
 
ขอบพระคุณเช่นกันครับ
ที่ให้เกียรติแวะเข้าเยี่ยมเยือน
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:17:57:47 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com