กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
บางระกำ : นโยบายรัฐยังเป็นเส้นขนานกับการปรับตัวของชุมชน

เรื่องโดย ณัฐวุฒิ อุปปะ / CAN Thailand มูลนิธิคนเพียงไพร

“ภาวะโลกร้อน” คำที่เริ่มคุ้นหูมากขึ้นในสังคมไทย ที่มาพร้อมๆกับการรณรงค์ปิดไฟคนละดวงปรากฏการณ์แจกถุงผ้าที่เสมือนว่าถุงผ้าเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งที่จริงในทางปฏิบัติยังไม่มีรูปธรรมในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชน อีกทั้งยังละเลยการพูดถึงสาเหตุและผลกระทบที่แท้จริงด้วย คำว่าโลกร้อนจึงยังคงเป็นเพียงคำสวยงามเอาไว้ต่อท้ายกิจกรรมต่างๆที่แทบจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหรือการลดผลกระทบ เสมือนว่าทำกิจกรรมอะไรก็ได้แล้วพ่วงท้ายคำว่า “ลดโลกร้อน” เข้าไปเท่านั้น

แม้ยังไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า “โลกร้อน” มีผลโดยตรงกับชุมชนอย่างไรบ้าง แต่ในด้านชุมชน โดยเฉพาะภาคการเกษตร มีความเชื่อร่วมกันในสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความคลาดเคลื่อนของฤดูกาล ระดับความรุนแรงและความถี่ของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทบกับการทำมาหากิน ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน โดยเฉพาะหลังจากเกิดมหาภัยพิบัติปี 2554 ที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับพื้นที่ทำการเกษตร

จากสิ่งที่เคยเป็น เคยรับรู้และคาดการณ์ได้กลับกลายเป็น “เกิดมาเพิ่งเคยเจอ” และตอบไม่ได้ว่าจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น คือสิ่งที่ชุมชนภาคการเกษตร โดยเฉพาะชาวนา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในภาคเหนือล่างพบเจอในระยะหลัง วิถีของชาวนาที่นี่พึ่งน้ำฝนน้ำธรรมชาติเป็นปัจจัยหลักในการผลิต และจากการที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ตกมากขึ้น ตกน้อยลงในแต่ละพื้นที่ หรือการเพิ่มมากขึ้นของแมลงศัตรูพืช จึงพยายามแสวงหาแนวทางอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบของ ผลผลิตที่เป็นเศรษฐกิจหลักของครอบครัว

การเกี่ยวข้าวเขียวใส่เรือ นำไปขายเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ ในกรณีที่น้ำเข้าท่วมพื้นที่ก่อนเวลาการเก็บเกี่ยว พื้นที่อำเภอบางระกำ
ภาพโดย ณัฐวุฒิ อุปปะ / CAN Thailand มูลนิธิคนเพียงไพร


กรณีตัวอย่างชาวนาอำเภอบางระกำที่มีน้ำท่วมปกติในช่วงปลายเดือนสิงหาคม แต่ในปี 2554 น้ำเข้าท่วมในพื้นที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ชาวนาจึงปรับตัวโดยการเก็บเกี่ยวข้าวเขียว[1] และขายเพื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ หรือการผันน้ำไปยังนาที่เก็บเกี่ยวแล้วเพื่อประวิงเวลาให้รอให้ข้าวที่อยู่ ในอีกแปลงหนึ่งเหลืองก่อน เป็นต้น

การผันน้ำไปยังนาที่เก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อรอให้ข้าวในนาอีกแปลงหนึ่งเหลืองก่อน
ภาพโดย ณัฐวุฒิ อุปปะ / CAN Thailand มูลนิธิคนเพียงไพร


นอกจากนี้ ชาวนาที่อำเภอบางระกำยังได้พยายามปรับรอบการผลิตให้เร็วขึ้นเพื่อให้ทันเก็บ เกี่ยวก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ด้วย แต่หนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญคือ แนวนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐซึ่งกำหนดช่วงเวลาปฏิทินการปลูกและการรับจำนำ ข้าวที่ไม่สอดคล้องกับการแนวทางการปรับตัวของชุมชน

กรณีตัวอย่างการปรับตัวของชาวนาและนโยบายที่เป็นอุปสรรคและข้อเสนอของชุมชนอำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก

ข้อเสนอของชุมชนคือการปรับนโยบายทั้งในส่วนของปฏิทินการปลูกข้าวและการ เปิดรอบการรับจำนำเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับตัวตามรอบการผลิตของชุมชน แทนการประกาศแบบเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ชุมชนจะสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงการสนับสนุนของรัฐบาล ลดทอนศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติของชุมชน และจะทำให้ชาวนาจำเป็นต้องขายข้าวให้กับโรงสีเอกชนในที่สุด แม้จะถูกเอาเปรียบด้านราคา แต่ก็ต้องขายเพื่อนำเงินมาใช้หนี้และเป็นทุนในการผลิตรอบต่อไป

ในขณะที่ชุมชนพยายามปรับตัวเพื่อ “รับมือ” กับภัยพิบัติที่ชุมชนเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศหรือภาวะโลกร้อน ฝ่ายนโยบายกลับมองมิติการเอาชนะธรรมชาติผ่านกิจกรรมการ “จัดการ” ภัยพิบัติและไม่ได้กล่าวถึงภาวะโลกร้อนในแผนงานการแก้ปัญหา โดยเฉพาะแผนงานจัดการภัยพิบัติภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้านที่ยังมุ่งเน้นการจัดการในมิติการพัฒนาเชิงโครงสร้างและเป็นไปใน แนวทาง “สู้กับน้ำ” บนฐานคิดการผลักดันน้ำที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคการเกษตรให้ลงทะเล เร็วที่สุด ซึ่งแทบทุกพื้นที่แม้เป็นที่ประสบภัยน้ำท่วมแต่เมื่อน้ำลดกลับประกาศเป็น พื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้งทันที แสดงให้เห็นถึงโจทย์ในการแก้ไขของรัฐยังเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยังวนเวียนอยู่แค่ว่าท่วมหรือไม่ท่วมเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะไม่มีมิติการสนับสนุนชุมชนที่ปรับตัวอยู่กับน้ำแล้ว ยังเป็นการเพิ่มเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการเพิ่มศักยภาพการปรับตัวของชุมชน อีกด้วย

อีกบทเรียนหนึ่งที่ฝ่ายนโยบายและสังคมต้องทบทวนคือ การเสริมพนังกั้นน้ำปกป้องเพียงเขตเศรษฐกิจซึ่งเป็นการเปลี่ยนทางน้ำและลด พื้นที่รับน้ำลง ส่งผลให้เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นจะทำให้ปริมาณน้ำสูงกว่าระดับปกติตามความสูง ของผนังกั้นน้ำ ส่งผลให้น้ำมีแรงดันเพิ่มขึ้นพร้อมที่จะทลายพนังกั้นในจุดที่ไม่แข็งแรงได้ ตลอดเวลา ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2554 ที่ผ่านมาดังกรณีตัวเมืองนครสวรรค์และปี 2555 ที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งหลังจากผนังกั้นน้ำพังก็เกิดความเสียหายมากมายตามมาอย่างที่ปรากฏในภาพ ข่าว นอกจากนี้การสร้างพนังปิดล้อมเฉพาะเขตเศรษฐกิจนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกพนังกันน้ำ มีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบภัยพิบัติที่เร็วและรุนแรงมากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับพื้นที่การเกษตรของชุมชนที่จะต้องตั้งรับทั้ง จากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและการดำเนินนโยบายที่ยังมองเกษตรกรเป็น พลเมืองชั้นสองของรัฐบาล

จากแผนงานและแนวนโยบายทำให้พอจะเห็นทิศทางที่ยังไม่ปรับตามเงื่อนไขและ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แผนงานของรัฐบาลทั้งในการเตรียมพร้อม รับมือ และฟื้นฟูเยียวยา นอกจากจะขาดการส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการปรับตัวของชุมชน และไม่ได้นำประเด็นการปรับตัวของชุมชนไปวิเคราะห์เพื่อวางแผนกำหนดนโยบาย แล้ว ยังเป็นแผนงานที่สร้างอุปสรรคต่อความสามารถในการรับมือและปรับตัวของชุมชน อีกด้วย ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงในการกำหนดนโยบายภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วที่โจทย์ใหญ่ของการกำหนดทิศทางนโยบายจะต้องมีมากกว่าการสู้ แบบไร้ทิศทางไม่มีที่สิ้นสุด และหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้อยู่ได้ดีที่สุดภายใต้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น



[1] เป็นการเก็บเกี่ยวข้าวที่ยังไม่เหลือง หากไม่เก็บเกี่ยวข้าวเขียวทันที เมื่อน้ำท่วมก็อาจจะเสียหายทั้งหมด ข้าวเขียวจะมีราคาเกวียนละประมาณ 3,000-4,000 บาท หากน้ำมาหลังจากนี้ 10-12 วัน ก็จะสามารถเกี่ยวข้าวเหลืองได้ ซึ่งก็จะขายได้ราคาเกวียนละ 10,000-11,500 บาท

อ่านตอนก่อนหน้า: จากอาร์กติกสู่ไทย ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่ไม่ได้อยู่แค่เพียงในอาร์กติก
อ่านเพิ่มเติม:จากอาร์กติกสู่ไทย คลองซอย : ชุมชนและการปรับตัวในพื้นที่ราบลุ่มน้ำยมตอนล่าง

เผยแพร่ครั้งแรกที่//www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/climate-and-energy/arctic-impacts/from-arctic-to-thai/government-policy-vs-community-adaptation/




Create Date : 10 ตุลาคม 2556
Last Update : 10 ตุลาคม 2556 11:59:26 น. 0 comments
Counter : 1880 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com