http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
เมษายน 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
27 เมษายน 2554
 
All Blogs
 

"FIN" : Fetishism Story เรื่องของความฟิน / เพศ / การเสพติด

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง



แวดวงละครเวทีของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการนำสื่อต่างๆ มาผสมการศิลปะการแสดง รวมถึงการใช้ภาพเคลื่อนไหวอย่าง หนังสั้นหรือโมชั่นกราฟฟิก วสุรัชต อุณาพรหม คือหนึ่งใน ผู้กำกับที่ใช้เทคนิคที่ว่ามาตลอด ตั้งแต่ในการแสดงที่ผ่านมาอย่าง You Must Love Me และ Silent Scream (ซึ่งผู้เขียนเคยเขียนถึงไว้ที่ //fuse.in.th/blogs/trend/2402)

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาวสุรัชตกลับมากับผลงานชิ้นใหม่ "FIN" : Fetishism Story ซึ่งบรรยายตัวเองไว้ว่า "การแสดงที่จะเหวี่ยงคุณข้ามผ่านโลกที่คุ้นเคย ผ่านทางการแสดง และผสมผสานระหว่าง motion graphic และ animation ภายใต้ตอนเซปต์ sex fetishism (จิตเวช.: การเกิดอารมณ์เพศจากสิ่งเฉพาะ [แพทยศาสตร์ ๖ ส.ค. ๒๕๔๔])"

ในวันที่ผู้เขียนไปชมการแสดงชุดนี้ ฝ่ายต้อนรับหน้างานอธิบายว่า ผู้ชมจะเลือกนั่งตรงไหนก็ได้ และระหว่างการแสดงจะเดินไปเดินมาก็ยังได้ พอเดินเข้าในโรงละครก็ต้องพบการจัดสถานที่ที่ไม่ปกติธรรมดา มีโต๊ะตัวใหญ่วางอยู่กลางห้อง มีจอทีวีสามสี่เครื่องวางอยู่ที่มุมหนึ่ง มีเก้าอี้ยาวเพียงสองตัวเท่านั้น นั่นหมายความว่าคนดูส่วนใหญ่ต้องนั่งพื้นไปโดยปริยาย





ช่วงเริ่มต้นของการแสดง มีนักแสดงลึกลับนอนอยู่โต๊ะในชุดผ้าขาวคลุมทั้งตัว วาดลีลากรีดกรายพลิกดิ้นไปมา ขณะเดียวกัน เครื่องโปรเจคตเตอร์ก็ยิงภาพขนาดใหญ่รูปริมฝีปากของหญิงสาว พลางบอกเล่าเรื่องของซินเดอเรลล่า ในฉบับพิสดาร ช่วงสำคัญของเรื่องราวคือตอนที่หญิงสาวตื่นในห้องที่เต็มไปด้วยรองเท้า ผู้หญิง รองเท้าพวกนั้นเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบสีขาวขุ่น ผู้ชมอนุมานได้ว่าเจ้าชายน่าจะเป็นพวกเสพติดรองเท้า

หลังจากอารัมภบทที่ค่อนข้างยาว นักแสดงเริ่มปรากฏตัวออกมา เริ่มด้วยบทสนาของหญิงสาวกับชายหนุ่มระหว่างอ่านหนังสือพิมพ์และกินกาแฟ เธอตั้งคำถามว่าในการมีเซ็กซ์กันของมนุษย์ ผู้หญิงถือเป็นฝ่ายถูกกระทำหรือไม่ เพราะโดยลักษณะทางกายภาพ ฝ่ายหญิงคือผู้ที่ถูกทะลวงแทงหรือเป็นฝ่ายรับแรงกระทำ บทสนทนาของละครช่วงนี้เปิดประเด็นได้สะเทือนดี แต่ผู้เขียนไม่ค่อยชอบเท่าไรนัก เพราะรู้สึกว่านำเสนออย่างตรงไปตรงมา (จนทื่อ) ไปหน่อย

ส่วนต่อมาเป็นเรื่องของบรรณาธิการสาวท่าทางมาดแมนกับนางแบบสาวสวย (ซึ่งก็คือหญิงสาวที่ตั้งคำถามชวนคิดในตอนที่แล้ว) เรื่องราวของ บก.สาว ทำให้เราเห็นว่า เธอต้องทำตัวให้แกร่งกระด้างเพียงใดกว่าจะขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ บก. กล่าวกับอีกฝ่ายว่าเรากำลังจะทำงานศิลปะ พร้อมสั่งให้เธอถอดเสื้อผ้า แต่แล้ว บก. ก็เริ่มต้านทานแรงปรารถนาของตัวเองไม่ได้ จนเผลอแสดงมันออกมา และทำให้นางแบบเตลิดหนีไป อันแสดงความย้อนแย้งเรื่องศิลปะกับเซ็กซ์ คำถามที่เรายังถามกันไม่จบสิ้น

จนถึงตรงนี้ผู้เขียนเริ่มสังเกตถึงจุดที่น่าเสียดายสองประการของ FIN หนึ่งคือลักษณะการจัดเวที ที่ไม่ได้เื้อื้อต่อผู้ชมรอบด้านแบบ 360 องศา ผู้ชมที่นั่งด้านหน้าๆ อาจจะพลาดบางส่วนของการแสดงไป และสองคือ บรรดาภาพเคลื่อนไหวที่ใช้ในการแดงนี้ดูไม่มีความสลักสำคัญ หรือไม่มีส่วนขับเคลื่อนตัวเรื่องเท่าไรนัก เป็นเหมือนการจัดวางสวยๆ ประกอบฉากเสียมากกว่า



ช่วงกลางเรื่องเป็นตอนที่นักแสดงทั้งสี่เดิน วนไปมา ส่วนฉากหลังก็เป็นหน้าจอการคุย MSN ของใครสักคน (อาจจะเป็นเหล่าตัวละครในเรื่อง?) ข้อความที่โต้ตอบไปเป็นการตั้งคำถามว่าเซ็กซ์คืออะไร เซ็กซ์แบบยินยอมพร้อมใจคืออะไร การช่วยตัวเองถือเป็นเซ็กซ์หรือไม่ ฯลฯ เป็นอีกครั้งที่ละครนำเสนอสารอย่างตรงๆ แต่คราวนี้เมื่อเป็นการผ่านตัวอักษร จึงไม่อึดอัดเท่าผ่านปากตัวละครแบบในพาร์ทแรก แต่การที่ผู้ชมต้องคอยตามอ่านตัวหนังสือที่ขึ้นมาเป็นพรืด ก็ทำให้พลาดการแสดงของนักแสดงไป

ครึ่งหลังของ FIN เป็นส่วนที่ผู้เขียนค่อนข้างชอบ เป็นเรื่องราวของหญิงสาวคนเดิม (คราวนี้เธอมาในชุดกระต่าย) กับหนุ่มน้อยหน้าตาดี ราวกับพวกเขาจะอยู่ในผับหรือสถานเริงรมย์อะไรสักอย่าง ทั้งสองเต้นคลอเคลียกัน เย้าหยอกกัน แต่อารมณ์ที่แสดงออกมาปกคลุมไปด้วยความตึงเครียด ลักษณะการเคลื่อนไหวของทั้งสองในช่วงนี้ เหมือนสงครามแย่งชิงพื้นที่กันระหว่างชายหญิง

อารมณ์มาถึงจุดสูงสุดมาพวกเขาขึ้นไปนอนบนโต๊ะอันใหญ่กลางห้อง พร้อมกันนัวเนียสลับไปมา ต่อด้วยฉากที่ฝ่ายชายลูบไล้ภาพรองเท้าที่กำแพงอย่างหลงใหล อันเป็นการเชื่อมโยงกับการเสพติดในรองเท้าของเจ้าชาย ในซินเดอเรลล่าภาคพิสดารในตอนต้นเรื่อง มันเป็นสัญลักษณ์ถึงการเสพติดการครอบครองในบางสิ่งบางอย่าง ที่สุดท้ายแล้วในทุกความสัมพันธ์มนุษย์ก็คงต้องการยึดครองอะไรที่เป็น รูปธรรมจับต้องได้

ฉากที่กล่าวมาถือเป็นฉากที่ดีที่สุดของ FIN นอกจากการออกแบบการเคลื่อนไหวอันน่าทึ่งแล้ว องค์ประกอบสร้างบรรยากาศทั้งหมดยังช่วยเื้อื้ออย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นดนตรีประกอบ, การจัดไฟ รวมถึงฉากเซอร์ไพรส์ที่ไฟระโยงระยางบนเพดานถูกเปิดขึ้นมาอย่างสวยงาม



สิ่งที่น่าสนใจ -ซึ่งอาจจะถือเป็นจุดเด่นและจุดด้อยไปพร้อมกัน- คือ FIN เลือกจบตัวเองอย่างผ่อนคลาย หรือพูดง่ายๆ ว่าออกไปทางใสๆ สักหน่อย หญิงสาวนักตั้งคำถามกลับมาพบกับชายหนุ่มอ่านหนังสือพิมพ์อีกครั้ง พวกเขาพูดจากันด้วยท่าทีที่เป็นมิตรต่อกัน และปล่อยวางมากขึ้น ราวกับจะเป็นสื่อว่าเราอาจไม่ต้องยึดติดในกรอบความคิดหรือการตั้งคำถามอะไร ให้มากจนเกินไป บางทีการปรับตัวเข้าหาสิ่งที่แวดล้อมตัวเรา อาจทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้น-อย่างน้อยก็มากกว่าเดิม

โดยภาพรวมแล้ว FIN เลือกประเด็นที่จะพูดถึงได้น่าสนใจ ทว่าแต่ละส่วนแต่ละตอนของการแสดงชุดนี้อาจดูไม่เป็นเนื้อเดียว มันดูแยกจากกันค่อนข้างชัดเจน และไม่นำไปสู่ธีมของเรื่องอย่างราบรื่น อย่างไรก็ดี ก็คือผลงานที่น่าชื่นชมถึงการนำเสนออย่างแปลกใหม่ ชวนให้คิด ชวนให้ถกเถียงกันต่อไป

ข่าวดีคือ "FIN" : Fetishism Story จะกลับมาแสดงอีกครั้ง เพียงสามรอบเท่านั้น ในวันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2554 เวลา 20.00 ณ โรงละคร Democrazy Theatre (MRT ลุมพินีประตู 1 เข้าซอยสะพานคู่) บัตรราคา 350 บาท โทรจองและสอบถามละเอียดได้ที่ 080-783-2727

งานนี้ไม่ควรพลาด!


* รูปมาจากเฟซบุ๊ค //www.facebook.com/pages/-FIN-Fetishism-Story/112931005452972






 

Create Date : 27 เมษายน 2554
1 comments
Last Update : 27 เมษายน 2554 11:38:35 น.
Counter : 3354 Pageviews.

 

ขออนุญาติ แชร์นะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: Puay IP: 58.8.24.170 29 เมษายน 2554 14:06:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.