Group Blog
All Blog
### อยู่ที่ตัวเราว่าเราจะเอาอะไร ###











“อยู่ที่ตัวเราว่า เราจะเอาอะไร”

ถ้าพิจารณาความไม่สวยงามของร่างกาย

ก็จะกำจัดกามราคะ

ความยินดีในความสวยงามของร่างกาย

 เพราะว่าได้เห็นส่วนที่ไม่สวยงาม

ของร่างกายนั่นเอง

เห็นร่างกายตอนที่ตายไปแล้วว่ายังสวยงาม

เหมือนตอนที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า

หรือเห็นอวัยวะต่างๆ

ที่มีอยู่ภายใต้ผิวหนังของร่างกาย

เช่นเห็นโครงกระดูกของร่างกาย

เห็นหัวใจ เห็นปอด เห็นตับ เห็นไต เห็นลำไส้

หรือเห็นสิ่งที่เป็นสิ่งปฏิกูลต่างๆ

ที่ถูกขับออกมาทางทวารต่างๆ

 ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะทำให้

กามราคะนี้อ่อนกำลังลงไป

 และหมดไปได้ในที่สุด

 ถ้าทำให้กามราคะนี้เบาบางลงไป

 ก็เรียกว่าได้บรรลุขั้นสกิทาคามี

ถ้าสามารถทำให้กามราคะนี้หมดสิ้นไป

 ก็เรียกว่าอนาคามี

นี่คือหลักใจที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน

ในเวทนาและในร่างกาย

ผู้ที่พิจารณาร่างกายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์

ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม

ก็จะสามารถบรรลุถึงขั้นพระอนาคามีได้

ส่วนผู้ที่พิจารณาจิต ว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา

เหมือนกับร่างกาย ที่ไม่ใช่ตัวเราของเรา

จิตนี้ก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา จิตเป็นเพียงผู้รู้

 เป็นธรรมชาติที่รู้ มีความรู้สึกนึกคิด

 ไม่มีตัวตนเช่นเดียวกัน

 ถ้าพิจารณาปล่อยวางอัตตาตัวตนในจิตได้

ก็จะบรรลุเป็นอรหันต์ได้

 นี่คือหลักใจขั้นต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

จากการที่เจริญหลักธรรม

ก็คือ สติ สมาธิ และปัญญา

การที่จะเจริญหลักธรรม สติ สมาธิ ปัญญาได้

 ก็ต้องมีศรัทธาความเชื่อ

 เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า

 และก็มีวิริยะ คือความขยันหมั่นเพียร

ความอุตสาหะ ความพยายาม

 ความพยายามอยู่ที่ไหน

 ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น

 ดังนั้นหน้าที่ของพวกเราจึงต้องสร้างศรัทธา

ให้เกิดขึ้นให้มากๆ เพื่อให้เกิดวิริยะ

 ความอุตสาหะ ความพากเพียร

 ที่จะทุ่มเทชีวิตจิตใจ ทุ่มเทเวลาทั้งหมด

ให้กับการเจริญหลักธรรม ก็คือการเจริญสติ

 เจริญสมาธิ เจริญปัญญา

 การที่จะเกิดศรัทธา เกิดวิริยะ

 ความอุตสาหะ พากเพียรนั้น

ก็ต้องเกิดจากการได้ศึกษาพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้า

 จนเกิดความประทับใจขึ้นมา

ศึกษาถึงการปฏิบัติ ของพระพุทธเจ้า

ของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ศึกษาถึงผลที่ท่านทั้งหลายได้รับกัน

ว่าประเสริฐเลิศโลก อย่างไร ว่าวิเศษอย่างไร

 ว่าดีกว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหลายในโลกนี้อย่างไร

 เพราะผลที่ได้รับนี้ไม่มีอะไรในโลกนี้

ที่สามารถให้ท่านได้

การร่ำรวยด้วยเงินทองกองเท่าภูเขา

 ไม่สามารถดับความทุกข์ใจได้

 ไม่สามารถทำให้ใจ ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน

 กับเสื่อม กับการเจริญของสิ่งต่างๆ ได้

แต่การเจริญหลักธรรมนี้จะทำให้ใจมีหลักใจ

 มีความมั่นคง มีความหนักแน่น

 มีเหมือนเกราะคุ้มครองจิตใจ

ไม่ให้ทุกข์กับการเจริญ

และการเสื่อมของสิ่งต่างๆ

ไม่ให้ทุกข์กับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ

 ของบุคคลต่างๆ ที่มีการเกิดขึ้นอยู่เสมอได้

ถ้าเราได้ฟังได้ยินแล้วก็จะเกิดศรัทธาขึ้นมา

 เหมือนกับบุคคลต่างๆ ในสมัยพุทธกาล

 ที่ได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า

แล้วก็เกิดศรัทธา พร้อมที่จะปฏิบัติ

เป็นมหาเศรษฐี ก็สละสมบัติ

 เป็นราชโอรส ก็สละสมบัติ ออกบวช

ตามรอยพระบาทกันเป็นจำนวนมาก

แม้แต่ในสมัยปัจจุบันนี้

 ก็มีผู้ที่หลังจากฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

 ก็เกิดศรัทธาที่อยากออกปฏิบัติกัน

ออกบวชกัน สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

 สละความสุขทางร่างกาย

 มุ่งเข้าสู่การปฏิบัติการเจริญหลักธรรม

 การเจริญสติ สมาธิ ปัญญา

 เพื่อให้ได้หลักใจ ก็คือความสงบของใจ

 ที่เป็นความสุขที่เหนือกว่า

ความสุขทั้งหลายในโลกนี้

 เป็นความสุขที่เป็นที่พึ่งของใจได้

เพราะจะไม่มีความทุกข์

เข้ามาลบล้างความสุขนี้ได้เลย

นี่คือหน้าที่ของพวกเรา

พยายามศึกษาธรรมะให้มากๆ

โดยธรรมะที่เป็นของแท้ของจริง

 ศึกษาจากพระไตรปิฎกก็ได้

 ศึกษาจากพระอรหันตสาวกก็ได้

จะได้ธรรมที่เป็นธรรมทั้งแท่ง

 จะเป็นธรรมที่ไม่มีอะไรแปลกปลอมเข้ามา

ที่จะทำให้เกิดความลังเลสงสัย ไม่มั่นใจ

ฟังแล้วจะเกิดความมั่นใจ

 เพราะธรรมของท่านเหล่านี้

เป็นธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติ

เกิดจากการกลั่นกรอง

เกิดจากการได้สัมผัสรับรู้แล้ว

 ไม่มีความลังเลสงสัยในการแสดง

 ทุกอย่างเป็นสวากขาตธรรม

ก็คือเป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว

 ถูกต้องตามหลักความจริงนี้เอง

ถ้าได้ฟังธรรมแบบนี้ ศึกษาธรรมแบบนี้แล้ว

 จะต้องเกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างแน่นอน

จะต้องเกิดวิริยะ ความอยากที่จะปฏิบัติ

ความพากเพียร และพอได้ปฏิบัติแล้ว

 ก็จะได้สัมผัสกับผลที่จะเกิดขึ้นตามมา

 ตั้งแต่ขั้นโลกียะ ก็คือขั้นสมาธิขึ้นไป

 จนถึงขั้นโลกุตตระ ก็คือขั้นมรรค ผล นิพพาน

 มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี่คือ โลกุตตรธรรม

 มรรคผลก็เป็นคู่ๆ คู่แรกก็มรรคผลของโสดาบัน

โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล

คู่ที่ ๒ ก็สกิทาคามีมรรค สกิทาคามีผล

 คู่ที่ ๓ ก็อนาคามีมรรค อนาคามีผล

คู่ที่ ๔ ก็คืออรหัตตมรรค อรหัตตผล

มรรคก็คือการเจริญปัญญานี้เอง

เจริญอนิจจัง ทุกขัง ในขั้นต่างๆ

 ขั้นโสดาบันก็เจริญร่างกาย

เจริญเวทนาว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามี ก็เจริญอสุภะ

 ความไม่สวยงามของร่างกาย

พิจารณาว่าร่างกายนี้มีส่วนที่ไม่สวยงามอยู่

 ส่วนที่สวยงามก็มี แต่ถ้าไปมองส่วนที่สวยงาม

ก็จะเกิดกามารมณ์ ขึ้นมา

 เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 เพราะเกิดความอยากขึ้นมา

ถ้ามองในส่วนที่ไม่สวย ก็จะดับกามารมณ์ได้

ถ้ามองเข้าไปข้างใน

 ภายใต้ผิวหนัง มองเห็นอวัยวะ

ที่ถูกผิวหนังนี่ปกปิดเอาไว้

ก็จะเห็นว่าไม่สวยงาม

หรือเห็นสิ่งที่เป็นปฏิกูลต่างๆ

 ที่มีอยู่ในร่างกาย

ก็จะดับความอยากในกามได้

ดับกามารมณ์ได้

การเจริญอสุภะนี้ก็เรียกว่า

เป็นสกิทาคามีมรรคและอนาคามีมรรค

ถ้าสามารถเห็นอสุภะ

ดับกามารมณ์ได้บางส่วน

 ทำให้เบาบางลงไปก็เป็นสกิทาคามีผล

ถ้าเห็นตลอดเวลา ไม่ว่าลืมตาหรือหลับตา

 ต่อให้เป็นนางงามจักรวาล

หรือเป็นดาราภาพยนตร์

มีรูปร่าง หน้าตา สวยงามขนาดไหน

ก็มองทะลุเข้าไปข้างในได้อย่างชัดเจน

 มองเห็นอวัยวะต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

ก็จะบรรลุเป็นพระอนาคามี ได้อนาคามีผล

มรรคกับผลเป็นอย่างนี้

มรรคก็คือการเจริญปัญญา

 เพื่อที่จะให้เห็นความจริงของธรรมขั้นนั้น

เห็นแล้วก็จะดับ กิเลสตัณหา

 หรือความหลงในธรรมขั้นนั้นได้

 ขั้นอรหัตตมรรค ก็พิจารณาอนัตตา

พิจารณาอวิชชาที่มีอยู่ภายในใจ

ถ้าพิจารณาเห็นอนัตตา เห็นอวิชชา

แล้วก็ปล่อยวางได้ หยุดได้

 ก็จะบรรลุเป็นอรหัตตผลขึ้นมา

นี่มรรค ๔ ผล ๔

พอได้อรหัตตผลแล้ว

 ก็จะเป็นนิพพานตามมาทันที

 นิพพานนี้เป็นความสงบ เป็นปรมังสุขขัง

 เป็นความสุขที่ถาวร ที่ไม่มีวันเสื่อม

ความสุขขั้นโสดาบันนี้ยังไม่เต็มที่

 ยังไม่เต็มร้อย เช่นเป็นเหมือนกับดวงจันทร์

 ก็เป็นดวงจันทร์เสี้ยวหนึ่ง

 ถ้าขั้นสกิทาคามีก็สว่างขึ้นอีกหน่อย

ขั้นอนาคามี ก็สว่างขึ้นอีกหน่อย

พอถึงขั้นอรหันต์ก็สว่างเต็มดวง

 เป็นพระจันทร์เต็มดวง

พอเป็นพระจันทร์เต็มดวงแล้ว

ก็จะสว่างไปตลอด

 ไม่มีวันเสื่อมหมดไป คือใจของพระอรหันต์

 ใจของพระพุทธเจ้ายังสว่างไสว

ด้วยแสงสว่างแห่งธรรม ถึงแม้จะไม่มีร่างกาย

 ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะร่างกายกับใจนี้

เป็นคนละส่วนกัน ร่างกายตายไป

 ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

ใจที่สว่างด้วยธรรม

ใจที่เป็นธรรมทั้งแท่ง ทั้งดวง

 ก็ยังเป็นธรรมอยู่จนบัดนี้

และจะเป็นต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด

ไม่เหมือนกับใจของพวกเรา

ที่จะมืดบอดเป็นส่วนใหญ่

 นานๆ ก็อาจจะมีแสงสว่างแวบขึ้นมาบ้าง

ในบางเวลา ในบางขณะ

ที่ได้ฟังเทศน์ ฟังธรรม

ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติธรรมกัน

แต่ถ้าหมั่นศึกษา หมั่นปฏิบัติไปเรื่อยๆ

 ต่อไปใจที่มืดบอดนี้ ก็จะเริ่มสว่างขึ้น

ทีละเล็ก ทีละน้อย

 และจะสว่างไปได้อย่างเต็มที่ในที่สุด

 เช่นเดียวกับใจของพระพุทธเจ้า

และใจของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

อย่างแน่นอน ไม่มีอะไรที่จะมายับยั้งใจ

ที่มืดบอดนี้ไม่ให้สว่างได้

ถ้ามีการเจริญหลักธรรม ถ้ามีศรัทธา

มีวิริยะที่จะทุ่มเทชีวิตจิตใจ

 ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง

ให้กับการเจริญหลักธรรม

 ก็คือการเจริญสติ การเจริญสมาธิ

 การเจริญปัญญา ก็จะทำให้ใจที่มืดบอดนี้

เริ่มสว่างขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย

 จนสว่างได้เต็มดวง เหมือนพระจันทร์เต็มดวง

 แต่เป็นพระจันทร์เต็มดวงที่ไม่มีวันมืด

ไม่เหมือนพระจันทร์ที่เรารู้กันที่เราเห็นกันนี้

จะเต็มเพียงเดี๋ยวเดียว

พอเต็มแล้วก็จะเริ่มค่อยๆ หมดไป

แต่ใจที่สว่างเต็มดวงนี้แล้ว ก็จะเป็นนิพพานไป

 เป็นปรมัง สุขขังไป ไม่มีวันหมด ไม่มีวันเสื่อม

 อันนี้อยู่ที่การทุ่มเทชีวิตจิตใจ

 ให้กับการเจริญหลักธรรม

การจะเจริญหลักธรรมได้นี้

ก็ต้องตัดทุกสิ่งทุกอย่างออกไป

 เพราะถ้าไม่ตัดก็จะเป็นอุปสรรค

 เพราะจะแย่งเวลา ของการปฏิบัติไปนั่นเอง

 ถ้าทำงานก็ต้องลาออกจากงาน

ถ้ามีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทอง ก็ต้องสละออกไป

อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทำเป็นตัวอย่าง

 ทรงสละราชสมบัติ

สละสถานภาพของการ เป็นราชโอรส

 แล้วก็ไปอยู่เป็นนักบวช ไปรักษาศีลให้บริสุทธิ์

แล้วก็เจริญหลักธรรม เจริญสติ สมาธิ ปัญญา

 ถ้าทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมด

ให้กับการเจริญหลักธรรมนี้

ผลที่จะได้รับภายใน ๗ ปีนี้

จะไม่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นไปได้

ถ้าไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสไว้

ห้เสียเวลาเปล่าๆ

 และก็มีผู้ที่สามารถได้หลักใจนี้

ภายในเวลา ๗ ปีนี้เป็นจำนวนมาก

ก่อน ๗ ปีก็มีมากมาย ๗ เดือนก็มี ๗ วันก็มี

 แม้แต่เพียงแต่ฟังธรรม เพียงคำสองคำ

 ก็สามารถบรรลุได้ก็มี อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับอินทรีย์

ขึ้นอยู่กับปัญญาบารมี ที่ได้สะสมมาว่า

 มีมากมีน้อย ถ้ามีมากก็จะรู้เร็ว

 ถ้ามีน้อยก็จะรู้ช้า บรรลุช้า

แต่ก็จะได้บรรลุอย่างแน่นอน

 ถ้ามีความทุ่มเทให้กับ การเจริญหลักธรรมนี้

เจริญสติ เจริญสมาธิ และเจริญปัญญา

ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติแต่ละท่าน

 จะต้องเป็นผู้ที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจ

ให้กับการเจริญหลักธรรมนี้

 ถ้าไม่ทุ่มเทก็จะไม่ได้ ถ้าทำเพียงเล็กๆ น้อยๆ

ก็จะได้เพียงเล็กๆ น้อยๆ

เหมือนกับตักน้ำใส่ตุ่ม ถ้าเราตักวันละขัน

ถ้าต้องตักน้ำ ๑๐๐ ขัน ก็ต้องใช้เวลา ๑๐๐ วัน

 น้ำถึงจะเต็มตุ่ม แต่ถ้าเราตักทั้งวันไม่หยุด

น้ำ ๑๐๐ ขันนี้ ก็อาจจะตักเต็มในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

 แต่ถ้าเราทิ้งไว้ ปีนึงก็มาตักน้ำสักขันหนึ่ง

อย่างนี้ก็จะไม่ได้น้ำมาก

เพราะปีนึงกลับมาน้ำก็ระเหยไปหมดเสียแล้ว

 ฉันใดก็ดีถ้าการปฏิบัติของเรานี้

เป็นแบบพอหอมปากหอมคอ

ก็จะไม่ได้พบกับหลักใจ

เหมือนกับผู้ที่ปฏิบัติตลอดเวลา

 ถ้าปฏิบัติเพียงอาทิตย์ละครั้ง เช่นวันพระ

 หรือไม่เช่นนั้นก็ปฏิบัติ วันละชั่วโมง ครึ่งชั่วโมง

 ตอนเช้าหรือตอนเย็น

อย่างนี้ก็จะไม่ค่อยได้ผลมากมาย ก่ายกองเท่าไร

 เพราะว่าพอได้มาแล้วเดี๋ยวก็จางหายไป

 ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตื่นจนหลับ

ไม่มีวันหยุด ถ้าปฏิบัติอย่างนี้แล้ว

 ผลจะเกิดขึ้น และจะได้เป็นกอบเป็นกำ

 จึงอยู่ที่ตัวเราเองว่า เราจะทุ่มเท

ให้กับ การปฏิบัติมากน้อยเพียงใด

ถ้าเราต้องการผลมาก ผลเร็ว

 เราก็ต้องทุ่มเทให้มาก ให้เต็มที่

 ถ้าเราไม่ทุ่มเทให้มาก ให้เต็มที่

มันก็จะไม่ได้เร็ว ไม่ได้มาก

จึงอยู่ที่ตัวเราว่า เราจะเอาอะไร

เราจะเอาสิ่งที่ไม่ได้เป็นที่พึ่งของใจ

 แต่เป็นที่พึ่งของร่างกาย

เป็นที่พึ่งของตัณหาความอยาก

หรือเราจะเอาที่พึ่งทางใจ

 ถ้าจะเอาที่พึ่งทางร่างกาย

 เอาที่พึ่งของความอยาก ก็ต้องแสวงหา

ลาภ ยศ สรรเสริญ

หาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไป

แต่ถ้าจะหาที่พึ่งทางใจ

ก็ต้องสละการแสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ

สละการหาความสุขทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไป

 แล้วก็มาเจริญหลักธรรม

 มาเจริญสติ สมาธิ และปัญญา

 ก็จะได้หลักใจ

จะเอาทั้งสองอย่างนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้

 เพราะเหมือนกับการเดินทาง

 จะไปทั้งทิศเหนือและทิศใต้พร้อมๆ กันนี้ไปไม่ได้

 ถ้าจะไปทางทิศเหนือก็ต้องไปทางทิศเหนือ

 ถ้าจะไปทางทิศใต้ก็ต้องไปทางทิศใต้

ถ้าต้องการหลักใจก็ต้องไปทางหลักธรรม

 ถ้าต้องการความสุขทางโลก

 ก็ต้องไปทางลาภ ยศ สรรเสริญ

 ทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ถ้าไปทางโลกก็จะไปสู่

ความทุกข์ที่จะตามมาต่อไป

 ถ้าไปสู่ทางธรรม ก็จะไปสู่ความสุข

ที่เป็นปรมัง สุขขัง เป็นความสุขที่ไม่มีวันหมดสิ้น

 นี่คือผลที่จะเกิดขึ้นจากการ ดำเนินชีวิตของเรา

 เราเป็นผู้ที่จะตัดสินใจเองว่า

เราจะไปทางไหน ไปทางซ้ายก็ได้

 ไปทางขวาก็ได้ เราขับรถมาถึงสี่แยกแล้ว

 เราต้องตัดสินใจว่าจะไปทางไหน

 ไปทางซ้ายหรือไปทางขวา

สุดแท้แต่จะตัดสินใจเอา

ผลก็จะต้องเป็นตามที่เราตัดสินใจ

 ดังนั้นเมื่อได้ผลแล้ว ก็คือได้ความทุกข์

ก็อย่าไปโทษใคร มันต้องโทษตัวเราเอง

ว่าเป็นผู้เลือกทางนี้เอง

 เวลาที่เราสูญเสียสิ่งที่เรารักไป

เวลาสิ่งที่เรารักเปลี่ยนไป

เวลานั้นมันจะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา

 เวลานั้นก็อย่าไปโทษใคร

 โทษตัวเราเองว่า เราเลือกทางเดินนี้

แล้วก็ไม่มีใครที่จะมาช่วยเราได้

เรื่องของความทุกข์ใจนี้

 เมื่อทุกข์แล้วถ้าเรารู้จักดับความทุกข์

เราก็ยังดับมันได้ แต่ถ้าเราไม่รู้จัก

เราก็ต้องทุกข์กับมันไป

นกว่ามันจะหมดกำลังไป

 ถ้าเราเห็นโทษ เห็นทุกข์ที่จะตามมา

 แล้วเราจะไปทางนั้นหรือ

ถ้าเรารู้ว่าขับรถไปทางนี้แล้วจะต้องตกเหวนี้

 เราจะเลี้ยวไปทางนี้หรือเปล่า

 ถ้าเขาเขียนป้ายว่าทางนี้ไปสู่หน้าผา

 ไปแล้วไม่มีที่กลับรถ เราจะไปหรือเปล่า

นี่แหละคือทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ว่าอย่าไป อย่าไปสู่ทางของตัณหา

 ความอยากในลาภ ยศ สรรเสริญ

ความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 ให้ไปในทางของสติ สมาธิ ปัญญา

เพราะจะเป็นทางที่พาไปสู่สวรรค์อันสูงสุด

 ขั้นสูงสุด ก็คือสวรรค์ขั้นนิพพานนี่เอง

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๖

“หลักธรรม หลักใจ”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 15 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2559 10:48:34 น.
Counter : 822 Pageviews.

0 comment
### ระงับโทสะ ###











“ระงับโทสะ”

ถาม : เกี่ยวกับเรื่องของโทสะครับ

 เมื่อมีโทสะเกิดขึ้น ความคิดมันจะไป

จบอยู่ที่เดี๋ยวก็หายโกรธ

พอเรารู้สึกอย่างนี้

 แต่ความโกรธมันยังไม่หายไปทันที

 เราต้องใช้อารมณ์ในการระงับ

ให้ไม่เกิดความโกรธ

อย่างนี้แสดงว่า

ปัญญายังไม่เกิดแต่ต้นใช้ไหมครับ

พระอาจารย์ : ยังไม่เกิด

 ถ้าปัญญาต้องเห็นว่า

เรากำลังทุกข์นะ ไม่ใช่เขาทุกข์

 คนที่เราโกรธเขาไม่ทุกข์หรอก

 คนที่ทุกข์ตอนนี้คือเรา

แล้วก็เกิดจากความโกรธของเรา

ถ้าเราอยากจะหายทุกข์

เราก็อย่าไปโกรธเท่านั้นเอง

 เหมือนตอนนี้เรากำลังปวดศรีษะ

เพราะเราเอาฆ้อนมาทุบศรีษะเรา

 แต่เรามองไม่เห็นว่าการปวดศรีษะของเรา

เกิดจากการเอาฆ้อนมาทุบศรีษะ

เราก็ยังทุกข์อยู่อย่างนั้น

แต่พอเห็นด้วยปัญญาว่า

ความโกรธของเราเกิดจาก

 ความอยากของเราเอง

 อยากให้เขาทำอย่างนั้นทำอย่างนี้

 พอเขาไม่ทำเราก็โกรธ

ถ้าเราไม่อยาก เราก็จะไม่โกรธ

 ดังนั้นเราก็ต้องไปเปลี่ยนใจ ที่โกรธ

เพราะเราอยากให้เขาทำอย่างนั้นทำอย่างนี้

 เราก็เปลี่ยนใจว่าไม่อยากแล้ว

 เขาจะทำอย่างไรก็ได้

อย่างนี้ก็จะหายโกรธ

มันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ

 เครื่องไม้เครื่องมือกับการแก้ความโกรธ

 มันมีหลายระดับ บางคนใช้สติ

ก็ท่องพุทโธๆไป เวลาเกิดความโกรธ

บางคนก็เดินหนีจากเหตุการณ์ไป

 หลบไปนั่งในห้องน้ำ

 ไปสงบสติอารมณ์คือใจยังหยุดไม่ได้

อย่างน้อยก็เอากายออกไปก่อน

 อย่าไปอยู่ใกล้กับเหตุการณ์

ที่ทำให้เราเกิดความโกรธขึ้นมา

 บางคนใช้ ปัญญาได้

ก็ไม่ต้องหนีเหตุการณ์

 เพียงแต่ปรับใจ เปลี่ยนใจเท่านั้นเอง

 ไม่เอาก็ได้ แค่นี้ก็จบ

 ขอแล้วไม่ให้ก็ไม่เป็นไร

ไม่เอาก็ได้ มันก็หายโกรธได้

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๗

“การปฏิบัติต้องต่อเนื่อง”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2559 6:54:12 น.
Counter : 890 Pageviews.

0 comment
### หลักของสติ สมาธิของปัญญา ###









“หลักของสติ สมาธิและปัญญา”

เราต้องมาให้ความสำคัญ

ต่อการเจริญหลักใจหลักธรรม

 หลักธรรมที่สำคัญที่สุดก็คือสติ

เริ่มต้นที่สติ เพราะถ้าไม่มีสติ

 ก็จะไม่เกิดสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ

 ก็จะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ

ที่จะใช้ในการเจริญปัญญา

 เมื่อไม่มีปัญญาก็จะไม่มีหลักใจ

คือไม่มีมรรค ผล นิพพาน

 ไม่มีสมาธิ ไม่มีความสงบ

การปฏิบัติจึงมองข้ามเรื่องของ

การเจริญสติไปไม่ได้

เจริญสติเพื่อให้เกิดสมาธิ

เพื่อให้ใจสงบ เมื่อใจสงบแล้ว

 ก็จะสามารถพิจารณา

สภาวธรรมทั้งหลายว่าไม่เที่ยง

 เป็นทุกข์ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา

 ว่าไม่สวยไม่งามได้

ถ้าไม่มีความสงบ

ก็จะไม่สามารถพิจารณาได้

เพราะจะไม่มีกำลังที่จะพิจารณา

จะถูกกำลังของกิเลสตัณหา

 ดึงไปให้เห็นว่าเที่ยง

ให้เห็นว่าสวยงาม

 ให้เห็นว่าสุข

ให้เห็นว่าเป็นของเรา

 เป็นตัวเรานั่นเอง

ธรรมที่พระพุทธเจ้า

ทรงแสดงในสติปัฏฐาน ๔ นี้

 ก็คือการเจริญสติ การเจริญสมาธิ

 และการเจริญปัญญานี่เอง

ผู้ที่ศึกษาอ่านพระสูตรนี้

จึงต้องรู้จักแยกแยะว่า

 ทรงแสดงหลักธรรมนี้ในส่วนไหน

เช่นตอนต้นทรงตรัสบอกให้พระภิกษุ

 ไปนั่งอยู่ตามโคนไม้

ไปนั่งอยู่ตามสถานที่สงบสงัดวิเวก

ตั้งตัวให้ตรง แล้วก็กำหนด

ดูลมหายใจเข้าออก

ให้มีสติเฝ้าดูลมหายใจเข้าออก

 เพื่อที่จะยับยั้ง

ไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

 ถ้าใจจดจ่ออยู่กับการดูลมหายใจเข้าออก

 ใจก็จะไม่สามารถไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้

 ถ้าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ก็แสดงว่าไม่ได้เฝ้าดูลมหายใจเข้าออก

 ก็แสดงว่าไม่ได้เจริญสติ

ถ้าไม่ได้เจริญสติ

 นั่งไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดผล

ก็คือไม่เกิดความสงบ

 ไม่เกิดสมาธิขึ้นมานั่นเอง

ผู้ที่เจริญอานาปานสติ

 คือการกำหนดดูลมหายใจเข้าออก

 จำเป็นจะต้องเฝ้าดูลมหายใจ

เพียงอย่างเดียว

ไม่ปล่อยให้ใจไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

 และขณะที่ดูลมไป

ถ้ามีอะไรปรากฏขึ้นมา

ให้รับรู้ ก็ไม่ให้ไปสนใจ

 ให้สนใจอยู่กับลมหายใจเข้าออก

เพียงอย่างเดียว

จนกว่าจิตจะรวมเข้าสู่ความสงบ

เข้าสู่ความว่าง เข้าสู่ความเป็นหนึ่ง

ที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์

 เข้าสู่ความเป็นอุเบกขาเท่านั้น

ถึงจะปล่อยลมได้ ปล่อยวางลมไป

หรือบางครั้งเวลาภาวนาไป เจริญสติไป

 ดูลมไปก็จะเห็นว่าลมนี้ค่อยละเอียดลงไป

 ละเอียดลงไป จนในที่สุด

จะไม่สามารถรับรู้ว่ามีลมอยู่หรือไม่

 อันนี้ก็ไม่ต้องไปวิตกกังวล

 บางท่านพอไม่สามารถจับลมได้

 ก็เกิดความวิตกว่าตอนนี้ไม่ได้หายใจ

 เดี๋ยวจะตายหรือเปล่า

 พอเกิดความวิตก ก็จะดึงใจ

ให้พยายามหายใจแรงๆ ขึ้น

 เพื่อให้รู้ว่ายังหายใจอยู่

 ดังนั้นก็จะดึงใจที่กำลังมีเหตุ

ให้เข้าสู่ความสงบนั้น

 กลับมาหยาบต่อไป

ทางที่ถูกก็คือให้รู้ว่าตอนนี้ลมละเอียด

 ถ้าไม่มีลมก็ให้รู้ว่าสักแต่ว่ารู้ไปเฉยๆ

 ตราบใดถ้าใจไม่ไปรู้เรื่องอื่น

 ไม่ไปคิดเรื่องอื่น

เดี๋ยวใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้

อันนี้ก็เป็นการเจริญสติ

ด้วยการใช้ลมหายใจเข้าออก

 ซึ่งเป็นหลักที่ทรงแสดงไว้

ในสติปัฏฐาน ๔

แต่บางท่านนี้จะใช้อย่างอื่น

แทนลมหายใจ

 เพื่อเป็นการเจริญสติ

 เพื่อให้เข้าสู่สมาธิก็ได้

 เช่นบางท่านก็ใช้

การบริกรรมพุทโธ พุทโธ

อันนี้ก็ใช้แทนกันได้

ใช้แทนลมหายใจได้

 ด้วยการบริกรรมพุทโธๆไป

 โดยที่ไม่ต้องดูลมหายใจเข้าออก

ให้เฝ้าอยู่กับคำบริกรรม

 ให้อยู่กับพุทโธๆไป

ไม่ต้องไปสนใจอยู่กับ เรื่องลมหายใจ

 ไม่ต้องสนใจว่าฐานของลมอยู่ตรงไหน

 ฐานของพุทโธอยู่ตรงไหน

ฐานของพุทโธนี้ไม่มีฐาน

ฐานของพุทโธก็คือคำบริกรรมนี้

ให้รู้อยู่กับคำบริกรรม

ให้เกาะติดอยู่กับคำบริกรรม

 เพื่อไม่ให้จิตแวบไป

 คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้นั่นเอง

 ก็จะนำเข้าสู่ความสงบได้เช่นเดียวกัน

 พอเข้าสู่ความสงบก็จะได้หลักใจ

 ที่เป็นหลักใจชั่วคราว

ก็คือจะสงบอยู่ได้สักระยะหนึ่ง

ถ้าสงบนานก็จะเรียกว่าอัปปนาสมาธิ

 ถ้าสงบชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ถอนออกมา

 ก็จะเรียกว่าขณิกสมาธิ

ซึ่งสำหรับผู้ที่ปฏิบัติ

 ส่วนใหญ่ในเบื้องต้น

ก็จะสัมผัสกับขณิกสมาธิ

คือจิตจะเข้าไปขณะเดียว

 วูบเดียวแล้วก็ถอนออกมา

อันนี้เพราะว่ากำลังของสติยังมีไม่มากพอ

มีพอที่จะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบได้

 แต่พอเข้าสู่ความสงบแล้ว

ก็ถูกกำลังของกิเลสตัณหา

ผลักดันออกมา

 แต่ถ้ากลับมาเจริญสติต่อ

 หลังจากที่ออกจากสมาธิแล้ว

ถ้าใช้บริกรรมพุทโธ

ก็ให้บริกรรมพุทโธต่อไป

ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร

ก็ให้บริกรรมพุทโธไป

ไม่ปล่อยให้ใจไปคิดเรื่อยเปื่อย

ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ไม่จำเป็นต้องคิด

แต่ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องคิด

 เพราะว่าต้องทำภารกิจการงาน

 ต้องใช้ความคิด ตอนนั้นก็พัก

การบริกรรมพุทโธไว้ชั่วคราว

 แล้วก็ให้มีสติอยู่กับการคิด

ในเรื่องของการงานไป

เมื่อเสร็จจากภารกิจการงานแล้ว

เช่นถ้าเป็นพระก็ออกมา ต้องปัดกวาด

 ต้องสรงน้ำ อาบน้ำ ต้องซักจีวรอย่างนี้

ก็ให้มีสติเฝ้าดูการงานที่ต้องทำอยู่

แต่ถ้าเป็นการงานที่ไม่ต้องใช้ความคิด

จะใช้คำบริกรรมกำกับควบคู่ไปก็ได้

 เช่นปัดกวาดก็พุทโธ พุทโธไป

สรงน้ำก็พุทโธ พุทโธไป

ซักจีวรก็พุทโธ พุทโธไป

 บิณฑบาตก็พุทโธ พุทโธไป

ขบฉันอาหารก็พุทโธ พุทโธไปก็ได้

หรือจะใช้การเฝ้าดู

การกระทำของร่างกาย

แทนพุทโธก็ได้

เช่นขณะปัดกวาด

ก็ให้มีสติอยู่กับการปัดกวาด

ขณะที่สรงน้ำ

ก็ให้มีสติอยู่กับการสรงน้ำ

ขณะที่ขบฉันบิณฑบาต

 ก็ให้มีสติอยู่กับการขบฉัน

 กับการบิณฑบาต

 ไม่ให้ใจไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

พอเสร็จจากภารกิจต่างๆ

มีเวลาว่างก็ให้กลับเข้ามานั่งสมาธิต่อ

ถ้าใช้พุทโธก็บริกรรมพุทโธต่อไป

 หรือถ้าเหนื่อยไม่อยากจะใช้คำบริกรรม

จะใช้ลมหายใจเข้าออกแทน

 ก็ดูลมหายใจเข้าออกต่อไป

 จนกว่าใจจะเข้าสู่สมาธิ

ถ้าทำอย่างนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง

 ต่อไปการเข้าสมาธิก็จะง่าย

 และเร็วและจะอยู่ได้นาน

 ในเบื้องต้นนี้เราต้องพยายามสร้างฐาน

คือความสงบของใจ ฐานของสมาธิ

 ให้แข็งแกร่งก่อน

ถ้าเรามีความแข็งแกร่ง

ในฐานของสมาธิแล้ว

สามารถเข้าสมาธิได้ทุกเวลานาที

ที่เราต้องการ จะเข้า

เข้าแล้วก็สามารถตั้งอยู่ได้นาน

 อย่างนี้จึงจะเรียกว่า

มีหลักใจในเบื้องต้น

 คือมีหลักของสมาธิ

 มีสติที่จะทำให้ใจสงบแล้ว

อย่างนี้พอออกจากความสงบมา

 ขั้นต่อไปเราก็ต้องเจริญปัญญาแล้ว

 ไม่ใช่มาเจริญสติเพียงอย่างเดียว

 เช่นบริกรรมพุทโธ

หรือเฝ้าดูการเคลื่อนไหว

ของร่างกายแล้ว

ตอนนี้เราต้องเริ่มสอนใจ

ให้เห็นสภาวธรรม ความจริง

ก็คือร่างกายนี้เป็นเบื้องต้น

ให้พิจารณาว่า ร่างกายนี้ว่าไม่เที่ยง

ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา

มาจากดินน้ำลมไฟ เกิด แก่ เจ็บ ตาย

 แล้วก็ต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไป

พิจารณาเวทนาที่เกิดจากร่างกาย

 เวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

 เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย

 ก็จะเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา

หรือเวลานั่งสมาธิไปนานๆ

 ร่างกายก็จะมีความเจ็บปวดตามส่วนต่างๆ

 อันนี้ก็ให้พิจารณาเวทนาไปว่า

ไม่เที่ยงเช่นเดียวกับร่างกาย

 มีเจริญมีเสื่อม เป็นอนัตตา เป็นธรรมดา

ที่เราไม่สามารถจะควบคุมบังคับ

 ไปสั่งให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้

 เช่นมีทุกขเวทนา

จะไปสั่งให้ทุกขเวทนาหายไปก็สั่งไม่ได้

ถ้าอยากจะให้หาย

ก็จะเกิดทุกข์ในอริยสัจ ๔ ขึ้นมา

ทุกข์ที่เกิดจากความอยาก

อยากให้ทุกขเวทนาหายไป

การปฏิบัติก็เพื่อที่จะดับความทุกข์

ในอริยสัจ ๔ นั่นเอง

 ทุกขเวทนาในร่างกายนี้ดับไม่ได้

 แต่ทุกข์ในอริยสัจ ๔

ที่เกิดจากความอยากนี้

ดับได้ด้วยการสอนใจ

ไม่ให้ไปอยากให้ทุกขเวทนา

ทางร่างกายหายไป ให้ปล่อยวาง

 ให้ทุกขเวทนาทางร่างกายเกิดขึ้น

 ตั้งอยู่ และดับไปเอง

 ถ้าเขาจะอยู่ก็ปล่อยเขาอยู่ไป

 ถ้าเขาจะดับ ก็ปล่อยเขาดับไป

 แต่ใจนี้อย่าไปอยาก

ให้เขาดับไปเป็นอันขาด

 เพราะถ้าเกิดความอยาก

ก็จะเกิดทุกข์ในอริยสัจ ๔

การที่จะทำให้ไม่ให้เกิดทุกข์ในอริยสัจ ๔

 ก็ต้องเจริญปัญญานี้เอง

 ให้เห็นว่าทุกขเวทนา

ทางร่างกายนี้เป็นอนัตตา

 เราไม่สามารถที่ไปสั่งเขาได้

 เหมือนกับฝนฟ้าอากาศ

 เราไม่สามารถไปสั่งให้ฝนไม่ตกไม่ได้

 ฝนจะตกเราก็ห้าม เขาไม่ได้

ฝนไม่ตกจะสั่งให้เขาตก

ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

 ก็ต้องปล่อยให้เป็นไป

 ตามเหตุตามปัจจัยของเขา

ทุกขเวทนาจะเกิดหรือไม่เกิด

ก็เป็นเรื่องของเขา

 เป็นเรื่องของเหตุ

ของปัจจัยทางร่างกาย

 ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย

ก็ต้องเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา

 ร่างกายขาดอาหาร

ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา

ขาดน้ำก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา

สัมผัสกับอากาศที่ร้อนเกินไป

หรือหนาวเกินไป

 ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมาเช่นเดียวกัน

 แต่ถ้าใจพิจารณาว่า

ร่างกาย ก็ไม่ใช่ตัวเรา

 เวทนาก็ไม่ใช่เรา

 ก็ปล่อยให้กายเป็นไปตามเรื่องของเขา

 กายจะเจ็บไข้ได้ป่วย

ก็ปล่อยเขาเจ็บไป

เวทนาความเจ็บทางร่างกายจะเกิดขึ้น

ก็ต้องปล่อยให้เจ็บไป

 ถ้ารักษาได้ อยู่ในวิสัย ก็รักษาไป

 ถ้ารักษาไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมันไป

 แต่อย่าไปให้เกิด

ความอยากขึ้นมาเป็นอันขาด

 ถ้าไม่มีความอยากแล้ว

จะไม่มีทุกข์ในอริยสัจ ๔

ที่เป็นความทุกข์ที่รุนแรงกว่า

ความทุกข์ทางทุกขเวทนา

หลายสิบเท่าด้วยกัน

ผู้ที่ไม่มีทุกข์ในอริยสัจ ๔

จึงไม่เดือดร้อนกับความทุกข์ในเวทนา

ทุกข์ของทางร่างกายนี้จะไม่เป็นปัญหา

 กับผู้ที่ไม่มีความทุกข์ในอริยสัจ ๔

 ก็คือไม่มีความอยาก

ให้ความเจ็บปวดของร่างกายหายไป

 อยู่กับความเจ็บปวด ของร่างกายได้

 ใจจะรู้สึกเหมือนกับ

เวลาที่ร่างกายไม่เจ็บ

ร่างกายเจ็บหรือไม่เจ็บ

 ถ้าใจไม่มีความอยาก

ใจจะไม่มีความทุกข์เลย

อันนี้แหละเรียกว่า

การพิจารณาไตรลักษณ์

พิจารณาอริยสัจ ๔

ถ้าเห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔

 ก็จะทำใจให้เป็นอุเบกขาได้

ปล่อยวางร่างกายได้

ปล่อยวางทุกขเวทนาได้

ปล่อยได้ก็จะได้บรรลุธรรมขั้นโสดาบัน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๖

“หลักธรรม หลักใจ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2559 6:42:08 น.
Counter : 507 Pageviews.

0 comment
### ควรอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เวลาไหนดี ###











ถ้ารับพร ก็แล้วแต่อัธยาศัย

จะนั่งพนมมือ จะกราบ หรือจะอะไร

ก็เป็นไปตามอัธยาศัย

ส่วนการที่จะอุทิศบุญนี้

ความจริงควรจะอุทิศ

ในตอนที่เรายังไม่ได้รับพรก็ได้

เพราะการรับพรนี้เป็นการให้คำสอน

 ให้กำลังใจว่าการทำบุญนี้

มีคุณมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

เช่น จะได้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ

 บุญที่เราทำนี้เราสามารถอุทิศ

แบ่งให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

ทีนี้เวลาพระให้พรควรจะตั้งใจฟัง

มากกว่าที่จะไปนั่งบ่นพึมพำๆ

อุทิศแข่งกับการสวดของพระ

มันก็จะไม่ได้ประโยชน์

ไม่ได้รับประโยชน์จากการรับพร

ความจริงการให้พรของพระ

ก็เป็นการสอนนั่นเอง

สอนว่าการทำบุญนี้

มีประโยชน์หลายด้าน

 บุญนี้เราอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปได้

และบุญที่เราทำนี้

ก็จะทำให้ชีวิตของเรา

มีความเจริญก้าวหน้า

ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ

ในอายุ วรรณะ สุขะ พละ

ฉะนั้นควรที่จะแยกกันทำจะดีกว่า

แต่ตามธรรมเนียมเขามักจะสอนว่า

 เวลาพระเริ่มกล่าวยะถา ก็ให้กรวดน้ำ

ให้อุทิศบุญไป ความจริงเวลาพระสวด

 เวลาพระให้พรนี้ควรจะนั่งฟังจะดีกว่า

 เราจะอุทิศบุญรอให้พระสวดเสร็จแล้วก็ได้

หรือก่อนก็ได้ เรามีเวลา

 พอถวายข้าวของเสร็จ

เราก็นั่งอุทิศไปได้เลย

มันไม่เกี่ยวกับการสวด

การให้พรของพระ

แต่ธรรมเนียมเขาไปผูกไปติดกันไว้

ว่าเวลาจะอุทิศบุญนี้

ต้องรอให้พระยะถาก่อน

แล้วถ้าเกิดพระเขายะถาไปแล้ว

 เรามาไม่ทัน เราจะทำอย่างไร

เราก็อุทิศบุญของเราเองได้

ไม่ต้องมีพระมายะถาให้กับเรา

 มันคนละเรื่องกันไม่เกี่ยวกัน

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๙






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 13 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2559 21:46:49 น.
Counter : 780 Pageviews.

0 comment
### การเจริญหลักธรรมเพื่อให้เกิดหลักใจ ###











“การเจริญหลักธรรม

เพื่อให้เกิดหลักใจ”

การเจริญหลักธรรมก็เพื่อให้เกิดหลักใจ

ถ้าเรามีหลักใจ เราก็จะมีที่พึ่ง

เราก็จะไม่ต้องพึ่งสิ่งต่างๆ

ที่เป็นสิ่งที่พึ่งไม่ได้

เพราะสิ่งต่างๆ ในโลกนี้

เป็นสิ่งที่ไม่ถาวร เป็นสิ่งชั่วคราว

เป็นสิ่งที่มีวันจะต้องหมดไป

 ตอนนี้พวกเรายังต้องพึ่งสิ่งต่างๆ อยู่

ก็เพราะใจเรายังไม่มีหลัก

การที่ใจเราไม่มีหลัก ก็เพราะว่า

เราไม่มีธรรม ที่เป็นหลักนั่นเอง

 เราจึงต้องมาเจริญหลักธรรมกัน

ธรรมอันใดที่เรียกว่า

เป็นธรรมที่เป็นหลัก

 ก็คือ สติ สมาธิ ปัญญานี่เอง

ถ้าเราเจริญสติ สมาธิ ปัญญาได้

 เราก็จะได้หลักใจ

 เราได้หลักใจ เราก็จะได้มีที่พึ่ง

 มีตนเป็นที่พึ่งของตน

มีอัตตาหิ อัตตาโนนาโถ

 ไม่จำเป็นจะต้องพึ่งผู้อื่น

 ไม่จำเป็นจะต้องพึ่งสิ่งต่างๆ

 อย่างที่คนส่วนใหญ่ คนส่วนมากพึ่งกัน

คนส่วนมาก คนส่วนใหญ่

 ตอนนี้พึ่งอะไรกัน

 ก็พึ่งลาภ ยศ สรรเสริญ

พึ่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 ในรูปของบุคคลต่างๆ

 ในรูปของสิ่งต่างๆ นี้เอง

 แต่ลาภ ยศ สรรเสริญ

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

เป็นอนิจจัง คือมีเกิดได้ ก็มีดับได้

มีเจริญได้ก็มีเสื่อมได้

 เป็นอนัตตา ก็คือ

ไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง

เป็นของเราก็เป็นแบบสมบัติชั่วคราว

 สมบัติผลัดกันชม

 ได้มาแล้ว เดี๋ยวก็ต้องเสียไป

 ไม่สามารถยับยั้ง ความจริงอันนี้ได้

ไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้

ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไป

ตามเหตุตามปัจจัยของเขา

เมื่อเกิดการสูญเสีย

เกิดการไม่ได้สิ่งที่อยากจะได้

ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

นั่นก็เพราะว่าใจไม่มีหลัก

ไม่มีที่พึ่งในตัวเอง

ต้องไปพึ่งสิ่งต่างๆ ที่พึ่งไม่ได้นั่นเอง 

พระพุทธเจ้าจึงทรงเป็นบุคคลแรก

 ที่ทรงได้ค้นพบหลักใจ

ด้วยการเจริญหลักธรรม

พอพระองค์ได้ทรงเจริญสติ

สมาธิ ปัญญา

 พระองค์ก็จะได้พบกับหลักใจ

เมื่อได้พบกับหลักใจ

ก็ไม่ต้องพึ่งสิ่งต่างๆ ต่อไป

หลังจากที่พระองค์ได้พบหลักใจ

 ด้วยการเจริญหลักธรรมแล้ว

 พระองค์ก็ทรงนำเอา

วิธีเจริญหลักธรรมนี้ มาเผยแผ่สั่งสอน

ให้แก่สัตว์โลกทั้งหลาย

ผู้ที่มีศรัทธา ความเชื่อ

 มีวิริยะ ความอุตสาหะ ความพยายาม

ความพากเพียรที่จะเจริญหลักธรรม

คือเจริญสติ เจริญสมาธิ

 เจริญปัญญา ก็จะได้รับหลักใจ

 เป็นที่พึ่งของตนต่อไป 

หลักใจที่เป็นที่พึ่งของเรานี้

 ก็มีอยู่หลายระดับด้วยกัน

 ระดับโลกียะก็มี ระดับโลกุตตระก็มี

ระดับโลกียะนี้ เป็นระดับที่

ยังมีการเจริญ มีการเสื่อมได้

ส่วนระดับโลกุตตระนี้

จะมีแต่การเจริญโดยถ่ายเดียว

ไม่มีเสื่อม จนถึงขั้นสูงสุด

หลักใจที่เป็นโลกียะคืออะไร

ก็คือสมาธิขั้นต่างๆ นั่นเอง

 ที่เราเรียกว่าญานขั้นต่างๆ

มีรูปฌาน ๔ มีอรูปฌาน ๔

มีนิโรธสมาบัติ

อันนี้เรียกว่าเป็นหลักใจที่เป็นโลกียะ

 เพราะว่ามีการเจริญและมีการเสื่อมได้

ถ้าไม่รักษาไว้ ทิ้งไว้

 ฌานก็จะเสื่อมไป หมดไปได้

 หรือเข้าไปในฌานแล้ว

ก็จะสงบได้ในระยะหนึ่ง

 หลังจากนั้นก็ต้องถอยออกมา

กลับมาสู่วาระปกติของจิต

ถ้าอยากจะกลับเข้าไป

 ก็ต้องเจริญสติใหม่

 ต้องนั่งสมาธิใหม่

ก็จะกลับเข้าไปสู่ความสงบ

 ที่เป็นหลักใจได้ชั่วคราว

 แต่ถ้าอยากจะได้หลักใจ

ที่ถาวร ที่ไม่เสื่อม

 ก็จำเป็นจะต้อง

เจริญหลักธรรมขั้นที่สูงกว่า

 ก็คือต้องเจริญปัญญา

ต้องพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พิจารณาอริยสัจ ๔ พิจารณาอสุภะ

 ถ้าได้เจริญปัญญาแล้ว

ก็จะได้ก้าวเข้าสู่โลกุตตรธรรม

 เข้าสู่หลักใจที่เป็นโลกุตตระก็คือจะไม่เสื่อม

ได้อะไรมาแล้วก็จะคงไว้ไม่มีวันเสื่อม

แต่ก็มีเป็นขั้นๆ เช่นเดียวกับของโลกียะ

โลกุตตรธรรมที่เป็นหลักใจ

ก็มีอยู่ ๔ ขั้นด้วยกัน

 ก็คือ ขั้นโสดาบัน ขั้นสกิทาคามี

ขั้นอนาคามี และขั้นอรหันต์

ถ้าได้เจริญหลักธรรม

จนได้บรรลุขั้นโสดาบันแล้ว

 ก็จะไม่มีวันเสื่อมจากการเป็นโสดาบัน

 แต่ถ้าอยากจะก้าวขึ้นสู่ธรรม

ขั้นที่สูงกว่าขั้นโสดาบันก็จำเป็น

ที่จะต้องเจริญปัญญาเพิ่มขึ้นไปอีก

 จนก้าวเข้าสู่ขั้นสกิทาคามี

ขั้นอนาคามีไป แล้วก็ในที่สุด

ก็ถึงขั้นอรหันต์ พอถึงขั้นอรหันต์แล้ว

ก็ไม่มีธรรมที่จะสูงกว่านี้

ที่จะต้องเจริญอีกต่อไป

ได้หลักใจที่สมบูรณ์แบบ

 ดับความทุกข์ ทุกชนิดได้หมดสิ้นไป

 ขั้นโสดาบันนี้

ยังดับความทุกข์ได้เพียงบางส่วน

 ยังไม่สามารถดับความทุกข์ได้หมด

 ขั้นสกิทาคามี

ก็ดับเพิ่มมากขึ้นไปอีกส่วนหนึ่ง

 ขั้นอนาคามีก็ดับเพิ่มขึ้นไปอีกส่วนหนึ่ง

แต่ก็ยังไม่หมด จะหมดก็ต่อเมื่อ

ได้ถึงขั้นอรหันต์เท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

 ลองเมื่อได้เข้าสู่ขั้นโสดาบันแล้ว

ก็จะเหมือนกับไฟที่ลุกแล้ว

ก็ไหม้เชื้อไปเรื่อยๆ จนกว่าเชื้อจะหมดไป

 ดังนั้นผู้ที่ได้เข้าสู่กระแสแห่งธรรม

ก็คือเข้าสู่ขั้นโสดาบันแล้ว

 คำว่าโสดานี้ก็แปลว่ากระแสนี่เอง

 กระแสแห่งพระนิพพาน

 กระแสน้ำที่จะพาให้ผู้ที่เข้าสู่กระแสนี้

ได้ลอยไปถึงพระนิพพาน

จะช้าหรือจะเร็วก็ขึ้นอยู่กับ

ความวิริยะ อุตสาหะ ความพากเพียร

ขึ้นอยู่กับกำลังของปัญญา

ว่ามีความฉลาดแหลมคมมากน้อยเพียงใด

บางท่านก็สามารถบรรลุ ๔ ขั้น

ได้ในเวลาอันใกล้ชิดอย่างรวดเร็ว

 ได้ขั้นที่ ๑ แล้วก็ก้าวเข้าสู่ขั้นที่ ๒

 ขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ ไปตามลำดับ

 แทบจะเรียกว่าเป็นเวลาเดียวกันเลย

ดังที่ได้มีนิทานแสดงไว้ในพระไตรปิฎก

ว่ามีพระรูปหนึ่ง ตอนที่ท่านปลงผม

 พอท่านปลงผม ลงมีดโกนครั้งแรก

ก็ได้บรรลุเป็นโสดาบัน

 พอมีโกนแตะศีรษะครั้งที่ ๒

 ก็ได้เป็นสกิทาคามี

พอครั้งที่ ๓ ก็ได้เป็นอนาคามี

พอครั้งที่ ๔ ก็ได้เป็นพระอรหันต์

อันนี้คือเรื่องของการเจริญหลักใจ

 บรรลุมรรคผล นิพพาน

 บรรลุโลกุตตรธรรม

ของแต่ละบุคคลของแต่ละท่านนี้

มีวาระ มีเวลาที่ไม่เหมือนกัน

 บางท่านก็เร็วหน่อย

 บางท่านก็ช้าหน่อย

 อย่างที่ครั้งแรกที่พระพุทธเจ้า

ได้ทรง แสดงพระธรรมเทศนา

เผยแผ่ธรรมะให้แก่สัตว์โลก

โดยมีพระปัญจวัคคีย์ ๕ รูป เป็นผู้รับฟัง

หลังจากที่ได้ทรงแสดงธรรมเสร็จแล้ว

 ทรงแสดงอริยสัจ ๔ ทรงแสดงมรรค ๘

 ทรงแสดงอนิจจัง ความไม่เที่ยง

ก็ปรากฏมีหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์

 ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นมา

แต่อีก ๔ รูปยังไม่ได้บรรลุ

อันนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง

ของระดับสติปัญญาของแต่ละบุคคล

 ว่ามีไม่เท่ากัน ผู้ใดมีสติปัญญา

ก็กับเหมือนมีภาชนะ

ที่จะรองรับธรรมะอันประเสริฐ

ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเทใส่ให้

 ถ้าไม่มีภาชนะก็จะไม่สามารถ

เก็บธรรมะอันประเสริฐ ที่ได้ทรงเทใส่ให้ได้

ก็ยังไม่ได้มีหลักใจ

มีเพียงองค์เดียวที่มีภาชนะ

คือพระอัญญาโกณฑัญญะ

มีปัญญาที่ฟังแล้วเข้าใจความหมาย

ของความไม่เที่ยง

 เข้าใจความหมายของความทุกข์

ที่เกิดจากการไปยึดไปติด

อยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า

 ถ้ายึดกับสิ่งใดที่ไม่เที่ยงแล้ว

 ย่อมต้องมีความทุกข์ตามมา

ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องไม่ยึดไม่ติด

 ต้องเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้

 เป็นของไม่เที่ยงนั่นเอง

ก็คือเห็นอนิจจัง เห็นว่ามีเกิดต้องมีดับ

ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องพร้อมที่จะรับ

กับสิ่งที่จะต้องดับที่จะตามมาต่อไป

 ถ้าไม่อยากพบกับสิ่งที่ต้องดับ

ก็อย่าไปเอาสิ่งที่ต้องดับมาก็เท่านั้นเอง

อันนี้ก็เรื่องของปัญญาของแต่ละท่าน

แต่หลังจากที่พระพุทธเจ้า

ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอีกครั้งหนึ่ง

 ครั้งนี้แสดงอนัตตลักขณสูตร

 แสดงให้เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลาย

เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ไม่มีเป็นของใคร

 เป็นสิ่งที่มีเกิดมีดับ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 ควบคุมบังคับไม่ได้ ถ้ายึดถ้าติด

 ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 พระปัญญวัคคีย์ทั้ง ๕

ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์

ขึ้นมาได้พร้อมกันเลย

 อันนี้ก็เป็นเรื่องของการได้หลักใจขั้นต่างๆ

 ตามแต่กำลังของแต่ละท่าน

 อย่างพระอานนท์นี้

ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

ตอนที่ยังรับใช้อุปปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่

 แต่ก็ไม่ได้บรรลุถึงขั้นพระอรหันต์

จนถึงหลักจากที่พระพุทธเจ้า

ได้เสด็จดับขันธ์จากโลกนี้ ไปแล้ว

 ท่านเป็นโสดาบันต้อง ๒๐ กว่าปีด้วยกัน

 เพราะท่านไม่มีเวลาที่จะไปปลีกวิเวก

ที่จะไปเจริญปัญญา

 เพื่อให้ได้ธรรมขั้นสูงต่อไป

 แต่พอหลังจากที่พระพุทธเจ้า

ได้ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

ก็มีเวลาที่ออกไปปลีกวิเวก

 ไปเจริญสติ สมาธิ ปัญญา

 เจริญปัญญาขั้นที่สูงกว่า

ขั้นของพระโสดาบัน

 ก็คือเจริญอสุภะ ถ้าเจริญอสุภะได้

ก็จะได้ขั้นสกิทาคามี และขั้นอนาคามี

 แล้วถ้าเจริญอนัตตาได้

ก็จะได้ ขั้นอรหันต์ตามต่อไป

ท่านก็สามารถเจริญได้

ภายในระยะเวลา ๓ เดือน

จากขั้นโสดาบันขึ้นไป

แต่ ๒๕ ปีที่รับใช้พระพุทธเจ้านั้น

ไม่มีเวลาที่จะไปเจริญ ไปปลีกวิเวก

 ใจไม่ได้พิจารณาอสุภะ

ไม่ได้พิจารณาอนัตตา

มัวหมกมุ่น อยู่กับการอุปถัมภ์

อุปปัฏฐากพระพุทธเจ้า

ก็เลยทำให้บรรลุธรรมได้เป็นคนสุดท้าย

 ในบรรดาพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป

 ที่จะมาร่วมสังคายนาพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้า ๓ เดือน

หลังจากที่พระพุทธเจ้า

ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

นี่ก็คือเรื่องของการเจริญหลักธรรม

เพื่อให้ได้หลักใจ

ระยะเวลาของแต่ละท่านนี่

จึงมีเวลาที่ต่างกัน

อย่างในท้ายพระสูตรของสติปัฏฐานสูตร

 พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสไว้แล้วว่า

 ถ้าผู้ใดสามารถเจริญหลักธรรม

คือ สติ สมาธิ และปัญญา

ตามที่ทรงแสดงไว้ในสติปัฏฐานสูตรได้

 ผู้นั้นย่อมสามารถบรรลุหลักใจได้

ถ้าไม่ ๗ วัน ก็ ๗ เดือน

ถ้าไม่ ๗ เดือน ก็ ๗ ปีเป็นอย่างมาก

อันนี้ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ของแต่ละท่าน

 ขึ้นอยู่กับศรัทธา วิริยะ ที่จะมีกำลัง

ที่จะเจริญสติ สมาธิ ปัญญา

 ได้มากน้อยเพียงใด ได้รวดเร็วเพียงใด

 แต่ผลเมื่อได้แล้วก็จะเท่ากันหมด

 เหมือนกับผู้ที่รับปริญญา

จะรับปริญญาปีนี้ ปีหน้า

หรือปริญญาปีที่แล้ว

 ปริญญาก็มีน้ำหนักเท่ากัน

 มีคุณค่าเท่ากัน

หลักใจที่แต่ละบุคคลจะพึงได้รับ

ก็เป็นอย่างนั้น

จะได้หลักใจในสมัยพุทธกาล

หรือจะได้หลักใจ ในสมัยปัจจุบันนี้

ก็เป็นหลักใจอันเดียวกัน

มีคุณค่ามีคุณสมบัติอย่างเดียวกัน

 ก็คือดับความทุกข์ภายในใจ

ได้เช่นเดียวกัน

นี่คือเรื่องของการเจริญหลักธรรม

เพื่อให้เกิดหลักใจตามมา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๖

“หลักธรรม หลักใจ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 13 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2559 6:02:03 น.
Counter : 795 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ