Group Blog
All Blog
### ความจริงที่แท้จริง ###








"ความจริงที่แท้จริง"

พวกเราต้องมีหลักยึดในการดำเนินชีวิต

ต้องมีธรรมะความถูกต้องเป็นหลักยึด

 ถ้าเกรงใจกันจะทำให้เกิดความเสียหายได้

 อย่างที่หลวงตาท่านพูดไว้ว่า

ท่านเกรงธรรม ท่านไม่เกรงใจคน

 ถ้าเกรงใจคนธรรมก็แหลก

ที่พวกเราปฏิบัติกันอยู่นี้

ก็ปฏิบัติเพื่อให้มีธรรมะเป็นหลักยึด

 เป็นที่พึ่งของจิตใจ ถ้าใจมีที่พึ่งใจจะสงบ

 ไม่วุ่นวาย เพราะธรรมะเป็นความจริง

 สิ่งอื่นๆไม่เป็นความจริง

พวกเราอยู่ในโลกของความจริง

และความไม่จริง

 ความไม่จริงก็คือสมมุติทั้งหลาย

ไม่เป็นความจริงที่แท้จริง

 เป็นความจริงชั่วคราว สมมุติกันขึ้นมา

ความจริงที่แท้จริงก็คือธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

ประกอบด้วยธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟทั้งนั้น

 ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย เป็นสิ่งของต่างๆ

ล้วนมาจากธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟทั้งนั้น

พอประกอบกันขึ้นมาแล้ว

 ก็ถูกสมมุติว่าเป็นชายเป็นหญิง

 เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูกเป็นหลาน เป็นพี่เป็นน้อง

 เป็นสามีเป็นภรรยา เป็นกษัตริย์

 เป็นประชาชน เป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี

 เป็นส.ส. เป็นสมมุติทั้งนั้น

เป็นความจริงชั่วคราว พอร่างกายหยุดทำงาน

ธาตุทั้ง ๔ ก็จะแยกออกจากร่างกายไป

 เอาไปเผาก็เหลือแต่ขี้เถ้า

ไม่มีแล้วคนๆนั้น นายคนนั้น จะเป็นใครก็ตาม

 เพราะความจริงที่แท้จริงก็คือ

 เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เท่านั้นเอง

ถ้ารู้อยู่กับความจริงที่แท้จริง ว่าโลกนี้

เป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ

มีการเปลี่ยนแปลง

 ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ถ้าไปยึดติด

ว่าเป็นตัวเราของเรา เป็นพ่อเป็นแม่เรา

 เป็นลูกเรา เป็นสามีเรา เป็นภรรยาเรา

 เป็นครูบาอาจารย์เรา ก็จะไม่หลง จะไม่ทุกข์

ถ้าไม่รู้อยู่กับความจริงที่แท้จริง

 คือธรรมะ ก็จะหลงสมมุติ จะยึดติดกับสมมุติ

 พอสมมุติสลายตัวไป หมดสภาพไป

ก็จะเกิดความทุกข์

 เกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา

ขณะที่อยู่ด้วยกัน

ก็ทุกข์ด้วยความวิตกกังวลห่วงใย

 เพราะว่าไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 เพราะมีปัจจัยหลากหลาย

ที่จะทำลายสมมุติ พวกเราจึงควรมอง

ไปที่ความจริงที่แท้จริง

ว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

ไม่มีใครอยู่ในธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

ผู้ที่มาครอบครองธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟนี้

 ไม่ได้เป็นธาตุ ๔ แต่เป็นธาตุที่ ๕

 เรียกว่าธาตุรู้ คือใจ

ใจเป็นผู้ที่มาครอบครองร่างกาย

พอร่างกายแตกดับไป

 ใจก็แยกจากไปเท่านั้นเอง

จะไปไหนต่อก็ขึ้นอยู่กับความรู้

ความสามารถของใจแต่ละดวง

ก็จะไปได้ ๓ ทางคือ

๑. ไปสวรรค์

 ๒.ไปนรกไปอบาย

 ๓. ไม่ไปไหนเลย

ไม่ไปสวรรค์ ไม่ไปนรก ยุติการไป

เช่นพระพุทธเจ้าพระอรหันต์

ท่านไม่ไปสวรรค์ ไม่ไปนรก

 ท่านหยุดการเวียนว่ายตายเกิด

หยุดการเดินทางของธาตุรู้คือใจ

 ไม่ไปรวมกับธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟอีกต่อไป

เพราะท่านมีความรู้ที่แท้จริง

ว่าการดิ้นรนแสวงหาสมมุติต่างๆนั้น

ไม่มีคุณค่าอะไรเลย

 ไม่เป็นประโยชน์สุขกับจิตใจเลย

 เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 ที่มีแต่ให้ความทุกข์กับจิตใจ

พอได้ร่างกายมาแล้วก็ต้องแบกหามร่างกาย

 ตั้งแต่วันเกิดไปจนถึงวันตาย

เป็นภาระหนักมาก ภาราหเว ปัญจักขันธา

 ใจเป็นผู้แบกภาระของร่างกาย

 ต้องคอยดูแลเลี้ยงดูร่างกาย

พอออกจากท้องแม่มาก็ต้องหายใจ

 ต้องรับประทานอาหาร ดื่มนม ดื่มน้ำ

 ต้องรับประทานยาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย

 ต้องหาเสื้อผ้ามาสวมใส่

ต้องคอยชำระร่างกาย

เพราะมีสิ่งสกปรกปฏิกูล

 ที่ถูกขับออกมาจากร่างกายตลอดเวลา

 ถ้าไม่ชำระอยู่เรื่อยๆก็จะส่งกลิ่นเหม็น

ที่ได้ร่างกายมาก็เพราะอำนาจของความหลง

 ไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้มาเป็นทุกข์ ไม่ได้เป็นสุข

 เป็นดินน้ำลมไฟ นานๆจะมีคนฉลาด

อย่างพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ความจริงนี้

มารู้ว่าใจเป็นผู้หลงแบกธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 เป็นเวลาอันยาวนาน พอเสียธาตุ ๔ ไป

ก็หามาใหม่ ไปเกิดใหม่

ทำอยู่อย่างนี้มาเป็นเวลาอันยาวนาน

ต้องทุกข์กับการแบกหามธาตุ ๔

มาอย่างโชกโชน น้ำตาที่ได้หลั่งออกมานี้

 ในแต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าเอามารวมกันแล้ว

ท่านว่ามันมากกว่าน้ำในมหาสมุทร

 แสดงว่าร่างกายที่ใจได้มาแบกนี้

 มีจำนวนมากมายมาก

คิดดูสิว่าชาติหนึ่งจะหลั่งน้ำตาออกมา

ได้ถึงขันหนึ่งหรือไม่

 แล้วต้องใช้น้ำตากี่ล้านกี่แสนล้านขัน

ถึงจะได้น้ำเท่ากับน้ำในมหาสมุทร

นั่นแหละคือจำนวนร่างกาย

คือธาตุขันธ์ ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

ที่ใจได้แบกมา และจะแบกต่อไปเรื่อยๆ

 ถ้าไม่สอนใจให้ฉลาด ให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง

เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่มีตัวตน

ไม่ใช่ตัวเราของเรา

 ตัวเราไม่ได้อยู่ในธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

ไม่ได้อยู่ในร่างกาย ร่างกายไม่ได้ให้ความสุข

 มีแต่จะให้ความทุกข์

มีเกิดแล้วก็ต้องมีแก่มีเจ็บมีตายตามมา

ถ้าสอนใจอยู่เรื่อยๆก็จะปล่อยวางร่างกายได้

จะเข้าสู่ความสุขที่แท้จริงคือความสงบ

ที่เกิดจากการปล่อยวางร่างกายของตน

และของคนอื่น ปล่อยวางสิ่งของต่างๆ

ไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้มาให้ความสุข

 เพราะความสุขที่ได้กับความทุกข์ที่ได้ไม่คุ้มกัน

 ความสุขที่ได้นี้ได้เพียงเล็กน้อย

 แต่ได้ความทุกข์มากกว่าหลายร้อยเท่า

ถ้ามีความรู้ที่ถูกต้องคือมีปัญญา

 ก็จะเบื่อกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ จะไม่อยากได้

ไม่อยากมีอยากเป็น อยากได้อย่างเดียว

ก็คือความสงบ ที่เป็นความสุขที่แท้จริง

 เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลาย

ที่สิ่งต่างๆและบุคคลต่างๆในโลกนี้

จะสามารถให้ได้

ความสุขนี้ชนะความสุขทั้งปวง

 ความสุขนี้แหละคือรสแห่งธรรม

 ที่ชนะรสทั้งปวง

 ธรรมก็คือความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

 ที่พวกเราต้องคอยศึกษาอยู่เรื่อยๆ

การศึกษาเบื้องต้นก็เกิดจาก

การฟังเทศน์ฟังธรรม หรืออ่านหนังสือธรรมะ

 เป็นสุตมยปัญญา เป็นความรู้

ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังธรรม

เช่นรู้ว่าความจริงกับความไม่จริงเป็นอย่างไร

 ความไม่จริงก็คือสมมุติทั้งหลาย

ความจริงก็คือธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

ที่ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ถ้าไปยึดติด

 พอทราบแล้วก็ต้องเอามาพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

 เจริญอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่พิจารณาต่อก็จะลืมได้

 เวลาไปทำกิจกรรมต่างๆ

 จะไม่มีเวลามาคิดถึงความจริงที่แท้จริงนี้

จะไปคิดกับความจริงที่ไม่แท้จริง

ไปคิดเรื่องข้าวของเงินทอง เรื่องบุคคลต่างๆ

ไปตามความหลง ความยึดติดความอยากได้

 อยากรักษาให้สิ่งต่างๆอยู่กับตนไปนานๆ

ก็จะลืมความจริงที่แท้จริงไป

การฟังเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถทำให้

ใจเห็นความจริงได้ตลอดเวลา

ดังนั้นหลังจากได้ยินได้ฟังแล้ว

ก็ต้องเอามาใคร่ครวญพิจารณาอยู่เนืองๆ

ในเวลาที่ไม่ต้องคิดเรื่องภารกิจการงานต่างๆ

 ก็ควรคิดถึงความจริงที่แท้จริงนี้อยู่เรื่อยๆ

 ว่าเราอยู่ในโลกของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ แม้กระทั่งร่างกายของเรานี้

 ก็เป็นดินน้ำลมไฟ

ผู้พิจารณานี้ไม่ได้เป็นดินน้ำลมไฟ

 แต่เป็นธาตุรู้ เป็นผู้รู้ ที่มีชื่อสมมุติว่าใจ

 เป็นผู้ที่มาครอบครองร่างกาย

 แล้วก็ใช้ร่างกายนี้ไปครอบครองสิ่งต่างๆ

 ต้องคอยสอนใจว่า

 ทุกสิ่งทุกอย่างมีวันสิ้นสุดลง

ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา

 หรือร่างกายของคนอื่น

จะต้องมีวันหมดสิ้นไป ต้องสลายไป

ถ้าคิดอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่หลงยึดติด

ไม่อยากได้สิ่งต่างๆ มาให้ความสุขกับเรา

 เพราะความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

 ความจริงจะให้ความทุกข์กับเรา

ได้อะไรมาแล้วใจจะทุกข์กับสิ่งนั้นทันที

ทุกข์เพราะไปยึดติดว่าเป็นของเรา

 สิ่งที่ไม่ใช่เป็นของเรานี้เราจะไม่ทุกข์ด้วยเลย

 บ้านคนอื่นจมน้ำเราก็ไม่ทุกข์

แต่ถ้าเป็นบ้านของเราจะทุกข์ขึ้นมาทันที

 เพราะไปยึดว่าเป็นของเรา

จึงต้องคิดเสมอว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา

 ทุกอย่างที่มีอยู่นี้

เป็นของยืมมาใช้ชั่วคราวเท่านั้นเอง

ร่างกายนี้ก็ยืมเขามา ยืมดินน้ำลมไฟมา

 ต่อไปธาตุ ๔ ในร่างกายก็จะต้องแยกทางกันไป

สมบัติข้าวของเงินทองบริษัทบริวารบุคคลต่างๆ

เราก็ต้องจากเขาไป หรือไม่เช่นนั้น

เขาก็ต้องจากเราไป จึงไม่มีอะไรเป็นของเรา

 สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง

มีเกิดมีดับ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 สัพเพ สังขารา อนิจจา

 สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นความทุกข์

 สัพเพ สังขารา ทุกขา

พอยึดว่าเป็นของเราจะเกิดความทุกข์ทันที

พอเป็นพ่อเรา แม่เรา ลูกเรา สามีเรา

ภรรยาเรา ก็จะทุกข์ทันที

ถ้าเป็นของคนอื่นจะไม่ทุกข์

ถ้าอยากจะอยู่อย่างมีความสุข

ไม่มีความทุกข์ ก็ต้องไม่หลงยึดติดสิ่งต่างๆ

 แม้แต่ร่างกายของเรา ให้คิดเสมอว่า

เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

ลทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มาจากธาตุ ๔

 ดินน้ำลมไฟทั้งนั้น มารวมกันแล้ว

 ไม่นานก็แยกจากกันไป

ไม่ว่าจะสร้างอะไรกันขึ้นมา

 ใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม

เวลาจะค่อยๆทำลายไปหมด

 อาณาจักรต่างๆที่มีในอดีต

ก็เสื่อมสลายหายไปหมด

เหลือแต่ซากปรักหักพังไว้เป็นอนุสรณ์

นานๆเข้าไปก็จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย

แม้แต่โลกนี้ก็เช่นเดียวกัน

สักวันหนึ่งก็จะต้องสูญสลายไป

มีสิ่งเดียวที่ไม่ได้เสื่อมสลายไป ก็คือธาตุรู้

เป็นธาตุรู้อยู่เสมอ เพียงแต่ว่าจะรู้แบบไหน

 รู้จริงหรือรู้หลง

ถ้ารู้หลงก็จะผลิตความทุกข์ให้กับธาตุรู้

 ถ้ารู้จริงก็จะไม่ผลิตความทุกข์ จะรู้เฉยๆ

จะไม่ยึดติดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวเราเป็นของเรา

 นี่คือสิ่งที่เราต้องใคร่ครวญอยู่เรื่อยๆ

แต่ในชีวิตของฆราวาสญาติโยม

ที่ต้องทำมาหากิน โอกาสที่จะคิดเรื่องเหล่านี้

 แทบจะไม่มีเลย เพราะมัวแต่คิดเรื่องภารกิจ

การงาน การเลี้ยงดูชีวิตของตนเอง

และของครอบครัว การหาความสุข

ตามอำนาจของกิเลสตัณหา

 จะไม่มีเวลาคิดเรื่องความจริงที่แท้จริงนี้ได้เลย

จะคิดแต่เรื่องของสมมุติอยู่เรื่อยๆ

 คิดถึงเรื่องของสามี ของภรรยา

 ของลูก ของบิดา ของมารดา ของเพื่อน

 ของครูบาอาจารย์ ของคนนั้น ของคนนี้

ล้วนแต่เป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น

ถ้าจะคิดได้บ่อยๆ จำเป็นต้องปล่อยวาง

ภารกิจการงานที่ไม่จำเป็นลงไป

ให้มีเวลาเป็นตัวของตัวเองบ้าง

ให้มีเวลามาคิดพิจารณาถึงความจริงที่แท้จริง

จะได้เป็นจินตามยปัญญา แต่ก็ยังไม่พอเพียง

ต่อการที่จะทำให้ใจรู้ทันความหลง

 ทำลายความหลง ที่คอยดึงใจ

ให้ไปหลงยึดติดกับสมมุติต่างๆได้

ถ้าอยากจะให้ใจทำลายความหลงได้

ก็ต้องพิจารณาตลอดเวลา

พิจารณาทุกลมหายใจเข้าออก

 ถึงจะเป็นภาวนามยปัญญา

 อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์

ให้คิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก

ก็คือให้พิจารณาอนิจจังของธาตุ ๔

ดินน้ำลมไฟนี้เอง

ความตายของร่างกายก็คืออนิจจัง

 ถ้าเห็นอนิจจังก็จะเห็นทุกขัง

 เห็นอนัตตา อนิจจังทุกขังอนัตตา

เป็นความจริงที่เกี่ยวเนื่องกัน

ถ้าเห็นว่าไม่เที่ยง ก็จะเห็นว่าเป็นทุกข์

 เป็นอนัตตา พวกเราไม่ชอบของไม่เที่ยง

 ชอบแต่ของเที่ยง อยากจะให้ทุกอย่าง

เที่ยงแท้แน่นอน อยากจะให้เป็นเหมือนเดิม

 ให้เป็นสาวเป็นหนุ่มไปตลอด

 ไม่แก่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยไม่ตาย

แต่ความจริงไม่สนใจต่อความต้องการของเรา

 ความจริงย่อมเป็นไปตามความจริงเสมอ

 ถ้าต้องการจะยุติความหลง

ที่ทำให้คิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา

ว่าร่างกายจะไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

 ก็ต้องคิดอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกว่า

ร่างกายนี้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา

 จะคิดอย่างนี้ได้ก็ต้องปล่อยวาง

ภารกิจอื่นๆทั้งหมด

 จะปล่อยด้วยการออกบวชก็ได้

ถ้าไม่บวชก็ปล่อยที่บ้านก็ได้

 ต้องไม่ทำภารกิจอื่น

นอกจากการเดินจงกรมนั่งสมาธิเท่านั้น

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................

กัณฑ์ที่ ๔๓๗ วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๕

 (จุลธรรมนำใจ ๒๘)

"ความจริงที่แท้จริง"







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 30 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2559 12:44:15 น.
Counter : 810 Pageviews.

0 comment
### ที่พึ่งทางใจ ###









“ที่พึ่งทางใจ”

พวกเราเป็นพุทธศาสนิกชน

 มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา

 ทำไมพวกเราจึงต้องมีพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่ง

 ถ้าเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้า

 พระอรหันตสาวก

 พวกเราเปรียบเหมือนกับ

คนที่ยังมีความมืดบอดอยู่ เหมือนคนตาบอด

 ส่วนพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวก

 ท่านเปรียบเหมือนกับคนตาดี ตาสว่าง

 เราจึงต้องอาศัยคนตาดี ตาสว่างเป็นผู้นำทาง

 คนตาบอดจะไปไหนมาไหนตามลำพัง

ย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ไม่สามารถที่จะไปได้โดยสวัสดิภาพ

 เพราะมองไม่เห็นทางนั่นเอง

 ฉันใดพวกเราผู้เป็นปุถุชนคนธรรมดา

ที่เกิดมาในโลกนี้ ยังมีความมืดบอดอยู่

 ยังไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไรอย่างแท้จริง

 ถึงแม้จะมีความปรารถนาเหมือนๆกัน

 คือปรารถนาที่จะมีแต่ความสุขความเจริญ

ไม่ปรารถนาที่ประสบกับความทุกข์

 ความเสื่อมเสีย ความหายนะทั้งหลาย

 แต่ทำไมชีวิตของพวกเรา

จึงไม่เป็นไปตามที่เราปรารถนากัน

นั่นก็เป็นเพราะว่าเรายังไม่รู้จริง

ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นความสุข

 เป็นความเจริญ

 อะไรเป็นสิ่งที่เป็นความทุกข์

เป็นความหายนะ เป็นความเสื่อมเสีย

เรามักจะมองเห็น

สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความจริง

 มักจะเห็นสิ่งที่เป็นสุขว่าเป็นทุกข์

เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข

 เราจึงมักจะคว้าเอาแต่กองทุกข์เข้ามาสุมหัวใจ

 เพราะไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งต่างๆ

ที่เราไปหลง ไปยึด ไปติด

 โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับเรานั่นเอง

 เราจึงต้องอาศัยพระศาสนาเป็นที่พึ่ง

 เป็นผู้ที่นำทางให้กับเรา

ถ้าเรามีพระศาสนาอยู่ในใจของเราแล้ว

 เราจะรู้จักแยกแยะ

ว่าอะไรคือสุข อะไรคือทุกข์

 อะไรเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข

 และอะไรเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความทุกข์

ถ้าเรามีพระพุทธเจ้า มีพระอรหันตสาวก

เป็นผู้นำทางแล้ว การเดินทางของชีวิตเรา

ก็จะเป็นไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม

ไปสู่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง

เราจึงต้องเข้าหาพระศาสนา

 ยึดพระศาสนาไว้เป็นที่พึ่งของเรา

 เป็นแบบฉบับ เป็นผู้นำทาง

เราจึงต้องศึกษาพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้าอย่างสม่ำเสมอ

 เช่นทุกๆวันพระ เราควรฟังเทศน์ฟังธรรม

อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการเตือนสติ

 เพื่อให้เรารู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร

 เพราะว่าถ้าเราไม่ได้ยินได้ฟังธรรมแล้ว

 จิตใจของเราจะถูกความมืดครอบงำ

 ความมืดก็คือความหลงนี่เอง

ความหลงคืออวิชชา

ความไม่รู้สภาพความเป็นจริง

ของความสุขและความทุกข์

 ซึ่งมักจะหลอกให้เราไปแสวงหา

ความทุกข์มากกว่าความสุข

นี่คือธรรมชาติของความหลง

 ของความมืดบอด สิ่งที่จะสามารถทำลาย

ความมืดบอดความหลงนี้ได้ก็คือ

แสงสว่างแห่งธรรม คือพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้านั่นเอง

เหมือนกับแสงที่เราใช้ในยามค่ำคืน

ถ้าเราเปิดไฟไว้ความมืดก็จะไม่เข้ามา

 แต่ถ้าเราปิดไฟความมืดก็จะเข้ามาทันที

 ฉันใดการที่เราไม่ได้ยินได้ฟังธรรม

อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง

ก็เท่ากับเป็นการปิดไฟในยามค่ำคืน

 ถ้าปิดไฟในยามค่ำคืนมันก็จะมืด

 จะมองไม่เห็นอะไร

แต่ถ้าเปิดไฟอยู่ตลอดเวลา

 ก็จะมีแสงสว่างในยามค่ำคืน

 ทำให้เห็นอะไรต่างๆได้

 เราจึงต้องฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ

 เพระเป็นการให้แสงสว่างกับใจ

 ถ้ามีแสงสว่างภายในใจแล้ว

 เราก็จะรู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรจะทำ

 อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควร

 และเมื่อเราทำในสิ่งที่ดีที่งาม

 และไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามแล้ว

 ผลที่จะตามมาย่อมเป็นไปตามเหตุนั้นๆ

 ทำดีย่อมได้ดีทำชั่วย่อมประสบกับ

ความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความหายนะ

 นี่เป็นหลักความจริงของโลกนี้

ที่ท่านเรียกว่าหลักกรรม

หลักกรรมเป็นสิ่งตายตัว เป็นของคู่กัน

ระหว่างเหตุกับผล

เมื่อกระทำอะไรไปแล้วผลย่อมตามมา

เป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะปฏิเสธได้

 มาห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้

 จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม นี่เป็นความเป็นจริง

ตราบใดที่ยังมีการกระทำอยู่

ตราบนั้นก็จะมีผล

คือความสุขและความทุกข์

 ความเจริญหรือความเสื่อมตามมา

 การกระทำก็คือการกระทำทางกาย

 ทางวาจา และทางใจ เป็นเหตุ

 เมื่อทำไปแล้วก็จะมีผลตามมา

 ผลก็มีทั้งสุข และมีทั้งทุกข์

ขึ้นอยู่กับเหตุว่าเหตุที่ทำนั้น

เป็นเหตุที่ดีหรือเป็นเหตุที่ไม่ดี

ถ้าเป็นเหตุที่ดี คือ คิดดี พูดดี กระทำดีแล้ว

 ผลที่จะตามมาก็คือความสุข ความเจริญ

 ในทางตรงกันข้าม ถ้าคิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี

 ผลที่จะตามมาก็คือความทุกข์ ความเสื่อมเสีย

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับพวกเราทุกๆคน

กับชีวิตของเราทุกๆ วัน

ชีวิตของเรามีทั้งความสุข

และความทุกข์สลับกันไป

 แต่เรามักจะไม่มองว่า

ความสุขและความทุกข์ของเรา

เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา

นั่นเป็นเพราะว่าเรามีความมืดบอด

 มีความหลงอยู่ในใจเรา

เราจึงมักจะไปโทษสิ่งอย่างอื่น

 ไปโทษผู้อื่นว่าเป็นเหตุ

ทำให้เรามีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง

เราจึงออกไปแสวงหาสิ่งต่างๆ จากภายนอก

เพื่อที่จะทำให้เรามีความสุข

 แต่เราหารู้ไม่ว่าสิ่งต่างๆ

 ที่เราคิดว่าเป็นความสุขนั้น

 ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นความทุกข์

เพราะโดยธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างนั้น

พระพุทธองค์ทรงสอนว่าเป็นทุกข์

ซึ่งเป็นหนึ่งในไตรลักษณ์

คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไปเกี่ยวข้อง

 ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น

ทางกาย หรือทางใจก็ตาม

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง

มีการแปรปรวน ไม่นิ่งอยู่กับที่

มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

ก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถ ไปบังคับ

ไปควบคุมให้เป็นไป

ตามความต้องการของเราได้

 เมื่อเราไปยึดไปติดกับสิ่งที่เราชอบ

 เรารัก เรายินดี แต่เมื่อสิ่งนั้นอยู่ภายใต้กฎ

ของความเป็นของไม่เที่ยง

เป็นของที่ไม่อยู่ในการควบคุมของเรา

เราก็จะต้องทุกข์กับของนั้นๆ

 ของนั้นไม่ช้าก็เร็ว

 ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป

และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไป

ถ้าเรายังหลงยึดติดอยู่กับของเดิมอยู่

เราก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

 เพราะสิ่งที่เราเคยรักนั้น

ไม่เป็นไปดังที่เคยเป็นเสียแล้ว

 เขาได้เปลี่ยนไปแล้วด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

 บางสิ่งที่เคยมีอยู่ อยู่ๆก็หายไป

 บางสิ่งมีอยู่ไม่หายไป

แต่ก็เกิดชำรุดทรุดโทรมขึ้นมา

 ไม่สามารถทำประโยชน์ได้ดังเคย

 สิ่งเหล่านั้นก็เลยกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา

 ทั้งๆที่โดยธรรมชาติของตัวเรา

หรือของใจเรานั้น

 ไม่ต้องมีอะไรมากมายก็สามารถอยู่ได้

 เพราะใจโดยธรรมชาตินั้น

ไม่มีความจำเป็นจะต้องพึ่งอะไร

ให้ความสุขกับใจ

 เพราะความสุขของใจจะขึ้นอยู่กับ

ความสงบของใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ตราบใดใจยังไม่สงบ

ใจจะหาความสุขไม่ได้

 ต่อให้มีข้าวของเงินทองกองเท่าภูเขา

ก็จะไม่มีความสุขกับสิ่งเหล่านั้น

 เราอาจจะมีความรู้สึกดีอกดีใจ

ในขณะที่ได้สิ่งเหล่านั้นมา

 แต่ในขณะเดียวกัน

เราก็จะกลายเป็นผู้ที่มีความทุกข์

 มีความห่วงใยกับสิ่งเหล่านั้น

 เพราะเมื่อไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านั้นแล้ว

ก็ต้องอยากจะให้สิ่งเหล่านั้น

อยู่กับเราไปเสมอ อยู่กับเราไปตลอด

เพราะเราได้ยึดสิ่งเหล่านั้นเป็นที่พึ่งเสียแล้ว

 ทั้งๆที่ไม่จำเป็นจะต้องพึ่งเขาเลย

เมื่อหลงไปพึ่งเขาแล้ว

 ก็เลยเกิดมีความกังวลใจขึ้นมา

เพราะรู้อยู่ว่า สิ่งเหล่านี้

สักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป

 ต้องจากเราไป นี่ก็เป็นเพราะว่าใจของเรา

ได้ถูกความหลงหลอกให้ไปรัก ไปชอบ

ไปยินดีกับสิ่งต่างๆที่เราจะพึ่งพาอาศัยไม่ได้

 ยึดเป็นสรณะเป็นที่พึ่งไม่ได้

 เป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับเราไปไม่ได้ตลอด

 เพราะเราไม่มีแสงสว่างแห่งธรรม

เป็นเครื่องนำพาชีวิตของเราไปนั่นเอง

วันไหนถ้าห่างจากธรรมะ ไม่ระลึกถึงธรรมะแล้ว

ใจของเราก็จะถูกความหลง

ความมืดบอดพาไปทันที

 พาไปในทางที่จะทำให้เรา

มีแต่ความทุกข์เท่านั้น

เราจึงต้องเข้าหาธรรมะอย่างสม่ำเสมอ

อาทิตย์หนึ่งๆควรฟังเทศน์ฟังธรรม

อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง

หลังจากที่ฟังธรรมแล้ว

เราก็ต้องเอากลับไปกับเรา

 ไม่ใช่ทิ้งไว้ที่วัดนี้

สิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ต้องเอากลับไปคิดต่อ

ในขณะใดเวลาใดที่มีเวลาว่าง

จากภารกิจการงาน

 คือในขณะที่ใจไม่ต้องคิดเรื่องงานเรื่องการ

 เรื่องทำมาหากิน เราควรดึงใจให้คิดถึงพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ

 เพราะว่าเมื่อเราระลึกถึงธรรมะ

อยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว

 ก็เท่ากับจุดประกาย จุดแสงสว่างให้กับเรา

 เพราะการมาฟังเทศน์ฟังธรรม

เป็นเพียงแต่มาเอาแสงสว่างไป

เอาไฟฉายไป ถ้าเอาไฟฉายไปแล้ว

แต่ไม่เปิดไฟฉาย

 ไฟฉายก็จะไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา

 การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เช่นกัน

 ฟังธรรมแล้วต้องพยายามนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

ติดตัวไปด้วย สิ่งที่พอจะจำได้

ให้เอาไประลึกถึงอยู่เสมอ เตือนสติสอนใจเรา

 ให้เป็นเครื่องนำพาใจของเราไป

เพื่อเราจะได้ดำเนินชีวิตของเรา

 ไปในทางที่ถูกต้องดีงามต่อไป

ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

 ให้พุทธศาสนิกชนเจริญอยู่อย่างสม่ำเสมอ

มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน คือ

๑. ศรัทธา ความเชื่อ

 ๒. จาคะ การเสียสละ

 ๓. ศีล ความประพฤติดี ทางกายและวาจา

๔. ปัญญา ความรู้ความฉลาด

นี่คือธรรมะที่ชาวพุทธควรเจริญอยู่เสมอๆ

 ศรัทธาคือความเชื่อ ให้เชื่ออะไร

 ๑. ให้เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

ทรงเห็นเป็นของจริง

 เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง

๒.ให้เชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ว่าเป็นความจริงล้วนๆ

 ไม่ได้ทรงแต่งขึ้นมาหลอกพวกเรา

ให้ปฏิบัติไปโดยไม่มีผลอะไรตามมา

๓. ให้เชื่อในพระอริยสงฆ์สาวก

 ว่าเป็นผู้สืบทอดพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้า

 เป็นผู้รับคำสอนของพระพุทธเจ้า

มาประพฤติปฏิบัติ

จนได้บรรลุธรรมขึ้นมา มีดวงตาเห็นธรรม

 รู้จริง เห็นจริง

 เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น

 เป็นผู้ได้พิสูจน์เห็นแล้วว่า

พระพุทธเจ้าและพระธรรม

คำสอนเป็นของจริงล้วนๆ

 พร้อมด้วยเหตุคือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

 และผลคือความสุขความเจริญ

การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

สิ่งที่พระอริยสงฆ์สาวกสั่งสอน

 ก็เป็นสิ่งเดียวกับที่

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั่นเอง

 คือสอนให้มีจาคะ การเสียสละ ให้มีศีล

 ให้เจริญภาวนาพัฒนาจิตใจให้เกิดความรู้

ความฉลาดเกิดปัญญาขึ้นมา

เราควรระลึกอยู่เสมอว่า

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นของจริง

 ทรงสอนให้เรากระทำความดี ละเว้นความชั่ว

 และชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด

 คือชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง

 เป็นสิ่งที่เราควรน้อมเอามาประพฤติปฏิบัติ

ในเบื้องต้นทรงสอนให้เสียสละ

 การเสียสละเป็นการทำประโยชน์

ให้ทั้งกับตัวเราและผู้อื่น

เพราะว่าข้าวของคือปัจจัย ๔ ที่เรามีอยู่นั้น

 ถ้าเกินความจำเป็นต่อการดำรงชีพของเราแล้ว

 ถ้าเก็บไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับเรา

 นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว

ยังเป็นโทษกับเราอีกด้วย

โทษที่เราจะต้องคอยดูแลรักษา

 ทำให้เรามีความทุกข์ มีความกังวล

กับสมบัติข้าวของเงินทอง

ที่ไม่มีความจำเป็นกับการดำรงชีพของเรา

ถ้าเสียสละให้กับผู้อื่นแล้วจะทำให้ใจเราเบา

 หมดภาระที่จะต้องคอยดูแลสมบัติ

ข้าวของส่วนนั้นไป

ผู้ที่เราสงเคราะห์ช่วยเหลือ

ก็ได้ประโยชน์ ได้รับความสุข

จากข้าวของที่เหลือใช้นั้น

ปล่อยไว้เฉยๆก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 เอาไปให้ผู้ที่ยังมีความขาดแคลนอยู่

ให้เขาได้รับประโยชน์ เขาก็จะมีความสุข

 เมื่อเราให้ความสุขกับผู้อื่นแล้ว

ใจของเราก็จะมีความสุข

 เพราะนี่คือธรรมชาติของใจ

ใจยิ่งได้มากยิ่งมีความทุกข์มาก

 ยิ่งให้มากเท่าไรยิ่งมีความสุขมาก

ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้วพระเวสสันดร

จะไม่สามารถทำการเสียสละต่างๆได้

เวลาที่ท่านทำไปแล้วท่านมีความสุขใจ

ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถ

ที่จะสละพระราชสมบัติได้

ถ้าเราทุกคนคิดว่าการมีสมบัติ

มีข้าวของเงินทองมากๆ แล้วจะมีความสุขกัน

ก็จะไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้

จะไม่มีพระอริยสงฆ์สาวกมาออกบวช

มาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า

 เพราะว่าทุกคนจะมีแต่ความเห็นแก่ตัว

จะกอดรักษาทรัพย์สมบัติข้าวของๆตนไว้

อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมเสียสละให้กับใคร

ทั้งๆที่มีแต่ความทุกข์กับทรัพย์สมบัติเหล่านั้น

 เพราะความมืดบอดนั่นเอง

ที่ทำให้เรายึดติดกับทรัพย์สมบัติ

 เพราะกลัวความทุกข์ ความยาก ความลำบาก

 แต่แทนที่จะมีความสุข เรากลับจะมีความทุกข์

มากกว่าคนที่เสียสละเสียอีก

 เพราะเมื่อเสียสละไปแล้วจิตใจจะต้องเข้มแข็ง

จิตใจต้องกล้าหาญ จิตใจต้องมีความอดทน

ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ประเสริฐ

ใครมีความกล้าหาญ มีความเข้มแข็ง

มีความอดทน ย่อมไม่มีความหวั่นไหว

กับความทุกข์ ความยาก ความลำบาก

แต่คนที่มีแต่ความอ่อนแอ คิดแต่จะพึ่งสิ่งอื่นๆ

 ไม่เคยคิดที่จะพึ่งตัวเองเลย

 คนแบบนั้นจะเป็นคนที่จะมีแต่ความทุกข์

 ความยากลำบากไปตลอด

ดูพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกเป็นตัวอย่าง

 ก่อนที่ท่านจะออกบวช

ท่านก็เป็นคนอย่างเราอย่างท่าน

 มีสมบัติข้าวของเงินทอง

มีอะไรมากมายก่ายกอง

แต่เนื่องจากท่านเป็นคนฉลาด

 สามารถเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้

แทนที่จะให้ความสุข

 กลับเป็นความทุกข์ เป็นภาระมากกว่า

 ท่านถึงกล้าที่จะตัด

 ที่จะเสียสละสิ่งต่างๆเหล่านั้น

 แล้วออกบวชอยู่แบบขอทาน

 คือเอาเท่าที่จำเป็น

ยึดหลักความมักน้อยสันโดษ

 ขอให้มีพอเพียงต่อการดำรงชีพก็พอ

 คือมีปัจจัย ๔ อาหารก็ออกไปหาแต่ละวัน

ออกไปบิณฑบาต ได้มาเท่าไรก็ยินดีเท่านั้น

 พออยู่ได้ไม่ตาย แต่จิตใจจะสบาย

จิตใจจะไม่มีความกังวลกับเรื่องราวต่างๆ

 นี่คือเหตุผลทำไมถึงจะต้องเสียสละกัน

ทำไมถึงต้องมีจาคะ เพราะว่าการเสียสละ

จะทำให้ใจของเรามีความสบาย

 ถ้ามีแต่ความยึดติดในสมบัติข้าวของเงินทอง

เราจะมีแต่ความทุกข์ ความกังวลใจ

ประการต่อมา สิ่งที่เราพึงปฏิบัติ ก็คือ

ควรจะมีศีล ความประพฤติดี

ทางกายและวาจา เพราะการเป็นผู้มีศีล

จะทำให้ชีวิตของเรา

ดำเนินไปได้ด้วยความสงบ

 เพราะเมื่อเราไม่ไปสร้างเวรสร้างกรรม

 สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นแล้ว

เวรกรรมและความเดือดร้อนนั้น

ก็จะไม่กลับมาหาเรา

 คนที่มีศีลจะอยู่ได้ด้วยความสงบสุข

 ดังในอานิสงส์ของศีลที่แสดงว่า

 สีเลน นิพพุติงยันติ

ศีลเป็นเหตุนำมาซึ่งความดับทุกข์

ความวุ่นวายใจ

 คนที่ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร

 ก็จะมีแต่ความสบายใจ เพราะไม่มีความกังวล

 ว่าจะมีใครตามมาเอาผิดกับเรา

เพราะเราไม่ได้ทำความผิดนั่นเอง

 ต่างกับคนที่ทำความผิดมาแล้ว

 ถึงแม้ว่ายังไม่ถูกเขาจับ

แต่เห็นเจ้าหน้าที่เดินมา

ก็มีความทุกข์ใจแล้ว

คิดว่าเจ้าหน้าที่เขาจะมาจับเรา

 ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่

เขายังไม่รู้เรื่องของเราเสียด้วยซ้ำไป

 แต่เพราะว่าเราได้กระทำความผิดไปแล้ว

ในใจของเรา

 ใจของเราก็จะมีแต่ความหวาดวิตก

 มีแต่ความกลัว

ว่าจะต้องถูกเขาจับไปลงโทษนั่นเอง

 ถ้าต้องการที่จะอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุข

ก็ขอให้พยายามหักห้ามจิตใจของเรา

ถ้าต้องการอะไร

ก็ขอให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม

 อย่าไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อย่าไปลักขโมย

อย่าไปประพฤติผิดประเวณี

 อย่าไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น

อย่าไปเสพสุรายาเมา

ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้ขาดสติ

 เมื่อไม่มีสติแล้วจะไม่สามารถหักห้ามจิตใจได้

 ในขณะที่เกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา

 ถ้าจะทำอะไรที่ชั่วร้าย

ก็จะไม่มีสติพอยับยั้งจิตใจได้

จึงควรมีสติด้วยการอยู่ให้ห่าง

จากพวกของมึนเมาทั้งหลาย

 เมื่อมีสติแล้วเราก็จะสามารถ

ควบคุมจิตใจของเรา

 ไม่ให้ไปกระทำอะไรนอกลู่นอกทาง

ที่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนทั้งหลายต่อไป

ประการสุดท้ายทรงสอนให้เจริญปัญญา

 ความรู้ความฉลาด ด้วยการศึกษาเล่าเรียน

 ดังที่ท่านได้มาฟังเทศน์ฟังธรรมกันนี้

 ก็เป็นการศึกษา ความรู้ทางพระพุทธศาสนา

 ศึกษาให้รู้ถึงเหตุและผล

 ว่าอะไรเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความเจริญ

อะไรจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย

 อะไรเป็นเหตุของความสุข

 อะไรเป็นเหตุของความทุกข์

เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว

ก็ต้องนำเอาไปทบทวน

 เอาไปคิดพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

ว่าวันนี้มาฟังเทศน์ฟังธรรม

พระท่านสอนอะไรบ้าง อันไหนเราเข้าใจ

ก็นำเอาไปปฏิบัติ

 ถ้าได้ปฏิบัติตามที่พระสอนแล้ว

เราก็จะดำเนินชีวิตของเรา

ไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม

มีแต่ความสุขความเจริญ

ไม่ต้องไปมีเรื่องมีราวมีปัญหา

ไม่ต้องไปประสบกับความเสื่อมเสีย

ความหายนะทั้งหลาย

แล้วใจของเราจะมีแต่ความสงบ

มีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะว่าไม่มีอะไร

จะดีเลิศเท่ากับความสงบของจิตใจ

ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้

 ที่จะเหนือกว่าความสุข

ที่เกิดจากความสงบของจิตใจ

ใจจะสงบได้ก็จะต้องมีพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้าเป็นผู้ดูแลรักษา

 ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอน

 ไม่มีธรรมะหรือปัญญา

เป็นผู้ดูแลรักษาแล้ว

ใจก็จะถูกความมืดบอด ความหลงหลอก

ให้ไปหาเรื่องหาราวต่างๆเข้ามา

 ทำให้มีแต่ความวุ่นวายใจ

มีแต่ความกังวลใจ

มีแต่ความทุกข์ใจ เพราะถูกหลอก

ให้ไปหาสิ่งต่างๆภายนอก

มาเป็นเครื่องบำรุงบำเรอใจ

 แทนที่สิ่งเหล่านั้นจะมาบำรุงบำเรอใจ

 กลับกลายเป็นตัวสร้างภาระให้กับใจ

 ทำให้ยึดติด ทำให้ห่วง ทำให้หวง ทำให้ทุกข์

ขอให้เข้าหาพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ

 ศึกษาพระธรรมคำสอนอยู่เรื่อยๆ

ถ้าไม่สามารถเข้าวัดได้

ในสมัยนี้เรายังสามารถที่จะฟังเทศน์ฟังธรรม

ที่นอกวัดได้ ศึกษาพระธรรม

คำสอนได้ด้วยหลายวิธี

 หนังสือธรรมะก็มีอยู่เยอะ

การแสดงพระธรรมเทศนาผ่านทางสื่อต่างๆ

เช่นวิทยุ โทรทัศน์ หรือการอัดเทปก็มีอยู่

เราสามารถที่จะฟังเทศน์ฟังธรรม

ได้อย่างสม่ำเสมอ

ข้อสำคัญอยู่ที่เราจะต้องมีความตั้งใจ

 ว่านี่คือหน้าที่ของเรา

 นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องกระทำกัน

 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถมากระตุ้น

หรือชักนำให้เราทำได้

เป็นสิ่งที่เราจะต้องเป็นผู้ที่ชักนำตัวเราเอง

ให้กระทำ ถ้าเราไม่คอยสอน คอยเตือนสติ

 บอกเราว่าเราต้องพยายามศึกษาหาความรู้

จากธรรมะอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว

 เราก็จะไม่มีแสงสว่างเป็นเครื่องนำพาเรา

ไปสู่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง

ทุกๆวันนี้ที่พวกเราออกไปทำมาหากินกัน

 พวกเราก็คิดว่า

เราไปหาความสุขความเจริญกัน

 แต่ทำไมเราไม่ค่อยพบกับ

ความสุขความเจริญเท่าที่ควร

 ก็เป็นเพราะว่าเราไม่ได้ไปหา

ความสุขความเจริญที่แท้จริง

เรากลับไปหาความทุกข์

เข้ามาใส่หัวใจของเรา

 ด้วยอำนาจของความหลง

ทำให้เราเกิดความอยากในสิ่งต่างๆ

 ที่ไม่มีความจำเป็นต่อความสุขของเรา

 เราก็ไปหาซื้อสิ่งต่างๆมา

แล้วสิ่งเหล่านั้นก็ทำให้เรา

มีความดีอกดีใจชั่วขณะหนึ่ง

 หลังจากนั้นก็กลายเป็นภาระ

ที่จะต้องคอยดูแลรักษา

และถ้าเกิดเสียหายชำรุดไป

 ก็ต้องไปหามาใหม่

กลายเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ตลอดเวลา

 ไม่ใช่ความสุขเลยสิ่งต่างๆภายนอก

ไม่ว่าจะมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับเรา

จึงขอให้เตือนตัวเราอยู่เสมอว่า

สิ่งที่จำเป็นกับชีวิตของเรานั้น

ก็มีเพียงปัจจัย ๔ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย

เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค

 นอกจากนั้นแล้วของภายนอก

ไม่ว่าเป็นวัตถุหรือบุคคล

จะเป็นทุกข์มากกว่าสุข

 แต่ถ้ายังไม่สามารถที่จะตัดได้

 ก็ขอให้สอนใจอยู่เสมอว่า

สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง

จะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านั้นไปสักวันหนึ่ง

อย่างน้อยเวลาที่เกิดการพลัดพรากจากกัน

 จะได้ไม่เสียหลัก ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ

จนกระทั่งอยู่ไม่ได้

บางคนเวลาสูญเสียอะไรที่ตนรักไป

ทำให้ไม่สามารถมีชีวิต อยู่ต่อไปได้ก็มี

เพราะขาดปัญญา ขาดธรรมะ

ขาดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง

 จึงขอให้เตือนตัวเราเองอยู่เสมอว่า

 เรามาอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว

 สักวันหนึ่งเราก็ต้องจากโลกนี้ไป

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่กับตัวเรานี้

เราก็ต้องจากเขาไป ไม่ช้าก็เร็ว

 เราไม่จากเขาไปก่อน เขาก็ต้องจากเราไปก่อน

เมื่อเขาจากเราไปแล้วเราก็ต้องยอมรับว่า

เป็นคติธรรมดา จะได้ไม่เสียหลัก

เศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ

จนทนอยู่ไม่ได้ต่อไป

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

กัณฑ์ที่ ๙๕ วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๔

 (กำลังใจ ๖)

“ที่พึ่งทางใจ”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 29 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2559 11:18:59 น.
Counter : 676 Pageviews.

0 comment
### อาศัยบุญเป็นที่ยึดเหนี่ยว ###









“อาศัยบุญเป็นที่ยึดเหนี่ยว”

ถาม : ถ้าหากภพชาติไหนที่เรามาเกิด

ไม่ได้พบพระพุทธศาสนานี้

ดวงจิตเราจะเป็นอย่างไร

แล้วเราจะเอาอะไร เป็นที่ยึดเหนี่ยวครับ

พระอาจารย์ : ก็อาศัยบุญ

ถ้าเรามีบุญเก่าก็จะพาให้เราทำบุญ ทำทาน

รักษาศีล และนั่งสมาธิก็จะได้เพียงเท่านี้

 แต่จะไม่สามารถขึ้นไปถึงขั้นปัญญาได้

 เพราะขั้นปัญญานี้จะต้องเกิดจาก

คำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ยกเว้นว่าเราได้สร้างปัญญาในชาตินี้ภพนี้

 เช่นเราได้บรรลุพระโสดาบันแล้วนี้

ทีนี้ถ้าเรายังกลับมาเกิด

 เราก็ไม่ต้องอาศัยพระพุทธศาสนาก็ได้

 เพราะเราได้มีพระพุทธศาสนา

อยู่ในใจของเราแล้ว

 เรามีดวงตาเห็นธรรม เห็นพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้าอยู่ภายในใจของเราแล้ว

 เราก็สามารถดำเนินการปฏิบัติ

ตัดภพตัดชาติต่อไปได้

 อย่างพระโสดาบันนี้ท่านก็แสดงไว้ว่า

ไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก

ก็สามารถที่จะตัดภพ ตัดชาติให้หมดไปได้

 แต่ต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไป

แต่ถ้าเป็นเพียงขั้นฌานสมาบัติ

เช่นพระอาจารย์ของ พระพุทธเจ้า ๒ รูป

 ที่ได้รูปฌานกับอรูปฌาน

แล้วก็ตายไปก่อนที่พระพุทธเจ้า

จะได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

น่าเสียดาย เพราะเขาไม่มีโอกาส

ที่จะได้ยินได้ฟังเรื่องของปัญญา

ที่จะทำให้เขาได้หลุดพ้น จากภพชาติ

 หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 หลังจากที่เขาตายไปเขาก็จะไปเกิดเป็นพรหม

 แล้วเมื่อหมดบุญของพรหม

เขาก็จะกลับมาเกิดเป็นเทพ

จากเทพเขาก็จะเลื่อนลงมาเกิดเป็นมนุษย์

 พอเขากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่

 เขาก็จะกลับมาทำบุญทำทาน

 รักษาศีล นั่งสมาธิใหม่ เพราะมันเป็นบุญเก่า

 ที่เขาเคยทำไว้ จะคอยผลักดัน

ให้เขากลับมาสร้างบุญอย่างนี้ใหม่

เขาเคยทำอะไร พอเขากลับมา

เขาก็จะกลับมาทำอย่างนั้นต่อ

 แต่เขาก็จะได้ขึ้นไปได้ถึงแค่เพียงขั้นสวรรค์

 ชั้นพรหมเท่านั้น จนกว่าเขาจะได้กลับมาเกิด

ในยุคที่พระพุทธศาสนา

เขาจึงจะสามารถก้าวขึ้นสู่

ขั้นปัญญาขั้นอริยภูมิได้

 คือขั้นโสดาบัน ขั้นพระอรหันต์ได้

 พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่าน่าเสียดายมาก

ถ้าอยู่ได้อีกไม่กี่เดือนนี้

พอได้ยินได้ฟังธรรมเพียงครั้ง ๒ ครั้ง

ก็จะสามารถตัดภพตัดชาติได้หมดเลย

อย่างพระปัญจวัคคีย์ พระสาวก ๕ รูป

ที่ติดสอยห้อยตามรับใช้พระพุทธเจ้า

ก็ได้รับประโยชน์ เพราะยังไม่ตาย

 พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว

ก็มุ่งไปที่พระปัญจวัคคีย์เป็นกลุ่มแรก

ในการสั่งสอนพระธรรมคำสอน

พอได้ยินได้ฟัง ๑ ในพระปัญจวัคคีย์

คือพระอัญญาโกณฑัญญะ

ก็บรรลุธรรมขึ้นมามีดวงตาเห็นธรรม

 บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นมา

 เป็นอริยบุคคลขั้นแรก

และพอแสดงธรรมอีกครั้ง ๒ ครั้ง

พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กัน

นี่คือประโยชน์ที่เราจะได้รับ

จากการได้เจอพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

 ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอนแล้ว

ไม่มีวันที่จะเข้าสู่ขั้นอริยมรรค อริยผลได้

จะได้แค่อย่างมากก็แค่โลกียผล

ก็คือขั้นฌานสมาบัติ ขั้นสมาธิเท่านั้น

เป็นขั้นสูงสุดแล้วก็ต้องเสื่อม

กลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่

 แล้วก็ต้องมาสร้างบุญมาสร้างสมาธิใหม่

ก็จะทำได้เพียงแค่นี้เท่านั้น

จนกว่าจะได้มาเจอพระพุทธศาสนา

 หรือจนกว่าผู้ปฏิบัติเองเกิดมีปัญญาขึ้นมาเอง

 อย่างพระพุทธเจ้านี้ไม่มีใครสอน

 พระพุทธเจ้าเลยต้องใช้ปัญญา

ของพระองค์เองศึกษาค้นคว้าหาความจริง

ด้วยพระองค์เองจนได้ตรัสรู้

เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา

 ค้นพบต้นเหตุของพบชาติก็คือความอยากต่างๆ

 แล้วก็สามารถกำจัดต้นเหตุของภพชาติ

คือความอยากต่างๆ นี้ให้หมดไปจากใจได้

พระองค์จึงได้หลุดพ้นจาก

การเวียนว่ายตายเกิดได้ด้วยพระองค์เอง

เป็นคนเดียวในโลกนี้เท่านั้น

ที่จะสามารถทำอย่างนี้ได้

นอกนั้นแล้วไม่มีใครที่จะสามารถที่จะตรัสรู้

 รู้ความจริงอันนี้ได้ด้วยตนเอง

 จะตองอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอน

พระสาวกทั้งหลายจึงมีชื่อว่าพระอรหันตสาวก

 สาวกแปลว่าผู้ฟัง

พระอรหันต์ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง

 ส่วนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ

พระอรหันต์ที่เกิดจากการตรัสรู้ได้ด้วยตนเอง

 ด้วยการศึกษาสอนตนเอง

แต่เป็นพระอรหันต์เหมือนกันก็คือจิตบริสุทธิ์

สะอาดเป็นพระนิพพานเหมือนกัน

ปราศจากความโลภ ความโกรธ

 ความหลงเหมือนกัน ต่างตรงที่ว่าที่มาที่ไป

พระพุทธเจ้าตรัสรู้หรือชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์

 ด้วยตนเองไม่มีใครสอน

แต่พระอรหันต์นี้ต้องให้พระพุทธเจ้าสอน

จึงจะสามารถชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ได้

ดังนั้นอยากจะเน้นเรื่องของความสำคัญ

ของการได้มาเกิดในภพนี้ชาตินี้

เพราะว่าเป็นภพที่เรามีพระพุทธศาสนา นี่เอง

 เรามีโอกาสทุกคนที่จะสามารถยุติ

การเวียนว่ายตายเกิดได้ภายในชาตินี้

และเป็นชาติเดียวเท่านั้น

 หลังจากนี้ไปแล้วกลับมาเกิด

ถ้าไม่ได้เจอพระพุทธศาสนาอีก

ก็จะไม่มีวันที่จะสามารถที่จะตัดภพตัดชาติ

 ให้หมดไปได้ภายในชาติเดียว

ก็ต้องสะสมบุญบารมีอย่างที่พระพุทธเจ้า

ได้ทรงสะสมบุญบารมีไปเรื่อยๆ

 จนกว่าจะถึงขั้นที่มันออกดอกออกผลอย่างเต็มที่

ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยตนเอง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก ซึ่งไม่ใช่ทุกๆคน

ที่บำเพ็ญบุญบารมีด้วยกันมา

จะสามารถบรรลุกันได้ด้วยกันทุกคน

 เป็นกรณีพิเศษจริงๆ

การที่ได้มาเกิดแล้วตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี้

 แต่การที่พบกับพระพุทธเจ้าแล้วนี้

 จะทำให้ทุกคนนี้ที่ไม่มีบุญบารมีมาก

สามารถตัดภพตัดชาติ

ให้หมดไปได้ภายในชาตินี้เลย

ดังนั้นพวกเราอย่าปล่อยโอกาสอันนี้อันวิเศษนี้

ให้หลุดมือไป พยายามทุ่มเทชีวิตจิตใจ

เวล่ำเวลาให้กับ การปฏิบัติธรรม

ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เถิด

แล้วผลอันเลิศอันประเสริฐ

ก็จะปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอน

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขาวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗

“การศึกษาและเจริญมรรค ๘”




ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2559 10:22:12 น.
Counter : 791 Pageviews.

0 comment
### ปลีกวิเวก ###









“ปลีกวิเวก”

คนเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้

ต่างก็มีความปรารถนา

มีความต้องการเหมือนๆกัน

 คือทุกคนอยากจะมีความสุข

 มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง

ไม่มีใครอยากจะมีความทุกข์

ไม่มีใครอยากจะพบกับความหายนะ

 ความเสื่อมเสียทั้งหลาย

เราจึงแสวงหาความสุขกัน

 แต่มักจะไม่ค่อยเป็นไป

ตามที่เราปรารถนากัน

 ไม่ค่อยมีความสุขเท่าที่ควร

 ยังมีความทุกข์รุมเร้าจิตใจเราอยู่

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าเราไม่รู้จัก

ความสุขที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร

 เพราะเรายังเป็นปุถุชนคนธรรมดา

 ที่ยังมีความหลง มีอวิชชา

ความมืดบอดครอบงำใจเราอยู่

เปรียบเหมือนกับคนตาบอด

เดินคลำทางไป

 ก็คลำไปแบบผิดๆถูกๆ

 ได้ความสุขบ้าง ได้ความทุกข์บ้าง

ซึ่งต่างกับพระพุทธเจ้า

 กับพระอรหันตสาวก

ผู้มีตาที่ดี ตาสว่าง ตาไม่มืดบอด

 ท่านจึงรู้ถึงความจริง

ของความทุกข์และความสุข

 ว่าอะไรคือความสุข อะไรคือความทุกข์

 ท่านจึงอยู่เหนือความทุกข์

 มีแต่ความสุขอย่างเดียวในใจของท่าน

เป็นบุญวาสนาของพวกเรา

ที่เกิดมาในชาตินี้

 ได้พบกับพระพุทธศาสนา

 พระธรรมคำสอนของ

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้รู้จริงเห็นจริงในเรื่องของ

ความสุขและความทุกข์ทั้งหลาย

 แล้วนำสิ่งที่ได้ทรงรู้ทรงเห็น

มาประกาศสั่งสอน

ให้กับมนุษย์ทั้งหลายได้ทราบ

 ผู้ที่มีจิตศรัทธา

 คือเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว

ก็เกิดความเลื่อมใส

 เกิดความเชื่อ นำเอาไปปฏิบัติ

ก็จะพบกับความสุขความเจริญที่แท้จริง

 ไม่ต้องมีความทุกข์มารุมเร้าจิตใจ

 พวกเราถ้าปรารถนาความสุขที่แท้จริง

ไม่ต้องการมีความทุกข์มากวนใจ

จึงต้องเข้าหาพระศาสนา

 เข้าหาพระธรรมคำสอน

 แล้วน้อมเอาพระธรรมคำสอน

มาปฏิบัติกับตัวเรา

 แล้วเราจะได้เป็นเหมือนกับพระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

 เป็นผู้มีแต่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง

 เป็นผู้ที่พ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง

แล้วอะไรเล่าคือความสุขที่แท้จริง

 พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า

ไม่มีสุขอันใดในโลกนี้จะเหนือกว่า

ความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ

 นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง

เป็นความสุขที่อยู่กับเรา

 เพราะว่าเป็นของที่อยู่ในตัวของเราเอง

 เป็นความสุขที่ไม่มีใคร

จะมาพรากจากเราไปได้

 แต่เป็นความสุขที่เรายังต้องสร้างขึ้นมา

 เพราะว่าในขณะนี้ใจของเรายังไม่สงบ

ใจของเรายังมีความฟุ้งซ่าน

 มีความดิ้นรนทะเยอทะยานอยากอยู่

 ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา

 ที่มีโมหะอวิชชาความไม่รู้ความจริง

เป็นเครื่องผลักดันใจของเราอยู่

ทำให้ใจของเราอยู่นิ่งไม่ได้

และเมื่อใจอยู่นิ่งไม่ได้

ใจก็เลยไม่มีความสุข

มีแต่ความหิว มีแต่ความกระหาย

เมื่อมีความหิว มีความกระหาย

 ก็เลยต้องออกไป

ดิ้นรนขวนขวายหาความสุข

 มาเพิ่มขึ้นอีก ก็เลยทำให้

เกิดความวุ่นวายใจตามมา

เพราะว่าในขณะที่ออกไป

ขวนขวายหาสิ่งต่างๆ

 ที่เราคิดว่าเป็นความสุข เช่นลาภ

 คือทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ

 ยศ คือตำแหน่งต่างๆ

 สรรเสริญ คือคำยกย่องเยินยอ

 และกามสุขคือความสุข

ที่เกิดจากการได้สัมผัส

กับรูปที่ถูกใจ เสียงที่ถูกใจ

 กลิ่นที่ถูกใจ รสที่ถูกใจ

และโผฏฐัพพะที่ถูกใจ

 ทำให้จิตต้องหมุน

 ต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา

 ไม่ได้ทำให้จิตสงบ

 จิตหลุดพ้น แต่กลับทำให้ติด

 เกิดความผูกพันกับรูป

 เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข

 เลยทำให้จิตต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา

เพื่อที่จะดูแลรักษาสิ่งเหล่านี้ที่ได้มา

แล้วก็พยายามหามาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 เปรียบเหมือนกับตุ่มน้ำที่รั่วใบหนึ่ง

 ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้นาน

เติมน้ำเข้าไปเท่าไร ทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง

น้ำก็จะพร่องลงไป พอพร่องลงไป

เราก็ต้องคอยเติมให้มันเต็มอยู่เรื่อยๆ

 นั่นก็คือลักษณะของใจเรา

 ที่เป็นเหมือนกับตุ่มน้ำ

ที่ยังมีรอยรั่วอยู่ ๓ รอยด้วยกัน

 รอยรั่วทั้ง ๓ นี้เรียกว่าตัณหา ความอยาก

คือ ๑.กามตัณหา ความอยากในกาม

 ๒.ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น

 ๓.วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

 ซึ่งทำให้ใจไม่เต็ม ไม่อิ่ม ไม่พอ

ได้อะไรมามากน้อยเท่าไร สักระยะหนึ่ง

ความพอใจก็หมดไป

 ความอยากได้ใหม่ก็จะปรากฏขึ้นมา

เปรียบเหมือนกับตุ่มน้ำ

ที่มีรอยรั่วอยู่ ๓ รอย

เติมน้ำเข้าไปให้เต็มอยู่พักหนึ่ง

น้ำก็จะซึมออกไปแล้ว

ก็จะพร่องลงไปเรื่อยๆ

 ถ้าไม่เติมเข้าไปอีก

น้ำก็จะไม่มีเหลืออยู่ในตุ่ม

 นี่แหละคือลักษณะของใจของพวกเรา

ที่ยังมีโมหะอวิชชา ความหลงความมืดบอด

สร้างรอยรั่วให้กับใจ คือสร้างกิเลสตัณหา

 ความอยากต่างๆ ให้เกิดขึ้นภายในใจ

 ทำให้ใจมีความรู้สึกว่ายังไม่มีความสุข

 ยังไม่อิ่ม ยังไม่พอ เพราะใจไม่นิ่งนั่นเอง

ถ้าตราบใดใจยังไม่นิ่ง ยังไม่สงบ

ใจก็จะไม่มีความสุข

นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

ทรงพบเห็นในธรรมชาติของใจว่า

ความสุขที่แท้จริง

 ความสุขที่สมบูรณ์แล้วนั้น

 มีอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้

 เรากลับไปคิดว่าความสุขอยู่ที่ภายนอก

 อยู่ที่ข้าวของเงินทอง อยู่ที่วัตถุสมบัติ

 อยู่ที่บุคคลสมบัติ คือต้องมีสิ่งต่างๆ

 มีข้าวของเงินทองไว้ใช้

 ต้องมีสามี มีภรรยา มีลูก ถึงจะมีความสุข

 แต่เมื่อมีแล้ว แทนที่จะให้ความสุข

กับเราอย่างเดียว

 ก็ยังมีความทุกข์ตามมาด้วย

 ความทุกข์ที่แฝงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ก็คือ

 อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีครอบครองอยู่

ล้วนเป็นของไม่เที่ยง

ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

 เป็นของธรรมชาติ สักวันหนึ่ง

ธรรมชาติก็จะต้องเอากลับคืนไป

 ถ้าเราไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านี้

เราก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ

ถามตัวเราเองดูซิว่า

 เวลาเรามีสามีก็ดี ภรรยาก็ดี มีลูกก็ดี

หรือมีสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ

มียศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งต่างๆ

 เรามีความรู้สึกอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น

 เราจะต้องมีความกังวลใจ

 เพราะไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะจากเราไปเมื่อไร

ความกังวลใจนี้ก็คือความทุกข์แล้ว

นี่แหละคือลักษณะของความหลง

หลอกให้เราเอาความทุกข์เข้ามาเผาใจ

 รุมเร้าจิตใจเรา

 แทนที่จะหาความสุขที่แท้จริงคือความสงบ

เรากลับไปหากองทุกข์เข้ามารุมเร้าใจเรา

เราจึงไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์กัน

เราจึงต้องอาศัยพระพุทธเจ้า

 พระอรหันตสาวกเป็นตัวอย่าง

ให้ท่านเป็นผู้นำพาเรา

 ด้วยการฟังคำสอน

ของท่านแล้วนำมาปฏิบัติ

ท่านสอนให้เราทำใจให้สงบ เราก็ต้องทำ

วิธีที่จะทำใจให้สงบนั้นเราต้องปลีกวิเวก

 คือต้องหาที่สงบสงัด

 ปราศจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ที่รบกวนใจเรา

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ที่เราชอบ ที่เรารักนั่นแหละ

 หรือที่เราไม่ชอบนั่นแหละ

จะเป็นตัวที่จะมาคอยทำให้ใจเราไม่สงบ

ท่านจึงต้องสอนให้เรา

หาสถานที่สงบสงัดวิเวก

อย่างในวัด อย่างที่ญาติโยมบางท่าน

ได้มาถือศีลปฏิบัติธรรม นุ่งขาวห่มขาวกัน

 เป็นวิธีแสวงหาความสงบในเบื้องต้น

กายวิเวก คือสงบกายเสียก่อน

 คือสิ่งแวดล้อมของร่างกายต้องสงบ

ถ้าเราอยู่ท่ามกลาง

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ที่ทำให้ใจเกิดความยินดียินร้ายขึ้นมาแล้ว

 ใจก็จะกระเพื่อม ใจก็จะไม่นิ่ง

 ใจนี้ถ้าเปรียบก็เหมือนกับน้ำ

 น้ำถ้าปล่อยไว้เฉยๆไม่ไปตักไม่ไปกวน

ไม่ไปคน ไม่โยนอะไรใส่เข้าไปในน้ำ

 ก็จะไม่มีลูกคลื่น น้ำก็จะนิ่ง จะใส

เวลาเรามองน้ำที่นิ่งใส

ก็จะสามารถสะท้อนเห็นตัวเรา

 เห็นหน้าของเราได้

 เป็นเหมือนกระจกเงา

 แต่ถ้าน้ำมีคลื่น

เราก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นหน้าเราได้

 เพราะว่าน้ำไม่นิ่งนั่นเอง

 ลูกคลื่นที่เกิดจากการตักน้ำก็ดี

การโยนอะไรใส่เข้าไปในน้ำก็ดี

หรือการกวนน้ำก็ดี น้ำก็จะมีลูกคลื่นมาก

 น้ำก็จะขุ่น น้ำก็จะไม่ใส

ใจของเราก็เช่นกัน ถ้าไม่นิ่งก็จะไม่ใส

เมื่อไม่ใสเราก็จะไม่เห็นสิ่งต่างๆ

ที่เป็นคุณและเป็นโทษกับใจของเรา

 เราก็เลยไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ

เราก็เลยมักจะไปคว้าสิ่งต่างๆ

ที่เป็นโทษกับใจของเรา

คือคว้าเอาความโลภ คว้าเอาความโกรธ

คว้าเอาความหลงเข้ามา

 ทำให้เราไม่ค่อยมีความสุขกัน

ถึงแม้ว่าเราจะหาสิ่งต่างๆมาได้มากมาย

 มีเงินทองมาก มีข้าวของมาก

 มีทรัพย์สมบัติมาก

 มีทั้งสามี มีทั้งภรรยา มีทั้งลูก

มีทั้งตำแหน่งที่สูงๆ

 มีทั้ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 ทุกรูปแบบ

 ต้องการรูปแบบไหน เสียงแบบไหน

 กลิ่นแบบไหน รสแบบไหน

 โผฏฐัพพะแบบไหนเราหามาได้หมด

แต่ใจเรากลับไม่มีความสุข

 นั่นก็เพราะว่าใจเราไม่สงบ

ใจเราไม่นิ่งนั่นเอง

 เราจึงต้องมาทำใจของเรา

ให้นิ่งด้วยการปลีกวิเวก

 ต้องตัดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 ที่เป็นตัวคอยทำให้ใจของเรา

กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา

 จึงต้องหนีจากสิ่งเหล่านี้

เมื่อหนีมาแล้ว ในขั้นต่อไป

เราต้องมีเครื่องควบคุมใจ

 ถึงแม้ว่าจะไม่มีอะไรจากภายนอก

มาทำให้ใจเรากระเพื่อมได้

คือให้คิดปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ

ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 มาจี้ มาผลักดันให้ใจคิดปรุงก็ตาม

 แต่ใจยังนิ่งอยู่เฉยๆไม่ได้

 ใจยังต้องคิดโน่นคิดนี่อยู่

 เพราะนี่คือธรรมชาติของกิเลสนั่นเอง

 ของความโลภ ความโกรธ ความหลง

จะคอยผลักให้ใจคิดปรุงตลอดเวลา

 ใจก็ยังไม่นิ่ง การที่จะทำให้ใจนิ่งได้

จะต้องมีสติ  สติจะเป็นตัวควบคุมใจ

 ไม่ให้ใจคิดปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ

ในเบื้องต้นท่านถึงสอน

ให้เรามีสติควบคุมใจ

 โดยให้จิตระลึกอยู่กับอารมณ์

กรรมฐานใดอารมณ์หนึ่ง

 ที่เป็นนามธรรมก็ดี

 เป็นรูปธรรมก็ดี ผูกใจไว้

ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับกรรมฐานนั้นๆ

 เพราะว่าถ้าใจไม่มีสติระลึกอยู่กับกรรมฐาน

ใจก็จะลอยไปลอยมา

ใจก็เปรียบเหมือนกับเรือ

 เรือที่จอดอยู่กับท่า

แต่ไม่มีเชือกผูกไว้กับท่า จอดทิ้งไว้เฉยๆ

เดี๋ยวกระแสน้ำก็จะพัดลอยออกไป

จากท่าฉันใด ใจก็เช่นกัน

ถ้าใจไม่มีอะไรผูกไว้แล้ว ใจก็จะลอยไป

 คิดไป ปรุงไป ใจก็จะไม่สงบ

จึงต้องมีการผูกใจ คือต้องมีสติ

ซึ่งเปรียบเหมือนกับเชือกผูกใจไว้กับท่า

 ท่านี้คือกรรมฐาน มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน

 โดยทั่วไปแล้วจะใช้กันอยู่ ๒ แบบ

 คือการบริกรรมคำว่า พุทโธๆๆ

นี่ก็เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง

 เรียกว่าพุทธานุสติ

 คือการมีสติระลึกถึงคำว่าพุทโธ

ถ้าเราให้ใจมีสติระลึกรู้อยู่กับ

คำว่าพุทโธๆๆ อย่างเดียว

 ไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องราวอย่างอื่นๆ

 ไม่ช้าก็เร็วใจก็จะสงบได้

 เพราะใจไม่สามารถจะลอยไป

ตามกระแสความคิดปรุงต่างๆ

เหมือนกับเรือที่มีเชือกผูกไว้กับท่าเรือ

 ถึงแม้จะมีกระแสน้ำ

ไหลมาเชี่ยวกรากขนาดไหน

กระแสน้ำก็ไม่สามารถที่จะลากเรือ

ให้ลอยไปจากท่าเรือได้ฉันใด

ใจก็เช่นกัน ถ้ามีกรรมฐาน

เช่นคำบริกรรมพุทโธๆๆอยู่

 และสติคือการระลึกรู้อยู่กับ

คำบริกรรมพุทโธๆๆนั้นอยู่

ถ้าทำไปได้เรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง

 ไม่ช้าก็เร็วใจก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบ

 ถ้าใจรวมลงเข้าสู่ความสงบแล้ว

ใจก็จะนิ่ง ใจก็จะเบา ใจจะมีความสุข

 ขณะที่รวมลงสู่ความสงบนั้น

การบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ

 ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

เพราะการบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆนั้น

เป็นเพียงการดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ

 เมื่อใจเข้าสู่ความสงบแล้ว

ใจก็จะไม่มีอารมณ์อะไรมาฉุดลาก

พาให้ไปในอารมณ์ต่างๆ

 ในขณะนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร

ใจจะสงบนิ่งอยู่อย่างนั้น

 จะนานหรือไม่นานก็สุดแท้แต่เหตุปัจจัย

ที่ทำให้ใจสงบ ในขณะนั้น

 เราไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องอะไร

 ถึงแม้ว่าจะมีธุระจำเป็นที่จะต้องไป

ก็อย่าเพิ่งดึงใจออกมาจากความสงบนั้น

 เพราะว่าไม่มีอะไรมีคุณค่า

ยิ่งกว่าความสงบของใจ

 และถ้าใจถูกดึงออกมาแล้ว

ในคราวต่อไปใจอาจจะไม่สงบได้ง่าย

ในขณะที่ทำสมาธิแล้ว

ใจรวมลงอยู่ในความสงบ

 จึงอย่าไปรบกวนใจ

 ปล่อยให้ใจอยู่ในความสงบ

เพราะเป็นการพักใจ

เป็นการเติมพลังให้กับใจ

 ไม่มีอะไรมีความสำคัญยิ่งกว่า

ความสงบของใจ

 ถึงแม้จะมีธุระหรือมีอะไร

ที่จะต้องทำในขณะนั้นก็ขอให้เราลืมเสียเถิด

 อย่าไปสนใจ เพราะความสงบของใจ

เปรียบเหมือนกับก้อนเพชรเม็ดใหญ่ๆ

 ส่วนงานที่เราจะไปทำนั้น

 เปรียบเหมือนกับก้อนหิน

คุณค่ามันแตกต่างกันมาก

ไม่ต้องไปกังวล ขณะที่จิตรวมลงแล้ว

ควรปล่อยให้จิตรวมลงอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ

 จนกว่าจิตจะถอนตัวขึ้นมาเอง

เมื่อจิตถอนตัวออกมาแล้ว

ใจจะมีความสดชื่นเบิกบาน

 ใจจะมีความสบายใจ

 แต่จะเป็นอยู่อย่างนั้นไปได้ไม่นาน

 เพราะเมื่อออกมาแล้ว

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะเริ่มทำงาน

 ตาก็จะเห็นภาพ หูก็จะได้ยินเสียง

 จมูกก็จะได้ดมกลิ่น ลิ้นก็จะได้ลิ้มรส

ร่างกายก็ได้สัมผัสกับโผฏฐัพพะต่างๆ

 ใจก็จะสัมผัสกับอารมณ์ต่างๆ

 เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว กิเลสซึ่งสงบตัวอยู่

ขณะที่อยู่ในความสงบ

ก็จะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา

 ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ

ความหลงขึ้นมา เมื่อมีความโลภ

 ความโกรธ ความหลงขึ้นมา

ก็จะมีความทุกข์ร้อนใจตามมา

จึงเป็นหน้าที่ของธรรมอีกชนิดหนึ่ง

ที่เรียกว่าปัญญา หรือ วิปัสสนา

ที่จะต้องทำหน้าที่ต่อไป

คือในเบื้องต้นเราทำใจให้สงบก่อน

ใจสงบแล้วเรามีความสุข

 และเรารู้ว่านี่แหละคือสภาพของใจ

ที่ต้องรักษาไว้ แต่เมื่อออกจากสมาธิ

หรือออกจากความสงบแล้ว

ใจก็จะเริ่มทำงาน คิดปรุงไปเรื่อยๆ

 ความคิดของใจคิดไปได้ ๒ ทิศทางด้วยกัน

คิดไปทางหนึ่งก็ยังทำให้ใจสงบอยู่

เรียกว่าคิดไปในทางมรรค

 คิดไปอีกทางก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายใจ

 คือคิดไปในทางสมุทัย

 คิดไปทางมรรคทำใจให้สงบเย็นได้

 คิดไปทางสมุทัยคือไปทางโลภ โกรธ หลง

ทางกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ความยึดมั่นถือมั่น

ก็จะทำให้ใจเกิดความร้อนใจขึ้นมา

เราจึงต้องมาควบคุมความคิดของใจต่อไป

 พยายามให้ใจคิดไปในทางมรรค

คิดอย่างไรถึงจะให้ใจคิดไปในทางมรรค

 ก็ให้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง

 ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่

ไม่ใช่ของๆเราอย่างแท้จริง

 ถ้าเรายึดเราติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้

ก็จะเกิดความโลภ

 เกิดความโกรธ เกิดความหลง

 ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

แต่ถ้าเราปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด

กับสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ เรามีอยู่เราก็ใช้ไป

 ดูแลรักษาไปตามกำลังความสามารถของเรา

เท่าที่เราจะทำได้ แต่เมื่อถึงเวลา

ที่สิ่งเหล่านี้จะต้องจากเราไป

 เราก็ไม่ต้องไปเสียดาย

 เราทำใจพร้อมไว้ก่อนแล้วว่า

พร้อมที่จะให้ พร้อมที่จะหมด

พร้อมที่จะให้หมดไป ถ้าเราคิดอย่างนี้

แสดงว่าเรากำลังเจริญมรรคอยู่

มรรคก็คือเครื่องดับทุกข์นั่นเอง

 แต่ถ้าเราคิดไปอีกแนวทางหนึ่ง

 คือคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่

ต้องอยู่กับเราไปตลอด

ถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วเราจะแย่ เราจะตาย

 นี่เป็นการคิดแบบยึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้

 เป็นความคิดที่ฝืนหลักของความเป็นจริง

 เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่อยู่กับใครไปตลอด

 เวลาเรามาเกิดในโลกนี้

เราก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวมา

ของต่างๆที่เราได้มาในโลกนี้

แม้กระทั่งร่างกายของเราก็เป็นของโลกนี้

 เป็นของที่มีอยู่ในโลกนี้มาก่อน

 เมื่อเราตายไป

เราก็ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้หมด

เราเอาอะไรไปไม่ได้

มีแต่ใจดวงเดียวที่ไปเท่านั้นเอง

ถ้าไม่อยากจะทุกข์

 จึงต้องทำความเข้าใจว่า

 ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่

ที่เราสมมุติว่าเป็นเรา

 เป็นของๆเรานั้น โดยแท้จริงแล้ว

ไม่ใช่เป็นเราเป็นของๆเรา

เราต้องปล่อย เราต้องตัด เราต้องวาง

แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราทิ้งไปเลย

 เพราะว่าสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ก็ยังมีคุณ

 มีประโยชน์ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

เราก็ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้

ไว้ดูแลรักษาอัตภาพร่างกายชีวิตของเรา

 เรายังต้องกิน เรายังต้องใช้

 เรายังต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้อยู่

เราก็ใช้สิ่งเหล่านี้ไปตามเหตุตามผล

 อย่าไปใช้ตามอารมณ์ของกิเลส

คือใช้เท่าที่จำเป็น

 เช่นเสื้อผ้าก็มีเท่าที่จำเป็น

 ราคาของเสื้อผ้า

ก็ไม่จำเป็นต้องแพงมากมาย

 เอาเท่าที่จำเป็น

เท่าที่สมกับฐานะของเราก็แล้วกัน

 เรามีเท่าไรพอที่จะใช้ได้

ในราคาระดับไหนก็ใช้ไป

 แต่ให้ทำความเข้าใจว่า

 เสื้อผ้าก็ดี อาหารก็ดี บ้านก็ดี

หรือยารักษาโรคก็ดี ก็มีไว้เพียงแต่

ดูแลรักษาร่างกายของเราเท่านั้นเอง

เสื้อผ้าจะราคาชุดละหมื่น ราคาชุดละพัน

มันก็มีไว้ปกปิดร่างกายของเรา

 อาหารก็เช่นกัน จะมื้อละหมื่นหรือมื้อละพัน

มันก็เพียงแต่ไปเยียวยาดูแลรักษาร่างกายของเรา

ไม่ให้หิวเท่านั้นเอง ให้อยู่ได้ไปวันๆหนึ่ง

จึงขอให้เราอย่าหลง

เวลาใช้เงินใช้ทองใช้ของที่เรามีอยู่

ขอให้ใช้ด้วยปัญญา ใช้ด้วยเหตุด้วยผล

ถ้าเราใช้ด้วยเหตุด้วยผลแล้ว

 สิ่งต่างๆที่เรามีอยู่จะไม่เป็นโทษกับเรา

 แต่จะเป็นคุณประโยชน์กับเรา

 เพราะจะไม่กดดันให้เรา

ต้องไปหามามากมายก่ายกอง

เกินความจำเป็น

 คนเราบางคนมีสมบัติมากมาย

แต่ใจก็ยังมีความรู้สึกไม่พอ

ยังอยากจะได้เพิ่มขึ้นอีกเพราะอะไร

 เพราะความหลงนั่นเอง

เห็นคนอื่นเขามีอะไรขึ้นมาใหม่

 ก็อยากมีกับเขาขึ้นมาทันที

โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลเลยว่า

มีความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งเหล่านั้นหรือเปล่า

 แต่ถ้ามีปัญญามีเหตุมีผลแล้ว

 เราจะใช้สิ่งเหล่านี้ตามความจำเป็นเท่านั้น

 เราจะกลายเป็นคนมักน้อยสันโดษขึ้นมาทันที

 มักน้อยก็คือถึงแม้เราจะมีมาก

แต่เราจะเอาน้อย เอาเท่าที่จำเป็นเท่านั้นเอง

เพราะว่ามีมากเกินความจำเป็น

ก็ต้องดูแลรักษามาก

มีเสื้อผ้ามากๆก็ต้องมีตู้เก็บหลายๆใบ

 ต้องคอยดูแล ต้องคอยเอามาซัก

 เอามาทำความสะอาด ถ้ามีเพียง ๒ - ๓ ชุด

 ก็จะดูแลรักษาง่ายกว่า สบายกว่า

นี่แหละคือลักษณะของคนที่มีปัญญา

คนที่มีปัญญาจะไม่หลงอยู่กับวัตถุสิ่งของ

 ข้าวของเงินทองต่างๆ

 เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้

ไม่ได้ให้ความสุขกับใจ

 ความสุขที่แท้จริงคือการไม่มีภาระ

ไม่มีความกังวล การที่จะไม่มีภาระ

 ไม่มีความกังวลก็ต้องมีปัญญา

 มีเหตุและผล รู้จักปล่อยวาง รู้จักตัด

 ถ้าจะเอาอะไรก็เอาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

 อย่างพระพุทธเจ้าทรงมีแค่บริขาร ๘

สมบัติของพระพุทธเจ้า

และพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย

มีแค่ ๘ ชิ้นเท่านั้นเอง

 ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ

 คือมีบาตรไว้ใบหนึ่งไว้ใส่อาหารบิณฑบาต

 มีผ้า ๓ ผืนไว้ห่มปกปิดร่างกาย

ป้องกันความหนาว

 มีที่กรองน้ำไว้สำหรับกรองน้ำ

เวลาไปหาน้ำในลำธาร จะต้องมีที่กรองน้ำ

เพราะว่าในลำธารมีสัตว์น้ำตัวเล็กๆ

 เช่นลูกน้ำที่เรามองไม่เห็น

 ถ้าเอาน้ำขึ้นมาดื่มโดยที่ไม่ได้กรองแล้ว

มีตัวสัตว์ ก็เท่ากับไปทำร้ายสัตว์

เลยต้องมีที่กรองน้ำ มีใ

บมีดโกนไว้ปลงผม

 มีประคดเอวไว้สำหรับรัดผ้านุ่ง

 มีด้ายกับเข็มสำหรับเย็บปะจีวร

เวลาจีวรเกิดขาดขึ้นมา

นี่คือสมบัติจำเป็นของพระ

มีอยู่ ๘ ชิ้นเท่านั้นเองเรียกว่าอัฐบริขาร

เวลาใครจะบวชจะต้องมีสมบัติทั้ง ๘ ชิ้นนี้

 ถ้าผู้จะบวชไม่มี หามาไม่ได้

 ก็จะต้องเป็นหน้าที่

ของพระอุปัชฌาย์เป็นผู้หาให้

 เป็นสมบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ให้พระดูแลรักษาอย่างดี

 ไปไหนต้องเอาติดตัวไปด้วย

ถ้ามีสมบัติทั้ง ๘ ชิ้นนี้แล้วไม่อดตาย

อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้

นี่แหละคือสมบัติที่จำเป็น

ต่อการครองชีพของพระ

ส่วนความสุขนั้นทรงสอนให้หาจาก

ความสงบของใจ พยายามปลีกวิเวก

หาที่สงบสงัด พยายามตัดรูป เสียง

 กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย อย่าไปสนใจ

 อย่าไปอยากได้ อย่าไปเข้าใกล้เลย

 สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง

 เพราะสิ่งเหล่านั้นมีความทุกข์ปนอยู่ด้วย

 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................

กัณฑ์ที่ ๙๔ วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๔

 (กำลังใจ ๖)

“ปลีกวิเวก”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2559 10:07:02 น.
Counter : 1039 Pageviews.

0 comment
### การรักษาศีล ###










“การรักษาศีล”

โดยธรรมเนียมพอเป็นวันพระ

 จะมีการสมาทานรักษาศีล

ตามแต่ศรัทธาสติปัญญาความเพียรกัน

รักษาศีล ๕ บ้าง ศีล ๘ บ้าง

การถือศีลไม่ควรถือในวันพระเท่านั้น

ควรถือทุกวันทุกเวลาเลย

 ไม่จำเป็นต้องสมาทาน ไม่จำเป็นต้องมาวัด

 เพราะการมีศีลไม่ได้อยู่ที่การสมาทาน

แต่อยู่ที่การรักษา ถ้ารู้ว่าศีลมีอะไรบ้าง

 ก็เพียงตั้งสติว่าวันนี้หรือตลอดไป

 จะรักษาศีลเช่นศีล ๕ ทำความเข้าใจกับตัวเองว่า

 ต่อไปนี้จะละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ

 เสพสุรายาเมา ก็มีศีลแล้ว

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาใด ไม่ต้องรอวันพระ

 รอการสมาทาน รอพระเป็นผู้ให้ศีลก่อน

 เพราะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นเอง

 เป็นการตอกย้ำความเข้าใจ เป็นสักขีพยาน

 แต่ถ้าเห็นคุณค่าของศีลธรรม

ก็สามารถรักษาได้ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ศีลมีอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกัน

 คือ ๑. สมาทานศีล อย่างที่พวกเราได้เปล่งวาจา

ว่าจะรักษาศีล ๕ กัน โดยมีพระภิกษุเป็นผู้กล่าวนำ

และเป็นสักขีพยาน

๒. วิรัติศึล มีเจตนาความตั้งใจจะรักษาศีล

 ก็ตั้งจิตอธิษฐานไปภายในใจ ไม่ต้องมาวัด

 ไม่ต้องมีพระเป็นสักขีพยาน

เพราะไม่มีเวลามาวัด ก็ยังรักษาศีลได้

 เพราะศีลอยู่ที่กายวาจาใจ

ออกมาจากใจสู่กายและวาจา

ถ้ามีสติเฝ้าดูใจ เวลาคิดอะไร

ถ้ารู้ว่าผิดศีล ก็ระงับเสีย

 ถ้ารู้ว่าจะพูดโกหก ก็ไม่พูดเสีย

 เปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่น เรื่องดินฟ้าอากาศ

 พูดเรื่องอะไรก็ได้ เมื่อไม่อยากจะพูดปด

ข้อสำคัญขอให้มีสติ รู้อยู่ว่ากำลังจะพูดอะไร

 ถ้าจะพูดปด ก็อย่าไปพูด

เท่านี้ก็รักษาศีลได้แล้ว

เช่นเดียวกับการกระทำ

 ถ้าเกิดความโกรธ อยากจะฆ่าผู้อื่น ก็ต้องระงับ

 เพราะเป็นการทำผิดศีล

๓. อริยศีล เป็นศีลของพระอริยเจ้า

 ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

เพราะมีสติปัญญา มีดวงตาเห็นธรรม

ว่าการทำผิดศีลเป็นการสร้างความเสียหาย

ให้กับตนและผู้อื่น ไม่ว่าจะมีใครรู้หรือไม่ก็ตาม

 ทำไปแล้วผลจะปรากฏขึ้นมาในใจทันที

 จะมีความไม่สบายอกไม่สบายใจ

 ตายไปก็ต้องไปเกิดในอบาย

 เช่นเดรัจฉานหรือนรก

 เป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทุกๆรูป จะรู้จะเห็น

จะไม่กล้าทำผิดศีล

 เพราะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ เสียมากกว่าได้

 เพราะได้ปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรม

 เห็นแล้วว่าคนเราจะดีจะชั่ว จะสูง จะต่ำ

จะสุขจะทุกข์ อยู่ที่การกระทำ

ทางกายวาจาใจเท่านั้น

 การละเมิดศีลเป็นการนำไปสู่ความทุกข์

 ความเสื่อมเสีย ความหายนะ

พระอริยเจ้าทุกๆรูปจึงไม่ละเมิดศีลโดยเด็ดขาด

 แม้จะต้องเสียชีวิตเพื่อรักษาศีลก็ยอม

 ตามที่พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสสอนไว้ว่า

 ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ

 สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

สละชีวิตเพื่อรักษาคุณธรรมความดีงาม

เช่นศีลธรรมเป็นต้น

นี่เป็นความรู้ของพระอริยเจ้าทุกรูป

 จึงมีศีลเป็นปกติ เป็นธรรมดา

 ไม่ละเมิดศีลโดยเด็ดขาด

 ไม่ต้องสมาทาน ไม่ต้องวิรัติ

 เพราะเป็นธรรมชาติของพระอริยเจ้า

 นี่คือศีลทั้ง ๓ ลักษณะ

 พวกเราอยู่ในลักษณะไหนก็พิจารณาดู

 ถ้ายังสมาทานอยู่ ก็สมาทานศีลไปเรื่อยๆ

 ถ้ารักษาศีลโดยไม่ต้องมาวัด

เพราะติดธุระหรือวันพระไม่ตรงกับ

วันเสาร์วันอาทิตย์

 ไม่สามารถมาวัด มาสมาทานศีลได้

 ก็ใช้การวิรัติศีลแทน ตั้งจิตตั้งใจว่าจะรักษาศีล

 วันนี้เป็นวันพระแต่ต้องไปทำงาน

 ถ้าวันพระตรงกับวันจันทร์ถึงวันศุกร์

ต้องทำงาน มาสมาทานศีลที่วัดไม่ได้

ก็ถือศีลวิรัติไป มีผลเท่ากัน

 มีอานิสงส์เท่ากัน ไม่มีความแตกต่างกัน

 ถ้ามีปัญญามีดวงตาเห็นธรรม

 เห็นว่าการกระทำผิดศีล

 จะพาไปสู่ภพชาติที่เลวต่อไป

ในปัจจุบันจะสร้างความทุกข์

 ความวุ่นวายใจให้ตลอดเวลา

 ก็จะรักษาศีล ๕ ไปตลอด

พระอริยบุคคล ๒ ระดับแรก

คือพระโสดาบันและพระสกิทาคามี

จะมีศีล ๕ เป็นปกติ

แต่ศีล ๘ ยังไม่สามารถมีได้เป็นปกติ

 เพราะยังไม่บรรลุธรรมที่สูงกว่า

 ยังติดอยู่กับความสุข

ทางด้านรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่

แต่หามาโดยไม่ผิดศีลผิดธรรม

ถ้าจะมีคู่ครอง ก็จะไม่ประพฤติผิดประเวณี

 มีสามีเดียว ภรรยาเดียว

ถ้าเห็นว่าความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

เป็นความสุขที่คลุกเคล้าไปกับความทุกข์

 ความกังวล ความห่วงใย ความเสียใจ

 เพราะบุคคลที่รัก สักวันหนึ่งก็ต้องจากไป

 ขณะที่อยู่ด้วยกัน ก็มีความห่วงใย

 ความกังวล ถ้าเห็นว่าเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ

 ก็จะพยายามปฏิบัติให้ขึ้นไปสู่ธรรมขั้นที่สูงขึ้น

 คือการปฏิบัติเนกขัมมะ ออกจากกามสุข

 เพราะไม่เป็นความสุขที่แท้จริง

จึงอยากจะสลัดทิ้งไป

ด้วยการปฏิบัติเนกขัมมะ

 นุ่งขาวห่มขาว ถือศีล ๘

 คือนอกจากศีล ๕ ก็รักษาศีลเพิ่มอีก ๓ ข้อ

ส่วนศีลข้อที่ ๓ ที่เป็นกาเมฯ

มีคู่ครองด้วยความถูกต้องตามหลักประเพณี

ก็เปลี่ยนเป็นการละเว้น

 เป็นอพรหมจริยาเวรมณี

 เป็นศีลพรหมจรรย์ ไม่หลับนอนกับใคร

 แม้กับคู่ครองของตน แล้วก็รักษาศีลข้อที่ ๖

 ละเว้นจากการรับประทานอาหาร

หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว

ข้อที่ ๗ ละเว้นจากการใช้เครื่องสำอาง

 ใช้น้ำหอม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด

และข้อที่ ๘ ละเว้นจากการนอนบนฟูกหนาๆ

 นอนบนพื้นไม้ปูด้วยเสื่อหรือผ้าแทน

ไม่หาความสุขจากการหลับนอน

จากการใช้น้ำหอมเครื่องสำอาง

แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสวยๆงามๆ

จากการรับประทานอาหาร

 แต่หาความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ

 นั่งสมาธิ เดินจงกรม ปฏิบัติธรรม

 เพราะความสุขที่ได้รับจากความสงบของจิตใจ

 เป็นความสุขที่เลิศที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลาย

 เพราะไม่มีความทุกข์เจือปนอยู่เลย

 เป็นการปฏิบัติของพระโสดาบัน

และพระสกิทาคามี

เพราะเห็นว่าความสุขที่ได้จากการมีคู่ครอง

 จากการรับประทานอาหาร

 แต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์สวยๆงามๆ

 ใช้เครื่องสำอางน้ำหอม หลับนอนบนฟูกหนาๆ

 ไม่ได้เป็นความสุขที่ประเสริฐเลย

 ก็จะพยายามละด้วยการถือศีล ๘ เจริญภาวนา

 ทำจิตใจให้สงบ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ

 มีสติรู้อยู่กับพุทโธๆ ไม่ไปคิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น

 ถ้าคิดก็ดึงกลับมาอยู่ที่พุทโธๆ

ในอิริยาบถทั้ง ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน

 เวลาทำอะไร ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องคิดอะไร

 ก็บริกรรมพุทโธๆไปในใจ

 เพื่อใจจะได้ว่างจากความวุ่นวายความอยากต่างๆ

 ถ้าไม่ควบคุมใจ ปล่อยให้คิดไปเรื่อยๆ

 พอคิดถึงอะไร ก็จะเกิดความอยากขึ้นมา

 ก็จะไม่สามารถรักษาศีลได้ถ้าถือศีล ๘

แล้วปล่อยให้ใจคิดถึงเรื่องอาหารอยู่เรื่อยๆ

 จะไม่มีกำลังพอที่จะทน

ต่อความอยากรับประทานอาหารได้

แต่ถ้าใจไม่มีโอกาสไปคิดถึงเรื่องอาหารเลย

 เพราะต้องบริกรรมพุทโธๆอยู่เรื่อยๆแล้ว

ก็จะลืมเรื่องรับประทานอาหารไปโดยปริยาย

 จะเข้าสู่ความสงบ จะพบกับความสุข

 ความอิ่ม ความพอ จะไม่หิวกระหาย

กับเรื่องอาหารก็ดี เรื่องหลับนอนก็ดี

แต่งเนื้อแต่งตัว ใช้เครื่องสำอางน้ำหอม

 จะพาให้จิตขยับขึ้นสู่ธรรมขั้นสูงขึ้นไป

คือพระอนาคามี

 ถ้าเป็นฆราวาสยังไม่ได้บวช

 ก็จะไม่มีความสัมพันธ์กับคู่ครองของตน

 เพราะใจไม่มีความอยากความต้องการ

 ถ้าบวชได้ก็จะออกบวช

ถ้ายังบวชไม่ได้ก็จะอยู่เป็นผ้าขาวไปก่อน

 ปฏิบัติอยู่ที่บ้านรักษาศีล ๘

 ถ้ามีเวลาว่างก็จะไปที่วัด

 เมื่อหมดภาระทางบ้านแล้ว

 ไม่มีความจำเป็นต้องดูแลใครแล้ว

 ก็จะออกบวช

 และเพื่อจะได้บำเพ็ญธรรมขั้นที่สูงขึ้นไป

เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง

 ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ได้บรรลุพระนิพพาน

นี่คือการก้าวไปของพระอริยบุคคล

เมื่อมีศีล ๕ เป็นปกติแล้ว

 ขั้นต่อไปก็จะรักษาศีล ๘

 แล้วก็จะออกบวชถือศีล ๒๒๗ ข้อ

ปฏิบัติไปจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เมื่อได้บรรลุแล้ว

การปฏิบัติกิจทางศาสนาก็เสร็จสิ้นลง

ศีลเป็นเครื่องพาจิตให้ไปสู่การปฏิบัติ

การปฏิบัติพาจิตให้สู่การหลุดพ้น

เมื่อหลุดพ้นแล้ว

การปฏิบัติก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

 เหมือนกับยารักษาโรค

ที่มีความจำเป็นต่อคนไข้

แต่เมื่อคนไข้รับประทานยา จนหาย

จากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว

 ยาก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ฉันใดพระอรหันต์ทั้งหลาย

ก็ไม่มีความจำเป็นกับการภาวนา นั่งสมาธิ

 เจริญปัญญาอีกต่อไป

 เพราะใจของท่านไม่ต้องอาศัยธรรมเหล่านี้แล้ว

 เพราะใจเป็นปกติ มีศีลเป็นปกติ

 เหมือนกับพวกเราในขณะนี้

เรานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้พูดอะไร ไม่ได้ทำอะไร

ก็ถือว่ามีศีลเป็นปกติ ไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ตบยุง

 ไม่ได้ตีมด ไม่ได้ลักทรัพย์

ไม่ได้ประพฤติผิดประเวณี ไม่ได้พูดปดมดเท็จ

 ไม่ได้เสพสุรายาเมา ตอนนี้ก็ถือว่ามีศีล

เหมือนกับพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกแล้ว

 ต่างกันตรงที่หลังจากที่ลุกจากที่นี่ไปแล้ว

 เราจะรักษาความเป็นปกติไม่ได้

นิ่งเฉยเหมือนตอนนี้ไม่ได้

พอเห็นอะไรก็จะเกิดความโลภความอยาก

 ที่จะพาไปสู่การประพฤติผิดศีล

 เพราะเวลาอยากจะได้อะไรมากๆ

 แล้วไม่สามารถหามาได้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง

 ก็จะต้องไปหามาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องนั้นเอง

 คือทำผิดศีล ไปฉ้อโกง ไปลักขโมย

นี่คือความแตกต่างของพวกเรากับพระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวก

ที่ไม่มีความอยากความต้องการอะไรเลย

 เพราะใจของท่านมีความอิ่ม

ความพออยู่ตลอดเวลา

เห็นอะไรก็รู้สึกเฉยๆ

เหมือนกับคนที่กินข้าวอิ่มแล้ว

 เห็นอาหารก็ไม่สนใจ ไม่อยากจะรับประทาน

 ฉันใดพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ก็เป็นฉันนั้น หลังจากที่ได้รักษาศีลปฏิบัติธรรม

 จนจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสตัณหา

 ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความอยากต่างๆแล้ว ใจก็มีแต่ความสุข

 ความอิ่ม ความพอ ไม่มีอะไรมาฉุดลาก

ให้ไปทำผิดศีลผิดธรรม จึงมีศีลบริสุทธิ์

การรักษาศีลที่แท้จริง

จึงไม่ได้อยู่ที่กายและวาจา

 ที่เป็นเพียงปลายเหตุ ทำตามคำสั่งของใจ

 ถ้าใจสั่งให้ทำดี กายวาจาก็ทำดีพูดดี

ถ้าใจสั่งให้ทำไม่ดี ก็จะพูดไม่ดี ทำไม่ดี

ใจจะคิดดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่า

มีกิเลสตัณหาหรือไม่

 ถ้ามีก็จะพูดไม่ดี ทำไม่ดี

เช่นเวลาเกิดความโกรธขึ้นมา

หน้าตาก็จะบูดเบี้ยว พูดจาไม่ดี ไม่สุภาพ

หยาบคาย สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ

ความทุกข์ให้กับผู้อื่น

เพราะมีความโกรธสั่งให้พูด

 แต่ถ้าไม่มีความโกรธแล้ว

ก็จะพูดด้วยความเมตตามีไมตรีจิต

 ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยวาจาที่สุภาพ

การกระทำก็เช่นเดียวกัน

ถ้าไม่โลภไม่อยากแล้ว

ก็จะไม่ไปทำในสิ่งที่เสียหาย

 แต่ถ้าโลภหรืออยากหรือโกรธ

ก็มักจะทำในสิ่งที่เสียหาย

 ศีลที่แท้จริงจึงอยู่ที่ใจ

 กายและวาจาเป็นเพียงเครื่องมือ

 ถ้าจะรักษาศีลให้ได้ ต้องรักษาใจให้ได้

 ไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลง

การที่เราโลภเราโกรธเราหลง เพราะขาดปัญญา

 ขาดแสงสว่างแห่งธรรม จึงหลงในสิ่งต่างๆ

ว่าจะให้ความสุขกับเรา เป็นที่พึ่งได้

แต่ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรในโลกนี้

ที่เราจะพึ่งได้อย่างแท้จริง

 ที่จะให้ความสุขอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

 มีแต่ให้ทั้งความสุขและความทุกข์

 เวลาได้สิ่งที่รักที่ชอบ เราจะมีความสุข

 แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีความทุกข์

ที่เกิดจากความห่วงใย ความกังวล

 ความหวงแหน ความเสียใจ

 เมื่อสิ่งที่รักต้องจากไปตามหลักความจริง

 ไม่ว่าอะไรก็ตามไม่ช้าก็เร็ว

 สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป

ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

ความหลงทำให้เรามองไม่เห็นกัน

 ไม่เห็นความไม่เที่ยงที่มีอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่าง

 ความไม่ถาวร ไม่อยู่กับเราไปตลอด

เรามองไม่เห็นกัน ไม่เห็นความทุกข์

ที่มีอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่เราได้มาครอบครอง

 ไม่เห็นว่าสิ่งต่างๆไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง

 เพราะจะไม่อยู่กับเราไปตลอด

เป็นสมบัติผลัดกันชม พอเราตายไปแล้ว

 ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่

 ก็กลายเป็นสมบัติของคนอื่นไป

ร่างกายของเราก็ไม่ใช่สมบัติของเรา

 ไม่ใช่ตัวเรา เมื่อตายไป

ก็เป็นสมบัติของสัปเหร่อของวัดไป

เพราะเราเอาคนตายไปไว้ที่วัด

 ให้สัปเหร่อเป็นคนดูแล ให้เอาไปเผา

 กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป

นี่คือสิ่งที่เรามองไม่เห็นกัน

 จึงเรียกว่าความหลง

 เมื่อเรามองไม่เห็นก็หลงคิดว่า สิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดี

 น่าเอามันมาเป็นสมบัติ แต่หารู้ไม่ว่า

กำลังเอาความทุกข์เข้ามาใส่ใจ โดยไม่รู้สึกตัว

 ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน

 ที่สอนให้พิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่จีรังถาวร

 ไม่ได้ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง

 ไม่ใช่สมบัติของเราอย่างแท้จริง

 เอามาสอนใจอยู่เรื่อยๆ ก็จะเกิดความรังเกียจ

 ความเบื่อหน่าย เวลาอยากได้อะไร

ก็จะถูกปัญญาคือความจริงทำลายความอยากได้

 ทำให้ไม่มีความยินดี ไม่มีความต้องการอะไร

 และสามารถอยู่ได้โดยไม่มีอะไร

มีความสุขมากกว่า

คนที่มีอะไรมากมายก่ายกองเสียอีก

 แต่เราไม่รู้กัน มีแต่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกเท่านั้นที่รู้

แต่พวกเราไม่รู้

ถ้าเปรียบเทียบตัวเรากับพระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกแล้ว จะเห็นว่า

ท่านไม่มีสมบัติอะไรเลย

 นอกจากสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น

 คืออัฐบริขาร บริขาร ๘ มีบาตร ๑ ใบ ผ้า ๓ ผืน

 ประคดเอว ใบมีดโกน ที่กรองน้ำ เข็มกับด้าย

 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของพระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวก นอกจากนั้นแล้ว

ก็ไม่มีอะไรเป็นสมบัติเลย

 แต่ในใจมีความสุขเต็มที่ ปรมังสุขัง

ส่วนพวกเรามีสมบัติมากมาย

ก่ายกองนับไม่ถ้วน

 แต่ในใจของเรากลับเต็มไปด้วยความทุกข์

 ความวุ่นวาย กังวล ห่วงใย

 เสียดาย อาลัยอาวรณ์

 ที่ความหลงสร้างขึ้นมา

 ถ้าอยากจะพบกับความสุขที่แท้จริง

พบความอิ่มความพอ

ก็ต้องน้อมเอาพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้า

 มาสอนใจอยู่เรื่อยๆ

 ว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

 ไม่มีอะไรเป็นความสุขที่แท้จริง

ไม่มีอะไรเป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง

 ถ้าเตือนใจอยู่เรื่อยๆแล้ว

จะเกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งต่างๆที่มีอยู่

ไม่อยากจะได้อะไรเพิ่ม ใจจะสุขสบาย

ไม่กังวลกับอะไรทั้งสิ้น

ถึงเวลาที่ต้องจากคนนั้นคนนี้ จากสิ่งนั้นสิ่งนี้

 จะรู้สึกเฉยๆ เป็นเรื่องธรรมดา

เพราะไม่หลงยึดติด

ว่าจะต้องอยู่กับเราไปตลอด

 นี่คือผลที่จะได้รับจากการศึกษา

จากการปฏิบัติ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 อย่างที่พวกเราได้มาปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอ

 มาทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม

 ปฏิบัติธรรม เป็นทางที่จะนำพาจิตใจ

ให้ไปสู่ความสุขที่แท้จริง ไปสู่ความอิ่มความพอ

 ไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

 ขอให้มีความแน่วแน่มั่นใจ

ต่อการดำเนินตามพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้า

เพื่อจะได้พบกับสิ่งที่ดีงามต่อไป

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................

กัณฑ์ที่ ๓๐๗ วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๐

 (กำลังใจ ๓๑)

“การรักษาศีล”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 27 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2559 10:18:22 น.
Counter : 602 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ