Group Blog
All Blog
### งานที่สำคัญที่สุด ###









“งานที่สำคัญที่สุด”

งานภาวนานี้เป็นงานสำคัญที่สุด

เป็นงานที่แท้จริงของเรา

งานอื่นเป็นงานของร่างกาย

 งานหาอาหาร หาที่อยู่อาศัย

 หาเครื่องนุ่งห่ม หายารักษาโรค

 เป็นงานของร่างกาย ที่ไม่ใช่เป็นของเรา

แต่เราไม่รู้ เราหลงคิดว่า

ร่างกายเป็นของเรา

สิ่งที่เป็นของเราที่แท้จริงคือใจ

 การภาวนานี้ เป็นการให้อาหาร

ให้ที่อยู่อาศัย ให้ยารักษาโรค

 ให้เครื่องนุ่งห่มกับใจ

 งานภาวนานี้สำคัญมาก

 สำคัญกว่าการทำมาหากิน

 ที่เราทำกันอยู่เป็นประจำ เพื่อหารายได้

มาจุนเจือชีวิตคือร่างกายของเรา

ซึ่งไม่ใช่ตัวเรา รูปัง อนัตตา

 พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า

ขันธ์ ๕ คือรูปเวทนา

สัญญาสังขารวิญญาณ

 ไม่ใช่ตัวเรา สิ่งที่เป็นตัวเราคือใจ

 คือมโน มโนปุพพังคมา

 ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา

 ใจเป็นประธาน ใจเป็นใหญ่

 ใจเป็นตัวสำคัญของชีวิตเรา

 เราออกมาจากใจ ออกมาจากมโน

 ออกมาจากความหลงของใจ

 คือออกมาจาก อวิชชา ปัจจยา สังขารา

 ใจนี่แหละเป็นผู้รับผิดชอบ

กับการกระทำต่างๆของเรา

 ถ้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ก็จะเป็นประโยชน์กับใจ

 ถ้าทำผิดก็จะเป็นโทษกับใจ

 พวกเราที่เป็นมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายนี้

 ทำไม่ถูก ทำผิด เพราะความหลง

ไม่รู้ว่าใจเป็นตัวที่สำคัญ

 ที่เราต้องให้ความสำคัญ

ที่เราต้องเลี้ยงดูยิ่งกว่าร่างกาย

วิธีเลี้ยงดูใจ ก็คือทานศีลภาวนา

ถ้าเราทำทานรักษาศีลแล้วก็ภาวนา

 เราก็จะได้รักษาใจที่สำคัญกว่าร่างกาย

เพราะความสุขความทุกข์ของใจนี้ รุนแรงกว่า

ความสุขความทุกข์ของร่างกาย

เหมือนฟ้ากับดิน ถ้าสุขใจแล้ว

ไม่ว่าร่างกายจะทุกข์ขนาดไหน

 ก็ไม่เป็นปัญหาอย่างไร

ถ้าสุขกายแล้วแต่ใจทุกข์

ความสุขของกายก็ไม่มีความหมายอะไร

 เพราะความทุกข์ของใจรุนแรงกว่านั่นเอง

คนที่ร่ำรวยมีทุกสิ่งทุกอย่าง

 แต่มีความทุกข์ใจ

 ความร่ำรวยและสมบัติต่างๆที่เขามีอยู่

 จะไม่สามารถดับความทุกข์ใจของเขาได้

 แต่คนที่ไม่มีแม้แต่บาทเดียว

 เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์

ที่ทุกข์ยากทางร่างกาย

อยู่แบบอดอยากขาดแคลน

แต่กลับมีความสุขใจมากกว่าคนที่อยู่ในวัง

 อยู่ในคฤหาสน์อันใหญ่โต

 ที่มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์

แต่ใจไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับอาหาร

 ที่จะให้เกิดความสุขใจขึ้นมา

คือไม่ได้ปฏิบัติทานศีลภาวนา

ใจก็เลยมีแต่ความทุกข์อยู่เรื่อยๆ

 ดังที่เห็นกันในชีวิตของเราเอง

และของคนอื่น

 มีมากมีน้อยก็มีความทุกข์เหมือนกัน

จะทุกข์มากจะทุกข์น้อย

ก็อยู่ที่ว่าทำใจได้มากหรือน้อย

 ภาวนาได้มากหรือน้อย

รักษาศีลได้มากหรือน้อย

ทำบุญให้ทานได้มากหรือน้อย

ถ้าทำได้มากก็จะมีความทุกข์น้อย

 ถ้าทำได้น้อยก็จะมีความทุกข์มาก

นี่คือเรื่องของใจ ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน

 ที่จะทุกข์มากหรือสุขมาก ก็คือใจ

ไม่ใช่ร่างกาย

 ร่างกายไม่รู้ว่ามันทุกข์หรือสุข

 เพราะร่างกายไม่มีความรู้สึก

 เป็นเหมือนต้นไม้ ที่ไม่รู้ว่ามันสุขหรือทุกข์

 เวลาอากาศแห้งแล้ง ใบร่วงไปหมด

 มันก็ไม่รู้ว่ามันทุกข์ เวลาที่ได้รับน้ำ

 ใบออกมาเต็มต้น มันก็ไม่รู้ว่ามันสุข

 เพราะมันไม่มีตัวรู้ ไม่มีความรู้สึก

ไม่มีการรับรู้ แต่ใจนี่แหละ

เป็นตัวที่มีความรับรู้

จะรู้เวลาใจทุกข์ จะรู้เวลาใจสุข

 แต่ไม่รู้วิธีจัดการ กับความสุข

กับความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีปัญญา

 ต้องอาศัยคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้ามาสอน

 พอมีพระพุทธเจ้ามาปรากฏแล้ว

 ก็มีคนเรียนรู้จากพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก

นำเอาความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

 มาจัดการกับความสุขความทุกข์

ที่มีอยู่ภายในใจได้

 กำจัดความทุกข์ทั้งหลายให้หมดไป

รักษาความสุขให้อยู่กับใจไปตลอดอนันตกาล

 นี่คือสิ่งที่พวกเราสามารถทำได้

 เพราะได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

 ที่นานๆจะปรากฏขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง

แล้วก็จะอยู่ไปไม่นาน

 พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่า

จะอยู่ได้ประมาณ ๕๐๐๐ ปี

 หลังจากนั้นก็จะเสื่อมหมดไป

 เพราะจะไม่มีใครสืบทอดความรู้อันประเสริฐนี้

ไม่มีใครสนใจที่จะศึกษา และปฏิบัติตาม

คำสอนของพระพุทธเจ้า

ทั้งๆที่คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์

เป็นอกาลิโก ไม่มีวันเสื่อม

แต่จะอยู่กับโลกได้หรือไม่ ก็อยู่ที่สัตว์โลก

ว่าจะรักษาจะสืบทอด ด้วยการศึกษา

 ด้วยการปฏิบัติ ด้วยการบรรลุได้หรือไม่

 ทุกวันนี้พวกเราชาวพุทธเริ่มหลงทางกันแล้ว

 ด้วยการรักษาถาวรวัตถุต่างๆ

 สร้างโบสถ์สร้างเจดีย์สร้างพระพุทธรูป

เพราะคิดว่าเป็นศาสนา

แต่ความจริงเป็นเพียงเปลือกของศาสนา

 ไม่ใช่เป็นศาสนา

ศาสนาอยู่ที่คำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่จะอยู่กับโลกไปได้นานหรือไม่นาน

ก็อยู่ที่ว่ามีการศึกษา มีการปฏิบัติ

 มีการบรรลุธรรมหรือไม่

พวกเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ครั้งนี้

ต้องถือว่ามีโชควาสนาอย่างมาก

 เพราะอาจจะเป็นครั้งเดียว

ที่จะได้พบกับพระพุทธศาสนา

 เพราะครั้งหน้ากลับมาเกิดใหม่

 พระพุทธศาสนาก็อาจจะ

หายไปจากโลกนี้แล้วก็ได้

 ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องรอให้กลับมาพบกับ

ศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ใหม่

ที่กว่าจะกลับมาปรากฏให้โลก

ได้สักการะได้ยึดเป็นที่พึ่ง

 ก็ต้องอีกหลายกัปหลายกัลป์ด้วยกัน

พวกเราก็ต้องกลับมาเกิดมาตายอีก

ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านครั้ง

 กว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีก

 ชาตินี้จึงถือว่าเป็นชาติที่ดีมาก

เพราะได้พบคำสอนที่แท้จริงแล้ว

 ถ้าไม่ศึกษาและปฏิบัติ ก็ถือว่าเสียชาติเกิด

 ไม่ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

นี่คือเรื่องของศาสนากับเรื่องของพวกเรา

 พวกเราตอนนี้ก็เหมือนอยู่ในช่วงที่มีน้ำให้ตัก

อย่างที่โบราณท่านบอกว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก

เพราะถ้าน้ำลดลงไปแล้วจะไม่มีน้ำให้ตัก

จะไม่มีน้ำให้ใช้

ตอนนี้ถ้าตักเก็บไว้ในตุ่มในถัง

ต่อไปเวลาน้ำลดก็จะมีน้ำใช้

ถ้าไม่ตักตอนนี้ ต่อไปอาจจะไม่มีเวลา

ไม่มีโอกาสที่จะตัก

ใจของเราก็จะไม่มีความรู้

ที่จะเป็นที่พึ่งของเรา

ความรู้ที่จะสอน

ให้เรากำจัดความทุกข์ต่างๆ

 ให้หมดไปจากใจของเรา

ความรู้ที่จะสอนให้เรารักษาความสุข

ให้อยู่กับเราไปอย่างถาวร

 ดังนั้นเราอย่าไปเสียเวลากับงานอื่น

งานของใจเรานี้สำคัญที่สุด

งานที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้

กับพุทธศาสนิกชน ก็คือทานศีลภาวนา

เป็นงานที่จะดูแลรักษาใจของเรา

ให้มีแต่ความสุข

ให้หลุดพ้นจากความทุกข์

 พวกเราสามารถทำให้สำเร็จ

ได้ภายในชาตินี้เลย

 ไม่ต้องเสียเวลาทำเป็นกัปเป็นกัลป์

 เหตุที่พระพุทธเจ้าต้องใช้เวลา

สะสมบุญบารมีเป็นกัปเป็นกัลป์

 เพราะทรงไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

 ไม่รู้ทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์

พระองค์เลยต้องเสียเวลา

กับการสร้างบุญบารมีต่างๆ

 จนในที่สุดก็สามารถทำจิตใจของพระองค์

ให้หลุดพ้นจากความทุกข์

หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้

บรรลุถึงพระนิพพาน

ถึงความสุขที่ถาวรได้

สำหรับพระพุทธเจ้าต้องใช้เวลามาก

 เพราะไม่มีใครสอน

 แต่สำหรับพวกที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า

ได้ยินได้ฟังคำสอนแล้ว

 ก็สามารถทำให้เสร็จภายในชาตินี้ได้เลย

ดังที่ปรากฏในสมัยพระพุทธกาล

ที่หลังจากที่พระพุทธเจ้า

ทรงประกาศพระธรรมคำสอน

 ก็ปรากฏมีพระอรหันตสาวก

 ปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

 เพียงระยะเวลา ๗ เดือนแรก

ที่ทรงประกาศพระศาสนา

คือทรงประกาศในวันเพ็ญเดือน ๘

 แล้วต่อมาอีก ๗ เดือน คือวันเพ็ญเดือน ๓

 ที่เรียกว่าวันมาฆบูชา

ก็ปรากฏมีพระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูป

ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า

 โดยที่ไม่ได้นัดหมายกันไว้ก่อน

 พระอรหันต์ทั้ง ๑๒๕๐ รูปนี้

 พระพุทธเจ้าเป็นผู้อุปสมบทให้

 หลังจากที่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม

 ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

 ก็ขอบวชในพระพุทธศาสนา

บางรูปก็เป็นนักบวชอยู่แล้ว

 แต่เป็นนักบวชในลัทธิอื่น

 ที่ยังไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์

ไม่ว่าลัทธิไหนก็ตาม

 ทุกลัทธิก็มุ่งไปที่พระนิพพานเหมือนกัน

 แต่ไม่มีลัทธิไหนที่จะสอนให้ไปถึงได้

มีแต่พระพุทธเจ้า

เพียงพระองค์เดียวที่ทรงทำได้

 พอพวกที่นับถือลัทธิอื่น ได้ยินได้ฟัง

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 จนบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

 ก็เกิดศรัทธาขอบวช

ในบวรพระพุทธศาสนา

 พระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้

 โดยเปล่งพระวาจาว่า

เอหิ ภิกขุ จงมาเป็นพระภิกษุเถิด

สมัยนั้นบวชง่าย โกนหัวห่มผ้าเหลือง

แล้วก็มากราบพระพุทธเจ้าขอบวช

พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า

 จงมาเป็นภิกษุเถิด

 แค่นี้ก็ได้บวชเป็นพระแล้ว

 ต่อมามีคนอยากจะบวชกันเป็นจำนวนมาก

และอยู่ที่ห่างไกลจากพระพุทธเจ้า

ต้องเดินทางมาลำบากลำบน

 มาขอพระพุทธเจ้าบวช

พระพุทธเจ้าก็เลยมอบให้

เป็นภาระของสงฆ์ไป

คือให้มีพระ ๑๐ รูปเป็นอย่างต่ำ

ในเขตที่มีพระจำนวนมาก

ก็ให้ใช้พระ ๑๐ รูปบวช

ถ้าอยู่ในที่ๆมีพระน้อย

 ก็อนุโลมให้ใช้ ๕ รูป โดยให้ถือพระรัตนตรัย

 พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ

ประกาศตนขอบวชในบวรพระพุทธศาสนา

 พระสงฆ์ก็จะทำญัตติกรรม

 ทำการสอบสัมภาษณ์ผู้ที่มาบวชว่า

 มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการบวชหรือไม่

 มีบริขารครบหรือไม่ เมื่อมีคุณสมบัติครบ

 พระสงฆ์ก็จะลงมติกัน

คือรับให้เข้าสู่บวรพระศาสนาได้

 นี่คือการบวชในสมัยปัจจุบันนี้

 แต่ในสมัยก่อนนั้นบวชกันง่าย

 พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าให้มาเป็นภิกษุเถิด

 ก็ได้เป็นพระแล้ว สมัยก่อนบวชแล้วไม่สึกกัน

 ไม่เหมือนสมัยนี้ บวชเพื่อสึก

ไม่ได้บวชเพื่อปฏิบัติให้หลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิด

 ไม่ได้บวชเพื่อมรรคผลนิพพานกัน

 ส่วนใหญ่ก็บวชเพื่อทดแทนบุญคุณ

ของบิดามารดา ที่ให้กำเนิดแก่ตน

ซึ่งไม่ใช่เป็นจุดประสงค์

ที่พระพุทธเจ้าทรงให้บวช

ในสมัยพุทธกาลบวชเพื่อศึกษาและปฏิบัติ

เพื่อให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

เพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน

 เพื่อสืบทอดพระศาสนาต่อไป

 เพราะผู้ที่จะสืบทอดพระศาสนา

ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้องเป็นผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว

 บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว

ก็คือพระอรหันตสาวกทั้งหลายนี่เอง

 นี่คือเรื่องของพระพุทธศาสนากับพวกเรา

 พวกเรามาพบพระพุทธศาสนาแล้ว

ควรจะได้อะไร ควรได้ความรู้

ที่ไม่มีใครรู้มาก่อน

 ความรู้ที่จะแก้ความหลงของเรา

 ที่จะทำให้เราไม่ทุกข์กับเรื่องต่างๆ

 เช่นร่างกายของเรา

 ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า

 ไม่ใช่ตัวเราของเรา เราคือใจ

 อย่าไปดูแลร่างกายมากจนเกินไป

 อย่าไปทุกข์กับร่างกายมากจนเกินไป

 เพราะอย่างไรก็ดูแลไม่ได้ตลอด

ร่างกายเป็นสมบัติชั่วคราว

 จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตายไป

 แต่ใจไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

 แต่พวกเราถูกความหลงหลอก

ให้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ

กับการดูแลรักษาร่างกาย

ไม่ให้สนใจกับการดูแลรักษาใจ

ถ้าสนใจดูแลรักษาใจก็ต้องทำงาน ๓ ชิ้นนี้

คือ ทำบุญให้ทาน รักษาศีล แล้วก็ภาวนา

 ภาวนาก็มี ๒ ขั้นคือ สมาธิและปัญญา

 สมาธิและปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องมีสติ

 ต้องเจริญสติก่อน เจริญสติเพื่อควบคุม

ความคิดปรุงแต่งของใจให้สงบตัวลง

 ถ้าความคิดปรุงแต่งไม่สงบตัวลง

 ใจก็จะไม่เป็นสมาธิ จะไม่นิ่ง จะไม่สงบ

ดังนั้นถ้าจะภาวนา เรื่องแรกที่ต้องทำก็คือสติ

ที่นั่งสมาธิกันแล้วไม่ได้ผลก็เพราะไม่มีสติ

เหมือนเด็กที่ยังเดินไม่ได้จะวิ่งได้อย่างไร

ก่อนที่จะเดินได้จะวิ่งได้

ก็ต้องยืนให้ได้เสียก่อน ตอนนี้กำลังคลานอยู่

 ปุถุชนเป็นเหมือนเด็กที่ยังคลานอยู่

ยังทำสมาธิไม่ได้ ยังเดินไม่ได้ ยังวิ่งไม่ได้

ถ้าปัญญานี้ขั้นวิ่งแล้ว ถ้าเดินก็ขั้นสมาธิ

ยืนก็คือสติ ดังนั้นก่อนที่จะนั่งสมาธิ

ให้ได้ผลจริงๆ ต้องเจริญสติให้มากๆ

ให้สติมีกำลังที่จะดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน

ให้หยุดความคิดปรุงแต่ง ให้รู้เฉยๆ

ให้รู้อยู่กับการกระทำของร่างกาย

 ร่างกายกำลังทำอะไรอยู่

ก็ให้รู้ว่ากำลังทำเรื่องนั้นอย่างเดียว

ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น

กำลังรับประทานอาหาร ก็ให้รู้ว่า

กำลังรับประทานอาหาร

กำลังอาบน้ำกำลังแต่งตัว

 กำลังทำงานอะไรก็ตาม ให้รู้อยู่กับงานนั้น

 ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่น

ไม่ให้ไปคิดเรื่องใกล้เรื่องไกล

เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เรื่องอดีตเรื่องอนาคต

ถ้ายังห้ามความคิดปรุงแต่งไม่ได้

 แสดงว่าสติไม่มีกำลัง ที่จะดึงให้อยู่กับ

การทำงานของร่างกาย

ก็ต้องอาศัยการบริกรรมไป

 บริกรรมพุทโธๆไป

ไม่ว่าจะทำอะไรก็พุทโธๆไป

อย่าไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้

 ยกเว้นถ้าจำเป็นจะต้องคิดจริงๆ

เช่นวันนี้จะต้องไปทำอะไร

จะต้องไปพบกับใครเวลาใด

 ก็คิดเตรียมตัวเอาไว้ก่อน

ในขณะที่คิดก็ควรจะนั่งเฉยๆ หรือยืนเฉยๆ

ไม่ควรทำอะไร ทำทีละอย่าง

ให้ใจอยู่กับงานอย่างเดียว

ถ้าคิดก็ยืนหรือนั่งเฉยๆ คิดให้พอ

 พอคิดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ก็กลับมาทำงานที่ต้องทำต่อ

 เช่นเตรียมตัวไปทำงาน

อาบน้ำก็ให้อยู่กับการอาบน้ำ

 ถ้าไม่ยอมอยู่ก็ต้องบริกรรมพุทโธๆไป

 แล้วก็อาบน้ำไป พุทโธๆไปอาบน้ำไป

แต่งตัวก็พุทโธๆไป

รับประทานอาหารก็พุทโธๆไป

ออกจากบ้านก็พุทโธๆไป พุทโธๆไปเรื่อยๆ

 ดึงใจเอาไว้ อย่าแวบไปหาเรื่องนั้นเรื่องนี้

 ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 เพราะจะทำให้ใจไม่นิ่ง

 จะทำให้ใจฟุ้งซ่านได้

พอมีเวลาว่างก็หามุมสงบ นั่งหลับตา

 จะบริกรรมพุทโธหรือจะดูลมหายใจก็ได้

 ไม่นานใจก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบ

 พอได้พบกับความสงบแล้ว จะรู้ว่านี่แหละ

คือความสุขที่แท้จริง อยู่ตรงนี้เอง

 ไม่ได้อยู่ที่การได้เงินได้ทองมา

มากมายก่ายกอง

ไม่ได้อยู่ที่เป็นใหญ่เป็นโต

 ไม่ได้อยู่ที่การได้รับการยกย่อง

สรรเสริญเยินยอ

 ไม่ได้อยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรส

โผฏฐัพพะชนิดต่างๆ

 แต่อยู่ที่ความสงบ ที่เกิดจากการเจริญสติ

แล้วก็นั่งสมาธินี่เอง ถ้าจิตรวมลงเต็มที่แล้ว

 ก็จะไม่อยากได้อะไร ออกจากสมาธิมา

ก็อยากจะได้ความสุขแบบนี้อีก

ก็จะเพียรเจริญสติต่อไป

 แล้วก็เพียรนั่งสมาธิต่อไป

 จนสามารถนั่งสมาธิได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

 จนไม่อยากจะทำอะไรเลย

 ก็อาจจะลาออกจากงาน

 ตัดภารกิจที่ไม่สำคัญไม่จำเป็นออกไป

 ดูแลเพียงร่างกาย ถ้าบวชได้ก็บวชเลย

แล้วก็มาบำเพ็ญภาวนาต่อ

ถ้าได้สมาธิแล้วก็จะมีบาทมีฐาน

สำหรับการเจริญปัญญาต่อไป

เพราะถ้าไม่มีสมาธิแล้วมาเจริญปัญญา

 จะมีอารมณ์ที่ไม่ดีมาคอยขัดขวาง

 เพราะการพิจารณาทางปัญญานี้

 ต้องพิจารณาเรื่อง

ความแก่ความเจ็บความตาย

 ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 ซึ่งถ้าใจไม่สงบ จะเกิดอารมณ์หดหู่

 ไม่สบายอกไม่สบายใจขึ้นมา

จะไม่อยากพิจารณา

นี่คืองานของเราที่แท้จริง

 คืองานภาวนา รักษาศีล ทำบุญให้ทาน

เป็นขั้นบันได ข้ามขั้นไม่ได้

ถ้าไม่ทำบุญให้ทานจะรักษาศีลไม่ได้

ถ้ารักษาศีลไม่ได้ การภาวนาก็เป็นไปไม่ได้

 เพราะฉะนั้นต้องทำบุญให้ทาน

 เพื่อให้เกิดความเมตตา ปล่อยวาง

ในสมบัติข้าวของเงินทอง

ไม่วิตกไม่กังวลไม่ห่วงใย

ก็จะรักษาศีลได้ง่าย เพราะมีความเมตตา

 ไม่อยากเบียดเบียนผู้อื่น

 สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ

 ไม่จองเวรจองกรรม

สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ

 เมื่อไม่มีการทำบาป ใจก็จะไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว

การทำสมาธิก็จะง่ายกว่า

เวลาที่มีความว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่สบายใจ

วิตกกังวลกับการกระทำบาปต่างๆ

ต้องปฏิบัติเป็นขั้นไป

 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องทำทีละขั้น

ทำไปพร้อมๆกันก็ได้

ทำทานไปรักษาศีลไปแล้วก็ภาวนาไป

 ต่อไปก็จะทำทานน้อยลง ศีลก็รักษาเป็นปกติ

ศีลนี้รักษาง่ายมาก ไม่ทำอะไรก็มีศีลแล้ว

 แต่ทานกับภาวนาจะแย่งเวลากัน

 ถ้าภาวนาแล้ว ก็ไม่ควรกลับไปทำทาน

ไม่ควรเสียเวลากับการทำทาน

ถ้าจะทำก็ทำแบบง่ายๆ

บริจาคเงินไปเป็นก้อนไปเลย

ถ้าเป็นนักบวชก็สละหมดเลย

มีสมบัติเงินทองข้าวของมากน้อย

 ก็ยกให้คนอื่นไปหมดเลย

 เป็นการทำทานอย่างเต็มที่เลย

ถ้าทำทานแบบนี้แล้ว

ก็ไม่ต้องทำทานอีกต่อไป

เพราะไม่มีสมบัติข้าวของเงินทอง

จะให้ใครอีกแล้ว

นักบวชนักภาวนา

ถ้าได้สละสมบัติไปหมดแล้ว

 ก็ไม่ต้องทำทานแล้ว

ควรภาวนาให้มากที่สุด

ทุ่มเทเวลากับการภาวนา ไปปลีกวิเวก

ไปอยู่ห่างไกลจากสังคม

ห่างไกลจากเรื่องวุ่นวายต่างๆ

ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการเจริญสติ

สมาธิและปัญญา ถ้าทำได้

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ในมหาสติปัฏฐานสูตร ก็จะบรรลุได้

ทรงพยากรณ์ไว้ว่าไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างมาก

 ถ้ามีความสามารถมากก็ภายใน ๗ วัน

 ก็บรรลุได้ ถ้าปฏิบัติอย่างเข้มข้น

ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เจริญสติ นั่งสมาธิ

เจริญปัญญา สลับกันไป

 ไม่นานจิตก็จะหลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลายได้

นี่คือโอกาสอันเลิศอันวิเศษของพวกเรา

 ที่อาจจะมีครั้งนี้เพียงครั้งเดียว

 กลับมาเกิดคราวหน้า

อาจจะไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกแล้ว

 ก็จะไม่มีใครสอน ไม่มีใครบอก

ว่าควรจะทำอะไร ขนาดมียังทำกันไม่ได้เลย

 ขนาดมีพระพุทธเจ้ามีครูบาอาจารย์

คอยสอนอยู่ตลอดเวลา มีหนังสือมากมาย

 มีซีดีมีเทปให้ฟังเป็นจำนวนมาก

 แต่การกระทำก็ยังเหมือนเดิม

 ยังไปยุ่งไปห่วงกับการดูแลรักษาร่างกาย

มากกว่าการดูแลรักษาใจ

พวกเราจึงเป็นเหมือนทัพพีในหม้อแกง

 ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น

จะไม่ได้ลิ้มรสของแกง

 จะไม่ได้รับประโยชน์จากแกง

ไม่เป็นเหมือนลิ้นกับแกง

 ถ้าเป็นก็จะได้รับประโยชน์

 ได้สัมผัสรับรู้พระธรรมคำสอน

ที่เป็นรสที่ชนะรสทั้งปวง ดังที่ทรงตรัสว่า

 รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

ถ้ายังไม่เห็นว่ารสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

ก็จะปล่อยรสอื่นไม่ได้

ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้

 ปล่อยลาภยศสรรเสริญไม่ได้

 แต่ถ้าได้สัมผัสกับรสแห่งธรรม

ที่เกิดจากความสงบเพียงครั้งเดียวแล้ว

 รับรองได้ว่าจะสละได้

จะมุ่งไปที่รสแห่งธรรมเพียงอย่างเดียว

ขอให้พวกเราพยายามภาวนา

ทำจิตให้สงบให้ได้ ให้รวมให้ได้

 ให้ได้เห็นหนังตัวอย่าง

ถ้าเห็นหนังตัวอย่างของพระนิพพานแล้ว

 รับรองได้ว่าจะไม่อยากได้อะไร

จะอยากได้พระนิพพานเพียงอย่างเดียว

พยายามศึกษาให้มาก ภาวนาให้มาก

 เจริญสติให้มาก

รักษาศีลทำบุญให้ทานให้มาก

 แล้วสักวันหนึ่งภายในชาตินี้

จะได้พบกับความสุขนี้

เพราะมีผู้ที่ได้พบมาแล้วเป็นจำนวนมาก

 ที่เรากราบไหว้บูชาเป็นสังฆรัตนะ

ก่อนหน้านั้นท่านก็เป็นเหมือนพวกเรา

ยังหลงติดอยู่กับรสของรูปเสียงกลิ่นรส

รสของลาภยศสรรเสริญ

แต่พอได้สัมผัสกับรสของพระธรรม

ได้เห็นหนังตัวอย่าง ก็ติดใจ

 เกิดฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา

 เกิดอิทธิบาท ๔ ขึ้นมา

 ถ้ามีอิทธิบาท ๔ แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร

 จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

นี่คือทางที่พวกเราจะต้องไปกัน

พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์

ไม่สามารถเดินแทนพวกเราได้

ได้แต่คอยบอกคอยเตือน คอยลากคอยจูง

 ด้วยการพร่ำสอนเท่านั้น

 ถ้าพวกเราไม่ทำก็จะไปไม่ถึง

 ขอให้พวกเราเชื่อมั่น

ในคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้อง

 ที่จะนำพาเราไปสู่ความสุขที่แท้จริง

 และการหลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลายได้อย่างแน่นอน

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

กัณฑ์ที่ ๔๓๕ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๕

 (จุลธรรมนำใจ ๒๘)

“งานสำคัญที่สุด”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 ธันวาคม 2559
Last Update : 2 ธันวาคม 2559 12:21:37 น.
Counter : 772 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ