Group Blog
All Blog
### ต้องทำการบ้านก่อน ###









“ต้องทำการบ้านก่อน”

นักปฏิบัติตั้งแต่สมัยพุทธกาล

จนถึงปัจจุบันนี้

 ต้องทดสอบกันทั้งนั้น

ต้องอยู่ป่าอยู่เขากันทั้งนั้น

ต้องอยู่ตามลำพัง

ถึงจะเกิดความกลัวสุดขีด

 พอเกิดความกลัวสุดขีด

ถ้ามีปัญญาก็จะดับความกลัวได้

ดับด้วยการเห็นว่า

ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นธาตุ ๔

 เชื่ออย่างเต็มที่ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ

 ถึงเวลาก็ยอมให้ไปเลย

เวลากลัวสุดขีดก็ยอมปล่อยให้ไป

 ตายเป็นตาย

พอปล่อยได้ปั๊บจิตจะหยุดกลัว

จะแยกออกจากร่างกายให้เห็นเลย

 จะรวมเข้าสู่สมาธิ เป็นเอกัคตารมณ์

ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง

หลังจากนั้นจะไม่มีความกลัวอีกต่อไป

 เพราะรู้ว่าใจไม่เป็นอะไร

 ร่างกายเป็น แต่ใจกลับสบาย

จะไปกลัวตายทำไม

พอสลัดร่างกายทิ้งไปได้แล้ว

จะสบายใจมาก แลกกันระหว่าง

ร่างกายกับจิตที่รวมลงเป็นหนึ่ง

เป็นเอกัคตารมณ์ เราจะเอาอะไร

ท่านถึงสอนว่านิพพานอยู่ฟากตาย

 ถ้าไม่ยอมตายจิตจะไม่ดิ่งลงสู่พระนิพพาน

 ไม่ดิ่งลงสู่ความสงบ

แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้นได้

ต้องทำการบ้านก่อน

ต้องเตรียมต้องซ้อมไว้ก่อน

ถ้าไม่ทำจะไม่มีกำลัง

พอไปแล้วจะทำไม่ได้ จะสติแตก

แทนที่จะดิ่งลงสู่ความสงบ

จะดิ่งสู่ความเป็นบ้า

 เพราะควบคุมกิเลสไม่ได้

 กิเลสจะทำให้สติแตก

 จะทำให้เป็นบ้าไปเลย

ผู้ที่ปฏิบัติแล้วเป็นบ้ากัน

 เพราะไม่รู้กำลังของตนเอง

ท่านถึงบังคับให้ผู้ที่บวชใหม่

อยู่กับพระอาจารย์

อย่างน้อย ๕ พรรษาก่อน

 ให้ศึกษาวิทยายุทธ์

ให้มีอาวุธคุ้มครองจิตใจก่อน

แล้วค่อยออกไปต่อสู้กับกิเลสในสนามรบ

ตอนต้นก็ซ้อมกับอาจารย์ไปก่อน

 ให้อาจารย์ยุแหย่ให้เกิดกิเลสขึ้นมา

 ทำให้เรากลัว แล้วดูซิว่าจะปลงได้หรือไม่

ถ้าปลงได้ไม่กลัวท่าน ก็ออกวิเวกได้

ถ้ายังกลัวท่านอยู่ท่านก็จะไม่ให้ไป

ถ้าบวชใหม่ไปอยู่วิเวกส่วนใหญ่

มักจะเสียหาย ไม่ค่อยได้ประโยชน์

นอกจากเก่งจริงๆ

เช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้น

จะว่าไม่มีอาจารย์ก็ไม่เชิง

ท่านก็ทรงศึกษากับพระอาจารย์

 ไม่ได้ไปอยู่ตามลำพัง

ทรงศึกษาตามสำนักต่างๆ

การอยู่ศึกษากับอาจารย์

 จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าคงไม่ทรงบังคับ

ให้อยู่กับอาจารย์ถึง ๕ พรรษา

พระที่บวชใหม่จะต้อง

ไม่อยู่ปราศจากอาจารย์

 ต้องถือนิสัยในอาจารย์

หรือพระอุปัชฌาย์

ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่สามารถที่จะสอนได้

ท่านก็จะฝากให้ไปศึกษา

กับพระอาจารย์รูปที่สอนได้

ก็ต้องไปถือนิสัยกับพระอาจารย์รูปนั้น

 จะไปไหนมาไหน ต้องขออนุญาตท่านก่อน

 ถ้าท่านให้ไปถึงจะไปได้

ถ้าท่านไม่ให้ไปก็ไปไม่ได้

 ถ้าดื้อท่านก็จะไม่รับกลับมา

ไปแล้วก็ไปเลย ไม่ต้องกลับมา

 ถือว่าขาดจากการ

เป็นอาจารย์เป็นลูกศิษย์แล้ว

 ถ้าอาจารย์สอนแล้ว ลูกศิษย์ไม่เชื่อฟัง

 ก็จะไม่มีประโยชน์ สอนไปก็เสียเวลา

การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

สำหรับผู้บวชใหม่ ผู้เริ่มปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้เลยว่า

 ต้องศึกษาก่อน

ปริยัติคือการศึกษาคำสอนของผู้รู้

 ถ้ายังไม่รู้ก็ต้องหาผู้รู้ให้สั่งสอน

 ท่านสอนให้ทำอะไร ก็ปฏิบัติตาม

จนกว่าจะบรรลุผลขึ้นมา

 เป็นปฏิเวธ ปริยัตินำไปสู่การปฏิบัติ

 ปฏิบัตินำไปสู่ปฏิเวธ พอบรรลุธรรมแล้ว

ค่อยเผยแผ่สั่งสอนผู้อื่นต่อไป

จะสอนก็ได้ ไม่สอนก็ได้

ไม่มีกฎบังคับตายตัว

ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละท่าน

 บางท่านไม่มีความสามารถที่จะสั่งสอนได้

อย่างกว้างขวาง ก็อาจจะไม่สอน

หรืออาจจะไม่มีผู้ศรัทธามาศึกษากับท่าน

 บางท่านมีความสามารถ

และมีผู้สนใจศึกษากับท่านมาก

ท่านก็สอนไป

สิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ปฏิบัติ ก็คือปฏิเวธ

การบรรลุผลที่เกิดจากการปฏิบัติ

 จะเกิดได้ก็ต้องมีการปฏิบัติ ที่ถูกต้อง

คือ สุปฏิปันโน อุชุ ญาย สามีจิ ปฏิปันโน

จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้

ก็ต้องมีปริยัติที่ถูกต้อง

มีคำสั่งสอนที่ถูกต้องคือ

สวากขาโต ภควตาธัมโม

จะศึกษากับใครถึงจะได้

สวากขาโต ภควตาธัมโม

 ก็ต้องศึกษาจากพระไตรปิฎก

 เชื่อกันว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่ได้รับการถ่ายทอดมา

ทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน

หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องศึกษาจากพระอริยสงฆ์

 ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ครูบาอาจารย์ผู้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว

 ถึงจะได้ สวากขาโต ภควตาธัมโม

 ธรรมที่ตถาคตตรัสไว้ชอบแล้ว

นี่คือขั้นตอนของการบำเพ็ญ

ของพุทธศาสนิกชน

ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต

 เหมือนกัน ไม่ต่างกัน

 ต่างกันตรงที่เวลาที่จะมีให้

ต่อการบำเพ็ญกิจของพระศาสนา

ถ้าเป็นบรรพชิตก็จะมีเวลาเต็มที่

 ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย

 ไม่มีภารกิจอย่างอื่นมาดึงไป

แต่ถ้าเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน

จะมีเวลาน้อยมาก ต่อการปฏิบัติกิจ

ของพระศาสนา

วันหนึ่งแทบจะไม่มีเวลาเลย

 ถ้าไม่ตั้งใจจริงๆ

 ถ้าไม่กำหนดตารางไว้จริงๆ

 แทบจะไม่มีเวลาบำเพ็ญกันเลย

 ตื่นเช้าขึ้นมาก็ตาลีตาลานรีบไปทำงาน

ทำมาหากินกัน

พอเย็นก็รีบตาลีตาลาน กลับบ้าน

 เพื่อจะได้กินข้าวพักผ่อนหลับนอน

หาความสุขเล็กๆน้อยๆ

จากการดูหนังฟังเพลง

พักผ่อนหย่อนใจ

 เพื่อจะได้มีกำลังออกไปทำงานในวันรุ่งขึ้น

 ฆราวาสจึงไม่ค่อยมีเวลา

ที่จะปฏิบัติกิจของพระศาสนา

ถามว่าฆราวาสกับบรรพชิตนี้ต่างกันไหม

 ไม่ต่างกัน มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน

 มีกายมีใจเหมือนกัน

ต่างกันตรงที่มีความใฝ่ธรรม

มากน้อยต่างกัน

 ถ้าใฝ่ธรรมมากก็จะมีกำลังมากพอ

ที่จะสละเพศของฆราวาสได้

ออกไปปฏิบัติได้

 ออกไปบวชเป็นบรรพชิต

 เป็นนักบวช เพื่อปฏิบัติอย่างเต็มที่

แต่ถ้าบวชแล้วไม่ได้ปฏิบัติ

กลับมาทำกิจของฆราวาสก็ไม่ต่างกัน

 เช่นบวชแล้วไม่เคยนั่งสมาธิ

ไม่เคยเดินจงกรมเลย

ทำแต่บุญบังสังสวด บุญก็คืองานบุญ

 เช่นญาติโยมนิมนต์ไปทำบุญที่บ้าน

 ถือตาลปัตรไปนั่งสวดให้ญาติโยมฟัง

 เสร็จแล้วก็ฉัน ฉันเสร็จแล้ว

ก็รับจตุปัจจัยไทยทาน

 แล้วก็กลับวัดมาพักผ่อน

บ่ายๆก็ดื่มน้ำชากาแฟ

ตอนกลางคืนก็เข้านอน

เช้าก็ไปรับกิจนิมนต์ใหม่

รับสังฆทานบ้าง งานบุญบ้าง บังสุกุลบ้าง

 เวลาคนตายก็ไปบังสุกุล

 ถ้ามีพิธีสวดก็สวดกัน

ถ้าทำกิจอย่างนี้ก็ไม่ต่างกับฆราวาส

เพราะนี่ไม่ใช่กิจของพระศาสนา

ไม่ใช่กิจที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ

 ในอดีตนั้นท่านไม่ได้ถือกิจเหล่านี้เป็นกิจสำคัญ

 การสวดการท่องนี้ทำเพื่อสืบทอด

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 เป็นอุบาย ๓ ประการด้วยกัน

คือ ๑. เป็นการสอนผู้สวดเอง

ให้รู้พระธรรมคำสั่งสอน ให้เกิดปัญญา

๒. ให้มีสมาธิ เวลาสวดพระธรรมคำสั่งสอน

ของพระพุทธเจ้า หรือท่องไปในใจ

เป็นการทำสมาธิภาวนา

 ๓. เป็นการอนุรักษ์คำสอนของพระพุทธเจ้าไว้

ธรรมที่ออกมาจากใจ

กับธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้

 จะตรงกัน จะไม่มีปัญหาไม่สงสัย

 ถ้าศึกษาอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติ

ไม่มีปฏิเวธ จะสงสัย ไม่แน่ใจว่า

ธรรมที่ได้ยินนี้ถูกต้องหรือไม่

เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่

ถ้าจะอนุรักษ์พระศาสนา

ด้วยการท่องสวดอย่างเดียวจะไม่พอ

 พระศาสนาจะต้องหมดไปอย่างแน่นอน

 ถ้าไม่มีการปฏิบัติพระศาสนาก็จะหมดไป

 ต่อให้มีการจารึกพระไตรปิฎกไว้

ในระบบข้อมูลสื่อสารต่างๆ

ก็จะเป็นเพียงตัวหนังสือเท่านั้นเอง

อ่านแล้วจะไม่เข้าใจจะลังเลสงสัย

เช่นเรื่องธาตุ ๖ นี้ ถ้าไม่เคยได้ยิน

ไม่เคยศึกษามาก่อน ฟังครั้งแรก

ก็จะต้องงงทันทีเลย ถ้าไม่ปฏิบัติจะไม่รู้

 ถ้าปฏิบัติแล้วจะเข้าใจทันที

 พออ่านปั๊บจะรู้ทันทีเลยว่าพูดถึงเรื่องอะไร

 เพราะมีอยู่ในตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหน

 ธาตุ ๖ นี้อยู่ในตัวเรา

ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้

 มุ่งมาที่กายและใจของเราเท่านั้น

 อริยสัจ ๔ ก็อยู่ที่ใจของเรา

อยู่ที่ร่างกายของเรา

ทุกขสัจคือการเกิดแก่เจ็บตาย

 อะไรล่ะที่เกิดแก่เจ็บตาย ก็ร่างกายนี้

อะไรที่ทุกข์ ก็ใจนี้ที่ทุกข์

เพราะไปยึดไปติดกับร่างกาย

ว่าเป็นตัวเราของเรา

นี่คือการอนุรักษ์พระศาสนา

ให้มีอายุยืนยาวนาน

 ต้องอนุรักษ์ด้วยปริยัติปฏิบัติปฏิเวธ

 ในสมัยโบราณท่านสวดกันเพื่อเหตุนี้

 แต่ในสมัยปัจจุบัน ไม่ได้สวดเพื่อเหตุนี้

 สวดเพื่อกระดาษที่พิมพ์ตัวเลข

 เป็นพิธีกรรม ได้อย่างมากก็ทาน

ถ้าเอาเงินที่ได้มาไปทำทาน

แต่การทำทานไม่ใช่หน้าที่ของนักบวช

ที่ได้สละหมดแล้ว

ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

 ถ้าบวชเพื่อมาหาเงิน

 ก็แสดงว่าไม่ได้มาบวชจริง

ผู้ที่บวชจริงๆได้สละหมดแล้ว

 ไม่ได้มาบวชเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทอง บวชเพื่อปฏิบัติธรรม

ไม่ยุ่งกับเรื่องเงินทอง

 นอกจากว่ามันมายุ่งกับท่านเอง

อย่างนี้ก็ช่วยไม่ได้

 เช่นครูบาอาจารย์ที่มีศรัทธา

ถวาย เงินทองให้กับท่าน

 แต่จิตใจท่านไม่ได้มุ่งหาเงินหาทอง มันมาเอง

 ท่านก็ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่โลก

 ถ้าท่านยังไม่บรรลุก็จะเป็นปัญหาได้

เพราะจะมีกิเลสที่ทำให้เกิดความโลภ

เกิดความอยาก เกิดความหวงขึ้นมาได้

ถ้าไปเกี่ยวข้องกับเงินทองก็จะเสียได้

 แต่ถ้าบรรลุธรรมแล้วเสร็จกิจของท่านแล้ว

 วุสิตังพรหมจริยังแล้ว

 กิจในพรหมจรรย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ต่อให้เกี่ยวข้องกับเงินทองกองเท่าภูเขา

ก็จะไม่เป็นปัญหาอย่างไร

เพราะท่านรู้ว่ามันเป็นเพียงธาตุ

เป็นกระดาษเท่านั้นเอง

 แต่เป็นประโยชน์กับผู้ที่เดือดร้อน

 ไม่มีข้าวกิน ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีเสื้อผ้าใส่

ก็จะเป็นประโยชน์

แต่กับตัวท่านมันไม่มีประโยชน์อะไร

ทั้งกายและใจ กายท่านก็ปล่อย

ใจท่านก็ไม่ทุกข์กับอะไร ไม่มีความอยาก

 ต่อให้ได้เงินทองกองเท่าภูเขา

 ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรกับท่าน

กลับเป็นภาระ ที่จะต้องจัดการดูแล

แจกจ่าย ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ถ้าผู้บวชใหม่เห็นครูบาอาจารย์

มีเงินมีทองมาก

ก็อยากจะมีเหมือนกับท่าน

 ก็แสดงว่าหลงทางแล้ว

เพราะไม่ได้บวชเพื่อมาหาเงินหาทอง

 บวชเพื่อหาธรรม

หาการหลุดพ้นจากความทุกข์

เป็นงานของนักบวช

งานของพุทธศาสนิกชน

เป้าหมายของพวกเราทุกคน

 อยู่ที่การดับทุกข์ภายในใจ

 ถ้าปฏิบัติมากละได้มากก็จะดับได้มาก

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่นี้

เป็นเหมือนไฟ เงินทองนี้เป็นเหมือนไฟ

จะคอยเผาใจเราอยู่เรื่อยๆ

ความสุขที่มันให้กับเรานี้มีเพียงเล็กน้อย

 แต่ความทุกข์ที่เผาใจเรานี้

มีมากกว่าหลายเท่า แต่เราไม่รู้กัน

 พอเห็นเงินเห็นทองก็ตาลุกวาว

คิดว่าจะให้ความสุขกับเรา

 แต่หารู้ไม่ว่า

ถ้าไปยึดติดกับเงินไปพึ่งเงินแล้ว

 เวลาไม่มีเงินจะทำอย่างไร

จะอยู่เฉยๆได้ไหม

 ถ้าไม่ยึดไม่ติดกับเงินทอง

 จะอยู่ตามมีตามเกิดได้

 คนรวยถึงทุกข์มากกว่าคนจน

ทุกข์เพราะกลัวจะจน

 แต่คนจนไม่กลัวความจน

 เพราะอยู่กับความจนตลอดเวลา

 คนจนทุกข์ตรงที่อยากจะรวย

 แต่คนรวยกลับทุกข์เพราะไม่อยากจะจน

 แล้วก็ทุกข์เพราะอยากจะรวยกว่าเก่าอีก

ทุกข์ทั้ง ๒ ด้านเลย

ทุกข์ทั้งขึ้นทุกข์ทั้งลง

รวยแล้วยังอยากจะรวยกว่านี้อีก

 แล้วก็กลัวจะจนอีก จึงอย่าไปอยากรวย

อย่าไปกลัวจน

 พอมีพอกินไปวันๆหนึ่งก็พอแล้ว

 อย่าไปเสียเวลากับการหาเงินหาทอง

หรือรักษาเงินทองมากจนเกินเหตุ

ให้มารักษาใจจะดีกว่า ด้วยการศึกษา

ด้วยการปฏิบัติ ด้วยปฏิเวธ

พอได้ปฏิเวธแล้วใจจะปลอดภัย

จากทุกข์ทั้งปวง ทุกข์ภัยต่างๆ

ที่เกิดจากกิเลสตัณหาจะไม่มี

 เพราะไม่มีกิเลสตัณหาหลงเหลืออยู่ในใจ

 ความสำคัญอยู่ตรงนี้

อยู่ที่ใจที่สะอาดบริสุทธิ์

ที่ได้ชำระความโลภความโกรธความหลง

จนหมดสิ้นไป ภารกิจอื่นไม่สำคัญ

เพราะไม่สามารถชำระจิตใจ

ให้สะอาดบริสุทธิ์ได้

 ต้องปฏิบัติกิจของพระศาสนา

 คือปริยัติปฏิบัติปฏิเวธเท่านั้น ที่จะทำได้

ถ้าพอมีพอกินแล้ว

 ก็ควรหันมาปฏิบัติกิจ

ของพระศาสนาให้มากขึ้นจะดีกว่า

จะได้ไม่เสียชาติเกิด

เพราะมนุษย์นี้เป็นชาติเดียวเท่านั้น

ที่จะปฏิบัติกิจของพระศาสนาได้

แล้วก็ต้องเป็นในขณะที่มีคำสอน

ของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย

 ต้องมีสวากขาโต ภควตาธัมโม

เป็นปริยัติธรรมนำทาง

ถ้าไม่มีก็จะปฏิบัติแบบผิดๆถูกๆ

จะไม่สามารถบรรลุผลที่ถูกต้องได้

พวกเราถือว่าโชคดีมีบุญวาสนา

ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ในขณะที่ยังมี

สวากขาโต ภควตาธัมโมอยู่

ถ้าไม่รีบตักตวงก็จะเสียโอกาสที่ดีนี้ไป

 ต้องพิจารณาและตัดสินใจเอง

 โอกาสอย่างนี้มีไม่บ่อย

การจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

 แล้วมาเจอพระพุทธศาสนาพร้อมๆกันนี้

 เป็นสิ่งที่ยากมาก ดังที่ทรงแสดงไว้ว่า

 มีสิ่งที่ยากอยู่ ๔ ประการด้วยกันคือ

 ๑. การปรากฏของพระพุทธเจ้า

๒. การได้เกิดเป็นมนุษย์

๓. การได้ศึกษาปฏิบัติธรรม

๔. การดำรงชีวิต

ตอนนี้พวกเรามีครบทั้ง ๔ ส่วนแล้ว

เป็นมนุษย์ ได้พบพระธรรมคำสอน

ได้ศึกษาได้ปฏิบัติ ยังมีชีวิตอยู่

สิ่งที่ขาดตอนนี้ก็คือการปฏิบัติ

 ต้องปฏิบัติให้มากขึ้นศึกษาให้มากขึ้น

 ตอนนี้ศึกษาปฏิบัติเดือนละครั้ง

 รู้สึกว่าน้อยมาก

 ถ้ากินข้าวเดือนละครั้งจะเป็นอย่างไร

 ทำไมไม่ศึกษาปฏิบัติเหมือนกับกินข้าว

 กินข้าววันละ ๓ มื้อ

น่าจะศึกษาปฏิบัติวันละ ๓ รอบ

รอบเช้า รอบกลางวัน รอบเย็น

รอบละชั่วโมง ๒ ชั่วโมง

ร่างกายอยู่ได้เพราะเราเลี้ยงดูอย่างดี

 แต่ใจเราไม่สะอาดเพราะเราไม่ชำระ

เหมือนกับเลี้ยงดูร่างกาย

ถ้าชำระใจเหมือนเลี้ยงดูร่างกาย

 จะสะอาดมากกว่านี้

จะมีความสุขมากกว่านี้

 ขอให้เอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนี้

ไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติ

ตามแต่จะเห็นสมควร


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

กัณฑ์ที่ ๔๑๑ วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๓

“ธาตุ ๖”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 24 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2559 6:05:31 น.
Counter : 739 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ