Group Blog
All Blog
### พระจริงพระปลอม ###










“พระจริงพระปลอม”

สมัยนี้เราบวชกันเพื่อทดแทนบุญคุณ

ของบิดามารดา บวชเพื่อศึกษา

 เพื่อลิ้มรสของธรรม

 แล้วก็พอได้เวลาก็ลาสิกขาไป

เพื่อไปประกอบอาชีพ

ดำเนินชีวิตของฆราวาสที่มีคุณธรรม

 มีศีลธรรม อันนี้เป็นการบวชส่วนใหญ่

 แล้วก็มีบวชอีกแบบหนึ่ง

คือบวชแล้วไม่สึก

 บวชเพื่อตั้งใจศึกษาปฏิบัติ

เพื่อให้ได้หลุดพ้นออกจากกองทุกข์

แห่งการเวียนว่ายตายเกิด

การบวชแบบนี้

เป็นการบวชแบบพระพุทธเจ้า

 บวชแบบสมัยพระพุทธกาล

 สมัยพระพุทธกาลนี้ในระยะแรกๆ

 การบวชเกิดจาก

การที่ได้ยินได้ฟังพระธรรม

 คำสอนของพระพุทธเจ้า

 แล้วพอได้ยินได้ฟัง

ก็สามารถบรรลุถึงพระนิพพาน

 บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เลย

 เมื่อบรรลุแล้วก็เลย

ขออนุญาตบวชกับพระพุทธเจ้า

เพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่รับใช้

ช่วยเหลือพระพุทธเจ้า

 ในการเผยแผ่สั่งสอนพระธรรม

อันประเสริฐให้แก่สัตว์โลกต่อไป

นี่คือลักษณะของการบวช

ในสมัยเริ่มแรกๆของพระพุทธศาสนา

เวลาที่พระพุทธเจ้าไปทรงโปรด

แสดงธรรม ให้แก่ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยิน

ได้ฟังธรรมอันประเสริฐ

 พอเขาได้ยินได้ฟังแล้ว

 เขาก็น้อมนำเอามาปฏิบัติที่จิตใจ

 จนทำให้เขาสามารถกำจัดกิเลสตัณหา

ความทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจ

ให้หมดสิ้นไป เขาก็เลยไม่มีความจำเป็น

 ที่จะต้องอยู่แบบฆราวาสอีกต่อไป

 เพราะการอยู่แบบฆราวาส

อยู่ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา

กิเลสตัณหา เป็นผู้สั่งการ

ให้ใช้ชีวิตแบบฆราวาส

 เพราะเป็นชีวิตที่ต้องใช้ร่างกาย

เป็นเครื่องมือหาความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย

แต่เป็นความสุขที่ห้อมล้อม

ด้วยความทุกข์เป็นสุขที่ชั่วคราว

เป็นความสุขที่ไม่ถาวร

 เวลาใดที่ไม่สามารถหาความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกายได้

 เวลานั้นก็เป็นเวลา

ที่มีแต่ความทุกข์ใจไม่สบายใจ

ผู้ที่มีความฉลาดเห็นโทษ

ของการหาความสุขแบบฆราวาส

ผู้ครองเรือน พอได้ยินได้ฟังพระธรรม

 อันประเสริญของพระพุทธเจ้า

สามารถกำจัดความโลภ

 ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ

 ให้หมดไปจากใจได้

 ใจก็ไม่ต้องใช้ร่างกาย

เป็นเครื่องมือหาความสุข

ไม่ต้องหาความสุขแบบฆราวาส

 เพราะมีความสุขที่เหนือกว่า

ที่เกิดจากการชำระกิเลสตัณหา

ให้หมดไปจากใจ นั่นก็คือความสุข

 ที่เกิดจากความสงบ

 ที่เป็นความสุขที่เหนื่อกว่าสุขทั้งปวง

 เมื่อได้ความสุขอันนี้แล้ว

ก็เลยไม่กลับไปอยู่ แบบฆราวาส

ผู้ครองเรือนอีกต่อไป

 เพราะว่าไม่ต้องการกลับไป

หาความทุกข์ต่างๆนั่นเอง

อยู่แบบนักบวช

อยู่แบบผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว

 อยู่อย่างสุขอย่างสบาย

ไม่ต้องมีอะไรมาให้ความสุข

มีความสงบเพียงอย่างเดียว

 ความสงบที่ถาวรที่จะอยู่กับใจไปตลอด

ไม่เหมือนกับรูปเสียงกลิ่นรส

ไม่เหมือนกับลาภยศ สรรเสริญ

ที่มีวันที่จะต้องเสื่อม

มีวันที่จะต้องหมดไป

ผู้ที่ยังอยู่เป็นฆราวาส

หาความสุขแบบนี้อยู่

ก็จะต้องพบกับ ความทุกข์อยู่เรื่อยๆ

ไม่มีวันสิ้นสุด

 และไม่ใช่เฉพาะความทุกข์

แต่ในภพนี้ชาตินี้เท่านั้น

เพราะว่าหลังจากที่ ร่างกายนี้ตายไปแล้ว

ความอยากที่จะหาความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ก็ยังไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 เพราะอยู่ในใจ ก็จะพาให้ใจไปเกิดใหม่

 ไปมีร่างกายอันใหม่

เพื่อที่จะได้หาความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกายใหม่

พร้อมกับรับความทุกข์

เวลาที่ไม่สามารถที่จะหาความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกายได้

นี่คือหนทางเส้นทางเดินของชีวิต

ของผู้ครองเรือนจะต้องหาความสุข

ทางร่างกายไปเรื่อยๆ ร่างกายอันนี้ตายไป

 ก็กลับมาหาร่างกายอันใหม่

 กลับมาเกิดใหม่

 กลับมาแก่มาเจ็บมาตายใหม่

กลับมาทุกข์กับการพลัดพราก

 จากของที่รักของที่ชอบใหม่

เพราะไม่มีความรู้ไม่มีปัญญา

ที่จะเห็นโทษของการหาความสุข

 แบบของผู้ครองเรือน

ว่ามันเป็นความทุกข์ว่ามันเป็นเหตุ

ที่ทำให้ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด

อยู่อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

 นานๆจะมีคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้า

มาเกิดแล้วเห็นโทษ

ของการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 จึงได้ตัดสินพระทัยสละการหาความสุข

ที่มีแต่ความทุกข์ห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลา

 แล้วก็ออกไปหาความสุข

ที่ไม่ต้องใช้ร่างกาย

ไม่ต้องใช้ตาหูจมูกลิ้นกาย

เป็นเครื่องไม้เครื่องมือ

 จนในที่สุดก็ทรงสามารถพบกับ

ความสุข ที่ถาวรคือ

ความสงบของใจที่ถาวรได้

ด้วยการกำจัดทำลายเหตุ

ที่มาทำลายความสงบ

เหตุที่มาทำลายความสงบของใจ

ก็คือกิเลสตัณหานี่เอง

 อย่างตอนนี้ญาติโยมใจสงบนั่งเฉยๆได้

 แต่เดี๋ยวเกิดตัณหา ความอยาก

 เกิดกิเลสขึ้นมาเมื่อไร นั่งไม่ได้

 เดี๋ยวต้องลุกแล้ว เช่นนั่งไปสักพัก

เกิดอาการเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้

กิเลสตัณหาก็จะออกมาบอกว่าไปได้แล้ว

 นั่งมานานพอแล้ว

นั่งทรมานกับความเจ็บทำไม

 ก็เลยต้องหนี ความเจ็บไป

 นี่คือกิเลสตัณหาโดยที่เราไม่รู้สึกตัว

ว่ามันคือกิเลสตัณหา

 คนที่เขาไม่มีกิเลสตัณหา

 เจ็บอย่างไรเขาก็นั่งเฉยๆได้

 เพราะใจของเขาไม่มีความอยาก

ที่จะหนีความเจ็บไป

 เขารู้ว่าหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น

หนีไปตรงนี้เดี๋ยวก็ไปเจ็บตรงนั้นต่อ

 เจ็บตรงนั้นหนีไปก็ไปเจอความเจ็บต่อ

 เขาก็เลยไม่หนี พอเขาไม่หนี

เขาก็เลยไม่แพ้ไม่กลัวความเจ็บ

ไม่ต้องหนีความเจ็บ ใจของเขาสงบ

ใจของเขาไม่เดือดร้อนกับความเจ็บ

นี่คือวิธีของพระพุทธเจ้า

วิธีหาความสุขของพระพุทธเจ้าก็คือ

วิธีสู้กับความเจ็บของทางร่างกาย

 ไม่หาความสุข ทางร่างกาย

 ปล่อยให้ร่างกายเจ็บไป

ปล่อยให้ร่างกายทุกข์ไป แต่ใจไม่หวั่นไหว

 ใจสงบ ใจมีความสุข ใจก็เลยไม่ต้องใช้

ร่างกายเป็นที่พึ่งอีกต่อไป

 นี่คือการบวชในสมัยพระพุทธกาล

บวชเพื่อให้ได้หลุดพ้นจากอำนาจ

ของกิเลสตัณหาที่คอยสั่งให้วิ่งหาความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย

สั่งให้วิ่งหนีความทุกข์ของทางร่างกาย

 แต่จะมีวันหนึ่งที่วิ่งหนีไม่ได้

เวลาเป็นโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา

 ยาก็ไม่สามารถที่จะระงับความเจ็บ

ของร่างกายได้ ยาก็ไม่สามารถป้องกัน

ไม่ให้ร่างกายตายได้

 เวลานั้นเลยเป็นของเวลาของความทุกข์

ของผู้ครองเรือน

 คนเราทุกคนจึงไม่ค่อยชอบ

ความแก่ ชอบความเจ็บ ชอบความตายกัน

เพราะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติกับความแก่

 ความเจ็บ ความตาย

 พอเจอความแก่ ความเจ็บ

 ความตายก็อยากจะหนีเพียงอย่างเดียว

 พออยากจะหนีก็เกิด

 ความทุกข์ขึ้นมาภายในใจทันที

แล้วหนีไม่ได้ก็ยิ่งทุกข์ใหญ่

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงไปปฏิบัติ

เพื่อไม่ต้องหนีความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ไม่ต้องทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ด้วยการควบคุมใจให้อยู่เฉยๆให้ใจสงบ

 เพราะเวลาใจสงบแล้ว ใจจะไม่ทุกข์

กับความแก่ กับความเจ็บ ความตาย

จะไม่ทุกข์กับการสูญเสีย

สิ่งต่างๆที่รักที่ชอบไป

 นี่คือสิ่งที่พวกเราไม่รู้จักทำกัน

พวกเราเลยต้องร้องห่มร้องไห้กันอยู่เรื่อยๆ

 เวลาเจอสิ่งที่เราไม่ชอบก็ร้องไห้

เวลาเสียสิ่งที่เรารักไปก็ร้องไห้

เพราะเราไม่รู้จักควบคุมใจของเรานั่นเอง

 ถ้าเรารู้จักควบคุมใจของเรา

ให้อยู่ในความสงบ

 ใจจะมีแต่ความสุข ความสบาย

ไม่ว่าจะเจอสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ

 จะไม่วุ่นวายจะไม่เดือดร้อน

จะไม่ร้องห่มร้องไห้

 นี่คือสิ่งที่พวกเรายังขาดกัน

 เรายังต้องทุกข์กันต่อไปเรื่อยๆ

 เราจึงต้องมาวัดเพื่อมาศึกษา

วิธีที่จะทำให้ใจของเรา

 ไม่ทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ

 และการที่จะทำให้ใจของเราไม่ทุกข์ได้

หลังจากที่เราศึกษาแล้ว

เราก็ต้องนำเอาไปปฏิบัติ

และการปฏิบัติเพื่อที่จะให้ได้ผล

อย่างเต็มร้อยก็ต้องไปบวช

 อยู่แบบนักบวช

 ผู้ที่มาบวชนี้เป้าหมายที่แท้จริง

ก็คือ มาทำใจให้สงบ มารักษาใจให้สงบ

ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม

ถ้าสามารถรักษาใจให้สงบได้ตลอดเวลา

 ใจจะไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อน

กับเหตุการณ์ต่างๆเลย

 ไม่ว่าจะพบกับความเสื่อม

ของลาภยศ สรรเสริญ สุข

ไม่ว่าจะพบกับความแก่

 ความเจ็บ ความตาย ใจจะไม่รู้สึกอะไร

เหมือนกับคนที่มีเสื้อเกราะใส่

 เวลาถูกยิง ก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน

เพราะว่ากระสุนไม่เข้าไป

ถึงร่างกายนั่นเอง

มีเกราะป้องกันเอาไว้

การปฏิบัติธรรมการทำใจให้สงบนี้

จะเป็นเกราะคุ้มครองจิตใจไม่ให้ทุกข์

ไม่ให้หวั่นไหวไม่ให้หวาดกลัว

 ไม่ให้วิตกกังวล ไม่ให้เสียอกเสียใจ

กับเหตุการณ์ต่างๆ

ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

 นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้า

 ได้ทรงค้นพบได้ตรัสรู้

 แล้วพอนำเอามาสั่งสอนให้แก่ผู้ไม่รู้

เขาก็เกิดศรัทธา แล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ

 พอปฏิบัติ เขาก็สามารถมีเกราะคุ้มกัน

ใจของเขาไม่ให้ทุกข์

กับเหตุการณ์ต่างๆ ได้

เขาก็เลยไม่ต้องกลับไปอยู่

เป็นเพศของฆราวาสอีกต่อไป

 เพราะเพศของฆราวาสนั้น

เป็นเพศเหมือนกับ

 อยู่ในกองไฟดีๆนี่เอง อยู่ในกองไฟ

จะหาความร่มเย็นเป็นสุขได้อย่างไร

 มีแต่ความรุ่มร้อนจิตใจ

 ร้อนด้วยความโลภ

 ร้อนด้วยความโกรธ

ร้อนด้วยความหลง

 แต่ก็ไม่รู้จักวิธีดับความร้อน

 แทนที่จะดับความร้อน ด้วยการเทน้ำ

ลงไปในกองไฟกลับเทน้ำมันลงไป

เวลาเทน้ำมันลงไปใหม่ๆ

น้ำมันมันยังไม่ร้อน

ก็เลยทำให้ไฟทำท่าจะดับ

แต่พอน้ำมันเริ่มร้อนขึ้นมา

กลับทำให้กองไฟนี้ใหญ่ขึ้นไปอีก

 ร้อนขึ้นไปมากกว่าเดิมอีก

นี่คือวิธีที่ผู้ไม่รู้จักวิธีดับ

ความร้อนใจที่ถูกต้องทำกัน

คือเวลาเกิดความร้อนใจ

 เกิดจากความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

ก็ไปทำตามความอยาก

พอไปทำตามความอยาก

ความร้อนใจก็หายไปชั่วคราว

 แต่พอไม่นานความร้อนใจ

ก็กลับร้อนขึ้นมามากกว่าเก่า

เพราะไม่ได้ใช้วิธีดับความร้อนใจด้วยน้ำ

 วิธีที่จะดับความร้อนใจก็คือ

ต้องไม่ทำตามความอยาก

 เวลาเกิดความอยากขึ้นมา

 ดึงใจออกจากความอยากด้วยสติ

 เช่นใช้คำบริกรรมพุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ

 อย่าไปคิดถึงสิ่งที่เราอยาก

หรืออย่าไปอยากคิดถึง

สิ่งที่ทำให้เราโกรธ ถ้าเราไม่ไปคิด

เดี๋ยวความร้อนใจ ก็จะหายไป

 นี่คือวิธีของพระพุทธเจ้า

 วิธีที่จะดับความร้อนใจได้อย่างถาวร

 เพราะเมื่อเราหยุดความอยากได้

ต่อไปความอยากก็จะหายไป

ถ้าอยากแล้วไม่ได้

มันก็ไม่รู้จะอยากไปทำไม

 แต่ถ้าอยากได้แล้ว

 มันก็จะอยากได้เรื่อยๆ

 ถ้ามีคนอยากได้เงินทองมาขอเงินทอง

ถ้าเราให้เขาไป เดี๋ยวอีก ๒ วัน

 เขาก็กลับมาขอใหม่

 แต่ถ้าเขามาขอแล้วเราไม่ให้เขา

 เขาก็ไม่กลับมา

เพราะกลับมาก็รู้ว่าไม่ได้อยู่ดี

 ฉันใดถ้าเราไม่ทำตามความอยาก

 ต่อไปความอยากมันก็จะไม่โผล่ขึ้นมา

 เพราะมันรู้ว่าโผล่ขึ้นมามันก็ไม่ได้อยู่ดี

เช่นอยากดื่มกาแฟก็อย่าไปดื่มมัน

ลองทดลองดูไม่กี่ครั้ง

เดี๋ยวความอยากก็หายไป

พอเวลาอยากจะดื่มกาแฟก็บอกว่าไม่ดื่มๆ

ทุกครั้งที่อยากจะดื่มก็บอกไม่ดื่มๆ

ต่อไปมันก็ไม่อยากเอง

 เพราะมันรู้ว่าอยากแล้วก็ไม่ได้ดื่ม

ไม่รู้จะอยากไปทำไม

 เราต้องมีความเด็ดเดี่ยว

 เราต้องกล้าต่อสู้กับความอยากของเรา

 ถ้าเราอยากจะไม่มีความทุกข์ความวุ่นวายใจ

 เพราะความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ

มันเกิดจากความอยากของเราเท่านั้นเอง

ไม่ได้เกิดจากอะไร

 อยากให้คนนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

พอไม่ได้เป็นก็จะตายให้ได้

 เสียอกเสียใจร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา

 พอเขาเป็นอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น

เดี๋ยวก็อยากให้เขาเป็นอย่างนั้น

เป็นอย่างนี้ขึ้นมาใหม่อีก

ความอยากมันไม่มีวันจบ

 มันจะยาวไปเรื่อยๆ ยืดออกไปเรื่อยๆ

วิธีที่จะทำให้มันหายไปก็คือ

อย่าไปทำตามความอยาก

ทั้งคนนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

ก็ปล่อยเขาเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ไป

ไม่ต้องไปยุ่งกับเขาเรื่องของเขา

เรามาหยุดความอยากของเรา

 แล้วเราจะไม่เดือดร้อน

กับการที่เขา เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 การที่เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

แล้วทำให้เราเดือดร้อนก็เพราะว่า

เราไม่อยากให้เขา

 เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 แต่ถ้าเราไม่มีความอยาก

ให้เขาไม่เป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างนี้

 เขาจะเป็นอย่างไร เราก็จะไม่เดือดร้อน

 แล้วต่อไปเราก็จะไม่ไปยุ่งกับเขา

เขาจะเป็นจะตายก็เรื่องของเขา

 เราก็อยู่ของเรา ไปอย่างสบาย

 นี่คือเรื่องของการมาบวช

ขั้นต้นก็มาศึกษาวิธีปฏิบัติ

เพื่อที่จะทำให้จิตใจของเรานั้น

 หยุดความอยากต่างๆได้

 ดับความทุกข์ใจต่างๆได้

ยุติการเวียนว่ายตายเกิดได้

ดังนั้นเวลาบวชพระพุทธเจ้าจึงบังคับว่า

ต้องอยู่กับอาจารย์อย่างน้อย ๕ ปี ๕ พรรษา

 ไม่ใช่บวชปั๊บเดี๋ยวก็ไป

ตั้งสำนักเป็นอาจารย์ขึ้นมาเลย

 ถ้าอย่างนี้ไม่ได้บวชมาเพื่อบวชเรียน

 บวชมาเพื่อสอน จะเอาอะไรไปสอน

 ถ้าไม่เอากิเลสตัณหาไปสอน

 ความอยากจะสอนผู้อื่นนี้

ก็เป็นกิเลสตัณหาแล้ว

 พระพุทธเจ้านี้ไม่มีความอยาก จะสอน

 แต่สอนด้วยเหตุผลด้วยความจำเป็น

 เพราะถ้าไม่สอนก็ไม่มีใครที่จะรู้ได้

ตอนต้นตอนที่ตรัสรู้ใหม่ๆ

 ก็ไม่อยากจะสอนใคร เพราะเห็นว่า

สอนแล้วมันทำยาก

คนที่ไม่อยากจะตัดกิเลสกัน

ไม่อยากจะ หยุดความอยากกัน

พอไปสอนให้เขาหยุดความอยากตัดกิเลส

เขาก็จะไม่ทำตามกัน

 ตอนต้นก็เลยท้อแท้ ไม่อยากจะสอน

แต่หลังจากมีเวลาได้พิจารณาดูก็เห็นว่า

คนเรานี้มีหลายชนิดด้วยกัน

คนที่เชื่อฟังแล้ว ปฏิบัติตามก็มี

 คนที่ไม่ฟังไม่ปฏิบัติตามก็มี

 พระพุทธเจ้าก็เลยตัดสินพระทัยว่า

ไปสอนคนที่เชื่อคนที่ฟังก็แล้วกัน

 ส่วนคนที่ไม่เชื่อไม่ฟังก็จะไม่สอน

 นี่คือการสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

 ไม่ได้สั่งสอนเพราะอยากจะสอน

ถ้าอยากจะสอนนี้แสดงว่า

อยากจะเป็นครูอยากจะเป็นอาจารย์

อยากจะมีหน้ามีตา อยากจะมีลูกศิษย์

อยากจะให้เขาเคารพกราบไหว้บูชา

 อยากจะให้เขาถวายลาภสักการะต่างๆ

จึงอยากไปเป็นอาจารย์

 เพราะว่าถ้าเป็นลูกศิษย์

ไม่มีใครจะมากราบไหว้บูชาเคารพ

พระบวชใหม่นี้ส่วนใหญ่

จะไม่มีใครเคารพนับถือ

เพราะยังไม่เห็นฝีมือ

ยังไม่เชื่อว่าจะบวชไปได้สักกี่วันกัน

 เดี๋ยวบวชไปได้ไม่กี่วันสึกไป

ก็ทำให้เสียใจได้

เขาถึงไม่ค่อยจะไปศึกษา

จากพระที่บวชใหม่

 แต่สมัยนี้เขามีเทคนิค

พระบวชใหม่ เขาจะมีการหว่านล้อม

ด้วยคำพูดต่างๆ แสดงผลงาน

อันเลิศอันประเสริฐที่ได้บำเพ็ญมา

 เพื่อที่จะโน้มน้าวจิตใจให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง

เกิดศรัทธาความเชื่อขึ้นมา

แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปพิสูจน์ได้ว่า

พูดจริงหรือพูดโกหก

เพราะเกรงใจผ้าเหลือง

 เมื่อเห็นว่าห่มผ้าเหลืองเป็นพระ

แล้วก็ต้องเชื่อว่าพูดจริง

ก็เลยถูกหลอกกันไปเรื่อยๆ

 มีพวกที่มาบวชก็ตั้งตัวเป็นอาจารย์ปั๊บ

 เป็นไปได้ไม่นานก็มีเหตุบัดสีต่างๆ เกิดขึ้น

ทำให้ต้องสิกขาลาเพศไป

 อันนี้เป็นอุทาหรณ์

ที่ญาติโยมควรที่จะพิจารณา

เวลาใครบวชใหม่ๆ

 แล้วมาตั้งตัวเป็นอาจารย์นี้

 ขอให้ระวังไว้ให้ดี

ไปหาพระที่บวชมาแล้ว ๓๐ -๔๐ ปีแล้ว

จะแน่ใจกว่า เพราะโบราณท่านก็พูดไว้แล้วว่า

ระยะทางเป็นเครื่องพิสูจน์ม้า

 เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน

 ไม่ใช่คำพูดของคนที่เป็นเครื่องพิสูจน์

 บอกว่าวิเศษอย่างนั้นวิเศษอย่างนี้

 แต่มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะไปพิสูจน์ได้

แต่เวลานี่แหละจะพิสูจน์ได้

ว่าอยู่เป็นพระมาได้ถึง ๔๐ -๕๐ ปีหรือยัง

ถ้าอยู่ได้ก็น่าที่จะพอที่จะเชื่อถือกันได้

นี่คือเรื่องของการบวชเรียน

บวชแล้วต้องเรียนก่อน

เรียนจนกว่าจะบรรลุหลุดพ้นแล้ว

ได้รับปริญญาแล้ว

 ค่อยไปเป็นอาจารย์ต่อไป

 แล้ววิธีเป็นอาจารย์

ก็ไม่ได้ไปติดป้ายประกาศไว้ว่า

ที่นี่รับการสั่งสอนธรรมะ

ใครต้องการหลุดพ้นขอเชิญมาที่นี่ได้เลย

 เรียน ๓ วัน ๗ วันก็จะได้หลุดพ้น

 เดี๋ยวนี้มีคนทำอย่างนี้ มีพระทำอย่างนี้

 ส่งไปตามไลน์ต่างๆ

มีญาติโยมคนหนึ่งเอามาให้ดู

 ประกาศเชิญชวนให้มาเรียนวิธีลัด

วิธีบรรลุ ภายในไม่กี่วัน

 คนที่อยากจะบรรลุเร็วๆก็ชอบวิ่งไปหาเลย

 เพราะไม่อยากที่จะมานั่งทรมานตัวเอง

 พุทโธๆไป รู้สึกว่ามันช้า

อยากจะเอาแบบเร็วๆฟังปุ๊บได้ปั๊บเลย

 อันนี้ถ้ามันได้ปั๊บ

มันก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กันไปหมดแล้ว

นี่คือเรื่องของพระพุทธศาสนา

 พระพุทธเจ้าสอนให้พระบวชใหม่

ให้อยู่ศึกษากับครูบาอาจารย์ไปก่อน ๕ ปี

 แล้วหลังจากนั้นถ้าอยากจะไปปลีกวิเวก

ไปหาความสงบก็ไปทำต่อ

ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะบรรลุ เมื่อบรรลุแล้ว

ก็ค่อยไปสั่งสอนผู้อื่นอีกต่อไป

 แต่ไม่ต้องไปประกาศ

 ไม่ต้องไปเรียกร้องให้เขามาศึกษา

 ถ้าเขาสนใจเขามาศึกษา

เขาได้รับประโยชน์

 เดี๋ยวเขาไปโฆษณาให้เราเอง

เราไม่ต้องไปโฆษณา

 ถ้าโฆษณาก็แสดงว่ายังมีกิเลสอยู่

 ยังอยากจะสอนอยู่ คนที่ไม่มีกิเลสแล้ว

รับรองได้ว่าไม่อยากจะสอนใคร

 สอนเพราะความจำเป็น สอนเพราะจนมุม

 หนีไปไหนไม่ได้ เขามาหาเขามาขอให้สอน

ก็เลยต้องสอนเขา

เพราะว่าไม่ได้รับอะไรจากการสั่งสอน

 ลาภสักการะที่ได้มาก็ไม่รู้เอาไปใช้ทำอะไร

 เพราะว่าสิ่งต่างๆ ที่ได้มา

มันให้ความสุขไม่ได้เท่ากับ

ความสุขที่ได้จากการหลุดพ้น

จากกิเลสตัณหาทั้งปวง

นี่คือเรื่องของพระพุทธศาสนา

เรื่องของการบวช เรื่องของการสั่งสอน

ก็ขอฝากให้เป็นอุทาหรณ์

 เป็นเครื่องเตือนใจเพื่อที่จะได้

นำเอาไปปฏิบัติให้ถูกต้อง

 เพื่อจะได้รับประโยชน์

และความสุขที่จะตามมาต่อไป

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะในศาลา

 วันเสาร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙

“พระจริงพระปลอม”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 06 ธันวาคม 2559
Last Update : 6 ธันวาคม 2559 10:35:23 น.
Counter : 829 Pageviews.

0 comment
### ความรักตัวกลัวตาย ###









“ความรักตัวกลัวตาย”

เรื่องความกลัวตายนี่ ลองไปพิสูจน์ดู

 ถ้าไม่เห็นว่าความรักตัวกลัวตาย

มันเป็นโทษมากกว่าความตาย

 เราก็จะไม่ปล่อย แต่ถ้าเห็นว่า

 ขณะนี้เราทุกข์เหลือเกิน เราทรมานเหลือเกิน

 เพราะความกลัวสิ่งต่างๆ เราก็จะปล่อย

เวลาไปอยู่ในที่มีภัยรอบด้าน

 ถึงแม้ภัยจริงๆยังมาไม่ถึงตัว

แต่ความกลัวมาถึงตัวก่อนแล้ว

เราจะเห็นว่าความกลัว

นี่มีโทษมากกว่าภัยรอบด้าน

 ถ้ายอมตายความกลัวที่มีอยู่ในใจ

จะหายไปหมดเลย จะเกิดความสงบ

ความสบายความสุขขึ้นมา

ท่ามกลางภัยต่างๆที่ล้อมรอบ

 ที่กลับไม่เป็นภัย เหมือนกับภัยที่อยู่ในใจ

 คือความรักตัวกลัวตายนี่เอง

เราจะไม่เห็นความรักตัวกลัวตายนี้

 ถ้าไม่ไปอยู่ในสถานที่ที่มีภัยรอบด้าน

เพราะมันจะไม่ออกมา อย่างที่เราอยู่ตรงนี้

 ความรักตัวกลัวตายมันไม่ออกมา

 แต่ถ้าเกิดมีใครโยนงูพิษ

เข้ามาใส่ในศาลาสักตัว

 ดูใครจะกระโดดหนีก่อนใคร

มันถึงจะออกมา

ถ้ากระโดดหนีไม่ได้จะทำอย่างไร

 ถ้าถูกผูกมัดไว้ให้นั่งอยู่เฉยๆ

จิตใจจะดิ้นอย่างไร

 ถ้าจิตใจปลงได้มันก็ไม่ดิ้น

 เพราะเห็นว่ามันทุกข์เหลือเกิน

ที่ไปกลัวความตาย ยอมตายดีกว่า

 ยอมตายแล้วกลับไม่ทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้

ก็จะสามารถทำลายความรักตัวกลัวตายได้

 เป็นความหลงอย่างหนึ่ง

ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว

ก็จะรู้ว่าไม่ช้าก็เร็วร่างกายก็ต้องตายอยู่ดี

ร่างกายเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่งที่เราได้มา

 ครอบครอง แต่เราไปหลงว่าเป็นตัวเราของเรา

 เพราะมันติดอยู่กับใจ

ตั้งแต่วันที่คลอดออกจากท้องแม่

ตั้งแต่วันที่จิตใจเริ่มตื่นขึ้นมารับรู้มาเห็นร่างกาย

 ก็ถูกความหลงหลอกว่าเป็นตัวเราของเรา

แล้วก็ไม่มีใครบอกว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

 ถ้าสมมุติว่าพ่อแม่เป็นพระพุทธเจ้า

เป็นพระอรหันต์นี่ ท่านก็จะสามารถสอน

ตั้งแต่ลูกเริ่มรู้เดียงสาว่า

ร่างกายนี้ไม่ใช่ของลูกนะ

ตัวลูกที่แท้จริงไม่ใช่ร่างกายนี้

ตัวลูกก็คือดวงวิญญาณ

ที่มาครอบครองร่างกายนี้ คือตัวรู้ คือตัวใจ

 ร่างกายนี้จะเป็นอะไรไปก็ไม่ต้องไปเสียดาย

 มันจะแก่จะเจ็บจะตายก็ให้มันเป็นไป

 มันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันต้องไปอยู่ดี

 ถ้าเรายอมให้มันไป ไม่ยึดไม่ติดกับมัน

 เราจะอยู่อย่างมีความสุขไปตลอด

จะไม่มีความทุกข์กับความเป็นไปของร่างกาย

 ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไร

 จะแก่จะเจ็บไข้ได้ป่วย

จะมีพิษภัยอะไรต่างๆมาทำลาย จะรู้สึกเฉยๆ

 จะสามารถไปได้ทุกแห่งทุกหน

ที่คนทั่วไปจะไม่กล้าไปกัน

เช่นไปในป่าช้า ไปในป่าลึก

ถ้ามีคนสอนตั้งแต่เริ่มเป็นเด็กมานี่

มันก็จะซึมซาบเข้าไปในใจ

ทีนี้เด็กจะรับได้ไม่ได้ก็อยู่ที่กิเลสของเด็ก

 ว่ามีแรงมากหรือน้อย ถ้าน้อยมันรับได้ง่าย

ปัญหาก็จบได้ง่าย ถ้ารับได้ยาก

ก็ต้องคอยสอนอยู่เรื่อยๆ

ต้องให้ไปประสบกับเหตุการณ์จริงๆ

ให้เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ

 ที่ไปหลงยึดติดว่าเป็นตัวเราของเรา

 มันมีโทษมากกว่าการปล่อยวาง

 ยอมรับความจริงว่ามันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา

 ถ้ามันจะจากไป จะเป็นอะไรไป ก็ให้มันไป

ให้มันเป็นไป แล้วจะเห็นความสุขความสงบ

ที่เกิดจากการยอมรับนี้ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว

 ต่อไปก็จะสามารถใช้การปล่อยวางนี้

ไปใช้กับสิ่งอื่นได้ ถ้าปล่อยร่างกายนี้ได้แล้ว

 ส่วนอื่นๆภายนอกก็ต้องปล่อยได้หมด

 เพราะมีความสำคัญรองลงมาจากร่างกาย

 เพราะไม่มีอะไรจะมีค่ายิ่งกว่าร่างกาย

ที่พระพุทธเจ้าทรงเรียงลำดับความสำคัญ

ไว้ดังต่อไปนี้คือ ทรัพย์ อวัยวะ แล้วก็ชีวิต

 ชีวิตเราให้น้ำหนักมากที่สุด มากกว่าอวัยวะ

 ถ้าต้องตัดแขนตัดขาก็ยอม ถ้ายังอยู่ได้

 ต้องผ่าตัดก็ยอมผ่า เพื่อรักษาชีวิตไว้

เพราะเรารักชีวิตมากกว่า

แล้วก็ทรงสอนให้รักธรรมมากกว่าชีวิต

ธรรมก็คือความสงบของใจ

ถ้าอยากจะให้ใจสงบ ให้มีความสุขใจ

 ก็ต้องละได้แม้กระทั่งชีวิต

เพราะชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา

 ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ละไม่ได้ มันละได้

เพียงแต่เราไปหลงยึดติดมันเอง

แต่ใจนี่เราละไม่ได้ ต่อให้เราอยากจะละมัน

 ก็ละไม่ได้ เพราะมันเป็นของเรา

 มันเป็นตัวเราที่แท้จริง มันอยู่กับเราไปตลอด

 แต่เราไม่รู้ใจของเรา เราไปหลงว่า

เราคือร่างกาย เราก็เลยทุกข์วุ่นวาย

กับร่างกาย ที่จะต้องจากเราไป

 ส่วนที่ไม่จากเราไปก็คือใจ

 มันอยู่กับเราไปตลอด

ตัวรู้มันอยู่กับเราไปตลอด แต่เราไม่รู้ใจ

ไม่มีใครสอนว่าใจของเราเป็นอย่างไร

ถ้าไม่ภาวนาเราจะไม่เห็นใจ

 เพราะถูกความหลงหลอก

ให้ไปดูสิ่งต่างๆภายนอก ไม่ให้กลับมาดูตัวใจ

ตัวใจก็เป็นเหมือนอีกจักรวาลหนึ่ง

 จักรวาลภายนอกก็คือ

ที่เราเห็นด้วยตาของเรานี้

 เช่นดวงดาวต่างๆ หลับตาดูซิ

เราจะเห็นอีกจักรวาลหนึ่ง จักรวาลภายใน

เวลานั่งภาวนา ถ้าไม่รับรู้ทางอายตนะเลย

 แม้กระทั่งร่างกายก็ไม่รับรู้ เราจะเห็นว่า

ใจนี้เป็นอีกจักรวาลหนึ่ง

อันนี้แหละที่เป็นไตรภพ มันอยู่ในนี้

นรกสวรรค์ก็อยู่ในจักรวาลภายในนี้

แต่เรามองไม่เห็นกัน

 ที่เขาว่านั่งภาวนาแล้ว

ไปเห็นนรกเห็นสวรรค์

 ก็เห็นอย่างนี้ เวลาที่ใจรุ่มร้อน

เราก็ไปนรกแล้ว

 เวลาที่ใจสงบเย็นเราก็ไปสวรรค์แล้ว

 มีความสุขเราก็ไปสวรรค์แล้ว

 แต่เป็นความสุขที่เกิดจากทำความดี

ไม่ใช่ความสุขจากการไปเที่ยว

นั่นเป็นนรกที่เคลือบด้วยสวรรค์

มันเป็นสวรรค์เดี๋ยวเดียว

พอกลับมาบ้านก็กลายเป็นนรกทันที

บ้านจึงเป็นสถานที่ไม่น่าอยู่เลย

 ทั้งๆที่บ้านควรจะเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ที่สุด

 กลับเป็นสถานที่ที่น่าเบื่อ

 ที่จะต้องหนีออกไปอยู่เรื่อยๆ

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ

เพื่อให้เข้าสู่จักรวาลภายใน

 ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า

สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ

 พระอริยเจ้าพระพุทธเจ้าก็อยู่ในใจของเรานี่

 เป็นของเราอย่างแท้จริง

สวรรค์ก็เป็นของเรา นรกก็เป็นของเรา

 เราสร้างมันขึ้นมาเอง

ถ้าทำบาปทำกรรมทำสิ่งที่ไม่ดี

 เราก็สร้างนรกขึ้นมาภายในใจของเรา

ทำความดีเราก็สร้างสวรรค์ขึ้นมาในใจ

 ภาวนาเราก็สร้างนิพพานขึ้นมาภายในใจ

อยู่ในใจนี้ ใจเป็นจักรวาล

ที่กว้างใหญ่ไพศาล

 แต่มองไม่เห็นเพราะไม่หลับตากัน

 เวลาหลับตาก็หลับแบบไม่มีสติกัน

 ถ้าหลับแบบมีสติก็ต้องหลับแบบภาวนา

 จะได้เห็นนรกเห็นสวรรค์

เห็นเทพเห็นอะไรต่างๆ

เห็นมรรคผลนิพพาน อยู่ในใจนี้ทั้งหมด

 ไม่ได้อยู่ที่ไหน ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว

ก็ไม่ต้องไปอินเดีย

ไม่ต้องไปหาพระพุทธเจ้า

พระธรรมพระสงฆ์ที่ไหน

ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

กัณฑ์ที่ ๓๘๐ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๑

 (จุลธรรมนำใจ ๑๓)

“ไปถูกทาง”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 05 ธันวาคม 2559
Last Update : 5 ธันวาคม 2559 11:24:03 น.
Counter : 956 Pageviews.

0 comment
### ไปถูกทาง ###













“ไปถูกทาง”

จากการที่พวกเรา

ได้มาฟังธรรมกันอยู่เรื่อยๆนี้

 คิดว่าคงจะได้ความเข้าอกเข้าใจ

 ในพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้ามากขึ้น

 สามารถนำเอาไปปฏิบัติ

ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตจิตใจ

ถ้ามีความทุกข์ความวุ่นวาย

ความหลงน้อยลง

 มีความอยากความต้องการต่างๆน้อยลง

 มีความสุขสบายใจมากขึ้น

ก็แสดงว่าได้ไปถูกทางแล้ว

เพราะความจริงแล้ว ชีวิตของเรานี่

 ไม่ต้องการอะไร จากภายนอกเลย

สิ่งต่างๆภายนอก

ไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริงกับเรา

 ถ้าเรายังมีความต้องการในสิ่งต่างๆอยู่

 ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือเป็นบุคคล

 ก็แสดงว่าเรายังหลงทางอยู่

ยังไม่ได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง

 ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

ถ้ายังคิดว่าความสุขอยู่ที่การได้การงานที่ดี

 ได้ตำแหน่งที่ดี ได้สิ่งต่างๆที่ดี

 แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ดีจริงๆ

 เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

ล้วนมีสิ่งที่ไม่ดีติดมาด้วย แถมมาด้วย

 เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งต่างๆนั้น

 จะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่คงเส้นคงวา

 ไม่ดีเสมอไป มีขึ้นมีลง มีเจริญมีเสื่อม

โดยเฉพาะตัวที่ไปรับเอาสิ่งต่างๆมานั้น

 ก็มีการเสื่อมไปเช่นเดียวกัน

 ก็คือร่างกายของเรา ถ้าไม่มีร่างกาย

เราก็จะไม่สามารถหาสิ่งต่างๆ

มาให้ความสุขกับเราได้

 ต้องมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย

 เพื่อจะได้ดูภาพ ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น

 ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งต่างๆ

 แต่ร่างกายและสิ่งต่างๆที่ได้สัมผัส

ผ่านทางอายตนะทั้ง ๕ ก็ไม่ถาวร

ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเจริญ มีการเสื่อม

มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ

 เพราะความไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ

 จึงทำให้ความสุขเปลี่ยนไปด้วย

 สิ่งที่เราชอบเมื่อเปลี่ยนไป

เป็นอีกสภาพหนึ่ง ก็จะไม่สุขเหมือนเดิม

ก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้

ถ้ามองด้วยปัญญาแล้ว

 จะเห็นว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ดีจริงๆ

 ที่ให้ความสุขจริงๆ ให้ความสุขไปตลอด

 ให้ความสุขอย่างเดียว

ทุกสิ่งทุกอย่างมีความทุกข์

มีความกังวลใจ มีความวุ่นวายใจ

 มีความเสียอกเสียใจตามมาด้วย

เพราะเมื่อใจได้สิ่งที่ชอบก็จะยึดติด

 และอยากจะให้เป็นเหมือนตอนที่ได้มาใหม่ๆ

 แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น

 เพราะสิ่งที่เราได้มาแล้ว มันก็ค่อยๆเปลี่ยนไป

 ความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้มาก็เปลี่ยนไปด้วย

 เวลาได้มาใหม่ๆจะพิศวาสยินดี

 แต่พอได้เห็นได้สัมผัสอยู่บ่อยๆ

ก็เกิดความจำเจชินชา

 ความยินดีก็จางหายไป

 แต่ความผูกพันความหวงแหน

กลับไม่ได้จางหายไปด้วย

 ถ้าต้องสูญเสียไปก็จะเสียใจทุกข์ใจ

 พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เห็นว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

 ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง

 แต่เป็นความทุกข์

เพราะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 ไม่ใช่เป็นของเราหรือตัวเรา

 เช่นร่างกายนี้พวกเราทุกคนก็คิดว่าเป็นตัวเรา

แต่ตอนก่อนที่พ่อแม่จะมาเจอกัน

 มาทำให้เราเกิดได้นี้ เราอยู่ที่ไหน

 ถ้าเป็นตัวเรา ก็ต้องมีอยู่ตลอดเวลา

ต้องมีตั้งแต่ก่อนที่จะมีพ่อแม่เสียด้วยซ้ำไป

แต่ร่างกายของเรามาปรากฏขึ้น

หลังจากที่พ่อแม่ได้อยู่ร่วมกัน

จึงปรากฏเป็นร่างกายขึ้นมาในท้องแม่

 มีใจที่เป็นตัวเรานี้

ซึ่งตอนนั้นเป็นดวงวิญญาณ

 ที่กำลังหาร่างกายอยู่

 มารับร่างกายจากพ่อจากแม่

จึงเกิดการปฏิสนธิ

เจริญเติบโตในท้องแม่อยู่ ๙ เดือน

 ก็คลอดออกมา พอเริ่มรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา

ก็รู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราเป็นของเราขึ้นมา

ดวงวิญญาณนี้เป็นเหมือนใจ

ตอนที่เรานอนหลับ

 จะไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย

 จะรู้แต่เรื่องราวต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ

 ที่ปรากฏในขณะที่หลับ

เช่นฝันว่าไปเจอสิ่งนั้นเจอสิ่งนี้

ไปทำสิ่งนั้นไปทำสิ่งนี้

ตอนนั้นร่างกายไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง

กับเหตุการณ์ในฝัน เป็นเรื่องของจิตใจ

หรือดวงวิญญาณโดยลำพัง

 ตอนนั้นร่างกายนอนอยู่เฉยๆ

พอตื่นขึ้นมาปั๊บจิตใจก็กลับมารับรู้ร่างกาย

ว่ากำลังนอนอยู่ อยู่ที่ไหน เป็นใคร

ซึ่งเป็นสมมุติทั้งนั้น เป็นหญิงเป็นชาย

 เป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่คนนั้นคนนี้

มีชื่อว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พอตื่นขึ้นมาแล้ว

เราก็ลุกไปทำกิจกรรมต่างๆ

ทำอย่างนี้ไปทุกวันทุกวัน

ทำบุญบ้าง ทำบาปบ้าง

 ทำทั้งที่ไม่ใช่บุญและไม่ใช่บาปบ้าง

 ถ้าทำบุญก็จะส่งเสริมพัฒนาจิตใจ

ให้มีความสุขมีความเจริญมากขึ้น

 ถ้าทำบาปก็จะทำจิตใจให้ดิ่งลง

ให้มีความทุกข์มากขึ้น

พอตายไปก็เหมือนกับหลับไป หลับแบบไม่ตื่น

พอตื่นอีกทีก็ไม่ได้ร่างกายเดิม

 เป็นร่างกายของทารกใหม่

ที่คลอดออกมาจากท้องแม่ใหม่

เป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นนกเป็นสุนัขก็ได้

เป็นสมมุติใหม่ เป็นมนุษย์คนใหม่

เป็นเชื้อชาติใหม่ เป็นฝรั่ง เป็นแขก ไม่แน่นอน

 เรื่องของบุญของกรรม

 ที่จะผลักดันให้ดวงวิญญาณ

หรือดวงจิตดวงใจของเรานี้

ไปสู่ภพใหม่ชาติใหม่

เพราะมีความหลงผลักดัน
ให้ใจมีความอยาก

 มีความต้องการ ที่จะสัมผัสรับรู้

กับกามคุณทั้ง ๕ คือ

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ซึ่งต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ

 ในขณะที่ไม่มีร่างกาย

เช่นตอนที่เรานอนหลับไป

 ก็ยังมีความต้องการ

ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่

แต่ตอนนั้นจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่เป็นทิพย์ รูปทิพย์เสียงทิพย์กลิ่นทิพย์

ตอนที่ฝันนั้นจะสัมผัสกับของทิพย์ทั้งนั้น

 ฝันว่าได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านนั้น

 มีความสุขกับสิ่งนั้นกับสิ่งนี้ กับคนนั้นกับคนนี้

 ตอนนั้นไม่ได้ใช้ร่างกาย

ใจไปด้วยจินตนาการ ไปพบกับสิ่งนั้นสิ่งนี้

 มีความสุขกับเรื่องนั้นเรื่องนี้

มีความทุกข์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้

เพราะใจยังมีกามฉันทะ ความยินดีในกามอยู่

จึงฝันถึงเรื่องเหล่านี้อยู่

 กามฉันทะนี้จะเป็นตัวผลักดัน

ให้ดวงจิตดวงใจดวงวิญญาณนี้

 หลังจากที่ร่างกายในปัจจุบันได้สูญสลายไปแล้ว

 ไปหาร่างใหม่ ในขณะที่ยังไม่ได้ร่างกายหยาบ

 ก็จะอยู่ในสภาพของกายทิพย์ไปก่อน

 ถ้ามีความสุขมากกว่าความทุกข์ก็เป็นพวกเทพ

 ถ้ามีความทุกข์มากกว่าความสุข

ก็เป็นพวกเปรตพวกนรกไป

นี่เป็นเรื่องของจิตใจของพวกเรา

เรียกว่าใจในขณะที่มีร่างกาย

เรียกว่าดวงวิญญาณถ้าไม่มีร่างกาย

เรียกว่าเทพถ้ามีความสุข

เรียกว่าเปรตถ้ามีแต่ความหิวความกระหาย

 เรียกว่านรกถ้ามีแต่ความทุกข์ความรุ่มร้อน

 เผาผลาญจิตใจ ด้วยความโกรธเกลียด

เคียดแค้นอาฆาตพยาบาทต่างๆ

 เป็นการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

ของสภาพจิตใจ ตามบุญกรรมที่ได้ทำไว้

 เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ถ้ายังไม่ได้ชำระความหลง

 ที่เป็นต้นเหตุ ผลักดันให้จิตใจ

ต้องไปทำบาปทำบุญ

ไปแสวงหาความสุขจากภายนอก

พวกเราได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

 ที่สอนให้เห็นว่า ความสุขที่แท้จริง

ไม่ได้อยู่กับสิ่งต่างๆภายนอก

ไม่ได้อยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ไม่ได้อยู่กับวัตถุข้าวของเงินทอง

 ไม่ได้อยู่กับบุคคลนั้นกับบุคคลนี้

 แต่อยู่ในใจที่ทำความดี ละบาป

 ชำระความโลภความโกรธ

ความหลงจนหมดสิ้นไป

 ทำให้ใจมีความสุขมากขึ้น

มีความทุกข์น้อยลง จนหมดไปในที่สุด

การทำความดีและการละบาป

เป็นผลที่ออกมาจากปัญญา

 คือความเห็นที่ถูกต้อง เรียกว่าสัมมาทิฐิ

 เห็นว่าการทำความดีเท่านั้น

 การไม่ทำบาปเท่านั้น

 ที่จะทำให้เรามีความสุข

 ทำให้เราไม่มีความทุกข์

 เราจึงต้องสร้างปัญญา

 เพราะถ้าเราเพียงแต่ทำความดีละบาป

 แต่ไม่สร้างปัญญาเครื่องกำจัดความหลง

 พอตายจากชาตินี้ไปก็จะลืมได้

 พอไปเกิดใหม่ถ้าไปอยู่ในสังคม

ที่มีแต่การทำบาป ไม่ทำความดีกัน

 เราก็จะทำตาม เพราะถูกอิทธิพล

ของสังคมชักจูงไป

 แต่ถ้าได้เสริมสร้างสติปัญญาไว้แล้ว

 ให้เห็นว่าเหตุที่ต้องทำความดี ไม่ทำบาปนั้น

 เพราะทำให้เรามีความสุข ไม่มีความทุกข์

 ไม่ต้องไปหาความสุขภายนอก

 เราก็จะทำแต่ความดี และละบาปเสมอ

ถ้ามีความหลงมันก็จะหลอกให้เรา

ออกไปหาความสุขจากภายนอก

เราก็จะทำความดีได้ยาก

ทำความชั่วทำบาปได้ง่าย

 จึงต้องสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นมา

จะได้ไม่ไปแสวงหาความสุขจากภายนอก

 จากสิ่งต่างๆบุคคลต่างๆ

 แต่จะแสวงหาความสุขภายในใจ

 ด้วยการทำใจให้สงบ เพื่อระงับความหลง

 ที่ทำให้เกิดความโลภความต้องการ

 เมื่อไม่มีความโลภก็จะไม่เกิดความโกรธ

 เพราะความโกรธเกิดขึ้นเวลาไม่ได้

 ตามที่ปรารถนา เวลาอยากได้อะไร

แล้วมีผู้อื่นมาขัดขวาง เราก็จะโกรธ

รากเหง้าของปัญหาทั้งหมด

อยู่ที่ความหลงนี้เอง

ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน

เห็นว่าความสุขอยู่ภายนอก อยู่กับสิ่งต่างๆ

 อยู่กับเรื่องต่างๆภายนอก เราจึงวิ่งหากัน

 ปัญญาไม่ทันความหลงความโง่ของเรา

ที่ฉลาดกว่าปัญญาของพระพุทธเจ้า

มันจึงทำหน้าที่นำทาง แทนที่จะเข้าวัดบ่อย

 เรากลับเข้าวัดน้อย ไปเที่ยวบ่อย เป้าหมายหลัก

ของการเข้าหาพระพุทธศาสนา

ก็เพื่อให้เกิดสัมมาทิฐิ ให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง

 ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ภายในใจ

 เพราะสิ่งต่างๆภายนอก

ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง

 แต่เป็นความทุกข์ ที่เราทุกข์กัน

วุ่นวายกันทุกวันนี้

 ก็เพราะสิ่งต่างๆภายนอกทั้งนั้น

 ร่างกายก็เป็นทุกข์ ต้องดูแลรักษา

 ต้องหวาดกลัว ต้องกังวล

กับความเป็นไปของร่างกาย

มีทุกข์กองหนึ่งยังไม่พอ

ยังไปหาทุกข์มาเพิ่มอีก

 หาคู่ครองมาเป็นกองทุกข์เพิ่มอีกกองหนึ่ง

แล้วก็ได้ลูกเป็นกองทุกข์ตามมาอีก

มันทุกข์ทั้งนั้น ถ้าพิจารณาด้วยปัญญา

 จะเห็นว่ามีแต่ความทุกข์ ความหลง

มันหลอกให้เราอยากได้อยากมีสิ่งต่างๆ

 ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

 วนเวียนอยู่ในกามภพเป็นส่วนใหญ่

 เพราะติดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ก็จะวนเวียนอยู่กับการแสวงหา

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ มาเสพมาสัมผัส

มาให้ความสุข เพราะถ้าให้อยู่บ้านเฉยๆ

ก็จะเบื่อหน่าย เห็นภาพซ้ำซากจำเจก็เบื่อหน่าย

 ต้องออกไปสัมผัส ภาพแปลกๆใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ

 พอใครชวนให้ไปเที่ยว จะรู้สึกเหมือนปลาได้น้ำ

 กระชุ่มกระชวยขึ้นมาทันที

แต่ถ้าใครชวนเข้าวัดนี่ จะต้องฉุดหลายหน

 ต้องมีกิจกรรมมีงานบุญงานกุศลถึงจะไป

ถ้าให้ไปนั่งหลับตาไปนั่งภาวนา

จะไม่ค่อยอยากไปกัน

ให้ไปหาความสุขภายในใจ

 กลับไปไม่ได้ เพราะไม่ถนัด

ถนัดแต่หาความสุขจากภายนอก

เวลาทำอะไรที่ไม่ถนัดจะรู้สึกลำบากยากเย็น

 ไม่มีความสุขเหมือนกับทำสิ่งที่ถนัดที่ชอบ

 เราจึงต้องฝืน ถ้าไม่ฝืน

จะไม่มีทางได้พบกับความสุขที่แท้จริง

 ต้องมีกำหนดการ ว่าปีนี้จะเข้าวัดกี่ครั้ง

 จะปฏิบัติมากน้อยเพียงไร

จะถือศีลมากน้อยเพียงไร เงินที่ได้มา

จะแบ่งเอาไว้ทำบุญมากน้อยเพียงไร

กำหนดไว้ให้เป็นกรอบไว้เดิน

แล้วก็พยายามเพิ่มให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

 ให้เข้ามาทางธรรมให้มากขึ้น

ให้ออกไปทางโลกน้อยลงไปเรื่อยๆ

จนเข้ามาหมดตัวเลย

ทางโลกไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวเลย

ไปอยู่วัดตลอดเลย อยู่ในฐานะนักบวช

โกนหัวก็ได้ ไม่โกนหัวก็ได้ ไม่สำคัญ

 เพราะเป็นเพียงรูปธรรม

 เป็นเครื่องแบบเท่านั้นเอง

การเข้าวัดที่แท้จริงต้องเข้าด้วยใจ

 ที่ทุ่มเทให้กับการหาความสงบสุขภายในใจ

หาปัญญาเพื่อทำลายความหลง

 ที่จะคอยหลอกล่อให้ไปหาความสุขภายนอก

 ถ้าไม่กำหนดจะไม่มีหลัก

 อย่างสมัยที่อาตมาเคยปฏิบัติมา

ตอนต้นก็นั่งไปตามอัธยาศัย

นั่งไปแล้วรู้สึกว่าดีก็อยากจะนั่งมากขึ้น

แต่ช่วงนั้นยังทำงานอยู่ ก็เลยตัดสินใจว่า

 อีกเดือนหนึ่งสิ้นปีพอดี ก็จะขอลาออกจากงาน

 จะขอใช้เวลา ๑ ปีทุ่มเทกับการปฏิบัติอย่างเดียว

 จะไม่ทำอย่างอื่น จะรับประทานอาหาร

มื้อเดียวก่อนเที่ยง

 ตลอดวันจะเดินจงกรมนั่งสมาธิ

 อ่านหนังสือธรรมะเป็นส่วนใหญ่

จะไม่ออกไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก

เหมือนกับสมัยที่ไม่ได้ปฏิบัติ

 พอตื่นเช้าขึ้นมาปั๊บ ก็ต้องออกจากบ้าน

 ไปชายทะเล ไปที่ไหนก็ได้ ขอให้ได้ไป

 แต่ตอนนี้จะไม่ไปแล้ว จะภาวนาปฏิบัติอยู่ในบ้าน

 ถ้าไปข้างนอกก็จะไปหาที่สงบที่เงียบ

 เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง

ไปหามุมสงบแถวชายทะเล

 บางทีก็ไปภาวนานอนค้างที่เกาะ

 กำหนดว่าจะลองทำสักปีหนึ่ง ต้องมีเป้าหมาย

 กำหนดการไว้ ถ้าปีนี้ปฏิบัติได้ร้อยละสิบ

ปีหน้าจะเพิ่มเป็นร้อยละยี่สิบ

 เคยเข้าวัดเพียง ๒ ถึง ๓ ครั้งต่อปี

ก็จะเพิ่มเป็นเดือนละครั้งเป็นต้น

ให้มีกำหนดการแล้วพยายามปฏิบัติตามให้ได้

 ถ้าไม่กำหนดไว้

ปล่อยไปตามความรู้สึกความพอใจ

 หรือรอให้มีเหตุการณ์ชักจูงไป จะไปไม่ถึงไหน

 เพราะเหตุการณ์ที่จะจูงไปมีน้อย

 ความรู้สึกอยากจะไปก็มีน้อย

อยากจะไปที่อื่นมากกว่า

 ถ้าไม่วางแผนไว้ แล้วฝืนลากใจไปนี่

ปล่อยให้ไปตามความรู้สึก

 จะไปไม่ถึงไหน จะเสียเวลามาก

 เวลาจะไม่พอต่อการปฏิบัติ

 เพราะชีวิตของเรามันสั้น ไม่ยาวนาน

 จะสั้นลงไปเรื่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆทุกวัน

 แต่ถ้ากำหนดเวลาไว้ ว่าจะปฏิบัติมากน้อย

แล้วเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จะมีเวลาเพียงพอ

 ที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมาได้

เบื้องต้นเราต้องพยายามศึกษา

ฟังเทศน์ฟังธรรม

จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

ว่าความสุขในโลกนี้ไม่มี

 ไม่อยู่กับสิ่งต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ

 มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น

 เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว

 ก็จะเห็นว่าความสุขที่แท้จริง

ต้องอยู่ในใจ ต้องเข้าข้างใน

ต้องปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ปล่อยวางความสุขภายนอก

 อยู่คนเดียว ทำจิตให้สงบให้ได้

แล้วก็เจริญปัญญา ให้รู้ทันความหลง

 ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 เพราะปัญญาหรือความเข้าใจ

ที่ได้ยินได้ฟังนี้ไม่พอเพียง

 พอไม่คิดถึงมันปั๊บ

ความหลงก็จะมาหลอกเราได้ทันที

 เช่นขณะที่เราฟังนี้ เราเข้าใจแล้วว่า

ความสุขในโลกนี้ไม่มี

 แต่พอออกจากสถานที่นี้ไปไม่นาน

 เดี๋ยวมันจะหลอกให้ไป

หาอะไรกินหาอะไรดื่ม ชวนไปที่นั่นไปที่นี่

 ชวนคุยกันเรื่องนั้น คุยกันเรื่องนี้

พอเริ่มไปทางนั้น แสดงว่า

ปัญญาที่ได้ยินได้ฟังเมื่อสักครู่นี้

 ถูกกลบไปหมดแล้ว

ต้องไปอยู่ที่สงบเงียบ

 ทำจิตใจให้สงบ

 เจริญความเข้าใจนี้อยู่เสมอ

 เตือนตนอยู่เสมอว่า

 ความสุขต่างๆในโลกนี้ไม่มี

 อยู่ที่ใจของเราเท่านั้น อยู่ที่ตรงนี้

 อยู่ในวัด อยู่ที่สงบสงัดวิเวก

 โดดเดี่ยวเดียวดาย

นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง

 อย่าไปคิดถึงเพื่อนคนนั้น

คิดถึงเพื่อนคนนี้

 อย่าไปหาคนนั้นหาคนนี้

อย่าไปอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

มันเป็นความหลงทั้งนั้น

 นี่คือเป้าหมายที่เราต้องทำให้ได้

เรารู้โดยสังเขปแล้วว่า

ความสุขอยู่ในตัวเรา ไม่ได้อยู่ภายนอก

ทีนี้เราต้องนำเอาไปปฏิบัติให้ได้

พอเราเผลอปั๊บ ความหลงจะหลอก

ให้ไปหาความสุขภายนอกทันที

เพราะว่าชีวิตของเราส่วนหนึ่ง

ก็มีความจำเป็น ต่อการแสวงหา

บางสิ่งบางอย่างจากภายนอก

เพื่อมาดูแลรักษาอัตภาพร่างกายของเรา

 ต้องหาอาหารมารับประทาน

หาที่อยู่อาศัย หายารักษาโรค

หาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ

 แต่การแสวงหานี้

ก็อาจจะถูกความหลงหลอก

 ให้หาแบบเลยเถิดไปก็ได้

 คือไม่รู้จักประมาณ

หาแบบหรูหราฟุ่มเฟือย

ก็จะถูกกิเลสถูกความหลงหลอกไปแล้ว

 ต้องใช้ความมักน้อยสันโดษเสมอ

 เวลาแสวงหาปัจจัย ๔ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลา

 อย่างของพระนี่ท่านก็มีเวลา มีกำหนดการ

 อาหารก็ตอนเช้าออกไปบิณฑบาต

ได้อะไรมาก็ฉันไปตามมีตามเกิด

ไม่ต้องไปปรุงแต่ง

 ว่าวันนี้จะรับประทานอาหารชนิดไหน

 อย่างไร แบบไหน

เพราะจะกลายเป็นความหลงไปแล้ว

 ถ้าปรุงแต่งก็จะปรุงแต่งเพื่อความสุข

 ต้องรับประทานอาหารที่ถูกอกถูกใจ

จะได้มีความสุข แต่นักปฏิบัติ

ต้องรับประทานอาหารเหมือนกับเติมน้ำมัน

 เหมือนกับรับประทานยา

ยาจะมีรูปร่างอย่างไร สีอะไร ไม่สำคัญ

หมอให้มารับประทาน ก็รับประทานเข้าไป

 อาหารจะเป็นชนิดไหนก็ไม่สำคัญ

จะมีรสชาติอย่างไรก็ไม่สำคัญ

ถ้าเป็นประโยชน์ รับประทานแล้วไม่เกิดโทษ

ไม่เจ็บท้อง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

 ก็รับประทานเข้าไป เพื่อให้มันอิ่ม

 เพื่อให้ร่างกายมีพลังงาน

 จะได้อยู่ต่อไปได้ เท่านี้ก็พอ

 ต้องมักน้อยสันโดษ รู้จักประมาณ

ในการบริโภคปัจจัย ๔

เสื้อผ้าก็พอปกปิดร่างกายได้ก็พอ

 ไม่ต้องหรูหรา ไม่ต้องสวยสดงดงาม

 ไม่ต้องพิสดาร ติดเพชรติดทอง

 ติดขนไก่ ติดอะไรต่างๆให้ยุ่งไปหมด

 ที่อยู่อาศัยก็พอหลบแดดหลบฝนได้

ปลอดภัยจากภัยต่างๆ ทางธรรมชาติ

และจากคนที่ไม่ดีทั้งหลายก็พอ ก็มีเท่านี้

สิ่งที่เราต้องแสวงหาจากภายนอก

 แต่ไม่ได้แสวงหาเพื่อความสุข

 เป็นเหมือนเติมน้ำมันให้กับรถ

ร่างกายของเรานี้เป็นเหมือนรถ

ที่จะพาให้เราไปสู่จุดหมายปลายทาง

คือความสุขภายในที่วิเศษ

ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย

ได้สัมผัสได้มาครอบครอง

 คือใจที่สะอาดบริสุทธิ์

 ที่เกิดจากการทำความดี ละบาป

 และชำระความโลภความโกรธความหลง

จนหมดสิ้นไป ด้วยการบำเพ็ญภาวนา

รักษาศีล ทำบุญให้ทาน

 นี่คือข่าวสารจากพระพุทธเจ้า

 นี่คือคำสอนที่จะพาให้พวกเรา

 ได้ไปพบกับความสุขที่แท้จริง

 เมื่อเราได้รับข่าวสารนี้แล้ว

ก็ต้องนำเข้ามาสู่ใจ โอปนยิโก

 นำเข้ามาเตือนสติเตือนใจเราอยู่เรื่อยๆว่า

 ขณะนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่

วันเวลาผ่านไป กำลังทำอะไรอยู่

 กำลังทำตามความหลง

หรือกำลังทำตามพระพุทธเจ้า

ถ้าทำตามพระพุทธเจ้า ก็ต้องทำบุญ

ให้ทานรักษาศีลหรือภาวนา

อย่างใดอย่างหนึ่ง

 ถ้าไปสนุกสนานเฮฮา

ก็ไม่ได้ทำตามพระพุทธเจ้า

 พระพุทธเจ้าก็เคยอยู่ในวัง

ท่านก็เคยสนุกสนานเฮฮา แต่ท่านเบื่อเร็ว

 ท่านเห็นโทษของมันเร็ว

พออายุ ๒๙ ท่านก็กระโดดหนีแล้ว เข้าป่าแล้ว

 พวกเรานี่ ๔๐ – ๕๐ เข้าไปแล้ว

ยังไม่เห็นอีกหรือ แล้วเมื่อไหร่จะเห็นล่ะ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

กัณฑ์ที่ ๓๘๐ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๑

(จุลธรรมนำใจ ๑๓)

“ไปถูกทาง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 04 ธันวาคม 2559
Last Update : 4 ธันวาคม 2559 10:29:36 น.
Counter : 1000 Pageviews.

0 comment
### เป้าาหมายของการภาวนา ###











“เป้าหมายของการภาวนา”

เป้าหมายของการภาวนา

 ก็เพื่อหยุดความคิดปรุงแต่งนี้เอง

 จะหยุดได้ก็ต้องมีสติคอยเบรกไว้

พอมีสติปั๊บก็รู้ว่ากำลังคิดปรุงแต่ง เผลอแล้ว

 ถ้าสติดึงไม่อยู่ก็ต้องใช้พุทโธ

 หรือใช้การสวดมนต์ดึงเอาไว้

 สวดไปเรื่อยๆถึงแม้ตอนเริ่มต้นสวด

อาจจะแข่งกันก็ได้

 จะสวดไปแล้วคิดไปด้วยก็ช่างมัน

ให้พุ่งไปที่การสวดอย่างเดียว สวดไปๆ

 ไม่นานความคิดปรุงแต่งก็ต้องยอมแพ้เราเอง

ถ้าเราไม่ยอมแพ้มันๆก็ต้องยอมแพ้เรา

 เหมือนพวกที่ชักเย่อกัน ๒ ฝ่าย

 ฝ่ายที่ไม่ยอมแพ้ มีกำลังมากกว่า

 ก็ต้องชนะได้

ถ้ากำลังน้อยกว่าก็แพ้

นั่งได้ไม่นานก็ทนไม่ไหว

 เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ก็ลุกขึ้น

แสดงว่าแพ้แล้ว

 ถ้าสู้ไปเรื่อยๆ พอเขายอมแพ้

จะรู้สึกเบาสบายขึ้นมาทันที

เพราะแรงต้านหมดไป

แรงที่จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้หมดไป

 จิตก็สงบตัวลง จะสงบมากสงบน้อย

ก็อยู่ที่ฐานของจิต

ใหม่ๆฐานของจิตจะอยู่ไม่ลึก

 จะสงบน้อย ถ้าภาวนาไปเรื่อยๆ

จะลึกลงไปเรื่อยๆ

 ต่อไปจะรวมได้เต็มที่ จะลงถึงฐานเลย

 จะว่าง จะสบาย เหมือนลอยอยู่ในอวกาศ

ต้องพยายามภาวนากัน

ทุกคนต้องเริ่มต้นที่

 ก.ไก่ ข.ไข่ เริ่มต้นที่ก้าวที่ ๑ ไป

 พยายามก้าวไป พยายามทำไป

 ทำได้มากน้อย ก็ทำไป สติสำคัญที่สุด

 พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่กว่าสติ

 ทรงเปรียบสติเหมือนรอยเท้าช้าง

ส่วนสมาธิปัญญาเป็นรอยเท้าสัตว์อื่น

 ถึงแม้จะต้องใช้ปัญญาตัดกิเลส

ถ้าไม่มีสติ ปัญญาก็เกิดไม่ได้

 เหมือนพระพุทธเจ้านี้

 ถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่ก็เกิดไม่ได้

 ต้องมีพ่อแม่ให้กำเนิด

ถึงแม้พ่อแม่จะไม่สามารถบรรลุ

เป็นพระพุทธเจ้าได้ก็ตาม

 แต่พ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้า

 สติก็เป็นผู้ให้กำเนิดสมาธิและปัญญา

 ถ้าไม่มีสติ สมาธิและปัญญาก็จะเกิดไม่ได้

 การภาวนาต้องเริ่มที่สติก่อน พัฒนาสติก่อน

 ในสติปัฏฐานสูตรนี้ สอนทั้งการเจริญสติ

สอนทั้งการนั่งสมาธิ คืออานาปานสติ

 แล้วสอนทั้งการเจริญปัญญา

 คือพิจารณารูปขันธ์นามขันธ์

รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาน

 สอนทั้งสติสอนทั้งสมาธิสอนทั้งปัญญา

 ที่ประเทศศรีลังกาถือพระสูตรนี้

เป็นพระสูตรที่สำคัญที่สุด

 ชาวพุทธที่ศรีลังกา

จะต้องท่องพระสูตรนี้ให้ได้กัน

 ถือว่าได้บุญมาก

ของไทยเราจะถือมงคลสูตรกันมากกว่า

 อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา

อันนี้ก็เป็นพระสูตรสำคัญ

 แต่จะไม่ละเอียดไม่ได้พูดถึงการภาวนา

จะพูดถึงความเจริญ เริ่มต้นก็ต้อง

 อะเสวะนา จะ พาลานัง ไม่คบคนพาล คนโง่

คนที่ไม่รู้ธรรมะ ให้คบบัณฑิต

คนฉลาดคนที่รู้ธรรม

เช่นเข้าหาพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์นี้

เรียกว่าคบบัณฑิต

ถ้าคบกับพวกกินเหล้าเมายาเล่นการพนัน

 แสดงว่ากำลังคบคนพาล

ต้องศึกษาและปฏิบัติก่อน ถึงจะปฏิเวธ

 ถึงจะบรรลุธรรมได้ ถ้าศึกษาจนรู้แล้ว

ว่าต้องปฏิบัติอะไร ทีนี้ก็ต้องปฏิบัติ

 หยุดศึกษาไว้ก่อน ปฏิบัติไป

จนกว่าจะไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ

ก็ศึกษาอีก อย่าศึกษาตั้งแต่ต้นจนจบ

เพราะเดี๋ยวก็ลืม ศึกษาไปก็เปล่าประโยชน์

 เหมือนเรียนหนังสือ อยู่ชั้น ป. ๑

ก็เรียนวิชาของ ป. ๑ ไปก่อน

 ไม่ใช่เรียนวิชาของ ป. ๑ จนถึงปริญญาตรีเลย

 ปีแรกก็เรียนชั้น ป. ๑ ไปก่อน

ตอนนี้ก็เรียนวิชาการทำบุญให้ทานไปก่อน

แล้วนำเอาไปปฏิบัติ ให้ไปให้หมดเลย

มีเท่าไหร่ก็ให้ไปให้หมด

 ถ้าให้หมดแล้วก็เรียนขั้นที่ ๒ เรียนขั้นศีล

 บวชพระก็เรียนศีล ๒๒๗ ข้อ

 ถ้าบวชเป็นภิกษุณีก็ ๓๑๑ ข้อ

ถ้าบวชชีก็รักษาศีล ๘ ศีล ๑๐ ไป

แล้วก็ภาวนาไปด้วย ศึกษาการภาวนา

ว่าต้องทำอย่างไร เจริญสติอย่างไร

สมาธิที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

สมาธิที่ไม่ถูกต้องเป็นอย่างไร

ถ้านั่งแล้วไปรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้

 เรียกว่าไม่ถูกต้อง

ทางศาสนาพุทธไม่ต้องการสมาธิแบบนี้

ต้องการสมาธิที่นิ่งว่างสงบสบาย

ใจเป็นอุเบกขา

 ไม่หิวไม่อยากไม่ต้องการอะไร

 เพื่อตัดกำลังของกิเลสตัณหา

เพื่อเป็นบาทฐานของการเจริญปัญญาต่อไป

ถ้าจิตไม่สงบกิเลสไม่ถูกตัดกำลัง

 เวลาพิจารณาทางปัญญา จะเกิดอารมณ์หดหู่

 อารมณ์ไม่ดีตามมาได้ เช่นพิจารณาความตาย

 หรือพิจารณาอสุภะ

ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่อยากพิจารณา

ไม่อยากดูซากศพ

ไม่อยากดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย

 แต่ถ้าจิตสงบแล้วจะดูได้ จะพิจารณาได้

 จะไม่หดหู่ จะชอบ

 เพราะดูแล้วทำให้ปลงสังเวชได้

 ปลงอนิจจังทุกขังอนัตตาได้

ถ้าไม่มีสมาธิแล้วไปเจริญปัญญา

จิตจะวิปลาสได้

สมัยพระพุทธกาล

มีพระภิกษุที่พิจารณาความตาย

แล้วก็ฆ่าตัวตาย เพราะคิดว่าร่างกายต้องตาย

ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ก็เลยฆ่าตัวตาย

 พระพุทธเจ้าจึงต้องห้าม ฆ่าไม่ได้

 ถ้าคิดจะฆ่าตัวตายก็ต้องหยุดคิดแล้ว

 ทรงสอนให้เจริญสมถภาวนาก่อน

 ให้เจริญเมตตาภาวนา

 ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น

 เมื่อหลายปีมาแล้วมีข่าวครอบครัวหนึ่ง

ที่แขวนคอตายทั้งครอบครัว

ปฏิบัติธรรมแล้วจิตวิปลาสไป คิดว่าบรรลุแล้ว

ไม่ต้องอยู่ต่อไป คงจะคิดว่า

ถ้าบรรลุแล้วต้องฆ่าตัวตายได้

แต่ความจริงไม่ใช่เป็นอย่างนั้น

ความจริงต้องยอมรับความตาย

 ต้องกล้าตาย แต่ไม่ได้หมายความว่า

ต้องฆ่าตัวตาย ต้องปลงให้ได้

ต้องยอมรับความตายให้ได้

อย่างที่พระภิกษุไปอยู่ในป่านี้ ก็เพื่อไปปลง

 เพื่อให้พบกับความตาย

ไปอยู่ใกล้กับความตาย

ที่จะทำให้เกิดความกลัว ซึ่งเป็นกิเลส

พอเกิดความกลัวสุดขีดขึ้นมา

 วิธีที่จะดับได้ วิธีที่จะดึงจิต

ให้กลับเข้าสู่ความสงบได้ ก็ต้องใช้ปัญญา

 คือไตรลักษณ์นี้ ต้องพิจารณาว่า

 เกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา

ล่วงพ้นความตายไม่ได้

พอยอมรับว่าต้องตายแล้วก็ยอมตาย

 จิตก็จะสงบ

 หลังจากนั้นร่างกายจะตายหรือไม่ตาย

 จะไม่เป็นปัญหา

ที่เราต้องการฆ่านี้ไม่ใช่ร่างกาย

ต้องการฆ่ากิเลสคือความกลัวตาย

ด้วยการยอมตาย เพราะความกลัวตายก็คือ

วิภวตัณหานี่เอง ความอยากไม่ตาย

อยากอยู่ไปนานๆ

วิภวตัณหาเป็นตัวที่สร้างความทุกข์

แต่พอยอมตายแล้ว จะไม่กลัวความตาย

 อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ถ้ายังกลัวอยู่ก็ยังเป็นกิเลส

 ถ้าอยากตายก็เป็นกิเลส อยากอยู่ก็เป็นกิเลส

 ต้องเป็นกลางเฉยๆ

อยู่ก็ได้ ตายก็ได้ ถึงไม่เป็นกิเลส

การปฏิบัติถ้าไม่มีครูบาอาจารย์

จะหลงกันทุกคน

 ขั้นสมาธิก็หลง ส่วนใหญ่นั่งสมาธิ

ก็อยากจะเห็นนั่นเห็นนี่กัน

เห็นสวรรค์ เห็นนรก เห็นเทพ เห็นพรหม

เห็นอะไรต่างๆ ก็เหมือนดูทีวี ไม่เกิดประโยชน์

ไม่ได้ดับกิเลส ไม่ได้เกิดปัญญา

 ถ้าจะเห็นต้องเห็นไตรลักษณ์

 เช่นเห็นเรานอนตาย เห็นอย่างนี้ใช้ได้

 เห็นอสุภะก็ได้ แต่เห็นเพียงเดี๋ยวเดียว

ยังไม่พอ ออกจากสมาธิแล้วต้องเอามาเจริญต่อ

 ต้องเอามาระลึกต่อ ให้เห็นอยู่ทุกเวลาเลย

 ทุกลมหายใจเข้าออก

มองใครนี้มองเห็นเป็นซากศพเลย

มองเห็นว่าต่อไปต้องกลายเป็นขี้เถ้า

กลายเป็นเศษกระดูก ต้องเห็นอย่างนี้

 ถึงจะตัดกิเลสได้ ถ้าเห็นขณะที่อยู่ในสมาธิ

 พอออกมาไม่เอามาเจริญต่อก็จะลืม

 เหมือนดูหนังในโรง พอออกจากโรงก็ลืมแล้ว

 การเห็นอะไรในสมาธิ

ไม่ได้หมายความว่าบรรลุแล้ว

จะต้องเอามาพิสูจน์ในชีวิตจริง

 ถ้าเห็นว่านอนตาย ก็ต้องไปพิสูจน์ดูว่า

 ยอมตายหรือไม่ รับความตายได้หรือไม่

 ต้องเข้าสนามสอบ

เวลานั่งสมาธิเหมือนทำการบ้าน

นอกจากธรรมขั้นละเอียด

 ถ้าผ่านขั้นร่างกายไปแล้ว จะบรรลุได้

ในขณะที่อยู่ในสมาธิ เพราะสนามสอบอยู่ในจิต

 ถ้ายังเกี่ยวกับร่างกาย

ต้องเอาร่างกายเข้าไปในสนามสอบ

ต้องไปอยู่ในที่ๆท้าทายต่อความเป็นความตาย

ถ้าเกี่ยวกับความเจ็บปวด

ก็ต้องนั่งให้เจ็บจนหายไปเอง

ใจต้องไม่หวั่นไหว ไม่กลัว

ไม่ได้อยากให้ความเจ็บหายไป

 ต้องชอบความเจ็บ แทนที่จะเกลียดความเจ็บ

 ต้องชอบความเจ็บ ถ้าชอบอะไรแล้ว

จะไม่อยากให้จากเราไป ใช่ไหม

เวลาภาวนาก็ต้องดูแผนที่บ้าง

 ถ้ามีหนังสือธรรมะก็ต้องอ่านบ้าง

เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับผลที่เกิดจากการปฏิบัติ

 อย่าเอาการวิเคราะห์ของเราเป็นตัวตัดสิน

 เพราะอาจจะสรุปผิดได้

ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมจากผู้ที่ผ่านมาแล้ว

จะดีกว่าอ่านพระไตรปิฎก

 เพราะมีบางเรื่อง

ในพระไตรปิฎกไม่ได้แสดงไว้

 เพราะปัญหามีหลากหลายด้วยกัน

 แต่ถ้ามีผู้ที่ผ่านมาแล้วนี้

 ถ้ามีปัญหาอะไรไปเล่าให้ท่านฟัง

ท่านจะตอบกลับทันที

ขอให้พยายามปฏิบัติไปเรื่อยๆ

 ฟังเทศน์ฟังธรรมบ้าง สลับกับการภาวนา

 ทำบุญให้ทานตามวาระ

ศีลก็พยายามรักษาให้มากขึ้น

จากศีล ๕ ก็พยายามรักษาศีล ๘ ไปให้ได้

ถ้าจะภาวนาต้องมีศีล ๘ ถึงจะมีกำลัง

 ศีล ๕ ไม่มีกำลัง เหมือนรถยนต์

 รถที่จะขึ้นเขาได้ง่ายต้องเป็นรถโฟร์วิลล์

 ถ้ารถธรรมดาจะขึ้นไม่ง่าย ศีล ๕ เหมือนรถเก๋ง

 ไม่มีแรงขึ้นเขา ถ้าจะภาวนาต้องใช้ศีล ๘

 เพราะจะได้ตัดกามฉันทะ

 ตัดความอยากในกามารมณ์ต่างๆ

ศีล ๕ ยังตัดไม่ได้ ศีล ๕ ยังดูหนังฟังเพลงได้

ยังกินข้าวเย็นได้ ยังนอนบนฟูกหนาๆได้

ยังร่วมหลับนอนกับคู่ครองของตนได้

 แต่พอถือศีล ๘ แล้ว จะทำไม่ได้

เมื่อทำไม่ได้แล้ว ก็จะมีเวลามาภาวนา

แต่ต้องปลีกวิเวกด้วย ไปหาที่สงบ

ถ้าอยู่ที่บ้านก็ทำห้องไว้สำหรับการภาวนา

 เวลาภาวนาต้องอยู่คนเดียว อย่าอยู่ใกล้คนอื่น

 เพราะวิถีชีวิตของเขากับของเราไม่เหมือนกัน

 เขากินข้าวเย็นเราไม่กินข้าวเย็น

 จะเป็นอุปสรรคได้

หนังสือกับซีดีใครต้องการก็มาหยิบไปได้นะ

 หยิบไปตามความต้องการ

 อ่านมากๆไม่รู้จะเฟ้อไปหรือเปล่า

อ่านก็ได้ประโยชน์ แต่อย่าอ่านอย่างเดียว

 ต้องอ่านควบคู่กับการปฏิบัติถึงจะดี

เพราะหนังสือธรรมะเป็นคู่มือของการปฏิบัติ

 เหมือนกับคู่มือรถยนต์ ถ้ารถเสียก็ต้องเปิดคู่มือ

ดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ถ้าไม่มีช่างก็ต้องดูคู่มือ

 ต้องแก้เอง การภาวนา

ถ้าไม่ได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์

ก็ต้องเปิดหนังสือทางปฏิบัติดู จะช่วยได้

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

กัณฑ์ที่ ๔๓๕ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๕

 (จุลธรรมนำใจ ๒๘)

“งานสำคัญที่สุด”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 03 ธันวาคม 2559
Last Update : 3 ธันวาคม 2559 11:23:22 น.
Counter : 721 Pageviews.

0 comment
### งานที่สำคัญที่สุด ###









“งานที่สำคัญที่สุด”

งานภาวนานี้เป็นงานสำคัญที่สุด

เป็นงานที่แท้จริงของเรา

งานอื่นเป็นงานของร่างกาย

 งานหาอาหาร หาที่อยู่อาศัย

 หาเครื่องนุ่งห่ม หายารักษาโรค

 เป็นงานของร่างกาย ที่ไม่ใช่เป็นของเรา

แต่เราไม่รู้ เราหลงคิดว่า

ร่างกายเป็นของเรา

สิ่งที่เป็นของเราที่แท้จริงคือใจ

 การภาวนานี้ เป็นการให้อาหาร

ให้ที่อยู่อาศัย ให้ยารักษาโรค

 ให้เครื่องนุ่งห่มกับใจ

 งานภาวนานี้สำคัญมาก

 สำคัญกว่าการทำมาหากิน

 ที่เราทำกันอยู่เป็นประจำ เพื่อหารายได้

มาจุนเจือชีวิตคือร่างกายของเรา

ซึ่งไม่ใช่ตัวเรา รูปัง อนัตตา

 พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า

ขันธ์ ๕ คือรูปเวทนา

สัญญาสังขารวิญญาณ

 ไม่ใช่ตัวเรา สิ่งที่เป็นตัวเราคือใจ

 คือมโน มโนปุพพังคมา

 ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา

 ใจเป็นประธาน ใจเป็นใหญ่

 ใจเป็นตัวสำคัญของชีวิตเรา

 เราออกมาจากใจ ออกมาจากมโน

 ออกมาจากความหลงของใจ

 คือออกมาจาก อวิชชา ปัจจยา สังขารา

 ใจนี่แหละเป็นผู้รับผิดชอบ

กับการกระทำต่างๆของเรา

 ถ้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ก็จะเป็นประโยชน์กับใจ

 ถ้าทำผิดก็จะเป็นโทษกับใจ

 พวกเราที่เป็นมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายนี้

 ทำไม่ถูก ทำผิด เพราะความหลง

ไม่รู้ว่าใจเป็นตัวที่สำคัญ

 ที่เราต้องให้ความสำคัญ

ที่เราต้องเลี้ยงดูยิ่งกว่าร่างกาย

วิธีเลี้ยงดูใจ ก็คือทานศีลภาวนา

ถ้าเราทำทานรักษาศีลแล้วก็ภาวนา

 เราก็จะได้รักษาใจที่สำคัญกว่าร่างกาย

เพราะความสุขความทุกข์ของใจนี้ รุนแรงกว่า

ความสุขความทุกข์ของร่างกาย

เหมือนฟ้ากับดิน ถ้าสุขใจแล้ว

ไม่ว่าร่างกายจะทุกข์ขนาดไหน

 ก็ไม่เป็นปัญหาอย่างไร

ถ้าสุขกายแล้วแต่ใจทุกข์

ความสุขของกายก็ไม่มีความหมายอะไร

 เพราะความทุกข์ของใจรุนแรงกว่านั่นเอง

คนที่ร่ำรวยมีทุกสิ่งทุกอย่าง

 แต่มีความทุกข์ใจ

 ความร่ำรวยและสมบัติต่างๆที่เขามีอยู่

 จะไม่สามารถดับความทุกข์ใจของเขาได้

 แต่คนที่ไม่มีแม้แต่บาทเดียว

 เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์

ที่ทุกข์ยากทางร่างกาย

อยู่แบบอดอยากขาดแคลน

แต่กลับมีความสุขใจมากกว่าคนที่อยู่ในวัง

 อยู่ในคฤหาสน์อันใหญ่โต

 ที่มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์

แต่ใจไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับอาหาร

 ที่จะให้เกิดความสุขใจขึ้นมา

คือไม่ได้ปฏิบัติทานศีลภาวนา

ใจก็เลยมีแต่ความทุกข์อยู่เรื่อยๆ

 ดังที่เห็นกันในชีวิตของเราเอง

และของคนอื่น

 มีมากมีน้อยก็มีความทุกข์เหมือนกัน

จะทุกข์มากจะทุกข์น้อย

ก็อยู่ที่ว่าทำใจได้มากหรือน้อย

 ภาวนาได้มากหรือน้อย

รักษาศีลได้มากหรือน้อย

ทำบุญให้ทานได้มากหรือน้อย

ถ้าทำได้มากก็จะมีความทุกข์น้อย

 ถ้าทำได้น้อยก็จะมีความทุกข์มาก

นี่คือเรื่องของใจ ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน

 ที่จะทุกข์มากหรือสุขมาก ก็คือใจ

ไม่ใช่ร่างกาย

 ร่างกายไม่รู้ว่ามันทุกข์หรือสุข

 เพราะร่างกายไม่มีความรู้สึก

 เป็นเหมือนต้นไม้ ที่ไม่รู้ว่ามันสุขหรือทุกข์

 เวลาอากาศแห้งแล้ง ใบร่วงไปหมด

 มันก็ไม่รู้ว่ามันทุกข์ เวลาที่ได้รับน้ำ

 ใบออกมาเต็มต้น มันก็ไม่รู้ว่ามันสุข

 เพราะมันไม่มีตัวรู้ ไม่มีความรู้สึก

ไม่มีการรับรู้ แต่ใจนี่แหละ

เป็นตัวที่มีความรับรู้

จะรู้เวลาใจทุกข์ จะรู้เวลาใจสุข

 แต่ไม่รู้วิธีจัดการ กับความสุข

กับความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีปัญญา

 ต้องอาศัยคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้ามาสอน

 พอมีพระพุทธเจ้ามาปรากฏแล้ว

 ก็มีคนเรียนรู้จากพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก

นำเอาความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

 มาจัดการกับความสุขความทุกข์

ที่มีอยู่ภายในใจได้

 กำจัดความทุกข์ทั้งหลายให้หมดไป

รักษาความสุขให้อยู่กับใจไปตลอดอนันตกาล

 นี่คือสิ่งที่พวกเราสามารถทำได้

 เพราะได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

 ที่นานๆจะปรากฏขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง

แล้วก็จะอยู่ไปไม่นาน

 พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่า

จะอยู่ได้ประมาณ ๕๐๐๐ ปี

 หลังจากนั้นก็จะเสื่อมหมดไป

 เพราะจะไม่มีใครสืบทอดความรู้อันประเสริฐนี้

ไม่มีใครสนใจที่จะศึกษา และปฏิบัติตาม

คำสอนของพระพุทธเจ้า

ทั้งๆที่คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์

เป็นอกาลิโก ไม่มีวันเสื่อม

แต่จะอยู่กับโลกได้หรือไม่ ก็อยู่ที่สัตว์โลก

ว่าจะรักษาจะสืบทอด ด้วยการศึกษา

 ด้วยการปฏิบัติ ด้วยการบรรลุได้หรือไม่

 ทุกวันนี้พวกเราชาวพุทธเริ่มหลงทางกันแล้ว

 ด้วยการรักษาถาวรวัตถุต่างๆ

 สร้างโบสถ์สร้างเจดีย์สร้างพระพุทธรูป

เพราะคิดว่าเป็นศาสนา

แต่ความจริงเป็นเพียงเปลือกของศาสนา

 ไม่ใช่เป็นศาสนา

ศาสนาอยู่ที่คำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่จะอยู่กับโลกไปได้นานหรือไม่นาน

ก็อยู่ที่ว่ามีการศึกษา มีการปฏิบัติ

 มีการบรรลุธรรมหรือไม่

พวกเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ครั้งนี้

ต้องถือว่ามีโชควาสนาอย่างมาก

 เพราะอาจจะเป็นครั้งเดียว

ที่จะได้พบกับพระพุทธศาสนา

 เพราะครั้งหน้ากลับมาเกิดใหม่

 พระพุทธศาสนาก็อาจจะ

หายไปจากโลกนี้แล้วก็ได้

 ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องรอให้กลับมาพบกับ

ศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ใหม่

ที่กว่าจะกลับมาปรากฏให้โลก

ได้สักการะได้ยึดเป็นที่พึ่ง

 ก็ต้องอีกหลายกัปหลายกัลป์ด้วยกัน

พวกเราก็ต้องกลับมาเกิดมาตายอีก

ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านครั้ง

 กว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีก

 ชาตินี้จึงถือว่าเป็นชาติที่ดีมาก

เพราะได้พบคำสอนที่แท้จริงแล้ว

 ถ้าไม่ศึกษาและปฏิบัติ ก็ถือว่าเสียชาติเกิด

 ไม่ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

นี่คือเรื่องของศาสนากับเรื่องของพวกเรา

 พวกเราตอนนี้ก็เหมือนอยู่ในช่วงที่มีน้ำให้ตัก

อย่างที่โบราณท่านบอกว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก

เพราะถ้าน้ำลดลงไปแล้วจะไม่มีน้ำให้ตัก

จะไม่มีน้ำให้ใช้

ตอนนี้ถ้าตักเก็บไว้ในตุ่มในถัง

ต่อไปเวลาน้ำลดก็จะมีน้ำใช้

ถ้าไม่ตักตอนนี้ ต่อไปอาจจะไม่มีเวลา

ไม่มีโอกาสที่จะตัก

ใจของเราก็จะไม่มีความรู้

ที่จะเป็นที่พึ่งของเรา

ความรู้ที่จะสอน

ให้เรากำจัดความทุกข์ต่างๆ

 ให้หมดไปจากใจของเรา

ความรู้ที่จะสอนให้เรารักษาความสุข

ให้อยู่กับเราไปอย่างถาวร

 ดังนั้นเราอย่าไปเสียเวลากับงานอื่น

งานของใจเรานี้สำคัญที่สุด

งานที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้

กับพุทธศาสนิกชน ก็คือทานศีลภาวนา

เป็นงานที่จะดูแลรักษาใจของเรา

ให้มีแต่ความสุข

ให้หลุดพ้นจากความทุกข์

 พวกเราสามารถทำให้สำเร็จ

ได้ภายในชาตินี้เลย

 ไม่ต้องเสียเวลาทำเป็นกัปเป็นกัลป์

 เหตุที่พระพุทธเจ้าต้องใช้เวลา

สะสมบุญบารมีเป็นกัปเป็นกัลป์

 เพราะทรงไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

 ไม่รู้ทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์

พระองค์เลยต้องเสียเวลา

กับการสร้างบุญบารมีต่างๆ

 จนในที่สุดก็สามารถทำจิตใจของพระองค์

ให้หลุดพ้นจากความทุกข์

หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้

บรรลุถึงพระนิพพาน

ถึงความสุขที่ถาวรได้

สำหรับพระพุทธเจ้าต้องใช้เวลามาก

 เพราะไม่มีใครสอน

 แต่สำหรับพวกที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า

ได้ยินได้ฟังคำสอนแล้ว

 ก็สามารถทำให้เสร็จภายในชาตินี้ได้เลย

ดังที่ปรากฏในสมัยพระพุทธกาล

ที่หลังจากที่พระพุทธเจ้า

ทรงประกาศพระธรรมคำสอน

 ก็ปรากฏมีพระอรหันตสาวก

 ปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

 เพียงระยะเวลา ๗ เดือนแรก

ที่ทรงประกาศพระศาสนา

คือทรงประกาศในวันเพ็ญเดือน ๘

 แล้วต่อมาอีก ๗ เดือน คือวันเพ็ญเดือน ๓

 ที่เรียกว่าวันมาฆบูชา

ก็ปรากฏมีพระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูป

ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า

 โดยที่ไม่ได้นัดหมายกันไว้ก่อน

 พระอรหันต์ทั้ง ๑๒๕๐ รูปนี้

 พระพุทธเจ้าเป็นผู้อุปสมบทให้

 หลังจากที่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม

 ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

 ก็ขอบวชในพระพุทธศาสนา

บางรูปก็เป็นนักบวชอยู่แล้ว

 แต่เป็นนักบวชในลัทธิอื่น

 ที่ยังไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์

ไม่ว่าลัทธิไหนก็ตาม

 ทุกลัทธิก็มุ่งไปที่พระนิพพานเหมือนกัน

 แต่ไม่มีลัทธิไหนที่จะสอนให้ไปถึงได้

มีแต่พระพุทธเจ้า

เพียงพระองค์เดียวที่ทรงทำได้

 พอพวกที่นับถือลัทธิอื่น ได้ยินได้ฟัง

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 จนบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

 ก็เกิดศรัทธาขอบวช

ในบวรพระพุทธศาสนา

 พระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้

 โดยเปล่งพระวาจาว่า

เอหิ ภิกขุ จงมาเป็นพระภิกษุเถิด

สมัยนั้นบวชง่าย โกนหัวห่มผ้าเหลือง

แล้วก็มากราบพระพุทธเจ้าขอบวช

พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า

 จงมาเป็นภิกษุเถิด

 แค่นี้ก็ได้บวชเป็นพระแล้ว

 ต่อมามีคนอยากจะบวชกันเป็นจำนวนมาก

และอยู่ที่ห่างไกลจากพระพุทธเจ้า

ต้องเดินทางมาลำบากลำบน

 มาขอพระพุทธเจ้าบวช

พระพุทธเจ้าก็เลยมอบให้

เป็นภาระของสงฆ์ไป

คือให้มีพระ ๑๐ รูปเป็นอย่างต่ำ

ในเขตที่มีพระจำนวนมาก

ก็ให้ใช้พระ ๑๐ รูปบวช

ถ้าอยู่ในที่ๆมีพระน้อย

 ก็อนุโลมให้ใช้ ๕ รูป โดยให้ถือพระรัตนตรัย

 พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ

ประกาศตนขอบวชในบวรพระพุทธศาสนา

 พระสงฆ์ก็จะทำญัตติกรรม

 ทำการสอบสัมภาษณ์ผู้ที่มาบวชว่า

 มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการบวชหรือไม่

 มีบริขารครบหรือไม่ เมื่อมีคุณสมบัติครบ

 พระสงฆ์ก็จะลงมติกัน

คือรับให้เข้าสู่บวรพระศาสนาได้

 นี่คือการบวชในสมัยปัจจุบันนี้

 แต่ในสมัยก่อนนั้นบวชกันง่าย

 พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าให้มาเป็นภิกษุเถิด

 ก็ได้เป็นพระแล้ว สมัยก่อนบวชแล้วไม่สึกกัน

 ไม่เหมือนสมัยนี้ บวชเพื่อสึก

ไม่ได้บวชเพื่อปฏิบัติให้หลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิด

 ไม่ได้บวชเพื่อมรรคผลนิพพานกัน

 ส่วนใหญ่ก็บวชเพื่อทดแทนบุญคุณ

ของบิดามารดา ที่ให้กำเนิดแก่ตน

ซึ่งไม่ใช่เป็นจุดประสงค์

ที่พระพุทธเจ้าทรงให้บวช

ในสมัยพุทธกาลบวชเพื่อศึกษาและปฏิบัติ

เพื่อให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

เพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน

 เพื่อสืบทอดพระศาสนาต่อไป

 เพราะผู้ที่จะสืบทอดพระศาสนา

ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้องเป็นผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว

 บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว

ก็คือพระอรหันตสาวกทั้งหลายนี่เอง

 นี่คือเรื่องของพระพุทธศาสนากับพวกเรา

 พวกเรามาพบพระพุทธศาสนาแล้ว

ควรจะได้อะไร ควรได้ความรู้

ที่ไม่มีใครรู้มาก่อน

 ความรู้ที่จะแก้ความหลงของเรา

 ที่จะทำให้เราไม่ทุกข์กับเรื่องต่างๆ

 เช่นร่างกายของเรา

 ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า

 ไม่ใช่ตัวเราของเรา เราคือใจ

 อย่าไปดูแลร่างกายมากจนเกินไป

 อย่าไปทุกข์กับร่างกายมากจนเกินไป

 เพราะอย่างไรก็ดูแลไม่ได้ตลอด

ร่างกายเป็นสมบัติชั่วคราว

 จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตายไป

 แต่ใจไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

 แต่พวกเราถูกความหลงหลอก

ให้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ

กับการดูแลรักษาร่างกาย

ไม่ให้สนใจกับการดูแลรักษาใจ

ถ้าสนใจดูแลรักษาใจก็ต้องทำงาน ๓ ชิ้นนี้

คือ ทำบุญให้ทาน รักษาศีล แล้วก็ภาวนา

 ภาวนาก็มี ๒ ขั้นคือ สมาธิและปัญญา

 สมาธิและปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องมีสติ

 ต้องเจริญสติก่อน เจริญสติเพื่อควบคุม

ความคิดปรุงแต่งของใจให้สงบตัวลง

 ถ้าความคิดปรุงแต่งไม่สงบตัวลง

 ใจก็จะไม่เป็นสมาธิ จะไม่นิ่ง จะไม่สงบ

ดังนั้นถ้าจะภาวนา เรื่องแรกที่ต้องทำก็คือสติ

ที่นั่งสมาธิกันแล้วไม่ได้ผลก็เพราะไม่มีสติ

เหมือนเด็กที่ยังเดินไม่ได้จะวิ่งได้อย่างไร

ก่อนที่จะเดินได้จะวิ่งได้

ก็ต้องยืนให้ได้เสียก่อน ตอนนี้กำลังคลานอยู่

 ปุถุชนเป็นเหมือนเด็กที่ยังคลานอยู่

ยังทำสมาธิไม่ได้ ยังเดินไม่ได้ ยังวิ่งไม่ได้

ถ้าปัญญานี้ขั้นวิ่งแล้ว ถ้าเดินก็ขั้นสมาธิ

ยืนก็คือสติ ดังนั้นก่อนที่จะนั่งสมาธิ

ให้ได้ผลจริงๆ ต้องเจริญสติให้มากๆ

ให้สติมีกำลังที่จะดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน

ให้หยุดความคิดปรุงแต่ง ให้รู้เฉยๆ

ให้รู้อยู่กับการกระทำของร่างกาย

 ร่างกายกำลังทำอะไรอยู่

ก็ให้รู้ว่ากำลังทำเรื่องนั้นอย่างเดียว

ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น

กำลังรับประทานอาหาร ก็ให้รู้ว่า

กำลังรับประทานอาหาร

กำลังอาบน้ำกำลังแต่งตัว

 กำลังทำงานอะไรก็ตาม ให้รู้อยู่กับงานนั้น

 ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่น

ไม่ให้ไปคิดเรื่องใกล้เรื่องไกล

เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เรื่องอดีตเรื่องอนาคต

ถ้ายังห้ามความคิดปรุงแต่งไม่ได้

 แสดงว่าสติไม่มีกำลัง ที่จะดึงให้อยู่กับ

การทำงานของร่างกาย

ก็ต้องอาศัยการบริกรรมไป

 บริกรรมพุทโธๆไป

ไม่ว่าจะทำอะไรก็พุทโธๆไป

อย่าไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้

 ยกเว้นถ้าจำเป็นจะต้องคิดจริงๆ

เช่นวันนี้จะต้องไปทำอะไร

จะต้องไปพบกับใครเวลาใด

 ก็คิดเตรียมตัวเอาไว้ก่อน

ในขณะที่คิดก็ควรจะนั่งเฉยๆ หรือยืนเฉยๆ

ไม่ควรทำอะไร ทำทีละอย่าง

ให้ใจอยู่กับงานอย่างเดียว

ถ้าคิดก็ยืนหรือนั่งเฉยๆ คิดให้พอ

 พอคิดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ก็กลับมาทำงานที่ต้องทำต่อ

 เช่นเตรียมตัวไปทำงาน

อาบน้ำก็ให้อยู่กับการอาบน้ำ

 ถ้าไม่ยอมอยู่ก็ต้องบริกรรมพุทโธๆไป

 แล้วก็อาบน้ำไป พุทโธๆไปอาบน้ำไป

แต่งตัวก็พุทโธๆไป

รับประทานอาหารก็พุทโธๆไป

ออกจากบ้านก็พุทโธๆไป พุทโธๆไปเรื่อยๆ

 ดึงใจเอาไว้ อย่าแวบไปหาเรื่องนั้นเรื่องนี้

 ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 เพราะจะทำให้ใจไม่นิ่ง

 จะทำให้ใจฟุ้งซ่านได้

พอมีเวลาว่างก็หามุมสงบ นั่งหลับตา

 จะบริกรรมพุทโธหรือจะดูลมหายใจก็ได้

 ไม่นานใจก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบ

 พอได้พบกับความสงบแล้ว จะรู้ว่านี่แหละ

คือความสุขที่แท้จริง อยู่ตรงนี้เอง

 ไม่ได้อยู่ที่การได้เงินได้ทองมา

มากมายก่ายกอง

ไม่ได้อยู่ที่เป็นใหญ่เป็นโต

 ไม่ได้อยู่ที่การได้รับการยกย่อง

สรรเสริญเยินยอ

 ไม่ได้อยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรส

โผฏฐัพพะชนิดต่างๆ

 แต่อยู่ที่ความสงบ ที่เกิดจากการเจริญสติ

แล้วก็นั่งสมาธินี่เอง ถ้าจิตรวมลงเต็มที่แล้ว

 ก็จะไม่อยากได้อะไร ออกจากสมาธิมา

ก็อยากจะได้ความสุขแบบนี้อีก

ก็จะเพียรเจริญสติต่อไป

 แล้วก็เพียรนั่งสมาธิต่อไป

 จนสามารถนั่งสมาธิได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

 จนไม่อยากจะทำอะไรเลย

 ก็อาจจะลาออกจากงาน

 ตัดภารกิจที่ไม่สำคัญไม่จำเป็นออกไป

 ดูแลเพียงร่างกาย ถ้าบวชได้ก็บวชเลย

แล้วก็มาบำเพ็ญภาวนาต่อ

ถ้าได้สมาธิแล้วก็จะมีบาทมีฐาน

สำหรับการเจริญปัญญาต่อไป

เพราะถ้าไม่มีสมาธิแล้วมาเจริญปัญญา

 จะมีอารมณ์ที่ไม่ดีมาคอยขัดขวาง

 เพราะการพิจารณาทางปัญญานี้

 ต้องพิจารณาเรื่อง

ความแก่ความเจ็บความตาย

 ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 ซึ่งถ้าใจไม่สงบ จะเกิดอารมณ์หดหู่

 ไม่สบายอกไม่สบายใจขึ้นมา

จะไม่อยากพิจารณา

นี่คืองานของเราที่แท้จริง

 คืองานภาวนา รักษาศีล ทำบุญให้ทาน

เป็นขั้นบันได ข้ามขั้นไม่ได้

ถ้าไม่ทำบุญให้ทานจะรักษาศีลไม่ได้

ถ้ารักษาศีลไม่ได้ การภาวนาก็เป็นไปไม่ได้

 เพราะฉะนั้นต้องทำบุญให้ทาน

 เพื่อให้เกิดความเมตตา ปล่อยวาง

ในสมบัติข้าวของเงินทอง

ไม่วิตกไม่กังวลไม่ห่วงใย

ก็จะรักษาศีลได้ง่าย เพราะมีความเมตตา

 ไม่อยากเบียดเบียนผู้อื่น

 สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ

 ไม่จองเวรจองกรรม

สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ

 เมื่อไม่มีการทำบาป ใจก็จะไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว

การทำสมาธิก็จะง่ายกว่า

เวลาที่มีความว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่สบายใจ

วิตกกังวลกับการกระทำบาปต่างๆ

ต้องปฏิบัติเป็นขั้นไป

 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องทำทีละขั้น

ทำไปพร้อมๆกันก็ได้

ทำทานไปรักษาศีลไปแล้วก็ภาวนาไป

 ต่อไปก็จะทำทานน้อยลง ศีลก็รักษาเป็นปกติ

ศีลนี้รักษาง่ายมาก ไม่ทำอะไรก็มีศีลแล้ว

 แต่ทานกับภาวนาจะแย่งเวลากัน

 ถ้าภาวนาแล้ว ก็ไม่ควรกลับไปทำทาน

ไม่ควรเสียเวลากับการทำทาน

ถ้าจะทำก็ทำแบบง่ายๆ

บริจาคเงินไปเป็นก้อนไปเลย

ถ้าเป็นนักบวชก็สละหมดเลย

มีสมบัติเงินทองข้าวของมากน้อย

 ก็ยกให้คนอื่นไปหมดเลย

 เป็นการทำทานอย่างเต็มที่เลย

ถ้าทำทานแบบนี้แล้ว

ก็ไม่ต้องทำทานอีกต่อไป

เพราะไม่มีสมบัติข้าวของเงินทอง

จะให้ใครอีกแล้ว

นักบวชนักภาวนา

ถ้าได้สละสมบัติไปหมดแล้ว

 ก็ไม่ต้องทำทานแล้ว

ควรภาวนาให้มากที่สุด

ทุ่มเทเวลากับการภาวนา ไปปลีกวิเวก

ไปอยู่ห่างไกลจากสังคม

ห่างไกลจากเรื่องวุ่นวายต่างๆ

ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการเจริญสติ

สมาธิและปัญญา ถ้าทำได้

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ในมหาสติปัฏฐานสูตร ก็จะบรรลุได้

ทรงพยากรณ์ไว้ว่าไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างมาก

 ถ้ามีความสามารถมากก็ภายใน ๗ วัน

 ก็บรรลุได้ ถ้าปฏิบัติอย่างเข้มข้น

ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เจริญสติ นั่งสมาธิ

เจริญปัญญา สลับกันไป

 ไม่นานจิตก็จะหลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลายได้

นี่คือโอกาสอันเลิศอันวิเศษของพวกเรา

 ที่อาจจะมีครั้งนี้เพียงครั้งเดียว

 กลับมาเกิดคราวหน้า

อาจจะไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกแล้ว

 ก็จะไม่มีใครสอน ไม่มีใครบอก

ว่าควรจะทำอะไร ขนาดมียังทำกันไม่ได้เลย

 ขนาดมีพระพุทธเจ้ามีครูบาอาจารย์

คอยสอนอยู่ตลอดเวลา มีหนังสือมากมาย

 มีซีดีมีเทปให้ฟังเป็นจำนวนมาก

 แต่การกระทำก็ยังเหมือนเดิม

 ยังไปยุ่งไปห่วงกับการดูแลรักษาร่างกาย

มากกว่าการดูแลรักษาใจ

พวกเราจึงเป็นเหมือนทัพพีในหม้อแกง

 ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น

จะไม่ได้ลิ้มรสของแกง

 จะไม่ได้รับประโยชน์จากแกง

ไม่เป็นเหมือนลิ้นกับแกง

 ถ้าเป็นก็จะได้รับประโยชน์

 ได้สัมผัสรับรู้พระธรรมคำสอน

ที่เป็นรสที่ชนะรสทั้งปวง ดังที่ทรงตรัสว่า

 รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

ถ้ายังไม่เห็นว่ารสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

ก็จะปล่อยรสอื่นไม่ได้

ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้

 ปล่อยลาภยศสรรเสริญไม่ได้

 แต่ถ้าได้สัมผัสกับรสแห่งธรรม

ที่เกิดจากความสงบเพียงครั้งเดียวแล้ว

 รับรองได้ว่าจะสละได้

จะมุ่งไปที่รสแห่งธรรมเพียงอย่างเดียว

ขอให้พวกเราพยายามภาวนา

ทำจิตให้สงบให้ได้ ให้รวมให้ได้

 ให้ได้เห็นหนังตัวอย่าง

ถ้าเห็นหนังตัวอย่างของพระนิพพานแล้ว

 รับรองได้ว่าจะไม่อยากได้อะไร

จะอยากได้พระนิพพานเพียงอย่างเดียว

พยายามศึกษาให้มาก ภาวนาให้มาก

 เจริญสติให้มาก

รักษาศีลทำบุญให้ทานให้มาก

 แล้วสักวันหนึ่งภายในชาตินี้

จะได้พบกับความสุขนี้

เพราะมีผู้ที่ได้พบมาแล้วเป็นจำนวนมาก

 ที่เรากราบไหว้บูชาเป็นสังฆรัตนะ

ก่อนหน้านั้นท่านก็เป็นเหมือนพวกเรา

ยังหลงติดอยู่กับรสของรูปเสียงกลิ่นรส

รสของลาภยศสรรเสริญ

แต่พอได้สัมผัสกับรสของพระธรรม

ได้เห็นหนังตัวอย่าง ก็ติดใจ

 เกิดฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา

 เกิดอิทธิบาท ๔ ขึ้นมา

 ถ้ามีอิทธิบาท ๔ แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร

 จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

นี่คือทางที่พวกเราจะต้องไปกัน

พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์

ไม่สามารถเดินแทนพวกเราได้

ได้แต่คอยบอกคอยเตือน คอยลากคอยจูง

 ด้วยการพร่ำสอนเท่านั้น

 ถ้าพวกเราไม่ทำก็จะไปไม่ถึง

 ขอให้พวกเราเชื่อมั่น

ในคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้อง

 ที่จะนำพาเราไปสู่ความสุขที่แท้จริง

 และการหลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลายได้อย่างแน่นอน

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

กัณฑ์ที่ ๔๓๕ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๕

 (จุลธรรมนำใจ ๒๘)

“งานสำคัญที่สุด”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 ธันวาคม 2559
Last Update : 2 ธันวาคม 2559 12:21:37 น.
Counter : 771 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ