จินตนาการจากความว่างเปล่า
Imagination from the emptiness
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
15 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 

กฎหมายอาญา ภาค2 ความผิด

ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย

หมวด1 ความผิดต่อชีวิต
มาตรา 288** ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 289** ผู้ใด
(1) ฆ่าบุพการี
(2) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุ ที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่
(3) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำ ตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงาน ดังกล่าวแล้ว
(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
(5) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
(6) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการ ที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ
(7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อ หลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้
ต้องระวางโทษ ประหารชีวิต
มาตรา 290** ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้น ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 291** ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท
มาตรา 292 ผู้ใดกระทำด้วยการปฏิบัติอันทารุณ หรือด้วยปัจจัย คล้ายคลึงกันแก่บุคคลซึ่งต้องพึ่งตน ในการดำรงชีพหรือในการอื่นใด เพื่อให้บุคคลฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการ พยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นสี่พันบาท
มาตรา 293 ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกินสิบหกปี หรือผู้ซึ่งไม่ สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสารสำคัญอย่างไร หรือไม่ สามารถบังคับการกระทำของตนได้ ให้ฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้ เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 294** ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคน ขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ถึงแก่ความตายโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการ ชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

หมวด2 ความผิดต่อร่างกาย
มาตรา 295** ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิด นั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 297** ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสิบปี
อันตรายสาหัสนั้น คือ
(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5) แท้งลูก
(6) จิตพิการอย่างติดตัว
(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ยี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตาม มาตรา 297 ถ้าความผิด นั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 ต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี
มาตรา 299* ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ รับ อันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการ ชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมวด3 ความผิดฐานทำให้แท้งลูก
มาตรา 301* หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
มาตรา 303 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาท ถึงสี่หมื่นบาท
มาตรา 304 ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทำความผิดตาม มาตรา 301 หรือ มาตรา 302 วรรคแรก ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรา 301 และ มาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์และ
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือ มาตรา 284
ผู้กระทำไม่มีความผิด

หมวด4 ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา
มาตรา 306 ผู้ใดทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไว้ ณ ที่ใดเพื่อให้เด็ก นั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 307 ผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาต้องดูแลผู้ซึ่ง พึ่งตนตนเองมิได้ เพราะอายุ ความป่วยเจ็บ กายพิการ หรือจิตพิการ ทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้นั้นเสียโดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิด อันตรายแก่ชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 308 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 306 หรือ มาตรา 307 เป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้อง ระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 290 มาตรา 297 หรือ มาตรา 298 นั้น

ลักษณะ11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

หมวด1 ความผิดต่อเสรีภาพ
มาตรา 309** ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือ จำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้ กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำ ความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใดผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะ มีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีและปรับ ตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
มาตรา 310** ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการ ใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกัก ขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตายหรือรับอันตราย สาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 290 มาตรา 297 หรือ มาตรา 298 นั้น
มาตรา 310ทวิ ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วย ประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำ การใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หมายเหตุ มาตรา 310ทวิ เพิ่มเติมโดย มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2537 ราชกิจจาฯ เล่ม 111 ตอนที่ 22 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2537
มาตรา 311 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือ รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 291 หรือ มาตรา 300
มาตรา 312 ผู้ใดเพื่อจะเอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีฐานะคล้ายทาส นำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พามาจากที่ใด ซื้อ ขาย จำหน่าย รับ หรือหน่วงเหนี่ยวซึ่งบุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน เจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
มาตรา 312ทวิ ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 310ทวิ หรือ มาตรา 312 เป็นการกระทำต่อเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก หรือ มาตรา 310ทวิ หรือ มาตรา 312 เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ
(1) รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
(2) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบเจ็ดปีถึงยี่สิบปี
(3) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
หมายเหตุ มาตรา 312ทวิ เพิ่มเติมโดย มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2537 ราชกิจจาฯ เล่ม 111 ตอนที่ 22 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2537
มาตรา 312ตรี ผู้ใดโดยทุจริตรับไว้ จำหน่าย เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี แม้ผู้นั้นจะยินยอม ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกิน สิบห้าปี ผู้กระทำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่น สี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ เพิ่มโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2540
มาตรา 313** ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป
(2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไป โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจ ด้วยประการอื่นใด หรือ
(3) หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่น บาท ถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูก หน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังนั้นรับอันตรายสาหัสหรือเป็นการกระทำโดย ทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำนั้นรับอันตราย แก่กาย หรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุก
ตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดนั้นเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไปผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว หรือผู้ถูกกักขังนั้นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
หมายเหตุ แก้ไขโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8 พ.ศ.2530)
มาตรา 314* ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตาม มาตรา 313 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
มาตรา 315* ผู้ใดกระทำการเป็นคนกลาง โดยเรียก รับหรือยอมจะรับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างใดที่มิควรได้ จากผู้กระทำความผิดตาม มาตรา 313 หรือจากผู้ที่จะให้ค่าไถ่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปี ถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
หมายเหตุ แก้ไขโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525
มาตรา 316* ผู้ใดกระทำความผิดตาม มาตรา 313 มาตรา 314 หรือ มาตรา 315 จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับ เสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ให้ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
มาตรา 317** ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกิน สิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตาม มาตรานี้ ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้นั้นกระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
หมายเหตุ แก้ไขโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530
มาตรา 318** ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไป ด้วยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาท ถึงสองหมื่นบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตาม มาตรานี้ ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกพัน บาท ถึงสามหมื่นบาท
หมายเหตุ แก้ไขโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530
มาตรา 319* ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไป เสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และ ปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
หมายเหตุ แก้ไขโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530
มาตรา 320 ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด พาหรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปี ถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกพาหรือ ส่งไปนั้นตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือเพื่อละทิ้ง ให้เป็นคนอนาถา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท
มาตรา 321 ความผิดตาม มาตรา 309 วรรคแรก มาตรา 310 วรรคแรกและ มาตรา 311 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้

หมวด2 ความผิดฐานเปิดเผยความลับ
มาตรา 322 ผู้ใดเปิดผนึกหรือเอาจดหมาย โทรเลขหรือเอกสารใด ๆ ซึ่งปิดผนึกของผู้อื่นไป เพื่อล่วงรู้ข้อความก็ดี เพื่อนำข้อความในจดหมาย โทรเลข หรือเอกสารเช่นว่านั้นออกเปิดเผยก็ดี ถ้าการกระทำนั้นน่าจะเกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับ ไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 323 ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่น โดยเหตุ ที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชีหรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบ อาชีพนั้น แล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้รับการศึกษาอบรมในอาชีพดังกล่าวในวรรคแรก เปิดเผยความลับ ของผู้อื่น อันตนได้ล่วงรู้หรือได้มาในการศึกษาอบรมนั้น ในประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแต่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
มาตรา 324 ผู้ใดโดยเหตุที่ตนมีตำแหน่งหน้าที่ วิชาชีพ หรือ อาชีพอันเป็นที่ไว้วางใจ ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นเกี่ยว กับอุตสาหกรรม การค้นพบ หรือการนิมิตในวิทยาศาสตร์ เปิดเผยหรือ ใช้ความลับนั้น เพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่ เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 325 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

หมวด3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 326** ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำ
ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535
มาตรา 327* ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้น น่าจะเป็นเหตุให้ บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ใน มาตรา 326 นั้น
มาตรา 328* ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท
หมายเหตุ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535
มาตรา 329* ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับ
ตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัย ของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิด เผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 330** ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้อง รับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
มาตรา 331** คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิด เห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดี ของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 332 ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความ ผิด ศาลอาจสั่ง
(1) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่น
ประมาท
(2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือ พิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับครั้งเดียวหรือหลายครั้งโดยให้จำเลย เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
มาตรา 333* ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

ลักษณะ12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมวด1 ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์
มาตรา 334** ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม อยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
มาตรา 335* ผู้ใดลักทรัพย์
(1) ในเวลากลางคืน
(2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือ ในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะ อื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัย โอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัว ภยันตรายใด ๆ
(3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ
(4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทาง คนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
(5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วย ประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
(6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สอง คนขึ้นไป
(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้ บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ ในสถานที่นั้น ๆ
(9) ในสถานที่บูชาสาธารณ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยานที่จอดรถ หรือเรือสาธารณ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยาน สาธารณ
(10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
(12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มา จากการกสิกรรมนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะ ดังที่บัญญัติไว้ในอนุ มาตรา ดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุ มาตรา ขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับ ประกอบกสิกรรมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรานี้ เป็นการกระทำ โดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทานและทรัพย์นั้นมีราคา เล็กน้อยศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ก็ได้
หมายเหตุ มาตรา 335 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) ,(ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2530)
มาตรา 335ทวิ ผู้ใดลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุใน ทางศาสนา ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน หรือเก็บ รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป หรือวัตถุดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับ ตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ได้กระทำในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของ แผ่นดิน สถานที่ราชการหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้กระทำต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาท ถึงสามหมื่นบาท
หมายเหตุ แก้ไขโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2 ) ,(ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2525)
มาตรา 336** ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำ ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับ ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ สี่พันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาท ถึงสองหมื่นบาท
ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาท ถึงสามหมื่นบาท
มาตรา 336ทวิ ผู้ใดกระทำความผิดตาม มาตรา 334 มาตรา 335 มาตรา 335ทวิ หรือ มาตรา 336 โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือ ตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือ ใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การ กระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมต้อง ระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ใน มาตรา นั้น ๆ กึ่งหนึ่ง

หมวด2 ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์
มาตรา 337** ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือ โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือ ทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอม เช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
(1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น ให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของ ผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
(2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับ ตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
มาตรา 338* ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผย ความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองพันบาท ถึงสองหมื่นบาท
มาตรา 339** ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(5) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท
ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ ในอนุ มาตรา หนึ่งอนุ มาตรา แห่ง มาตรา 335 หรือเป็นการกระทำต่อ ทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักร ที่ผู้มีอาชีพกสิกรรม มีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาท ถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้อง ระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
หมายเหตุ แก้ไขโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2525)
มาตรา 339ทวิ ถ้าการชิงทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตาม มาตรา 335ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 335ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึง ยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับ อันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปี ถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับ อันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก ตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรก หรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
หมายเหตุ แก้ไขโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2525)
มาตรา 340** ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
ถ้าในการปล้นทรัพย์ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใด มีอาวุธติดตัวไป ด้วยผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปีและปรับ ตั้งแต่สองหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้อง ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยแสดงความทารุณ จนเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิดหรือกระทำ ทรมานผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้า ปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้อง ระวางโทษประหารชีวิต
มาตรา 340ทวิ ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตาม มาตรา 335ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 335ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง ผู้กระทำแม้แต่ คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอด ชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับ อันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองได้กระทำโดยแสดง ความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิดหรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึง แก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
มาตรา 340ตรี ผู้ใดกระทำความผิดตาม มาตรา 339 มาตรา 339ทวิ มาตรา 340 หรือ มาตรา 340ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหาร หรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมี หรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ต้องระวางโทษ หนักกว่าที่บัญญัติไว้ใน มาตรา นั้น ๆ กึ่งหนึ่ง

หมวด 3 ความผิดฐานฉ้อโกง
มาตรา 341** ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอก ลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัย ความอ่อนแอทางจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 341 ได้กระทำ ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิด ความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะ ดังกล่าวใน มาตรา 342 อนุ มาตรา หนึ่งอนุ มาตรา ด้วย ผู้กระทำ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพัน บาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
มาตรา 344 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ให้ประกอบการงานอย่างใด ๆ ให้แก่ตนหรือให้บุคคลที่สามโดยจะ ไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงาน หรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 345 ผู้ใดสั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มหรือเข้าอยู่ ในโรงแรม โดยรู้ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือ ค่าอยู่ในโรงแรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับ ไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 346 ผู้ใดเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของ บุคคลที่สาม ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอหรือเป็นเด็กเบาปัญญา และ ไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสารสำคัญแห่งการกระทำของตน จนผู้ ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 347 ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการ ประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแต่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่ เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 348 ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตาม มาตรา 343 เป็นความผิดอันยอมความได้

หมวด4 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
มาตรา 349 ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระ หนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 351 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

หมวด5 ความผิดฐานยักยอก
มาตรา 352** ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์ สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียง กึ่งหนึ่ง
มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นหรือ ทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วย ประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 352 หรือ มาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของ ผู้อื่น ตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 355 ผู้ใดเก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่า อันซ่อนหรือฝัง ไว้โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอา ทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้




 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2549
57 comments
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2549 1:02:32 น.
Counter : 4197 Pageviews.

 

^ข้างบนจะเขียนเพิ่มเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจถ้ามาแล้วเห็นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมานะคะ

 

โดย: ไร้นาม 15 กุมภาพันธ์ 2549 1:03:21 น.  

 

อยากให้คนทุกคนมีความรู้สึกที่ต่อกันตลอดไป

 

โดย: แมค ชากังราว IP: 203.172.255.146 15 มิถุนายน 2549 9:36:33 น.  

 

--- คุณ แมค ชากังราว ---

เช่นกันค่ะ

 

โดย: ไร้นาม 16 ตุลาคม 2549 23:59:28 น.  

 

 

โดย: ซิน IP: 203.113.86.156 19 ตุลาคม 2549 13:07:15 น.  

 

อยากให้มีฏีกาประกอบและอธิบายองค์ประกอบความผิดด้วย

 

โดย: คนเรียนน้อย IP: 203.113.17.140 28 ตุลาคม 2549 20:45:59 น.  

 

เนื้อหาแน่นดีค่ะ

 

โดย: เด็กเรียน IP: 203.172.213.33 4 มกราคม 2550 14:40:13 น.  

 


ขอบคุณมากๆๆนะคะเพราะกำลังหาข้อมุลอยุ่เลยเจ้าคะแล้ววันหลังจะแวะเข้ามาใหม่เจ้าคะ

เอ้อ วัดดีปีหมุด้วยเจ้าคะขอหัยทุกคนมีความสุขมากๆนะเจ้าคะ

 

โดย: แป้ง/วัยทีนสีลูกกวาด IP: 203.172.213.33 5 มกราคม 2550 14:07:37 น.  

 

ข้าพเจ้าอยากเรียนถามท่านผู้รู้กฏหมายว่ากรณีเป็นผู้ร่วมกระทำผิดโดยการปลอมเอกสารที่เป็นเท็จซึ่งผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปฏิบัติเพื่อได้มาซึ่งเงินในการสร้างอาคาร
โดยทางสตง.ได้ตรวจสอบแล้วมีมูล ข้าพเจ้าอยากทราบว่าความผิดกรณีดังกล่าวของข้าพเจ้าและพวกจะเป็นเช่นไร
(ข้าพเจ้าและพวกเป็นแค่ลูกจ้างชั่วคราว) ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ช่วยตอบให้กระจ่างด้วยค่ะ

ผู้เดือดร้อนกลัวได้ออกจากงาน

 

โดย: 1234 IP: 202.143.147.82 13 มีนาคม 2550 15:42:45 น.  

 

อยากเรียนเนติฯจบครับ

 

โดย: นักศึกษาเนติ IP: 222.123.12.233 19 พฤษภาคม 2550 17:07:05 น.  

 

อยากให้ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่นั้นได้ใช้กฎหมายในทางที่ถูกช่วยเหลือประชาชนไม่ใช่นำมาข่มขู่คนที่ไม่รู้
ละเว้นการปฎิบัติหรือเลือกปฎิบัติ

 

โดย: ผู้น้อย IP: 124.121.31.92 20 พฤษภาคม 2550 15:50:45 น.  

 

สุดยอดไปเลยเจ้าค่ะ

 

โดย: กาลาแม IP: 203.113.67.38 27 พฤษภาคม 2550 13:17:08 น.  

 

ขอบคุณครับ...ผมกำลังเรียนอยู่พอดีฝากถามสักนิดได้รึเปล่าครับ..ผู้ใดทราบกรุณาตอบผมด้วยนะครับ
นายเอเป็นโรคหัวใจ เมื่อตื่นเต้นหรือตกใจจะทำให้ช็อกแล้วหมดสติ ต้องนำส่งโรงพยาบาลมาแล้วหลายครั้ง หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทันนายเอต้องถึงแก่ความตาย นายบีทราบเรื่อง ดังกล่าวเป็นอย่างดี วันหนึ่งนายบีพบนายเอเดินเล่นอยู่ นายบีต้องการหยอกล้อจึงนำหน้ากากผีมาใส่แล้วซ่อนตังในพุ่มไม้เมื่อนายเอเดินมาใกล้ๆนายบีออกจากที่ซุ่มทันที นายเอตกใจและช็อกหมดสติ นายบีนำนายเอส่งโรงพยาบาลระหว่างทางนายเอถึงแก่ความตาย ดังนี้นายบีมีความผิดต่อชีวิตฐานใดหรือไม่

 

โดย: เด็กกำแพง IP: 125.24.248.72 28 พฤษภาคม 2550 14:39:17 น.  

 


 

โดย: เด็กสารคาม IP: 203.188.53.208 13 มิถุนายน 2550 17:47:20 น.  

 

เจ๋งอีหลี

 

โดย: เด็กสารคาม IP: 203.188.53.208 13 มิถุนายน 2550 17:49:47 น.  

 

นายบีทราบอยู่แล้วว่านายเอเป็นโรคหัวใจและเมื่อตกใจอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ การที่นายบีเอาหน้ากากผีใส่หน้าแลวไปหลอกนายเอ ถึงแม้นายบีตั้งใจจะหยอกล้อนายเอเล่นก็ตาม ตามข้อเท็จจริงถึงแม้เมื่อนายเอตกใจและหมดสติไปนายบีได้นำนายเอไปส่งโรงพยาบาลแต่นายเอได้ตายเสียก่อน การที่นายบีได้นำนายเอส่งโรงพยาบาลแสดงถึงการที่จะช่วยชีวิตนายเอ แต่นายเอได้ตายเสียก่อน วินิจฉัยว่านายบีผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตามป.อาญา ม.290

มาตรา 290** ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้น ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี

 

โดย: toy IP: 203.146.104.32 18 มิถุนายน 2550 11:24:19 น.  

 

 

โดย: รพีกัก IP: 124.157.248.25 2 กรกฎาคม 2550 9:05:13 น.  

 

มีเรื่องทุกข์ใจ อยากปรึกษาใครก็ได้ช่วยตอบที เรื่องมีอยู่ว่า ญาติโดนฉกบัตร ATM ที่ตู้หน้าธนาคาร แล้วถูกถอนเงินไปแสนกว่าบาท ตอนนี้แจ้งความแล้วปรากฎว่าตรวจสอบดู วีดีโอวงจรปิด แล้วรู้ตัวว่าเป็นใครแล้ว มีปัญหาว่าตอนนี้ตำรวจได้พยายามให้มีการเจรจากันก่อน บอกว่าจะมีการเอาเงินมาคืนให้ให้ฝ่ายเรายอมความได้มั๊ย มีการพูดขู่ด้วยว่า คนที่ทำคนนี้ไม่ธรรมดา เป็นข้าราชการ (เป็นผู้หญิง) มีสามีมีตำแหน่งใหญ่ ถ้าหากฟ้องอาจจะไม่ได้เงินคืน (คำพูดตำรวจ) ทางฝ่ายผู้เสียหาย ไม่อยากให้มีการยอมความเพราะลักษณะที่เขาทำเหมือนมืออาชีพ และมีหลักฐาน (วีดีโอจากธนาคาร 2 แห่ง) ที่เขาไปกดเงินจากบัตรของผู้เสียหาย ก็เลยอยากรู้ว่าคดีแบบนี้ยอมความกันได้หรือ แล้วถ้าหากฟ้องร้องไม่ยอมความ เจ้าทุกข์ จะมีสิทธิ์ได้เงินคืนหรือไม่
ขอบคุณมากสำหรับคำตอบ

 

โดย: คนทุกข์ใจ IP: 125.26.115.177 10 กรกฎาคม 2550 21:58:08 น.  

 

อย่าไปยอมความยิ่งมีภาพเคลื่อนไหวด้วยเสร็จแน่

 

โดย: noom 16 IP: 124.121.113.114 14 กรกฎาคม 2550 10:14:18 น.  

 

 

โดย: 254 IP: 203.150.192.178 21 กรกฎาคม 2550 12:04:41 น.  

 

ขอปรึกษาด้วยคนคะ
ขณะที่นายเสริมกำลังนั่งดูหนังอยู่ นางสายเห็นประเป๋าเงินกำลังจะหล่นจากกระเป๋ากางเกงนายเสริมนางสายจึงหยิบเอากระเป๋าเงินไป นางสายมีความผิดฐานใด

 

โดย: IML IP: 125.26.197.246 22 กรกฎาคม 2550 9:39:22 น.  

 

....

 

โดย: ง่า IP: 125.26.197.246 22 กรกฎาคม 2550 9:47:29 น.  

 

พอดีว่ารุ่นน้องมาปรึกษาอ่ะค่ะแต่ไม่รู้แบบแน่นเลยขอคำปรึกษาด้วยค่ะ ช่วยด้วยนะคะไวๆยิ่งดี

คือว่า เพื่อนของน้องมีการทะเลาะวิวาทกันแล้วก้อมีฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงจากการทะเลาะกันผู้ที่ทำให้เสียชีวิตต้องติดคุกกี่ปีค่ะ แล้วคนเดียวกันนั่นแหละขายกัญชาอันนี้มีโทษสถานใดคะ ที่พูดมาคือว่าตำรวจยังจับไม่ได้แต่คนที่ทำผิดจะมอบตัวจะติดคุกนานเท่าไรแล้วจะประกันตัวได้ไหมแล้วคนที่จะประกันต้องใช้อะไรบ้างหลักทรัพย์เท่าไรคือแบบว่าไม่มีความรู้ด้านนี้เลยอ่ะคะมีก้อกลัวตอบไปแล้วมันไม่แน่นอนช่วยหน่อยนะคะ แล้วจะแวะมาดูบ่อยๆ

 

โดย: ขอคำปรึกษา IP: 58.10.219.184 7 สิงหาคม 2550 6:43:03 น.  

 

เป็นวิทยาทาน เปิดโลกให้ความรู้และข้อระวังในงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ความปลอดภัย ขอบคุณมากค่ะ

 

โดย: วิชาชีพ IP: 203.154.52.151 7 สิงหาคม 2550 16:59:50 น.  

 

มีปัญหาอ่ะค่ะ ช่วยตอบให้หน่อย
น.ส.สายพิณ อายุ 14 ปี พบว่าตั้งครรภ์จึงได้ปรึกษา น.ส.แสง ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง น.ส.สายพิณ ได้อ้อนวอนให้ น.ส.แสง ทำแท้งให้ น.ส.แสง ได้นัด น.ส.สายพิณ มาทำแท้งที่โรงพยาบาลนอกเวลาราชการ โดยให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกเข้าทางหลอดเลือดดำ นาน 3 ชั่วโมง แต่ทารกไม่แท้งออกมา น.ส.แสง จึงใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสูงใส่ทางสายยางฉีดเข้าทางช่องคลอด ทำให้ทารกแท้งออกมา หลังการแท้ง 1 สัปดาห์ น.ส.สายพิณ มีอาการปวดบริเวณท้องน้อยมากและมีไข้สูง มารดาของ น.ส.สายพิณ จึงนำบุตรไปรับการตรวจรักษาที่คลินิก แพทย์ให้ยาปฏิชีวนะมารับประทานโดยไม่ได้ตรวจภายในเพราะ น.ส.สายพิณ ให้ข้อมูลว่ามีอาการเป็นหวัด เจ็บคอ เพราะเกรงว่าแพทย์และมารดาจะทราบว่าตนเองไปทำแท้ง หลังจากนั้นอีก 2 วัน น.ส.สายพิณ มีอาการไข้สูงมาก ไม่รู้สึกตัว มารดาจึงนำส่งโรงพยาบาลประจำจังหวัด แพทย์ให้การวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง และมีการอักเสบติดเชื้อที่ปีกมดลูกทั้งสองข้าง น.ส.สายพิณ เสียชีวิตในวันต่อมา มารดาของ น.ส.สายพิณ ติดตามสอบถามจากเพื่อนๆของ น.ส.สายพิณ จนทราบว่า น.ส.สายพิณ ตั้งครรภ์และไปทำแท้ง โดยมี น.ส.แสง เป็นผู้ทำแท้งให้ จึงแจ้งความจับ น.ส.แสง และร้องเรียนต่อสภาการพยาบาลให้พิจารณาความผิดของ น.ส.แสง
- น.ส.แสง มีความผิดตามกฎหมายอาญาในมาตราใดบ้าง และมีบทลงโทษอย่างไร

 

โดย: my_gaspard IP: 203.154.74.102 10 สิงหาคม 2550 14:40:25 น.  

 

อยากรู้ว่า คดี อาญาเกี่ยวกับการมีอาวุธปืน ไว้ในคอบครอง มี ความผิดอย่างไร

 

โดย: แอนนี้ IP: 58.10.167.208 11 สิงหาคม 2550 1:51:41 น.  

 

+++ คุณ ซิน +++

ยินดีต้อนรับค่ะ


+++ คุณคนเรียนน้อย +++

ยังไม่ได้ท่องฏีกาเลยค่ะ แหะ แหะ


+++ คุณเด็กเรียน +++

ขอบคุณค่ะ


+++ คุณแป้ง/วัยทีนสีลูกกวาด +++

สุขสันต์ปีหมู (ย้อนหลัง) ด้วยนะคะ


+++ คุณ 1234 +++

จริงๆ ไม่ควรทำค่ะ เพราะการปลอมเอกสารมีความผิดได้ทั้งทางแพ่ง (ฉ้อโกง) และ ทางอาญา (ม. 264) ถ้าในทางแพ่งจะอ้างว่ากระทำเพราะถูกข่มขู่ก็ไม่ได้เพราะเป็นการทำเพราะยำเกรงผู้บังคับบัญชาความผิดคือการถูกปรับตามความผิดนั้น แต่ถ้าผิดทางอาญาความผิดฐานปลอมเอกสารจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


+++ คุณนักศึกษาเนติ +++

อยากเรียนเหมือนกันค่ะ


+++ คุณผู้น้อย +++

จริงค่ะ


+++ คุณกาลาแม +++

ขอบคุณค่ะ


+++ คุณเด็กกำแพง +++

ต้องดูว่าเจตนา หรือประมาทเลิ่นเล่อค่ะ ส่วนตัวอ่านแล้วคิดว่าน่าจะเข้า มาตรา 291 (ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท) เพราะเห็นว่าพอนายเอช็อกนายบีก็นำส่งโรงพยาบาล แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่านายบีไม่ได้ตั้งใจส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด้วย (เพราะรู้ว่าถ้าทำให้ช้าแล้วส่งไม่ทันต้องถึงแก่ความตาย) ก็จะเข้า 288 ได้ค่ะ


+++ คุณเด็กสารคาม +++

:)


+++ คุณ toy +++

ขอบคุณที่มาช่วยกันตอบนะคะ (ตอบไม่เหมือนกัน คิดไม่เหมือนกัน แหะ แหะ)


+++ คุณรพีกัก +++

;)


+++ คุณคนทุกข์ใจ +++

แย่จังค่ะ อ่านแล้วกรณีคุณตำรวจเข้ามาตรา 148 (อาญา) เลยค่ะ "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต"


+++ คุณ noom +++

เห็นด้วยค่ะ


+++ คุณ 254 +++

:D


+++ คุณ IML +++

เห็นกำลังหล่นแต่ยังอยู่ในกระเป๋ากางเกงหรือคะ? ถ้าใช่ก็เป็นลักทรัพย์ แต่ถ้าหล่นลงไปแล้วเอาไปก็น่าจะเป็นยักยอกทรัพย์นะคะ


+++ คุณง่า +++

...


+++ คุณขอคำปรึกษา +++

ถ้าเอากันตามหลักกฏหมายต้องดูว่า
1. เจตนาฆ่า (ถ้าใช่ ก็ 288 จำคุกตลอดชีวิต หรือ 15-20 ปี)
2. มิได้มีเจตนาฆ่า แต่เจตนาทำร้าย (จำคุก 3-15 ปี)
3. มิได้มีเจตนาฆ่า มิได้มีเจนาทำร้าย แต่ประมาท (จำคุกไม่เกิน 10 ปี และ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท)
4. ถ้าเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) <= ยกเว้นไปห้าม
ปกติมอบตัวอาจมีการลดหย่อนผ่อนโทษ (แต่ถ้าเคยทำผิดมาก่อนก็อาจมีการเพิ่มโทษ) ส่วนเรื่องความผิดฐานขายกัญชานี้ไม่ทราบจริงๆ ค่ะ


+++ คุณวิชาชีพ +++

ด้วยความยินดีค่ะ


+++ คุณ my_gaspard +++

เป็นไปตามมาตรา 302 เลยค่ะ "ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท"


+++ คุณแอนนี้ +++

เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน มาตรา 7 "ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ฯลฯ ซึ่งอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่" ผู้ใดฝ่าฝืน ย่อมมีโทษทางอาญา ตาม มาตรา 72 "(1) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี"

 

โดย: ไร้นาม 26 สิงหาคม 2550 11:12:25 น.  

 

คดียาเสพติด ติดคุก กี่ปี

 

โดย: แอนนา IP: 202.29.62.202 25 กันยายน 2550 16:06:43 น.  

 

คืออยากจะถามว่า ความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียงอ่ะค่ะ ดูหมิ่นมาตรา 393 ถ้าเป็นการโทรศัพท์ด่ากัน เเล้วก็เป็นการChatด่ากันจะเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าได้มั้ยค่ะ



อีกอันคือ ความผิดฐานเปิดเผยความลับอ่ะค่ะ ถ้าเป็นข้อมูลในอินเตอร์เนต เช่น อีเมล์ จะเป็นความผิดฐานนี้มั้ยค่ะ เเล้วข้อมูลในอินเตอร์เนตจะถือเป็นเอกสาร รึเปล่าค่ะ

เปิดอินเตอร์เนต (อีเมล)ของผุ้อื่นจะเป็นการเปิดผนึกรึเปล่าค่ะ ชวยตอบหน่อยนะค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

 

โดย: เดโอกราเชียส IP: 58.136.3.249 3 ตุลาคม 2550 17:16:14 น.  

 

นายไก่จอดรถติดไฟแดงอยู่นายหมูขับมาจอดต่อท้ายเมื่อสัญญานไฟเขียวแดงไม่ไดออกรถทันที่เนื่องจากมัวก้มหาของอยู่นายหมูบีบแตรไส่หลายครั้งทำให้นายไก่โกรธเมื่อขับรถออกกันไปนายหมูขับแซงรถนายไก่ไปนายไก่จึงเร่งเครื่องขับแซงและปาดหน้าอย่างกระชั้นชิดทำให้นายหมูตกใจต้องแบรกรถกระทันหันโดยรถไม่ได้ชนกันนายหมูต้องจอดเนื่องจากตกใจจนไม่สามารถขับรถต่อไปได้ นายไก่มีความผิดตามกฎหมายอาญาหรือไม่อย่างไร

 

โดย: รัก IP: 125.25.171.175 9 พฤศจิกายน 2550 15:06:58 น.  

 

ตอบคุณ :รัก IP
นายไก่มีความผิดตาม มาตรา 390 ผู้ใดกระทำการโดยประมาท
และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามข้อเท็จจริง การที่นายไก่ขับรถปาดหน้าจนเป็นเหตุให้นายหมูตกใจ และนายไก่ได้กระทำโดยเจตนา มาตรา 59

ไม่มั่นใจนะครับ เพราะยังไม่ได้เรียน
อ่านมาก่อนเฉยๆ แนะนำด้วยครับ

 

โดย: ปาร์ค นิติศาสตร์ ปี 1/1 IP: 58.137.131.2 27 พฤศจิกายน 2550 14:20:02 น.  

 

รบกวนถามนะครับ
มีคนดูแลอาคารเมาส่งเสียงเอะอะรบกวนในเวลาค่ำคืนต่อเนื่อง (อาทิตย์ละหลายๆ วัน/น่าเศร้าที่เป็นซะเอง) ในสวนหย่อมของคอนโดมิเนียม แจ้งความให้เจ้าหน้าที่มาจับกุมได้หรือไม่ครับ และมีโทษอย่างไรครับ? ขอบคุณครับ

 

โดย: เคิร์ท IP: 210.86.207.186 29 พฤศจิกายน 2550 10:31:47 น.  

 

 

โดย: นินจา IP: 203.172.243.130 7 ธันวาคม 2550 14:58:19 น.  

 

สวัสดี ครับ
ผมมีเรื่องที่จะรบกวนถาม เกี่ยวกับคดีความหน่อยน่ะครับ
เรื่องมีว่า พ่อของผมขับรถบรรทุก 6 ล้อไปส่งสิ้นค้า ประเภท กระเบื้องปูพื้น อำเภอ เชียงของ จังหวัดเชียงราย แต่ขณะในเดินทางขึ้นไปส่งสิ้นค้า ทางเป็นลักษณะเป็นเขาและมีหมอกลงจัด ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถพลิ๊กคว่ำ เป็นเหตุให้แม่ซึ่งโดยสารมาด้วย เสียชีวิต เหตุการณืลักษณะนี้ พ่อ จะมีความผิดหรือโทษอย่างไร ครับ
แต่พอได้ยินมาคดีลักษณะนี้ แค่ลงอาญาจริงหรือเปล่า และตอนนี้ทางตำรวจนัดให้ไปพบอัยการและบอกว่าต้องจ่ายเงินให้อัยการด้วย ถ้าจ่ายแล้วจะเป็นอย่างไร ไม่จ่ายมีผลเสียต่อเราไหม

ขอความกรูณาช่วยตอบ ด้วยเพราะ ต้องไปพบอัยการในวันที่ 22 หรือ23 นี้แล้ว

 

โดย: Wut IP: 202.149.24.129 12 มกราคม 2551 15:03:37 น.  

 

ตามคำถาม นายเอและนายบี
นายบีทราบดีอยู่แล้วว่านายเอเป็นโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย การที่นายบีเห็นนายเอและนึกสนุกจะหยอกล้อนายเอ โดยวิญญูชนควรทราบว่าเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ แต่เจตนาของนายบี ไม่ได้ต้องการฆ่าและไม่ได้ต้องการทำร้าย เป็นแต่เพียงเจตนาหยอกล้อ แต่ผลของการหยอกล้อนั้น ทำให้นายเอ ถึงแก่ความตาย นายบีจึงไม่มีเจตนาฆ่านายเอ ดังนั้นนายบีจึงมีความผิดฐาน ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ส่วนมาตรา นั้นเปิด ป.อาญาเทียบเคียงได้ ซึ่งบางคนอาจมองว่า ผิด ม. 290 แต่ดูเจตนาแล้วอาจคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะ กฎหมายอาญานั้นต้องตีความโดยเคร่งครัด จะอนุมานไม่ได้

 

โดย: ไกลปืนเที่ยง IP: 125.26.111.159 5 กุมภาพันธ์ 2551 21:50:58 น.  

 

จะตอบคำถามให้นะค่ะ

ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ

ตอบคำถามจากIML

เป็นความผิดฐานลักขโมยค่ะ

แต่ก้อเป็ฯได้อีกสถาณการณ์หนึ่งคือการยักยอกค่ะ

 

โดย: M I N D IP: 58.9.21.51 11 กุมภาพันธ์ 2551 18:53:42 น.  

 

ขอบคุนสำหรับควาทมรู้

 

โดย: บูม IP: 118.174.130.10 24 เมษายน 2551 11:44:23 น.  

 

ขอบคุณทุกท่านที่มาเยือนนะคะ

ขอบคุณปาร์คปี 1, คุณไกลปืนเที่ยง และคุณ Mind
ที่มาช่วยตอบนะคะ

 

โดย: ไร้นาม 5 พฤษภาคม 2551 2:03:57 น.  

 

เป็นข้อมูลที่ดีมาก ยอมทุกสิ่งยอมทุกอย่างให้กับเธอ แม้จะห่างจะได้เจอ.......... อย่ากอ่านอีกเยอะ นะ

 

โดย: ปัก โปเตโต้ IP: 118.173.163.154 24 พฤษภาคม 2551 17:08:37 น.  

 

ดืมากเลยจ้า

 

โดย: เเรดัค IP: 117.47.88.77 26 พฤษภาคม 2551 17:51:15 น.  

 

ขอความรู้เพิ่มเติมค่ะ..อยากทราบว่าสามารถนำรถยนต์ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันคดีอาญาได้หรือไม่...ใครรู้บ้างช่วยตอบที หรือต้องไปหาข้อมูลที่ไหน..ขอความกรุณาหน่อยค่ะ

 

โดย: น้ำทิพย์ IP: 203.121.146.203 28 พฤษภาคม 2551 11:11:25 น.  

 

ผมขอเรียนถามว่าตำรวจกับเจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์เข้ามาจับในร้านเกมส์โดยไม่ถูกต้อง ไม่มีหมายค้น ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้กอ่น มอบอำนาจขาดชั่วง ตำรวจมีอาวุธปืนติดตัวมาด้วย แล้วบอกว่าต้องเเครียร์ในจำนวนห้าหมื่อนบาท แล้วยกเครื่องคอมพิวเตอร์ไปที่โรงพัก เราจะดำเนินคดีใดกับผู้จับกุมในข้อหาใดได้บ้าง ขอขอบคุณมากครับ

 

โดย: เบริด...ผู้อยากรู้ IP: 124.121.208.185 6 สิงหาคม 2551 15:15:04 น.  

 

ใกล้สอบแล้วปัญหาข้อสอบ(เกร็ง)มักมีให้ถาม ดูปัญหาต่อไปนี้ให้ด้วยครับ..คารวะรุ่นพี่.."คำถาม" ก.ตั้งใจไปฆ่า ข.แม่ของ ข.รู้ก่อนแต่บอกให้หนีไม่ทันเลยให้ลูกตนเองนอนทำทีเป็นว่าตายพร้อมเอาผ้าห่มคลุมไว้ เมื่อนาย ก.มาถึงบ้านนาย ข. แม่นาย ข.จึงบอกแก่นาย ก.ว่า ข.ตายแล้วอย่ายิงเลยพร้อมชี้ไปที่ร่าง ข. ส่วน นาย ก.ทราบดังนั้นจึงกล่าวว่า"ไหน ๆก็มาแล้ว"จึงใช้ปืนที่เตรียมมายิงไปที่ ข.ปรากฏ นาย ข.ตายจริงๆเลยครานี้. เออเนี่ยปัญหาตุ๊กตาเงี้ย...อยากทราบว่า ก.จะต้องรับผิดฐานใดหรือไม่ กฏหมายอาญาเป็นแบบฟันธงเสียด้วย และให้ต้องตอบอิง 206 ด้วยใครทราบช่วยให้คำแนะนำด้วย..ไม่อยากติดเอฟน่ะ.ขอบคุณล่วงหน้าครับ.

 

โดย: Fresh_LL.B. IP: 58.8.155.78 11 กันยายน 2551 1:13:13 น.  

 

คำถามขโมยทองคำเอาเงินประกันตัวจากสารแล้วหนีกี่ปีถึงหมดคดี
ศาลไม่ยุติธรรม

 

โดย: จตูพล IP: 124.121.183.140 12 กันยายน 2551 10:55:42 น.  

 

.คร่ถาม"ไกลปืนเที่ยง"เรื่อง "นายเอและนายบี"ที่ว่า นายบีผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาแต่ตอนท้ายสรุปว่า "ส่วนมาตรานั้น นั้นเปิด ป.อาญาเทียบเคียงได้ ซึ่งบางคนอาจมองว่า ผิด ม. 290 แต่ดูเจตนาแล้วอาจคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะ กฎหมายอาญานั้นต้องตีความโดยเคร่งครัด จะอนุมานไม่ได้ "นั้นอ่านแล้วเป็นงงช่วยกรุณาขยายความหน่อยครับ.

 

โดย: Fresh_LL.B. IP: 58.8.161.207 12 กันยายน 2551 23:48:30 น.  

 

เจ๋งเจงๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ขอบคุณหลายๆ

 

โดย: คนเกือบโง่ IP: 115.67.8.91 24 ตุลาคม 2551 13:56:37 น.  

 

ตอบคำถามผู้ร่วมเดินทางหมายเลข42คับ

การกระทำโดยเจตนานั้น ผู้กระทำจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดนั้นๆ เมื่อตามข้อเท็จจริง คนยิงมันคิดว่ามันยิงศพ จึงถือว่าไม่รู้ข้อเท็จจริงขององค์ประกอบภายนอกซึ่งก็คือผู้อื่น จึงถือว่าคนยิงเจตนาไม่ได้(59วรรค3) แต่ก็ต้องมาพิจารณาในโจทย์คำถามต่อไปว่ามันประมาทหรือไม่ ถ้ามันประมาทก็ต้องรับผิด ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ซึ่งตาม มาตรา 62วรรค2คือการไม่รู้ข้อเท็จจริง(59ว3)หรือการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง(62ว1)ถ้าเป็นไปโดยประมาทก็ต้องรับผิดถ้ามีกม.บัญญัติให้ต้องรับผิด ดังนั้นถ้าคนยิงมันประมาทแล้วก็ต้องรับผิด ตาม ปอ.มาตรา 59 วรรค 3 +62 วรรค 2 + 291ฐานความผิด

ปล.ไม่รู้ถูกรึป่าวนะคับลองไปค้นคว้าดูอีกครั้งนะ

 

โดย: gardenlaw IP: 118.173.3.245 6 มกราคม 2552 17:44:31 น.  

 

ขออนุญาตตอบท่านความเห็นที่ ๔๒

ก. เข้าใจว่า ข. เสียชีวิตจึงใช้ปืนยิงไปที่ร่างของ ข. ที่แกล้งตาย ทำให้ ข. ตายจริง

กรณีความผิดฐานฆ่าคนตายต้องมีองค์ประกอบของความผิดคือ

๑) ฆ่าคนตาย

๒) ผู้อื่น*

โดยที่ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาต้องมีบุคคลมารองรับการกระทำ แต่ ก. สำคัญข้อเท็จจริงว่า ข. ตาย ซึ่งถือว่า ก. ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้

ดังนั้น ก. จึงไม่มีเจตนาฆ่า ข.

ก.จึงไม่มีความผิด

 

โดย: เดิมคือผูแสวงหา IP: 58.10.99.180 10 มกราคม 2552 10:17:16 น.  

 

ขั้นเทพเลยครับ ^_^^_^





 

โดย: เนโอริว IP: 118.173.132.172 2 มีนาคม 2552 12:26:42 น.  

 

เพื่อนเปนหนี้แล้วขโมยของมาจำนำแทนเงินที่ยืมไปแล้วจะหาเงินมาคืนให้ภายหลังคนรับจะมีความผิดหรือไม่

 

โดย: สน IP: 61.7.141.29 3 มีนาคม 2552 0:23:31 น.  

 

อยากทราบว่า ถ้าเรากำลังกลับรถแล้วมีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วสูง คนขับเมา ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ รถไม่มีทะเบียน ไม่มีพรบ. ชนเราและทำให้เขาเสียชีวิต เราจะมีความผิดหรือไม่อย่างไร

 

โดย: ทับทิม IP: 114.128.103.224 26 เมษายน 2552 11:20:27 น.  

 

รบกวนถามหน่อยค่ะ คดีลักทรัพย์ค่ะ มีอายุความกี่ปีค่ะ เจ้าทุกข์จะให้เราจ่ายค่าปรับ 100 เท่าของราคาของ ถ้าเราไม่จ่ายเค้าจะแจ้งความดำเนินคดีกะเรา เรามีหนทางที่จะไม่โดนดำเนินคดีบ้างมั้ยค่ะ



ขอบคุณค่ะ ช่วยตอบหน่อยค่ะพอดีเพื่อนโดนมาค่ะเลยอยากช่วย

 

โดย: 123 IP: 124.121.225.30 6 พฤษภาคม 2552 7:08:31 น.  

 

อยากทราบว่าการพูดจารวนลามทางเเพศมีความผิดไม่ค่ะ

 

โดย: เสาวลักาณ์ IP: 124.120.134.155 30 พฤษภาคม 2552 9:06:38 น.  

 

มีความผิดแน่นอนคับ ฐานอนาจารคับ

 

โดย: นักศึกษา IP: 58.10.6.53 25 สิงหาคม 2552 13:24:02 น.  

 

ตอบความเห็น 49 คับ

มีความผิดคับ ฐานรับของโจร

 

โดย: นักศึกษา IP: 58.10.6.53 25 สิงหาคม 2552 13:28:33 น.  

 

ตอบ ลำดับที่51

อายุความ 5ปี

คดีนี้ต้องรอการลงโทษในชั้นศาล
ถ้าไม่เคยจำคุกมาก่อน ทางศาลจะดูประวัติ
ก็อาจจะรอการลงโทษไว้ ที่เขาเรียกว่ารอลงอาญา

 

โดย: นักศึกษา IP: 58.10.6.53 25 สิงหาคม 2552 13:34:19 น.  

 

ผมต้องการทราบคดีเกียวกับการทำรายทรัพย์สินของผู้อื่น

 

โดย: kanok IP: 111.84.65.11 8 มีนาคม 2553 22:58:05 น.  

 

ผมคิดว่าคุณคงจะหมายความถึงความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นแน่ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาที่จะทำให้ทรัพย์ผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเสียหาย ไร้ประโยชน์ เสื่อมค่า หากเป็นการกระทำโดยไม่มีเจตนา ก็จะไม่เป็นความผิดทางอาญา แต่ก็จะไปผิฐานทำละเมิดตามกฎหมายเเพ่ง เพราะความผิดฐานทำละเมิดกฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องมีเจตนา การประมาททำให้ทรัพย์คนอื่นเสียหาย ก็ต้องรับผิดฐานทำละเมิด

 

โดย: ส.1032 IP: 125.27.13.36 12 มีนาคม 2553 12:53:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ไร้นาม
Location :
ปทุมธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]





"อ่านคนอ่านที่ความคิด
หาใช่ชื่อเสียงเรียงนาม"
Friends' blogs
[Add ไร้นาม's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.