จินตนาการจากความว่างเปล่า
Imagination from the emptiness
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2548
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
4 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 
กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 - ลักษณะ 1 อุทธรณ์

ภาค 4: อุทธรณ์และฏีกา

ลักษณะ 1. อุทธรณ์

หมวด 1. หลักทั่วไป

สิทธิในการอุทธรณ์และลักษณะของอุทธรณ์

มาตรา 193*: คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์โดยประมวลกฏหมายนี้ หรือกฏหมายอื่น
อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฏหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ

คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา 193 ทวิ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฏหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแต่ศาลรอการลงโทษไว้
3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือ
4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินกว่าหนึ่งพันบาท

มาตรา 193 ตรี ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 193 ทวิ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควร สู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์ จะได้วินิจฉันก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป

Note:

ข้อยกเว้นที่อุทธรณ์ไม่ได้
- กฏหมายบัญญัติห้าม
- กฏหมายบัญญัติให้เป็นที่สุด หรือเด็ดขาด
- กฏหมายประสงค์ให้ทำตามขั้นตอนจะข้ามขั้นตอนไม่ได้
- กฏหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาโดยตรง
- มิได้เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ปัญหาข้อกฏหมาย
- การตีความกฏหมาย, คำพิพากษา, นิติกรรมสัญญา หรือคำคู่ความ
- ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติแล้ว

ปัญหาข้อเท็จจริง
- ดุลพินิจของศาล
- ข้อที่ต้องอาศัยการสืบพยานประกอบ
- การโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฏหมาย


มาตรา 194: ถ้ามีอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อกฏหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฏหมายนั้นๆ ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน

มาตรา 195: ข้อกฏหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น
ข้อกฏหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรอที่เกี่ยวกับการไม่ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฏหมายนี้ อันว่าด้วยอุทธรณเหล่านี้ ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม

คำสั่งระหว่างการพิจารณา

มาตรา 196*: คำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้น จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย

มาตรา 197: เหตุที่มีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งฉบับหนึ่งแล้ว หาเป็นผลตัดสิทธิ์ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิอุทธรณ์จะอุทธรณ์ด้วยไม่

การยื่นอุทธรณ์

มาตรา 198: การยื่นอุทธรณ์ ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
ให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฏหมายนี้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน

มาตรา 198 ทวิ เมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ คำร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่ง แล้วให้ศาลนั้นรีบส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์พร้อมด้วยอุปกรณ์และคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้น
เมื่อศาลเห็นสมควรตรวจสำนวนเพื่อสั่งคำร้องเรื่องนั้น ก็ให้ศาลชั้นต้นมาให้
ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องนั้น แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น หรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุด แล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน

มาตรา 199: ผู้อุทธรณ์ซึ่งต้องขังหรือต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ อาจยื่นอุทธรณ์ต่อพัศดีภายในกำหนดอายุอุทธรณ์เมื่อได้รับอุทธรณ์นั้นแล้ว ให้พัศดีออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นอุทธรณ์แล้วให้รีบส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลชั้นต้น
อุทธรณ์ฉบับใดที่ยื่นฟ้องต่อพัศดีส่งไปถึงศาลเมื่อพ้นกำหนดอายุอุทธรณ์แล้ว ถ้าหากปรากฏว่าการส่งชักช้านั้นมิใช่เป็นความผิดของผู้ยื่นอุทธรณ์ ให้ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ได้ยื่นภายในกำหนดอายุอุทธรณ์

มาตรา 200: ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์

มาตรา 201: เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะหาตัวไม่พบหรือหลบหนีหรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้วหรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้วให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป

มาตรา 202*: ผู้อุทธรณ์มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นก่อนส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาติได้เมื่อส่งสำนวนไปแล้วให้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ หรือต่อศาลชั้นต้นเพื่อส่งไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อสั่ง ทั้งนี้ต้องก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
เมื่อถอนไปแล้ว ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอนถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์จะเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการแก้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น

หมวด 2. การพิจารณา คำพิพากษา และคำสั่งชั้นศาลอุทธรณ์

มาตรา 203: ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาโดยเปิดเผยเฉพาะแต่ในกรณีที่นัดหรืออนุญาตให้คู่ความมาพร้อมกัน หรือมีการสืบพยาน

มาตรา 204: เมื่อจะพิจารณาในศาลโดยเปิดเผย ให้ศาลอุทธรณ์ออกหมายนัดกำหนดวันพิจารณาไปยังคู่ความให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าห้าวัน
การฟังคำแถลงการณ์นั้นห้ามมิให้กำหนดช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันรับสำนวน ถ้ามีเหตุพิเศษจะช้ากว่านั้นก็ได้แต่อย่าให้เกินสองเดือน เหตุที่ต้องช้าให้ศาลรายงานไว้

มาตรา 205: คำร้องขอแถลงการณ์ด้วยปากให้ติดมากับฟ้องอุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์
คำแถลงการณ์เป็นหนังสือให้ยื่นก่อนวันศาลอุทธรณ์พิพากษา
คำแถลงการณ์ด้วยปากหรือหนังสือก็ตาม มิให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ ให้นับว่าเป็นแต่คำอธิบายข้ออุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ เท่านั้น
คำแถลงการณ์เป็นหนังสือจะยื่นต่อศาลชั้นต้นหรือต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้

มาตรา 206: ระเบียบแถลงการณ์ด้วยปากมีดั่งนี้
1) ถ้าคู่ความฝ่ายใดขอแถลงการณ์ ให้ฝ่ายนั้นแถลงก่อน
แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วฝ่ายแถลงก่อนแถลงแก้ได้อีก
2) ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขอแถลงการณ์ ให้ผู้อุทธรณ์แถลง ก่อนแล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วให้ผู้อุทธรณ์แถลงแก้ได้อีก
3) ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขอแถลงการณ์และเป็นผู้อุทธรณ์ทั้งคู่ ให้โจทก์แถลงก่อน แล้วให้จำเลยแถลง เสร็จแล้วโจทก์แถลงแก้ได้อีก

มาตรา 207: เมื่อมีอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกหรือจับจำเลย ซึ่งศาลนั้นปล่อยตัวไปแล้ว
มาขังหรือปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ก็ได้ หรือถ้าจำเลยถูกขังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ จะสั่งให้ศาลชั้นต้นปล่อยจำเลยหรือปล่อยชั่วคราวก็ได้

มาตรา 208: ในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ตามหมวดนี้
1) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรสืบพยานเพิ่มเติม ให้มีอำนาจเรียกพยานสืบเอง หรือสั่งศาลชั้นต้นสืบให้ เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานแล้ว ให้ส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
2) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็น เนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ก็ให้พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี

มาตรา 208 ทวิ ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใด ในคดีเรื่องใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้
ที่ประชุมใหญ่ให้ประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้พิพากษาแห่งศาลนั้น และให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นประธาน
การวินิจฉัยในที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาก ยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า
ในคดีซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยปัญหาแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ และต้องระบุไว้ด้วยว่าปัญหาข้อใดได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ผู้พิพากษาที่เข้าประชุมแม้มิใช้เป็นผู้นั่งพิจารณา ก็ให้มีอำนาจพิพากษาทำคำสั่ง หรือทำความเห็นแย้งในคดีนั้นได้

มาตรา 209: ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยมิชักช้า และจะอ่านคำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ หรือส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้

มาตรา 210: เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องอุทธรณ์มิได้ยื่นในกำหนด ให้พิพากษายกฟ้องอุทธรณ์นั้นเสีย

มาตรา 211: เมื่อมีอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาในประเด็นสำคัญ และคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาด้วย ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาโดย
คำพิพากษาอันเดียวกันก็ได้

ห้ามใช้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย

มาตรา 212*: คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้
อุทธรณ์ในทำนองนั้น

Note:
1) กรณ๊ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มโทษจำเลย
- ชั้นต้นกักขัง 5 วัน, อุทธรณ์จำคุก 5 วันแต่รอการลงโทษ
- ชั้นต้นจำคุก, อุทธรณ์จำคุกและปรับแต่รอการลงโทษ
- ชั้นต้นไม่มีคำสั่งเรื่องของกลาง, อุทธรณ์วินิจฉันเรื่องของกลางได้
- ชั้นต้นปรับ, อุทธรณ์จำคุกแต่รอการลงโทษ
- อุทธรณ์ปรับบทกฏหมายให้ถูกต้อง
- ศาลสูงมีอำนาจกำหนดโทษในความผิดกระทงเบาที่ยุติแล้วได้
- ชั้นต้นเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง, อุทธรณ์ไม่เปลี่ยนแต่รอการลงโทษ
- ชั้นต้นมีเหตุบรรเทาโทษ, อุทธรณ์ไม่มีเหตุบรรเทาโทษแต่ยังคงลงโทษเท่าเดิม

2) กรณีที่ถือว่าเป็นการเพิ่มโทษจำเลย
- ชั้นต้นปรับ, อุทธรณ์ปรับและจำคุก แต่ยกโทษจำคุก
- ชั้นต้นทำผิดกระบวนการพิจารณาคือลงโทษจำเลยต่ำกว่าระวางโทษขั้นต่ำ, อุทธรณ์แก้ให้ถูกต้องโดยการเพิ่มโทษ
- ชั้นต้นปรับ, อุทธรณ์จำคุกและปรับ แต่รอการลงโทษ
- หากจะกักขังแทนค่าปรับ 1 ปีต้องมีคำสั่งในคำพิพากษา, อุทธรณ์กักขังสองปี
- ชั้นต้นมิได้บวกโทษ, อุทธรณ์บวกโทษ
- จำเลยอุทธรณ์: ศาลอุทธรณ์จะเพิ่มโทษไม่ได้ (เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น)


เหตุในลักษณะคดี

มาตรา 213*: ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน
ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลย แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ให้มิต้องถูกรับโทษ หรือได้ลดโทษดุจำเลยผู้อุทธรณ์

Note:
- ใช้ในกรณีโจทก์เป็นผู้อุทธรณ์ด้วย
- ใช้กรณีที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยเป็นคุณแก่จำเลยผู้อุทธรณ์ แต่วินิจฉัยเป็นคุณแก่จำเลยที่มิได้อุทธรณ์ได้
- กรณีศาลสั่งแยกฟ้องเป็นคดีใหม่ จะยกเอาเหตุในลักษณะคดีให้มีผลไปถึงคดีเดิมมิได้, กรณีโจทก์แยกฟ้องมาแล้วศาลสั่งรวม ศาลยกเอาเหตุในลักษณะคดีให้มีผลไปถึงจำเลยสำนวนที่มิได้อุทธรณ์ด้วยได้
- ถ้าเป็นเหตุส่วนตัว จะยกเอาเหตุส่วนตัวให้มีผลไปถึงจำเลยอื่นมิได้


มาตรา 214: นอกจากมีข้อความซึ่งต้องมีในคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องปรากฏข้อความดั่งต่อไปนี้ด้วย
1) นามหรือตำแหน่งของผู้อุทธรณ์
2) ข้อความว่า ยืน ยก แก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น

มาตรา 215: นอกจากที่บัญญัติมาแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น มาบังคับในชั้นศาลอุทธรณ์ด้วยโดยอนุโลม


Create Date : 04 ตุลาคม 2548
Last Update : 4 ตุลาคม 2548 23:40:19 น. 5 comments
Counter : 3774 Pageviews.

 
^ข้างบนจะเขียนเพิ่มเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจถ้ามาแล้วเห็นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมานะคะ


โดย: ตัวปลอม IP: 61.90.20.177 วันที่: 5 ตุลาคม 2548 เวลา:1:11:16 น.  

 
--- คุณ ตัวปลอม ---

ดีใจจัง มีคนมาช่วยแปะให้ ลืมไปเลย =~^_^~=


โดย: ไร้นาม วันที่: 5 ตุลาคม 2548 เวลา:19:32:42 น.  

 
ขยันจังเลยค่ะ ..


โดย: JANii ~~ วันที่: 8 ตุลาคม 2548 เวลา:0:24:37 น.  

 
--- คุณ JANii ~~ ---
ขอบคุณค่ะ


โดย: ไร้นาม วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:13:47:09 น.  

 
เนื้อหาแน่นดี


โดย: หวาน IP: 203.172.213.33 วันที่: 4 มกราคม 2550 เวลา:14:54:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ไร้นาม
Location :
ปทุมธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]





"อ่านคนอ่านที่ความคิด
หาใช่ชื่อเสียงเรียงนาม"
Friends' blogs
[Add ไร้นาม's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.