การทำกรรม
    การทำกรรม พฤติกรรม นิสัย จริตของเราย่อมเกี่ยวเนื่องตนและผู้อื่น บางครั้งเราทำกรรมกับตนเองก็มี และทำกรรมกับคนอื่นก็มี บางครั้งเราคิดว่าเป็นกรรมที่เนื่องจากคนอื่นทำหรือเจ้ากรรมนายเวรทำ แต่แท้ที่จริงแล้ว ตนเองเป็นคนก่อกรรมให้ตนเองได้รับวิบากกรรมเอง ตนเองเป็นต้นเหตุ หรือบางเหตุการณ์เราคิดว่าเป็นเคราะห์กรรม แต่เคราะห์กรรมนั้นเราได้ทำขึ้นมาด้วยตนเอง ในการทำกรรมนั้นมีด้วยกันหลักใหญ่ๆ ๒ อย่างคือ กรรมที่ทำกับตนเอง กับกรรมที่ทำกับคนอื่น

    ๑. กรรมที่ทำกับตนเอง คือ บางครั้งเราได้ทำดีและชั่วให้กับตนเองโดยที่เราไม่รู้ตัวก็มี หรือรู้แล้วยังขืนทำก็มี หรือบางคนก็สร้างเคราะห์กรรมให้กับตนเอง บางคนชอบคิดว่าเป็นเพราะเคราะห์กรรม แต่จริงๆ แล้วตนเองสร้างเคราะห์กรรมให้กลับตนเอง

    ๒. กรรมที่ทำกับคนอื่น คือ เราทำกรรมกับคนอื่น  บุคคล สังคม ประเทศชาติ จนไปถึงระดับโลก ซึ่งบางครั้งเราทำกรรมนิดเดียวแต่ส่งผลไปถึงระดับชาติก็มี 

    การทำกรรมกับตนเองและผู้อื่นซึ่งแบ่งการกระทำออกเป็น ๓ อย่าง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ดังนี้

        ๑.๑ กายกรรม คือ การทำกรรมทางกาย การกระทำทางกาย ทางรูป พฤติกรรม นิสัย ซึ่งเราสามารถมองเห็นได้จากการแสดงออก

            ๑.๑.๑ กายสุจริต คือ การทำกรรมกับตนเองที่ดี เช่น ตักน้ำให้เพื่อนกิน ไหว้ผู้ใหญ่ มีสัมมาคารวะ ตัวอย่าง ผู้ใหญ่เห็นเด็กคนนี้แล้วเกิดความรัก ชอบขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะว่า เด็กคนนี้มีกิริยาน่ารัก เอาอกเอาใจผู้ใหญ่ ฯลฯ จึงทำให้ผู้ใหญ่รักและเมตตาต่อเด็กนี้

            การทำดีกับคนอื่น ต้องตั้งฐานจิตปรารถนาดีกับคนอื่น มีมุฑิตาจิต เช่น ทำบุญตักบาตร ช่วยเหลือคนอื่น คนอื่นวานช่วยหยิบของให้ เป็นต้น

            ๑.๑.๒ กายทุจริต คือ การทำกรรมให้กับตนเองในทางที่ไม่ดี เช่น กินเหล้า ดูดบุหรี่ ขี่รถล้ม เดินหกล้ม 

    ตัวอย่าง เราเป็นมะเร็งในปอด เราก็มัวแต่โทษว่าเป็นเพราะกรรมเก่า อดีตชาติเราคงทำกรรมที่ไม่ดีไว้เลยส่งผลให้เราต้องเป็นมะเร็งในปอด แต่จริงๆ แล้ว หลักใหญ่ๆ เลย เป็นเพราะในปัจจุบันนี้เองที่เราสูบบุหรี่มานาน กรรมจึงสะสม เมื่อถึงจุดแห่งความพร้อม กรรมก็แสดงออกมาเป็นป่วยมะเร็งปอด เป็นต้น

    ตัวอย่าง ป่วยเป็นมะเร็งในลำใส้ คือ เป็นเพราะพฤติกรรมของเราเอง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมนิสัยการกินของเรา ขับถ่ายไม่เป็นเวลา และเก็บมักหมอมของเสียไว้ในท้องนานไม่ยอมขับถ่าย เมื่อสะสมนานๆ กลายเป็นอาจิณกรรม คือ กรรมเคยชิน เมื่อมีเหตุพร้อม ผลก็พร้อม จึงทำให้เกิดการเจ็บป่วยเป็นมะเร็งในลำใส้ได้ เป็นต้น

    การทำกรรมทางกายที่ไม่ดีกับคนอื่น เช่น ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนคนอื่น  ตีเขา รังแกเขาด้วยโทสะจริต วางแผนเขาให้เกิดเภทภัย ขโมยสิ่งของ กิริยาอาการที่แสดงถึงจัดเข้าในการลักขโมยมีดังนี้

            ๑.ลัก คือ หยิบเอาสิ่งของของผู้อื่นไม่ได้อนุญาตบอกกล่าวทางเจ้าของ

            ๒.ฉก คือ การชิงเอาทรัพย์สิ่งของซึ่งๆ หน้า ใช้กำลัง หรือกลวิธีต่างๆ ให้ได้สิ่งของมาจากคนอื่น

            ๓.กรรโชก คือ การขู่เอาทรัพย์สิ่งของ ขู่บังคับ บีบคั้น

            ๔.ปล้น คือ การรวมกำลังกันแย่งเอาทรัพย์สิ่งของ

            ๕. ตู่ คือ การเถียงเพื่อเอาทรัพย์สิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตน สร้างเหตุที่เข้าใจผิดว่าเป็นของตนเอง

            ๖. ฉ้อ หลอก ลวง คือ การโกงเอาทรัพย์สิ่งของ วางแผนฉ้อโกง หลอกลวงว่าเป็นของเรา หลอก คือ การทำให้เขาหลงเชื่อ แล้วให้ทรัพย์สิ่งของแก่ตน       
     
            ๗. ลวง คือ การเบี่ยงบ่ายลวงตาเพื่อหลอกผู้อื่น

            ๘. ปลอม คือ การทำทรัพย์สิ่งของเลียนแบบของจริง

            ๙. ตระบัด คือ การปฏิเสธการให้ทรัพย์สิ่งของที่เป็นของผู้อื่น

            ๑๐. เบียดบัง คือ การซุกซ่อนเอาทรัพย์สิ่งของบางส่วนมาเป็นของตน

            ๑๑. สับเปลี่ยน คือ เอาจากสิ่งดีมาเป็นของตน เอาสิ่งที่ไม่ดีไปให้คนอื่น 

            ๑๒. ลักลอบ คือ การนำทรัพย์สิ่งของที่หนีภาษี เข้ามาในประเทศ โดยผิดกฎหมาย    

            ๑๓. ยักยอก คือ การเบียดบังเอาทรัพย์สิ่งของที่อยู่ในหน้าที่ดูแลมาเป็นของตนโดยมิชอบ ล่วงล้ำสิทธิ์

        ๑.๒ วจีกรรม คือ การทำกรรมทางวาจา การทำกรรมด้วยคำพูด

            ๑.๒.๑ วจีสุจริต คือ การทำกรรมดีทางวาจา การพูดที่ดี วาจาชอบ เช่น สัจจะวาจา ทำอย่างที่พูดไว้ได้ ชมคนเป็น พูดหวาน ปิยะวาจา พูดถูกกาลเทศะ พูดมีเนื้อหาสาระ พูดจาน่าฟัง พูดแล้วให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เป็นต้น ตัวอย่าง เราให้สัจจะกับเขาไว้ว่าไปจะรับเขาเวลา ๘ โมงเช้า เราก็ไปตามที่นัดหมาย ครั้งต่อไปเมื่อเขาพูดอะไรเราก็เชื่อถือแล้วเข้าใจว่าเขาสามารถทำได้จริงๆ เพราะเมื่อครั้งที่แล้วเขาทำได้ สิ่งเหล่านี้ยอมเพิ่มบารมีทางสัจจะวาจาแก่เรา เป็นต้น พูดอะไรเขาก็เชื่อฟังเรา

            การกระทำด้วยวาจา กับบุคคลอื่นที่ดี คือ พูดจาไพเราะ ปิยะวาจา ลักษณะการพูดที่ดี มี ๕ อย่างคือ

                ๑) มีถ้อยคำดี คือ การพูดที่ใช้ถ้อยคำดีช่วยทำให้ผู้ฟังชื่นใจ ประกอบด้วย มีความไพเราะ พูดจาสุภาพอ่อนหวาน มีหางเสียง ไม่กระโชกโฮกฮาก และไม่ขู่ตะคอก เป็นความจริงของเรื่องที่จริง สิ่งที่พูดออกไปต้องไตร่ตรองแล้วว่าเป็นความจริงจึงพูดออกไป มีประโยชน์ แม้สิ่งที่พูดเป็นความจริง  แต่ต้องพิจารณาว่าความจริงนั้นเมื่อพูดไปแล้วมีประโยชน์ด้วยผู้ฟังพอใจ ไม่ควรพูดให้ใครต้องเสียหาย ควรพูดไปแล้วให้เกิดพันธมิตรไมตรีต่อกัน

                ๒) มีความเหมาะสม ในการพูดจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสิ่งต่อไปนี้ 
                    -เหมาะสมกับกาล ต้องรู้ว่าเวลานี้ควรพูดหรือไม่ และพูดอย่างไร
                    -เหมาะสมกับเทศะ สถานที่ใดควรพูดเรื่องอะไร เช่น ไม่ควรพูดเรื่องบันเทิงในงานศพ
                       -เหมาะสมกับบุคคล ต้องคำนึงถึงเพศ วัย สถานะ ของผู้ฟัง

                ๓) มีความมุ่งหมาย คือ การรู้ว่าพูดทำไม เพื่ออะไร จะช่วยให้การพูดได้เนื้อหาสาระไม่เสียเวลา

                ๔) มีศิลปะ เช่น การใช้สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงและสายตา  รวมทั้งใจ และมีจิตวิทยาในการพูดด้วย

            ๑.๒.๒ วจีทุจริต คือ การทำความชั่วทางวาจา คำพูด เช่น ดุ ด่า ว่า กล่าว แช่งตนเอง  และผู้อื่น เป็นต้น ย่อมทำให้บุคคลอื่นขาดความนับถือในคำพูดของเรา และไม่กล้าพูดกับเราเพราะกลัวโดนดุ ด่า ว่า กล่าว เป็นต้น นี่เป็นการทำกรรมให้กับตนเอง 

            การพูดที่ไม่ดีกับคนอื่น เช่นการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีดังนี้

                ๑) การพูดเท็จ หมายถึง เจตนาพูดให้คนอื่นฟังเข้าใจผิดจากความเป็นจริง ด้วยวิธีการดังนี้
                    ๑. ปด คือ โกหกจัง ๆ
                    ๒. ทนสาบาน คือ การที่ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด
                    ๓. ทำเล่ห์กระเท่ห์ คือ การอวดอ้างสรรพคุณเกินความจริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
                    ๔. มารยา คือ การแสร้งทำ โดยใช้เล่ห์กลเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
                    ๕. ทำเลส คือ การทำให้ผู้อื่นตีความคลาดเคลื่อนเอาเอง
                    ๖. เสริมความ คือ ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่
                    ๗. อำความ คือ ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก    

                ๒) การพูดส่อเสียด คือ การพูดให้แตกแยกกัน นำความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น นำความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ โดยให้ทั้งสองฝ่ายผิดใจกัน

                ๓) การพูดคำหยาบ คือ การพูดที่กล้าแข็ง ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนใจหรือโกรธ ด้วยวิธีการดังนี้
                    ๑. คำด่า คือ คำที่ไม่สุภาพ ที่พูดกดให้ต่ำลง
                    ๒. ประชด คือ คำที่พูดยกจนลอย
                    ๓. กระทบ คือ คำพูดเปรียบเปรยให้เจ็บใจ
                    ๔. แดกดัน คือ คำพูดกระแทกกระทั้น
                    ๕. สบถ คือ คำพูดแช่งชักหักกระดูก
                    ๖. คำหยาบโลน คือ คำพูดที่สังคมรังเกียจ
                    ๗. คำอาฆาต คือ คำพูดที่ทำให้ผู้ฟังหวาดกลัวจะถูกทำร้าย

                ๔) การพูดเพ้อเจ้อ คือ การพูดเหลวไหล ไม่มีจริง ไม่เป็นประโยชน์ หมายถึง การที่บุคคลใดพูดเหลวไหล พล่อยๆ พูดไม่ถูกกาล พูดไม่จริง พูดไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย พูดไม่มีหลักฐาน อ้างอิง พูดเรื่อยเปื่อยไม่ยอมหยุด ไม่เป็นประโยชน์ในเวลาอันไม่ควร

        ๑.๓ มโนกรรม คือ กรรมที่เกิดจากการคิด วิเคราะห์ พิจารณา จินตนาการ จินตภาพ ที่ทำกับตนเอง จิตจองเวร อาฆาต พยาบาท เป็นต้น 
        กรรมทุกอย่าง การกระทำทุกอย่างจะเกิดมาจากความคิดก่อน แล้วจึงกระทำแสดงออกทางกาย และวาจา ฉะนั้น เราต้องตั้งฐานจิตในความคิดของเราไปในทางบวก บุญ กุศล พฤติกรรมของเราจึงจะเกิดไปทางบวก บุญ กุศลตามมา

            ๑.๓.๑ มโนสุจริต คือ การคิดดี คิดชอบ คิดปรารถนาดีกับคนอื่น เช่น มุฑิตาจิต คิดว่าจะไปทำบุญตักบาตร คิดจะไปทำมาค้าขายสุจริต  คิดว่าธุรกิจของตนจะทำอย่างไรให้ขายได้ดี คิดวางแผนชีวิตของตน คิดหาทางออกให้กับตน คิดว่าจะกินกับข้าวอะไรดี เป็นต้น ยกตัวอย่าง เราเดินไปในตลาด ปลาดีดน้ำใส่ เราคิดว่าปลาดีดน้ำมนต์ เราก็ชื่นใจ แต่ถ้าเราคิดว่าปลาดีดน้ำใส่ ทำให้เราสกปรก เหม็นคาว ใจของเราก็เศร้าหมอง ฉะนั้น เราต้องคิดไปในทางดี คิดบวก จึงจะเกิดบุญกุศล

             การกระทำทางจิตใจ การคิด ต่อบุคคลอื่น ที่ดีต่อบุคคลอื่น เช่น คิดมุฑิตาจิตปรารถนาดีต่อบุคคลอื่น  คิดให้โอกาสคนอื่น คิดให้อภัย คิดไม่ถือสา เป็นต้น

            ๑.๓.๒ มโนทุจริต คือ การคิดที่ไม่ดี คิดทำร้ายตนเอง คิดมุ่งร้ายผู้อื่น เช่น คิดว่าตนเองทำไม่ได้ คิดว่าไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี คิดว่าตนเองต่ำต้อย คิดว่าตนด้อยไร้คุณค่า คือ คิดทางลบ ซึ่งการคิดเหล่านั้นเป็นการเบียดเบียนตน ไม่นำพาไปสู่ความเจริญ ยกตัวอย่าง เราจะไปทำอาชีพขายก๋วยเตี๋ยว ก็คิดว่าตนเองทำไม่ได้ ไม่มีทุน คิดแค่นี้ก็จบแล้ว เพราะว่าแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น แต่ถ้าเราคิดในทางบวก คิดดี เราก็จะคิดว่าการขายก๋วยเตี๋ยวจะต้องศึกษาสิ่งใดบ้าง และเราก็เข้าไปศึกษาเรียนรู้เลย อย่างนี้เป็นต้น (ไม่สาธุกับคนอื่นได้รับดี)

            การคิดที่ไม่ดีกับบุคคลอื่น คือ การอยากได้ของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม การมีจิตคิดปองร้าย อาฆาตพยาบาท การมีความเห็นผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เป็นต้น

^_^  ..._/_...  ^_^ 
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

 



Create Date : 22 พฤษภาคม 2562
Last Update : 16 สิงหาคม 2564 20:08:10 น.
Counter : 191 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พรหมสิทธิ์
Location :
เชียงราย  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

ศึกษาเรียนรู้ธรรมะโดยธรรม นำมาปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมะนั้น ให้คนรู้จักบริหารกรรม แก้กรรม พัฒนากรรม ให้เกิดสันติสุข
New Comments
Group Blog
พฤษภาคม 2562

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
22 พฤษภาคม 2562
All Blog