ทำดีทำยังไงถึงจะได้ดี
ทำดีทำยังไงถึงจะได้ดี

    หลายคนชอบพูดว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดี ตอนนี้รู้สึกหมดหวังและไม่มีกำลังใจทำดีต่อไปอีกแล้ว ทำแต่สิ่งดีๆ แต่ก็ไม่เห็นได้ดีเลย แต่คนที่เค้าทำเรื่องไม่ดี ทำไมเค้ากลับได้ดี  ตอนนี้มีความรู้สึกเหมือนเราโง่มาตลอด ที่เลือกทำดี ไม่ทำตามคนอื่นๆ เค้า ไม่อย่างนั้นชีวิตคงสบายไปแล้ว?

    ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำนั้น เราไม่เคยได้ตรวจสอบว่า สิ่งที่เราทำนั้นมันถูกต้องตามธรรมหรือไม่ หรือว่าเราทำสักแต่ว่ามันดี หรือถูกตามความคิดของเราเท่านั้น

    คนส่วนใหญ่บอกว่าทำดี ไม่ได้ดี เพราะคุณทำดียังไม่ถึงพร้อม แล้วจะเรียกร้องให้ถึงดีเป็นไปไม่ได้ ดูผลออกมาไม่ค่อยแฮปปี้ ไม่ปลื้ม ไม่ถูกใจ แต่เราลืมไปว่า เราทำเหตุยังไม่ถึงพร้อมต่างหาก แล้วจะให้ผลมันดีได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้เราจะต้องทำดีต้องให้ถึงพร้อม ถึงจะสัปปายะ ถึงจะเกิดอานิสงส์ที่แท้จริงได้


 
การทำดี ๕ ข้อ

    การทำความดี จะเป็นความดีที่แท้จริงได้นั้น จะต้องประกอบด้วยพฤติกรรมที่ทำดีทั้ง ๕ ข้อ ดังนี้

    ๑. ทำดียึดดี จะไม่ถึงดี จะเดือดร้อน คือ ถ้าเรายึดดีก็จะเป็นนิวรณ์ของเรา เป็นลูกตุ้มของเรา เป็นปม ร้อยไม่ผ่านรูเข็ม 

    แล้วทำไมเรายึดติดความดีไม่ได้ เพราะการยึดติดดีเป็น "อัตตา" เป็นของเรา อัตตาก็จะเพิ่มตัวตัณหา

    ๒. ทำดีเบียดเบียนจะวุ่นวาย คือ เราทำดีแล้วก่อให้คนอื่นได้รับผลกระทบด้วย เช่น เราตื่นเช้าตี ๔ ตั้งใจทำอาหารตักบาตรพระ แต่ตำน้ำพริก โคกน้ำพริกเสียงดังหนวกหูชาวบ้าน รบกวนชาวบ้านเขา พอสายๆ คนข้างบ้านก็มาต่อว่า เราก็เกิดความไม่พอใจ ไปต่อว่าด่าตอบเขาอีก เกิดความบาดหมางใจกัน

    เราทำดีเบียดเบียนเขา ก็จะต้องมีการปฏิฆะ ขัดเคืองใจ ยกตัวอย่าง ในกรุงเทพฯ ที่วัด พระท่านตีระฆังช่วงตี ๔ แต่ไม่ได้บอกชาวบ้านก่อน ก็ทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มต่อต้าน 

    ๓. ทำดีต้องรู้จักแบ่งปัน คือ ถ้าเราทำความดีแล้วไม่รู้จักแบ่งปันเราก็จะสร้างอริศัตรู เพราะจะทำให้คนอิจฉาเรา แต่ถ้าเรามีคุณธรรมข้อนี้ก็เป็นเกราะป้องกันเรา

    แต่ถ้าเราได้ดีแล้วเขาอิจฉาเราแล้วเราจะทำอย่างไร ถ้าเรารู้จักแบ่งปันความดี ทำถูกต้องในธรรม ธรรมย่อมคุ้มครองเรา คนก็เห็นด้วยกับเรา คนย่อมปกป้องเรา

    ๔. ทำดีถูกของกู แต่ไม่ถูกของธรรม ก็ไม่ดี คือ เราคิดว่าทำสิ่งเหล่านี้แล้วมันดี แต่ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่ถูกกาลเวลา แต่เราคิดว่ามันดีจึงทำไป แต่คนทั่วไปไม่เห็นด้วย แล้วเขาก็บอกว่าไม่ดี เราก็จะขัดเคืองใจเขาอีก

    ๕. ทำดีต้องรู้จักยกให้เบื้องบน ถ้าไม่ทำ จะเกิดอหังการ คือ การเกิดอหังการก็คือ เราสะสมความดี เราจึงเกิดความเย่อหยิ่ง (arrogant) เราจึงเกิดความทนง 

    แต่ถ้าเราคิดว่าเราสำนึกในบุญคุณ สมมติว่า ไม่ต้องใช้คำว่า "เบื้องบน" เรายกคุณงามความดีให้กับครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนเรามา เราจึงมีวิชาความรู้ตรงนี้ เราสามารถทำสิ่งการต่างๆนี้ได้ เพราะวิชาครูบาอาจารย์ 

    สิ่งที่บอกว่ายกความดีให้กับเบื้องบนก็คือ เป็นการรวมความ เพราะว่า วิชาเอย ความรู้เอย ปัญญาเอย ขึ้นมาจากเบื้องสูงทั้งนั้น แม้แต่ครูบาอาจารย์เราก็คือว่าเป็นเบื้องสูง เบื้องบน

    คำว่า "ฟ้า" ก็คือเบื้องสูง

    คำว่า "เบื้องบน" ก็คือ ครูบาอาจารย์ สิ่งที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เป็นคุรุทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน ก็จะลดตัวหยิ่งทนงของเรา

    คนเราจะต้องมี "เหตุ" ตัณหาก็ต้องมีเหตุ เราเกิดอหังการก็ต้องมีเหตุ

    ทำดียกขึ้นเบื้องบน เช่น อยู่ศาสนาคริสต์ ก็ทำดียกให้กับพระเยซู หรือพระเจ้า ถ้าเป็นอิสลามก็ยกให้กับพระอัลเลาะห์ ศาสนาพุทธ ก็ยกให้กับพระพุทธเจ้า แม้แต่เราไม่ศาสนาใด เราก็ยกให้กับครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนเรามา

    เราจะมีหลักยังไงในการทำดียกความดีให้กับเบื้องบน ให้คิดแบบนี้?

    เราจะต้องมีการคิดสอนตัวเอง ถ้าเราไม่มีเบื้องบนเราก็จะบอกว่าเราเก่ง แต่ถ้ายกขึ้นเบื้องบนเราก็จะบอกว่าเบื้องบนเก่ง ถ้าเบื้องบนไม่สอนเราแล้วเราจะเก่งได้อย่างไร? เป็นได้อย่างไร เราไม่คืนท่านบ้างเหรอ ถ้าท่านไม่สอนเรามาเราจะเก่งได้ยังไง ถ้าเขาสอนมาแล้วเราเก่ง เป็นไปไม่ได้หรอก เราจะไม่อหังการ ไม่มีทางเลยที่ตัวเองจะอหังการ

    อหังการ คือ กูเป็นที่ตั้ง กูเป็นผู้กระทำ ไม่ฟังใคร ถูกของกูแต่ไม่ถูกของธรรม

        ๑. กูคิดอย่างนั้นจะต้องเป็นอย่างนั้น มันเป็นของกู 

        ๒. ถึงแม้มึงถูก แต่ไม่ถูกคติของกู กูก็จะทำของกู

    ผยอง คือ สำคัญตนเองว่าทำได้ง่ายๆ ไม่ยาก แค่นี้เอง เช่น กูแน่ กูที่หนึ่ง แค่นี้เอง สุดยอดของกู แค่นี้กูทำได้ กูเก่ง กูมีความสามารถเหนือกว่าคนอื่น สรุปใครผยองจะตายด้วยความประมาททัั้งนั้น และคนที่ชอบคุย แค่นี้เอง ดูถูกสิ่งที่เขาทำ เพราะเขาคิดว่าตนเองเก่ง เรื่องแค่นี้ง่ายๆ จะเกิดความประมาท ก็จะเสียคน

    ลำพอง คือ คิดว่าตัวเองลำเลิศ ตัวเองได้แค่นี้ก็ถือว่าล้ำเลิศ

    ทนง คือ ของกูเก่ง ของกูแน่ ของกูเหนือกว่า ทนงว่าเราเก่ง มีแล้วทนงว่ามีก็ผิด ไม่มีแล้วทนงว่ามีก็ผิด ทนงจะทำให้เกิดประมาท เช่น มีอยู่แค่นี้ ก็ทนงว่าเยอะแยะก็ได้ ทนงนี้เป็นการหลงผิด ทนงนี้ต่ำกว่าผยองเยอะ ผยองนี้จะร้ายกาจเพราะว่าจะไปท้าตีท้าต่อยกับเขา เราพูดหนึ่งคำ เขาจะย้อน ๓ คำ


 
ทำดีต้องให้ถึงดีพร้อม

    ๑. คุณต้องตั้งใจพร้อม ต้องดูฐานจิต ไม่ใช่ทำเพื่อเรา

    ๒. คุณเสียสละความดีพร้อมให้ได้ไหม? (จาคะ) คนส่วนใหญ่ไม่ยอมเสียสละความดี ไม่ยอมจาคะความดี

    ๓. ทำดีอย่าอคติในตัวเองเกินไป หมายความว่า อย่าเอาแต่ความดีของตน ต้องเอาความดีของธรรม ข้อนี้เป็นหัวใจมาก ทำดีแล้วต้องถูกต้องตามครรลองครองธรรม

    ๔. ทำดีต้องมีการรับฟังคนอื่น หมายความว่า ไม่อคติกับคนอื่นและไม่อคติกับตนเอง คือ ไม่ตั้งคติไว้ก่อน จะเกิดมิจฉาทิฏฐิ ทำดีไม่ต้องใช้มิจฉาทิฏฐิ

    ๕. ทำดีอย่าอหังการ ทำดีต้องเชื่อฟังผู้รู้ ผู้ใหญ่ ผู้ที่มีประสบการณ์


 
๕ ขั้นภูมิแห่งการทำดี

    การทำดี ทำบุญ สร้างกุศลนั้น ในแต่ละคนย่อมมีระดับภูมิปัญญา แนวคิด หรือคติเป็นของตนเองในการทำดีนั้นๆ ซึ่งแตกต่างกันไปตามระดับภูมิของตนเอง ซึ่งมี ๕ ระดับ ดังนี้

    ขั้นที่ ๑ ทำแล้วต้องให้คนอื่นรู้ เราทำดีแล้วคนอื่นไม่รู้ เราจะรู้สึกว่า กินไม่ได้นอนไม่หลับ อยากจะบอกให้คนอื่นรับทราบ ยังไงแค่ได้เอ่ยนิดหนึ่งก็ยังดี เช่น 

    -นี่นะฉันไปถวายข้าววัดนั้น ๑ กระสอบ

    -เมื่อเช้านี่นะฉันไปทำบุญตักบาต 

    -วันนี้ฉันไปทำบุญมา ๑๐๐ บาท 

    -ฉันไปบริจาคให้มูลนิธิมา ๑๐๐ บาท เป็นต้น 

    ทำแล้วโฆษณา อวดตนเองว่าได้ทำอะไรบ้าง

    ขั้นที่ ๒ ทำดีแล้วจดรายชื่อไว้  คือ ทำดีแล้วไม่มีคนถามเราก็ไม่พูด แต่ถ้าใครมาถามก็จะตอบว่าเราไปทำบุญอะไรมาบ้าง

    ขั้นที่ ๓ ทำดีแล้วลืม คือ ทำบุญ ทำดี ถ้าเขาไม่รู้บุญคุณของเราก็ไม่เห็นเป็นไร (ไม่ให้ยืดติดในความดี)

    ทำบุญ ทำดี แล้วเราลืมบ้างไม่ลืมบ้าง คำว่า "ลืม" นี่เป็นศัพท์ แต่จริงๆ แล้ว เราไม่ได้ลืม เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ไปยึดติดความดี

    เราทำดี ทำบุญกุศลให้ส่งให้กับเจ้ากรรมนายเวร ก็อยู่ระดับนี้

    ขั้นที่ ๔ ทำดีเพื่อดี ทำให้ดี ทำดีคืนสู่ดี คือ คืนให้ธรรม เราทำดีใครจะรู้ ใครจะสรรเสริญ ใครจะตำหนิ ก็ไม่ว่ากัน ฟังแล้วก็จบ

    ทำดีต้องลืมชื่อ คือ ทำดีต้องคืนสู่ดี คำว่า ทำดีแล้วต้องลืมชื่อ หมายถึง เราทำดีแล้วยึดเป็นสิ่งดี "ของเรา" หรือเปล่า ถ้าเราจะไม่ให้คิดว่าเป็น สิ่งดี ของดี ความดี ของเรา แล้วเราจะทำยังไง เราก็จะต้องคืนสู่ธรรม

    เราทำดีต้องก็ต้องคืนสู่ธรรม เพราะเราติดหนี้ธรรม เราก็ต้องทำดีคืนสู่ธรรม ธรรมบอกว่าเป็นภาวะที่ดีเราก็ต้องทำตามธรรม เราภักดีต่อธรรม เรากตัญญูต่อธรรม 

    ข้อแตกต่างในข้อที่ ๔ และข้อ ๕ นี้ คือ ทำดีแล้วเรายังยึดว่าเราทำดีให้

    ขั้นที่ ๕ ทำดีปราศจากตัวตน ทำไม่ใช่เราทำ ถ้าเราทำแสดงว่าเรายังยึดในตัวตน เราทำเพราะว่าได้รับกระแสแห่งธรรม ทำไปตามภาวะแห่งธรรม ทำเพื่อลดอัตตา เรายิ่งทำยิ่งลดอัตตา

    ทำดีเพื่อลดตัวตน ทำดีเพื่อเป็นไปตามภาวะธรรมเท่านั้นเอง

    ทำดีในข้อที่ ๕ นี้ เราเป็นเพียงผู้ประกอบแห่งธรรม เปรียบเสมือนกับว่าเราเป็นบุรุษไปรษณีย์ เป็นผู้ส่งผ่าน

    ทุกกรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นการสะสมบุญทั้งนั้น แต่บุญของเราที่ทำเป็นยังไงเท่านั้น ก็ว่ากันไป

    ข้อที่ ๑-๒ ทำดีแล้วเพิ่มอัตตา

    ข้อที่ ๓-๔ ทำดีแล้วเสมออัตตา

    ข้อที่ ๕ ทำดีเพื่อลดอัตตา ลดตัวตน ถ้าลดไปเรื่อยๆ จนถึงเข้าสู่นิพพาน

    เราทำดี ทำบุญกุศลให้ทำไปเรื่อยๆ ก็จะยกระดับภูมิของเราสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ทำก็จะคงตัวหรือภูมิตกลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

    พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะปฏิบัติไปโดยธรรม และพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว อันที่จริงต้องปรินิพพานแต่ว่าอยู่ในโลกนี้ได้เพราะปฏิบัติโดยธรรม มีชีวิตไว้เพื่อกับธรรม เพื่อเป็นไปโดยธรรม

    ฉะนั้น ใครจะทำดีในข้อไหน ก็ทำไปแล้วยกระดับภูมิตนเองให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นการดี

ทำดีต้องให้ถึงพร้อม ถึงจะสัปปายะ ถึงจะเกิดอานิสงส์ที่แท้จริงได้

    ทำแล้วไม่ใช่เป็นบุญให้ฉัน แต่ทำแล้วต้องให้เขาให้ได้ดี หมายความว่า ทำบุญแล้วใครๆ ก็บอกว่าเขาเป็นคนใจบุญ แต่คนที่รับไปไม่ได้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ดี ต้องสอนให้เขาได้ดี 

 
    แต่ถ้าทำดีเอาดี ก็ไม่ได้ดี จะดีได้ยังไง

    ทำดีเพื่อดีแตก ดีเพื่อเขา ดีเพื่อบุคคลอื่น

    ทำดีเพื่อดี "ดีแท้" ทำดีเอาดี "ไม่ดีแท้"










Create Date : 29 เมษายน 2564
Last Update : 29 เมษายน 2564 2:42:43 น.
Counter : 1110 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พรหมสิทธิ์
Location :
เชียงราย  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

ศึกษาเรียนรู้ธรรมะโดยธรรม นำมาปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมะนั้น ให้คนรู้จักบริหารกรรม แก้กรรม พัฒนากรรม ให้เกิดสันติสุข
New Comments
Group Blog
เมษายน 2564

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
30