ไหว้ครูทำไม...?
พิธีไหว้ครู คือ กตัญญูต่อครู เคารพครู เพิ่มความศรัทธา เพิ่มความกตัญญูต่อครู

  ๑. แสดงความกตัญญูกตเวที เชิดชูความดีงามของครูบาอาจารย์ และเผยแพร่ความดีงามของครูบาอาจารย์ ดำรงสิ่งที่เป็นความดีงาม สิ่งที่เป็นมงคลต่างๆ ของครูบาอาจารย์

  ๒. ช่วยเหลือ เผยแผ่เจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ หรือสิ่งที่ครูบาอาจารย์ได้ตั้งอกตั้งใจสั่งสอนมา

  ๓. ตั้งจิตปณิธานเจริญรอยตามครูบาอาจารย์ แสดงเจตนารมณ์ของเราต่อครูบาอาจารย์ ในการปฏิญาณตนว่าจะเจริญรอยตามครูบาอาจารย์ จะทำความดี จะประพฤติปฏิบัติตนตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอน

  ๔. นำพาบุคคลให้มาศรัทธา ให้มาเชื่อมั่น ให้มาเจริญรอยตาม มาปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ ให้หันกลับมาในทางที่ดี ก็เหมือนกับหน้าที่ของพระสงฆ์ นำพาบุคคลให้มานับถือพระพุทธเจ้า มาเจริญรอยตามพระพุทธเจ้า

  ๕. รวบรวมคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ ให้เป็นคัมภีร์ ตำรา หนังสือ หรือจะเป็นวัตถุมงคลให้บุคคลทั่วไปเขาเคารพ ให้เป็นสรณะ เช่น ตะกรุด พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง ฯลฯ ให้สิ่งการณ์ต่างๆ นี้เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งของเรา หรือสร้างสิ่งที่เป็นสรณะเป็นนิมิตหมาย ให้ผูกพัน ให้เจริญศรัทธา ให้ผูกพันกับครูบาอาจารย์

  คัมภีร์ ตำรา หนังสือ รูปภาพ เครื่องรางของขลัง เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ให้เป็นนิมิตหมาย เป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัย เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ เป็นสรณะ เป็นอนุสสติให้ระลึกถึงครูบาอาจารย์ เป็นเครื่องเตือนใจในยามที่เราจะเลี้ยวทางผิด จะไปผิดทาง เครื่องของมงคลสรณะเหล่านี้จะเตือนใจเรา เหนี่ยวรั้งใจเราไม่ให้หลงทางผิด "เห็นวัตถุมงคลสรณะก็เปรียบเสมือนเห็นครูบาอาจารย์"

  ก็เหมือนกับเราสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาก็เพื่อเป็นนิมิตหมาย เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เชื่อมโยงกับครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์

  คนทั่วไปยังยึดติดนิมิตหมายที่เป็น "วัตถุ" เช่น จะต้องมีคัมภีร์ หนังสือ หรือพระพุทธรูป เพื่อให้ลูกศิษย์ผูกพัน เช่น เรามีตะกรุดมหาเทพมหามงคล ก็จะทำให้คนเขาผูกพัน

  เรามาไหว้ครู ทำไมต้องมีพิธีกรรมด้วย?

  ทุกอย่างก็ต้องมีพิธีกรรม มีวิธีการ เช่น เราหุงข้าวก็ต้องมีหม้อข้าว ที่เตาถ่าน หรือต้นไม้จะงอก ก็จะต้องมีดิน มีน้ำ มีอากาศ ฯลฯ 

  ทุกอย่างต้องมีองค์ประกอบปัจจัยต่างๆ ให้เกิดสัปปายะในการที่จะเกิดจิตศรัทธามั่นคงขึ้น

  ถ้าเราไม่มีพิธีกรรมจะทำให้เจริญจิตศรัทธาได้ยังไง? เจริญจิตศรัทธาให้มั่นคงขึ้น

  เราไม่มีพิธีการไหว้ครูได้ไหม?

  ไม่ได้ เพราะเราไม่มีครู เราไม่มีทางเลยที่จะได้แนวทางก่อให้เกิดปัญญา เพราะทุกคนต้องมีครู

  ทำไมตะวันตกเขาก็ไม่มีพิธีไหว้ครู แต่ทำไมเขาถึงเจริญได้?

  เขาก็มีพิธีไหว้ครูแบบของเขา แต่ว่าเราไม่รู้ต่างหาก

  ทุกชนชาติ ทุกสัตว์โลกก็ต้องมีพิธีไหว้ครู หรือแม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ยกตัวอย่าง แม่เป็นจ่าฝูง ลูกๆ ก็ต้องเลียนแบบแม่ ถ้าลูกไม่เชื่อฟังก็จะโดนแม่สั่งสอน สัตว์จะต้องเชื่อฟังจ่าฝูง แม่จะทำอย่างนี้ให้ดู ถ้าตรงนี้ไม่ทำก็จะถูกลงโทษ แม้แต่สัตว์ก็ยังมีพิธีกรรมตรงนี้ ถ้าไม่มีพิธีกรรมจะไม่มีการสืบทอด

  เราจะทำยังไงให้เรามีจิตผูกพันกับครูบาอาจารย์?

  ๑. เราจะต้องเจริญศรัทธา มีความเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้ เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ 

  ๒. หลังจากนั้นเราก็มาพิสูจน์ ได้พบประสบการณ์หรืออุทธาหรณ์ต่างๆ

  ๓. เราจะต้องจำอุทธาหรณ์ คือ ภาวนาอุทธาหรณ์ มาคิด มาวิเคราะห์ มาพิจารณา มาทำอยู่เรื่อยๆ

  ๔. ในเมื่อสิ่งนั้นที่เป็นอุทธาหรณ์ มีเหตุและผล เราต้องยอมรับความจริงแห่งเหตุ-ผลนั้นๆ

  ๕. เราจะต้องสรุปว่า ในเมื่อมีเหตุ-ผลเช่นนั้นๆ เราจะต้องเจริญรอยตามวิถีเช่นนี้

  พิธีไหว้ครูทั่วๆ ไป เราจะได้อะไรจากการประกอบพิธีไหว้ครู?

  ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของเรา เรามาไหว้ครูเรามีเจตนาอะไร ถ้าเรามีเจตนา ๕ ข้อข้างต้น เราก็ได้รับอานิสงส์ทั้ง ๕ ข้อข้างต้นนี้ 

  แต่ถ้าเจตนาของเราแค่มาไหว้ครู แค่มาขอทำพิธีและแค่มาขอเอาโชค ลาภ สะเดาะเคราะห์ เราก็จะได้ตามนี้ ได้แค่นั้น หรือแม้แต่จะมาขอให้ธุรกิจเจริญ ก็ได้ตามที่เจตนาเราต้องการ แต่ถ้าเราเอาตามเจตนาไหว้ครู ๕ ข้อข้างต้นนี้ เราก็จะได้หัวใจของการไหว้ครูแล้ว

  บางสำนักก็จะไหว้ครู องค์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาจจะเป็น ไต่เสี่ยฮุกโจว้บ้าง เป็นฤๅษีบ้าง เป็นองค์พ่อพญานาคบ้าง  เป็นพระแม่ เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ ฯลฯ แตกต่างกันยังไง?

  ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเจตนาของเรา สมมติว่า เราต้องการอิทธิฤทธิ์ หรือปัญญา ก็แต่ละองค์ท่านก็มี "เอกอุ" ของท่านอยู่แล้ว

  พิธีไหว้ครู อาจารย์ องค์เทพ เทวดาต่างๆ กับพิธีไหว้ครูบาอาจารย์ในโรงเรียน แตกต่างกันยังไง?

  พิธีไหว้ครูในโรงเรียนเป็นพิธีไหว้ครูแบบสามัญทั่วไป เป็นเบื้องต้น ระดับอนุบาลเท่านั้น แต่พิธีไหว้ครูสายเทพ เทวดานี้ เป็นการไหว้ครูที่เข้าถึงจิตวิญญาณ เข้าถึงธรรม 

  แม้แต่การไหว้ครูแบบนักมวย ก็เป็นแบบสามัญทั่วไป แม้แต่ครอบโขนก็ตาม ยังเป็นสามัญ แต่ถ้าอยากเข้าสู่จิตวิญญาณจะต้องเข้าสู่อีกขั้นหนึ่ง คือ ตัวเขาเองจะต้องนับถือ ตัวเองไม่ใช่อยู่ในพิธีกรรมเท่านั้น

  ยกตัวอย่างเช่น เราเข้าไปหาครูอาจารย์ก็ให้ท่านแค่เอาโขนครอบหัวเท่านั้น แต่ถ้าเราเชื่อว่า "มีจริง" มันคนละเรื่องกัน ถ้าเรามีศรัทธาแล้วเราเชื่อจริงๆ หรือเปล่า เราต้องแยกกันให้ออก สิ่งที่เขาครอบครู โดยเอาหัวโขนมาครอบ ก็แค่ครอบครูเท่านั้น 

  เราจะต้องเข้าใจที่เจตนาว่า "เราเชื่อหรือเปล่า" เราจะต้องเข้าใจคำนี้ก่อน ถ้าเราไม่เข้าใจคำนี้ มันก็ต่ำ เราจะเอาขึ้นสูงเราจะต้องมีเจตนาที่สูงขึ้นไป 

  ๑. จะขาดเจตนาไม่ได้ 

  ๒. ขาดศรัทธาไม่ได้

  ถ้าเราขาดเจตนาและศรัทธา เราทำไปก็แค่เล่นๆ 

  แล้วการไหว้ครูของเด็กนักเรียนเขาจะมีตัวเข้าถึงจิตวิญญาณได้ไหม?

  ไม่มีทางเลย เด็กนักเรียนกำลังเพิ่งสัมผัส แล้วอยู่ดีๆ จะมีทางด้านจิตวิญญาณแล้ว มันจะเกินความเป็นจริง เฉกเช่น เด็กประถมจะให้ไปท่องสูตรมัธยมได้อย่างไร

  แล้วทางพระสงฆ์มีการไหว้ครูไหม?

  มี เวลาไปบวชก็จะมีพระอนุสาวนาจารย์ และพระกรรมวาจาจารย์ และพระอุปัชฌาย์เป็นพระอาจารย์ เป็นครูของเรา นี่แหละเป็นการไหว้ครูแล้ว

  เวลาพระภิกษุสามเณรทำวัตรเช้า-เย็นก็จะมีการไหว้ครูอยู่แล้ว บางวันทำวัตรเช้า-เย็นไหว้ครู ไหว้พระพุทธเจ้า ไหว้พระธรรม ไหว้พระอริยสงฆ์สาวก เป็นต้น นี่แหละ เป็นการไหว้ครูแล้ว การทำวัตรเช้าเย็นถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า นี่แหละเป็นการไหว้ครูแล้ว เราจะต้องไปให้สัจจะวาจากับพระพุทธเจ้าเช้า-เย็น 

  แล้วครูที่มีชีวิตอยู่คือใคร?

  แต่ถ้าครูที่มีอยู่ชีวิตอยู่ก็คือเจ้าอาวาส พระอาจารย์ ตามกฎระเบียบของวัด และคณะสงฆ์ ในแต่ละวัดเราถือเจ้าอาวาสเป็นครูของเรา เพราะท่านใหญ่สุด แต่ถ้าสูงกว่านี้ก็คือพระพุทธเจ้า ตรงกลางก็แล้วแต่ว่าจะเป็นใคร เช่น พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระอุปคุต พระสีวลี พระมหากัจจายนะ พระองคุลิมาล เป็นต้น แล้วแต่เป็นขั้นๆ ไป

  ไม่ใช่ว่าเราเป็นพระสงฆ์แล้วจะไม่มีครู การเป็นพระสงฆ์จะต้องไหว้ครูเช้า-เย็น

  เวลานี้คนปฏิวัติใหม่เป็นกบฏ บอกว่าการทำวัตรเช้าเย็นไม่ต้องทำก็ได้ นี่แหละเป็นกบฏไหมล่ะ คุณกบฏกับครูแล้วนี่

  การทำวัตรเช้า-เย็นก็เป็นการสวดมนต์อันเก่าอันเดิม มันไม่เกิดประโยชน์อะไรล่ะ?

  มันไม่เกิดประโยชน์เพราะว่าเราทำไม่เป็น ทำไม่ถูกต่างหาก พิธีกรรมทำวัตรเช้า-เย็น มันดีอยู่แล้ว แต่เราไม่ทำให้ครบเอง เราได้กล่าวปฏิญาณตนไหมว่า ต่อไปนี้ฉันจะทำดี พรุ่งนี้เช้าจะทำดีเจริญบุญกุศลอะไร เราไม่ได้พูด คนที่ทำพิธีกรรมทำไม่ครบเอง แล้วจะไปโทษพิธีกรรมได้ยังไง

  การทำวัตรให้ครบก็คือ เราต้องมาสรรเสริญพระพุทธเจ้า ความดีของพระพุทธเจ้า เราจะต้องทำให้ครบทั้ง ๕ ข้อข้างตนดังที่กล่าวมาแล้ว สุดท้ายเราก็ต้องมาปฏิญาณตนว่า พรุ่งนี้เช้าฉันจะทำดีอะไร ตั้งเจตนา ตั้งสัจจะอธิษฐาน

  ทำไมต้องทำวัตรเช้าเย็น ก็เพื่อให้มาตั้งสัจจะอธิษฐาน 

  ทำไมต้องตั้งสัจจะอธิษฐาน นั่นแหละคือการภาวนา

  ถ้าเราตั้งสัจจะอธิษฐาน เจริญภาวนาทุกวัน ตบะของเราจะเข้มแข็งไหม? ตบะของเราก็เข้มแข็ง ถ้าไม่อย่างนี้ตบะของเราก็อ่อนแอ การทำวัตรเช้า-เย็น เป็นการเจริญตบะ

  การทำวัตรเช้า-เย็น แล้วไม่อยากทำ เพราะว่าคนไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นความสำคัญ เพราะว่าครูบาอาจารย์ไม่ได้ชี้แจงให้เห็นถึงคุณค่า ความสำคัญ ฉะนั้น พระสงฆ์เวลานี้ไม่ค่อยมีตบะ ตบะอ่อนมาก การทำวัตรเช้า-เย็นเป็นการเสริมตบะ เสริมการภาวนา ภาวนาเป็นที่มาของตบะ ถ้าเราไม่ภาวนาก็จะไม่เกิดตบะ ไม่มีทางเลย นี่แหละเป็นการเข้าใจผิด

  การเสื่อมถอยของพระพุทธเจ้าไม่มีเลย มีแต่คนในศาสนาทำให้เสื่อม สิ่งที่เขาวางไว้ดีแล้ว ไปตัดตอนไม่ทำกัน โดยการเข้าใจผิด ไม่ถ่องแท้ เข้าไม่ถึง เลยบอกว่าไม่จำเป็น

  แล้วครูจะต้องทำยังไง ในเมื่อลูกศิษย์ทั้งหลายมาหา?

  ครูก็ต้องภาวนาทั้ง ๕ ขั้นตอนนี้เช่นกัน ถ้าไม่ภาวนาทั้ง ๕ ข้อนี้ก็ไม่เกิดตบะ เราก็ไม่มั่นคง เราก็ดำรงไม่ได้ เราจะดำรงความเป็นครูไม่ได้ เพราะว่าครูก็ต้องมีครูเหมือนกัน ถ้าครูมี ๕ ข้อนี้อ่อนแอ ลูกศิษย์ก็อ่อนแอเช่นกัน

  ไหว้ครูทำไมต้องมีการไหว้องค์พ่อพิฆเณศด้วย?

  ก็เพราะว่าในคัมภีร์พระเวท (वेद) กล่าวไว้ มหาฤาษีวยาสะ (व्यासः) มีความต้องการที่จะเขียนมหากาพย์ภารตะ แต่เกรงว่าตนจะทำเองไม่สำเร็จ จึงไหว้วานให้ผู้อื่นช่วย แต่ก็ไม่มีใครกล้ารับอาสาเขียนคัมภีร์พระเวท ฤๅษีวยาสะจึงได้ทูลขอความช่วยเหลือจากองค์พ่อพิฆเณศ (विघ्नेश; Ganesha) แต่องค์พ่อพิฆเณศก็มีข้อแม้ว่า ถ้าหากว่าฤๅษีวยาสะหยุดบอกเมื่อไหร่ องค์พ่อพิฆเณศก็จะหยุดเขียนทันที ฝ่ายท่านฤๅษีก็บอกว่า สิ่งที่เราพูดไปนั้นก่อนที่จะเขียนคัมภีร์ ขอให้ตีความ พิเคราะห์ พินิจพิจารณาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนถึงจะลงมือเขียนได้ ฉะนั้น เมื่อเวลาฤๅษีจะต้องใช้ความคิดในการบอกกล่าวโศลกซึ่งจะต้องใช้เวลาพอสมควร ก็จะบอกคำศัพท์ยากๆ ให้องค์พ่อพิฆเณศตีความเสียก่อนเพื่อเป็นการประวิงเวลา

  ด้วยเหตุนี้ องค์พ่อพิฆเณศจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีอัจฉริยภาพในการลิขิตมหาภารตะ คัมภีร์พระเวท และเป็นครู และได้รับพรจากมหาเทพ มหาเทวี ให้เป็นครูในการทำพิธี ใครจะไหว้บูชามหาเทพ มหาเทวี จะต้องไหว้องค์พ่อพิฆเณศก่อน ก่อนที่จะไหว้เทพ เป็นต้น

  เพียงเพราะว่า "องค์พ่อพิฆเณศเป็นเทพเจ้าแห่งปัญญา ขจัดปัดเป่าปัญหาอุสรรคสำเร็จ และศูนย์รวมแห่งความสัปปายะพร้อม" จึงได้ชื่อว่าเป็นครูจะได้ไหม?

  ไม่ใช่ เข้าใจผิดแล้ว เพราะอันนี้เป็นความสำเร็จขององค์พ่อพิฆเณศ แต่ไม่ใช่ผลแห่งความสำเร็จของเรา 

  เราไหว้ครูจะต้องไหว้ให้ถูกต้อง เราไหว้ที่ปัญญาแห่งครู ไม่ใช่ไหว้ที่ความสำเร็จแห่งครู มันคนละเรื่องกัน ซึ่งเป็นปัญญาของครู 

  เราจะต้องเอาปัญญาของครูไปทำถึงจะสำเร็จได้ ไม่ใช่เอาความสำเร็จของครูไปทำ อันนี้ไม่สำเร็จแน่ เพราะว่าคุณทำที่ "ผล" ไม่ใช่ทำที่ "เหตุ" คุณเอาปัญญาของครูไปทำ ถึงจะทำที่ "เหตุ" ถึงจะได้สำเร็จเป็น "ผล"

  ถ้าเราเอาผลของครูไปทำ มันทำไม่ได้ ฉะนั้น เราไหว้ครูก็คือไหว้ปัญญาของครู ดังที่บทสวดไหว้ครูว่า 

  “ปาเจราจะริยาโหนติ  คุณุตตะรานุสาสะกา” 

แปลว่า ครูอาจารย์เป็นผู้ทรงคุณอันประเสริฐอย่างยิ่ง เป็นผู้พร่ำสอนศิลปวิทยาการต่างๆ

  “ปัญญาวุฒิกะเร เต เต ทินโนวาเท นะมามิหัง” 

แปลว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมผู้ให้โอวาท คำสั่งสอน ผู้ทำให้ปัญญาเจริญ ข้าพเจ้าขอกราบไหว้ครูบาอาจารย์เหล่านั้น ด้วยความเคารพยิ่ง

  ซึ่งบทไหว้ครูก็ว่าด้วยปัญญา

 เราไหว้องค์พ่อพิฆเณศก็เช่นเดียวกัน เราต้องไหว้ปัญญาของท่าน ไม่ใช่ไหว้ที่ความสำเร็จของท่าน แม้แต่พระแม่อุมาเทวี องค์เทพ เทวดา พระโพธิสัตว์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องไหว้ปัญญาของท่าน ไม่ใช่ไหว้ที่ผล คนทั่วไปเข้าใจผิดไปไหว้ที่ผล แล้วไปเลียนแบบผล แล้วเราทำไม่ได้


  เหตุที่ว่าเราทำไมทำไม่ได้ก็เพราะว่า เราไปเลียนแบบผล เราจะต้องรู้เหตุแล้วทำเหตุให้ถึงพร้อมถึงจะได้ผล คุณทำเหตุไม่สมบูรณ์ผลมันก็ไม่เกิด
  ยกตัวอย่าง พระแม่อุมาเทวี ท่านเป็นสายเกี่ยวกับการปกครอง เราก็เอาปัญญาของท่านมาปกครอง แล้วเราทำได้แค่ไหน เราต้องวัด เราบอกว่าเราเอาปัญญาของท่านมาทำ เราเอามาทำจริงหรือเปล่า แล้วทำได้กี่เปอร์เซ็นต์ และเราทำได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์แล้วจะบอกว่าสำเร็จแบบท่านได้ยังไง แค่ตบะของเรามีเท่าไหร่ แล้วของท่านมีเท่าไหร่ สมมติว่าตบะของเรามีแค่ ๕% แต่ของท่านมี ๘๐% แล้วจะไปสำเร็จผลเท่ากับท่านได้อย่างไร เราต้องดูตัวเองอย่างไปดูท่าน นี่แหละเป็นที่มาของคนทั้งหลายชอบโทษฟ้า โทษดิน แต่ไม่ดูตัวเองเลยว่าเราปฏิบัติได้แค่ไหน แล้วจะเอาเยอะๆ


  เราจะเอาปัญญาของท่านไปสร้าง "เหตุ" ยังไง?


  สร้างเหตุถึงพร้อมไหม เช่น เราเอากาไปต้มน้ำ แล้วฟืนมาเปียกน้ำ เราจะสำเร็จไหม หรือไม่อย่างนี้ ฟืนแห้งแต่มีแค่ ๒ ดุ้น แล้วไฟจะเพียงพอไหม น้ำก็ไม่เดือด เราต้องดูตรงนี้สิ ดูเหตุ ดูผล เราจะบอกว่าเราเอาแบบมาแล้ว จะให้สำเร็จ ไม่สมดุลกัน จะสำเร็จได้ยังไง


  ยกอีกหนึ่งตัวอย่าง เราเอาวิธีมาหมด แต่ว่าจังหวะจะโคน เทคนิค เราทำไม่ถูก แล้วจะให้สำเร็จได้ยังไง จังหวะจะโคนก็เกี่ยวกับปัญญาของท่านเช่นกัน


  เราต้องซึ้ง เข้าใจ เข้าถึง ถ้าเราไม่เข้าถึงเวลาทำก็เหมือนกันแต่มันเข้าไม่ถึง เพราะทำอย่างเดียวกันแต่ผลออกมาไม่เหมือนกัน เช่น เรานวดเขา ใครๆ ก็นวดได้ แต่แรง พลัง เทคนิคการนวดไม่เหมือนกัน แล้วจะให้ผลเหมือนกันได้ยังไง นี่แหละความซึ้ง เข้าใจ เข้าถึง มันแตกต่างกัน ผลออกมาก็จะแตกต่างกัน 


  เราได้รับปัญญามาเหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่รู้ซึ้ง ไม่เข้าถึง ก็จบ


  ส่วนพิธีกรรมแล้วแต่สำนักจะทำกัน ก็สุดแล้วแต่สำนักนั้นทำกัน เราจะบอกว่าเราเก่งกว่าเขา อย่างนี้ไม่ได้ เราจะไม่โอ้อวด เราจะไม่เกทับกัน แล้วแต่บุคคลที่จะไปเจริญได้


  แต่ถ้าครูบาอาจารย์ไปเห็นอีกสำนักหนึ่ง แล้วอยากจะบอกกล่าวให้เขาเสริมอย่างนั้นอย่างนี้จะได้ดีขึ้นกว่าเดิม จะได้ไหม?


  เราจะไม่เกทับกัน แต่ถ้าทางสำนักนั้นขอ เราก็จะให้ ถ้าไม่ขอก็ไม่ให้ ถือว่าเสือก


  ถ้าอย่างนี้จะเรียกว่าเราตระหนี่ไหม?


  ถือว่าไม่ตระหนี่ เพราะว่าเราไม่ขอแล้วจะไปให้ได้ยังไง เขาไม่อ้าปากแล้วเราเอาข้าวไปยัดใส่ปากมันได้เหรอ อันนี้เป็นการยัดเหยียด กลายเป็นทุเรศ เป็นภาพที่ไม่น่าดูเลย เขาไม่ได้อ้าปากแต่เราตักข้าวไปยัดใส่ปากเขา นี่ทำไม่ได้ เขาต้องขอ ถ้าเขาขอเราก็จะให้ ถ้าเขาขอเราแล้วเราไม่ให้ นี่แหละตระหนี่แล้ว


  ถ้าเราไปเจอกันแล้วก็เป็นวาสนาต่อกันแล้ว ถือว่าเป็นวาสนาขั้นที่ ๑ แต่ว่าจะมีวาสนาขั้นที่ ๒ ไหม ถ้าไม่มีวาสนาขั้นที่ ๒ ก็จบวาสนาขั้นที่ ๑ 


  อันที่จริงคนที่สูงกว่าจะต้องมีบันไดให้เขาไต่ขึ้นมา ก็มีบันไดเหมือนกัน เราจะต้องจูงเขา แต่ว่าเขาจะรับไหมล่ะ แต่ว่าเราจูงเขาแล้ว เขาจะรับได้แค่ไหนต่างหาก



Create Date : 01 ธันวาคม 2564
Last Update : 12 กันยายน 2565 0:00:09 น.
Counter : 1297 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พรหมสิทธิ์
Location :
เชียงราย  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

ศึกษาเรียนรู้ธรรมะโดยธรรม นำมาปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมะนั้น ให้คนรู้จักบริหารกรรม แก้กรรม พัฒนากรรม ให้เกิดสันติสุข
New Comments
Group Blog
ธันวาคม 2564

 
 
 
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
1 ธันวาคม 2564