 |
28 ธันวาคม 2558
|
|
|
|
วัฒนธรรมสัญจร : ศิลปกรรมในวัดระฆังโฆสิตาราม (4)

ผูกที่ 1 กล่าวถึง การแบ่งโลกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สังขารโลก สัตวโลก และ โอกาสโลกซึ่งถูกแบ่งย่อยออกเป็น โอกาสวินาสโลก โอกาสสัณฐานโลก นิรยโลก เปตโลก มนุสสโลก อสุรโลก เทวโลก และ พรหมโลก
โอกาสวินาสโลก เริ่มขึ้นจากการกปรากฏขึ้นของพระอาทิตย์ 7 ดวง ทำลายทุกสรรพสิ่งจนหมด มีฝนตกเพื่อดับไฟ มีลมพัดจนน้ำแห้ง แผ่นดินเกิดขึ้นใหม่ เกิดศีรษะปฐพี ผูกที่ 2 มนุษย์บังเกิดทั้งเพศชายหญิง วรรณะทั้ง 4 อายุของสัตว์จากอสงไขย จนเหลือ 10 ปี เกิดอสงไขยทั้ง 4 มนุษย์ที่เหลือประกอบกรรมดี อายุจึงยืนขึ้น
ผูกที่ 3 สัณฐานของเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ ขนาด ความสูง ทะเลซึ่งล้อมรอบ ปลา 7 ตัวที่อาศัยในสีทันดรมหาสมุทร เขาตรีกูฎ ทวีปทั้ง 4 ทวีปบริวาร ไม้ประจำทิศ ทรัพยากรประจำทวีป
ผูกที่ 4 สถานที่สำคัญในชมพูทวีป การแบ่งเป็น มัจฉิมประเทศ และ ปัจจันตชนบท มหานครทั้ง 16 แห่ง ป่าหิมพานต์ สระทั้ง 7 เขา 5 ลูก ที่รายล้อมสระอโนดาต เขาธันมาทน์ที่เป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ต้นกำเนิดของแม่น้ำทั้ง 5 สาย ได้แก่ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภูมิ และมหิ
ส่วนที่เหลืออีก 21 ผูกนั้นเป็นเรื่องภพภูมิต่างๆ ตลอดจนการสอดแทรก เรื่องพุทธประวัติลงไปด้วย นอกจากนี้สิ่งสำคัญก็คือ ประวัติพระอินทร์ ซึ่งกล่าวกันว่าในไตรภูมิกถาสมัยรัชกาลที่ 1 มีการเล่าเรื่องของพระอินทร์ ตั้งแต่ชาติกำเนิด การทำคุณงามความดี ลงไปมากมายอย่างมีนัยสำคัญ

เราจะได้เห็นอะไรบนจิตรกรรมไตรภูมิของหอไตรแห่งวัดระฆัง เริ่มจากมุมซ้ายเป็นรูปจักรวาลตามแนวคิดของคนโบราณ แต่ช่างใส่ลูกเล่นโดยแสดงให้เห็นเพียงครึ่งเดียวเพื่อประหยัดพื้นที่ เหนือขึ้นไปเป็นสวรรค์ ใต้เขามีปลาอานนท์หนุนอยู่ ต่ำลงมามีนรกภูมิ
ด้านข้างถัดไปเป็นภาพป่าหิมพานต์ แสดงภาพของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่นราชสีห์ คนธรรพ์ มักรีผล ใจกลางป่าหิมพานต์เป็นสระอโนดาต สระน้ำที่แปลว่า ไม่มีวันต้องแสดงแดดส่องให้ร้อน มีท่าน้ำ 4 ท่า เป็นที่สรงสนานแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย
รวมถึงเหล่าผู้วิเศษผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย เช่น ฤๅษี วิทยาธร ยักษ์ นาค เทวดา สำหรับนางเทพอัปสร เทพบุตร คนธรรพ์ วิทยาธร และยักษ์ น้ำในสระอโนดาตนั้นใสเหมือนแก้วผลึก ปราศจากเต่าและปลา จะมีปากทางให้น้ำไหลระบายออกอยู่สี่แห่ง ทิศละแห่ง

ด้านตะวันออกไหลออกมาจากช่องที่มีสัณฐานเหมือนปากราชสีห์ และเป็นที่ชุมนุมของราชสีห์ น้ำจะไหลวนขวารอบสระอโนดาต 3 รอบ แล้วไหลไปลงคลองไปสู่ที่อยู่ของอมนุษย์ในป่าหิมพานต์
ด้านตะวันตกไหลออกมาจากช่องที่มีสัณฐานเหมือนปากช้าง และเป็นที่ชุมนุมของช้าง น้ำจะไหลวนขวารอบสระอโนดาต 3 รอบ แล้วไหลไปลงคลองไปสู่ที่อยู่ของยักษ์และปิศาจทั้งหลายในป่าหิมพานต์
ด้านทิศเหนือไหลออกมาจากช่องที่มีสัณฐานเหมือนปากม้า และเป็นที่ชุมนุมของม้าน้ำจะไหลวนขวารอบสระอโนดาต 3 รอบ แล้วไหลไปสู่มหาสมุทร
ด้านทิศใต้ไหลออกมาจากช่องที่มีสัณฐานเหมือนปากโค เป็นที่ชุมนุมของโคและมหิสร น้ำจะไหลวนขวารอบสระอโนดาต 3 รอบ แล้วไหลไปลงสระโบกขรณี ความเชี่ยวของน้ำทำให้น้ำเซาะตลิ่งกว้าง 500 โยชน์ ทำให้เกิดช่องอุโมงค์ใต้เขาเมื่อน้ำไหลออกจากเขาไปกระทบกับเขาที่ชื่อติรัจฉานบรรพต แยกออกเป็น 5 สายเป็นปัญจ มหานที คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ
เหนือภาพป่าหิมพานต์ ก็อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ในหนังสือไตรภูมิ จะมีการกล่าวถึงพุทธประวัติ ในที่นี่จะมีจิตรกรรมตอนเวสสันดรแทรกอยู่ ถ้าคิดว่าพื้นที่แค่เพียงฟากเดียวของหอไตรนี้ยังไม่แน่นพอ ยังมีภาพชาดกสอดแทรกอยู่อีก ที่ผมรู้เพราะอ่านมาจากบล็อกของ คุณปลาทองสยองเมืองคือ ภาพครุฑจับนาค และภาพลิงกับผีเสื้อน้ำนั่นเอง
สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายคือกลางห้องมีมีตู้พระธรรม เราจึงไม่ถอยเพื่อถ่ายภาพเต็มได้
Create Date : 28 ธันวาคม 2558 |
|
1 comments |
Last Update : 28 ธันวาคม 2558 11:36:37 น. |
Counter : 744 Pageviews. |
 |
|
|
| |
|
 |
ผู้ชายในสายลมหนาว |
|
 |
|
|