|
 |
| 1 | 2 | 3 |
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |
|
|
 |
20 กรกฏาคม 2564
|
|
|
|
เที่ยวทิพย์ : การกลับบ้านของทับหลังปราสาทเขาโล้น (2)
ทวารบาลปราสาทเขาโล้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรีคำบรรยายของสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ถึงโบราณวัตถุในการขุดค้นครั้งล่าสุด กล่าวว่า
อสูรทวารบาล คงเหลือเฉพาะส่วนร่างกายช่วงบน บางส่วนของใบหน้าแตกกะเทาะหายไป แต่ยังปรากฏรูปปากที่มีเขี้ยวอยู่ที่มุม เกล้ามวยผมเป็นรูปทรงกระบอก ด้านหลังปล่อยปลายผมยาวประบ่าผมหยิกเป็นก้นหอย ใส่ตุ้มหูแผ่นกลมใหญ่ กำหนดศิลปะแบบบันทายสรี ปลายกรอบหน้าบันบริเวณด้านหน้าของบรรณาลัย ทำเป็นรูปสามเหลี่ยม สลักลวดลายเป็นรูปมกรอ้าปากชูงวง และประดับด้วยลายกระหนก ปลายกรอบหน้าบันนี้มีลักษณะคล้ายกับปลายกรอบหน้าบันที่ปราสาทบันทายศรี บันแถลง ใช้วางประดับด้านหน้าในแต่ละด้านของยอดปราสาท มีลักษณะคล้ายกับปราสาทจำลอง แกะสลักเป็นรูปบุคคล ซึ่งพบแบบเดียวกันที่ปราสาทบันทายศรี ปราสาทจำลอง เป็นชิ้นส่วน ใช้สำหรับวางประดับบริเวณมุมยอดของแต่ละชั้น มีความสูง 4 ชั้น เป็นรูปแบบศิลปะก่อนที่จะพัฒนามาเป็นแบบกลีบขนุน เช่น ปราสาทสดอกก๊อกธมที่สร้างในปี พ.ศ. 1595 ยอดปราสาท ลักษณะเป็นทรงกลม คล้ายหม้อน้ำหรือกลศ มีการเจาะรูตรงกลาง แกะสลักลายแถวกลีบบัว และแถวกระจังใบเทศโดยรอบ คล้ายกับที่ปราสาทบันทายศรี เสาประดับกรอบประตูเป็นศิลปะแบบคลัง ส่วนทับหลังนั้นเป็นแบบบาปวนตอนต้น สังเกตจากลายใบไม้ที่มีก้านใบอันเป็นศิลปะแบบคลัง ทับหลังปราสาทหนองหงส์ พ.ศ. 2503 วันเวลานั้นมีแต่เดินไปข้างหน้า การกำหนดอาุยุตัวปราสาทจึงต้องเลือกของชิ้นที่ใหม่สุด ปราสาทเขาโล้นจึงกำหนดอยู่ในช่วงบาปวนตอนต้น ตามศิลปะที่ปรากฏบนทับหลังตรงกับต้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 โดยสัมพันธ์กับจารึกกรอบประตูที่ระบุปี พ.ศ.1550 และ 1559 ในความคิดส่วนตัว แม้จะกำหนดทับหลังทั้งสองชิ้นเป็นศิลปะบาปวนเช่นกัน แต่มีความแตกต่างที่เห็นได้ชัด 2 ประการ คือ หนึ่งเรื่องรูปแบบของศิลปะ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ กำหนดยุคของศิลปะ ได้ชัดเจนว่าเป็นบาปวนแท้ๆ โดยเป็นรูปหน้ากาลคลายท่อนพวงมาลัยแบบตรงๆ ในขณะที่ทับหลังปราสาทเขาโล้นนั้น ไม่เห็นท่อนพวงมาลัยแบบชัดๆ เห็นแต่ลายใบไม้ สองเรื่องความละเอียดของฝีมือ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ฝีมือไม่แตกต่างไปจาก ปราสาทระดับพื้นถิ่นในพื้นที่อื่นๆ ในภาคอีสาน ในขณะที่ทับหลังของปราสาทเขาโล้น เห็นได้ชัดว่า ฝีมือของช่างแกะสลักนั้นงดงามประณีต คล้ายกับสกุลช่างบันทายศรี สัมพันธ์กับจารึกปราสาทบันทายศรีที่กล่าวว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้ทรงมาต่อเติม แม้เราจะยังไม่รู้ว่าช่างบันทายศรีมาจากไหน แต่ปราสาททั้งสองหลังนี้คงใช้ช่างกลุ่มเดียวกัน นั่นเป็นเรื่องการกำหนดอายุปราสาท ที่จะนำพาต่อไปในว่าช่วงเวลานั้น เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเราจะประติดประต่อเรื่องราวได้จากจารึก ซึ่งมักจะเป็นเรื่องราวที่แปลไว้ตั้งแต่สมัย ศ. เซเดส ที่รวบรวมจารึกไว้ ทั้งฝั่งไทยและฝั่งเขมรเป็นจำนวนมาก
K.232 https://www.facebook.com/prfinearts/photos/a.1070550643012379.1073742761.280593928674725/1070550729679037พ.ศ. 2447 เอเตียน เอโมนิเยร์ ได้เดินทางสำรวจารึกในภาคอีสานมาถึงปราสาทเขาโล้น ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกที่เดินทางจากกัมพูชาผ่านโคราชไปจนถึงเวียงจันทร์ ระบุว่าที่ปราสาทเขาโล้นมีจารึกภาษาสันสกฤตและเขมร บนกรอบประตูด้านเหนือและใต้ อาจจะมีการเคลื่อนย้ายจารึกนี้เข้ามาในกรุงเทพ หรืออาจจะมีแค่การทำสำเนาจารึกเข้ามา
เพราะในปี พ.ศ. 2497 ศ. เซเดส ได้กำหนดทะเบียนเป็นจารึก K.232 แปลเนื้อความที่คาดว่าจะเป็นกรอบประตูด้านใต้ ใจความว่า พ.ศ. 1550 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1ได้พระราชทานที่ดินแก่ขุนนาง ศรีมันนฤปทินทรวรมัน ซึ่งได้สร้างเทวสถานไว้บนภูเขา มฤตสังชญกะ เพื่อประดิษฐาน รูปพระศัมภุ (พระศิวะ) พระเทวี และพระศิวลึงค์ (อีศลิงคะ) แสดงว่า ปราสาทเขาโล้นเป็นปราสาทในลัทธิไศวนิกาย หลังจากนั้นจารึกทั้งสองหลักนี้ก็ได้หายไปจากประวัติศาสตร์ จนกระทั่งมาพบอีกครั้ง ที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งโดยระบุว่า พบจารึกนี้เมือราวปี พ.ศ. 2510-2515 โดยไม่ทราบที่มา เป็นหินทรายแดงจำนวน 2 หลัก โดยอีกหนึ่งหลักนั้นคงจะเป็นกรอบประตูด้านเหนือ แปลโดยกรมศิลปากรในวารสารเมื่อปี 2516 และรวมไว้หนังสือจารึกในประเทศไทย เล่มที่ 3 ใจความโดยย่อว่า พ.ศ. 1559 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทรงมีพระราชบัญชาแก่ มรตาญโขลญศรีวีรวรมัน ให้มาจารึกพระกระแสรับสั่งไว้ที่เสาหิน ณ ภูเขาดิน อันพระกํามรเตงอัญศรีสมรวีรวรมัน สวามีพระกํามรเตงอัญศรีสมรวีรวรเมศวร (กับ) เจ้าแม่กํามรเตงอัญศรีสมรวีรวรมชนนีศวร ถวายร่วมกับกํามรเตงชคตของเจ้าแม่ แปลคร่าวๆ ว่า ให้ขุนนางมาปักจารึก รายชื่อสิ่งของที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 สั่งให้เจ้าเมือง คือ พระกำมรเตงอัญศรีสมรวีรวรมัน ต้องถวายต่อศาสนสถาน นอกจากจารึกเก่าทั้งสองหลักที่ค้นพบตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ก็มีการค้นพบจารึกใหม่ หลังจากที่เวลาผ่านไปราวอีก 100 ปี
 จารึกวัดจงกองhttps://db.sac.or.th/inscriptions/articles/detail/16879พ.ศ. 2548 มีการค้นพบจารึกหลักหนึ่ง ตั้งชื่อตามสถานที่ค้นพบ คือจารึกวัดจงกอ อ. ด่านขุนทด จ. นครราชสีมา ภาษาขอมโบราณ ที่บริเวณฐานชุกชีขวามือของพระประธานในพระอุโบสถ มี 2 ด้าน แปลลงในวารสารศิลปากร ปีที่ 49 ฉบับที่ 2 ใจความโดยย่อว่า พ.ศ. 1551 มีพระราชโองการของธุลีพระบาทกมรเตงอัญกำตวนศรีชยวีรวรมันเทวะ ให้ขุนนางกำหนดเขตที่ดินให้แก่กมรเตงชคตวิมายเป็นพระราชธรรม จารึกหลักนี้กลายเป็นจารึกที่เก่าที่สุด ที่ระบุชื่อปราสาทพิมาย แสดงว่าในปีที่จารึกนั้นต้องมีปราสาทพิมายตั้งอยู่แล้ว
และสิ่งที่สำคัญคือในปีนั้น พระเจ้าชัยวีรวรมันต้องทรงเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะมีทั้งคำขึ้นต้นว่า ธุลีพระบาท และคำลงท้ายว่า เทวะ อยู่ในพระนาม ในขณะที่จารึกกรอบประตู พ.ศ. 1550 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ให้ขุนนางสร้างปราสาทเขาโล้น และจารึกพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (K991) พบที่จังหวัดปราจีนบุรี ระบุศักราช พ.ศ. 1551 เนื้อความนั้นอ่านได้ยาก แต่ใจความหลักคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้มอบที่ดินให้แก่ พระกัมมรเตงอัญศรีนรปตีนทรวรมัน ในปี พ.ศ. 1551 ปรากฏพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ในเวลาเดียวกัน พระองค์หนึ่งนั้นต้องมีอำนาจอยู่ในเขตอีสานใต้แถบเมืองพิมาย ในขณะที่อีกพระองค์หนึ่งนั้นมีอำนาจมาถึงภาคตะวันออกของไทย และต่างก็ใช้คำนำหน้าพระนามว่า กำตวน
คำว่ากำตวนนั้น พบครั้งแรกในจารึกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ศ. เซเดส เชื่อว่าเป็นคำแสดงถึงความเป็นเจ้านาย ที่มาจากภาษามลายู เนื่องจากการสืบราชสมบัติของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 นั้นไม่ได้เป็นไปตามสันตติวงศ์ แสดงว่าพระองค์เป็นคนนอกราชสำนัก
เมื่อเจอคำว่ากำตวน ที่คล้ายกับภาษามาเลย์ ทำให้เกิดการตีความว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 อาจเป็นกษัตริย์ที่มาจากคาบสมุทรมลายู แต่ในภายหลังก็มีการเจอคำนี้ที่ย้อนไปได้ถึงรัชกาลของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ที่ไม่ได้สิบราชสมบัติตรงมาจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 2
ท่านจึงเปลี่ยนข้อเสนอใหม่ว่า คำนี้เป็นภาษาเขมรโบราณอยู่แล้วที่ใช้แทรกนำหน้า เพื่อเป็นคำที่ใช้อ้างสิทธิ์ว่า คนเองสืบเชื้อสายกษัตริย์เขมรโบราณ ผ่านทางข้างมารดา อะไรที่ทำให้เกิดจารึกสองหลักที่ต่างขัดแย้งกัน ว่าในเวลานั้นที่พิมายก็มีกษัตริย์ เราจะไปตามจารึกกรอบประตูพระราชวังหลวงที่อาจจะบอกข้อมูลอะไรได้มากกว่านี้
 จารึกประตูพระราชวังหลวงhttps://www.local-tour-operators.com/angkor-thom.htmlจารึกนี้กล่าวถึงพิธีการกล่าวคำสัตย์สาบานในปี พ.ศ. 1553 ของขุนนางราว 4000 คน เป็นช่วงเวลาการสิ้นสุดของสงครามชิงราชสมบัติที่ยาวนาน ของผู้ที่อ้างตนว่าเป็นกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ และขุนนางที่เหลือทั้งหมดต้องมาสาบานความซื่อสัตย์ต่อหน้าไฟและอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ว่า
พวกเค้าพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จนตัวตาย ไม่ยอมที่เป็นข้ารับใช้ผู้อื่น หากไม่เป็นเช่นที่ว่า ก็ขอให้ตกอยู่ในนรก 32 ขุม ตราบเท่าที่พระอาทิตย์และพระจันทร์ ยังคงปรากฏอยู่บนโลกนี้
โดยตอนต้นของจารึกนั้น ได้ย้อนไปถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ในฐานะกษัตริย์ว่า พระองค์นั้นผ่านพิธีราชาภิเษกต่อหน้าไฟโดยพราหมณ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 1545
พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 1 น่าจะถูกชิงราชสมบัติไปได้โดยง่าย แล้วพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จะทำสงครามกับใคร ถ้าไม่ใช่พระเจ้าชัยวีรวรมัน เพื่อช่วยหาคำตอบในเรื่องนี้ ดูเหมือนเราจะต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์ก่อนหน้า ในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 และจารึกที่กล่าวถึง ศรีจานาศะ
Create Date : 20 กรกฎาคม 2564 |
|
7 comments |
Last Update : 21 กรกฎาคม 2564 11:26:57 น. |
Counter : 1393 Pageviews. |
 |
|
|
| |
โดย: หอมกร 20 กรกฎาคม 2564 11:19:45 น. |
|
|
|
| |
โดย: ทนายอ้วน 20 กรกฎาคม 2564 12:21:23 น. |
|
|
|
| |
โดย: อุ้มสี 20 กรกฎาคม 2564 13:48:34 น. |
|
|
|
| |
โดย: **mp5** 20 กรกฎาคม 2564 15:22:30 น. |
|
|
|
| |
โดย: ทนายอ้วน 20 กรกฎาคม 2564 20:42:47 น. |
|
|
|
| |
|
 |
ผู้ชายในสายลมหนาว |
|
 |
|
|