Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
 
29 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 

ปกิณกธรรม : คติธรรมในพระมหาชนก



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นอเนกอนันต์
โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากแต่ประการใด ด้วยทรงหวังให้พสกนิกรทุกหมู่ เหล่าได้มีความผาสุก
ประเทศชาติสงบร่มเย็น ต้องด้วยพระราชปณิธานในปฐมบรมราชโองการว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นธรรมิกราชาโดยแท้
ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนามั่นคงและแรงกล้า
ได้ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลังพระราชศรัทธา
ทรงสนพระทัยศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
และได้ทรงแสดงออกถึงหลักความคิดทางพระพุทธศาสนา แก่สาธารณชนให้ปรากฏอยู่เนืองๆ
เช่น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

ในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักธรรมโดยตรงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก
ที่พระองค์ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม
แล้วทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒)
และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากพระมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่องโดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑
และทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้พิมพ์ ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล
ให้เป็นเครื่องพิจารณา เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของสาธุชนทั้งหลาย
โดยผู้เขียนจะขอนำคติธรรมบางประการมากล่าวไว้ในที่นี้

เรื่องพระมหาชนกชาดก ได้กล่าวถึงความเพียรเป็นสำคัญ คือ
พระมหาชนกนั้นทรงเรียนไตรเพทและศิลปศาสตร์ทั้งปวงจบภายในพระชนม์ ๑๖ ปี
และคิดจะเอาสมบัติของพระราชบิดาคืนมา จึงทูลถามพระราชมารดาว่ามีพระราชทรัพย์อยู่บ้างหรือไม่
เมื่อพระราชมารดาตรัสตอบว่ามีอยู่ ก็ขอพระราชทรัพย์นั้นเพียงกึ่งหนึ่ง เพื่อใช้เป็นทุนทำการค้า
เมื่อได้ทรัพย์จากการค้า ก็จะนำมาใช้ในการกู้ราชบัลลังก์ของพระราชบิดาคืนมา
พระราชมารดาทรงทัดทานว่า อย่าไปทำการค้าขายในเมืองสุวรรณภูมิเลย เพราะมหาสมุทรมีภัยมาก
ทรัพย์ที่มีอยู่นี้มากพอจะกู้ราชสมบัติ แต่พระมหาชนกทรงยืนยันที่จะไปทำการค้าให้ได้

ที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า พระมหาชนก นั้นทรงมีความพากเพียรอย่างยิ่ง
เพราะพระชันษา ๑๖ ปี ก็เรียนจบศิลปศาสตร์
และทรงคิดทำการค้า โดยทรงพึ่งพาพระราชทรัพย์ของพระมารดาเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น

เมื่อพระมหาชนก ทรงออกเรือไปยังเมืองสุวรรณภูมิพร้อมด้วยพวกวาณิช ๗๐๐ คน
ในวันที่เจ็ดเรือถูกพายุอับปางลง พวกวาณิชทั้งหลายกลัวต่อความตาย ร้องไห้คร่ำครวญ อ้อนวอนเทวดาให้มาช่วย
โดยไม่คิดจะช่วยตนเองเลย จึงตกเป็นอาหารของฝูงปลาในมหาสมุทร
เหลือเพียงพระมหาชนกเท่านั้นที่ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้น ไม่ร้องไห้คร่ำครวญ ไม่อ้อนวอนเทวดาให้มาช่วย
ปีนขึ้นเสากระ-โดงเรือแล้วกระโดด ไปไกล ๗๐ เมตร เพราะทรงมีพระกำลังมาก ไม่ตกเป็นเหยื่อ ของฝูงปลา

ข้อนี้จะเห็นได้ว่า คนธรรมดาทั่วไป เมื่อประสบอันตราย แล้วมักขาดสติในการที่จะทำตนให้พ้นอันตราย
ชอบบนบานเทวดาให้มาช่วยโดยไม่คิดช่วยตนเองเลย
เทวดาก็ไม่อยากช่วยคนประเภทนี้ เพราะคนพวกนี้มีมากเกินกว่าจะช่วยและต้องช่วยกันไม่หยุดหย่อน
แต่พระมหาชนกหาเป็นเช่นนั้นไม่ จะเห็นได้ว่าพระองค์ได้ว่ายน้ำอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน
แม้เทพธิดามณีเมขลา จะปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์
ก็มิได้ทรงขอร้องให้เทพธิดามณีเมขลาช่วยแต่อย่างใด คงว่ายเป็นปกติของพระองค์ จนเทพธิดาตรัสว่า

“นี่ใคร เมื่อแลไม่เห็นฝั่งยังอุตส่าห์พยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร
ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้นักหนา”

พระมหาชนกตรัสว่า “ดู ก่อนเทวดา เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลก และอานิสงส์ แห่งความเพียร
เพราะฉะนั้นถึงมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร”

แม้ว่าเทพธิดามณีเมขลาจะทัดทานว่า ความพยายามของพระมหาชนกนั้นจะไร้ผล
และจะสิ้นพระชนม์อยู่ในมหาสมุทร พระมหาชนกก็มิได้ทรงลดละความพยายาม
ยืนยันจะว่ายน้ำเรื่อยไปจนกว่าจะถึงฝั่งหรือถ้าสิ้นพระชนม์เสียก่อน ก็ได้ชื่อว่าไม่ละความเพียร
ใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นหนี้ และทรงแสดงเหตุผลของความเพียรเป็นอเนกประการ

จนเทพธิดามีความเลื่อมใสในถ้อยกถาของพระมหาสัตว์
จึงได้อุ้มพระองค์เหาะไปวางไว้บนแท่นศิลาในพระราชอุทยาน กรุงมิถิลา
และได้อภิเษกเป็นพระราชาในเวลาต่อมา

ปฏิปทาของพระมหาชนกที่กล่าวมานี้ เป็นหลักคิดของพระพุทธเจ้า
แม้ทุกข์ยากลำบากและมีคนพอจะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ก็ไม่ทรงร้องขอให้ช่วย
และแสดงความจริงใจในการที่จะต่อสู้กับความยากลำบากนั้น อย่างถึงที่สุด
ก็คือ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน ถ้าตนพึ่งตนไม่ได้ เทวดาที่ไหนก็ไม่อยากช่วย

พระมหาชนกทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรม ครองราชสมบัติโดยธรรม
ทรงบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีพระราชโอรสพระนามว่า ทีฆาวุราชกุมาร
อันเกิดแต่พระนางสีวลีเทวี เมื่อพระราชกุมารทรงเจริญวัย
พระราชทานอุปราชาภิเษก แล้วครองราชสมบัติอยู่เจ็ดพันปี

การที่พระมหาชนกจะเสด็จออกทรงแสวงหาโมกขธรรม ยังไม่ถึงวาระเวลาอันสมควร
เพราะยังทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลาไม่ครบถ้วน คือ ข้าราชบริพารตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับล่าง
ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น ไม่มีความรู้ทางวิทยาการและปัญญา ยังไม่เห็นประโยชน์แท้ของตนเอง
จึงต้องตั้งสถานศึกษาอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้ว มิได้ทรงเก็บไว้กับพระองค์
หากแต่ยังทรงเผยแผ่ธรรมนั้นแก่พสกนิกรของพระองค์ด้วย เพราะว่า
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง

ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา


โดยธมฺมจรถ
ที่มา //www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9510000142390
ภาพจาก //thai.mindcyber.com/nitan/10/1120.php




 

Create Date : 29 พฤศจิกายน 2552
0 comments
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2552 19:48:56 น.
Counter : 1461 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.