Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
 
20 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 

หลักการทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์



ปกติคนไทยทั่วไป มักเป็นชาวพุทธโดยกำเนิด ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน
มีฐานะเป็นอุบาสกและอุบาสิกา ซึ่งมีหน้าที่คอยช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาศาสนาไว้ให้ดำรงอยู่
และให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว ทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
พระสงฆ์พุทธสาวกเป็นผู้รับมรดก ได้จดจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้
พระพุทธศาสนาจึงดำรงอยู่ได้ตลอดจนกระทั้งปัจจุบันนี้

พระสงฆ์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นพุทธสาวก ดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพราะปัจจัยต่างๆ ที่เหล่าชาวพุทธทั้งหลายพากันจัดถวาย
ตราบใดที่ชาวพุทธยังบริจาคปัจจัยช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์
ก็ยังสามารถศึกษาเล่าเรียนรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ตราบนั้น
และเมื่อใดชาวพุทธ เลิกบริจาคปัจจัยช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ เมื่อนั้นพระสงฆ์ก็ย่อมดำรงชีพอยู่ไม่ได้
พระพุทธศาสนาก็จะอันตรธานเสื่อมสูญไปอย่างแน่นอน


การทำบุญใส่บาตรประจำวัน

การที่ชาวพุทธทั้งหลายช่วยกันบริจาคปัจจัยอุปถัมภ์บำรุง ด้วยการทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ในตอนเช้าของทุกๆ วัน
นับได้ว่าเป็นหนึ่งที่ได้ช่วยกันสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ และให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

การใส่บาตรประจำวัน นับเป็นวิธีการสร้างบุญวาสนาบารมี
อันจะเป็นบุพเพกกตปุญญตาสำหรับตนต่อไปในอนาคตโดยตรง
และเป็นผลดีที่ได้ช่วยสืบต่อพระพุทธศาสนาโดยอ้อม

ปกติการใส่บาตรประจำวัน นิยมทำตามกำลังศรัทธา และตามความสามารถแห่งกำลังทรัพย์เท่าที่จะทำได้
โดยไม่เกิดความเดือดร้อน ในการครองชีพ อาทิ อาจจะใส่บาตรวันละ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง หรือ ๓ รูปบ้าง ฯลฯ

การทำบุญในพระพุทธศาสนาที่จะมีผลานิสงส์มาก
อาทิ การทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ (ในตอนเช้า) ประกอบด้วยองค์คุณ ๓ ประการ คือ
๑. ปัจจัยสิ่งของสำหรับทำบุญบริสุทธิ์
๒. เจตนาของผู้ถวายบริสุทธิ์
๓. พระภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์


ปัจจัยสิ่งของสำหรับทำบุญบริสุทธิ์ หมายถึง
ที่มาแห่งปัจจัยนั้นๆ หรือวัตถุสิ่งของที่นำมาทำบุญนั้น ต้องได้มาโดยชอบ ดังมีลักษณะดังนี้

๑. เงินที่นำมาใช้จ่าย ซื้อหาวัตถุสิ่งของเหล่านั้น ต้องเป็นเงินที่ได้มาด้วยการประกอบสัมมาอาชีวะ
เกิดจากหยาดเหงื่อและแรงงานของตนโดยตรง

๒. ของที่นำมาทำบุญนั้น เป็นของบริสุทธิ์ กล่าวคือไม่ได้เบียดเบียนชีวิตคนและสัตว์อื่นๆ
อาทิ ฆ่าสัตว์มาทำบุญ ขโมยข้าวของมาทำบุญ ฯลฯ

๓. สิ่งของที่นำมาทำบุญนั้น ต้องเป็นของที่มีคุณภาพดี และเป็นส่วนที่ดีที่สุดในบรรดสิ่งของที่มีอยู่
อาทิ ข้าวสุกที่จะนำมาใส่บาตรนั้นควรเป็นข้าวปากหม้อ แกงก็เป็นแกงถ้วยแรกที่ตักออกจากหม้อ ฯลฯ

๔. วัตถุสิ่งของนั้น ควรแก่สมณบริโภค
ไม่เกิดโทษแก่พระภิกษุสามเณร และมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการ


เจตนาของผู้ถวายบริสุทธิ์
เจตนา หมายถึง ความจงใจหรือความตั้งใจของผู้ทำบุญนั้นต้องบริสุทธิ์ในเวลาทั้ง ๔ กล่าวคือ

๑. ปุพพเจตนา หมายถึง ความตั้งใจก่อนจะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เสียดมเสียดาย

๒. มุญจนเจตนา หมายถึง ความตั้งใจขณะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา มีความปลื้มปีติในการทำบุญ

๓. อปรเจตนา หมายถึง ความตั้งใจภายหลังการทำบุญไปแล้วภายใน ๗ วัน
ได้ระลึกถึงการทำบุญที่ล่วงมาแล้ว มีปลี้มโสมนัสในบุญกุศลนั้นอย่างไม่เสียดาย

๔. อปราปรเจตนา หมายถึง ความตั้งใจภายหลังการทำบุญไปแล้วเกิน ๗ วันไปแล้ว
แม้จะเป็นเวลาเนิ่นนาน เมื่อหวนระลึกนึกถึงการทำบุญครั้งใด ก็ปลาบปลื้มยินดีครั้งนั้น


ผลานิสงส์เจตนาบริสุทธิ์
คนที่ทำบุญด้วยเจตนาหรือความตั้งใจบริสุทธิ์ทั้ง ๔ เวลาดังกล่าวนี้ ต่อไปในอนาคต เมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่
ย่อมมีความสุขความเจริญ ตั้งแต่เกิดตลอดจนสิ้นอายุขัยในภาพและชาตินั้นๆ


โทษของเจตนาไม่บริสุทธิ์ มี ๔ กรณีดังนี้

๑. ถ้าปุพพเจตนา ความตั้งใจก่อนจะทำบุญไม่บริสุทธิ์
เมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ระยะแรกของชีวิต ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ ๒๕ ปี
จะมีแต่ความทุกข์ยากลำบากลำเค็ญหาความสุขได้ยาก
แต่จะเริ่มมีความสุขความเจริญตั้งแต่อายุ ๒๖ ปี เป็นต้นไปจนตลอดอายุขัย

๒. ถ้ามุญจนเจตนา ความตั้งใจขณะทำบุญไม่บริสุทธิ์
จะทำให้เกิดความทุกข์ยากลำเค็ญตั้งแต่อายุ ๒๖ ปี จนถึงอายุ ๕๐ ปี
และเริ่มมีความสุขตั้งแต่อายุ ๕๑ ปี เป็นต้นไป จึงถึงตลอดอายุขัย

๓. ถ้าอปรเจตนา ไม่บริสุทธิ์กล่าวคือ นึกเสียดายข้าวของที่ทำบุญไป
จะทำให้เกิดความทุกข์ยากเดือดร้อนตั้งแต่อายุ ๕๑ ปี เป็นต้นไปจนถึงอายุ ๗๕ ปี
หลังจากนั้นจึงจะมีความสุขตลอดอายุขัย

๔. ถ้าอปราปรเจตนา ไม่บริสุทธิ์ จะทำให้เกิดความทุกข์ยาก เดือนร้อนตั้งแต่อายุ ๗๖ ปี เป็นต้นไป
จนกระทั่งสิ้นอายุขัย

ในกรณีคนที่ทำบุญให้ทานแล้ว กลับมานึกเสียดายในภายหลัง คือ อปรเจตนาและอปราปรเจตนาไม่บริสุทธิ์
เมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ แม้จะเกิดเป็นคนร่ำรวยเป็นเศรษฐี
แต่จะเป็นเศรษฐีขี้เหนียว เนื่องจากโทษที่เกิดจากการทำบุญให้ทานแล้วนึกเสียดายในภายหลัง


พระภิกษุสามเณรผู้บริสุทธิ์
หมายถึง พระภิกษุสามเณรอันเป็นบุญเขตนั้น เป็นผู้บริสุทธิ์ กล่าวคือ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิง
อันหมายถึงพระอริยบุคคล หรือพระภิกษุสามเณร
เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์และเป็นผู้กำลังปฏิบัติเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ

ดังนั้นบุคคลผู้จะทำบุญในพระพุทธศาสนา ควรพิจารณาเลือกบุญเขตที่เหมาะสม
ดังพระบาลีว่า “วิเจยฺย ทานํ ทาตพฺพํ วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสฎฐํ”
(แปลว่า ควรเลือกให้ทาน การเลือกให้ทาน พระตถาคตเจ้าทรงยกย่อง)


วิธีปฏิบัติในการใส่บาตร
เมื่อนำอาหารใส่บาตรออกจากบ้านไปรอคอยใส่บาตรพระสงฆ์อยู่นั้น
ควรตั้งใจว่า จะทำบุญบาตรแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระพุทธศาสนา
โดยไม่เฉพาะเจาะจงแก่พระสงฆ์หรือสามเรณรูปใดรูปหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อพระสงฆ์หรือสามเณรรูปใดเดินผ่านมา ณ ที่นั้น
ก็ตั้งใจใส่บาตรพระสงฆ์หรือสามเณรรูปนั้น และรูปอื่นๆ ต่อไปตามลำดับ

การตั้งใจใส่บาตรแบบไม่เฉพาะเจาะจงอย่างนี้
มีผลานิสงส์มากกว่าการตั้งใจใส่บาตร โดยเจาะจงแก่พระสงฆ์หรือสามเณรรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ


คำอธิษฐานก่อนใส่บาตร
ปกติก่อนจะใส่บาตรนั้น ต้องตั้งจิตอธิษฐานก่อน
โดยถือขันข้าวด้วยมือทั้ง ๒ ข้างนั้นกระหย่ง (หมายถึง การนั้งคุกเข่าเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้ง ๒ รับก้น)
ยกขันข้าวขึ้นเสอมหน้าผาก พร้อมกับกล่าวคำอธิษฐานก่อนการทำบุญด้วยสิ่งของต่างๆ ดังนี้

“สุทินนัง วาตะ เม ทานัง อาสะวักขะยะวะหัง โหตุ”
(คำแปล “ทานของเราให้ดีแล้วหนอ ขอจงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความหมดสิ้นอาสวะกิเลส”)

เมื่ออธิษฐานจบแล้ว ลุกขึ้นยืน ใช้มือจับทัพพี ตักข้าวให้เต็มทัพพี บรรจงใส่ให้ตรงบาตร
อย่าให้เม็ดข้าวตกออกมานอกบาตรให้ระมัดระวังหน่อย
(ปัจจุบันนิยมใส่บาตรด้วยข้าวสุกที่บรรจุในถุงพลาสติก)

กรณีเม็ดข้าวติดทัพพี อย่าเอาทัพพีเคาะกับขอบบาตรอย่างเด็ดขาด
กิริยาที่ตักข้าวใส่บาตรนั้น อย่าตักแบบกลัวว่าข้าวจะหมดเร็ว มีภาษิตโบราณว่า “อย่าขี้เหนียวขณะทำบุญ”

ระหว่างที่ใส่บาตรนั้น อย่าชวนพระท่านพูดคุยด้วย
และอย่าถามพระว่า “ท่านชอบฉันอาหารแบบนี้ไหม ท่านต้องการเพิ่มอีกไหม” ทำนองนี้
เพราะมีคำพังเพยอยู่ว่า “ตักบาตรอย่าถามพระ”

เมื่อใส่ข้าวสุกและกับข้าวแล้ว หากมีดอกไม้ธูปเทียนจะถวาย ถ้าเป็นชายนิยมส่งดอกไม้ธูปเทียนถวายกับมือพระ
และถ้าเป็นหญิงต้องรอให้พระท่านปิดฝาบาตรก่อน จึงค่อยวางดอกไม้ธูปเทียนถวายบนฝาบาตร

เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้ว กรณีมีโต๊ะวางของ หรือมีรถยนต์จอดอยู่ให้วางขันข้าวไว้ที่โต๊ะหรือบนรถยนต์ที่จอดอยู่
ยืนตรงน้อมตัวลงยกมือไหว้พระสงฆ์ กรณียืนใส่บาตรกลางทาง ควรนั่งกระหย่งแล้ววางขันไว้ข้างตัว
ยกมือไหว้พระสงฆ์พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า

“นัตติ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง เอเตนะ สัจจุวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทาฯ”
(คำ แปล “สรณะอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสรณะ อันประเสริฐของข้าพเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ขอความเจริญรุ่งเรือง จงมีแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลเทอญฯ”)

หากมีการใส่บาตรพระรูปต่อๆ ไป ก็ให้ปฏิบัติในลักษณะดังที่กล่าวมาทุกครั้งไป จนกว่าจะใส่บาตรเสร็จ


การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
หลังจากการใส่บาตรแล้ว เมื่อกลับถึงบ้าน
ควรกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรตลอดจนบรรพบุรุษ และพ่อแม่ (กรณีที่ท่านล่วงลับไปแล้ว)
โดยกล่าวคำกรวดน้ำอย่างย่อดังนี้
“อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย”
(คำแปล “ขอส่วนบุญนี้ จงไปถึงแก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอให้ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลายจงมีความสุขฯ”)


ที่มา dhammajak.net




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2552
1 comments
Last Update : 2 ธันวาคม 2552 15:24:32 น.
Counter : 1013 Pageviews.

 

เป็นสาระธรรม ที่พุทธศาสนิกชนควรทราบและปฏิบัติให้ถูกต้อง ดีมากครับ ขออนุโมทนาด้วย

 

โดย: น้ำเปรี้ยวsp 30 พฤศจิกายน 2552 12:51:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.