Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
26 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
เทวดามีจริงหรือ? โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ


เทวดามีจริงหรือ

ปัญหามีอยู่ว่า: ตามบาลีมีอยู่ว่า

เทวดาที่ปรารถนาสุคติ ปรารถนามาเกิดในโลกมนุษย์นั้น
ย่อมเป็นการรับรองว่า เทวดามีตัวจริง และ สวรรค์ก็มีตัวจริง.

ถ้าเชื่อว่ามีจริงเช่นนี้ จะไม่เป็นเรื่องเหลวไหลตามคติในยุคปัจจุบันไปหรือ?

ปัญหานี้ ผู้ถามได้ยึดเอาหลักที่อาตมาได้บรรยายไปในวันก่อนๆถึงตอนที่กล่าวว่า
เทวดาที่ปรารถนาสุคติ หาที่อื่นไม่ได้ ไม่พบ ต้องมาหาในมนุษยโลก ซึ่งมีพระรัตนตรัย;

เลยยึดเอาว่า ถ้าอย่างนั้น บาลีก็ยืนยันว่า ตัวเทวดามีจริง สวรรค์มีจริง?
อาตมาอยากจะขอตอบว่า ในบาลี มีกล่าวเช่นนั้นจริง และมีในรูปพระพุทธภาษิตจริง;

แต่ความหมายนั้น หมายถึง เทวดาเป็นตัวบุคคลาธิษฐานเช่นนั้นจริงหรือไม่ เป็นอีกปัญหาหนึ่ง.

เรื่องเทวดานี้ ก็อยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกันที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า
ถ้าไม่ "มองเห็น" ได้ด้วยตนเองแล้วอย่าไปเชื่อตามดีกว่า
เพราะฉะนั้น ส่วนที่พูดถึงตัวเทวดาหรือ สวรรค์นั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ.

ประเด็นสำคัญ มันอยู่ที่ว่า คนที่มัวเมาอยู่ด้วยกามคุณอย่างเทวดาและ จะเป็นเทวดาอยู่ที่ไหนก็ตาม
ผู้ที่มัวเมาอยู่แล้ว ยากที่จะมีจิตใจที่โปร่งหรือแจ่มใสเพียงพอที่จะเข้าใจเรื่องดับทุกข์ หรือ เรื่องนิพพาน

เพราะฉะนั้น เทวดาเมื่อสำนึกถึงความที่ตนมัวเมาอยู่ในกามคุณหรือในสวรรค์ได้
ก็เกิดความสลดสังเวชตัวเองว่าที่นี่ ไม่ใช่ที่เอาตัวรอดเสียแล้ว;

ควรจะเป็นในที่ที่ไม่มัวเมา ในกามคุณมากถึงเช่นนั้น;
ควรจะเป็นที่ที่จะหาเรื่องราวของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเรื่องดับทุกข์นั้นได้โดยง่าย.

เพราะฉะนั้น โลกที่ดีที่น่าเกิด ก็ควรจะเป็นมนุษยโลก แทนที่จะเป็นเทวโลก.

เพราะฉะนั้น ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ควรจะอยู่ในที่ที่หาพบพระรัตนตรัยได้ง่ายหรือ ทำการดับทุกข์ได้ง่าย;

เลิกพูดถึงมนุษยโลกหรือเทวโลก ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ.

ทีนี้ อาตมา อยากจะชี้แจงต่อ ถึงข้อที่ว่า
ทำไม คำว่า เทวดา หรือ คำว่า สวรรค์นี้ มามีอยู่ในพระพุทธภาษิตและอยู่ในพระไตรปิฎก โดยตรง.

ทั้งนี้ ก็เพราะว่า ในประเทศอินเดีย สมัยนั้น มีความเชื่อเรื่องเทวดา
เรื่อง นรก เรื่องสวรรค์ นี้อยู่โดยสมบูรณ์แล้ว
มีรายละเอียดชัดเจน เหมือนที่กล่าวนี้ ทุกอย่างมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น

พอพระพุทธเจ้า มีขึ้นในโลก เรื่องเหล่านี้ มันมีอยู่แล้ว
จะไปเสียเวลาหักล้าง ก็ไม่ไหว พิสูจน์ให้คนโง่ เห็นไม่ได้

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า ท่านจึงพลอยตรัส เอออวย
ไปตามคำที่พูดๆ กันอยู่ แต่แล้ว ก็ทรงแสดง สิ่งที่ดีกว่า
ให้เขาเลิกละ ความสนใจหรือ ติดแน่นในสิ่งนั้นเสีย
ให้เลิกละ ความติดแน่น ในนรก ในสวรรค์ ในเทวโลกพรหมโลก เหล่านั้นเสีย
โดยมาเอา สิ่งที่ดีกว่าคือ เรื่องโลกุตตระ หรือ นิพพาน;
ทั้งๆ ที่ไม่ต้อง เสียเวลา พิสูจน์เรื่องเทวดา เรื่องนรกสวรรค์ ชนิดนั้นว่ามันมี ข้อเท็จจริง โดยแท้จริงอย่างไร.

มีอยู่ในพระไตรปิฎก บางแห่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรื่องเทวดานี้ เขาพูดกันอย่าง เอิกเกริก ทั่วไปอยู่แล้ว
เสียเวลา ที่จะไปฝืน ความรู้สึกของเขา;แล้วเราเอง ก็ต้องการ อีกอย่างหนึ่ง ต่างหาก
สิ่งที่ต้องการ ไม่ได้เป็นอันเดียวกับที่ต้องการให้เขาหลงใหลในสวรรค์

ไม่จำเป็นที่จะต้อง อธิบายเรื่อง นรก สวรรค์ซึ่งเป็นสิ่งที่จะ พิสูจน์กัน เดี๋ยวนั้น ไม่ได้.

ถ้าหากว่า ผู้นั้นจะมีปาฏิหาริย์มาก ถึงกับบังคับจิตผู้คนหรือกลุ่มประชาชน
ให้เห็นนรกเห็นสวรรค์ด้วยอำนาจจิตได้อย่างแท้จริง;

ซึ่งสวรรค์และนรก จะจริงไม่จริงไม่ทราบ;
แต่ว่า สามารถบังคับด้วยปาฏิหาริย์ให้พากันเห็นชัดเจนแท้จริงจนมีความเชื่ออย่างนี้ก็ทำได้;

พระพุทธเจ้า ท่านก็ทำได้ เป็นของง่ายๆแต่ท่านก็ไม่ประสงค์ จะทำอย่างนั้น;
กลับเอออวย ไปในบางส่วนว่า ให้ทาน รักษาศีล นี่แหละ จะเป็นทางให้ได้สวรรค์
แล้วเมื่อได้สวรรค์ มาแล้ว เป็นอย่างไร ท่านก็ชี้ให้เห็นว่า
สวรรค์นั้น มันเต็มไปด้วยโทษ คือ ความหลงใหลอย่างไร
แล้วจึง ทรงแสดงโทษของสวรรค์ ผู้นั้นก็พร้อมที่จะรู้เรื่องโลกุตตระ

เขาเห็นจริง เชื่อจริง มาตามลำดับ ว่า ทาน ศีล ให้เกิดสวรรค์,
สวรรค์ มีลักษณะ อย่างนั้นๆ ประกอบไปด้วย อาทีนพ-คือโทษ
ทำให้โง่ ให้หลง ให้วนเวียน ในวัฏฏสงสาร อย่างนั้นๆ
จึงมีจิตใจ พร้อมที่จะรู้เรื่อง อริยสัจจ์ หรือ เรื่องของ โลกุตตระ.

อุบายวิธี ทางธรรม เช่นนี้ เราจะเรียกว่า
พระพุทธเจ้า ท่านฉลาดในการสวมรอย หรือ อะไรก็ตามเถิด
แต่ว่า ความจำเป็น มันบังคับให้ทำได้เพียงเท่านั้น
จะไปพิสูจน์ เรื่องนรก สวรรค์ กันมากกว่านั้น ก็ไม่มีเวลา
ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น ทั้งไม่ได้ประโยชน์อะไร;

เพราะเรื่องที่สำคัญนั้น ต้องการจะสอน ให้เห็น ความทุกข์ เดี๋ยวนี้
ให้เห็น เหตุให้เกิดทุกข์ เดี๋ยวนี้ กล่าวคือ เรื่องอริยสัจจ์สี่ นั่นเอง

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงทรงมีอุบาย ลัดๆ สั้นๆ
ชำระของเกรอะกรัง ในจิตใจของประชาชน เรื่องนรก สวรรค์เสียพอสมควรก่อน
ได้แก่ ทรงแสดงเรื่อง ทาน เรื่องศีลแล้วเรื่องสวรรค์ แล้วย้ำเรื่อง โทษของสวรรค์
แล้วจึงถึงเรื่องการออกไปเสีย จากสวรรค์ ที่เรียกว่า เนกขัมมะ
การออกไปเสียจาก กามคุณ ว่าจะมีผลดีอย่างนั้นๆ

พอมาถึงขั้นนี้แล้ว คนนั้นที่เรียกได้ว่า มีหัวใจเคยเกรอะกรังไปด้วย ตะกอนต่างๆ มาแต่กาลก่อนๆ
ถูกชำระล้างหมดสิ้นดีแล้วก็พร้อมที่จะรู้ อริยสัจจ์สี่ คือ ทุกข์ มูลเหตุให้เกิดทุกข์ สภาพที่ไม่มีความทุกข์ เลย
และวิธีปฏิบัติ ที่จะให้ลุถึงสภาพชนิดนั้น พระพุทธเจ้า ท่านก็สอนเรื่องของท่านโดยตรงเอาตอนนี้เอง.

ส่วนตอนเรื่อง นรกสวรรค์อะไรนั้น เป็นตอนที่ไม่ใช่ใจความของพุทธศาสนา

เขาเชื่อกัน อยู่อย่างนั้นแล้ว เขาทำกัน อยู่อย่างนั้นแล้ว ก่อนพระองค์เกิด
ถ้าไปตู่เรื่องนี้ มาว่าเป็นพุทธศาสนา ก็เรียกว่า ไม่ยุติธรรม

พระพุทธเจ้า ท่านไม่ขี้ตู่ อย่างนั้น เรื่องของท่าน จึงมีแต่เรื่อง โลกุตตระ คือ อริยสัจจ์ เป็นพื้น.

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า เรื่องสวรรค์หรือนรก นี้ ไม่ใช่ประเด็นของพุทธศาสนา
แต่มันพลัดมาอยู่ใน คำของ พระพุทธเจ้าได้ เพราะความจำเป็นอย่างนี้;

ฉะนั้น เราไปสนใจกับ ตัวพุทธศาสนา โดยตรงเสีย
ปัญหาเรื่องนรกสวรรค์ ก็จะหมดสิ้นไปในตัวเอง หมดความจำเป็นไปในตัวเอง
เพราะ ถ้าขืนเชื่อ งมงายไปตามผู้อื่นว่า มีจริง เป็นจริง อย่างนั้น ก็เป็นการถูกหลอก;
หรือ แม้แต่ เขาจะบังคับกระแสจิตให้เห็นได้ทางปาฏิหาริย์ ก็ยังเป็นการ ถูกหลอกอย่างลึกซึ้งอยู่นั่นเอง.

พุทธบริษัท ไม่ทำอย่างนี้
จึงพิสูจน์เรื่อง ความทุกข์ และ เรื่องความดับทุกข์ โดยตรง เป็นเรื่องของ พุทธศาสนาแท้.

คัดจาก หนังสือ ธรรมานุกรมธรรมโฆษณ์ ฉบับประมวลธรรม เล่ม ๒
เรียบเรียงโดย นาย พินิจ รักทองหล่อ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๐ โดย ธรรมทานมูลนิธิ



Create Date : 26 กรกฎาคม 2552
Last Update : 26 กรกฎาคม 2552 21:07:09 น. 2 comments
Counter : 1459 Pageviews.

 
อภิโมทนาครับ


โดย: khunz วันที่: 26 กรกฎาคม 2552 เวลา:23:44:02 น.  

 
ประเสริฐที่สุด


โดย: natalee IP: 124.122.181.206 วันที่: 27 กรกฎาคม 2552 เวลา:9:37:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.