Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
3 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
กำลังใจเสียเมื่อถูกทักว่าบุญที่ทำได้ผลน้อย



ถาม – เป็นคนที่ชอบตระเวนทำบุญกับวัดต่างๆ แต่โดนคนอื่นทักอยู่เรื่อยว่าถ้าทำบุญกับวัดทั่วไปจะได้บุญน้อย
หรือกับบางวัดอาจไม่ได้บุญเลย แม้เราจะโต้ว่าบุญเป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่เรื่องของสถานที่
แต่ดูใจตัวเองก็ทราบว่าเสียกำลังใจไปไม่น้อยเหมือนกัน อย่างนี้จะเป็นเหตุให้กำลังบุญลดลงหรือเปล่าคะ?



กำลังใจลดลง ความปีติในการประกอบบุญก็ย่อมลดลงตามส่วนครับ
ไม่แช่มชื่นเหมือนตอนกำลังใจยังเต็มๆ ไปได้หรอก


บุญที่ทำจะมีกำลังแรงจริงก็เมื่อ

๑) ขณะก่อนทำมีจิตเลื่อมใส คือนึกอยากทำด้วยตนเอง ไม่มีความขัดขืนฝืนใจ มีแต่ความแน่วแน่ว่าจะทำให้ได้

๒) ขณะกำลังทำมีความยินดี คือมีใจที่ปราศจากความโลภและความหงุดหงิดขัดเคืองใดๆ
เรียกว่าถวายทานด้วยรอยยิ้มจากใจ ใจยิ้มแค่ไหนปากยิ้มแค่นั้น ไม่ใช่ฝืนแสร้งแกล้งปั้นยิ้มด้วยปากทั้งมีใจแห้ง
(ถ้าใครถวายทานด้วยสีหน้าบึ้งตึงเคร่งเครียดเป็นประจำ ก็คาดหวังได้เลยว่าเกิดชาติต่อๆ ไป
เป็นพวกที่มีใบหน้าหงิกงอ ท่าทางบอกบุญไม่รับ หมดสิทธิ์ทำอาชีพประชาสัมพันธ์เด็ดขาด)

๓) หลังทำแล้วมีความปรีดา คือเบิกบานสบาย นึกถึงเมื่อใดปลื้มใจเมื่อนั้น ว่าเราได้ประกอบบุญแล้ว
สร้างที่พึ่งอันน่าอบอุ่นใจให้ตนเองแล้ว

ด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยมทั้งสามกาลข้างต้น ก็เที่ยงที่บุญจะบันดาลสุขทั้งปัจจุบันและอนาคต
ปัญหาของคุณคือโดนบั่นทอนกำลังใจ ซึ่งหมายถึงหลังทำจะขาดความปรีดาปราโมทย์ไป

โดยคร่าวๆ นะครับ จะยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัด
เมื่อบุญที่คุณทำเผล็ดผล คุณอาจได้บ้านหลังหนึ่งเป็นรางวัล บ้านหลังนั้นอาจสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ
แถมอยู่ในสภาพแวดล้อมอันวิจิตรชวนชื่นตาชื่นใจ แต่คุณอยู่แล้วกลับไม่ปลื้มเอาเฉยๆ
มีเหตุให้รู้สึกขัดอกขัดใจเล็กๆ น้อยๆ ส่วนลึกเหมือนไม่เต็มที่กับรางวัลใหญ่ที่ได้มา

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมเกิดจากจิต ไม่ใช่วัตถุ จิตและเจตนาเป็นอย่างไร กรรมก็เป็นอย่างนั้น
กรรมเป็นอย่างไร ชีวิตและความรู้สึกก็เป็นไปตามนั้น
คุณจึงควรรักษาจิตเพื่อประกอบบุญให้ดี อย่าหวั่นไหวกับอะไรง่ายๆ

คนที่ชอบทักให้คนอื่นเสียกำลังใจในการบุญนั้น
ทั้งปัจจุบันและอนาคตจะเป็นผู้ไม่มีกำลังใจในการบุญ โดนบั่นทอนกำลังใจเช่นกัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าใครกล่าวว่าพระสมณโคดมตรัสแนะให้ให้ทานแก่พระองค์เพียงคนเดียว
ไม่ควรให้แก่ใครอื่น และพึงให้ทานแก่สาวกของพระองค์ ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของคนอื่นๆ
อย่างนี้ผู้นั้นได้ชื่อว่าไม่พูดตามที่พระองค์ตรัส ทั้งกล่าวตู่พระองค์ด้วยคำอันไม่ดี ไม่เป็นจริง

ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ยังตรัสเสริมอีกว่า ถ้าใครห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่
ผู้นั้นได้ชื่อว่าย่อมทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง หมายความว่า
๑) เขาทำอันตรายแก่บุญของผู้ให้
๒) เขาทำอันตรายแก่ลาภของผู้รับ
๓) เขาย่อมทำลายตนเองด้วยบาปที่ตนก่อแล้ว

ฉะนั้นหากเมตตาเขาก็อย่าช่วยให้เขาทำกรรมสำเร็จ ด้วยวิธีง่ายๆ คืออย่าใจเสียตามคำเขาก็แล้วกันครับ



ทำทานเมื่อไรจึงจะพอ


ถาม – ถามตัวเองเสมอว่าแค่ไหนจึงเรียกว่าทำทานพอดีแล้ว
ในเมื่อเราให้ไปแล้ว ยังต้องให้อีกเรื่อยๆอย่างนั้นหรือ? ใจจริงไม่ใช่คนชอบให้อะไรใคร
ที่เคยให้ๆ ไปก็เพราะหันมาเชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป
แต่ก็ยังเป็นความเชื่อที่ไม่หมดความสงสัย ไม่ได้เห็นผลของการให้แบบทันตาทันใจ



เพื่อให้รู้ว่าพอดีแล้วหรือยัง เราต้องมาดูเป้าหมายของการทำทาน ตามอุดมคติของพระพุทธศาสนากันก่อนนะครับ
จุดใหญ่ใจความของทานคือเพื่อให้มีความสุขในปัจจุบัน มีความสุขในอนาคต และมีความสุขที่ยั่งยืน
แจกแจงได้ดังนี้

๑) เพื่อให้มีความสุขในปัจจุบัน คือการทำลายความตระหนี่ถี่เหนียว
พุทธเราถือว่าความตระหนี่ถี่เหนียวเป็นก้อนกรวด หรือก้อนหินโสโครกที่ ขวางกระแสความสุข
ความสุขอันประเสริฐนั้นรินมาจากใจซึ่งเปี่ยมความเมตตากรุณา
หากเจอสิ่งอุดตันอย่างความตระหนี่ขวางทาง ก็หมดสิทธิ์หลั่งรินมาทำความชุ่มฉ่ำให้ใจเราเป็นแน่
คุณลองนึกถึงตอนจะเอาแล้วไม่ได้อย่างใจ หรือนึกถึงตอนตัวเองเถียงหน้าดำหน้าแดงเพื่อแย่งสมบัติกับใคร
ใจมันเปิดโล่งหรือคับแคบ อึดอัดหรือสบาย หายใจเข้าออกด้วยความทุกข์หรือความสุข
แล้วถ้าตลอดทั้งชาติเกิดมา เพียงเพื่อได้รู้จักกับรสชาติของความหวงแหน ชีวิตจะแร้นแค้นความสุขสักขนาดไหน

๒) เพื่อให้มีความสุขในอนาคต คือการสั่งสมบุญ สั่งสมกรรมดี
อันจะก่อให้เกิดผลหรือที่เรียก ‘วิบาก’ ในอนาคตกาล ซึ่งอาจเป็นระยะใกล้ชนิดเห็นทันตาในชาติปัจจุบัน
หรืออาจเป็นระยะไกลที่ต้องรอดูกันยาวๆ ด้วยดวงตาของคุณในชีวิตถัดไป ไม่ใช่ด้วยดวงตาในชีวิตนี้
พระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่าผู้ให้ทานเป็นนิตย์ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์และโลกมนุษย์อันมั่งคั่ง
ห่างไกลจากความอดอยากและความอัตคัดขัดสน เนื่องจากบุญเป็นความสว่าง เป็นเหตุแห่งความสุขความเจริญ
เป็นธรรมชาติที่มีหน้าที่ตกแต่งรูปสมบัติและคุณสมบัติอันน่าใคร่ น่าพอใจ
คุณสามารถเห็นลางดีบอกอนาคตอันรุ่งเรืองได้ จากหน้าตาและผิวพรรณในปัจจุบัน
ยิ่งคิดเสียสละมากขึ้นเพียงใด ความผ่องใสก็ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นเพียงนั้น

๓) เพื่อให้มีความสุขที่ยั่งยืน คือการสร้างปัจจัยเกื้อกูลให้พบทางสู่นิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสว่านิพพานคือบรมสุข
คือนอกจากมีรสอันเยี่ยมเกินรสใดๆแล้ว ยังไม่กลับไม่เปลี่ยนมาเป็นทุกข์อีกเลย
การหมั่นให้ทานทำให้เราลดความหวงแหน ลดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่าอะไรๆ เป็นสมบัติของเรา
อะไรๆ เป็นของที่จะเอาติดตัวไปได้ เมื่ออุปาทานเบาบางลงระดับหนึ่ง
บวกกับการรักษาศีลและเจริญสติให้ถูกต้องตรงทาง
ในที่สุดอุปาทานอันหนาเตอะก็ถูกกะเทาะให้ร่วงกราวลงได้หมด
จิตเบ่งบานถึงขีดสุดด้วยการเปิดไปพบมหาอิสรภาพคือนิพพาน ไม่ต้องเวียนกลับมาทนทุกข์ทนร้อนกันอีก

จาก ๓ เหตุผลของการให้ทานตามอุดมคติของพระพุทธศาสนาดังกล่าวข้างต้น
ทำให้พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญทาน อันเกิดจากการฝืนใจทำชั่วครั้งชั่วคราว
แต่พระองค์จะสรรเสริญผู้ที่มีความ ‘ตั้งมั่นในทาน’ หมายถึงการ ‘มีแก่ใจคิดให้’ ไปเรื่อยๆ เป็นนิสัย
เป็นความเคยชิน เป็นธรรมชาติแท้จริงที่ไม่ได้เกิดจากการฝืนใจ หรือเล็งโลภหวังผลต่างๆ นานา

เมื่อรู้จักฝึกเป็นฝ่ายให้ได้ตลอดชีวิต นั่นแหละจะก่อนิสัยใหม่ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า
พูดง่ายๆ ให้รวบรัดคือเปลี่ยนแปลงตนเองจากความเป็นคน ‘ไม่ได้มีใจจริงที่คิดจะให้’ เป็นคน ‘มีใจจริงที่จะให้’

อย่างไรก็ตาม การทำทานที่ ‘พอดี’ คือทำแต่ละครั้งไม่รู้สึกว่าตนต้องเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง
ไม่ได้กู้ยืมใครเขามาทำทาน แต่ทำบ่อยๆ จนรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องให้อย่างสมควรแก่ฐานะ
คือไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ให้แล้วยังมีกินมีใช้อย่างสบาย

การทำทานแบบไม่ลืมหูลืมตาจน ‘เกินพอดี’ นั้น คือทำด้วยจิตที่เล็งโลภอยู่ว่าจะได้ผลตอบแทนมากมาย
ยิ่งทำเกินตัว จ่ายทรัพย์มากหวังผลมากแบบนักลงทุน อย่างนั้นแทนที่จะได้ดีอาจกลับกลายเป็นได้ร้าย
สวนทางเหตุผลของการให้ทาน คือ

๑) เป็นผู้ไม่มีความสุขในปัจจุบัน คือสะสมความโลภ
วันๆ คิดแต่เรื่องการ ‘ลงทุนทำทาน’ เพื่อให้รวยเร็ว หรือเพื่อให้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงส่ง
เมื่อกระวนกระวายเล็งรับผลอยู่ ใจย่อมไม่เป็นสุข ความตระหนี่ย่อมไม่หายไปไหน ซ้ำร้ายอาจพอกพูนขึ้นกว่าเดิม
เห็นได้จากการที่บางคนทำบุญด้วยการกะเกณฑ์ว่า บุญกองนี้เป็นส่วนของฉันเท่านั้น ห้ามใครยุ่งเกี่ยว
ห้ามใครมามีส่วนร่วม นั่นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ายังขาดความเข้าใจเรื่องการแบ่งปัน การมีน้ำใจต่อส่วนรวม
อันเป็นเป้าหมายแท้จริงของการเสียสละเป็นทาน

๒) เป็นผู้ไม่มีความสุขในอนาคต คือสั่งสมบุญอันเจือด้วยความโลภ
แม้อนาคตกาลเมื่อเกิดใหม่ในตระกูลร่ำรวย หรือได้เป็นพ่อค้าแม่ขายที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว
ความร่ำรวยนั้นย่อมกระตุ้นให้ละโมบโลภมาก เนื่องจากเคยเล็งไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งทำบุญในอดีตชาติ ว่าขอให้รวย
ขอให้มีมาก หาใช่ด้วยน้ำใจสละออก เมื่อรวยและมีมากสมใจ จึงไม่คิดแบ่งปันใคร
คิดเป็นแต่จะเอาเข้าตัวพอกพูนให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป คุณลองหามาเถอะ เศรษฐีโลภมากคนไหนบ้างที่เป็นสุขทางใจ
ไม่ว่าจะมีกี่ร้อยกี่ล้าน ความตระหนี่และความละโมบโลภมากย่อมเป็นของหนัก ของดำ ของน่าเกลียดน่าอึดอัด
ติดจิตติดใจเขาไปทุกฝีก้าว เขาได้ชื่อว่าครอบครองสมบัติเพื่อเป็นทุกข์ทางใจโดยแท้

๓) เป็นผู้ไม่มีความสุขที่ยั่งยืน คือสวนทางกับการสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้พบนิพพาน
เพราะจะพบนิพพานได้นั้น จิตต้องบริสุทธิ์จากกิเลส แต่นี่ทำบุญเพื่อบำรุงกิเลส ผลแห่งบุญก็ย่อมมีความขัดแย้ง
มีความขัดขืนฝืนต้าน ไม่ยอมให้เข้าสู่ทางไปนิพพานได้เต็มตัว

สรุปสั้นๆ นะครับ
ผลอันทันตาทันใจของ ‘การให้ทานที่พอดี’ คือความรู้สึกสบายใจในวันนี้ และอบอุ่นใจกับวันหน้า
ตราบใดยังไม่สบายใจในวันนี้ และยังไม่อบอุ่นใจกับวันหน้า ก็แปลว่าคุณยังมีความไม่พอดีกับการทำทานนั่นเอง


โดย ดังตฤณ
ที่มา : //dungtrin.com
ภาพจาก : //www.thai-blogs.com


Create Date : 03 กรกฎาคม 2553
Last Update : 3 กรกฎาคม 2553 20:47:18 น. 1 comments
Counter : 1162 Pageviews.

 
สาธุ .. มาขออนุโมทนาบุญด้วยจ๊ะ ดีชั่วอยู่ที่จิตเรานะ บุญบาปเช่นกัน


โดย: *~ต้นกล้า...ของหัวใจ~* วันที่: 5 กรกฎาคม 2553 เวลา:17:53:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.