เปิดแผนเตรียมความพร้อมพื้นที่รอบพระบรมมหาราชวัง และมณฑลพิธีท้องสนามหลวง



สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25–29 ตุลาคม 2560

 

การเตรียมงานเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 โดยมีการสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธี รวมถึงการเตรียมงานมหรสพในงานออกพระเมรุ ขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่เกิน 3 เดือน ที่หน่วยงาภาครัฐได้เตรียมความพร้อมรอบพื้นที่โดยรอบพระบรมมหาราชวัง และมณฑลพิธีท้องสนามหลวง 

เริ่มที่การเตรียมความพร้อมเส้นทางการเคลื่อนริ้วขบวนฯ หน่วยงานกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้เร่งปรับปรุงถนนรวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบสนามหลวง ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเร็วกกว่าแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ ซึ่งกทม.มั่นใจจะปรับปรุงภูมิทัศน์ทันกับหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ก่อนที่กองทัพภาคที่ 1 จะซักซ้อมริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมศพ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 6 ริ้วขบวน จำนวน 4 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 กำหนดซักซ้อมในวันที่ 7 ตุลาคม 2560 ครั้งที่ 2 วันที่ 11 ตุลาคม 2560 ครั้งที่ 3 วันที่ 12 ตุลาคม 2560 และครั้งที่ 4 วันที่ 22 ตุลาคม 2560 

ทำให้กทม.ต้องรื้อถอนเต็นท์ภายในท้องสนามหลวงให้แล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ย.2560 เพื่อที่หน่วยงานอื่นๆ ตั้งแต่ สำนักการจราจรและขนส่ง และสำนักสิ่งแวดล้อม เข้าพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆ ให้ทันก่อนช่วงวันที่มีการซักซ้อมริ้วขบวน โดยเฉพาะกทม.ได้มอบหมายให้สำนักการโยธา กำหนดแผนการทำงานแบบวันต่อวัน รวมทั้งรายงานปัญหาอุปสรรคให้ปลัดกทม.ได้รับทราบทุกวัน นอกจากนี้ยังได้กำชับให้สำนักการโยธาปรับปรุงพื้นผิวถนนเส้นทางริ้วขบวนให้มีความลาดชันที่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงเลี้ยวเข้าถนนสายกลางเพื่อเข้าสู่พระเมรุมาศนั้น ให้ออกแบบเพื่อให้การชักลากพระมหาพิชัยราชรถเป็นไปด้วยความสะดวก 

ทั้งนี้ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วย

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผ่านทางประตูเทวาภิรมย์ จากนั้นใช้เส้นทางถนนมหาราช เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งไปยังถนนสนามไชย เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รวมระยะทาง 817 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที 

ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปทางถนนสนามไชย ยาตราขบวนแห่เชิญพระโกศทองใหญ่ จากถนนสนามไชย เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน จากนั้น ขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่เชิญพระโกศทองใหญ่เข้าสู่ท้องสนามหลวง รวมระยะทาง 890 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 

ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนราชรถปืนใหญ่ ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศเข้าสู่ราชวัติ เวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) 3 รอบ 

เวียนพระเมรุมาศครบ 3 รอบแล้ว เทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศ เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐาน ณ พระจิตกาธาน รวมระยะทาง 260 เมตรต่อรอบ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที 

พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่ใช้ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิในขบวนพระบรมราชอิสสริยยศ ริ้วที่ 4 และริ้วที่ 5 ดังนี้ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 4 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 5 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 

ส่วนขบวนกองทหารม้า ในริ้วขบวนที่ 6 ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและวัดบวรนิเวศวิหาร โดยขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสีรางคาร จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปบรรจุ ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 

ขณะที่การอบรมอาสาสมัคร รักษาความปลอดภัยและการแจ้งเหตุ รุ่นที่ 2 นั้น กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยรอบพระบรมมหาราชวัง (กอร.รส.) ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกทม. จัดอบรม อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยและการแจ้งเหตุขึ้น เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมซึ่งเป็นอาสาสมัครที่มีจิตศรัทธาช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยงานพระราชพิธี  ได้เข้าใจแนวทางการเฝ้าระวังภัย และการแจ้งข่าวสาร รวมทั้งสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐได้

สำหรับการอบรมครั้งนี้ มีผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจ พนักงานรักษาสะอาดของกทม เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในท้องสนามหลวง อาทิ ไฟฟ้า ประปา การขนส่งมวลชนกรุงเทพ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป รวมจำนวน 1,135 คน โดยหลักสูตรการฝึกอบรม จะให้ความเรื่องกฎหมาย การตรวจค้นและการจับกุม การอบรมให้ความรู้ในเรื่องระเบิด การสังเกตุจดจำและแจ้งเหตุ 

ด้านระบบสื่อสาร เพื่อถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ในวันงานพระราชพิธี จะมีการถ่ายทอดสดผ่านจอแอลซีดีขนาดใหญ่ตลอดถนนราชดำเนิน โดยมีกล้องถ่ายทอดสดกว่า 100 ตัว รถถ่ายทอดสดประมาณ 18 คัน และขณะนี้ได้ดำเนินขุดวางท่อเคเบิลจากท้องสนามหลวงแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้ชมพระราชพิธีอย่างทั่วถึง เนื่องจากในช่วงการจัดงานจะมีผู้คนจากทั่วโลกร่วมรอรับชมภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาวไทยเป็นจำนวนมาก

ทั้งหมดจึงเป็นการเตรียมความพร้อมพระราชพิธีครั้งสำคัญของคนไทย เพื่อให้การจัดพิธีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย งดงาม สมพระเกียรติพระองค์ท่านไว้สูงสุด


ที่มา thaitribune




Create Date : 22 กรกฎาคม 2560
Last Update : 22 กรกฎาคม 2560 13:13:57 น. 0 comments
Counter : 212 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.