กทม.ควรปรับขึ้นค่าโดยสารรถ BRT เป็น 20 บาทใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ชักชวนคนนั่งแล้วได้ประโยชน์อย่างไร



รถโดยสาร BRT สายสาทร-ราชพฤกษ์ หรือสายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ เป็นระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที (BRT =Bus Rapid Transit) สายนำร่องของกรุงเทพมหานคร และเป็นสายแรกของประเทศไทย เดินรถบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์,ถนนพระรามที่ 3,สะพานพระราม 3 และถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร มีจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร 12 สถานี

 

โดยจัดช่องทางการเดินรถแยกจากช่องทางปกติบนพื้นถนนเดิมในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นบนสะพานข้ามทางแยกและสะพานพระราม 3ที่เดินรถในช่องเดินรถมวลชน (high-occupancy vehicle/HOV lane) ร่วมกับรถยนต์ที่มีผู้โดยสารตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (ในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Carpool lane) และบริเวณทางแยกบางจุดที่ใช้ช่องทางร่วมกับรถทั่วไป

โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม. ด้วยงบประมาณ 1,400 ล้านบาท หลังจากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2550 เริ่มก่อสร้างจริงเมื่อปี พ.ศ. 2550  เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 กทม.แถลงว่าจะยกเลิกโครงการรถโดยสาร BRT วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลหลักคือขาดทุนสะสมปีละกว่า 200 ล้านบาท  

ต่อมาพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม.แถลงว่าจะไม่ยกเลิกการเดินรถสายนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการคือ

1.ถ้ายกเลิก เงินที่ลงทุนไป 1,700-1,800 ล้านบาท เมื่อ 8 ปีที่แล้วจะทำอย่างไร

2.สถานีอยู่ตรงกลางก็ต้องรื้อทิ้งทั้งหมด (ใช้เงินค่ารื้อถอนอีก)

3.ที่สำคัญไม่มีรถประจำทางวิ่งรับ-ส่งประชาชนในเส้นทางนี้

พล.ต.อ.อัศวินเปิดเผยว่าที่ผ่านมา กทม.จ้าง บีทีเอสจัดการเดินรถในราคา 230 ล้านบาทต่อปี ด้วยการจัดเก็บค่าโดยสาร 5 บาท เก็บค่าโดยสารได้ 30 ล้านบาทต่อปี ทาง บีทีเอสยื่นข้อเสนอใหม่มาให้ กทม. คือ 200 ล้านบาทต่อปี “แต่ผมให้แค่ 170 ล้านบาท/ปี ถ้าไม่ได้ 170 ล้านบาท/ปีหรือต่ำกว่า ก็ไม่เอา บีทีเอสก็กลับไปพิจารณาข้อเสนอของเรา เเละ ต้องได้ข้อสรุปทันก่อนหมดสัญญาในเดือนเมษายนนี้”

สำหรับเรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงเรื่องโครงการขาดทุนสะสมนั้น ผู้ว่าฯ กทม.ชี้แจงว่า ขณะนี้กทม.ปรับได้ขึ้นค่าโดยสารเป็น 10 บาท จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านบาท/ปี และในอนาคตถ้าจะได้เดินรถต่อก็จะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสายซึ่งผลสำรวจประชาชนยอมจ่ายถึง 30 บาท แต่กทม.คิด เพียงแค่ 15 บาท เป็นอัตรากลางๆ จากที่คมนาคมเคยกำหนดที่ 13-19 บาทและจะทำให้มีรายได้เพิ่มเป็น 90 ล้านบาท/ปี

หากจะต้องจ้างเดินรถ 170 ล้านบาท/ปี หักรายได้ 90 ล้าน เท่ากับกทม.จะจ่ายค่าดำเนินการ 80 ล้านบาท/ปี “อย่าไปคิดประเด็นขาดทุน เพราะการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ไม่มีกำไรขาดทุน ในส่วนของการต่อสัญญาจะต่อ 2-3 ปีเท่านั้น เพราะอนาคตตามแผนจะมีรถไฟฟ้าขนาดเบา(โมโนเรล) มาทดแทน และผู้โดยสารส่วนของเด็กนักเรียนและผู้สูงอายุยังคงให้บริการฟรี” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

ผมเห็นว่ากทม.จะต้องเดินรถสายนี้ต่อไป เพราะ

1.กรุงเทพฯเป็นนครหลวงจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก เพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านการเดินทาง ประหยัดพลังงานน้ำมัน ไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว ที่จอดรถส่วนตัวในกรุงเทพฯก็มีไม่พอเพียง

2.จากการศึกษาเรื่องการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นถือว่าสะดวกกล่าวคือ

-สถานีสาทร เชื่อมต่อกับสถานีช่องนนทรี ของ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม

-สถานีราชพฤกษ์ เชื่อมต่อกับสถานีตลาดพลู ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม (ส่วนต่อขยายช่วงตากสิน-บางหว้า)

-จากการศึกษาเส้นทางเรือ พบว่ามีท่าเรือ 4-5 แห่งที่ผู้โดยสารสามารถโดยสารเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งธนบุรีมาใช้บริการได้ เช่น จากท่าเรือธนาคารกสิกรไทย สามารถข้ามฟากมาใช้บริการที่สถานีวัดดอกไม้ได้โดยตรง เป็นต้น

3.ผมเห็นว่ากทม.ควรจัดเก็บ 20 บาทแทนที่จะเป็น 15 บาท สาเหตุเพราะทุกปีจะมีอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้น มีค่าเสื่อมของรถ ผู้โดยสารที่สำรวจมายอมที่จะจ่ายถึง 30 บาท ก็แสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารยังต้องการให้รถสายนี้เดินรถบริการต่อไป

4.เงินส่วนต่าง 5 บาทที่เก็บมาเพิ่มเติมนั้น กทม.ควรนำมาทำงานด้านการบำรุงรักษารถ,การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาใช้รถสายนี้มากขึ้นและช่วยลดการขาดทุนลงได้อีก (คิดบ้างว่าโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ทำกำไรสูงสุดกับประชาชนเหมือนพ่อค้าทั่วไปทำ)

อาจมีคำถามว่าประชาสัมพันธ์อะไร

1.เมื่อใช้บริการรถสายนี้แล้วจะได้รับความสะดวกอย่างไร สามารถต่อรถสายอื่นไปไหนได้บ้าง ต้องแจกแจงให้ประชาชนรับทราบอย่างละเอียดเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น

2.เส้นทางที่รถเดินทางนั้นมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์อะไรบ้างที่ประชาชนจะได้ไปศึกษาหาความรู้  มีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรบ้างที่ประชาชนไปท่องเที่ยวได้ ตัวอย่างเช่น

สถานีวัดดอกไม้ ทุกวันพุธมีตลาดนัดขายของสดกันในบริเวณวัดมาช้านาน มีทั้งของสดพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักสด อาหารแห้งพวกปลาหมึก กุ้งแห้ง ปลาเค็ม รวมไปถึงสิ่งของเครื่องใช้สบู่ ยาสระผม ผงซักฟอก เครื่องครัว ถ้วยชามต่างๆ เสื้อผ้า รองเท้าก็มีเป็นแบบของพื้นๆไม่มีแบรนด์  ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ

ผู้โดยสารลงรถสถานีไหนและจะไปต่อรถอะไรเพื่อไปเที่ยว เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ บนถนนเจริญกรุงได้

3.สถานที่บันเทิง/แหล่งอาหาร  เส้นทางเหล่านี้มีสถานที่บันเทิงอะไรบ้าง มีร้านอาหารอร่อยๆที่ไหนบ้าง หรือมีกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นมาที่ไหน เพื่อชักจูงให้ผู้คนไปเที่ยวอุดหนุนงาน ไปหาอาหารดีๆรับประทาน ไปฟังเพลงเพื่อผ่อนคลายตามห้องอาหาร ให้ทำประชาสัมพันธ์หมุนเวียนร้านและแหล่งบันเทิงไป อย่างน้อยก็ช่วยส่งเสริมธุรกิจของคนกรุงเทพฯ

4.การจัดทำประชาสัมพันธ์นั้นจะต้องมอบหมายให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์กทม.ไปวางแผนดำเนินการ จากนั้นก็เลือกที่จะลงในสื่อเช่นสร้างเฟซบุ๊กระบบขนส่งมวลชนของกทม.ทั้งหมดนำมารายงานข่าว เสนอเรื่องราวต่างๆที่คนอยากรู้  รวมทั้งมีการจัดทริปให้กับสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆเดินทางไปร่วมรับชมและเลี้ยงอาหารกลางวันพวกเขาด้วย โดยมีพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้นำทาง อาจจะจัดทำ 3 เดือนครั้งหรือแล้วแต่โอกาสสะดวก

5.ควรจัดทำประชาสัมพันธ์เป็นภาษาต่างประเทศด้วยเช่นภาษาอังกฤษ,จีน และภาษาอื่นที่เหมาะสมเพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ใช้บริการรถ BRT ด้วย เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายรายชอบผจญภัยด้วยตัวเองอยู่แล้วเพื่อจะได้เห็นทุกซอกมุมของวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ

ตัวอย่างวิธีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนขึ้นรถเที่ยวสถานที่ต่างๆจากเว็บไซต์ "ไปไหนดี"

//www.painaidii.com/wheretogo/wheretogo-detail/000044/travel-with-bts-mrt/lang/th/

การทำประชาสัมพันธ์ของ L.A. Metro

ผมขอยกตัวอย่างองค์การขนส่งมวลชนมณฑลลอส แอนเจลิส (The Los Angeles County Metropolitan Transportation Authority) เรียกสั้นๆว่า เมโทร ก็เป็นที่เข้าใจ มีเว็บไซต์อยู่ที่ www.metro.net   แม้ว่าจะมีเว็บไซต์ มีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆพร้อมสรรพอยู่แล้ว แต่ MTA ก็มาลงโฆษณากับหนังสือพิมพ์ชาติต่างๆในแอล.เอ.  ด้วยการส่งภาษาอังกฤษมาแล้วให้หนังสือพิมพ์ภาษานั้นๆแปล  ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนอ่านในแต่ละชาติพันธุ์รับทราบอยางเข้าใจในภาษาของตัวเอง 

ตัวอย่างที่ลงในหนังสือพิมพ์ไทยในแอล.เอ. ซึ่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ กทม.สามารถนำไปศึกษาว่าจะแจ้งหรือชักชวนคนกรุงเทพฯใช้บริการได้อย่างไร ดังนี้

ฟังเพลง Taste of Soul 18 ต.ค.นี้ 

ขอเชิญร่วมฟังดนตรีสดๆ,อาหารอร่อย,ซื้อสินค้าที่ระลึกหัตถกรรมของพื้นที่และอื่นๆในงานเพลง the Taste of Soul วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคมนี้ระหว่าง 10.00-19.00 น. เข้าร่วมพบปะเจ้าของร้านค้าและห้องอาหารต่างๆในเขต Crenshaw District ซึ่งเปิดดำเนินการระหว่างการก่อสร้าง Crenshaw/LAX Transit Project นั่งรถไฟเมโทร Expo Line ไปลงที่สถานี  Expo/Crenshaw Station.

การก่อสร้างส่วนเชื่อมต่อเริ่มแล้ว

เมื่อเร็วๆนี้เมโทรและเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางทำพิธีเปิดการก่อสร้างโครงการเชื่อมต่อการคมนาคมของรถไฟใต้ดิน(Regional Connector Transit Corridor Project) ระยะทาง 2 ไมล์ในดาวน์ทาวน์แอล.เอ. โดยจะเชื่อมต่อสายโกลด์ ไลน์,บลูไลน์และเอ็กซ์โป ไลน์ รายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปดูได้ที่ metro.net/regionalconnector

ใช้ TAP ได้ 2 ชั่วโมงในการต่อรถ   

เมื่อท่านจ่ายค่าโดยสารเมโทรทั้งรถประจำทางและรถไฟด้วยการใช้บัตร TAP (บัตรพลาสติก) ท่านมีเวลา 2 ชั่วโมงในการต่อรถโดยสารเที่ยวเดียวโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม วิธีการเพียงแต่ซื้อบัตรโดยสารประเภทนี้ที่จำหน่ายหรือบริเวณสถานีรถไฟก่อนขึ้นโดยสาร  สถานที่จัดซื้อเข้าไปดูได้ที่ metro.net

ใช้เมโทรไปดูคอลเลจฟุตบอล 

ฤดูใบไม้ร่วงเป็นฤดูของฟุตบอล ใช้รถของเมโทรถือว่าชาญฉลาดในการไปดูเกมการแข่งขันของ USC และ UCLA เมื่อเล่นในบ้านของตัวเอง เพื่อเดินทางไปยัง LA Coliseum ให้ใช้รถไฟสายเอ็กซ์โป จากนั้นก็ไปลงที่สถานี the Expo/Vermont หรือสถานี Expo Park/USC  หากไปชมการแข่งขันของ UCLA ที่สนามโรสโบว์ล ใช้รถไฟสายโกลด์ ไลน์ ไปลงที่สถานี Memorial Park เมืองพาสซาดีน่า   

การมีรถระบบขนส่งมวลชนถือว่าดีอยู่แล้ว อย่าไปคิดเลิกเด็ดขาด ทำอย่างไรจะส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้ให้มาก  ที่ลอส แอนเจลิสในทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาผู้คนใช้รถส่วนตัวกันมากขึ้นเพราะถนนหนทางดี มีฟรีเวย์ (บ้านเราเรียกทางด่วน)ดีที่สุดในโลก 

ต่อมาราคาน้ำมันดิบถีบตัวสูงขึ้น แอล.เอ.จึงคิดระบบขนส่งมวลชนขึ้นมา สร้างทั้งรถไฟบนดินและใต้ดิน เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็จัดทำระบบ BRT เหมือนกันและมีเพียง 2 สายคือ Orange Line และ Silver Line

ผมจึงเห็นว่าอย่าเลิกรถ BRT ของกรุงเทพฯเด็ดขาด มีแต่จะเพิ่มการขนส่งมวลชนให้มากขึ้น

ที่มา thaitribune




Create Date : 09 เมษายน 2560
Last Update : 9 เมษายน 2560 15:48:55 น. 0 comments
Counter : 235 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.