ประธานาธิบดียังไม่เปิดเผยแบบการเสียภาษีเงินได้ โดย ดร. เชิดชัย ขันธ์นะภา



เป็นข่าวมาระยะหนึ่งแล้วเรื่องนายโดนัล ทรัมพ์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ยังไม่ยอมเปิดเผยแบบการเสียภาษีเงินได้ของเขาสำหรับปีภาษีปัจจุบัน ที่จริงประชาชนสหรัฐฯ เรียกร้องให้เขาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภาษีของเขาตั้งแต่เขายังหาเสียง เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศแล้วและมีการเรียกร้องและประท้วงนายทรัมพ์ มาตลอดที่เขาไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลนี้

 

ข้ออ้างของทรัมพ์ที่ยังไม่เปิดเผยฯ คือ สรรพากรยังตรวจสอบแบบการเสียภาษีฯ อยู่ นับว่าเป็นการอ้างสรรพากรเพื่อไม่แสดงข้อมูลที่เป็นสาระของผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองของประเทศ ซึ่งกระทบต่อฐานะและกิจวัตรของประชาชนทั่วไป (น่าจะผิดหลักการของการเข้ามาดำรงตำแหน่งการงานในภาคสาธารณะ(ภาครัฐ) ) และขณะนี้ทรัมพ์ก็เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว สรรพากรมาอยู่ภายใต้การควบคุมของทรัมพ์โดยตรง ก็เกิดคำถามว่า นี่เป็นการประพฤติตนอยู่เหนือกฎหมายหรือไม่ เพราะสรรพากรคงไม่ “พายเรือขวางน้ำ” อย่างแย่ก็แก้ไขแบบการเสียภาษีให้ “เปิดเผยต่อสาธารณะ” ได้

ที่สงสัยมากๆ ก็คือ ทำไมสรรพากรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งโตมากๆ จึงใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในการตรวจสอบแบบการเสียภาษีฯ ของคน 1 คน (แม้จะมีกิจการมากมาย และทำกิจกรรมหลายอย่าง) แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ข้อมูลการเสียภาษีของ “บุคคลสาธารณะ”ในแง่สภานะทางกฎหมาย ยังอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าความเป็นส่วนตัวของบุคคลที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลของเขาต่อสาธารณะได้ เข้าใจว่ากรณีนี้น่าจะมีการใช้กลยุทธ์ทางกฎหมายเพื่อสกัดหรือถ่วงไม่ให้สรรพากรจบงานการตรวจสอบได้ง่ายๆเพื่อส่งต่อกรณีที่นำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีต่อสาธารณชน

ถึงอย่างไรก็ตาม ประชาชนสหรัฐฯขณะนี้ก็มีความสังหรณ์บางประการเกี่ยวกับการเสียภาษีของทรัมพ์ ซึ่งมีประเด็นหลักๆ พอกล่าวถึงได้ ดังนี้

 1. ทรัมพ์สามารถลดภาษีที่ต้องชำระแก่ประเทศได้เป็นจำนวนเงินที่มาก ด้วยวิธีการนำการขาดทุนจากกิจการของเขาในอดีต มาหักออกจากรายได้ที่ต้องเสียภาษี ทรัมพ์เคยแจ้งการขาดทุนไว้ 1 กรณีในปี ค..1995 ว่าเขามีขาดทุนถึง  916 ล้านเหรียญฯ ซึ่งปริมาณขาดทุนนี้สามารถนำไปใช้หักลบรายได้ที่ต้องเสียภาษีได้อีก 18 ปี

2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของทรัมพ์ ได้สิทธิ์หักลดหย่อน(DEDUCTIONS) ภายใต้กฎหมาย ซึ่งมีบทบัญญัติพิเศษให้ผู้ประกอบการ“หักค่าเสื่อม”ได้ นอกจากนี้ บทบัญญัติยอมให้มีการชะลอการเสียภาษีจากการขายทรัพย์ ซึ่งเป็นรายได้ หากผู้ประกอบการนำเงินจากการขายไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ “ในมิติเดียวกัน” สรรพากรก็จะมองธุรกรรมนี้(แรก)ว่ายังไม่สิ้นสุด แต่ได้เปลี่ยนรูป (EXCHANGE) ไป เท่านั้นเอง แค่นี้นายทุนก็เลื่อนการชำระภาษีที่ต้องจ่ายออกไปสู่อนาคต(ที่ยังไม่รู้ว่าต้องจ่ายตัวเงินภาษีเมื่อไหร่) ศาสตราจารย์ Kleinbard แห่งมหาวิทยาลัย USC จึงอธิบายว่า เมื่อทรัมพ์ขายตึกใหญ่ในเมืองนิวยอร์คแล้ว เขาสามารถซื้อนาผืนใหญ่ๆในกลางประเทศ ก็ต้องถือว่ามันเป็นการ “เปลี่ยนรูป” ทรัพย์ที่กฎหมายสรรพากรยอมรับ และไม่มีกรณีการชำระค่าภาษีใดๆในชั้นนี้

3. รายได้จากอสังหาริมทรัพย์สามารถหักลบด้วยค่าดอกเบี้ยของเงินกู้ที่กู้มาซื้ออสังหาฯ การทำแบบนี้ธรรมดามากๆ ซึ่งทรัมพ์ก็ทำ เพราะจากการลงทุนในสนามกอล์ฟของเขาในสหราชอาณาจักร ทรัมพ์ต้องแถลงรายละเอียดภายใต้กฎหมายอังกฤษ (F.E.C.) ปรากฏว่าเขามีหนี้อยู่ 315 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากธุรกรรม ซึ่งดอกเบี้ยที่เกิด เอาไปหักจากรายได้ได้ อย่างนี้คือรวยเอารวยเอาหรือเปล่า

 4. นอกจากนี้ กฎหมายธุรกิจอสังหาฯ ยังยินยอมให้ผู้ประกอบการหักผลการขาดทุนต่างๆ ของตน จากรายได้จากธุรกิจอสังหาฯ หากผู้ประกอบการตีความแล้วถือว่า “ยังทำกิจการอสังหาริมทรัพย์อยู่” ดังนั้นการขาดทุนจากธุรกิจต่างๆ ของทรัมพ์ สามารถเอามาหักกับรายได้จากอสังหาฯ ของนายทรัมพ์ กฎ (Active Professional) (นาย John Buckley ผู้เคยเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการการคลังของ  สภาผู้แทนราษฎรฯ กล่าว) ซึ่งในประเด็นที่ว่านี้ ถามว่าขณะนี้ยังถือว่าทรัมพ์ “ยังทำธุรกรรมอสังหาฯ”อยู่ได้หรือไม่  แล้วที่เขาเล่นการเมือง เดินทางหาเสียง และปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานาธิบดี ฯลฯ เป็นการใช้เวลาในชีวิตของเขาอันเป็นสาระซึ่งไม่ใช่กิจการอสังหาฯ หรือว่า ทรัมพ์ยังมีสถานะ “Active Professional” ทางอสังหาฯอยู่  จึงได้สิทธิ์การลดภาระภาษีแบบนี้

5. กฎหมายในสหรัฐฯ เต็มไปด้วยช่องทางต่างๆ นานาที่ผู้เสียภาษีที่ขยันจะสามารถหาช่องโหว่ เพื่อจรลีเข้าไป เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีตามกฎหมายปกติ ยกตัวอย่างที่พูดกันสำหรับกรณีของทรัมพ์ คือทรัมพ์มีอสังหาฯ ชิ้นใหญ่ชิ้นงามอยู่ 4 ชิ้น คือ MAR-A-LAGO(ที่ฟลอริดา) SEVEN SPRINGS(ที่นิวยอร์ค) BEDMINSTER และสนามกอล์ฟ(ที่คาลิฟอร์เนีย) มูลค่าและรายได้จากกิจการไม่ต้องพูดถึง  แต่ช่องโหว่ ที่กฎหมายเปิดให้เกี่ยวกับภาษีก็คือ หากธุรกิจแถลงว่าขอ “แจ้งภาระจำยอมรักษาสภาพแวดล้อม (CONSERVATION)” ธุรกิจ (คือเจ้าของ) จะได้รับสิทธิหักลดหย่อนกับรายได้ที่เกิด ซึ่งในปี ค..2005 ทรัมพ์สามารถลดภาษีเงินได้ของเขาได้ถึง 39.1 ล้านเหรียญฯ ด้วยวิธีนี้

6. วิธีอื่นๆ ก็ยังมีให้ใช้ได้อีก เช่น การใช้ดินแดนภาษีต่ำ/หรือปลอดภาษี เพื่อการซุกรายได้และกำไรของคนเหล่านี้ กรณีที่กล่าวถึงกันในเรื่องของการปกปิดรายได้และลดภาระภาษี ปรากฏอยู่ในเอกสาร The PANAMA PAPERS ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเขาทำกันอย่างไร แต่กรณีของทรัมพ์ เขาบอกว่าเขาไม่ได้ใช้บริการของดินแดนภาษีต่ำ/ปลอดภาษีเหล่านั้น เนื่องด้วยสหรัฐอเมริกามีของที่ดีกว่านั้น

ทุกคนรู้จักกันดีว่ามลรัฐ DELAWARE นั้นเป็นมิตรกับคนมีเงินและธุรกิจใหญ่ๆโตๆ เพราะว่ากฎหมายของ DELAWARE เปิดทางให้คนอเมริกันทำใน DELAWARE    โดยไม่ต้องเหนื่อยและเสี่ยงออกไปดำเนินการที่ดินแดนภาษีต่ำ/ปลอดภาษี (แต่ก็มีที่หลุดไปบ้างที่ทรัมพ์ไปใช้บริการของ OFFSHORE TAX HAVEN เช่น กรณีบริษัท DJ AEROSPACE ที่เขาไปจดกิจการไว้ที่เกาะเบอร์มูดา ในทะเลคาริเบียน) แต่ในเมื่อ DELAWARE ทำให้ได้อยู่แล้ว ทรัมพ์ก็ไปใช้บริการที่นั่น รายงานกล่าวว่าเขามี 110 ธุรกรรม ที่เอาไปจดการดำเนินการภายใต้กฎหมาย DELAWARE (เพื่อการปกปิดข้อมูลบางประการ และการลดภาระภาษีบางประการ)

 7. กิจการต่างๆของสหรัฐฯ สามารถเก็บ(ซุก)รายได้ไว้นอกประเทศได้ ซึ่งทรัมพ์ทราบดี (เพราะเขาคงทำแบบนั้นด้วย) จึงมีนโยบายในฐานะเป็นประธานาธิบดี ที่จะจงใจเอาเงินเหล่านี้กลับสหรัฐฯ โดยได้ประกาศลดภาษีลง เหลือ 15%  สำหรับรายได้นอกประเทศเหล่านี้

และถ้าภายใต้นโยบายลดภาษีตัวนี้ กิจการของทรัมพ์พากันอพยพจากต่างแดน เข้าประเทศสหรัฐฯอย่างนี้เป็นการกระทำที่เป็นการขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่ ผิดในทางจรรยาบรรณสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่  กรณีนี้น่าจะเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่งที่ทำให้ทรัมพ์ยังไม่ยอมเปิดเผยแบบการเสียภาษีของเขา จนบัดนี้ และเป็นที่รู้ดีกันในหมู่คนอเมริกันว่าทรัมพ์มีลิขสิทธิ์และเครื่องหมายทางการค้า หรือ แบรนด์อยู่จำนวนหนึ่ง ที่เขาได้รับรายได้จากการขอใช้ลิขสิทธิ์และแบรนด์เหล่านี้ (แต่ได้เป็นเงินมาเท่าใด ทรัมพ์ไม่เปิดเผย)     ลูกสาว(คุณอิวังกา)เพิ่งได้รับการอนุมัติจากจีน ให้มีแบรนด์เพิ่มอีก 3 แบรนด์ในประเทศจีน ใครช่วยตีมูลค่าของรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากเฉพาะ 3 แบรนด์นี้ด้วยครับ ถ้ากฎหมายลดภาษีให้กับรายได้นอกประเทศพวกนี้คลอดเมื่อใด คุณอิวังกา ก็รวยขึ้นทันทีอีกหลายสตังค์ เพราะเป็นรายได้ที่จะรับภาระภาษีที่น้อยลง(ในอนาคตคุณอิวังกา อาจไม่ต้องนำตัวเองเข้ามาในภาพให้เห็นโจ๋งครึ่ม เธออาจตั้งบริษัทที่ OFFSHORE TAX HAVEN แห่งหนึ่ง แล้วโอนกรรมสิทธิ์ของเธอไปเข้าบริษัทดังกล่าว แค่นี้ก็ปลอดภาษี เรียบร้อยโรงเรียนทรัมพ์

8. ยังมีสถานการณ์อื่นๆ อีก ที่เปิดช่อง เปิดทาง ให้คนมีเงินและมีรายได้ สามารถลดภาระภาษีลงมาได้ หรือลดให้หายไปเลยก็ได้ ทั้งนี้ต้องรู้กฎหมายอย่างดีและวิธีดำเนินการ ซึ่งความสามารถนี้กลายไปเป็นอาชีพที่สำคัญอาชีพหนึ่ง เพราะคนมีสตังค์เขาใช้บริการกัน ประเทศไทยก็มีบริการแบบนี้ และเขาให้ชื่อกิจการแบบนี้อย่างโก้หรู(และทรงเกียรติ) แต่มันคือการเลี่ยงภาษี หนีการเสียภาษี ส่วนประชาชนอื่นที่ทำไม่ได้ (เลี่ยงไม่เป็น) ก็เสียภาษีไปเต็มพิกัด หากถูกจับได้ว่าหนีภาษี ก็เจอแต่ค่าปรับกับคุก เพราะฉะนั้นถ้าเลี่ยงสำเร็จก็สบายไป อาจเป็นใหญ่เป็นโต มีคนกราบไหว้ หรือตัวผันจากการเป็นอาชญากรไปเป็นวีรบุรุษ วีรสตรี ที่คนชื่นชม

อย่ากระนั้นเลย ผู้ที่ต้องเสียภาษีควรกระชากหน้ากากไอ้อสูรพวกนี้ แล้วผ่าตัดมันเสีย ให้เป็นพันธุ์ๆ เดียวกับเรา ผู้ที่ต้องเสียภาษี จะดีกว่า

ที่มา thaitribune




Create Date : 22 เมษายน 2560
Last Update : 22 เมษายน 2560 19:13:15 น. 0 comments
Counter : 260 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.