Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 
28 กันยายน 2551
 
All Blogs
 

วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ... ผลกระทบต่อภาคการเงินไทย

. . .

วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ... ผลกระทบต่อภาคการเงินไทย
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


เพียงแค่เดือนกันยายนเดือนเดียว ก็ได้ปรากฏหลากหลายเหตุการณ์ที่ตอกย้ำถึงความเสี่ยงจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ หลายแห่งต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ประกาศขายกิจการ และ/หรือจำเป็นต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากทางการสหรัฐฯ

นอกจากนี้ แม้ว่า ล่าสุดในวันที่ 19 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ จะประกาศแผนให้ความช่วยเหลือภาคการเงินแบบเบ็ดเสร็จที่อาจมีมูลค่าถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ แต่เนื่องจากความสำเร็จของแผนดังกล่าวยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ จึงทำให้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ครั้งนี้อยู่ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่เป็นไปได้ จากวิกฤตการณ์ดังกล่าวต่อภาคการเงินไทย ดังนี้

• การระดมทุนในต่างประเทศอาจมีความยากลำบากมากขึ้น ขณะที่ การลงทุนในต่างประเทศอาจได้รับแรงจูงใจลดลง สำหรับด้านการระดมทุนนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาการเมืองไทย ผนวกกับปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินและนักลงทุนในตลาดการเงินโลก ได้ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของไทยในตลาดต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของ Risk Premium โดยใช้มาตรวัดจาก Credit Default Swap (CDS) ประเภทอายุ 5 ปี

( Credit Default Swap (CDS) เป็นอนุพันธ์ทางการเงิน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงของตราสารทางการเงินต่อกรณีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร ตลอดจนการผิดนัดชำระดอกเบี้ยของตราสารนั้นๆ ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของ CDS จึงสามารถใช้สะท้อนถึงความเสี่ยงของปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะของผู้ออกตราสาร ตลอดจนความต้องการแบกรับความเสี่ยงของผู้ให้บริการอนุพันธ์ทางการเงินนั้นๆ )

ของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 54.833 จุด ณ สิ้นปี 2550 มาที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 164.006 จุดในวันที่ 16 กันยายน 2551 หลังจากมีข่าวการล้มละลายของบริษัทวาณิชธนกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของสหรัฐฯ อย่าง Lehman Brothers ในวันที่ 15 กันยายน ขณะที่ ณ วันที่ 22 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา Risk Premium ดังกล่าว ได้ขยับลดลงมาอยู่ที่ 148.949 จุด

ทั้งนี้ ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นแล้วดังกล่าว และโอกาสที่อาจยังคงขยับขึ้นอีกในอนาคต หากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ยาวนานและยืดเยื้อออกไป อาจทำให้ต้องมีการทบทวนแผนการก่อหนี้ต่างประเทศของภาครัฐ รวมถึง การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศของภาคเอกชนไทยซึ่งมีค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2548-2550 จำนวนประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี (5.2 แสนล้านบาท) อันอาจส่งผลตามมาให้ทั้งทางการและภาคเอกชนไทยจำต้องหันมาเพิ่มน้ำหนักให้กับการระดมทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น

สำหรับด้านการลงทุนในต่างประเทศ ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกันจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่เพิ่มขึ้น อันอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการลงทุนให้มีความโน้มเอียงไปในลักษณะที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากขึ้น และมีนัยในเชิงลบต่อความต้องการลงทุนของนักลงทุนสถาบันในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือความต้องการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Funds: FIF) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี 2550 ต่อเนื่องถึงช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สำหรับกองทุนรวม FIF ที่ได้ออกไปแล้วนั้น คาดว่าผลกระทบคงอยู่ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 72.5% ของกองทุนรวม FIF ทั้งหมดนั้น คาดว่าส่วนใหญ่มีกำหนดระยะเวลาการไถ่ถอนที่ชัดเจน และไม่สามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ แต่ประเด็นที่น่าติดตามและมีความท้าทาย คือ การนำเสนอกองทุนรวมใหม่ เพื่อมาทดแทนกองทุนรวม FIF เดิมที่น่าจะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวนมากในปีหน้า อันจะช่วยประคับประคองให้มูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการของ บลจ.ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ในต่างประเทศปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น การสรรหากองทุนใหม่เพื่อเสนอขายต่อนักลงทุนดังกล่าว ก็คงอยู่ในวิสัยที่สามารถดำเนินการได้ไม่ยาก แต่หากสถานการณ์ในต่างประเทศยังคงมีความซับซ้อนและวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ยังยืดเยื้อออกไป บลจ.ต่างๆ คงจะเผชิญกับความท้าทายในการนำเสนอช่องทางการลงทุน โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ

• ตลาดตราสารหนี้อาจได้รับผลกระทบ ผ่านการปรับตัวของอัตราผลตอบแทน โดยแม้ว่าความต้องการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในสินทรัพย์สกุลเงินบาท ซึ่งรวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ แต่ผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้จากปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากบทบาทของนักลงทุนต่างชาติในตลาดรองตราสารหนี้ไทยนั้น มีสัดส่วนเพียง 1.7% ของยอดคงค้างตราสารหนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มักถูกใช้เป็นหนึ่งในมาตรวัดสำคัญ (Benchmark) สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศนั้น คงจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในตลาดต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างกันสูงถึง 78% ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แม้มีโอกาสขยับขึ้น เพื่อรับข่าวปริมาณอุปทานพันธบัตรที่มีโอกาสสูงขึ้น หากแผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยทางการสหรัฐฯ ผ่านการอนุมัติ และนำมาสู่การก่อหนี้เพิ่มเติมโดยรัฐบาลสหรัฐฯ แต่เมื่อข่าวดังกล่าวได้รับรู้ไปแล้ว ตลาดอาจกลับมาให้น้ำหนักกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีโอกาสทรงตัว หรือปรับตัวลดลง สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในปี 2552 และมุมมองของตลาด Interest Rate Futures ที่เริ่มโน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะขึ้นกับผลสัมฤทธิ์ของแผนกอบกู้ภาคการเงินของทางการสหรัฐฯ ตลอดจนทิศทางของเครื่องชี้เศรษฐกิจและข่าวการปรับตัวในภาคการเงินสหรัฐฯและในตลาดโลก ว่าจะออกมาน่าผิดหวังหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยนั้น มีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวผันผวนตามอัตราผลตอบแทนในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนขยับลดลงได้แก่ มุมมองอัตราดอกเบี้ยขาลงในตลาดโลกและเงินเฟ้อในประเทศที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงชัดเจน ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจดีดตัวขึ้น คือ ข่าวปริมาณอุปทานพันธบัตรในประเทศ โดยเฉพาะอุปทานใหม่ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2552 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจาก 1.65 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2551 มาที่ 2.495 แสนล้านบาท และความสำเร็จของรัฐบาลในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจช่วยหนุนการคาดการณ์ในเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ

ทั้งนี้ ความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในประเทศ อันได้รับผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ดังกล่าว อาจเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนธุรกิจและการระดมทุนของภาคเอกชนไทยทั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า

• ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสาเหตุหลายประการ คือ

 ประการแรก การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศไทยที่อาจจะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม นับตั้งแต่ข่าวเกี่ยวกับปัญหาซับไพร์มปรากฏขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/2550 ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยประสบกับแรงเทขายรุนแรงหลายครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถาบันการเงินต่างชาติที่ประสบปัญหาทางการเงินที่ต้องการนำสภาพคล่องกลับไปชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะจากปริมาณการขาย/ซื้อสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งขจัดผลด้านราคาแล้ว จะได้ว่า ณ วันที่ 25 กันยายน 2551 ปริมาณการซื้อสุทธิสะสมจะมีสัดส่วนประมาณ 53.1% ของระดับสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2550 จึงทำให้ยังเหลืออีกประมาณ 46.9% (ประมาณ 261 ล้านหุ้น) ที่เผชิญความเสี่ยงจากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ หากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยังคงยืดเยื้อ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่า 7 แสนล้านบาทของทางการสหรัฐฯ ว่าจะสัมฤทธิ์ผลในการเยียวยาความเสียหายในตลาดการเงินสหรัฐฯ หรือไม่ โดยหากมาตรการดังกล่าวประสบผลสำเร็จในการรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันและบริษัทการเงินในสหรัฐฯ ในราคาที่ไม่ต่ำจนเกินไป ก็อาจทำให้สถาบัน/บริษัทการเงินดังกล่าวมีสภาพคล่อง อีกทั้งมีความจำเป็นลดลงในการเทขายสินทรัพย์ในต่างประเทศ รวมถึงหุ้นไทย อันจะผ่อนคลายแรงกดดันในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกลงไปได้บ้าง แต่ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า ผลต่อสภาพคล่องของระบบการเงินโลกอาจไม่ได้บรรเทาลงอย่างฉับพลัน เนื่องจากบทบาทการดึงดูดสภาพคล่องจากระบบการเงินโลก จะถูกเปลี่ยนมือจากภาคเอกชนสหรัฐฯ มาเป็นรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมากผ่านตลาดพันธบัตร

 ประการที่สอง ปริมาณเงินทุนไหลเข้ามีโอกาสชะลอลง อาทิ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนใหม่ ซึ่งอาจได้รับปัจจัยลบจากทั้งปัญหาในตลาดการเงินโลกและปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังคงมีโอกาสยืดเยื้อ นอกจากนี้ ทั้งทางการและภาคเอกชนไทยยังอาจเลือกก่อหนี้ต่างประเทศลดลงด้วย หลังต้นทุนการกู้ยืมขยับตัวสูงขึ้นดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว น่าจะทำให้ปริมาณเงินทุนไหลเข้าในภาพรวม มีโอกาสปรับตัวลดลงได้ ส่งผลตามมาให้ทางการไทยอาจต้องหันมาพึ่งพิงแหล่งเงินทุนในประเทศสำหรับโครงการลงทุนต่างๆ มากขึ้น ขณะที่ ธุรกิจเอกชนอาจต้องใช้แหล่งเงินทุนจากการออกตราสารหนี้ หรือกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์แทน จนอาจมีผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินไทย

ภายใต้สภาวะดังกล่าว สภาพคล่องของระบบการเงินไทยจึงยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ตราบใดที่วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ยังคงไม่ถึงจุดต่ำสุด อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความเพียงพอของสภาพคล่องในระบบการเงินไทย คือ ธปท.ยังคงมีกลไกในการดูแลที่น่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจเคลื่อนไหวผันผวนได้ ผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น การ Unwind พันธบัตร ธปท. (ซึ่งในระหว่างเดือน กันยายน-ธันวาคม 2551 จะมีพันธบัตร ธปท.ประเภทอายุมากกว่า 14 วันครบกำหนดอีกประมาณ 2.9 แสนล้านบาท) รวมถึงการให้กู้ยืมเงินผ่าน Bilateral Repo เป็นต้น

• ผลกระทบต่อธุรกิจในภาคการเงินไทยอาจยังคงมีอยู่ แม้ผลกระทบจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินและบริษัทประกันชีวิตขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกรณีของบริษัท Lehman Brothers และบริษัท American International Group Inc. (AIG) ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ว่าธุรกิจในภาคการเงินไทย ทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันชีวิต ก็ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของธุรกิจประกันชีวิต คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ชี้แจงว่า บริษัทประกันต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด อาทิ สัดส่วนเงินกองทุนตามกฎหมาย ข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทุน การคำนวณผลกำไรเพื่อจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น หรือการส่งกำไรสะสมให้แก่สำนักงานใหญ่ ดังนั้น ความเสี่ยงของบริษัทประกันในประเทศไทยที่เป็นบริษัทลูกของบริษัท AIG จึงอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ส่วนในกรณีของธนาคารพาณิชย์นั้น ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เข้มงวดของ ธปท.เช่นกัน

นอกจากนี้ จากการประเมินของ ธปท. พบว่า เงินลงทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยในบริษัท Lehman Brothers และการปล่อยกู้ให้กับบริษัทลูกของ บริษัท Lehman Brothers มีจำนวนเพียงประมาณ 6 พันล้านบาท ขณะที่ ข้อมูลรายธนาคารชี้ว่ายังมีการลงทุนในตราสารประเภท Collateralized Debt Obligations (CDOs) อีกประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมกันแล้ว ถือว่ามีปริมาณไม่มากนัก หรือเพียงประมาณ 0.19% ของสินทรัพย์รวมเท่านั้น นอกจากนี้ การปล่อยกู้ให้กับบริษัท Lehman Brothers ของธนาคารพาณิชย์ไทยดังกล่าว มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มจำนวน และยังคงจัดชั้นเป็นหนี้ปกติ ส่วนการลงทุนในตราสาร CDOs นั้น มูลค่าส่วนใหญ่ได้ทำการประเมินมูลค่าตามราคาตลาด (Mark-to-Market) แล้ว ดังนั้น จึงทำให้ ณ ขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์น่าจะเหลือภาระในการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่า หรือรับรู้ความเสียหายจากเงินลงทุนในบริษัท Lehman Brothers อีกเพียงบางส่วนเท่านั้น

ทั้งนี้ แม้ว่าการพิจารณาข้อมูลเงินลงทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยชี้ว่า เงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมีจำนวนไม่มากนัก หรือประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเงินลงทุนทั้งหมด อีกทั้งส่วนใหญ่ในจำนวนนี้น่าจะเป็นการลงทุนในตราสารที่ค้ำประกันโดยรัฐบาลต่างประเทศ หรือตราสารที่มีความมั่นคงสูง แต่ประเด็นที่ยังคงต้องติดตาม คือ สถาบันการเงินไทย บริษัทการเงินต่างๆ อย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ตลอดจน บริษัทเอกชนขนาดใหญ่อื่นๆ ยังเหลือการลงทุนในตราสาร หรือธุรกรรมทางการเงิน อาทิ การทำธุรกรรมสัญญาแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับสถาบัน/บริษัทการเงินต่างประเทศที่ถูกกระทบจากปัญหาซับไพร์ม รวมถึงการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินในไทย ให้กับบริษัทลูกที่ถือหุ้นโดยสถาบันการเงินเหล่านั้น ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ามีมูลค่ามากน้อยเพียงใด

โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าทางการสหรัฐฯ ประกาศเจตนารมย์ที่จะเข้าให้ความช่วยเหลือผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ แต่เนื่องจากแผนการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ยังคงรอการอนุมัติจากสภาคองเกรสอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้ง ผลสัมฤทธิ์จากมาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอาจต้องใช้เวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อยกว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาในภาคการเงินจะถึงจุดต่ำสุด ก่อนที่จะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ดังนั้น ในระหว่างช่วง 6 เดือนนี้ คาดว่าตลาดเงินและตลาดทุนโลก ไม่ว่าจะเป็นอัตราผลตอบแทน อัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนดัชนีตลาดหุ้น คงจะแกว่งตัวตามการเปิดเผยเครื่องชี้เศรษฐกิจและข่าวในภาคการเงินสหรัฐฯ ที่ออกมา โดยยังมีความเป็นไปได้ว่า อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ จะยังคงเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาอสังหาริมทรัพย์และเครื่องชี้ในภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ ที่อาจยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยนอกจากจะออกมาในรูปของความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนแล้ว เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง อาจมีผลให้การส่งออกมีทิศทางที่ลดลงตามไปด้วยในปีหน้า เช่นเดียวกับ ความเสี่ยงต่อการระดมทุน การลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ ธุรกิจในภาคการเงิน และสภาพคล่องในระบบการเงินที่อาจยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ช่วยคลายความกังวลสำหรับกรณีของประเทศไทย คือ ทางการไทยน่าจะมีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ได้ โดยเฉพาะความสามารถที่จะดูแลและประคับประคองเสถียรภาพในระบบการเงินไทย ผ่านกลไกการบริหารจัดการสภาพคล่องของ ธปท. และการตรวจสอบสถาบันการเงิน/บริษัทการเงินอย่างใกล้ชิดของทั้ง ธปท.และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้สามารถรับรู้โอกาสเกิดปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาจากความปั่นป่วนในตลาดการเงินสหรัฐฯ ในรอบนี้ น่าจะแตกต่างไปจากช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 เนื่องจากปัญหาในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเอง ขณะที่ ในรอบนี้ ประเทศไทยเป็นเพียงผู้ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่ต่อเนื่องมาจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและภาคการเงิน ผ่านมาตรการการเงินและการคลัง จึงยังคงมีความสำคัญ ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยนโยบายการคลังแบบขยายตัวยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ในขณะที่นโยบายการเงินคงต้องมุ่งเน้นในการดูแลปริมาณความเพียงพอของสภาพคล่องในระบบ และเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อสถานการณ์ในต่างประเทศคลี่คลายลง ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยก็คงจะสามารถกลับมาขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับศักยภาพของประเทศได้ตามเดิม 

. . .




 

Create Date : 28 กันยายน 2551
4 comments
Last Update : 28 กันยายน 2551 16:50:30 น.
Counter : 810 Pageviews.

 

. . .

ตลาดหุ้นไทยขาลงในไตรมาส 3/2551 … อาจบ่งชี้ถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ในปัจจุบัน สถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นโลกต่างได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (วิกฤตซับไพร์ม) ที่เริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2550 และได้ลุกลามไปสู่สถาบันการเงินหลายแห่ง อาทิ Bear Stearns, Merrill Lynch, AIG, และ Lehman Brothers รวมถึง Fannie Mae และ Freddie Mac ที่ต่างประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง และมีเงินทุนไม่พอจนบางแห่งต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หรือต้องหาผู้ร่วมทุน หรือขอรับความช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ

ซึ่งปัญหาดังกล่าว ได้สร้างความกังวลในภาคการเงินทั่วโลก และกระตุ้นให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ตลอดจนกดดันให้สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาทางการเงินต้องเร่งระบายทรัพย์สินในตลาดอื่นๆ เพื่อนำมาชดเชยความเสียหาย

ทั้งหมดนี้นำมาสู่การเทขายหุ้นอย่างหนักในตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 25 ก.ย. 2551 ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ทรุดตัวลงแล้วกว่าร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับระดับปิดที่ 13,264.82 จุด ณ.สิ้นปี 2550 และส่งผลกระทบต่อไปยังตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ ดัชนี NIKKEI ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับลดลงร้อยละ 21.5 ดัชนี HSKI ของตลาดหุ้นฮ่องกงก็ปรับลดลงกว่าร้อยละ 31 เช่นเดียวกับดัชนี SET ของไทยที่ร่วงลงกว่าร้อยละ 27 จากสิ้นปี 2550 ที่ผ่านมา ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1-25 กันยายน 2551 นักลงทุนต่างชาติได้เทขายสุทธิในหุ้นไทยไปแล้วกว่า 25,303.02 ล้านบาท ในเดือนนี้เพียงเดือนเดียว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของดัชนีหุ้นไทย แนวโน้ม ตลอดจนความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องมายังการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยสรุปดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของดัชนี SET มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นในต่างประเทศค่อนข้างสูง ดังจะเห็นได้จากค่าความสัมพันธ์ทางสถิติ (Correlation) ของการเคลื่อนไหวระหว่างดัชนี SET กับดัชนีตลาดหุ้นในต่างประเทศในช่วงวันที่ 2 ม.ค. 2541 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2551 มีเครื่องหมายเป็นบวกและอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหมายถึง การเคลื่อนไหวระหว่างดัชนีหุ้นไทยกับดัชนีหุ้นในต่างประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันค่อนข้างมาก โดยดัชนี SET มีความสัมพันธ์กับดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกงสูงถึงร้อยละ 78 กับดัชนีตลาดหุ้นสิงคโปร์ร้อยละ 69 และกับดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร้อยละ 65 ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นในตลาดต่างประเทศย่อมมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนี SET อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 การปรับตัวของดัชนีหุ้นในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในช่วงขาลงอาจทำให้ดัชนี SET มีแนวโน้มยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยแม้ว่า ล่าสุดสภาคองเกรสกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการให้ความช่วยเหลือภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการรับซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ รวมไปถึงการที่วาณิชธนกิจอันดับหนึ่งอย่างบริษัทโกลด์แมน แซคส์ ได้รับเงินสนับสนุนแผนเพิ่มทุนมูลค่าราว 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งจากนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งนับเป็นข่าวในเชิงบวกสำหรับตลาดการเงิน แต่นักลงทุนก็ยังคงมีความกังวลว่าแผนการกอบกู้วิกฤตการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของทางการดังกล่าว (หากได้รับการอนุมัติ) จะมีผลสัมฤทธิ์ในการเยียวยาปัญหาครอบคลุมทั้งภาคการเงินของสหรัฐฯ ได้มากน้อยเพียงไร โดยคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยประมาณ 6 เดือนกว่าที่ปัญหาวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ จะถึงจุดต่ำสุด และเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ผลพวงของปัญหาในภาคการเงินยังอาจทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับภาวะการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เป็นอย่างน้อยด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าแผนการให้ความช่วยเหลือ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะผ่านสภาคองเกรส แต่ปัญหาความปั่นป่วนของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังคงยืดเยื้อ นอกจากจะกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ แล้วก็ย่อมจะส่งผลกระทบลุกลามไปสู่ภาวะตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงตลาดการเงิน และตลาดหุ้นของไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง เนื่องจากการขายทรัพย์สินเพื่อที่จะบรรเทาภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวในตลาดการเงินสหรัฐฯ ตลอดจนการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ ตามแผนการช่วยเหลือดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่ค่าความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ กับตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมายังไม่ถึงระดับร้อยละ 100 แม้จะค่อนข้างสูง นั่นก็หมายความว่ายังคงมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้น อาทิ ปัจจัยพื้นฐานของประเทศ และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน ดังนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจและภาคการเงินของสหรัฐฯ อาจยังมีแนวโน้มผันผวนต่อไปอีกระยะ แต่ดัชนี SET ก็ยังมีโอกาสจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะข้างหน้าหากนักลงทุนมองว่าปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนยังคงมีความน่าดึงดูดให้เข้ามาลงทุน รวมทั้งหากปัญหาการเมืองในประเทศสามารถจะคลี่คลายได้ เพราะราคาหุ้นของไทยก็นับว่ายังมีระดับที่ค่อนข้างถูก และอัตราผลตอบแทนก็ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

 ดัชนี SET เป็นดัชนีชี้นำ (Leading Indicator) การขยายตัวของจีดีพีประมาณ 2 ไตรมาส ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความสามารถในการคาดการณ์เศรษฐกิจของดัชนี SET ตามวิธีทางเศรษฐมิติ (Granger Causality Test) จากข้อมูลในอดีต (ในช่วงไตรมาส 1/2541- ไตรมาส 2/2551) แล้วพบว่า ดัชนี SET มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของจีดีพีในระยะ 2 ไตรมาสข้างหน้าที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 แต่การขยายตัวของจีดีพีไม่มีอิทธิพลต่อดัชนี SET เลยไม่ว่าเวลาจะห่างออกไปกี่ไตรมาสก็ตาม ซึ่งผลการศึกษานี้ อาจบ่งชี้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์มักมีการปรับตัวเพื่อตอบรับกับข่าวหรือตัวแปรต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อภาวะเศรษฐกิจไปล่วงหน้า ในขณะที่บรรยากาศหรือความเชื่อมั่นที่สะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นอาจนำมาสู่การใช้จ่าย และการลงทุนที่เกิดขึ้นจริงในระบบเศรษฐกิจ เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากนั้นระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าความสามารถของดัชนี SET ในการคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจบางไตรมาสอยู่ในภาวะชะลอตัวและดัชนี SET อยู่ในภาวะหมี (ไตรมาส 1/2541-ไตรมาส 4/2546) โดยดัชนี SET สามารถชี้นำเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกที่ระดับความเชื่อมั่นประมาณร้อยละ 90 และดัชนี SET มีอิทธิพลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในระยะ 2 ไตรมาสถัดไปที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95

 การร่วงลงของดัชนี SET ในไตรมาส 3/2551 และแนวโน้มที่ยังไม่แน่นอน อาจชี้ถึงความเสี่ยงที่จีดีพีจะชะลอตัวจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อนำมาผนวกเข้ากับการที่ในไตรมาส 3/2551 ดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงจนเข้าสู่ภาวะหมีตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และอาจยังคงมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนในไตรมาส 4 ของปีนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ นั่นหมายความว่าจีดีพีของไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในอีก 2 ไตรมาสข้างหน้าไปจนถึงประมาณช่วงไตรมาสแรกของปี 2552

อีกทั้ง เมื่อพิจารณาแนวโน้มภาพรวมปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งจากการคาดการณ์ของ IMF ล่าสุดในเดือน ส.ค. 2551 ระบุว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้อาจขยายตัวร้อยละ 3.9 และชะลอลงในปี 2552 มาที่ร้อยละ 3.7 ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกันจากร้อยละ 1.3 ในปี 2551 เหลือเพียงร้อยละ 0.7 ในปีถัดไป โดยการชะลอตัวของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดังกล่าว อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า นอกจากนี้แล้ว ปัญหาทางการเมืองในประเทศหากยืดเยื้อก็ยังเป็นปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย และการลงทุนในประเทศ

ทั้งนี้ ภาพรวมปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวได้บ่งชี้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกันกับข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยข้างต้นว่า เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในระยะข้างหน้า โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.2-4.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ รวมทั้งอาจจะชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปี 2551 นี้

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ โดยหากในระหว่างนี้ ปัจจัยลบต่างๆ มีทิศทางการปรับตัวไปในเชิงที่เป็นบวกมากขึ้น หรือมีข่าวดีออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม อาทิ แผนการกอบกู้วิกฤตทางการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถมีประสิทธิภาพในการยับยั้งความเสียหายในภาคการเงินสหรัฐฯ และลดความจำเป็นของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในการเทขายสินทรัพย์ในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยได้บ้าง ประกอบกับหากสถานการณ์การเมืองในประเทศปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว รวมทั้งหากรัฐบาลสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจสนับสนุนให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มกลับมาสดใส และในท้ายที่สุดย่อมมีส่วนช่วยลดหรือบรรเทาระดับของการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ลงไปได้ไม่มากก็น้อย



. . .



 

โดย: loykratong 28 กันยายน 2551 16:59:10 น.  

 

. . .

ศก.โลกปั่นป่วนหนัก แบงก์ยักษ์มะกันล้ม "คองเกรส" ยื้อแผนกู้วิกฤต

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 กันยายน 2551 13:55 น.


หุ้นลอนดอนร่วงกว่า 100 จุด วิตกแผนฟื้นฟูภาคการเงินสหรัฐ หลังสภาคองเกรส ยื้อแผน ส่วนเงินดอลลาร์ทรุดหนัก หลังข่าว "วอชิงตัน มิวชวล" ล้มกระทบต่อสภาพคล่อง แม้จะมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบได้ทัน ขณะที่ "ตลาดสินค้า" ปั่นป่วน ทองคำพุ่ง-น้ำมันร่วง ส่วนดัชนี "ดาวโจนส์" ผันผวนหนัก คาดขาใหญ่ปั่นหุ้นแบงก์ ดันดัชนีพุ่งปิดกว่า 100 จุด

วันนี้ ( 27 ก.ย.) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าดัชนีฟุตซี่ (FTSE) ตลาดหุ้นลอนดอน ปิดร่วงลงกว่า 108.5 จุด ปิดที่ระดับ 5,088.5 จุด เมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐเสนอต่อสภาคองเกรส เนื่องจากยังมีสมาชิกสภาคองเกรสบางกลุ่มคัคค้าน นอกจากนี้ ข่าวที่ว่าวอชิงตัน มิวชวล ล้มละลายได้ฉุดหุ้นกลุ่มการเงินร่วงลงอย่างหนัก

นายโฮเวิร์ด วีลดัน นักวิเคราะห์จาก BGC Partners ในกรุงลอนดอนกล่าวว่า ความกังวลที่ว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินของสหรัฐจะไม่ผ่านมติสภาคองเกรส และข่าวการล้มละลายของวอชิงตัน มิวชวล ส่งผลให้นักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นกลุ่มการเงินอย่างหนัก และฉุดดัชนี FTSE 100 ปิดในแดนลบ

การเจรจาเพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอาจไม่ราบรื่นเท่าที่มีการประเมินไว้ เมื่อนายคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC โดยระบุว่า ในเบื้องต้นนั้นวุฒิสภาเห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่แผนการดังกล่าวอาจไม่ราบรื่นเมื่อสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกของรีพับลิกันเหล่านี้มีนายอิริก แคนเตอร์ เป็นผู้นำทีม

นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนซบเซาลงหลังจากมีข่าวว่า เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ตัดสินใจเข้าซื้อทรัพย์สินของวอชิงตัน มิวชวล สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ หลังจากวอชิงตัน มิวชวล เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินจนบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ต้องเข้ายึดกิจการบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการล้มละลายครั้งใหญ่เท่าที่เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารของสหรัฐ

หุ้นรอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ ดิ่งลง 5.7% หุ้นธนาคารลอยด์ ทีเอสบี ร่วงลง 8.1% หุ้นแบรดฟอร์ด แอนด์ บิงลีย์ ซึ่งเป็นสถาบันปล่อยกู้เพื่อการซื้อบ้านรายใหญ่ของอังกฤษ ร่วงลง 5.9%

ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกร่วงลง โดยหุ้นบีพีดิ่งลง 1.9% และหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ร่วงลง 1.9%

**ดอลลาร์ทรุดหนัก หลังข่าว "วอชิงตัน มิวชวล" ล้ม

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนตัวผันผวนอย่างหนักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก (New York Mercantile Exchange) หรือ NYMEX เมื่อคืนนี้ (26 ก.ย.) โดยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ปอนด์ และฟรังค์สวิส แต่ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเรื่องแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ของสหรัฐ นอกจากนี้ ข่าวการล้มละลายของบริษัทวอชิงตัน มิวชวล ยังส่งผลให้นักลงทุนลังเลที่จะเข้าซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตรา

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงิเยนที่ระดับ 106.12 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 106.41 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.8423 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.8381 ดอลลาร์/ปอนด์

ส่วนค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.4617 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.4621 ดอลลาร์/ยูโร ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.8304 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8350 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.6851 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6816 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

นายไบรอัน โดแลน นักวิเคราะห์จาก Forex.com. กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันอย่างหนักหลังจากมีรายงานว่า เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อทรัพย์สินของวอชิงตัน มิวชวล สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ หลังจากวอชิงตัน มิวชวล เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินจนบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ต้องเข้ายึดกิจการบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการล้มละลายครั้งใหญ่เท่าที่เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารของสหรัฐ

ภายใต้ข้อตกลงการเทคโอเวอร์กิจการ เจพีมอร์แกนจะรับผิดชอบบัญชีเงินฝากสินทรัพย์ และหนี้บางส่วนของวอชิงตัน มิวชวล ซึ่งมีฐานการดำเนินงานในกรุงวอชิงตัน โดยก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ในวงกว้างว่า FDIC จะเข้ายึดกิจการวอชิงตัน มิวชวล หลังจากบริษัทขาดทุนอย่างหนักในตลาดปล่อยกู้จำนอง และหลังจากราคาหุ้นวอชิงตัน มิวชวล ทรุดฮวบลง 95% อีกทั้งยังถูกสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ปรับลดอันดับเครดิต

นายโดแลน กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับปัจจัยลบจากความวิตกกังวลเรื่องแผนฟื้นฟูภาคการเงิน หลังจากนายคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ระบุว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ อาจชะงักงันเนื่องจากสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กระแสความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเมื่อริชาร์ด ฟิสเชอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส แสดงความเห็นว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมีเป้าหมายที่จะนำเงินภาษีราษฎรไปซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน ซึ่งการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง

**คอมโมดิตี้ปั่นป่วน ทองคำพุ่ง-น้ำมันร่วง

ราคาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (26 ก.ย.) โดยราคาทะยานขึ้นเหนือระดับ 920 ดอลลาร์/ออนซ์ในระหว่างวัน หลังจากมีรายงานว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ยังเป็นที่ถกเถียงกันในสภาคองเกรสสหรัฐ ซึ่งข่าวดังกล่าวกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญญาทองคำเดือน ธ.ค.อย่างคับคั่ง เพราะมองว่าตลาดทองคำเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนในขณะนี้

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาทองคำตลาด NYMEX งวดส่งมอบเดือน ธ.ค.พุ่งขึ้น 6.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 888.50 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 920.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน ธ.ค.ดีดขึ้น 22.8 เซนต์ ปิดที่ 13.503 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนธ.ค.ปิดลบ 6 เซนต์ แตะที่ 3.0745 ดอลลาร์/ปอนด์

นายคาร์ลอส ซานเชส นักวิเคราะห์จาก CPM Group ในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า "ภาวะตึงเครียดในภาคการเงินเป็นเหตุผลสำคัญที่กระตุ้นนักลงทุนให้เข้าซื้อสัญญาทองคำ ขณะเดียวกันนักลงทุนยังคงจับตาดูว่าแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านจะผ่านมติเห็นชอบจากสภาคองเกรสหรือไม่ หลังจากมีรายงานว่าสมาชิกสภาคองเกรสบางคนยังไม่เห็นด้วยกันแผนการนี้ และหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บางคนโต้แย้งว่าแผนการดังกล่าวจะยิ่งทำให้รัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณ"

นายคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์อาจติดขัดอยู่ในสภาคองเกรส เนื่องจากสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ

ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 1 ดอลลาร์ เมื่อคืนนี้ เนื่องจากแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในสภาคองเกรส ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญวิกฤตรุนแรงและส่งผลบั่นทอนความต้องการพลังงาน

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX งวดส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 1.13 ดอลลาร์ ปิดที่ 106.89 ดอลลาร์ หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันที่ 104.25 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 1.06 ดอลลาร์ ปิดที่ 103.54 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 3.22 เซนต์ ปิดที่ 2.6651 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.ปิดลบ 3.09 เซนต์ แตะที่ 3.0174 ดอลลาร์/แกลลอน

นายจิม ริทเทอร์บุช ประธานบริษัท Ritterbusch and Associates ในรัฐอิลลินอยส์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันเคลื่อนตัวผันผวนมาก ขณะที่นักลงทุนจับตารอคอยแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่คณะทำงานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เสนอต่อสภาคองเกรส แต่แผนการดังกล่าวยังไม่ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกคองเกรสบางคน จึงทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้"

นายคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภา กล่าวว่าหากเฮนรี พอลสัน รมว.คลัง สนับสนุนข้อเสนอของแคนเตอร์ การเจรจาก็จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด โดยการเจรจาเรื่องดังกล่าวจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในคืนนี้ ทางเลือกที่แคนเตอร์นำเสนอในสภาก็คือการใช้เงินจากกองทุนประกันหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) มาใช้กู้วิกฤตการณ์ในภาคการเงิน แทนที่จะใช้เงินภาษีราษฎรมาซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน" ด็อดด์กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ขณะที่วุฒิสมาชิกแคนเตอร์ กล่าวโต้แย้งว่า ข้อเสนอของเรามุ่งเน้นหลักการที่ว่า เราจะไม่ละทิ้งชาวอเมริกันผู้เสียภาษี และให้สถาบันการเงินในวอลล์สตรีทมีส่วนรับผิดชอบในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีส่วนในการ "เฉือนเนื้อตัวเองบ้าง" เพื่อให้สภาวะโดยรวมฟื้นตัวขึ้น ส่วนนายเจ๊บ เฮนซาร์ลิง วุฒิสมาชิกรัฐเท็กซัส กล่าวค้านว่า เราไม่ควรใช้แผนของ รมว.พอลสัน

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบุชเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะยาว หากสภาคองเกรสไม่เร่งผ่านนโยบายกู้วิกฤตการเงินมูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ธุรกิจหลายภาคส่วนอาจต้องล่มสลายและจะทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก

**ดาวโจนส์ผันผวนหนัก ขาใหญ่ปั่นดัชนีพุ่งปิดกว่า 100 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ โดยคาดว่านักลงทุนรายใหญ่ปล่อยข่าวว่า สภาคองเกรสจะอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นกลุ่มการเงินดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีนักลงทุนบางกลุ่มวิตกกังวลที่แผนการดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกัน

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์พุ่งขึ้น 121.07 จุด หรือ 1.10% ปิดที่ 11,143.1 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ดีดขึ้น 4.09 จุด หรือ 0.34% ปิดที่ 1,213.27 จุด แต่ดัชนี Nasdaq ลดลง 3.23 จุด หรือ 0.15% ปิดที่ 2,183.34 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.19 พันล้านหุ้น เทียบกับวันพฤหัสบดีที่ 5.73 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2 ต่อ 1

หุ้นกลุ่มการเงินดีดตัวขึ้นขานรับรายงานข่าวที่ว่า เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ตัดสินใจเข้าซื้อทรัพย์สินของวอชิงตัน มูชวล สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ หลังจากวอชิงตัน มูชวล เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินจนบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ต้องเข้ายึดกิจการบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการล้มละลายครั้งใหญ่เท่าที่เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารของสหรัฐ

นายจูลี แวน คลีฟ นักวิเคราะห์จากบริษัท Deutsche Bank AG กล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดแล้วสภาคองเกรสจะอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การเจรจาเพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอาจไม่ราบรื่นเท่าที่มีการประเมินไว้ เมื่อคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC โดยระบุว่า ในเบื้องต้นนั้นวุฒิสภาเห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่แผนการดังกล่าวอาจไม่ราบรื่นเมื่อสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกของรีพับลิกันเหล่านี้มีนายอิริก แคนเตอร์ เป็นผู้นำทีม

นอกจากนี้ นักลงทุนบางกลุ่มยังวิตกกังวลเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูภาคการเงิน เมื่อริชาร์ด ฟิสเชอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ต้องใช้งบประมาณมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยกล่าวว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินซึ่งนายเฮนนี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐเสนอนั้น มีเป้าหมายที่จะนำเงินภาษีราษฎรไปซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน ซึ่งการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้แย่ลงไปอีก

หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ดีดตัวขึ้น 6.8% ส่วนหุ้นเจพีมอร์แกน พุ่งขึ้น 11% ขานรับข่าวที่ว่าเจพีมอร์แกนตัดสินใจเข้าซื้อทรัพย์สินของวอชิงตัน มูชวล สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่หนุนดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนบวก

อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวฉุดหุ้นวอชิงตัน มิวชวล ทรุดหนักถึง 91% ส่วนหุ้นเมอร์ริล ลินช์ ดีดขึ้น 6.8%

. . .

 

โดย: loykratong 28 กันยายน 2551 17:16:06 น.  

 

. . .

"ธ.วอชิงตัน มิวชวล" ล้มทั้งยืน "เจพี มอร์แกน" ทุ่มเงิน 1.9 $พันล. ซื้อกิจการ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 กันยายน 2551 13:55 น.


"วอชิงตัน มิวชวล อิงค์" ธนาคารเพื่อการออมรายใหญ่ของสหรัฐฯ ล้มทั้งยืน "เจพี มอร์แกน" โดดเทคโอเวอร์ ได้ทันควัน ด้วยวงเงิน 1.9 พันล้านดอลลาร์ หลังกองทุนเงินประกันภัยสหรัฐฯ บุกเข้ายึดกิจการฯ ระบุ เป็นการล้มละลายครั้งใหญ่สุด เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเงินสหรัฐฯ แนะจับตา "ธ.วาโชเวีย" แบงก์อันดับ 6ในสหรัฐฯ จ่อล้มอีก

วันนี้ ( 26 ก.ย.) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สำนักงานดูแลเงินฝากของรัฐบาลกลาง (โอทีเอส) ของสหรัฐฯ เข้าปิดกิจการของ ธนาคารวอชิงตัน มิวชวล อิงค์ (วามู) ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการออมทรัพย์และการกู้ยืมรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ เมื่อคืนวานนี้ หลังจากที่ธนาคารประสบปัญหาเงินฝากไหลออกเกือบ 17,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 วันที่ผ่านมา จนทำให้สภาพคล่องของธนาคารต่ำกว่าเกณฑ์ และอยู่ในภาวะเสี่ยง นับเป็นการปิดฉากธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อีกแห่งหนึ่ง ที่มีอายุการดำเนินธุรกิจมายาวนานถึง 119 ปี

อย่างไรก็ตาม บรรษัทประกันเงินฝาก (เอฟบีไอซี) ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลกิจการของ ธนาคารวอชิงตัน มิวชวล อิงค์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค อิงค์ ได้เข้าซื้อทรัพย์สินในส่วนที่เป็นกิจการธนาคารของวอชิงตันนิวชัวร์ ไปแล้ว ด้วยมูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์ และให้มีผลในทันที โดยเชื่อว่า ธนาคารแห่งนี้จะเปิดให้บริการตามปกติ ภายในวันนี้

โดยการเข้าซื้อกิจการของ วามู วันนี้ ส่งผลให้ เจพี มอร์แกน กลายเป็นสถาบันเงินฝากรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ในทันที โดยมีเงินฝากมากกว่า 900,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30.6 ล้านล้านบาท และยังผงาดขึ้นเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายสาขามากเป็นอันดับ 2 ของสหรัฐ สามารถให้บริการครอบคลุมจำนวนประชากรถึงร้อยละ 42 และถือเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเงินสหรัฐ

ทั้งนี้ การที่เจพี มอร์แกน เข้าซื้อกิจการของ "วามู" หลังราคาหุ้นร่วงลงหนักกว่าร้อยละ 80 นับจากต้นปีนี้ และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส และฟิทช์ เรตติ้งส์ ยังลดอันดับความน่าเชื่อถือของ "วามู" หลังจากที่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ได้ลดอันดับสถานภาพหนี้สินของวอชิงตัน มิวชวล ให้อยู่ในระดับที่เรียกว่า หนี้สินขยะ คือ มีความน่าเชื่อถือต่ำมากจนไม่สามารถนำไปลงทุนต่อได้ ส่งผลให้ "วามู" ประสบปัญหาในการระดมเงินทุนมาเสริมสภาพคล่อง ทางรัฐบาลสหรัฐจึงต้องรีบหาสถาบันการเงินมาซื้อกิจการของ "วามู" ก่อนจะประสบปัญหามากกว่านี้

** "วาโชเวีย" แบงก์อันดับ 6ในสหรัฐฯ จ่อล้มอีก

รายงานข่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า ปัญหาการล้มละลายของสถาบันการเงินในสหรัฐ ดูเหมือนจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะล่าสุดมีรายงานว่าธนาคารวาโชเวีย ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของสหรัฐฯ เริ่มเจรจาเบื้องต้นกับ ซิตี้กรุ๊ป ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของสหรัฐ เพื่อขอควบรวมกิจการ หวังหนีปัญหาการล้มละลาย แม้ว่าโฆษกของธนาคารวาโชเวียจะปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้

หนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัล รายงานว่า ธนาคารวาโชเวีย ได้เจรจาเบื้องต้นกับซิตี้กรุ๊ป , บังโก ซันทันเดอร์ และเวลส์ ฟาร์โก แอนด์โค ขณะที่คาดว่าผู้บริหารของธนาคารดังกล่าวจะมีการประชุมกันที่นครนิวยอร์ก ในสุดสัปดาห์นี้

ทางด้านนักวิเคราะห์ ระบุว่า ธนาคารวาโชเวียได้ประสบปัญหาขาดทุนถึง 9,110 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 309,740 ล้านบาท ในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา และยังจำเป็นต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้นอีกหลังจากที่ได้เพิ่มทุนไปแล้ว 8,050 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 273,700 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

. . .

 

โดย: loykratong 28 กันยายน 2551 17:17:39 น.  

 

. . .

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้อาจปรับฐานต่อ มีแนวรับสำคัญที่ระดับ 600 จุด

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 618.97 จุด ปรับตัวลดลง 0.94% จาก 624.83 จุด ในสัปดาห์ก่อน และร่วงลง 27.87% จากสิ้นปี 2550 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงจาก 14,688 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 9,629 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิที่ 2,445 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิที่ 1,852 ล้านบาท และ 593 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (29 กันยายน – 3 ตุลาคม 2551) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยและบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีน่าจะปรับฐานต่อ ขณะที่จุดสนใจหลักของตลาดยังคงอยู่ที่แผนฟื้นฟูภาคการเงินสหรัฐฯ มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งนักลงทุนยังเฝ้าติดตาม ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ การรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ก.ย. ของกระทรวงพาณิชย์ และตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ส.ค. ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ การปรับตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาค และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 614 และ 600 จุด และแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 626 และ 666 จุด ตามลำดับ

. . .



สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ปรับเป้าหมายดัชนีหุ้นสิ้นปีนี้น่าจะต่ำกว่า 800 จุด

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ จะสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น รวมทั้งเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย สิ้นปี 2551 เนื่องจากมีผลกระทบจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐ ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า จะลดประมาณการเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้ลงจากระดับ 828 จุด โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ดัชนีคงจะต่ำกว่า 800 จุด

ทั้งนี้ การสำรวจของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการลดเป้าดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้เหลือ 828 จุด จากการสำรวจก่อนหน้านี้ที่ประเมินไว้ที่ 927 จุด โดยปัจจัยลบได้แก่ วิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ปัญหาการเมืองภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน

. . .



บลจ.ไอเอ็นจีแนะลงทุน LTF ช่วงนี้ เนื่องจากราคาหน่วยลงทุนลดลงต่ำมาก

นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจกองทุนในปีนี้ยังไปได้ดี โดยยังมีกระแสเงินเข้าธุรกิจกองทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ามูลค่าสินทรัพย์รวม (NAV) จะลดลงตามราคาหุ้น เนื่องจากภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่สดใส แต่การลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และลงทุนในตลาดเงินให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ( LTF) ที่ผู้ลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี โดยมีระยะเวลาการลงทุน 5 ปี ซึ่งในช่วงนี้ที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับใกล้ 600 จุด ถือเป็นโอกาสในการซื้อLTF เพราะหน่วยลงทุนมีราคาต่ำมาก ซึ่งดัชนีที่ระดับ 600 จุด เป็นระดับต่ำสุด นับตั้งแต่ที่มีการเปิดการซื้อขายกองทุน LTF มาตั้งแต่ปี 2548

“3 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยลบหลายเรื่องแต่ธุรกิจกองทุนยังไปได้ดี และเชื่อว่า ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 หรือประมาณ 100 – 200 จุด ในช่วง 3 ปี เวลานี้จึงเหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่จะซื้อกองทุน LTF ซึ่งนอกจากจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ยังได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย” นายมาริษ กล่าว

จากการที่ พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ ทำให้สถาบันการเงินจะทยอยลดการคุ้มครองเงินฝากลงในช่วง 5 ปี ซึ่งจะทำให้ประชาชนกระจายการออมมากขึ้น โดยเฉพาะในปีที่ 5 ซึ่งเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินกระจายมาลงทุนในกองทุนรวม

ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจไทย หลังปัจจัยทางการเมืองเริ่มคลี่คลายในระดับหนึ่ง ก็ต้องติดตามผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ว่าจะมีผลข้างเคียงมาถึงประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะต่อการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอการเติบโต

ภาครัฐต้องเร่งการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ภาครัฐ (เมกะโปรเจ็กต์) หลังจากที่ประเทศไทยพึ่งพิงภาคการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งหากมีการลงทุนจะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น และยังมีปัจจัยบวกจากการที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะช่วยหนุนให้มีการขอสินเชื่อเพื่อการขยายการลงทุน

. . .



เทศกาลกินเจจะหนุนให้ตลาดน้ำมันพืชขยายตัวขึ้นร้อยละ 5 จากเดือนก่อน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าเทศกาลกินเจ ระหว่าง 29 ก.ย.- 7 ต.ค.นี้ จะเป็นช่วงเวลาที่สินค้าน้ำมันพืชได้รับอานิสงส์จากเทศกาลดังกล่าว โดยปริมาณจำหน่ายน้ำมันพืชจะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนก่อนหน้าเทศกาลกินเจอีกประมาณร้อยละ 5

ทั้งนี้ ตลาดน้ำมันพืชยังมีการแข่งขันสูงระหว่างผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์
โดยก่อนหน้านี้ภาครัฐได้อนุมัติปรับราคาจำหน่ายน้ำมันพืชหลายครั้ง ตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูง

ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด 1 ลิตรปรับเพิ่มจากลิตรละ 38 บาทเมื่อเดือนพ.ย.50 เป็น 47.50 บาทในปัจจุบัน ส่วนราคาน้ำมันถั่วเหลือบรรจุขวดเพิ่มจาก 40 บาทเป็น 49.50 บาทในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ผู้ประกอบการน้ำมันถั่วเหลืองยังไม่กล้าจะขอให้มีการขึ้นราคา เนื่องจากระยะนี้กำลังจะเข้าสู่เทศกาลกินเจ ซึ่งผู้ประกอบการน้ำมันถั่วเหลือง เกรงว่าหากมีการปรับราคา จะทำให้ส่วนต่างของราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองห่างกันมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้น้ำมันถั่วเหลืองมียอดจำหน่ายลดลงได้

สำหรับภาพรวมการผลิตและความต้องการบริโภคน้ำมันพืชภายในประเทศยังขยายตัว ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 2551 มีปริมาณการผลิตน้ำมันพืช 715,644 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งมีปริมาณการผลิต 598,941 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 ส่วนปริมาณจำหน่ายน้ำมันพืชครึ่งแรกปี 2551 มีปริมาณ 491,921 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วซึ่งมีปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ 406,933 ตัน ร้อยละ 20.9

. . .



ลุ้น "เดโมแครต-รีพับลิกัน" จับเข่าสรุปแผนกู้วิกฤติสถาบันการเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นักลงทุนทั่วโลกจับตา "เดโมแครต-รีพับลิกัน" หันหน้าเข้าหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงแผนกู้วิกฤต 7 แสนล้านดอลลาร์ ก่อนวันที่ 29 ก.ย.นี้ ก่อนตลาดหุ้นเปิดทำการ ขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลก ส่งสัญญาณภาวะเงินฝืดขั้นรุนแรง ธนาคารกลางของแต่ละประเทศอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาล แต่กลับหายไปในระบบ คาดธนาคารพาณิชย์ แห่กักตุนเงินสด-ลดการปล่อยกู้ลง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (สภาคองเกรส) เตรียมบรรลุข้อตกลงร่วมกันซึ่งอาจนำไปสู่การอนุมัตินโยบายกู้วิกฤตการเงินมูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ภายในวันอาทิตย์นี้ ซึ่งมีสัญญาณว่าอาจจะมีการแถลงข่าวร่วมกันของเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และคณะผู้นำในสภาคองเกรส ก่อนวันที่ 29 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ การจัดทำแผนฟื้นฟูระบบและสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกามูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังตกอยู่ในภาวะชะงักงัน หลังจากมีการนำเสนอแผนดังกล่าวที่เบื้องต้นจัดทำโดยนายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลัง และนายเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยบรรดาคีย์แมนสำคัญในรัฐสภาสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ต่างพากันออกมายืนยันว่าจะพยายามเร่งมือต่อรองเพื่อหาทางทำความตกลงในแผนดังกล่าวให้ได้ ก่อนหน้าที่ตลาดหุ้นจะเปิดทำการในวันที่ 29 ก.ย.นี้

นายบาร์นีย์ แฟรงค์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาคองเกรส พรรคเดโมแครต เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. โดยยืนยันว่า แผนการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 24 ล้านล้านบาท) ที่มีการหารืออย่างเคร่งเครียด ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะได้ข้อสรุปไปในทิศทางที่ดี ภายในวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ย.นี้

"ผมมั่นใจว่า ในวันอาทิตย์นี้ พวกเราจะได้ข้อตกลงเรื่องแผนดังกล่าว และเชื่อว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น" แฟรงค์ กล่าว

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาคองเกรส ได้ชี้แจงว่า การให้ความช่วยเหลือบรรดาเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ฯ ให้รอดพ้นจากการถูกยึดทรัพย์นั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายฉุกเฉิน

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโลก ออกมาเตือนว่า หากแผนดังกล่าวยังตกลงกันไม่ได้ การซื้อขายหุ้นในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ก็จะกลายเป็นการฆาตกรรมหมู่แบบกลายๆ นั่นเอง

รายงานข่าวระบุว่า ถึงที่สุดแล้ว แทนที่แผนกู้วิกฤตดังกล่าวจะเป็นการเข้าไปซื้อหนี้เสียในระบบการเงินทั้งหมดราว 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในทันที อาจถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นแผนหลายขั้นตอน โดยประธานาธิบดีต้องรับรองหรือปรับแก้ได้ นอกจากนั้นยังกำหนดให้รัฐเข้าไปมีส่วนเป็นเจ้าของกิจการตามสัดส่วนของเงินที่จะเข้าไปซื้อหนี้ของแต่ละสถาบันด้วย ซึ่งเดิมจะไม่มีข้อกำหนดดังกล่าวนี้เอาไว้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตลาดการเงินทั่วโลกส่งสัญญาณภาวะเงินฝืดออกมาให้เห็นชัดมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปเสริมสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เริ่มพากันกักเงินสดเอาไว้ และลดการปล่อยกู้ลง ผลักให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งในตลาดลอนดอนและยุโรป

นอกจากนี้ รายงานสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ เริ่มแสดงให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวอ่อนแอลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างรวดเร็ว

นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ระบุว่า แม้เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงไปอีก ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด เห็นได้ชัดว่าภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงทางลบอยู่ในเวลานี้

. . .

 

โดย: news IP: 58.137.155.65 28 กันยายน 2551 19:23:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.