Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 
21 กันยายน 2551
 
All Blogs
 

---ผักแพง-ทองขึ้น-ค่าไฟฟ้า-วิเคราะห์วิกฤติเลห์แมน--กินเจปีนี้---

. . .

ผักราคาพุ่งจากผลกระทบของน้ำท่วมและใกล้ช่วงเทศกาลกินเจ


อธิบดีกรมการค้าภายในส่งเจ้าหน้าที่คุมเข้มราคาสินค้าป้องกันผู้ค้าอาศัยภาวะน้ำท่วมฉวยโอกาสขึ้นราคา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุช่วงกินเจปีนี้จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 8.2%

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน ออกตรวจตลาดสดเทศบาลเมืองปทุมธานี ตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค จากการตรวจสอบอาหารสดยังคงราคาเท่าเดิม แต่พบว่าผักใบอาทิ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี กวางตุ้ง มีการปรับขึ้นราคา พ่อค้า-แม่ค้าระบุว่า เหตุที่ผักราคาสูงเป็นผลจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และฝนที่ตกต่อเนื่องสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตผัก ประกอบกับราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งที่สำคัญยังมีราคาสูง ขณะที่ผักอีกหลายชนิดก็มีแนวโน้มราคาขายสูงขึ้น โดยเฉพาะยิ่งเข้าใกล้วันกินเจที่ความต้องการผักจะมีมากกว่าเท่าตัว ก็จะยิ่งทำให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นเป็นรายวัน โดยผักที่แนวโน้มราคาจะปรับขึ้น อาทิ ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วฝักยาว ผักกาดหอม ผักชี มะเขือ และหัวผักกาด

นายยรรยง กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือพาณิชย์จังหวัดคุมเข้มราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมทั้งอุปกรณ์ก่อสร้าง อิฐ หิน ปูน ทราย อย่าให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคา และกักตุนสินค้าในช่วงที่หลายจังหวัดประสบกับปัญหาอุทกภัย และให้ผู้ประกอบการสินค้าประเภทอุปโภค-บริโภค ภาคเกษตรตรึงราคาจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มลดลงแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าความต้องการผักในช่วงเทศกาลกินเจนั้นพุ่งสูงขึ้นจากช่วงปกติประมาณ 1 เท่าตัว ซึ่งความต้องการบริโภคผักที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้ราคาผักในช่วงกินเจเป็นช่วงที่ผักมีราคาแพงช่วงหนึ่งของปี ในปีนี้มีภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่และภาวะฝนที่ตกต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตผัก โดยเฉพาะผักกินใบ กอปรกับราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งที่สำคัญมีราคาสูงกว่าปีก่อน ดังนั้นคาดว่าราคาผักในปีนี้จะพุ่งสูงขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยราคาผักสำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มสูงมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วฝักยาว ผักกาดหอม คะน้า ผักชี ฟักเขียว มะเขือเทศผลใหญ่ มะเขือเทศสีดา มะระจีนและหัวผักกาด

ในช่วงเทศกาลกินเจ(วันที่ 29 กันยายน – 8 ตุลาคม) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจกินเจในกรุงเทพฯปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 2,100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา


ราคาผักเปรียบเทียบต้นเดือนกับปัจจุบัน

1 ก.ย. 51 22 ก.ย. 51
ผักคะน้า 20-25 บาท/ก.ก. 28-30 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 5-8 บาท
ผักบุ้งจีน 18-20 บาท/ก.ก. 25-28 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 7-8 บาท
ผักกวางตุ้ง 14-18 บาท/ก.ก. 25-30 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 11-12 บาท
ผักกาดขาวปลี 20-25 บาท/ก.ก. 25-30 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 5 บาท
กะหล่ำปลี 18-20 บาท/ก.ก. 20-22 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 2 บาท
ผักชี 12-13 บาท/ขีด 14-15 บาท/ขีด เพิ่มขึ้น 2 บาท

ที่มา – กรมการค้าภายใน

. . .



ราคาทองคำกระเตื้องขึ้นมาอีกครั้ง นักลงทุนแห่ขายใบจองทำกำไร


ราคาทองคำแท่งเพิ่มขึ้นอีกบาทละ 250 บาท จากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาทองคำแท่งขายบาทละ13,400 บาท เพิ่มเป็น 13,750 บาท และเมื่อเทียบกับต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำแท่งเพิ่มขึ้นถึงบาทละ 1,000 บาทแล้ว ส่งผลให้นักลงทุนที่สั่งซื้อทองเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาแห่ขายใบจองเพื่อทำกำไร

ราคาทองคำแท่งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. รับซื้อบาทละ 13,650 บาท ขายออกบาทละ 13,750 บาท ราคาทองรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 13,446.92 บาท ขายออกบาทละ 14,150 บาท

สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับขึ้นจากระดับ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 870 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 16% เมื่อเทียบกับวันที่ 12-13 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นผลจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดเงินตลาดทุน มาลงทุนในตลาดทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งผันผวน และคาดว่าจะผันผวนต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

นายจิตติ ตั้งสิทธิภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ระบุว่า ราคาทองคำในตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งในประเทศเพิ่มขึ้นตาม โดยราคาทองคำแท่งในช่วงนี้ผันผวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยค้าขายทองคำ ซึ่งขณะนี้ตนคิดว่า ยังไม่เหมาะที่จะลงทุนด้านทองคำ ควรรอดูสถานการณ์ราคาให้ชัดเจนก่อน

นายจิตติ กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าคนไทยนิยมซื้อขายทองคำเพื่อเก็งกำไรมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ผู้ขายทยอยนำทองออกมาขาย และไม่ควรมาขายทีเดียวทั้งหมด เพราะร้านค้าทองเริ่มหมุนเงินไม่ทัน เนื่องจากทองที่สั่งซื้อไปสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับมอบ แต่นักลงทุนและประชาชนนำใบจองมาขายให้ร้านค้าทองจำนวนมาก

. . .



ค่าเอฟทีงวดใหม่ขยับขึ้น 14.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 3.02 บาท


นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เรคกูเลเตอร์) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการฯว่า ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที) งวดใหม่ 14.85 สตางค์ต่อหน่วย โดยค่าเอฟทีใหม่จะใช้เป็นเวลา 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.51)

นายดิเรก กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าเอฟทีครั้งนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนจะอยู่ที่หน่วยละ 3.02 บาท หรือสูงขึ้นจากรอบที่ผ่านมาเฉลี่ยร้อยละ 5.17 ซึ่งปกติค่าเอฟที รอบนี้จะต้องปรับขึ้นสูงถึง 57.22 สตางค์ต่อหน่วย แต่เพื่อไม่ให้กระทบภาคการผลิตและภาคเศรษฐกิจ จึงนำส่วนที่เหลือทยอยปรับขึ้นตลอด 15 เดือน (ต.ค.51 – ธ.ค.52) ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันเตาในอนาคตมีแนวโน้มลดลง

สำหรับสาเหตุที่ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น มาจากค่าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 23.43 บาทต่อล้านบีทียู จากราคาเฉลี่ยเดือนมิถุนายน-กันยายน 2551 ที่ 205.90 บาทต่อล้านบีทียู เพิ่มเป็น 229.33 บาทต่อล้านบีทียูในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2551 โดยปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าใช้ก๊าซในการผลิตถึงร้อยละ 70

นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงจาก 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็มีผลต่อราคาก๊าซ แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนรวมถึงภาคการผลิต จึงได้นำส่วนต่างการจัดซื้อก๊าซจากค่าเทคออเพย์(take or pay) ปี 2551 จำนวน 3,600 ล้านบาท และค่าปรับที่เรียกเก็บจากปริมาณการส่งก๊าซของแหล่งอาทิตย์ที่ขาดส่งจำนวน 700 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 4,300 ล้านบาท มาลดผลกระทบ จึงทำให้ขึ้นค่าเอฟทีงวดนี้เพียง 14.85 สตางค์

ขณะที่ส่วนต่างค่าเอฟที ที่คำนวณและเรียกเก็บที่เหลืออีก 29.69 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 10,058 ล้านบาท ให้ กฟผ.นำไปเรียกเก็บในการคำนวณเอฟทีงวดต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือนจะได้รับผลกระทบเล็กน้อยตามมาตรการของภาครัฐที่ช่วยเหลือประชาชนและอยากให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟ

. . .



สศค.เสนอแบงก์ชาติดูแลสภาพคล่อง และค่าเงินบาท รับมือวิกฤติการเงินโลก


สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “วิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า วิกฤตของเลห์แมน บราเธอร์ส ที่ประกาศล้มละลายเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อไทยทั้งระยะสั้น และระยะยาว

สศค. ระบุว่า การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลก นำไปสู่ความตื่นตระหนกในตลาดการเงินทั่วโลก และเกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ทำให้สภาพคล่องการเงินทั่วโลกตึงตัว จนธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบไม่ต่ำกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ผลกระทบต่อประเทศไทยมี 2 ระยะ โดยระยะสั้นส่งผลกระทบทางตรง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินของไทยและธุรกิจไทยมีธุรกรรมและความเสี่ยงกับเลห์แมน บราเธอร์สน้อย แต่การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส อาจกระทบต่อสภาพคล่องในประเทศ และตึงตัวในอนาคต เนื่องจากบริษัทที่กู้เงินจากเลห์แมน บราเธอร์ส ต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ในประเทศมาทดแทน

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมพบว่า มีผลสู่ตลาดเงินตลาดทุนไทยมากในระยะสั้น ทำให้ตลาดหุ้นผันผวน สภาพคล่องอาจเริ่มตึงตัวขึ้นตามตลาดโลก รวมทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น

ส่วนผลกระทบระยะยาว เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบในวงกว้างได้ จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวตามไปด้วย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มาตรการรองรับในระยะสั้น คือ หน่วยงานภาครัฐต้องดูแลสภาพคล่องภายในประเทศให้เพียงพอ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับระยะปานกลางและระยะยาว ประเทศไทยควรจะเร่งการใช้จ่ายโดยเน้นการลงทุนให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะต่อไป จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ทำให้การส่งออกลดลง นโยบายการเงินอาจต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่ในขณะนี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจหดตัว

นโยบายการค้าต้องเร่งกระจายตลาดส่งออก และควรเน้นเพิ่มความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค โดยอาจใช้เวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคมนี้ เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือทางการเงินให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

. . .



เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยดิ่งลง ท่ามกลางความผันผวนของตลาดการเงินโลก


ตลาดเงิน

ในสัปดาห์นี้ (22-26 กันยายน 2551) จะมีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ของธนาคารพาณิชย์ในวันอังคารและเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ ขณะที่คงจะยังไม่มีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อสภาพคล่องในตลาดเงินอย่างมีนัยสำคัญ แต่คาดว่าตลาดคงจะจับตาดูสถานการณ์วิกฤตการเงินในสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงระดับ 3.75%

ส่วนเงินบาทในประเทศอาจมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 34.10-34.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยนอกจากปัจจัยในประเทศ ได้แก่ สถานการณ์การเมือง และสัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพตลาดของ ธปท.แล้ว คงจะต้องติดตามประเด็นปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และแผนการจัดการภาวะตลาดที่ปั่นป่วนของทางการสหรัฐฯ ตลอดจนธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางค่าเงินดอลลาร์ฯ รวมไปถึงการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญเช่น ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือนสิงหาคม ตัวเลขจีดีพี (ทบทวนครั้งสุดท้าย) ประจำไตรมาส 2/2551 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจัดทำโดยรอยเตอร์และมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือนกันยายน อีกด้วย


ตลาดหุ้นไทย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 624.83 จุด ปรับตัวลดลง 4.51% จาก 654.34 จุด ในสัปดาห์ก่อน และร่วงลง 27.18% จากสิ้นปี 2550 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 49.22% จาก 49,213.75 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 73,437.49 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้นจาก 9,842.75 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 14,687.50 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิที่ 4,348.05 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิที่ 3,089.23 ล้านบาท และ 1,258.82 ล้านบาท ตามลำดับส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 223.82 จุด ขยับขึ้น 5.31% จาก 236.38 จุดในสัปดาห์ก่อน และร่วงลง 17.83% จากสิ้นปีก่อน

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (22-26 กันยายน 2551) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยและบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีน่าจะแกว่งตัวขึ้นได้ แต่อาจเผชิญกับแรงเทขายทำกำไรในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยปัจจัยที่ต้องจับตานอกเหนือจากมาตรการแก้ไขวิกฤตตลาดเงินในสหรัฐฯ ได้แก่ การจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ของไทย และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การปรับตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาค ราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ยอดขายบ้านใหม่ในเดือน ส.ค. และตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 2/2551 (ทบทวนครั้งสุดท้าย) ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 610 และ 600 จุด และแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 640 และ 666 จุด ตามลำดับ

. . .



บทวิเคราะห์เรื่อง วิกฤต “Lehman Brothers”และผลกระทบต่อ เศรษฐกิจไทย

บทสรุปผู้บริหาร

􀂾 ณ วันที่ 15 กันยายน 2551 Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประกาศล้มละลาย ซึ่งนำมาสู่ความตื่นตระหนกในตลาดการเงินทั่วโลกและเกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และทำให้เกิดสภาพคล่องทั่วโลกได้ตึงตัวรุนแรง (Credit Crunch) จนธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบโดยรวมไม่ต่ำกว่า 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

􀂾 วิกฤต Lehman Brothers มีผลกระทบต่อไทยใน 2 ระยะ ในระยะสั้น ส่งผลกระทบทางตรงไม่มากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินไทยและธุรกิจไทยมีธุรกรรมและความเสี่ยง (Exposure) กับ Lehman Brothers น้อย อย่างไรก็ตามการล้มละลายของ Lehman Brothers อาจมีผลกระทบต่อสภาวะสภาพคล่องในประเทศให้ตึงตัวในอนาคตเนื่องจากบริษัทที่กู้เงินจาก Lehman Brothers ต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ในประเทศมาทดแทน ในขณะที่ผลกระทบทางอ้อมพบว่ามีผลสู่ตลาดเงินตลาดทุนไทยมากในระยะสั้น โดยทำให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน สภาพคล่องในประเทศอาจเริ่มตึงตัวขึ้นตามตลาดโลก รวมทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ขณะที่ในระยะยาว เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤต Lehman Brothers ในวงกว้างได้ จากการที่เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกของไทยลดลงไปด้วย

􀂾 สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤต Lehman Brothers ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะสภาพคล่องล้นโลก (Excessive Global Liquidity) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่ภาวะวิกฤต Sub-Prime และลุกลามจนถึงปัจจุบัน โดย สศค. คาดว่า ความผันผวนดังกล่าวจะยังไม่จบในระยะสั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตประเทศไทยควรมีมาตรการรองรับในระยะสั้นดังนี้

(1) หน่วยงานภาครัฐจึงควรดูแลสภาพคล่องภายในประเทศให้เพียงพอหากเศรษฐกิจไทยขาดสภาพคล่องตามตลาดโลก

(2) เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. ควรเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน

ในขณะที่ระยะปานกลางและยาว ประเทศไทยควรจะ
(1) เร่งการใช้จ่ายในประเทศโดยเน้นการลงทุนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกัน
เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะต่อไป จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ทำให้การส่งออกลดลง
(2) นโยบายการเงินอาจจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ในขณะนี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจหดตัว (Recession)
(3) นโยบายการค้าจะต้องเร่งกระจายตลาดการส่งออกและ
(4) ควรเน้นควรมีการเพิ่มความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค โดยอาจใช้เวที ASEAN SUMMIT ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคมนี้เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือทางการเงินให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น

ในวันที่ 15 กันยายน 2551 Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประกาศล้มละลาย ซึ่งนำมาสู่ความตื่นตระหนกในตลาดการเงินทั่วโลกและเกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย รวมทั้งทำให้สภาพคล่องทั่วโลกตึงตัวรุนแรง จนธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบ

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เล็งเห็นว่าวิกฤตดังกล่าวอาจยังไม่สิ้นสุดลงในระยะสั้นและอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต จึงได้ทำการสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตดังกล่าวสู่เศรษฐกิจไทย รวมถึงเสนอแนะแนวนโยบายของไทยในการรองรับผลกระทบดังกล่าว ดังมีรายละเอียดดังนี้

1. สรุปสถานการณ์
วันที่ 15 กันยายน 2551 Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประกาศล้มละลาย หลังจากนั้นในวันที่ 15-17 กันยายน 2551 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก (รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทย) ปรับตัวลดลงร้อยละ 4-5 ต่อวัน และยังคงความผันผวนต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ในขณะเดียวกันสภาพคล่องทั่วโลกได้ตึงตัวรุนแรง (Credit Crunch) และทำให้ดอกเบี้ยตลาด London Interbank Offer Rate (LIBOR) ซึ่งเป็นอัตรามาตรฐานในการกู้ยืมกันในตลาดลอนดอนปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 2-3ภายในวันเดียว เพื่อแก้ปัญหา Credit Crunch ดังกล่าว ในวันที่ 16-18 กันยายน 2551 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบโดยรวมไม่ต่ำกว่า 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยุโรป (ECB) ญี่ปุ่น (BOJ) และออสเตรเลีย (RBA) เป็นต้น ในขณะที่วันที่ 17 กันยายน 2551 Fed ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2 เพื่อระงับความตื่นตระหนกของนักลงทุน นอกจากนั้นปัญหาดังกล่าวยังลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น AIG ซึ่งเป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย ทำให้ Fed ต้องเข้าช่วยเหลือสภาพคล่องซื้อหลักทรัพย์ AIG ถึงร้อยละ 89 เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น

อนึ่ง ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าวานิชธนกิจขนาดใหญ่ Morgan Stanley และGoldman Sachs ก็ประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน โดยในกรณีของ Morgan Stanley กำลังเจรจาควบรวมกับ Wachovia สถาบันการเงินขนาดใหญ่อีกแห่ง นอกจากนั้นธนาคาร Halifax Bank of Scotland (HBOS) ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินก็มีกระแสข่าวว่ากำลังจะควบรวมกับ Lloyd TSB
ของอังกฤษเช่นกัน ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าวบ่งชี้ว่าวิกฤตการเงินในสหรัฐที่เป็นผลจากวิกฤต Sub-prime นั้นอาจไม่จบลงในระยะสั้นและมีท่าทีว่าจะลุกลามอย่างต่อเนื่อง


2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

2.1 ในระยะสั้น วิกฤต Lehman Brothers มีผลกระทบต่อไทยใน 2 ด้าน อันได้แก่ผลกระทบทางตรงและทางอ้อม

ผลกระทบทางตรง: ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะสถาบันการเงินไทยและธุรกิจไทยมีธุรกรรมและความเสี่ยง (Exposure) กับ Lehman Brothers น้อย โดยแบ่งได้เป็น

(1) ความเสียหายจากสถาบันการเงินไทยที่ไปลงทุนใน Lehman Brothers โดยตรงซึ่งคาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 4.8 พันล้านบาท (ตัวเลขจากคำสัมภาษณ์ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)) ซึ่งมีไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของสินเชื่อสถาบันการเงินทั้ง
ระบบที่อยู่ที่ประมาณ 9 ล้านล้านบาท

ผลกระทบ: ในภาพรวมคงมีผลกระทบระบบสถาบันการเงินไม่มาก แต่ต้องเร่งตรวจสอบสถาบันการเงินที่เสียหายเฉพาะรายเพื่อรีบดูแลไม่ให้ปัญหาลุกลาม

(2) ความเสียหายจากธุรกิจที่ Lehman Brothers ที่ลงทุนในไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาคารพาณิชย์ และปล่อยกู้ในบริษัทที่ Lehman Brothers ลงทุน)

ผลกระทบ: Lehman ต้องขายสินทรัพย์ในไทยทั้งหมดไปใช้หนี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบกับราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยบ้าง แต่ไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่ดี น่าจะมีนักลงทุนสนใจซื้อ ในขณะที่ความเสียหายของ Lehman Brothers แต่อาจมีผลลบกับบริษัทที่กู้เงินจาก Lehman Brothers เพราะ ต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ในประเทศมาแทน ซึ่งอาจจะกระทบสภาพคล่องในประเทศให้ตึงตัวในอนาคต

(3) ความเสียหายจากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ทำธุรกรรมกับ Lehman Brothers เช่น สัญญาการเงินต่างๆ และสัญญาค้ำประกันซึ่งจะมีปัญหาจากคู่สัญญาล้มละลาย (Counter-parties Risk)

ผลกระทบ: คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมกับ Lehman Brothers โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบจำนวนธุรกรรมที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถาบันการเงินไทยมีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง ดังจะเห็นได้จากเงินลงทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio) ของไทยที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15.0 ของสินทรัพย์รวม ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์การตั้งสำรองของทางการที่อยู่ที่ร้อยละ 8.5 ของสินทรัพย์รวมค่อนข้างมาก ดังนั้นผลกระทบต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินไทยน่าจะอยู่ในวงจำกัด


ผลกระทบทางอ้อม: วิกฤต Lehman Brothers อาจมีผลกระทบสู่ตลาดเงินตลาดทุนไทยมากในระยะสั้น โดยแบ่งได้เป็น

(1) ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน:

- ในช่วง 3-4 วันแรก ตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงมากเหมือนตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก (ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับลดลงไปวันละประมาณร้อยละ 4-5 ขณะที่ในระหว่างวันมีความผันผวนมาก โดยในช่วงเช้าวันที่ 18 กันยายน 2551 ปรับลดลงถึง
ประมาณ 30 จุดหรือร้อยละ 5 ก่อนที่จะปรับดีขึ้นในช่วงบ่าย ทำให้ปิดตลาดลบเพียงเล็กน้อย) เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติต้องขายหลักทรัพย์ทั่วโลกรวมทั้งหลักทรัพย์ไทย เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่ขาดแคลนรุนแรง

- แต่ในระยะต่อไป เมื่อสภาพคล่องกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ นักลงทุนต่างชาติอาจจะแห่ถอนเงินออกจากสินทรัพย์รูปดอลลาร์ที่มีแนวโน้มด้อยค่าลง มาถือสินทรัพย์ในสกุลอื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นได้

( 2) สภาพคล่องในประเทศอาจตึงตัวตามตลาดโลก
- ในช่วงแรกที่สภาพคล่องในตลาดโลกตึงตัว ได้ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินในรูปดอลลาร์สูงขึ้นมาก โดยสามารถพิจารณาได้จากอัตราดอกเบี้ย LIBOR ที่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 2.3 เป็นร้อยละ 3.8 ในช่วงสั้น ดังนั้น บริษัทไทย (หรือรัฐบาลไทย) จะมีต้นทุน
การกู้เงินจากต่างประเทศแพงมาก ขณะที่ความเสี่ยงด้านการขาดสภาพคล่องทั่วโลกได้ส่งผลให้ Risk Premium ของเอเชียและไทย ซึ่งสามารถวัดได้จาก Credit Default Swap หรือ CDS ดอกเบี้ยสูงขึ้นถึงร้อยละ 1.7 (หรือ 170 Basis Points: bps) ทำให้ต้องหันมากู้เงินภายในประเทศแทน ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในประเทศตึงตัวอย่างเร็ว จนดึงให้ต้นทุนดอกเบี้ยกู้ในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย

(3) ค่าเงินบาทจะผันผวนมาก
- ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา หลังจากที่ Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างเร็ว (โดยแข็งขึ้นประมาณร้อยละ 1.05 จาก 34.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐภายใน 3 วัน) และแข็งค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค (โดยเมื่อเทียบค่าเงินวันที่ 18 กันยายนกับค่าเงินสัปดาห์ก่อนหน้าพบว่า บาทแข็งขึ้นถึงร้อยละ 0.84 ขณะที่ดอลลาร์สิงค์โปร์แข็งขึ้นเพียงร้อยละ 0.42 เปโซฟิลิปปินส์อ่อนลงร้อยละ -0.66 และอินโดรูเปียห์อ่อนลงร้อยละ 0.73) เนื่องจากดอลลาร์อ่อนลงเร็วมากและเงินทุนไหลออกจากไทยยังน้อยกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค

- อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ค่าเงินบาทอาจกลับมาอ่อนเร็วได้ โดยเฉพาะเมื่อเงินทุนไหลออกจากไทยจริง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นจากรายได้ส่งออกและท่องเทียวทีลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว (รวมทั้งปัญหาการเมือง
ในประเทศ)


2.2 ในระยะปานกลางถึงยาว: เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤต Lehman Brothers ในวงกว้างได้เนื่องจาก

(1) เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การส่งออกของไทยลดลง

- เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2551 และปี 2552 และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินใกล้ชิดกับสหรัฐ ขยายตัวชะลอลงมากด้วย นอกจากนั้น การที่เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชะลอลง จะส่งผลตามมายังเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ในระยะต่อไป

(2) เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกมากจะชะลอตามไปด้วย
- ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการถึงประมาณร้อยละ 70 ของ GDP ชะลอตามไปด้วย ดังนั้น เศรษฐกิจไทยต้องเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งการลงทุนและการบริโภคให้เร่งตัวขึ้นโดยเร็ว เพื่อ
ช่วยทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัวลง และต้องเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่มาก เช่น ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา อินเดีย และจีน เป็นต้น


3. แนวนโยบายเศรษฐกิจไทย
สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤต Lehman Brothers ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะสภาพคล่องล้นโลก (Excessive Global Liquidity) ในช่วงที่ผ่านมา1 ซึ่งนำไปสู่ภาวะวิกฤต Sub-Prime ในสหรัฐ และลามสืบเนื่องทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวนจนถึงปัจจุบัน โดยสศค. คาดว่า ความผันผวนดังกล่าวจะยังไม่จบในระยะสั้น โดยอาจจะนำไปสู่การควบรวมกิจการของวานิชธนกิจ รวมถึงธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันอื่น ๆ อีก ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ประเทศไทยควรมีมาตรการรองรับดังนี้


ในระยะสั้น
1. เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์เงินทุนไหลออก และการระดมเงินกู้ในประเทศแทนการกู้ต่างประเทศที่มีปัญหา หน่วยงานภาครัฐจึงควรดูแลสภาพคล่องภายในประเทศให้เพียงพอ หากเกิดเหตุการณ์เงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว (Capital Account Reversal) และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างรวดเร็ว (Current Account Reversal)

2. เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. ควรเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวนเกินไป ซึ่งจะกระทบภาคเศรษฐกิจจริง (การส่งออก นำเข้า และการลงทุน)

ในระยะปานกลางถึงยาว

1. เพื่อป้องกันเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะต่อไป จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ทำให้การส่งออกลดลงรัฐบาลควรจะเร่งการใช้จ่ายในประเทศโดยเน้นการลงทุนให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะภาครัฐต้องเป็นตัวนำ เช่น เร่งผลักดัน Mega-Project ให้เป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด

2.นโยบายการเงินอาจจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ในขณะนี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจหดตัว (Recession) ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางของจีน (PBOC) เริ่มปรับตัวก่อน โดยปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี) ในวันที่ 16 กันยายน 2551 จากร้อย
ละ 7.47 เหลือ 7.29 หลังจากเงินเฟ้อในจีนเดือนสิงหาคม 2551 ปรับลดลงเหลือร้อยละ 4.9 จากร้อยละ 8.7 และร้อยละ 6.3 ในสองเดือนก่อนหน้า

3. นโยบายในระยะยาวจะต้องเร่งกระจายตลาดการส่งออก โดยกระจายไปสู่ตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบมาก เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา นอกจากนั้นเพิ่มระดับการค้าขายกันในภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อทดแทนการลดลงของเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น

4. ควรเน้นควรมีการเพิ่มความร่วมมือทางการเงินในเอเชีย โดยอาจใช้เวที ASEAN SUMMIT ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคมนี้เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือทางการเงินให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น เช่น การเพิ่มช่องทางการลงทุนระหว่างภูมิภาคในสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลเอเชียมากขึ้น เพราะในระยะยาวสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐอาจมีโอกาสด้อยค่าลงมาก ตามเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอลง นอกจากนั้น ควรเร่งความร่วมมือในการประสานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดการแข่งขันการแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า (Competitive Devaluation or Beggar-thy-neighbor Policy)

. . .




 

Create Date : 21 กันยายน 2551
2 comments
Last Update : 21 กันยายน 2551 20:17:27 น.
Counter : 728 Pageviews.

 

. . .

กินเจปี’51 : เม็ดเงินสะพัดเพิ่ม 8.2%....คนกรุงฯเน้นประหยัด แต่ราคาสินค้าพุ่ง


บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2551 นี้ทางบริษัทดำเนินการสำรวจเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล “คนกรุงเทพฯกับเทศกาลกินเจปี 2551” จากกลุ่มตัวอย่าง 377 คน สำรวจระหว่างวันที่ 8-15 กันยายน 2551 โดยกระจายกลุ่มตัวอย่างตามอายุและรายได้ เนื่องจากปัจจัยทั้งสองนี้มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารเจ นอกจากนี้ ยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยเจาะกลุ่มตัวอย่างที่ตั้งใจบริโภคอาหารเจ โดยแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริโภคอาหารเจเป็นประจำแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 10.7 ของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มที่บริโภคอาหารเจเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจร้อยละ 47.1 ของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ที่เหลือร้อยละ 42.2 เป็นกลุ่มที่บริโภคอาหารเจหน้าใหม่และกลุ่มที่บริโภคอาหารเจตามแฟชั่น โดยทั้งสองกลุ่มแรกนับว่าเป็นผู้ที่สร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจทุกปี แม้ว่าในปีนี้ผู้ที่บริโภคอาหารเจจะเน้นประหยัด แต่ด้วยราคาวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารเจสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผัก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกอบอาหารเจ จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารเจเฉลี่ยประมาณวันละ 100-120 บาท/คน ซึ่งใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเมื่อเทียบกับในปี 2550 เมื่อนำมาคำนวณโดยอิงกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารเจแล้ว คาดว่ามูลค่าของธุรกิจอาหารเจในกรุงเทพฯในปี 2551 ประมาณ 2,100 ล้านบาทเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับในปี 2550 ซึ่งนับว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าตลาดอาหารเจในปีนี้ต่ำกว่าเมื่อปีก่อนที่มีอัตราการขยายตัวเกือบร้อยละ 10.0 ทั้งนี้ เนื่องจากคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเน้นประหยัด และอยู่ในภาวะที่ไม่มีอารมณ์ร่วมในการที่จะเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ของเหตุการณ์ความเครียดจากความวุ่นวายทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังคงเอื้ออำนวยในการเติบโตต่อธุรกิจอาหารเจในปี 2551 ที่สำคัญ มีดังนี้

1. จำนวนคนกรุงฯรับประทานอาหารเจมากขึ้น แต่เลือกวันและเลือกมื้อ ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญเนื่องจากคนไทยหันมาสนใจในเรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการรับประทานอาหารเจเพื่อที่จะได้ทำตามประเพณีขอร่วมกินเจทำบุญล้างกายและล้างใจ โดยการละเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์เท่ากับเป็นการลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อย่างไรก็ตาม ความเครียดจากความวุ่นวายทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจภาคครัวเรือนที่บีบรัด จากปัญหาราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากราคาน้ำมัน รวมทั้ง ความรู้สึกไม่มั่นคงในการจ้างงาน เนื่องจากหลายกิจการ โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเริ่มประสบปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน จากการที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น

2. การบริโภคอาหารเจสำเร็จรูป/อาหารเจกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น จากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่าปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้ออาหารเจของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างคือ ราคาไม่แพง คุณภาพ และสะอาด ซึ่งอาหารเจสำเร็จรูป/อาหารเจกึ่งสำเร็จรูปสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ กล่าวคือ อาหารเจสำเร็จรูป/อาหารเจกึ่งสำเร็จรูปมีความสะดวกในการเลือกซื้อ เนื่องจากมีจำหน่ายทั่วไป ทำให้หาซื้อได้ไม่ยาก และราคาไม่แพง รวมทั้งยังมีให้เลือกหลากหลายเมนู และผู้ผลิตหลากหลายยี่ห้ออีกด้วย รวมทั้งบรรดาผู้ผลิตอาหารเจสำเร็จรูป/อาหารเจกึ่งสำเร็จรูปมีการคิดค้นเมนูอาหารเจหลากหลายเมนูเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า

3. ร้านอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย/ตามสั่งต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษายอดขาย ร้านอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย/ตามสั่งก็ต้องพลิกแพลงสูตรอาหารเช่นกัน เนื่องจากคาดว่าราคาวัตถุดิบในการประกอบอาหารเจ โดยเฉพาะผักต่างๆซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารเจคาดว่าจะมีราคาสูงขึ้น ผู้ขายอาหารเจกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในปีนี้ เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การปรับราคาเพิ่มขึ้นนั้นทำได้ยาก เนื่องจากมีคู่แข่งขันในตลาดค่อนข้างมากทั้งร้านอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย อาหารเจสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปที่เข้ามาแข่งขันในตลาดอาหารเจอีกหลายราย ดังนั้น ทางเลือกของร้านอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย/ตามสั่งที่จะรักษายอดขายได้ในช่วงเทศกาลกินเจคือ เลือกวัตถุดิบ/หาแหล่งวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ลดปริมาณอาหารลงเล็กน้อย หรือขึ้นราคาอาหารประมาณ 5-10 บาทต่อถุงหรือจาน โดยขอความเห็นใจลูกค้า อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย/ตามสั่งบางราย ก็ตัดสินใจไม่ทำอาหารเจจำหน่ายในปีนี้ เนื่องจากทนแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวและไม่อยากให้ลูกค้าเสียความรู้สึก เมื่อขายอาหารเจในราคาแพงขึ้นจากเดิม รวมทั้งบางรายวิตกว่าจะไม่สามารถจำหน่ายได้ เนื่องจากลูกค้าบางส่วนหันไปรับประทานอาหารเจสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูปแทนเพิ่มขึ้น


หลากธุรกิจปรับกลยุทธ์…รับมือผู้บริโภคเน้นประหยัด กระตุ้นอารมณ์จับจ่าย

เทศกาลกินเจที่จะมาถึงในวันที่ 29 กันยายนนี้ คาดว่าสภาพตลาดจะมีการแข่งขันอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ถดถอย และมุ่งเพิ่มยอดขายเพื่อให้ผลประกอบการปลายปีเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยรูปแบบการแข่งขันจะยังคงเป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามจุดขาย จัดรายการส่งเสริมการจำหน่ายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง และพยายามลดต้นทุนทุกด้านเพื่อคงราคาสินค้าไว้ รวมถึงการเข้าสนับสนุนในชุมชนที่จัดพิธีกินเจ เช่น ภูเก็ต ตรัง เป็นต้น โดยในปีนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดเทศกาลกินเจในช่วงวันที่ 28 กันยายนถึง 7 ตุลาคมนี้ที่จังหวัดภูเก็ต ตรัง นครศรีธรรมราช และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทั้งนี้ คาดว่าจะมีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคใต้ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและสิงคโปร์


ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากช่วงเทศกาลกินเจ ได้แก่

1.อาหารเจสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป จากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่าในปีนี้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันมานิยมรับประทานอาหารเจสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น เนื่องจากอาหารเจประเภทนี้สามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ อีกทั้งราคาค่อนข้างคงที่ เมื่อเทียบกับอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขายที่ราคาจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามราคาวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารเจ ซึ่งบรรดาบริษัทผู้ผลิตเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค สินค้าเหล่านี้ขายดิบขายดีอย่างมากในช่วงเทศกาลกินเจ เนื่องจากสามารถเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคมากขึ้น สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯที่ต้องทำกิจกรรมทุกอย่างแข่งกับเวลา นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังมีการพัฒนาเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาหารเจสำเร็จรูปเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ตลาดอาหารเจสำเร็จรูปที่น่าสนใจ มีดังนี้

-อาหารเจกระป๋อง ซึ่งมีอัตราการเติบโตของตลาดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-25 ในแต่ละปี คาดว่าตลาดอาหารเจกระป๋องเฉลี่ยในแต่ละปีสูงถึงกว่า 200 ล้านบาท

-อาหารเจสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็ง รวมทั้งอาหารเจกึ่งสำเร็จรูป ผู้ที่ผลิตอาหารสำเร็จรูปหันมาพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในช่วงของเทศกาลกินเจ โดยยังคงอาศัยช่องทางการจัดจำหน่ายเดิมในการกระจายสินค้าเน้นการจัดจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อที่มีกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งในแต่ละช่วงที่มีเทศกาลกินเจยอดจำหน่ายสินค้าประเภทนี้ทำเงินให้กับผู้ผลิตอย่างงดงามทีเดียว นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตอาหารเจสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป ยังหันไปจับลูกค้าเป้าหมายที่รักษาสุขภาพโดยการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถมียอดจำหน่ายตลอดทั้งปี

2.อาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย/ตามสั่ง อาหารเจประเภทนี้ยังคงเป็นอาหารเจยอดนิยม ในปีนี้คาดว่ายอดจำหน่ายอาหารเจประเภทตักขายรวมไปถึงอาหารเจตามสั่ง จะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากคาดว่าจะมีจำนวนพ่อ/แม่ค้าลดลง โดยเฉพาะพ่อ/แม่ค้ารายย่อยที่จะขายเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ ส่วนพ่อ/แม่ค้าที่ตัดสินใจว่ายังจะจำหน่ายอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย/ตามสั่ง ก็ต้องปรับกลยุทธ์อย่างมาก โดยเริ่มจากการขึ้นราคาอาหาร ทั้งนี้ คงต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับลูกค้า การลดปริมาณอาหารเพื่อเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลง โดยไม่ให้ขาดทุน หรือการพลิกแพลงสูตรอาหารโดยใช้วัตถุดิบที่ราคาไม่แพงทดแทนวัตถุดิบที่มีราคาแพง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจะยังคงเลือกรับประทานอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย/อาหารเจจานเดียว โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเจมื้อกลางวัน เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารในช่วงปกติ ที่นิยมซื้ออาหารสำเร็จรูปประเภทตักขายอยู่แล้ว

โดยภาพรวมของตลาดอาหารเจสำเร็จรูปโดยเฉพาะอาหารเจสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็ง อาหารเจกึ่งสำเร็จรูป และอาหารเจกระป๋องในปีนี้ยังคงเป็นที่นิยม คาดว่ายอดการจำหน่ายจะขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง ในขณะที่การแข่งขันของธุรกิจอาหารเจโดยเฉพาะธุรกิจจำหน่ายอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขายจะมีสูงมาก เนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารเจกึ่งสำเร็จรูป และอาหารเจสำเร็จรูปแช่แข็ง รวมทั้งคาดว่าจะมีแม่ค้า/พ่อค้าทั้งรายเก่าและรายใหม่เข้ามาจำหน่าย ดังนั้น บรรดาแม่ค้า/พ่อค้าที่จำหน่ายอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขายคงเพิ่มราคาอาหารได้ไม่มากนัก คาดว่าธุรกิจร้านจำหน่ายอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขายในปีนี้แต่ละราย คงไม่ได้กำไรสูงมากนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังคงจะได้กำไรบ้างคือ ผู้ที่รู้จักดัดแปลงเครื่องปรุง และส่วนประกอบอาหารตามสถานการณ์ตลาด รวมทั้งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชน หรือในแหล่งจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะทำให้ได้ทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าจร

3.ร้านจำหน่ายส่วนประกอบของอาหารเจ แหล่งจำหน่ายเครื่องปรุงอาหารเจที่สำคัญและเป็นแหล่งใหญ่ที่เป็นที่รู้จักของคนกรุงเทพฯคือ ตลาดเก่าเยาวราช ซึ่งมีเครื่องปรุงอาหารเจให้เลือกมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรุงอาหารเจทั่วๆ ไป ตลอดจนเครื่องปรุงอาหารเจสำหรับผู้ที่ยังละทิ้งรสชาติของอาหารปกติไม่ได้ บรรดาพ่อค้าก็คิดค้น“แป้งประดิษฐ์” ซึ่งเป็นการดัดแปลงให้ละม้ายคล้ายกับเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ ทั้งรูปร่าง และรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นหมูเนื้อแดง เครื่องในหมู หมูสามชั้น เป็ด ไก่ และเนื้อปลา โดยที่ในช่วงปกติตลาดแป้งประดิษฐ์นี้ผู้ที่ซื้อหาไปรับประทานจะเป็นผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ และในช่วงเทศกาลกินเจนั้นแป้งประดิษฐ์นี้จะขายดิบขายดีมากขึ้นด้วย อาหารเจที่ทำจากแป้งประดิษฐ์นี้นับว่าช่วยเพิ่มสีสันในการกินเจได้อย่างมาก ซึ่งลูกค้าที่เลือกไปจับจ่ายที่ตลาดเก่าเยาวราชคือ บรรดาพ่อ/แม่ค้าที่ต้องการซื้อวัตถุดิบเพื่อมาประกอบอาหารจำหน่าย เจ้าของร้านค้าปลีก และบรรดาชาวจีนที่อยู่ในย่านใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่จะไปเลือกซื้อสต็อกไว้ก่อนถึงช่วงเทศกาล ดังนั้นในช่วงวันที่ 27-28 กันยายนนี้จะมีผู้คนเนืองแน่นในย่านตลาดเก่าเยาวราช

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบรรดาซุปเปอร์มาร์เก็ตตามห้างสรรพสินค้าต่างๆก็นับว่าเป็นแหล่งจับจ่ายที่ได้รับความนิยมของบรรดาครัวเรือนที่รับประทานอาหารเจ โดยมีความได้เปรียบจากการที่เป็นแหล่งจับจ่ายในปัจจุบันอยู่แล้ว และยังมีความสะดวกทั้งในแง่ของที่จอดรถ ที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกในการเดินทาง ความสะอาดของสถานที่และมีบริการที่นั่งรับประทาน รวมทั้งยังมีเครื่องปรับอากาศช่วยทำให้ลูกค้าไม่ต้องผจญกับอากาศร้อน ซึ่งบรรดาซุปเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้าสามารถดึงลูกค้ารายย่อยเข้ามาจับจ่ายในช่วงเทศกาลกินเจได้อย่างมาก ประกอบกับบรรดาห้างสรรพสินค้ามีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายในช่วงเทศกาลกินเจด้วย

นอกจากนี้ บรรดาร้านค้าที่จัดเป็นตลาดย่อยๆ ตามแหล่งชุมชนต่างๆ และบรรดาแผงผัก รวมทั้งร้านขายของชำ และร้านที่ขายเต้าหู้และของเบ็ดเตล็ดในตลาดสดก็พลอยขายดิบขายดีไปตามๆ กัน โดยเฉพาะเต้าหู้ในช่วงเทศกาลกินเจนั้นจะได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ ผู้ที่จะประกอบอาหารเจรับประทานเองที่บ้านต้องไปตลาดแต่เช้า หรือไม่ก็ต้องมีเจ้าประจำสั่งจองไว้ล่วงหน้าเลยทีเดียว

4.ร้านจำหน่ายน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง ผลจากการสำรวจพบว่าน้ำเต้าหู้และนมถั่วเหลืองบรรจุกล่องนั้น นับว่าเป็นอาหารเจยอดนิยมของคนไทย ธุรกิจจำหน่ายน้ำเต้าหู้ร้อนๆ บริโภคกับปาท่องโก๋จะขายดิบขายดีตลอดช่วงเทศกาลกินเจทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น ส่วนบริษัทที่ผลิตนมถั่วเหลืองบรรจุกล่องต้องมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติถึง 3 เท่าตัวเพื่อรับมือกับช่วงเทศกาลกินเจ

5.ส่วนประกอบอาหารเจ ทั้งนี้ ส่วนประกอบอาหารเจที่ได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลกินเจ ได้แก่

-ผัก ผักต่างๆนับว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่งในการประกอบอาหารเจ สำหรับร้านค้าที่ประกอบอาหารเจจำหน่ายในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะนิยมไปซื้อผักที่ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท สำหรับผู้บริโภครายย่อยทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดนั้น แหล่งจับจ่ายผักก็ยังเป็นตลาดสด โดยผลจากการสำรวจพบว่า ผู้ที่ประกอบอาหารเจรับประทานเองนิยมใช้ผักเป็นส่วนประกอบสำคัญ ความต้องการผักในช่วงเทศกาลกินเจนั้นพุ่งสูงขึ้นจากช่วงปกติประมาณ 1 เท่าตัว ซึ่งความต้องการบริโภคผักที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้ราคาผักในช่วงกินเจเป็นช่วงที่ผักมีราคาแพงช่วงหนึ่งของปี ในปีนี้มีภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่และภาวะฝนที่ตกต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตผัก โดยเฉพาะผักกินใบ กอปรกับราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งที่สำคัญมีราคาสูงกว่าปีก่อน ดังนั้นคาดว่าราคาผักในปีนี้จะพุ่งสูงขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยราคาผักสำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มสูงมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วฝักยาว ผักกาดหอม คะน้า ผักชี ฟักเขียว มะเขือเทศผลใหญ่ มะเขือเทศสีดา มะระจีนและหัวผักกาด ซึ่งน่าจะส่งผลให้บรรดาร้านจำหน่ายอาหารเจน่าจะลดปริมาณการใช้ผักหรือขึ้นราคาอาหารเจที่มีส่วนประกอบของผัก อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เนื่องจากกระแสการรักษาสุขภาพยังคงเป็นกระแสหลักอยู่ ประเภทผักที่คาดว่าจะมีการขยายตัวของการบริโภคอย่างมาก คือ ผักปลอดสารพิษ และผักอนามัย แม้ว่าผักประเภทนี้จะมีราคาสูงกว่าผักโดยทั่วไปค่อนข้างมากก็ตาม

-โปรตีนเกษตร เดิมนั้นสินค้าประเภทนี้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ซึ่งต่อมาก็เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มของผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ และผู้ที่พยายามหลีกเลี่ยงในการรับประทานเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ ตั้งแต่ปี 2539 บริษัทเอกชนมีการพัฒนาโปรตีนเกษตรไปอีกขั้นหนึ่ง โดยการสกัดไขมันในระหว่างขั้นตอนการผลิต ยอดจำหน่ายโปรตีนเกษตรในช่วงเทศกาลกินเจในแต่ละปีคาดว่าสูงถึง 200 ล้านบาททีเดียว

-น้ำมันพืช และซอสปรุงรส ในช่วงเทศกาลกินเจนับว่าเป็นช่วงโอกาสทองในแต่ละปีที่บรรดาผู้ประกอบการน้ำมันและซอสปรุงรสรอคอย เนื่องจากเป็นช่วงที่ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในช่วงใกล้เทศกาลกินเจจึงมีการโฆษณาน้ำมันพืชและซอสปรุงรสให้เห็นอยู่เนืองๆ โดยเน้นให้ผู้บริโภคจดจำตรายี่ห้อ ประมาณว่าในช่วงเทศกาลกินเจในแต่ละปียอดจำหน่ายน้ำมันพืชและซอสปรุงรสเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ของยอดจำหน่ายปกติ


บทสรุป

บรรยากาศในการกินเจปี 2551 นี้คาดว่าจะไม่ค่อยคึกคักเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านๆมา แม้ว่าจะมีคนไทยที่ตั้งใจจะกินเจมากกว่าปีที่แล้ว ทั้งเพื่อการทำตามประเพณี เพื่อรักษาสุขภาพ และตั้งใจทำบุญเพื่อชำระล้างกายใจ แต่ด้วยภาวะบีบรัดทางเศรษฐกิจ ทำให้คนกรุงเทพฯที่ตั้งใจจะกินเจนั้นเน้นเรื่องความประหยัด จึงจับจ่ายด้วยความระมัดระวังกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความเครียดจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 4 เดือน ทำให้ไม่มีอารมณ์ร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่ด้วยราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจกินเจในกรุงเทพฯปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2,100 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.2

จากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ตั้งใจจะกินเจในปีนี้ยังใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมาคือ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 100-120 บาทต่อคนต่อวัน เนื่องจากยังคงเน้นประหยัดเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังรัดตัวอยู่ และบางคนปรับพฤติกรรมรับเศรษฐกิจพอเพียง โดยแนวทางการปรับพฤติกรรมของคนไทยที่ตั้งใจจะรับประทานอาหารเจนั้น จะปรับพฤติกรรมโดยหันไปรับประทานอาหารสำเร็จรูปประเภทแช่เย็นแช่แข็งและกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ส่วนอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย/อาหารเจตามสั่ง น่าจะมียอดจำหน่ายสูงเฉพาะในมื้อกลางวัน ทั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าอาหารเจประเภทตักขาย/อาหารเจตามสั่งในปีนี้ น่าจะมีการปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้น 5-10 บาทต่อถุงหรือจาน อันเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะผักมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมาก

หลากหลายธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากช่วงเทศกาลกินเจที่ทำให้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ นับได้ว่าประเพณีที่เกิดจากความเชื่อถือที่มีการปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ช่วยให้หลากธุรกิจพลิกกลยุทธ์รับประโยชน์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน อย่างไรก็ตาม การกินเจในปีนี้ยังคงมีปัจจัยหนุนเนื่องหลายประการได้แก่ ในปีนี้มีคนไทยตั้งใจจะกินเจในช่วงเทศกาลกินเจเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้ขอร่วมกินเจทำบุญล้างกายและล้างใจ และกระแสความเชื่อว่าการกินเจช่วยทำให้สุขภาพอนามัยสมบูรณ์แข็งแรง รวมทั้งการรับประทานอาหารเจในปัจจุบันไม่ได้ยากลำบากเหมือนกับเมื่อก่อน เนื่องจากมีธุรกิจหลายแขนงผลิตสินค้าขึ้นมาสนองความต้องการของคนที่รับประทานอาหารเจ ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีนี้ผู้บริโภคอาหารเจต่างปรับตัว โดยหันไปรับประทานอาหารเจกึ่งสำเร็จรูป อาหารเจสำเร็จรูปแช่แข็ง เบเกอรี่เจ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ของอาหารเจมากขึ้น อีกทั้งอาหารเจเหล่านี้ผู้บริโภคยอมรับและหันมานิยมบริโภคมากขึ้นเป็นลำดับ

. . .

 

โดย: loykratong 21 กันยายน 2551 20:14:26 น.  

 

ไปจ่ายตลาดเดี๋ยวนี้ของขึ้นมาเยอะเลยอ่ะ

 

โดย: patthanid 21 กันยายน 2551 22:31:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.