Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 
17 กันยายน 2551
 
All Blogs
 

. . . เฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.00 และให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่ AIG . . .

. . .

เฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.00 และให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่ AIG


ในการประชุมวันที่ 16 กันยายน 2551 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 2.00 ตามเดิม ซึ่งแม้จะสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์โดยรอยเตอร์ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ค่อนข้างจะผิดคาดกับความคาดหมายของตลาดการเงินซึ่งคาดว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อลดความตึงเครียดในตลาดการเงินอันเนื่องมาจากปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินหลายแห่งในขณะนี้ โดยเฉพาะกรณีการล้มละลายของวาณิชธนกิจ Lehman Brothers

หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ช่วงเช้าของตลาดเอเชียวันที่ 17 กันยายน 2551 คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Board) ได้ออกแถลงการณ์ว่า เฟดสาขานิวยอร์กจะให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่บริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ด้วยวงเงินสูงสุดถึง 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งวงเงินกู้ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในแผนการช่วยเหลือบริษัท AIG ซึ่งเคยครองตำแหน่งบริษัทประกันที่มีมูลค่าตลาดที่มากที่สุดในโลก ให้รอดพ้นจาก “การล้มละลายอย่างไร้ระเบียบ” (Disorderly Failure) โดยเฟด มองว่า หากไม่เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ AIG แล้ว AIG ก็อาจไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งสภาพคล่องอื่น ขณะที่อาจจะถูกบีบให้เร่งขายสินทรัพย์ รวมทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำธุรกรรมกับ AIG ทั้งที่เป็นสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจโดยทั่วไป ตลอจนกระทั่งลูกค้าบุคคลรายย่อย ซึ่งต่างไปจากกรณีของ Lehman Brothers ที่ผู้ที่ถูกกระทบส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินและนักลงทุน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นต่อประเด็นเหล่านี้ ดังนี้ :-

 ผลการประชุมเฟด

ในการประชุมวันที่ 16 กันยายน 2551 เฟดมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 2.00 ซึ่งถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม มติคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวขัดแย้งกับนักวิเคราะห์บางส่วนที่คาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อลดความตึงเครียดในตลาดการเงินอันเนื่องมาจากปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินหลายแห่งในขณะนี้ ทั้งนี้ ประเด็นหลักจากแถลงการณ์และผลการประชุมเฟดในรอบนี้ สรุปได้ดังนี้

 ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ มติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมรอบนี้ เป็นเอกฉันท์ หลังจากที่ประชุมเฟดลงมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมหลายรอบติดต่อกันในช่วงก่อนหน้า โดยนาย Richard W. Fisher ประธานเฟดสาขาดัลลัส (ซึ่งเคยมีท่าทีในเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และลงมติคัดค้านเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในการประชุม 5 รอบก่อนหน้า) ได้ลงความเห็นให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมเช่นเดียวกับคณะกรรมการท่านอื่นๆ ในการประชุมรอบนี้

 แถลงการณ์หลังการประชุมสะท้อนน้ำหนักความกังวลทั้งต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ การประชุมเฟดในรอบนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกต่อปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ โดยแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดระบุว่า ตลาดการเงินตึงตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ ตลาดแรงงานอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนโดยความซบเซาของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ทั้งนี้ เฟดประเมินประเด็นด้านเศรษฐกิจว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2-3 ถัดไป อาจได้รับแรงกดดันจาก สภาวะสินเชื่อที่ตึงตัว การถดถอยลงของตลาดที่อยู่อาศัย และการชะลอตัวของภาคส่งออก สำหรับประเด็นด้านเงินเฟ้อ เฟดระบุว่า การทะยานขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่เฟดก็ได้ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปีหน้า ส่วนประเด็นน้ำหนักของความเสี่ยง เฟดได้ส่งสัญญาณว่า ทั้งความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจ และความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อ เป็นประเด็นวิตกหลักของเฟด ซึ่งเฟดได้ยืนยันความตั้งใจที่ว่า จะติดตามพัฒนาการของตลาดการเงิน และเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง และพร้อมจะดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพของราคา

 การตอบรับของตลาด มติคงอัตราดอกเบี้ยของเฟด (ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์โดยรอยเตอร์ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ค่อนข้างจะผิดคาดกับความคาดหมายของตลาดการเงิน โดยเฉพาะหลังข่าวการล้มละลายของวาณิชธนกิจ Lehman Brothers ที่คาดว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อลดความตึงเครียดในตลาดการเงิน) ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึง ท่าทีของเฟดที่มีต่อปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่กำลังอ่อนแอลง โดยเฟดเลือกที่จะใช้มาตรการเฉพาะกิจ และเครื่องมือดูแลด้านสภาพคล่องเพื่อบรรเทาความตึงตัวในภาคการเงินมากกว่าจะใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ ตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Interest Rate Futures) ล่าสุด ณ วันที่ 16 กันยายน 2551 (หลังมติคงอัตราดอกเบี้ยของเฟด) สะท้อนว่า ตลาดกำลังปรับลดการคาดการณ์ความเป็นไปได้ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมรอบที่เหลือของปีลง โดยมีความเป็นไปได้ประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น ที่เฟดจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบถัดไปในเดือนตุลาคม 2551 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์อย่างเต็มที่ (ร้อยละ 100) ในช่วงก่อนการประชุม นอกจากนี้ ตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้ายังปรับตัวไปในทิศทางที่สะท้อนให้เห็นว่า โอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ของเฟดภายในปีนี้ มีเพียงร้อยละ 72 เท่านั้น ด้านความเห็นของนักวิเคราะห์ ที่สำรวจโดยรอยเตอร์หลังการประชุมเฟด สะท้อนมุมมองว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในผลสำรวจคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน โดยมองว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจยืนที่ระดับร้อยละ 2.00 ไปจนถึงสิ้นปี

 ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่บริษัท AIG

หลังจากแถลงการณ์ของเฟดไม่กี่ชั่วโมง ช่วงเช้าของตลาดเอเชียวันที่ 17 กันยายน 2551 คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่า เฟดสาขานิวยอร์กจะให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่บริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ด้วยวงเงินสูงสุดถึง 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งวงเงินกู้ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในแผนการช่วยเหลือบริษัท AIG ซึ่งเคยครองตำแหน่งบริษัทประกันที่มีมูลค่ามูลค่าทุนจดทะเบียนในตลาดที่สูงที่สุดในโลก ให้รอดพ้นจาก “การล้มละลายอย่างไร้ระเบียบ” (Disorderly Failure)

 สาระสำคัญของความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่บริษัท AIG
หลังจากที่มีความวิตกกังวลในตลาดการเงินว่า ฐานะที่อ่อนแอลงอย่างมากของบริษัท AIG ท่ามกลางการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศชั้นนำ จะสร้างความยากลำบากให้กับทางบริษัทที่กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องและความอ่อนแอของระดับเงินทุน ให้ตกอยู่ในสถานการณ์ต้องขายสินทรัพย์จำนวนมากเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินของทางบริษัท แต่อย่างไรก็ตาม การเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวกับการเพิ่มทุน และ/หรือ การขายสินทรัพย์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของทางบริษัท ยังคงเป็นไปอย่างเงียบเหงา และเมื่อความวิตกกังวลในตลาดการเงินที่มีต่อบริษัท AIG เพิ่มขึ้นสู่ระดับที่อาจก่อให้เกิดความสั่นคลอนในระบบการเงินของสหรัฐฯ และอาจลุกลามไปทั่วโลก เฟดจึงจำต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาบริษัท AIG เป็นกรณีเฉพาะอีกครั้ง ในรอบนี้

 เฟดสาขานิวยอร์กจะให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่บริษัท AIG ด้วยวงเงินสูงสุดถึง 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ระยะเวลา 24 เดือน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นี้ถูกกำหนดไว้ที่ “อัตราดอกเบี้ย LIBOR+ร้อยละ 8.50” โดยสินเชื่อดังกล่าวสามารถชำระคืนด้วยรายได้จากการขายสินทรัพย์ของบริษัท AIG ซึ่งการพิจารณาข้อตกลงต่างๆ เกี่ยวกับการขายสินทรัพย์ จะอยู่ภายใต้อำนาจการตัดสินใจของผู้บริหารทีมใหม่ของทางบริษัทซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงของแผนการช่วยเหลือครั้งนี้

 ภายใต้มาตรการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้าถือครองหุ้นในบริษัท AIG ร้อยละ 79.9 และมีสิทธิคัดค้านในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ

 ผลประโยชน์ของผู้เสียภาษี จะถูกปกป้อง เนื่องจากเงินกู้วงเงินดังกล่าวที่ให้แก่บริษัท AIG จะถูกค้ำประกันด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท AIG และบริษัทในเครือ

ในแถลงการณ์แผนการช่วยเหลือบริษัท AIG คณะกรรมการเฟดได้ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน หากปล่อยให้บริษัท AIG เผชิญกับภาวะล้มละลายอย่างไร้ระเบียบ บริษัท AIG อาจขาดโอกาสที่จะทยอยขายสินทรัพย์ และถูกตัดขาดจากการเข้าถึงสภาพคล่อง ซึ่งภาวะการณ์ดังกล่าว อาจทำให้ตลาดการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น รวมไปถึงการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากของต้นทุนการกู้ยืม การปรับตัวลงของความมั่งคั่งภาคครัวเรือน และท้ายที่สุดก็อาจความสร้างเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เฟดยังระบุว่า จุดประสงค์ของการปล่อยกู้ครั้งนี้เป็นไปเพื่อช่วยให้บริษัท AIG สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันเมื่อถึงกำหนดเวลา และเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการขายธุรกิจของบริษัท AIG เป็นไปอย่างเป็นระเบียบ และส่งผลกระทบน้อยที่สุด

 มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า ส่วนสำคัญที่สุดในแถลงการณ์หลังการประชุมของ เฟดในรอบนี้ก็คือ เฟดส่งสัญญาณด้วยการเทน้ำหนักไปให้กับปัญหาความตึงตัวในตลาดการเงิน และความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น และให้น้ำหนักกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อลดลง ดังจะเห็นได้จาก การที่เฟดตัดถ้อยแถลงที่ระบุถึงการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อคาดการณ์ออกไปจากแถลงการณ์ในฉบับนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ท่ามกลางความเสี่ยงจากหลายด้านที่สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงต่อภาคการเงิน/สถาบันการเงิน ตลาดการเงิน ตลอดจนเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจทำให้เฟดต้องพิจารณาแนวโน้มของนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง ซึ่งการปรับฐานลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น อาจเป็นสถานการณ์ที่เอื้อให้เฟดสามารถยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้นานออกไป

สำหรับประเด็นเรื่อง แผนการให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่บริษัท AIG นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า ความช่วยเหลือที่เฟดให้แก่บริษัท AIG ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนของเฟดซึ่งเลือกที่จะใช้มาตรการเฉพาะหน้า และเครื่องมือดูแลด้านสภาพคล่อง ในการแก้ไขความปั่นป่วนและบรรเทาความตึงตัวในภาคการเงิน มากกว่าจะใช้นโยบายการเงิน ที่มีพันธกรณีต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระดับราคาโดยรวม ในกรณีของบริษัท AIG ซึ่งทำธุรกิจที่มีความหลากหลาย และผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการให้บริการของทางบริษัทนั้น มีความซับซ้อนครอบคลุมในวงกว้าง และเกี่ยวโยงกับหลายส่วนในธุรกิจในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงและภาคการเงิน ตั้งแต่รายย่อยระดับครัวเรือน บริษัท จนถึงสถาบันการเงิน โดยมีความแตกต่างไปจากกรณีของบริษัท Lehman Brothers ที่ผลกระทบอาจตกอยู่กับสถาบันการเงินและนักลงทุนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเฟดคงได้ประเมินว่า ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากบริษัท AIG ล้มละลายลง อาจนำไปสู่ผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งยากที่จะควบคุมและเยียวยาแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แผนการช่วยเหลือบริษัท AIG ซึ่งกระทบสัดส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น และมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของบริษัท ได้สะท้อนให้เห็นว่า ทางการสหรัฐฯ ได้คำนึงถึงข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการใช้เงินภาษีของประชาชนไปช่วยสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาแล้ว โดยได้ออกแบบการให้ความช่วยเหลือที่มีความเหมาะสมกับขอบเขตของปัญหา ตลอดจนผลกระทบที่อาจมีต่อภาระภาษีของประชาชน 

. . .



เฟดทุ่ม 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าถือหุ้น 80% ใน AIG


ธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve : FED) ได้ตัดสินใจยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือต่อบริษัทประกันชื่อดัง American International Group หรือ AIG ที่กำลังจะล้มละลาย โดย FED ตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วย AIG ให้รอดพ้นจากการล้มละลาย แลกกับการเข้ามาถือหุ้นเป็นจำนวนเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ของ AIG
ข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการยุติความตื่นตระหนกในตลาดการเงินของประเทศตลอดหลายวันที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ยักษ์ใหญ่ด้านการเงินและการลงทุนชื่อดังอย่าง เลห์แมน บาร์เธอร์ส ต้องประสบกับภาวะล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (American International Group : AIG) หรือเอไอจี เป็นบริษัทแม่ของบริษัทประกันชีวิต อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ (เอไอ เอ) ถึงแม้ว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ได้ปรับลดอันดับเครดิตของตราสารหนี้ของเอไอจีก่อนหน้านี้ แต่อันดับเครดิตของเอไอจีก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่น่าลงทุน และบริษัทประกันในเครือก็ยังมีสถานะที่มั่นคง

แม้เอไอจีเป็นบริษัทประกัน ไม่ใช่ธนาคารผู้ปล่อยเงินกู้ แต่เอไอจีก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ต้องบาดเจ็บจากวิกฤตสินเชื่องบ้าน (ซับไพรม) เนื่องจากบริษัทเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ที่หนุนโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage-Backed Securities) ซึ่งเอไอจีถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่กว่าบริษัทประกันอื่นๆ และเนื่องด้วยปัญหาการเพิกถอนสิทธิการไถ่ถอนจำนอง (Foreclosures) และการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น เอไอจีจึงหนีไม่พ้นต้องเจอปัญหาใหญ่ โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เอไอจีมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิมากกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่บริษัทเข้าไปลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในภาวะย่ำแย่

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (US Federal Reserve : FED) หรือ เฟด ได้ตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินมูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้กับเอไอจี แลกกับการถือหุ้น 79.9% โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือบริษัทประกันแห่งนี้ให้รอดพ้นจากการล้มละลายซึ่งอาจสร้างเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ
AIA ยืนยันไร้ปัญหาขาดสภาพคล่อง ปฏิเสธข่าวลูกค้าแห่ถอนกรมธรรม์

นายโธมัส เจมส์ ไวท์ รองประธานบริหารระดับสูงและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด หรือเอไอเอ (AIA) ประเทศไทย กล่าวว่า แม้บริษัท เอไอจี (AIG) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในสหรัฐฯ จะประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่ได้รับความช่วยเหลือสภาพคล่องแก่เอไอจี จำนวน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลา 2 ปี ขณะที่เอไอเอในประเทศไทยยืนยันว่า สามารถบริหารงาน และให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ

นายโธมัส กล่าวว่า ขณะนี้เอไอเอในไทยถือเป็นบริษัทลูกของเอไอเอฮ่องกง โดยสร้างความเข้มแข็งมาแล้ว 70 ปี และจะสร้างความเข้มแข็งในอนาคตต่อไป ซึ่งปัจจุบันเอไอเอในไทยมีคนไทยถือกรมธรรม์กว่า 4.8 ล้านกรมธรรม์ หากรวมกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุและสุขภาพจะทำให้กรมธรรม์เอไอเอมีมากกว่า 5.8 ล้านฉบับ แต่ละปีมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจกว่าร้อยละ 10

แม้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จะมีข่าวว่าบริษัทแม่ในต่างประเทศประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ในส่วนลูกค้าในประเทศไทยไม่ได้มีการแห่ถอนหรือยกเลิกกรมธรรม์ หากดูแต่ละวันจะมีการบอกเลิกกรมธรรม์ประมาณ 10-20 ราย ซึ่งถือว่าเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม มีลูกค้าเอไอเอโทรศัพท์มาสอบถาม ซึ่งได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้ว และตั้งแต่วันนี้(17 ก.ย.) เป็นต้นไป เอไอเอ จะทำจดหมายชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ไปยังลูกค้าของเอไอเอทุกราย เพื่อให้เกิดความมั่นใจ รวมทั้งให้ตัวแทนเอไอเอทั่วประเทศทำความเข้าใจกับลูกค้าเช่นกัน

นายโทมัส ยังกล่าวด้วยว่า เอไอเอ ในไทยมีกำไรสะสมมากกว่า 79,000 ล้านบาท มีเงินสำรองประกันมากกว่า 280,000 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมมากกว่า 380,000 ล้านบาท และมีอัตราความมั่นคงทางการเงินสูงกว่าเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 150 โดยเอไอเอ มีอัตราความมั่นคงทางการเงินสูงถึงร้อยละ 1,107

สัดส่วนการนำเงินไปลงทุน กว่าร้อยละ 70 ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ, ร้อยละ 10 ลงทุนในตลาดหุ้นไทย, ที่เหลือร้อยละ 20 นำไปซื้อพันธบัตรในต่างประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของ คปภ. ซึ่งตามแผนลงทุนของเอไอเอในประเทศไทยยังคงเดินหน้าเป็นไปตามแผนเดิมทุกประการ
ส่วนกรณี ที่เอไอเอจะส่งเงินกลับไปบริษัทแม่ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนหรือ คปภ.ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คปภ.ที่บริษัททำเรื่องไปก่อนหน้านี้ เพื่อขอส่งเงินกลับบริษัทแม่จำนวน 10,000 ล้านบาท โดยจะทยอยส่งกลับเดือนละ 1,000 ล้านบาท

. . .



ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เชื่อวิกฤติสถาบันการเงินในอเมริกาไม่ลุกลามเป็นลูกโซ่


นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย และกรณีบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป หรือเอไอจี ที่มีปัญหาทางการเงิน ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบสถาบันการเงินของไทยเพราะสภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังมีอยู่อีกมากเพียงพอ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม แต่ก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินการตามความจำเป็น และไม่อยากให้วิตกกังวลว่าปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐจะลุกลามเป็นลูกโซ่ขยายวงกว้างลุกลามไปทั่วโลก เพราะขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด) ได้เข้ามาดูแลปัญหาของ เอไอจี ด้วยการปล่อยเงินกู้ให้กับเอไอจี วงเงิน 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เข้าไปลงทุนในบริษัท เลห์แมน บาร์เธอร์ส มีจำนวน 6,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยหากเทียบกับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่มีจำนวน 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.009 ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยจึงเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยมาก

สำหรับการลงทุนของกลุ่มเลห์แมนฯ ในประเทศไทยที่มีการปล่อยสินเชื่อและลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ เป็นเรื่องทางธุรกิจ เป็นคนละกรณีที่บริษัทแม่ล้มละลาย ซึ่งในที่สุดแล้วหากทำธุรกิจไม่ได้จนเลห์แมนฯ ต้องปิดกิจการไป ก็เชื่อว่าถ้ามีการขายลูกหนี้ในไทยก็จะมีผู้เข้ามารับซื้อ

ส่วนที่ธนาคารกรุงเทพที่เข้าไปลงทุนตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมนฯ 3,500 ล้านบาทนั้น ไม่มีปัญหา เชื่อว่าธนาคารกรุงเทพสามารถดูแลตัวเองได้ และถือว่าการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของธนาคาร

เช่นเดียวกับกรณีธนาคาร เอไอจี เพื่อรายย่อย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ เอไอจี ในสหรัฐฯ ยังยืนยันว่าฐานะของธนาคารไม่มีปัญหา เนื่องจากฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึงร้อยละ 24 เกินกว่าเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีลูกค้าของธนาคารที่มาถอนเงินออกไปบ้างแต่ไม่มากนัก ธนาคารยังมีสภาพคล่องเพียงพอ

. . .



รัฐบาลมีแนวคิดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ฯ รับซื้อสินทรัพย์สหรัฐฯ


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มีแนวคิดที่จะเสนอให้ตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์) ที่ร่วมมือกันระหว่างเอกชนกับรัฐบาล เพื่อซื้อสินทรัพย์โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ราคาถูก ที่เลห์แมน บราเธอร์ส รวมทั้งสถาบันการเงินที่อาจจะทยอยขายออกมา โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศ หากได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาถูก แต่ต้องรอเสนอต่อ รมว.คลังก่อน จึงยังไม่สามารถกำหนดวงเงินหรือรายละเอียดได้

“เชื่อว่า ปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐ ยังอยู่ในช่วงกลางของปัญหาเท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่จบสิ้น ดังนั้น อาจจะมีสถาบันการเงินที่มีปัญหาผุดออกมาอีก จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป” นายพิชัยกล่าว

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อสังหาริมทรัพย์ที่เลห์แมน บราเธอร์สฯลงทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน หากมีการขายทรัยพ์สินเหล่านี้เพื่อระดมทุนจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงบ้าง

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีปัญหาของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส และบริษัทเอไอจีว่า ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะรัฐบาลค้ำประกันเงินฝากทั้ง 100% อยู่แล้วในปีนี้

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ประสานการดูแลเงินทุนไหลออก และการแก้ไขสภาพคล่องของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทีมเศรษฐกิจ ก็ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจอยู่แล้ว ส่วนเรื่องดอกเบี้ยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็พิจารณาตามความเหมาะสม โดยจะพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

. . .



นักลงทุนต่างชาติยังเทขายหุ้นส่งผลดัชนีลดลงต่อเนื่องอีก 19 จุด


บรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วันที่17 ก.ย. ตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีเคลื่อนไหวผันผวน และอ่อนตัวในแดนลบตามแรงเทขายหุ้นกลุ่มหลักออกมา โดยระหว่างวันดัชนีลดลงต่ำสุดที่ 601.95 จุด ก่อนจะปิดตลาดที่ 605.14 จุด ลดลง 19.42 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 3.11 มูลค่าการซื้อขายรวม 15,114 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,162 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (18 ก.ย.) ต้องติดตามปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีเลห์แมน บราเธอร์ส ว่าจะมีแรงเทขายต่อเนื่องอีกเพียงใด และปัจจัยการเมืองในประเทศ

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การที่หุ้นไทยถูกเทขายอย่างหนัก เป็นผลจากปัญหาสถาบันการเงินในตลาดโลกมีปัญหาต่อเนื่อง เช่น บริษัทลูกเลห์แมนฯ ในญี่ปุ่น ที่กำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ขณะที่มอร์แกนสแตนเลย์ ก็กำลังหาผู้มาซื้อกิจการ จึงทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะเกิดภาวะวิกฤติการเงินได้อีก

น.ส.อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับลงแรง เพราะนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศต้องการลดความเสี่ยงโดยเทขายหุ้นออกมา เพราะกังวลว่าสถาบันการเงินในสหรัฐฯอาจเข้าสู่กระบวนการล้มละลายอย่างเดียวกับเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐอีก และเมอร์ริลลินช์ ที่ต้องเผชิญภาวะล้มละลายจากการขาดทุน 52.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากแบงก์ออฟอเมริกาไม่เข้ามาซื้อกิจการ

นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จับตามองมอร์แกนสแตนเลย์, โกลด์แมนแซคส์, และเจพีมอร์แกน ในเรื่องฐานะการเงิน ว่าจะข่ายอยู่ในกระบวนการล้มละลายหรือไม่

. . .



TDRI ห่วงวิกฤต 'เลห์แมนฯ' ฉุดส่งออกไทยชะลอตัว


นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นว่า การประกาศล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งอาจลุกลามไปถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่รายอื่นในประเทศ และมีโอกาสทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอีก หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัวในทิศทางชะลอลงเช่นกัน

นอกจากนี้ จะมีเม็ดเงินไหลออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนักลงทุนสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในไทยดึงเงินกลับประเทศเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตาม ภาคการเงินของไทยคาดว่าไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวมากนัก เพราะเลห์แมน บราเธอร์ส กระจายการลงทุนในธุรกิจหลายประเภทในไทย อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ และการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น บริษัท แกรนด์ แอสเสท จำกัด (มหาชน) บริษัท ไรมอนด์ แลนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งต้องจับตาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อการพัฒนาโครงการหรือไม่ โดยบริษัทเหล่านี้ต้องหาผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนแทนให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้โครงการต้องหยุดชะงักลง

. . .



ประกันสังคมสูญเงิน 40 ล้านบาทหลังเลห์แมนบราเธอร์สล้ม


นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย และนักลงทุนทั่วโลกมีความวิตกเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบการเงินสหรัฐอเมริกานั้น กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศรวม 24,300 ล้านบาท เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเลห์แมน บราเธอร์ส มีผลกระทบต่อกำไรจากการลงทุน ทำให้มูลค่าเงินลงทุนลดลงประมาณ 0.2% ของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือคิดเป็นเงินมูลค่า 40 ล้านบาท

ทางสปส.ได้กำชับไปยังผู้จัดการกองทุนต่างประเทศทั้ง 6 รายให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน เฝ้าติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิดและให้รายงานให้สำนักงานประกันสังคมทราบอย่างต่อเนื่อง

นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่ากองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวมจำนวน 535,485 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศประมาณร้อยละ 4.5 หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 24,300 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความเสี่ยงและแสวงหาแหล่งลงทุนที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกองทุน

ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจต่างประเทศ และหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตไม่ต่ำกว่า BBB ซึ่งถือเป็นระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) การลงทุนในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปี เนื่องจากเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูงมาก และยังไม่มีการลงทุนในหุ้นในขณะนี้ กองทุนจึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก

. . .



ประธาน ส.อ.ท.เรียกร้องนายกฯคนใหม่เร่งสร้างความเชื่อมั่นทุกภาคส่วน


นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการหลังจากได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา

นายสันติ กล่าวว่า แม้ไทยจะยกเลิก พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แต่ยังมีผลกระทบเรื่องภาคการท่องเที่ยวและการลงทุน ซึ่งแสดงให้เห็นจากตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังไม่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรเจรจากับทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ มีนโยบายชัดเจนและเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะอยู่นานหรือไม่ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพราะหลายจังหวัดยังไม่มีคนเข้าไปดูแล เนื่องจากนักการเมืองมัวแก้ไขแต่ปัญหาการเมือง

ขณะเดียวกันควรเร่งวางแผนรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หากล่าช้า จะไม่ทันการณ์ เพราะขณะนี้ไม่แน่ใจว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะถดถอยแค่ไหน จะกระทบการเงินของญี่ปุ่นด้วยหรือไม่ รัฐบาลจะต้องเร่งประเมินผลกระทบ และช่วยหาตลาดส่งออกใหม่ ทดแทนตลาดสหรัฐฯที่คาดว่าจะชะลอตัวลงรวมทั้งขอให้เร่งผลักดันงบประมาณปี 2552 ออกมาโดยเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีภาพลักษณ์ที่ดี ประชาชนยอมรับ และฝากความหวังได้

นายทรงศักดิ์ ศรีเคลือบ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวไทย (สธทท.) กล่าวว่า หลังจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยดีขึ้น สามารถเดินหน้าเข้าสู่สภาวะปกติได้ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มนั้นก็พอใจในตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเชื่อว่าจะสามารถบริหารงานได้ดี

นายทรงศักดิ์ คาดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และคณะรัฐมนตรี น่าจะเป็นคนเดิม เพื่อให้ง่ายสะดวกและรวดเร็ว ในการเดินหน้าขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวที่กำลังซบเซาให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

. . .



นักวิชาการแนะรัฐบาลใหม่เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉีดเงินเสริมสภาพคล่องในระบบ


ในการสัมมนาหัวข้อ "ทางรอดในยุควิกฤติเศรษฐกิจ" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หลังจากที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนมากขึ้น โดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการประเมินเบื้องต้น แม้อายุของรัฐบาลใหม่จะอยู่ไม่นานนัก เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจนำไปสู่การยุบสภา และคดียุบพรรคพลังประชาชนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต อาจส่งผลให้รัฐบาลชุดใหม่มีข้อจำกัดในการผลักดันนโยบายทางด้านการคลัง

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า แม้รัฐบาลชุดใหม่จะมีอายุไม่นานนัก แต่จำเป็นต้องมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ออกมา เช่น มาตรการลดภาษี อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เช่น เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม การให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ โดยการซื้อคืนพันบัตรในตลาด และการลดดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.5 เพื่อกระตุ้นการลงทุน

ในเบื้องต้น หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ต้องสร้างความเชื่อมั่นในการสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับ ในระยะยาวก็ควรมีการปรับโครงสร้างการเมือง โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากความเห็นของทุกภาคส่วนในสังคม มีการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพมากขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกัน โครงการเมกะโปรเจกต์ โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ แต่เปลี่ยนแนวทางไปให้เอกชน เป็นผู้รับสัมปทานก่อสร้างและบริหาร โดยรัฐบาลทำหน้าที่กำกับให้โครงการโปร่งใสเท่านั้น โดยแนวทางดังกล่าว จะช่วยให้โครงการดังกล่าวไม่ผูกติดกับปัญหาการเมืองจนล่าช้าเหมือนช่วงที่ผ่านมา

. . .



ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้ายังดี แม้มีปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจโลก


นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,206 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 83.0 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากเดือนกรกฎาคม 2551 ที่อยู่ในระดับ 76.9

นายสันติ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จากมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจของรัฐบาลและราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น และการบริโภคภายในประเทศขยายตัว ส่งผลให้ดัชนียอดคำสั่งซื้อยอดขายภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อของประชาชนที่เริ่มฟื้นตัว

ส่วนตลาดต่างประเทศผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังมีอยู่ แม้จะชะลอตัวลงบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกที่สูงขึ้น

ส่วนความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.9 เป็น 89.0 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่มั่นใจมากขึ้น และผู้ประกอบการมองว่าตลาดภายในประเทศจะมีการขยายตัวมากกว่าตลาดต่างประเทศ รวมถึงการได้รับผลดีจากการเข้าใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะทำให้มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่อาจนำไปสู่การชะลอตัวของการบริโภคอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะไม่สดใสนักในปี 2552

. . .



การบินไทยเตรียมพิจารณาลดค่าธรรมเนียมน้ำมันหลังราคาน้ำมันโลกลดลงต่อเนื่อง


เรืออากาศโทอภินันท์ สุมณะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ การบินไทยเตรียมพิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียมน้ำมันหลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และทำให้ต้นทุนค่าน้ำมันของการบินไทยในปีนี้ กลับมาอยู่ในค่าเฉลี่ยที่ได้ประมาณการไว้คือ ประมาณ 270-280 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน

ขณะเดียวกัน การบินไทยยังได้รับอานิสงส์จากการประกาศยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางจากยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 โดยปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารต่อเที่ยวบินหรือเคบินแฟคเตอร์ของเที่ยวบินจากยุโรปมีค่าอยู่ที่ร้อยละ 73

อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารในภูมิภาคเอเชียจาก 3 ประเทศใหญ่ คือ จีน เกาหลีและญี่ปุ่นยังไม่กระเตื้องขึ้น จากผลกระทบปัญหาการเมืองในประเทศ โดยในขณะนี้ การบินไทยได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดโรด์โชว์ในทั้ง 3 ประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยอีกครั้ง โดยมีการให้ข้อมูลว่า สถานการณ์การเมืองในไทยไม่ได้มีความรุนแรง หรือน่ากลัวแต่อย่างใด

. . .




 

Create Date : 17 กันยายน 2551
2 comments
Last Update : 17 กันยายน 2551 19:43:29 น.
Counter : 649 Pageviews.

 

 

โดย: loykratong 18 กันยายน 2551 15:31:30 น.  

 

 

โดย: loykratong 18 กันยายน 2551 15:59:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.