Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 
11 กันยายน 2551
 
All Blogs
 

. . . ทองแท่งเหลือบาทละ 12,650 บาท--ดีเซลลดอีก 60 สตางค์--ดอกเบี้ยพันธบัตร3ปี 4.65% . . .

. . .

ประชาชนแห่ซื้อทองคำ หลังจากราคาลดลงต่อเนื่อง


บรรยากาศการซื้อขายทองคำของร้านทองบริเวณถนนเยาวราช มีประชาชนแห่มาซื้อทองคำอย่างหนาแน่นตลอดทั้งวัน ทำให้ร้านทองส่วนใหญ่ต้องแจกบัตรคิวให้กับประชาชนที่มารอซื้อ และสำหรับทองคำแท่งผู้ซื้อจะได้รับประมาณ 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า และยังจำกัดการซื้อไม่เกิน 50 กิโลกรัมต่อราย

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ทางร้านทองจินฮั่วเฮง ต้องบริหารสต็อกทองคำในร้านให้เพียงพอ เพราะหากมีประชาชนซื้อออกไปมากเท่าใด ก็ต้องซื้อกลับเข้ามาในจำนวนเท่ากัน คาดว่าในช่วง 1-2 วันนี้จะมียอดขายถึง 200 ล้านบาทต่อวัน

ราคาทองคำในวันที่ 11 ก.ย. ทองรูปพรรณรับซื้อ 12,370 บาท ขายออก 13,050 บาท ทองคำแท่งรับซื้อ 12,550 บาท ขายออก 12,650 บาท โดยราคาขายทองคำแท่งลดลงจากต้นเดือนกันยายนที่เคลื่อนไหวในช่วง 13,100-13,300 บาท ลงมาเป็น 13,200 บาท, 12,900 บาท และ 12,650 บาทในช่วงเวลา 3 วันที่ผ่านมา ลดลงไปแล้วประมาณ 600 บาท ซึ่งเป็นราคาระดับเดียวกับเมื่อเดือนธันวาคม 2550 หรือลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน จากราคาสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ระดับ 15,450 บาท

สาเหตุที่ราคาทองคำในประเทศปรับลดลง เนื่องจากราคาในตลาดโลกปรับลดลงจาก 777 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลงมาที่ 758 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และอาจมีแนวโน้มลดลงได้อีก แต่จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเทขายออกมาของกองทุนรวมในต่างประเทศ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเป็นการถอนเงินออกไปใช้ดูแลสถาบันการเงินในสหรัฐฯ โดยราคาทองคำในขณะนี้มีความผันผวนจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน

นายจิตติ กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มราคาทองคำยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่หากราคาจะปรับลดลงอีกก็คงไม่มาก เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้การนำเข้าทองคำมาขายในประเทศมีต้นทุนสูงขึ้น

. . .



การเมืองกระทบดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดต่ำสุดในรอบ 1 ปี


มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนสิงหาคมปีนี้ ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ลดลงจาก 71.8 สู่ระดับ 70.5 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนกลางเดือนกันยายน ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 69.6 เนื่องจากมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจกลางเดือน ก.ย. 2551 ที่สำรวจในวันที่ 9-10 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงมากที่สุดในรอบ 10 เดือน นับจากเดือน ธ.ค. 2550 จากผลกระทบสถานการณ์การเมือง ที่ทำให้การบริโภคของประชาชนในระยะสั้นชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 70.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 91.7

สำหรับปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนส.ค. มาจากมาตรการของทางการ คือ 6 มาตรการ 6 เดือน, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวลดลง และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ส่วนปัจจัยลบในเดือนนี้ ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมือง การชุมนุม การประท้วง และปัญหาซับไพรม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า แม้ราคาน้ำมันจะลดลง แต่ปัจจัยทางการเมืองจากเหตุการณ์ ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตยยึดทำเนียบรัฐบาล ทำให้ดัชนีความสุขของคนไทย อยู่ที่ระดับ 95.3 ต่ำที่สุดในรอบ 23 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549

. . .



“ปตท.-เชลล์-บางจาก” ประกาศลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 60 สตางค์ต่อลิตร มีผล 5.00 น. วันที่ 12 ก.ย.


ผู้ค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่ในประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมประกาศปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศลงอีกลิตรละ 60 สตางค์ โดยให้มีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น.วันที่ 12 ก.ย.

ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหน้าสถานีน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 31.84 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซล B5 อยู่ที่ 31.14 บาทต่อลิตร

สำหรับราคาน้ำมันเบนซิน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ลิตรละ 37.69 บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 36.29 บาท น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 28.79 บาท น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 27.99 บาท

. . .



กระทรวงการคลังประกาศอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์ 4.65%


กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ครั้งที่ 12 รุ่นอายุ 3 ปี วงเงิน 664.36 ล้านบาท จำหน่ายระหว่างวันที่ 15 – 24 กันยายน 2551 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แจ้งผลการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าวว่าเป็นอัตราร้อยละ 4.65 ต่อปี

. . .



กระทรวงการคลังเตรียมปล่อยกู้ให้เอ็กซิมแบงก์ 5 พันล้านบาท หนุนธุรกิจส่งออกรายย่อย


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังมอบนโยบายแก่ผู้บริหารธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติเงินกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตามที่เอ็กซิมแบงก์ขอมา เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย นำไปพัฒนาด้านการส่งออก โดยมุ่งเน้นลงทุนด้านพลังงานและระบบขนส่ง รวมถึงหาแหล่งลงทุนระยะยาวเพื่อลดความเสี่ยง

นอกจากนี้ จะเร่งเปิดสำนักงานในประเทศรัสเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนไทยในต่างประเทศ คาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้แล้วเสร็จภายในไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนการปล่อยเงินกู้ในประเทศพม่า ที่มีการคัดค้านจากหลายฝ่าย เนื่องจากเห็นว่าไม่เหมาะสมนั้น มองว่า หากทำแล้วเกิดประโยชน์ก็สมควรทำ เพื่อพัฒนาประเทศให้ขยายโอกาสในด้านการส่งออกและธุรกิจ เพราะประเทศพม่ามีทรัพยากรมาก ทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้

นายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ เอ็กซ์ซิมแบงก์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2551 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 58 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ เพราะการเบิกใช้งบประมาณต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากโครงการต่างๆ ได้ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ผู้ส่งออกไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองที่เกิดขั้นในขณะนี้

. . .



ไปรษณีย์ไทยจับมือทรูมูฟเติมเงินโทรมือถือถึงบ้าน ขั้นต่ำ 10 บาท


นายวุฒิพงษ์ โมฬีชาติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานระบบปฏิบัติการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) กล่าวว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทยร่วมมือกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้บริการใหม่ "บุรุษไปรษณีย์ยินดีเติมเงินทรูมูฟ" โดยในระยะแรกมีบุรุษไปรษณีย์พร้อมให้บริการเติมเงิน กว่า 1,200 ราย และจะเพิ่มเป็นกว่า 5,000 ราย ในระยะต่อไป บริการดังกล่าวจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของไปรษณีย์ไทยในด้านบริการที่ทันสมัยมากขึ้น

ลูกค้าสามารถเติมเงินขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 10 บาท โดยเติมได้ทั้งค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ทรูมูฟ และบริการเคเบิลทีวี นอกจากนี้ หากลูกค้าใช้บริการโอนเงินหรือชำระเงิน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ครบทุก 15 บาท ได้รับสิทธิ์ซื้อซิมทรูมูฟแบบเติมเงินในราคา 5 บาท จากปกติ 49 บาท

. . .



ธนาคารออมสินสาขาทำเนียบรัฐบาล ย้ายไปให้บริการชั่วคราวที่นางเลิ้ง


ธนาคารออมสิน ย้ายสาขาทำเนียบรัฐบาล ไปเปิดบริการที่สาขานางเลิ้งชั่วคราว พร้อมจัดรถธนาคารเคลื่อนที่ไฮเทค Mobile Banking ออกให้บริการธุรกรรมทางการเงินแก่ลูกค้าสาขาทำเนียบรัฐบาล ณ บริเวณสี่แยกนางเลิ้ง ใกล้กับธนาคารออมสิน สาขานางเลิ้ง

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองภายในบริเวณทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารออมสิน สาขาทำเนียบรัฐบาล ต้องยุติการให้บริการชั่วคราว และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ใช้บริการ สาขาทำเนียบรัฐบาล ธนาคารออมสินจึงได้ย้ายการให้บริการธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทไปที่สาขานางเลิ้ง ถนนนครสวรรค์ แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งอยู่ใกล้เคียงเป็นการชั่วคราวแทน

นอกจากการย้ายบริการไปสาขานางเลิ้งแล้ว ธนาคารออมสินยังจัดรถธนาคารเคลื่อนที่ (Mobile Banking) ออกให้บริการธุรกรรมทางการเงินแก่ลูกค้าสาขาทำเนียบรัฐบาล ณ บริเวณสี่แยกนางเลิ้ง ใกล้กับธนาคารออมสิน สาขานางเลิ้งด้วย โดยรถธนาคารเคลื่อนที่เป็นรถตู้ไฮเทคที่เปิดการให้บริการในลักษณะออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายเทคโนโลยี GPRS ทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการได้เสมือนกับการเข้าไปใช้บริการที่สาขาของธนาคาร อาทิ บริการฝาก-ถอนเงิน บริการสินเชื่อ เครื่องเอทีเอ็ม

ลูกค้าธนาคารออมสิน สาขาทำเนียบรัฐบาล สามารถใช้บริการธุรกรรมทางการเงินได้ตามปกติที่สาขานางเลิ้งตามวันและเวลาทำการ หรือใช้บริการรถธนาคารเคลื่อนที่ได้ทุกวันทำการ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 15.00 น.

ลูกค้าสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ธนาคารออมสิน โทร. 1115 หรือธนาคารออมสิน สาขานางเลิ้ง โทรศัพท์ 0 2281 6757, 0 2282 8505

. . .



สศช.เตรียมทบทวนมาตรการลดค่าน้ำประปา หลังพบว่าการใช้น้ำไม่ลดลง อาจปรับลดปริมาณการใช้น้ำจากไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือนเหลือ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน


นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขเกี่ยวกับผลการใช้ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน ที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำประปาครัวเรือนที่ได้ยกเว้นการเรียกเก็บเงินค่าน้ำประปาสำหรับครัวเรือนที่ใช้น้ำประปาไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน เพื่อทบทวนมาตรการนี้ใหม่อีกครั้ง หลังจากพบว่าที่ผ่านมา 1 เดือนหลังจากใช้มาตรการนี้แล้วปรากฏว่าปริมาณการใช้น้ำของครัวเรือนยังไม่ลดลง หรือเท่ากับว่ายังไม่มีการประหยัดเกิดขึ้น แม้ว่าปริมาณการใช้น้ำจะมีอัตราเพิ่มไม่มากก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าปริมาณการใช้น้ำยังไม่ลดลง สศช.จะขอทบทวนมาตรการโดยปรับอัตราการใช้น้ำลดลงเหลือเพียงครัวเรือนละไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้มาตรการนี้สัมฤทธิ์ผลโดยทุกคนช่วยกันประหยัดการใช้น้ำให้มากขึ้น แม้ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ กับการใช้งบประมาณก็ตาม แต่ สศช. ต้องการให้ทุกคนคำนึงถึงความประหยัดด้วย

ส่วนการที่ ครม.เห็นชอบให้ประชาชนในชนบทที่ใช้น้ำประปาขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ประปาเทศบาล ประปาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประปาหมู่บ้าน ทั้งหมดจำนวน 709 แห่ง ประมาณ 698,386 ราย ที่ใช้น้ำไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เมตร ได้รับประโยชน์จาก 6 มาตรการ 6 เดือนด้วยนั้น สศช.เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดี และงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอีก 540 ล้านบาท ไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด และยังเป็นการดำเนินการในระยะเดียวกันคือ ระหว่างเดือน ต.ค.51-มี.ค. 52

การงดเก็บค่าน้ำประปาครัวเรือนที่ใช้ไม่เกินเดือนละ 50 ลูกบาศก์เมตร ทำให้ประชาชนในเขตนครหลวงประหยัดค่าใช้เฉลี่ยเดือนละ 213 บาท ส่วนเขตภูมิภาคประหยัดได้ 176 บาท ครอบคลุมผู้ใช้น้ำทั้งประเทศ 3.2 ล้านราย เป็นผู้ใช้น้ำที่อยู่ในเขตนครหลวง 1.2 ล้านราย และเขตภูมิภาค 2 ล้านราย
หากปรับลดปริมาณการใช้น้ำให้ต่ำกว่า 30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน เพื่อให้ประชาชนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดการอุดหนุนงบของรัฐบาลให้ต่ำกว่า 3,930 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลประเมินว่ามาตรการใช้น้ำฟรีจะกระทบรายได้ของ กปภ. ประมาณ 2,400 ล้านบาท และ กปน.ประมาณ 1,530 ล้านบาท โดยให้ กปน.หักค่าใช้จ่ายจากรายได้นำส่งรัฐตามผลการดำเนินงานในปี 2551

. . .




 

Create Date : 11 กันยายน 2551
2 comments
Last Update : 11 กันยายน 2551 18:11:06 น.
Counter : 601 Pageviews.

 

. . .

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวสูง…
แต่ผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูง และวัตถุดิบขาดแคลน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวได้ดี แต่ในขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนสูง เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกต้องประสบกับภาวะขาดทุนจนกระทั่งมีโรงงานบางแห่งต้องหยุดทำการผลิตและปิดตัวลงไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตขนาดเล็ก เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ทำการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงและกระสอบพลาสติก แผ่นฟิล์ม ฟอยล์ เป็นต้น ซึ่งมีลักษณะการผลิตที่เน้นใช้แรงงานเข้มข้น มีมูลค่าเพิ่มต่ำ และผลิตตามคำสั่งซื้อ (Original Equipment Manufacturer: OEM) จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการศึกษาถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วงที่เหลือของปี 2551 และปี 2552 ดังนี้


การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ขยายตัวสูง

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่า 53,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มีมูลค่าการส่งออก 45,245 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.9 ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาร้อยละ 6.8 และเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณร้อยละ 10.1 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ ผลิตภัณฑ์กล่องและหีบพลาสติก มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 88.7 (ในช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 42.3) รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์หลอดและท่อพลาสติก มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9 (จากที่หดตัวร้อยละ 2.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) และผลิตภัณฑ์ถุงและกระสอบพลาสติก มีการขยายตัวร้อยละ 20.9 (จากปีที่ผ่านมาหดตัวร้อยละ 10.7) ซึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปประเทศญี่ปุ่นในช่วง 7 เดือนแรกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 17.3 การส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ดีเป็นผลมาจากไทยได้ขยายการส่งออกไปตลาดใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าที่ลดลงของผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ของไทยอย่างสหรัฐอเมริกาที่ไทยเคยมีสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกสูงถึงประมาณร้อยละ 17-18 ในช่วงก่อนปี 2550 แต่เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ภาวะชะลอตัวส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกลดลงเหลือประมาณร้อยละ 11-12 ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยประเทศใหม่ๆ ที่ไทยขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไป ได้แก่ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากภาวะการแข่งขันในตลาดโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่อย่างประเทศจีน พบว่า จีนมีการส่งออกขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนแบ่งทางการตลาดของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4 ในปี 2545 เป็นประมาณร้อยละ 6 ในปี 2550 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของไทยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์พลาสติกไทยในปี 2545 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 1.8 ในปี 2550 ส่วนประเทศเวียดนามก็เป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกของเวียดนามพัฒนาไปค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าจะยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่ด้วยความร่วมมือจากประเทศจีนที่จะร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของเวียดนาม จึงทำให้ในอนาคตเวียดนามจะกลายเป็นคู่แข่งรายใหม่ของไทย พิจารณาจากส่วนแบ่งการตลาดของประเทศเวียดนามจะเห็นได้ว่า ในปี 2545 เวียดนามมีส่วนแบ่งการตลาดของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกร้อยละ 0.1 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 0.3 ในปี 2550 จะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์พลาสติกไทยนั้นมีอัตราการเพิ่มที่น้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์พลาสติกของประเทศจีนและประเทศเวียดนาม เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น แต่ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 จากการที่จีนประสบปัญหาในเรื่องของผลิตภัณฑ์เมลามีนที่ด้อยคุณภาพเนื่องมาจากมีส่วนผสมของยูเรียปนเปื้อนอยู่ในกระบวนการผลิต ทำให้ประเทศคู่ค้าปฏิเสธการนำเข้าผลิตภัณฑ์เมลามีนของประเทศจีน จึงส่งผลให้มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของจีนหดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 1


ช่วงครึ่งปีแรกผู้ผลิตต้องประสบกับภาวะต้นทุนสูงและการขาดแคลนวัตถุดิบ

จากภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกต้องอาศัยปัจจัยการผลิต ซึ่งก็คือเม็ดพลาสติก จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยตรง ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างมาก เพราะต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตประกอบไปด้วย ต้นทุนวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก) ร้อยละ 70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด นอกจากผู้ผลิตจะประสบกับต้นทุนของปัจจัยการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นแล้วยังต้องเผชิญกับ การขาดแคลนเม็ดพลาสติก เนื่องจากการที่น้ำมันมีราคาแพงขึ้น ทำให้แนฟทาซึ่งเป็นวัตุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมน้ำมัน และอุตสาหกรรมตัวทำละลาย ถูกดึงไปใช้ในการผลิตน้ำมันมากขึ้นเพราะขายได้ในราคาที่สูงกว่า ส่งผลให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อการผลิตเม็ดพลาสติกมีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไม่เพียงพอ รวมถึงการขาดแคลนผงเมลามีน เนื่องมาจากการที่ผลิตภัณฑ์ เมลามีนของประเทศจีนถูกต่อต้านจากประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปอย่างหนัก เพราะผลิตภัณฑ์เมลามีนที่ส่งออกจากประจีนมีส่วนผสมของยูเรียในกระบวนการผลิตสูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากสาเหตุนี้ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกของประเทศจีนต้องเร่งปรับตัวอย่างมาก จากความต้องการซื้อผงเมลามีนเพิ่มสูงขึ้นของประเทศจีน ส่งผลต่อปริมาณผงเมลามีนในตลาดโลกให้อยู่ในภาวะตึงตัวและมีราคาสูงขึ้น

ผลจากการที่ราคาปัจจัยการผลิตมีความผันผวนสูงและภาวะการขาดแคลนผงเมลามีนนั้น ทำให้ผู้ผลิตบางส่วนขาดความมั่นใจที่จะรับคำสั่งซื้อถึงแม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามา เนื่องจากผู้ผลิตไม่ต้องการแบกรับภาระขาดทุนจากความไม่แน่นอนของราคาวัตถุดิบที่อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ตามราคาน้ำมัน ขณะเดียวกันเมื่อต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นแต่ผู้ผลิตไม่สามารถปรับราคาขายสินค้าขึ้นได้ทันที แม้จะปรับราคาขึ้นได้ก็น้อยกว่าอัตราต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์พลาสติกส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มน้อย เช่น ถุงพลาสติก เป็นต้น ส่งผลทำให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมีเงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างน้อย ในภาวะที่ราคาเม็ดพลาสติกมีราคาสูงผู้ขายเม็ดพลาสติกยังคงให้วงเงินเครดิตเท่าเดิมกับผู้ผลิตที่เป็น SMEs จึงทำให้สั่งซื้อวัตถุดิบได้ในปริมาณที่น้อยลง ขณะที่เมื่อผู้ผลิตนำเม็ดพลาสติกไปแปลงเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกก็ไม่สามารถที่จะปรับราคาขึ้นได้มากนักเนื่องจาก ผู้ผลิตเหล่านี้ผลิตสินค้าพื้นฐานประเภทบรรจุภัณฑ์ที่เน้นการใช้ปัจจัยแรงงานในกระบวนการผลิต ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีมูลค่าเพิ่มน้อยและเป็นตลาดที่มีการแข่งขันทางด้านราคาสูงผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่จึงต้องประสบกับภาวะการขาดสภาพคล่องส่งผลให้มีโรงงานเริ่มทยอยปิดตัวลง ในขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่จะค่อนข้างได้เปรียบ ในด้านของสถานะทางการเงินและการจัดหาวัตถุดิบ ความพร้อมของเทคโนโลยี ทำให้มีศักยภาพที่จะขยายการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ประเภทที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น การผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ส่วนประกอบเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น


แนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วงที่เหลือของปี 2551

แนวโน้มของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วงที่เหลือของปี 2551 คาดว่า แรงกดดันทางด้านต้นทุนของผู้ประกอบการจะมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันที่ค่อยๆปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องระมัดระวัง คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวรุนแรงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี พิจารณาได้จากประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ อย่างเช่น สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ออกมา พบว่าหดตัวลงจากไตรมาสแรกซึ่งอาจทำให้อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2551 นี้ ต่ำกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.7 ซึ่งลดลงจากปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 นอกเหนือจากภาวะชะลอตัวมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังพบว่าภาวะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์พลาสติกในตลาดโลกยังคงมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยอีกด้วย เนื่องจาก การที่อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกส่วนใหญ่ของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) ในการผลิตแต่ค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยนั้นสูงกว่าประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่อย่างประเทศจีนและประเทศเวียดนามซึ่งกำลังจะกลายมาเป็นคู่แข่งที่จะมาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของไทย

ด้านแนวโน้มแรงกดดันต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตที่คาดว่าจะลดลงตามราคาน้ำมันนั้น ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลให้ราคาเม็ดพลาสติกมีโอกาสอ่อนตัวลงได้ รวมทั้งกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของผู้ผลิตในประเทศต่างๆ ที่หยุดทำการผลิตและลดกำลังการผลิตลงในช่วงที่ผ่านมา (เช่น ในประเทศเม็กซิโกที่ประสบกับปัญหาอากาศแปรปรวนทำให้ต้องหยุดทำการผลิต รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในหลายประเทศได้ลดกำลังการผลิตลง เช่น ผู้ผลิตเอทิลีนในภูมิภาคเอเชียหลายรายได้ลดปริมาณการผลิตลง อย่างประเทศจีนได้ลดกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีลง เพื่อเก็บน้ำมันไว้ใช้สำหรับการฟื้นฟูประเทศหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว และประเทศไทย อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็มีการลดกำลังการผลิตลงเช่นกัน เนื่องมาจากการที่ราคาน้ำมันและต้นทุนวัตถุดิบ คือ แนฟทา มีราคาสูง ทำให้ผู้ผลิตต้องลดต้นทุนในการเดินเครื่องจักรและการใช้แนฟทาลง) กลับมาทำการผลิตใหม่ได้อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ เช่น ผู้ผลิตในตะวันออกกลางอย่างประเทศอิหร่านที่คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตประมาณปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ประเทศคูเวต จะเริ่มดำเนินการผลิตเร็วขึ้นกว่าเดิมจากปลายไตรมาสที่ 4 เป็นปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และในเอเชีย เช่น ประเทศอินเดียจะเริ่มเดินเครื่องโรงกลั่นน้ำมันและหน่วยผลิตเม็ดพลาสติกในเดือนสิงหาคมของปี 2551 เป็นต้น และปัจจัยสนับสนุนนอกเหนือจากต้นทุนวัตถุดิบที่ราคามีแนวโน้มลดลงแล้ว คือ การที่ผลิตภัณฑ์เมลามีนของประเทศจีนถูกต่อต้านจากประเทศผู้นำเข้าในเรื่องของคุณภาพสินค้าที่ค่อนข้างต่ำ จึงเป็นโอกาสที่ไทยสามารถจะช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโลกได้ เนื่องจากสินค้าไทยค่อนข้างมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดระดับกลางถึงระดับบน (สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา)

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วงที่เหลือของปี 2551 จะมีการขยายตัวที่ชะลอลง ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในภูมิภาคต่างๆ ที่ขยายตัวลดลง โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกน่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 7.3 จากที่ขยายตัวร้อยละ 18.4 ในช่วง 7 เดือนแรก ทำให้ทั้งปี 2551 อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวประมาณร้อยละ 12.9 ซึ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 โดยแนวโน้มของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ชะลอลงนั้นจะเป็นผลมาจากปริมาณการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า สำหรับราคามีโอกาสที่จะชะลอลงเช่นกันตามต้นทุนการผลิตที่ควรจะลดลงตามราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง ขณะที่ประเด็นอื่นๆ ที่น่าจะต้องติดตาม ได้แก่แนวโน้มของกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น สหภาพยุโรป ที่มีการกำหนดให้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เฉพาะที่เป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่หรือสามารถย่อยสลายได้ ในประเทศญี่ปุ่นกลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้กันมากขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการใช้พลาสติกชีวภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เยอรมนีมีการใช้มาตรการทางด้านภาษีสำหรับพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายเพื่อให้มีราคาสูงกว่าพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่พอจะเป็นแรงสนับสนุน ได้แก่ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่จะค่อนข้างมีเสถียรภาพมากกว่าในปีนี้ น่าจะทำให้วัตถุดิบมีความผันผวนของราคาน้อยลง นอกจากนี้อุปทานของวัตถุดิบเม็ดพลาสติกน่าจะมีมากขึ้นจากการที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศในตะวันออกกลางจะเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงประมาณปลายไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ต่อเนื่อง ต้นไตรมาสแรกของปี 2552 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยลดแรงกดดันทางด้านต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตลงได้บ้าง


สรุป

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่า 53,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 การส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ดีเป็นผลมาจากไทยได้ขยายการส่งออกไปตลาดใหม่ๆ โดยประเทศใหม่ๆ ที่ไทยขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไป ได้แก่ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย เป็นต้น

จากภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างมาก เพราะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกต้องอาศัยปัจจัยการผลิตหลัก ซึ่งก็คือเม็ดพลาสติก จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยตรง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการขาดแคลนผงเมลามีนจากความต้องการซื้อผงเมลามีนเพิ่มสูงขึ้นของประเทศจีน

ผลจากการที่ราคาปัจจัยการผลิตมีความผันผวนสูงและภาวะการขาดแคลนวัตถุดิบดังกล่าวนั้น ทำให้ผู้ผลิตบางส่วนไม่มั่นใจที่จะรับคำสั่งซื้อ เนื่องจากผู้ผลิตไม่ต้องการแบกรับภาระขาดทุนจากความไม่แน่นอนของราคาวัตถุดิบที่อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ตามราคาน้ำมันขณะเดียวกันเมื่อต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นแต่ผู้ผลิตไม่สามารถปรับราคาขายสินค้าขึ้นได้ทันที หรือแม้จะปรับราคาขึ้นได้ก็น้อยกว่าอัตราต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์พลาสติกส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการไทยมีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงนัก เช่น ถุงพลาสติก เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งมีเงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างน้อยประสบกับภาวะการขาดสภาพคล่องส่งผลให้มีโรงงานเริ่มทยอยปิดตัวลง แต่สำหรับผู้ผลิตรายใหญ่อาจยังมีความได้เปรียบ เนื่องจากมีศักยภาพทางการเงินและการจัดหาวัตถุดิบ ความพร้อมของเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีศักยภาพที่จะขยายการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ประเภทที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

ช่วงที่เหลือของปี 2551 ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องระมัดระวัง คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวรุนแรงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี และภาวะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์พลาสติกในตลาดโลกเนื่องจาก การที่อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกส่วนใหญ่ของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) ในการผลิต แต่ค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยนั้นสูงกว่าประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่อย่างประเทศจีน แนวโน้มด้านต้นทุนการผลิตของผู้ผลิต คาดว่า แรงกดดันทางด้านต้นทุนของผู้ประกอบการจะมีแนวโน้มลดลง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเม็ดพลาสติกมีโอกาสอ่อนตัวลงได้ ประกอบกับอุปทานเม็ดพลาสติกในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วงที่เหลือของปี 2551 จะมีการขยายตัวที่ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.3 จากที่ขยายตัวร้อยละ 18.4 ในช่วง 7 เดือนแรก ทำให้ทั้งปี 2551 อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวประมาณร้อยละ 12.9 ซึ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 โดยแนวโน้มของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ชะลอลงนั้นจะเป็นผลมาจากปริมาณการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ

. . .

 

โดย: loykratong 11 กันยายน 2551 18:18:45 น.  

 

ดีเลยครับ

 

โดย: boyblackcat 11 กันยายน 2551 19:31:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.