<<
มีนาคม 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
2 มีนาคม 2557
 

"นายใน" สมัยรัชกาลที่ 6 : ชานันท์ ยอดหงษ์

สืบเนื่องจากกิจกรรม Blind date with a book  โดย The Reading Room 
ซึ่งได้แวะไปเลือกคู่เดตเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 
วันนี้ ...อ่านจบแล้ว  

"นายใน" สมัยรัชกาลที่ 6 : ชานันท์ ยอดหงษ์ 



สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก : มีนาคม 2556 
จำนวน 328 หน้า / ราคา 240 บาท 
อ่านจบ : 2 มีนาคม 2557 

:: โปรยปกหลัง :: 

"...คนอ่านที่สนใจวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และความสัมพันธ์ของชนชั้นนำ 
น่าจะสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจกับรายละเอียดหลายประการที่ 'นายใน' นำเสนอ
ภาพของชนชั้นสูงที่ดูเป็นมนุษย์ มีอารมณ์ ความรู้สึก และเผชิญปัญหานานาประการ
อาจทำให้เราเข้าใจคนในสถานะพิเศษและความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นได้มากขึ้น 
โดยไม่ติดกับการมองมิติเชิงบวกแบบอภิมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว ที่เสริมสร้างมายา
มากกว่าความเข้าใจหรือทำให้ไม่เอื้อต่อการผูกตนเองเข้ากับคนชนชั้นสูงกว่า 

นอกจาก 'นายใน' จะสนองความอยากรู้ข้ามชนชั้นแล้ว คนที่สนใจประเด็นเพศสภาพ 
เพศวิถี การก่อตัวและปรับเปลี่ยนของวัฒนธรรมวิคตอเรียนท้องถิ่นแบบสยาม 
น่าจะได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่มาก ทั้งในเรื่องแนวคิดและ
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม" 

ชลิตาภรณ์  ส่งสัมพันธ์ - คำนำเสนอ


:: รายละเอียดหนังสือจากเวปไซค์ Matichon Book :: 

เมื่อราชสำนักฝ่ายใน ไม่ต้องการสตรี  จึงไม่มี "นางใน" แล้วใครแทน? 

หนังสือเล่มนี้ปรับปรุงใหม่จากวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร ์ว่าด้วยเรื่อง "นายใน" 
โดยวิเคราะห์พระราชกรณียกิจ พระราชนิยม พระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับ "ความเป็นชาย" ของรัชกาลที่ 6
รวมถึงบทบาทของ "นายใน" ในพระราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 6

"นายใน" หรือข้าราชบริพารที่เป็นผู้ชายและอยู่ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในฐานะข้าราชสำนักฝ่ายในและพระสหาย เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพระราชสำนัก
ซึ่งผู้เขียนสนใจในปรากฎการณ์ดังกล่าวจึงสนใจศึกษาเรื่องดังกล่าว 

ขณะเดียวกัน รัชกาลที่ 6 ทรงพยายามกำหนด "ความเป็นชาย" ให้สอดคล้องกับรัฐรูปแบบใหม่ที่เป็นรัฐประชาชาติ
โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ที่นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ เช่น สโมสรกีฬาฟุตบอล หนังสือพิมพ์ ละคร 
งานพระราชนิพนธ์ ตลอดจนลูกเสือ เสือป่า 






เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า "นางใน"  "บาทบริจาริกา" "ข้าหลวงในราชสำนักฝ่ายใน" 
พอมาเจอคำว่า "นายใน" บนปกหนังสือ ก็ทำให้เราสะดุดใจขึ้นมา 
แต่ก็ยังไม่ได้รีบร้อนอยากรู้อยากเห็นอะไรมากนัก  
แล้วก็ได้มาเห็นข้อความจากเพื่อนๆ หลายคนในเฟซบุ๊คส์ ที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงหนังสือเล่มนี้ในทางลบอยู่มาก 
ไปฟังบรรยายทางวิชาการ มีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ 6 วิทยากรก็พูดถึงหนังสือเล่มนี้ในทางลบอีก 

เมื่อเราเปิดกระดาษห่อหนังสือออกมาเจอกับปกนี้ จึงรู้สึกถูกใจมากเป็นพิเศษ 
เพราะเป็นหนังสือที่อยากอ่าน  แต่ยังไม่อยากซื้อนั่นเอง 

หนังสือเล่มนี้คัดเลือกเนื้อหาบางส่วนและค้นคว้าเพิ่มเติมจาก
"นายใน : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศสภาวะในพระราชสำนัก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาสตรีศึกษา
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2554

แบ่งการนำเสนอออกเป็นบทต่างๆ  (มีบทนำและบทสรุปด้วย) คือ 
    • "นายใน" กับพระราชสำนักรัชกาลที่ 6
    • นายในทรงโปรดในรัชกาลที่ 6
    • กิจกรรมภายในพระราชสำนักฝ่ายในชาย
    • เพศภาวะชายและ "ความเป็นชาย" ตามพระราชนิยมที่มีอิทธิพลต่อนายใน
    • เพศภาวะของนายใน
    • "นายใน" และพระราชสำนักฝ่ายในชายในบริบทสังคมการเมือง 

เนื้อหาผ่านการ "อ่านและวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ" จากหลักฐานอ้างอิงมากมาย
ทั้งพระราชดำรัส  พระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานในวาระต่างๆ  พระราชนิพนธ์ 
จดหมายเหตุ หนังสือโต้ตอบทางราชการ หนังสือที่ระลึกงานศพหลายต่อหลายท่าน 
แต่คัดสรรมานำเสนออ้างอิงในมุมที่ผู้เขียนสนใจ คือ เพศสภาพ เพศวิถี 
ของบรรดามหาดเล็กในพระราชสำนักรัชกาลที่ 6  รวมถึงตัวพระองค์เองด้วย 

เราจับความได้ประมาณว่า  เดิมนั้นราชสำนักฝ่ายใน เป็นเรื่องของ "สตรีของพระมหากษัตริย์" 
แต่มาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6  ฝ่ายในของพระองค์ คือ "มหาดเล็ก"  
ผู้เขียนจึงใช้คำว่า "นายใน" แทนคำเรียกว่า "มหาดเล็ก"  ตลอดทั้งเล่ม 
อ่านแล้วก็ตะขิดตะขวงใจอยู่เหมือนกันนะ 

แล้วในช่วงรัชสมัยนั้น มหาดเล็กดูเหมือนจะมีความสำคัญและมีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์อยู่กลายๆ 
คือ มีความอำนาจในเชิงอารมณ์และความรู้สึก ...เมื่อ "ทรงโปรด" ก็พระราชทานฐานันดร ศักดินา รางวัล 
รวมไปถึง "การตัดสินพระทัยในการบริหารราชการ" ก็ทรงฟังความเห็นจากมหาดเล็กคนโปรด 
นอกจากนี้การเข้ามาสู่ราชสำนักฝ่ายใน โดยการเป็นมหาดเล็กนั้น เป็นการขยับฐานันดรของผู้คนในยุคนั้นด้วย
เพราะเมื่อเป็นมหาดเล็กก็เหมือนกับเป็น "พวกเดียวกันกับพระองค์"  
จะทรงปกป้องและให้การสนับสนุนทุกๆ เรื่อง  จากลูกหลายเจ้านายชั้นปลายแถว
 หรือจากพ่อค้า ครูหัวเมือง ก็ได้ขยับฐานะเป็นใหญ่เป็นโตในราชการได้เร็วด้วย
ทั้งนี้ ก็เพราะพระองค์ขึ้นครองราชย์ด้วยความรู้สึกว่า "หัวเดียวกระเทียบลีบ" เลยต้อการหาพวก 

พระราชนิยมของพระองค์ คือ โปรดชายหนุ่ม (และเด็กหนุ่ม) รูปงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย 
และทรงกำหนด "ความเป็นชาย" ว่าต้องรักพวกพ้อง เสียสละ รักชาติยิ่งชีพ ร่างกายแข็งแรง 
แต่ในขณะเดียวกัน ก็โปรดที่จะเห็น ชายแต่งหญิงและแสดงกิริยาแบบหญิง - - ผ่านการเล่นละคร
ซึ่งความที่ทรงโปรดการละคร อักษรศาสตร์ ในยุคของพระองค์จึงเกิดมี "กรมมหสรพ" ขึ้นมา 
มีความรุ่งเรืองในงานวรรณกรรม งานโขนละครฟ้อนรำและดนตรีเป็นอย่างมาก 
ซึ่งผู้เขียน พยายามบอกว่า กิจการเสือป่า เมืองจำลองดุสิตธานี เสมือนเป็น "การแสดงบทบาท" 
ที่พระองค์บังคับในมหาดเล็กและข้าราชการในราชสำนักฝ่ายใน "เล่น" เหมือนเล่นละครกัน 
ไม่ใช่ การปูพื้นฝึกหัดทหาร หรือการสอนระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย 

ทั้งนี้ พระราชนิยมของพระองค์ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากไปศึกษาที่อังกฤษ 
ทรงรับเอาวัฒนธรรมแบบวิคตอเรียน และลักษณะของสุภาพบุรุษจากอังกฤษ  
การใช้ชิวิตในโรงเรียนกินนอน การมีสโมสร การมี Scout  ก็ทรงนำมาจากอังกฤษทั้งสิ้น 
แต่ทรงกำหนด ดัดแปลงรูปแบบตามที่พระองค์ต้องพระประสงค์ กลายเป็น วิคตอเรียนท้องถิ่นแบบสยาม

แม้จะมีการอธิบายในประเด็นต่างๆ แต่การ "ตัดข้อความ" มาอ้างอิงประกอบ 
ก็ตัดมาแบบสั้นๆ ให้สนับสนุนประเด็นนั้นๆ ไม่มีบริบทแวดล้อมให้คนอ่านได้คิดต่อเลย 
มักจะเห็นคำว่า "สนิทเสน่หา" "ผูกพันอย่างลึกซึ้ง"  อยู่บ่อยครั้ง 
มันก็เลย เหมือนกับว่า "ยัดเยียด" ให้เราเห็นคล้อยตามไปซะทุกเรื่อง 

แต่อย่างไรก็ดี เราว่าหนังสือเล่มนี้ เปิดโลกทัศน์ในการมองสถานะของ "พระมหากษัตริย์" 
ไม่ใช่ "สมมุติเทพ"  ตามคติเดิมๆ อีกต่อไป  แต่เป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีอารมณ์ มีความรู้สึก 
มีรัก มีชัง มีชอบ ในสิ่งที่แตกต่างไปจากกรอบจารีตประเพณีเดิมๆ 
มันคือ ความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมที่ได้พบเจอ 
และเมื่อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น "ภายในพระราชสำนัก"  เป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ใน "กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง" 
แต่ทว่า การโปรดมหาดเล็ก (บางคน) เกินไป ก็กระทบต่อการบริหารเช่นกัน 
เพราะทำให้การตัดสินพระทัยบางเรื่อง ข้าราชการในส่วนงานอื่นๆ มองว่า ทรงยอมให้เพราะ "โปรด" 

ท้ายเล่มมีบรรณานุกรม  ซึ่งเสนอรายชื่อเอกสารและหนังสือมากมายให้ไปค้นคว้าเพิ่มเติม 
จะหาข้อมูลมาแย้งหรือมาสนุนแนวคิดของผู้เขียนก็ตามใจเถิด 
สำหรับเราแล้ว  ไมว่า "รสนิยมส่วนพระองค์" จะเป็นอย่างไร  
ก็ปฏิเสธพระอัจฉริยภาพในด้านอักษรศาสตร์ของพระองค์ไม่ได้เลย 
และไม่ว่่าคนกลุ่มหนึ่งจะมองงานของพระองค์เป็น "การเล่น" ก็ตามที
แต่สิ่งที่ทรงพยายามถ่ายทอด สอน อบรม ให้แก่กลุ่มมหาดเล็กและเสื่อป่านั้น 
ก่อให้เกิด "องค์ความรู้" ที่ต่อมาก็ได้รับการถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อมาอีกนั่นแหละ 
และความรู้นั้น ก็ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ "ประชาชน" ในวาระต่อๆ มา

และหนังสืออีกเล่มที่เราคิดว่า น่าจะต้องหามาอ่านซะทีก็คือ
พระราชประวัติตอนต้นรัชกาล ทีพ่ระองค์ทรงเขียนขึ้น  เสมือนเป็นบันทึกนั่นแหละ 
จะดูซิว่า เราจะจับอารมณ์ลึกๆ และรสนิยมผ่านงานเขียนชึ้นนี้ของพระองค์ได้หรือไม่ 







Create Date : 02 มีนาคม 2557
Last Update : 3 มีนาคม 2557 21:28:44 น. 15 comments
Counter : 12342 Pageviews.  
 
 
 
 
เล่มนี้มีในครอบครองแล้วค่ะ แต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านเลยค่ะ

ขอบคุณสำหรับรีวิวนะคะ
 
 

โดย: หวานเย็นผสมโซดา วันที่: 2 มีนาคม 2557 เวลา:23:51:06 น.  

 
 
 
มีแล้ว....เล่มนี้ แต่เวลาอ่านแอบบงงๆ กับสำนวนในการเรียบเรียงของเขาค่ะ

 
 

โดย: Prophetdoll Oui (Pdจิงกุเบล ) วันที่: 3 มีนาคม 2557 เวลา:9:38:45 น.  

 
 
 
อืม...
น่าสนใจดีนะคะ
แต่เคยเห็นคลิปสัมภาษณ์ของคนเขียน
แล้วก็รู้สึกว่ามันเอียงตั้งแต่ "คนเขียน"เลยค่ะ
ก็เลยเฉยๆไป ซะงั้น
 
 

โดย: เหมือนพระจันทร์ วันที่: 3 มีนาคม 2557 เวลา:10:04:31 น.  

 
 
 
คุณหวานเย็นฯ >> อ่านแล้วรีวิวด้วยนะคะ อยากทราบความเห็น

คุณ Pd >> เรียบเรียงแบบ "วิทยานิพนธ์" ยกข้อความซ้ำๆ อยู่บ่อยครั้ง อ่านแล้ววิงเวียนเหมือนกันค่ะ

คุณตูน >> ไม่เอียงก็เหมือนเอียงนัั่นแหละ แต่อย่าลืมว่า นี่คือวิทยานิพนธ์ ของผู้ศึกษา "สาขาวิชาสตรีศึกษา" ค่ะ ก็ต้องศึกษาในมุมมองแบบวิชานั้นนะ
 
 

โดย: นัทธ์ วันที่: 3 มีนาคม 2557 เวลา:12:14:16 น.  

 
 
 
ไม่เคยอ่าน เห็นมีคนพูดกันหลายกระแส เกี่ยวกับเรื่องสำนวนการเขียน
เลยขอผ่านไปก่อน ไม่ใช่แนว
 
 

โดย: Nat_NM วันที่: 3 มีนาคม 2557 เวลา:13:03:58 น.  

 
 
 
เป็นหนังสือที่ให้อารมณ์อยากอ่านแต่ยังไม่อยากซื้อเหมือนกันเลยครับ แต่พอได้อ่านรีวิวของพี่แล้วสงสัยงานหนังสือที่จะถึงนี้คงต้องไปสอยมาดองไว้ซะแล้ว กดไลค์กดโหวตให้เลยครับ
 
 

โดย: ปีศาจความฝัน วันที่: 3 มีนาคม 2557 เวลา:13:37:17 น.  

 
 
 
เรื่องนี้ได้อ่านจากห้องสมุดครับ จำได้ว่าต่อคิวยืมนานมาก เพราะกระแสในช่วงนั้นแรงจริงๆ
 
 

โดย: สามปอยหลวง วันที่: 3 มีนาคม 2557 เวลา:18:58:16 น.  

 
 
 
น่าสนใจค่ะ เดี๋ยวงานหนังสือคงต้องไปลองหาดูบ้าง
อย่างน้อยก็ได้รู้ว่า มุมมองอื่น ๆ เขาว่ายังไงกันบ้าง
 
 

โดย: polyj วันที่: 4 มีนาคม 2557 เวลา:8:38:42 น.  

 
 
 
คือ เราเองก็พอจะนึกรู้ "รสนิยมส่วนพระองค์" อยู่ก่อนแล้ว จากหนังสือที่เกี่ยวกับราชวงศ์ เล่มอื่น ๆ

แต่พอหนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมา ถึงกับสะดุ้งในการตั้งชื่อเรื่อง และภาพปก ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร หนังสือเล่มนี้ก็ให้ความรู้สึกไม่เป็นกลาง ....เลยไม่คิดจะหยิบอ่านเลยค่ะ
 
 

โดย: Serverlus วันที่: 4 มีนาคม 2557 เวลา:23:42:12 น.  

 
 
 
upic-270WQhDL.jpg
-----------------------------
แวะมาขอบคุณที่ช่วยส่งกำลังใจจนสุดทางฝันของปี2556ค่ะ ขอบคุณมากๆเลยค่ะคุณนัทธ์
 
 

โดย: เกศสุริยง วันที่: 5 มีนาคม 2557 เวลา:1:58:46 น.  

 
 
 
ขอลอกความเห็นคุณ Serverlus ค่ะ ตรงใจๆๆๆ
 
 

โดย: Sab Zab' วันที่: 5 มีนาคม 2557 เวลา:9:16:39 น.  

 
 
 
จากทุกความเห็นแล้ว.. ไว้ก่อนเนอะเล่มนี้
 
 

โดย: nonnoiGiwGiw วันที่: 6 มีนาคม 2557 เวลา:14:36:06 น.  

 
 
 
เล่มนี้น่าสนใจมากๆเลยค่ะ เดี๋ยวพี่ต้องหาอ่านบ้างแล้ว
ขอบคุณนะคะที่แนะนำ ขอAdd Friend ไว้เลยนะคะ
 
 

โดย: ชัชชษา วันที่: 7 มีนาคม 2557 เวลา:13:20:34 น.  

 
 
 
นายในเคยได้ยิน แต่ไม่เคยสนใจ
มาอ่านบล็อคแล้วได้ความรู้มากๆเลยค่ะ
ขอบคุณมากๆนะคะ
 
 

โดย: lovereason วันที่: 9 มีนาคม 2557 เวลา:18:58:51 น.  

 
 
 
สวัสดีค่ะคุณนัทธ์

เล่มนี้เปิดอ่านที่ร้านค่ะ จับพลิกไปที่โปรยหลังก่อนเลยสนใจ... อาจจะเพราะไม่แน่ใจกับสิ่งที่เคยได้ยินมามังคะ
 
 

โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 9 มีนาคม 2557 เวลา:22:05:48 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

นัทธ์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]





รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน
เปิดพื้นที่ไว้ สำหรับแปะเรื่องราว
มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ณ ที่นี้



สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539

ห้ามผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่ายและ/หรือข้อความต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดใน Blog แห่งนี้ไปใช้
และ/หรือเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

New Comments
[Add นัทธ์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com