Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
29 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 

กติกาของการเกิดมาเป็นมนุษย์



การเกิดมาเป็นมนุษย์ นับเป็นที่สุดแห่งโชคลาภอย่างหนึ่งของชีวิต แต่น่าเสียดายที่มนุษย์ไม่น้อย มักไม่เคยคิดว่า
การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นเป็นพรแสนวิเศษ พวกเขาจึงไม่ตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ตัวเองมีอยู่
ทั้งๆ ที่การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้วที่ชีวิตนี้ได้รับ
แต่คนจำนวนมากมากก็กลับมองข้าม สิ่งนี้ไป แล้วต่างก็ตะกุยตะกายไปแสวงหาของดีวิเศษซึ่งอยู่ ข้างหน้า
ยิ่งแสวงหา กลับพบว่ายิ่งว่างเปล่า ยิ่งเบาโหวง และยิ่งแบกภาระหนักอึ้งมากยิ่งขึ้นทุกที
ตรงกันข้าม สำหรับคนที่ตระหนักรู้ว่า ชีวิตนี้แหละ คือ ของขวัญอันมีค่าที่สุดที่เราได้รับ
มาจากวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันแสนยาวนานและซับซ้อน
เขาจะเริ่มเห็นคุณค่าของชีวิต และรู้ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไปให้เป็นชีวิตที่ดีที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น

ชีวิตที่ดีที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไร คือ คำตอบที่พุทธศาสนาไม่เคยมองข้าม
ในทัศนะของพุทธศาสนา การที่เราจะมีชีวิตที่ดีที่สุดนั้น จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจ รู้เท่าทันกฎ กติกา มารยาทของ
การเกิดมาเป็นมนุษย์อย่างถ่องแท้ แล้วดำเนินชีวิตไปตามกฎนั้นอย่างสอดคล้อง อย่างซื่อสัตย์และอย่างเท่าทัน
นักกีฬาที่รู้กฎ กติกา มารยาทของการเล่นกีฬาเป็นอย่างดี ย่อมจะประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตัวเองฉันใด
มนุษย์ที่รู้จักกฎกติกา มารยาทของการเวียนว่ายอยู่ในโลกก็ย่อมประสบความสำเร็จในการเกิดมาเป็นมนุษย์ฉันนั้น

กฎ กติกา มารยาท ของการเกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งเราทุกคนจะต้อง ‘รู้’ ให้เท่าทัน ‘ปฏิบัติ’ ให้สอดคล้อง และอยู่ร่วม
อย่างไม่ตื่นกลัว จนสามารถเผชิญกับความจริงของโลกและชีวิตได้อย่างรื่นรมย์นั้น
ประกอบด้วยหลัก ๕ ประการ กล่าวคือ เราทุกคนควรพิจารณาเนืองๆ ว่า
(๑) เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
(๒) เราทุกคนมีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความ เจ็บไปได้
(๓) เราทุกคนมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความ ตายไปได้
(๔) เราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากคนรัก/ของรักเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความพลัดพรากไปได้
(๕) เราทุกคนมีกรรมเป็นของของตน เราทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น

กฎ กติกา มารยาท ทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์อันเป็น ‘ธรรมดา’ ของชีวิต
ซึ่งเราทุกคนจะต้องเผชิญเหมือนกัน แต่ผลของการเผชิญนั้นจะไม่เหมือนกัน
สำหรับคนที่รู้เท่าทัน ย่อมจะเผชิญกฎเหล่านี้ด้วยท่าทีอันเป็นธรรมดา ไม่วิตกทุกข์ร้อน ไม่ตีอกชกตัว
ไม่ทุกข์ตรมขมไหม้ จนชีวิตเสียดุลยภาพ แต่สำหรับผู้ที่เผชิญกฎเหล่านี้ด้วยความเขลาเบาปัญญา
เรื่องอันแสนธรรมดาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายขึ้นม าทันที เช่น

มีอยู่เสมอที่เราได้เห็น พยายามจะวิ่งเต้นหนีความแก่ของตนด้วยการชะลอความแก่ หลอกตัวเองว่ายังไม่แก่
หายาแก้ความแก่ หรือไม่อยู่ในสมาคมที่ชวนให้มองว่าเป็นคนแก่ แต่แล้วก็ไม่เคยมีใครหนีสัจธรรมข้อนี้พ้น
เพราะความแก่นั้นเป็น ‘ธรรมดา’ ของสังขาร ไม่มีสังขารใดที่เมื่อถูกใช้งานแล้วจะไม่สึกหรอ ไม่เสื่อม
เมื่อสึกหรอเมื่อเสื่อมก็แสดง ผลออกมาเป็นความแก่
ความแก่จึงเป็นธรรมดาของสังขารที่เราต้องเปิดใจต้อนรับมันอย่าง สันติ อย่างรู้เท่าทัน และไม่ใช่ด้วยการหนี
แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตให้สอด คล้องกับวัยวันที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างเหมาะสม
คนที่รู้จักต้อนรับความแก่อย่างมีสติ จึงแก่อย่างมีความสุข
คนที่พยายามหนีความแก่ จึงกลายเป็นอย่างมีความทุกข์

มีอยู่เสมอที่เราได้เห็นคนเจ็บ พยายามจะวิ่งหนีความเจ็บกายด้วยความตื่นตกใจ
จนพลอยทำให้ความเจ็บไข้เล็กๆ กลายเป็นความเจ็บป่วยครั้งใหญ่
ในคนที่ป่วยด้วยโรคร้ายอย่างเอดส์หรือมะเร็ง ยิ่งเห็นเด่นชัด บางคนเสียชีวิตก่อนกำหนดของหมอ
เพราะกายป่วยแล้วใจป่วยหนักยิ่งกว่ากายหลายเท่าตัว
คนที่รู้ว่าชีวิตจะอยู่อีกไม่นานด้วยโรคร้ายบางคนพยายามใช้ชีวิ ตให้ ‘ถึงที่สุด’ ด้วยการ ‘กิน’ อย่างที่ (กิเลส)
อยากกิน ‘เที่ยว’ อย่างที่(กิเลส)อยากเที่ยว ‘ดื่ม’ อย่างที่ (กิเลส)อยากดื่ม ‘ทำ’ อย่างที่(กิเลส)อยากทำ
จนสุดท้ายก็ตายไปอย่างไม่คุ้มค่า เพียงเพราะเขาไม่เคยเรียนรู้ว่า ความเจ็บป่วยนั้นเป็นธรรมดาของชีวิต
คนเขลาจำนวนมากมายที่ไม่รู้เท่าทันธรรมดาว่าความเจ็บป่วยเป็นธรรมดาของชีวิต
จึงเมื่อป่วยกายก็ได้แต่ปล่อยให้ใจป่วยซ้ำเข้าไปด้วย ทั้งๆที่หากมีสติสักนิดก็จะพบความจริงที่แสนประเสริฐว่า
เมื่อกายป่วยนั้น ไม่จำเป็นเลยที่ใจจะต้องป่วยตามไปด้วยเสมอไป
หรือบางทีนาทีที่กายป่วยนั้นเอง หากรู้จักพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
ก็สามารถที่จะก้าวจากป่วยกายไปสู่ความเป็นสุขทางใจได้อย่างถาวร
เฉกพระอริยเจ้าทั้งหลายที่พอรู้ว่าสังขารถูกโรคาพยาธิเบียดเบียนก็จึงเร่งบำเพ็ญเพียรจนกลายเป็นพระอริยบุคคล
อยู่เหนือป่วย เหนือกาย เหนือตาย ได้อย่างถาวร

มีอยู่เสมอที่เราได้เห็นคน(ใกล้)ตาย พยายามจะปฏิเสธ ความตายของตนจนสุดชีวิต
บางคนกลัวตายตามปกติ ก็จึงหาวิธีตายก่อนตายอย่างผิดๆด้วยการกินยาพิษ ทำอัตวินิบาตกรรม
เพื่อจะได้ตายๆไปเสีย ก่อนที่ความตายจริงๆจะมาถึง คนเหล่านี้หากเข้าใจว่า ไม่เร็วก็ช้า เราก็ต้องตายกันเป็น
ธรรมดาอยู่แล้ว จะไม่ทุกข์ ยามรู้ว่าวันหนึ่งความตายจะมาพราก ตรงกันข้ามกลับจะพยายามเตรียมตัวตายอย่าง
มีสติและอย่างสันติ ในพุทธศาสนานั้นที่ท่านสอนเรื่อง ‘มรณสติ’ เอาไว้ไม่ใช่เพื่อที่จะบอกเราว่า
ความตายเป็นฉากสุดท้ายของชีวิตแล้วก็จบแค่นั้น หากแท้จริงแล้ว เราเรียนเรื่องมรณสติ ซึ่งเป็นเรื่องการระลึกถึง
ความตาย ก็ไม่ใช่เพื่อจะกลัวตายหรือรีบตาย ทว่าเพื่อที่จะ ‘อยู่’ อย่างไม่กลัวตาย และ ‘อยู่’ เหนือตายต่างหาก

มีอยู่เสมอที่เราได้เห็นคนซึ่งพลัดพรากจากคนรัก/ของรัก พยายามบอกตัวเองว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นกล่าวคือความจากพรากกันนั้นเป็นแค่ความฝัน เป็นเพียงมายาภาพ
เป็นแค่อุปาทานของตนเองที่คิดไปฝ่ายเดียว ความจริงไม่มีใคร ‘จากพราก’ เราไปไหนเลย ทุกอย่างยังคงเป็นปกติ
ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไปจากเดิมเลยแม้แต่น้อย คนที่ปฏิเสธความจริงของชีวิตใน ข้อที่ว่า วันหนึ่งเราจะต้อง
‘จากกัน’ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่เอา มือไปจับก้อนถ่านสีแดงเพลิง แล้วพยายามบอกตัวเองว่า
ก้อนถ่านนั้นเป็นเพียงน้ำแข็งก้อนหนึ่งซึ่งไม่ร้อนแต่อย่างใด
คนที่ไม่กล้าสบตากับความจริงก็จำเป็นจะต้องเจ็บเพราะการ หนีความจริงไม่พ้นอีกนับครั้งไม่ถ้วน
มีก็แต่คนที่พร้อมจะยอมรับกติกาของชีวิตว่า ในก้าวแรกก็มีก้าวสุดท้าย
ในพบก็ มีพราก ในโคนก็มีปลาย ในหัวก็มีก้อย ในเกิดก็มีตาย และในงานเลี้ยงก็มีงานลา เท่านั้น จึงจะไม่ทุกข์
เพราะการพลัดพรากจากคนรักของรักอันเป็นธรรมดาของชีวิต

มีอยู่เสมอที่เราได้เห็นคนซึ่งถูกกฎแห่งกรรมตามสนอง พยายามบอกตัวเองว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความอยุติธรรมของชีวิต เป็นสิ่งซึ่งตนไม่ได้ก่อ หากแต่เป็นการ ‘ฟาดเคราะห์’
เพราะดวงดาวเดินผิดจักรราศรี คนที่ไม่ยอมเปิดตาเรียนรู้กฎแห่งกรรม ซึ่งในที่นี้หมายถึงกฎแห่งการกระทำและ
ผลของการกระทำ**(action and reaction) จึงไม่พยายามแก้ปัญหาชีวิตด้วยการแก้ (พฤติ)กรรม
ทว่ากลับพยายามหนีกรรมด้วยการพึ่งคนทรงเจ้าเข้าผี พึ่งพ่อมดหมอผีให้ทำพิธีแปลกๆ
หรือแม้แต่พยายามปรับเปลี่ยนฮวงจุ้ยที่บ้านที่ทำงาน บางครั้งหนักข้อถึงขั้นเปลี่ยนทะเบียนรถ เปลี่ยนสีเสื้อผ้า
และเปลี่ยนชื่อสกุลหนีกรรม แต่ไม่เคยเปลี่ยน ‘(พฤติ)กรรม’ เมื่อไม่ยอมเปิดตาเปิดใจว่าชีวิตดำเนินไปเพราะ
‘กฎแห่งกรรม’ ซึ่ง ‘ตน’ มีส่วนในการสร้างเหตุปัจจัยด้วยเสมอไป ไม่มากก็น้อย
ปัญหาชีวิตจึงไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างสมเหตุสมผลหรืออย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ยิ่งหนีกรรมจึงยิ่งสร้างกรรม
ยิ่งปฏิเสธกรรม ยิ่งถูกกรรมตามทันอย่างชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน
คนเช่นนี้หากเขาเพียงแต่จะนั่งลงตั้งคำถามกับชีวิตว่า “ทำไมจึงเป็นเช่นฉะนี้” แล้วใช้ปัญญาวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น
ในชีวิตอย่างมีสติ อย่างใช้เหตุผล ในที่สุดเขาก็จะพบว่า ความยุ่งยากในชีวิตนั้น เกิดจากอะไร
หากแต่เกิดจาก ‘เหตุปัจจัย’ (cause and conditions) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตัวเราเองมีส่วนก่อให้เกิดด้วยเสมอไป
ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เมื่อมองปัญหาของชีวิตว่าเป็นปัญหาซึ่ง‘มีที่มาเสมอ’ และตนมีส่วนสร้างเหตุปัจจัยด้วย
ก็จะพร้อมยอมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ และมีท่าทีต่อความทุกข์ของชีวิตในทางที่สร้างสรรค์
แต่สำหรับคนที่มีปัญญามากกว่านั้นก็อาจสามารถเปลี่ยนกรรมเป็นโอกาสได้อีกต่างหาก

ในทางคัมภีร์ บุรพาจารย์ท่านให้เหตุผลประกอบว่า การที่เราต้องพิจารณาเนืองๆ ถึงกฎ กติกา มารยาท
อันเป็นธรรมดาของชีวิตนั้นก็เป็นเพราะ
*ประการที่หนึ่ง การพิจารณาความแก่ก็เพื่อต้องการให้ละความหลงมัวเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวหรือเยาว์
*ประการที่สอง การพิจารณาความเจ็บก็เพื่อต้องการให้ละความมัวเมาในความไม่มีโรคหรือในความมีสุขภาพดี
*ประการที่สาม การพิจารณาความตายก็เพื่อต้องการให้ละความมัวเมาในชีวิต (หรืออายุว่ายังไม่ถึงเวลาใกล้ตาย)
*ประการที่สี่ การพิจารณาความพลัดพรากก็เพื่อต้องการให้ละความยึดติดถือมั่นในคนรักของรักทั้งหลาย
*ประการที่ห้า การพิจารณากฎแห่งกรรมก็เพื่อต้องการให้ละความชั่วหันมาบำเพ็ญความดี
..........

**ผลของการกระทำ ในที่นี้เพ่งถึงผลเสียเป็นหลัก เพราะผลดีของกรรมดีนั้น ไม่เป็นที่หนักใจของใครอยู่แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 74




 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2552
0 comments
Last Update : 29 พฤษภาคม 2552 22:00:26 น.
Counter : 817 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.