Group Blog
All Blog
### สัมมาทิฏฐิที่แท้จริง ###










“สัมมาทิฏฐิที่แท้จริง”

สมัยนี้เราสามารถฟังเทศน์ฟังธรรมได้ทั้งวัน

เพราะเรามีสื่อมีภาษา เราอ่านออกเขียนได้

เราจึงควรที่จะฟังเทศน์บ่อยๆ

 แล้วก็อ่านหนังสือธรรมะบ่อยๆ จนเราเข้าใจแล้วว่า

เราต้องทำอะไร พอเรารู้แล้วว่าเราต้องทำอะไร

เราก็เริ่มปฏิบัติไป ตอนต้นอ่านหนังสือ ฟังเทศน์มาก

 แต่พอปฏิบัติแล้วการอ่านการฟังก็จะน้อยลงไป

 เพราะเราจะต้องทุ่มเทให้กับการปฏิบัติ

เพราะว่าการอ่านการฟังนี้

ยังไม่สามารถทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิที่แท้จริงได้

 ต้องเกิดจากการปฏิบัติสัมมาสติ สัมมาสมาธิ

 พอเราอยู่ในช่วงเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ตอนนั้นเราก็ลดการอ่านการฟังให้น้อยลงไปได้แล้ว

 จะมาอ่านมาฟังก็อาจจะวันละชั่วโมง ๒ ชั่วโมง

 วันละครั้ง ๒ ครั้ง

ในเวลาที่ไม่ได้เจริญสติคือไม่ได้ปฏิบัติ

 เดินจงกรมนั่งสมาธิก็มาพักอ่านหนังสือธรรมะ

หรือฟังธรรมะบ้างก็ได้ สลับกันไป

แต่ไม่ต้องศึกษาแบบทั้งวัน เหมือนกับสมัยแรกๆ

 สมัยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ แต่พอออกปฏิบัติแล้ว

การศึกษาก็ลดน้อยลงไปได้แล้ว

เพราะว่ารู้แล้วว่าจะต้องปฏิบัติอะไร

ความสำคัญจึงต้องไปอยู่ที่การปฏิบัติ

เป็นส่วนใหญ่แล้ว เพราะศึกษาไปมากเท่าไร

ก็จะไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว

 ถ้าอยากจะก้าวหน้าไปกว่านี้

ก็ต้องเข้าสู่ขั้นปฏิบัติแล้ว

 เข้าสู่ขั้นปฏิบัติการศึกษาก็น้อยลงไปได้

ไม่จำเป็นไม่สำคัญ เพราะรู้แล้วว่าได้ผลแล้ว

จากการศึกษานั่นเอง

หากศึกษามากไปกว่านี้ก็ไม่ได้ผลมากไปกว่านี้

อยากจะให้ได้ผลมากไปกว่านี้

ต้องอยู่ที่การปฏิบัติแล้ว

 แต่การศึกษาก็ยังสำคัญอยู่

เพราะว่าเป็นการทบทวน

 ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะบางทีปฏิบัติไป

ไม่ได้ศึกษาไม่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมไปก็อาจจะลืมได้

 เหมือนกันก็ต้องย้อนกลับเข้ามาฟังบ้าง

เพื่อทบทวนความจำ

เพื่อให้รักษาความเห็นที่ถูกต้อง

ของพระพุทธเจ้า ให้เป็นเครื่องนำทาง

พาเราไปสู่ความเห็นที่ถูกต้อง

ที่จะเป็นความเห็นของเราต่อไปได้

 นี่คือเรื่องของการปฏิบัติมรรค ๘

ขั้นต้นก็ศึกษามรรค ๘ ไปก่อน

 พอรู้แล้วว่าเราต้องปฏิบัติมรรค ๘ อย่างไร

ขั้นต่อไปเราก็ต้องออกปฏิบัติกัน

สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา สัมมาสังกัปโป

ก็ต้องคิดไปในทางทำบุญ

 ละบาปกำจัดกิเลสตัณหา

 การกระทำก็ต้องไม่ทำบาป

การพูดก็ต้องไม่พูดบาป

แล้วก็ความเพียรก็ต้อง เพียรสร้างสติ

 สร้างสมาธิขึ้นมาให้ได้

เพราะสติและสมาธินี้แหละ

เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เรามีสัมมาทิฏฐิ

 ปรากฏขึ้นมาได้ภายในใจของเราเอง

 ก็เหมือนกับการถอดผ้าที่ปิดกั้นตาเราไว้นั่นเอง

 สติและสมาธินี้ เป็นเหมือนกับเครื่องมือ

ที่จะถอดผ้าที่ปิดตาเราไว้

พอเราถอดผ้าที่ปิดตาไว้ได้

เราก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง

 เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น

 พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นผู้สงวนลิขสิทธิ์

ในการเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเห็นได้

ถ้าทุกคนถอดผ้าที่ปิดตาของตนออกไป

ผ้าที่ปิดตาผ้าที่ปิดใจก็คืออวิชชา โมหะนี่เอง

อวิชชาคือความไม่รู้จริง โมหะก็คือความหลง

 ความเห็นผิดเป็นชอบ

เห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

 ดังนั้นคนที่เห็นว่าไม่มีบาปไม่มีบุญ

ไม่มีนรกไม่มีสวรรค์

ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีพระนิพพาน

 พวกนี้เรียกว่าพวกมิจฉาทิฐิ

มีความเห็นผิดเป็นชอบ

 เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

เห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

 เพราะไม่เอาผ้าที่ปิดตาออกนั่นเอง

 แล้วก็ไม่เชื่อคนที่เอาผ้าปิดตาออก

แล้วว่าเห็นอย่างนั้นอย่างนี้

ก็ไม่เชื่อเขา เชื่อตัวเอง

ทั้งๆที่ตัวเองมองอะไรไม่เห็น

ก็ยังกล้ายืนยันว่านรกไม่มี

 สวรรค์ไม่มี บุญไม่มี บาปไม่มี

ตายแล้วสูญ พวกนี้แหละ

เขาเรียกว่าพวกมิจฉาทิฐิ

ถ้าไม่อยากจะมีมิจฉาทิฐิก็ต้องเชื่อ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

แล้วก็ปฏิบัติเพื่อที่จะได้ถอดเอาผ้าที่ปิดตาออกไป

 ถอดเอาอวิชชาโมหะ ออกไป

 ถอดเอามิจฉาทิฐิออกไป

แล้วก็จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง

ทีนี้ก็จะไม่สงสัยว่า

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มีจริงหรือไม่

 เพราะจะเห็นด้วยสันทิฏฐิโกนี่เอง เห็นด้วยอกาลิโก

ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้า จะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

ถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีก็ตาม

ไม่มีซากอะไรหลงเหลืออยู่แล้วก็ตาม

แต่ผู้ปฏิบัตินี้ จะไม่สงสัย

ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เลย

 เพราะเป็นอกาลิโก เป็นสันทิฏฐิโก

นี่คือเรื่องการทำหน้าที่ของชาวพุทธ

คือการศึกษาและการเจริญมรรค ๘

ที่ไม่มีใครที่จะทำให้เราได้

เป็นหน้าที่ของเราแต่ละคนที่จะต้องทำกันเอง

 เหมือนกับการไปโรงเรียนเรียนหนังสือ

เพื่อให้ได้รับปริญญาบัตร

พ่อแม่ไปโรงเรียนแทนลูกไม่ได้

พ่อแม่ต้องเคี่ยวเข็นบังคับให้ไปโรงเรียน

 เราก็ต้องบังคับใจของเรา

ให้ไปโรงเรียนให้ฟังธรรมะอยู่เรื่อยๆ

ให้อ่านหนังสือธรรมะอยู่เรื่อยๆ

 พอได้อ่านได้ฟังแล้วก็ต้องบังคับ

ให้ปฏิบัติให้เจริญสติให้ได้

ให้เจริญสัมมาสมาธิให้ได้

 ก่อนจะเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ก็จะเจริญ สัมมาสังกัปโปก่อน

 ให้คิดทำบุญ คิดละบาปไปก่อน

 คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไม่ลักทรัพย์

ไม่ประพฤติผิดประเวณี

ไม่พูดปด ไม่พูดจาไม่คำหยาบเพ้อเจ้อ

พูดส่อเสียดไม่มีอาชีพที่ทุจริต

หรือที่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น

แล้วก็ให้เพียรพยายามสร้างสติ สร้างสมาธิขึ้นมา

 แล้วก็จะได้เห็นความจริงที่มีอยู่ในใจ

ความจริงที่พระพุทธเจ้า

 และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้เห็นกัน

 ท่านไม่ได้เห็นอะไรภายนอกใจเลย

 การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คือการเห็นนรก

 เห็นสวรรค์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของใจนี่เอง

 ใจคิดไปในทางบุญก็เป็นสวรรค์

 ใจคิดไปทางนรกก็คิดไปในทางบาปก็เป็นนรกขึ้นมา

 คิดไปในทางละความอยาก

ก็เป็นนิพพานขึ้นมาก็มีเท่านี้

 ความจริงอยู่ในใจของเรา

ใจของพวกเรานี้ เหมือนกันหมด

มีความจริงอันนี้รออยู่ให้เรามองให้เห็นกันทุกคน

 เพียงแต่ว่าเราต้องเปิดตาเราให้ได้

 การเปิดตาก็คือการเจริญสติ เจริญสัมมาสติ

 ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน

ให้ตั้งอยู่ในความสงบตั้งอยู่ในอุเบกขา

สักแต่ว่ารู้แล้วก็จะเห็นความจริงทั้งหลาย

อย่างที่พระพุทธเจ้า

 และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ได้รู้ได้เห็นกัน ไม่ได้รู้ที่อื่นเลย

 รู้ข้างในใจนี้เพียงอย่างเดียว

ความรู้ภายนอกต่อให้รู้มากน้อยเพียงไร

ก็จะไม่สามารถที่จะทำให้เรา

รู้ความจริงภายในใจเราได้

 อยากจะรู้ความจริงภายในใจและความรู้ที่สำคัญ

ก็คือความรู้ภายในใจนี้

เพราะการรู้ความรู้ภายในใจนี้

 จะทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

แต่ความรู้สิ่งต่างๆ ในโลกนี้

ไม่สามารถที่จะทำให้เราหลุดพ้น จากความทุกข์ได้

แต่กลับจะผูกให้เราตกอยู่ในกองทุกข์ยาวนานต่อไป

ดังนั้นเราจึงไม่ต้องให้ความสำคัญต่อความรู้ทางโลก

 ถ้าเราต้องการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์

ขอให้เราหันเข้ามา หาความรู้ภายในใจเรานี้

เพียงอย่างเดียวก็พอ อย่าไปหลงประเด็น

เดี๋ยวคิดว่าต้องไปเรียนอภิธรรม

 ต้องไปหาความรู้อะไรต่างๆ มาเสริม

 การเรียนเหล่านี้ไม่สำคัญ

สำคัญที่ว่าจะต้องรู้ภายในใจของเรา

จะรู้ภายในใจของเรไาด้ก็ต้องปฏิบัติ

ถ้าจะศึกษาก็ให้ศึกษาเพียงเรื่องของมรรค ๘

เพียงเรื่องเดียวก็พอ ให้รู้ว่าเราจะสร้างสัมมาทิฏฐิ

 สร้างสัมมาสังกัปโปขึ้นมาได้อย่างไร

 สร้างสัมมากัมมันโต สัมมาวาจา

สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ

 สัมมาสมาธิขึ้นมาได้อย่างไร ให้รู้เท่านี้ก็พอ

 พอเรารู้แล้วเราก็นำเอาไปปฏิบัติ

 แล้วเราก็จะได้เห็นสิ่งที่เราควรจะเห็น

ก็คือเห็นธรรมะภายในใจของเรานี่เอง

ดังนั้นขอให้พวกเราจงทุ่มเทชีวิตจิตใจ

ให้กับการเจริญมรรคนี้

 งานภารกิจต่างๆ อย่างอื่นถ้าจำเป็นจะต้องทำ

 ก็ทำเท่าที่จำเป็น

 ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าไปทำมันจะดีกว่า

 มาทำงานอันนี้ที่สำคัญที่จำเป็นต่อการหลุดพ้น

 จากการเวียนว่ายตายเกิด

ต่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนี้จะดีกว่า

 เพราะเวลาของเรานี้มีน้อยลงไปเรื่อยๆ

วันเวลาผ่านไปๆ เวลาที่เหลือในการที่เราจะศึกษา

และปฏิบัติที่จะสร้างพระนิพพานขึ้นมา

ภายในใจของเรานี้ จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ

ถ้าเราเอาเวลาอันสำคัญนี้ไปทำภารกิจอย่างอื่น

เราก็จะไม่ได้มาทำภารกิจสำคัญอันนี้

 ดังนั้นขอให้เราระมัดระวังให้มาก

ถ้าเรายังมีความจำเป็นจะต้องทำภารกิจอย่างอื่น

ก็ควรที่จะกำหนด ขอบเขตเอาไว้

อย่าให้มันบานปลายไป ทำเท่าที่จำเป็น

ทำให้มันเสร็จเร็วๆ อย่างหลวงตานี้

เวลาที่มีการสร้างกุฏิ สร้างอะไร

งานภายนอกจิตใจนี้ท่านจะให้ทำแบบรวดเร็ว

มีกำหนดเวลาไม่ให้ยืดเยื้อ

ถ้าจำเป็นจะต้องสร้างกุฏิก็ให้สร้างให้เสร็จๆ

ภายในเดือน ๒ เดือน เสร็จแล้วก็จบไม่ยืดเยื้อ

ไม่ต่อเนื่องไป ต่องานอื่น

 เอาความจำเป็นเป็นหลักแล้วงาน สิ่งที่จำเป็น

ก็ให้มันเรียบง่ายไม่ต้องหรูหราไม่ต้องพิสดาร

ไม่ต้อง ให้สวยงามมาก ทำเพื่อให้ได้ประโยชน์

ที่ต้องมีเท่านั้นก็พอ

 ขอให้พวกเราจงอย่าหลงทางอย่าหลงประเด็นกัน

อย่าปล่อย ให้ภารกิจการงานอย่างอื่น

มาทำลายภารกิจที่สำคัญ

คือการปฏิบัติการสร้างมรรค ๘ นี้

ขอให้เราจดจ่อมีความแน่วแน่

ต่อการสร้างมรรค ๘ นี้

เป็นอารมณ์ของเราไปทุกวันทุกเวลา

แล้วเราจะได้ทำภารกิจที่สำคัญ

ให้เสร็จลุล่วงไปภายในชาตินี้เลย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขาวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗

“การศึกษาและเจริญมรรค ๘”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 กันยายน 2559
Last Update : 25 กันยายน 2559 10:32:21 น.
Counter : 544 Pageviews.

0 comment
### ความว่างเป็นความสุขที่แท้จริง ###









“ความว่างเป็นความสุขที่แท้จริง”

ความว่างเป็นความสุขที่แท้จริง

นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง

 นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่ถาวร ความสุขที่ไม่มีวันสิ้นสุด

 เพราะตั้งอยู่บนความว่างนี่เอง

ความว่างนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา

แต่สิ่งที่ไม่ใช่ความว่างนั้น เป็นสิ่งที่ชั่วคราว

ถ้าเราตั้งความสุขของเราไว้กับสิ่งต่างๆ

เราก็จะต้องประสบกับความเสียใจ

 ประสบกับความทุกข์

เวลาที่สิ่งที่เราตั้งไว้ให้เป็นความสุขกับเรานั้น

 เสื่อมไปหมดไป เราจึงต้องเข้าหาความว่างกัน

เพราะความว่างเป็นความสุขที่แท้จริง

 นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง

ปรมัง สุญญังนี้แปลว่าอะไร

 ก็คือว่างจากสิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้

ว่างจากลาภยศสรรเสริญ

ว่างจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ว่างจากความโลภความโกรธความหลง

ว่างจากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 ถ้าว่างจากสิ่งเหล่านี้แล้ว

ใจก็จะเป็นปรมัง สุขังขึ้นมา

เป็นความสุขที่เหนือกว่า

ความสุขทั้งหลายในโลกนี้

 เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุข

ที่ได้จากลาภยศสรรเสริญ

ได้จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ผู้ที่ปรารถนาความสุขที่แท้จริงจึงต้องปลีกวิเวก

 ไปอยู่ตามสถานที่ว่างจากลาภยศสรรเสริญ

 ว่างจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ

เรียกว่ากายวิเวก กายว่างจากสิ่งต่างๆ

 ที่ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง

ที่เป็นความทุกข์ในคราบของความสุข

วันนี้มันคงจะไม่ยอมว่างเสียแล้ว

 ตอนนี้มันไม่ว่างจากเสียง

 เสียงมันคอยรบกวนอยู่ตลอดเวลา

 เมื่อมีเสียงรบกวน

 มันก็ไม่ว่างมันก็ไม่สงบ มันก็ไม่สุข

นี่เป็นตัวอย่างที่เราสามารถเปรียบเทียบได้

ระหว่างเวลาที่มีเสียงอึกทึกครึกโครม

กับเวลาที่ไม่มีเสียงนั้น

มีความแตกต่างกันอย่างไรต่อสภาพจิตใจ

ถ้ามีเสียงอึกทึกครึกโครม มันก็จะมาก่อกวน

สร้างความไม่สงบให้กับใจ

 พอใจไม่สงบ ใจมันก็ไม่สุข

นี่แหละตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน

ว่าการที่จะทำใจให้ว่าง ทำใจให้สงบนั้น

ทางร่างกายต้องว่างก่อน

กายต้องวิเวกก่อน จิตถึงวิเวกได้

ถ้ากายไม่วิเวก กายมีเรื่องราวต่างๆ

 มารบกวนใจอยู่เรื่อยๆ

 เช่นมีเรื่องลาภยศสรรเสริญ

เรื่องของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ

มาคอยยั่วยวนกวนใจอยู่

 ใจจะไม่มีวันที่จะสงบได้

 เมื่อใจไม่สงบใจก็จะไม่ว่าง

ใจก็จะไม่ได้พบกับความสุขที่ยิ่งใหญ่

นักบวชหรือผู้ที่แสวงหาความสุขที่แท้จริง

จึงต้องปลีกวิเวกกัน ต้องไปอยู่ตามสถานที่

ที่ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ

จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

เช่นไปอยู่ตามป่าตามเขา

ในสมัยพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงชี้บอก

 สถานที่สำหรับผู้ที่ต้องการบำเพ็ญ

เพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ คือปรมัง สุขัง

 ว่าให้อยู่ตามโคนไม้บ้าง อยู่ตามเงื้อมผาบ้าง

อยู่ตามถ้ำบ้าง อยู่ตามเรือนร้างบ้าง

อยู่ในป่าช้าบ้าง

 เพราะสถานที่เหล่านั้นแล เป็นสถานที่ที่จะว่าง

จากลาภยศสรรเสริญ

 จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 พอใจได้อยู่ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ

จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ใจก็จะเข้าสู่ความว่างของใจได้

เข้าสู่ความสงบได้

แต่ใจจะไม่เข้าสู่ความสงบได้โดยลำพัง

ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวก

ปราศจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ปราศจากลาภยศสรรเสริญแล้ว

แต่ภายในใจ ใจยังไม่ว่าง จากกิเลสตัณหา

จากความโลภความโกรธความหลง

จากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ใจต้องใช้ธรรมคือสติ เป็นผู้ดึงใจ

ให้ออกจากกิเลสตัณหา

 ออกจากโมหะอวิชชา

ถ้ามีสติเป็นผู้คอยดึงใจไว้

ใจก็จะสามารถเข้าสู่ความว่าง

 เข้าสู่ความสงบได้ เข้าสู่ความสุขที่ยิ่งใหญ่ได้

ดังนั้นเมื่อได้ไปอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวก

 ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ

 ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะแล้ว

ก็จำเป็นจะต้องเจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เพราะถ้าไม่ได้เจริญ

เดี๋ยวก็จะถูกกิเลสตัณหาฉุดลากใจ

 ให้กลับไปหาลาภยศสรรเสริญ

กลับไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอีก

ถึงแม้ร่างกายจะออกมาแล้ว

แต่ใจก็ยังอดที่จะคิดถึงลาภยศสรรเสริญ

 คิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้

ถ้าคิดบ่อยๆเข้าก็จะเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ

จนทนที่จะอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวกไม่ได้

จำเป็นจะต้องกลับไปหา

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 หาลาภยศสรรเสริญต่อไป

ดังนั้นเมื่อได้ไปปลีกวิเวกแล้ว
จำเป็นอย่างยิ่ง

ที่จะต้องคอยควบคุมกิเลสตัณหา

 ไม่ให้มีโอกาสมาฉุดลากจิตใจ

ให้กลับไปสู่ความวุ่นวาย

 ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ของลาภยศสรรเสริญ

 ถ้าไม่เจริญสติแล้ว จะไม่สามารถอยู่ได้

จะไม่สามารถปลีกวิเวกได้

เพราะจะทนอำนาจของกิเลสตัณหา

 ที่จะมาคอยผลักดัน คอยทิ่มแทงหัวใจ

ให้มีความหงุดหงิดรำคาญใจ จนทนไม่ไหว

 จนต้องกลับไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 กลับไปหาลาภยศสรรเสริญ

นี่แหละคือประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรกก็คือ ต้องให้กายวิเวก

เมื่อกายวิเวกแล้ว ก็ต้องทำใจให้วิเวก

 ใจจะวิเวกได้ก็ต้องมีสติ

สตินี้แลที่จะเป็นผู้ที่คอยดึงใจไว้

ไม่ให้กิเลสตัณหาโมหะอวิชชา

 ฉุดลากให้ใจกลับไปหาความวุ่นวายใหม่อีก

 ดังนั้นผู้ที่ไปปลีกวิเวกแล้ว

จึงควรที่จะเจริญสติตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นจนหลับ

 พอตื่นมาปั๊บนี่ต้องตั้งสติแล้ว

ต้องรู้แล้วว่าตอนนี้ใจกำลังอยู่กับอะไร

 กำลังอยู่กับอารมณ์ของสติหรือไม่

 หรือว่ากำลังอยู่กับความคิดปรุงแต่ง

 ถ้าอยู่กับความคิดปรุงแต่ง

เดี๋ยวไม่นานใจก็จะคิดปรุงแต่ง

ไปทางของกิเลสตัณหาโมหะอวิชชา

 พอคิดปรุงแต่งไปทางนั้นแล้ว

 ใจก็จะเกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา

 เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ

 เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา

จนไม่สามารถอยู่เฉยๆได้

 แต่ถ้ามีสติคอยควบคุม

 ความคิดปรุงแต่งอยู่อย่างต่อเนื่อง

 ไม่ให้ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นมาได้

หรือเกิดขึ้นมาได้ก็ไม่ยาว ไม่นาน

พอรู้ว่าเผลอก็รีบกลับมาเจริญสติต่อทันที

เช่นถ้าใช้คำบริกรรมพุทโธ

ก็ควรจะบริกรรมพุทโธไปในทั้ง ๔ อิริยาบถ

 เดินยืนนั่งนอน ให้มีการบริกรรมพุทโธ

อยู่อย่างต่อเนื่อง

 ไม่ปล่อยให้ใจคิดไปในทาง

กิเลสตัณหาโมหะอวิชชา

 ถ้ามีความจำเป็นจะต้องคิด

ก็คิดกับภารกิจการงาน

ที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

 พอทำเสร็จแล้ว

ไม่มีภารกิจต้องทำแล้ว ก็หยุดคิด

กลับมาบริกรรมพุทโธๆต่อ

ถ้าไม่ใช้การบริกรรมพุทโธ

จะใช้การเฝ้าดูร่างกาย

 อยู่ในทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหวก็ได้

ให้รู้ว่าร่างกายตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่

 กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังนอน

 กำลังรับประทานอาหาร กำลังอาบน้ำ กำลังแต่งตัว

 กำลังกวาดบ้านถูบ้าน กำลังซักเสื้อผ้า

 ไม่ว่ากำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่

ให้ใจเฝ้าอยู่กับการกระทำกิจกรรมนั้น

เพียงอย่างเดียว

 ไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

 คนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้

 ไม่ให้ไปคิดถึงลาภยศสรรเสริญ

 ไม่ให้ไปคิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ดึงใจเอาไว้ให้หยุดคิดปรุงแต่งให้ได้ก่อน

 ตอนนี้อย่าปล่อยให้คิดทางปัญญา

 เพราะมันจะไม่เป็นปัญญา

 มันจะเป็นกิเลสตัณหาไป

ตอนต้นก็เริ่มที่ปัญญา

 พอเผลอปั๊บมันก็ไปคิดถึงลาภยศสรรเสริญ

 ไปคิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะขึ้นมา

 แล้วก็เกิดกิเลสตัณหา

ความโลภความอยากขึ้นมา

 เกิดความวิตกกังวล เกิดความห่วงใย

เกิดอารมณ์อะไรต่างๆตามมา

เพราะว่าใจยังไม่มีกำลังพอ

ที่จะดึงให้ไปคิดในทางปัญญา

 ถ้าคิดในทางปัญญา ต้องคิดอยู่แต่

ในวงของไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา

 เช่น เห็นอะไรก็ต้องว่าเป็นทุกข์

เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา

 ไม่ใช่เห็นอะไรแล้วก็ว่าดี

ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้

ถ้าเห็นอย่างนั้นแล้ว

 เรียกว่าไปทางโมหะอวิชชา

 ไปทางกิเลสตัณหาแล้ว

ถ้าเห็นว่าอะไรต้องเห็นว่าไม่เที่ยง

เป็นทุกข์ไม่ใช่ของเรา

 ถ้าเห็นว่าเที่ยง เห็นว่าสุข เห็นว่าเป็นของเรา

 นั่นก็คือ คิดไปในทางโมหะอวิชชาแล้ว

 ไม่ใช่ไปในทางปัญญา

ดังนั้นในเบื้องต้นจึงไม่ควรที่จะใช้ความคิด

 ถึงแม้จะคิดว่ากำลังคิดไปในทางปัญญา

 มันก็ไม่ใช่เป็นปัญญา ต้องทำใจให้สงบก่อน

 ทำใจให้ว่างให้ได้ก่อน ถ้าใจว่างใจสงบแล้ว

อำนาจของโมหะอวิชชา ของกิเลสตัณหานี้

จะถูกตัดทอนลงไป จะทำให้อ่อนกำลัง

 จนไม่สามารถที่จะมาหลอกใจ ให้ไปคิด

ในทางโมหะอวิชชา กิเลสตัณหาได้

 เวลาคิดก็จะคิดไปในทางปัญญา

 คิดไปในทางธรรม

คิดว่าเป็นทุกข์ คิดว่าไม่เที่ยง

 คิดว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

ถ้าเราไม่หยุดความคิดก่อน

 เราก็จะไม่มีวันที่จะเจริญก้าวหน้าได้

 พอจะมาเจริญสติเพื่อไม่ให้คิด

ก็ถูกกิเลสมันหลอกว่า

น่าจะเจริญปัญญาจะดีกว่า

 ปัญญานี้มีคุณค่า มีความยิ่งใหญ่กว่าสมาธิ

 แต่ไม่รู้หรอกว่า

การที่จะคิดไปในทางปัญญาได้นั้น

 จำเป็นจะต้องมีสมาธิก่อน

 ผู้ปฏิบัติถึงมักจะหลงทางกัน

พอเจริญสติไปได้สักเพียงเล็กน้อย

 ก็เกิดความคิดว่าอยากจะออกทางปัญญาทันที

พอออกทางปัญญาก็ปล่อยให้ใจคิดปรุงแต่ง

 แล้วในที่สุดก็กลายเป็นความคิดฟุ้งซ่านขึ้นมา

 กลายเป็นความคิดตามอำนาจ

ของโมหะอวิชชาของกิเลสตัณหาขึ้นมา

แล้วในที่สุดก็ทนอยู่กับสภาพที่ห่างไกล

จากลาภยศสรรเสริญ ห่างไกลจากรูปเสียง

กลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้

 ก็จะถูกโมหะอวิชชา

กิเลสตัณหาหลอกให้กลับไป

หาลาภยศสรรเสริญ

 หารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะใหม่

ดังนั้นพยายามระมัดระวัง

อย่าไปตกหลุมพราง

ของโมหะอวิชชากิเลสตัณหา

ที่จะพยายามหลอกล่อไม่ให้เจริญสติ

 เพื่อหยุดความคิดปรุงแต่ง

 เพื่อให้จิตเข้าสู่ความว่าง

 เข้าสู่ความสงบ ที่เป็นความสุขที่แท้จริง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

กัณฑ์ที่ ๔๘๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๗

“ความว่าง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 23 กันยายน 2559
Last Update : 23 กันยายน 2559 10:00:56 น.
Counter : 866 Pageviews.

0 comment
### ความโกรธ ###









“ความโกรธ”

ถาม : ถ้าเราทำไม่เป็น เราโกรธแล้วบริกรรมพุทโธ

พระอาจารย์ : ก็เป็นอุบายของสมาธิ

 แต่ไม่ได้แก้แบบถึงรากถึงโคน

 เพราะความโกรธเกิดจากความหลง

 ต้องแก้ด้วยปัญญา

 เอาความรู้เข้าไปแก้

ถึงจะหายโกรธได้อย่างถาวร

 ถ้าบริกรรมพุทโธๆ

ก็เหมือนเอาหินไปทับความโกรธไว้

 ความโกรธก็แสดงตัวออกมาไม่ได้

 แต่ไม่ได้ถูกทำลายด้วยการบริกรรม

พอหยุดบริกรรมปั๊บ

ก็กลับไปคิดถึงเรื่องนั้นได้อีก

 เกิดความโกรธขึ้นมาได้อีก

 แต่ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องของไตรลักษณ์

 ไม่มีสาระอะไร

 เราไปหลงมันเอง ให้ความสำคัญกับมันเอง

 ทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่มีสาระอะไร

ถ้าเราเห็นอย่างนี้ เห็นว่าไม่มีสาระ

 เป็นเรื่องที่เราไปควบคุมบังคับไม่ได้

 เหมือนกับแดด กับลม กับฝน

ฝนตกเราไม่โกรธฝนไม่ใช่หรือ

 เพราะไปควบคุมบังคับมันไม่ได้

 ยกตัวอย่างเวลาเราพายเรือ

 แล้วมีคนพายเรืออีกลำมาชนเรือเรา

 เราจะโกรธคนที่พายเรือใช่ไหม

 แต่ถ้าเรือลอยมาเฉยๆไม่มีคนพาย

 แล้วก็ชนเหมือนกัน

 เราก็ไม่โกรธเรือลำนั้นใช่ไหม

 เพราะเรือไม่มีตัวตน

 แต่ถ้ามีคนพาย ซึ่งเราเห็นว่ามีตัวมีตน

 เราก็จะโกรธคนนั้น

 แต่เราเห็นว่าเรือไม่มีตัวตน เราก็เลยไม่โกรธ

ถือว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย ไปบังคับควบคุมไม่ได้

สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือใจของเรา

ถ้ามีปัญญาเราก็ควบคุมไม่ให้ไปโกรธได้

 เพราะความโกรธมันร้อน มันเป็นทุกข์

ความไม่โกรธนี้สบาย

 อย่างตอนนี้เราไม่โกรธใจเราสบาย

 ถ้าใครมาพูดหรือมาทำอะไรให้เราโกรธ

 ใจเราจะเกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา

 ถ้าเราไม่มีสมาธิ

เราจะไม่เห็นภัยของความโกรธที่ปรากฏขึ้นมา

แต่ถ้ามีสมาธิจะมีความแตกต่างกันเยอะ

 ใจที่มีสมาธิเหมือนใจอยู่ในห้องแอร์

พอเจอความโกรธก็เหมือนออกมาจากห้องแอร์

 จะสัมผัส จะรู้ชัดทันที

แต่ถ้าอยู่นอกห้องแอร์ตลอดเวลา

 ก็จะไม่รู้ว่าความร้อนเป็นอย่างไร

เพราะร้อนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

 คนที่ไม่มีสมาธิจะไม่เห็นกิเลส

จะไม่รู้ว่ากิเลสเป็นอย่างไร

 เวลาเกิดขึ้นก็หลงไปกับเรื่องราวที่ทำให้โกรธ

แทนที่จะเห็นตัวโกรธ กลับไปเห็นเรื่องรา

หรือบุคคลที่สร้างความโกรธ เห็นคนนั้นคนนี้

เห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ไม่เห็นความโกรธ

ที่ผลักดันให้เราไปวุ่นวาย กับเรื่องนั้นกับเรื่องนี้

 กับคนนั้นกับคนนี้

แต่ถ้าเรามีสมาธิ มีความสงบเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

 พอเกิดความโกรธขึ้นมา

 มันจะเป็นเหมือนไฟลุกขึ้นมาในใจทันที

เราก็รีบแก้รีบดับ แทนที่จะไปหลงกับเหตุการณ์

หรือคนที่ทำให้เราโกรธ

 เราก็ย้อนกลับมาระงับดับตรงนี้

ด้วยการปล่อยวางเหตุการณ์นั้น

ยอมจำนนกับเหตุการณ์นั้น

ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป

มันผ่านไปแล้ว เราจะเสียอะไรก็เสียไปแล้ว

 ไม่ต้องไปเสียใจ เสียของก็พอแล้ว

ไม่ต้องเสียใจ

คนมีปัญญาจะเสียอย่างเดียว เสียของ

 ถ้าไม่มีปัญญาก็จะเสียใจด้วย

 เพราะคนที่มีปัญญาจะเตรียมตัว

รับกับการสูญเสียอยู่เสมอ

 ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราไปตลอด

 เดี๋ยวเครื่องอัดเสียงนี่ก็เสียได้ พังได้

ถูกขโมยไปได้ ลืมทิ้งไว้ที่ไหน คนอื่นก็หยิบไปได้

พอหายไปปั๊บถ้ามีปัญญาก็จะรู้ว่า อ๊ะ!มันไปแล้ว

 ใจก็ไม่วูบ ไม่เสียใจ

 แต่ถ้าไม่มีปัญญา พออะไรหายไป

ใจจะวูบขึ้นมาทันทีเลย เสียดาย วุ่นวายใจ

 พยายามตามหา แทนที่จะคิดว่า

เอาไปแล้วก็หมดภาระกันไป

ต่อไปจะได้ไม่ต้องไปมีมัน

 ไม่มีเราก็อยู่ได้ ใช่ไหม

สมัยก่อนพระพุทธเจ้าไม่มีของพวกนี้

ยังตรัสรู้ได้เลย

ของพวกนี้จำเป็นต่อการตรัสรู้มากน้อยเพียงไร

 ไม่จำเป็นหรอก เพียงแต่ว่า

เมื่อมีเราก็ใช้ให้เป็นประโยชน์

 แต่ถ้าไม่มีเราก็สามารถบำเพ็ญ เจริญธรรมได้

แต่ใจของเรามักจะหลอกเราอยู่เรื่อยๆ

 มีไอ้นั่นดีนะ มีไอ้นี่ดีนะ

 โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่มีตามมา

 คือความกังวลใจ ความวุ่นวายใจ

เวลามีอะไรก็ต้องคอยดูแลรักษา

 เวลาหายไปเสียไปก็เสียใจ

 ถ้าไม่มีเลยก็สบายใจ

 ไม่ต้องเป็นภาระกับจิตใจ

เพราะใจยิ่งปลดเปลื้องได้มากเท่าไร

 ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

ยิ่งเบาขึ้น ยิ่งสบายขึ้น ยิ่งมีมากก็ยิ่งแบกมาก

 แต่เราไม่เห็นกัน

เพราะใจเราไม่เคยปลดเปลื้องด้วยสมาธิมาก่อน

 ถ้าจิตเรารวมลงเป็นอัปปนาสมาธิ

รวมลงแบบสุดๆจนถึงฐานของมัน

จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย

จะมีความรู้สึกเบาหวิว โล่งไปหมด

 มีความอิ่ม มีความสุข มีความพออยู่ในใจ

 แล้วจะรู้ว่านี่คือจุดที่เราต้องการที่จะไป

 อยากจะรักษาให้เป็นอย่างนี้ไปตลอด

 เพียงแต่ว่ามันอยู่ได้ไม่นานจากการทำสมาธิ

 แต่จะอยู่ได้นานด้วยปัญญา

ที่คอยหักห้ามใจไม่ให้ไปแสวงหาสิ่งต่างๆมาแบก

 มาเป็นสมบัติ ยิ่งมีสมบัติน้อยเท่าไร

 ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น

ถ้ามีมากๆ มี ๗๓,๐๐๐ ล้าน มีความสุขที่ไหน

 แต่เรื่องของกิเลสหนักเท่าไรก็ยอมแบก

 เพราะมันหลง เขาเรียกพวกบ้าหอบฟาง

มันมีสาระมีคุณค่าที่ไหน แต่ขอให้ได้แบก

 เงินทองถ้ามีเกินความจำเป็นแล้ว

ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับเรา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

กัณฑ์ที่ ๒๓๓ วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๙

(จุลธรรมนำใจ ๓)

“แสงสว่างแห่งธรรม”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 22 กันยายน 2559
Last Update : 22 กันยายน 2559 10:52:25 น.
Counter : 533 Pageviews.

0 comment
### ปรมัง สุขัง ###











“ปรมัง สุขัง”

ปรมัง สุขัง จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมี

 ปรมัง สุญญัง ปรมัง สุญญัง

ก็คือใจต้องว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง

ว่างจากลาภยศสรรเสริญ

 ไม่คิดถึงเรื่องการหาลาภยศสรรเสริญ

ไม่คิดถึงการดูแลรักษา ห่วงใยลาภยศสรรเสริญ

 ไม่คิดถึงการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ไม่คิดไปในทางความโลภความโกรธความหลง

ไม่คิดไปในทางกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าปรมัง สุญญัง

 คำว่า ปรมัง สุญญัง นี้ไม่ได้หมายความว่า

อันตรธานหายไป อะไรอันตรธานหายไป

 จิตเป็นสิ่งที่ไม่มีวันที่จะหายไปได้

จิตเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา

 ไม่ว่าจะปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรม

จิตก็มีอยู่เหมือนเดิม

 แต่ถ้าปฏิบัติก็จะเป็นจิตที่ว่าง

จากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อจิตใจ

ถ้าไม่ปฏิบัติจิตก็จะไม่ว่าง

จากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อจิตใจ

 ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความอยากต่างๆ ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส

 ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีไม่เป็น

 แล้วก็เข้าไปหาลาภยศสรรเสริญ

ไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

พอไปยุ่งกับสิ่งที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 ผลก็คือทุกขังก็จะเกิดขึ้นมา

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกขังนั่นเอง

 ไม่ว่าลาภยศสรรเสริญ

ไม่ว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 ความโลภความโกรธความหลงก็เป็นความทุกข์

 เวลาโลภแล้วใจมันสุขหรือทุกข์กันแน่

เวลาโกรธแล้วใจมันสุขหรือมันทุกข์กันแน่

เวลาหลงแล้วใจสุขหรือใจทุกข์

 เวลาอยากแล้วใจสุขหรือใจทุกข์ ลองพิจารณาดู

นี่แหละคือความว่างที่พวกเราต้องการกัน

ก็คือว่างจากลาภยศสรรเสริญ

ว่างจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

จะว่างได้ก็ต้องไปปลีกวิเวก

ไปอยู่ห่างไกลจากกองเงินกองทอง

ห่างไกลจากตำแหน่งฐานะต่างๆ

เวลาไปบวชนี้ท่านบอกให้โยนทิ้งไปหมด

ตำแหน่งอธิบดี นายกรัฐมนตรี มหาเศรษฐี

 มหากษัตริย์นี้

พระพุทธเจ้าบอกให้โยนทิ้งไปหมด

ผู้ที่บวชนี้เป็นผู้ที่มีฐานะเท่ากันหมด

เป็นนักบวชเป็นพี่เป็นน้องเท่านั้น

 ต่างกันที่อาวุโสภันเตเท่านั้นเอง

ผู้บวชก่อนก็เป็นอาวุโส ผู้บวชหลังก็เป็นภันเต

 หรือสลับกันก็ไม่รู้ ภันเตนี้เป็นผู้อาวุโส

 อาวุโสนี้กลับไม่ใช่เป็นผู้อาวุโส

ภาษาบาลีกับภาษาไทยเราจะใช้ตรงกันข้ามกัน

 เวลาพระกล่าวคำกับผู้ใหญ่ท่านจะพูดว่าภันเต

 เวลาพระผู้ใหญ่พูดกับพระผู้น้อย

ท่านจะเรียกพระผู้น้อยว่าอาวุโส

 เวลาแสดงอาบัตินี่อาวุโสหรือภันเต อามะ ภันเต

 เวลาที่ญาติโยมขอศีลแล้วพระให้ศีล

 ญาติโยมก็ว่าอามะ ภันเต

คำว่าภันเตนี้แปลว่าท่านผู้ใหญ่

อาวุโสแปลว่าท่านผู้น้อย

แต่ภาษาไทยเรามาสลับกัน

เรามาเรียกผู้น้อยว่าเป็นผู้อาวุโส

อันนี้เวลาพูดไปก็เลยงง แต่คือโดยสรุปก็คือ

ผู้มาบวชนี้ไม่มีฐานะทางโลกแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นมหากษัตริย์เป็นอะไร

 อย่างสมัยที่พระญาติของพระพุทธเจ้า

คือเจ้าชาย ๕ รูปด้วยกัน ๕ พระองค์ด้วยกัน

 มีความปรารถนาที่อยากจะบวช

 แล้วก็มีผู้รับใช้ที่เป็นช่างตัดผม

 ชื่ออุบาลีขอบวชตามด้วย

 เวลาที่จะบวชเจ้าชายทั้ง ๕ รูปก็เลยปรึกษากันว่า

 น่าจะให้อุบาลีเป็นผู้บวชก่อน

 เพื่อที่เวลาเขาบวชแล้วเขาจะได้เป็นภันเต

 แล้วพวกเราจะต้องกราบอุบาลี

นี่แหละคือการบวชที่แท้จริง

 บวชเพื่อละอัตตาตัวตน

ละลาภยศสรรเสริญสุขจริงๆ ต้องบวชแบบนี้

อุบาลีก็เลยต้องบวชก่อน แล้วพวกเจ้าชาย

 พระอานนท์ พระอนุรุทธะ พระเทวทัตที่เป็นเจ้าชาย

ที่บวชพร้อมกัน ๕ รูปด้วยกัน

พอบวชเสร็จแล้วเวลาเจอพระอุบาลี

ก็ต้องกราบพระอุบาลีก่อน

 เพราะพระอุบาลีท่านบวชก่อน ท่านเป็นภันเต

ผู้บวชหลัง ถึงแม้ว่าจะห่างกันเพียง ๑ นาที

 ก็ถือว่าต่างกันแล้ว เวลาพระเจอกันนี้

ท่านจะต้องสอบถามกันก่อน ว่าใครเกิดก่อนใคร

 ใครบวชก่อนใคร จะได้รู้ว่าใครควรจะกราบใคร

 ไม่มีความเกรงใจกัน เอาธรรมะเป็นหลัก

ถ้าเกรงใจกัน บางทีก็เขาอายุมากกว่าเรา

เขามีฐานะเดิมดีกว่าเรา

 ถึงแม้เราจะบวชก่อนเขาเราก็เกรงใจเขา

ไม่อยากจะให้เขากราบเรา

 เขาก็ไม่อยากจะกราบเรา

เพราะเขาก็ยังติดอยู่กับฐานะเดิมของเขาอยู่

ฉันเป็นอธิบดี เธอเป็นซี ๓ ซี ๔

จะมาให้ฉันกราบเธอได้อย่างไร

 อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้บวช

ตามที่พระพุทธเจ้าสอนให้บวช

 คือให้พวกเราสละลาภยศสรรเสริญ

 สละรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะออกไปให้หมด

อย่าให้มีสิ่งเหล่านี้มาเกี่ยวข้องกับจิตใจ

เพราะมันเป็นโทษกับจิตใจ

เป็นพิษเป็นภัยกับจิตใจ

 มันจะทำให้จิตใจทุกข์ว้าวุ่นขุ่นมัว

แล้วก็ต้องมากำจัดกิเลสตัณหา

 ความโลภความโกรธความหลง กำจัดความอยาก

คือกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา

 ให้หมดไปจากจิตจากใจ ถ้าสามารถทำได้แล้ว

 ใจก็จะว่างแต่ไม่ได้สูญหายไปไหน

 ใจของผู้ที่บรรลุพระนิพพาน

กับของผู้ที่ไม่บรรลุพระนิพพาน ก็ยังมีอยู่เท่ากัน

 อย่าไปคิดว่าพอบรรลุพระนิพพานปั๊บหายไปเลย

กลายเป็นมนุษย์ล่องหนไปเลย ไม่ใช่ ยังมีอยู่

จิตความจริงก็เป็นมนุษย์ล่องหนอยู่แล้ว

 ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ไม่เหมือนกับร่างกาย ร่างกายนี้มีรูปมีร่าง

 แต่สิ่งที่มีรูปมีร่างนี้มีปัญหา

เพราะมันจะต้องเสื่อมมันจะต้องหมด

แต่สิ่งที่ไม่มีรูปไม่มีร่างนี้

มันไม่มีวันเสื่อมไม่มีวันหมด

 เช่นความว่างที่อยู่รอบตัวเรานี้

 มันมีอยู่มาตลอดเวลา

 มันไม่มีวันหายไปไหน

 เรามาทีไรเราก็เจอมันทุกทีใช่ไหม

มาที่ศาลานี้เจอความว่างไหม

ความว่างที่อยู่รอบตัวเรานี้

 ที่ตรงไหนว่างก็ตรงนั้นก็เป็นความว่างแล้ว

มันมีอยู่ตลอดเวลาความว่าง

 แต่สิ่งที่ไม่ว่างนี่แหละเป็นสิ่งที่เกิดแล้วดับ

เช่นร่างกายนี้ ลาภยศสรรเสริญ

มันก็ไม่เป็นความว่าง

มันเกิดแล้วมันก็ต้องดับไป

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกัน

มันเกิดแล้วเดี๋ยวมันก็ต้องดับไป

ถ้าเราไปตั้งความสุขของเราไว้กับสิ่งเหล่านี้

เวลามันดับไปมันหายไป

 ความสุขที่เราตั้งไว้มันก็หายไปด้วย

 พอไม่มีความสุข เราก็เลยต้องอยู่กับความทุกข์ไป

ดังนั้นเราอย่าไปตั้งความสุขไว้กับสิ่งที่มันจะต้องหาย

ให้ตั้งความสุขไว้กับสิ่งที่ไม่มีวันหาย

 สิ่งที่ไม่มีวันหายก็คือความว่าง

 อยู่ได้จิตไม่มีลาภยศสรรเสริญ

ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อยู่ได้

อยู่มีความสุขยิ่งกว่าจิตที่อยู่กับลาภยศสรรเสริญ

 อยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 นั่นแหละจิตพระอรหันต์กับจิตพวกเราเป็นอย่างนี้

 จิตของพระอรหันต์จิตของพระพุทธเจ้า

ท่านอยู่กับความว่าง แต่จิตของพวกเรานี้

อยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

อยู่กับลาภยศสรรเสริญ

พอสิ่งเหล่านี้เสื่อมไปเป็นยังไง

 วุ่นวายกันไปหมด จะเป็นจะตายกันให้ได้

เหมือนกับขาดลมหายใจ

นี่แหละคือความหลง

มันหลอกให้เราไปยึดไปติดกับกองทุกข์

แทนที่จะให้เราไปยึดไปติดอยู่กับกองสุข

มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว

 ที่สามารถรู้ทันความหลง

แล้วก็ไม่ทำตามความหลง

 แทนที่จะตั้งความสุขให้อยู่บนลาภยศสรรเสริญ

อยู่บนรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 พระองค์ก็ไปตั้งความสุขอยู่กับความว่าง

เสด็จออกจากพระราชวัง ไปอยู่ตามโคนไม้

 ไปอยู่ตามเรือนร้าง ไปอยู่ตามป่าช้า

 ไปอยู่ตามเงื้อมผาตามถ้ำ

นั่นแหละคือที่ตั้งของความสุขที่แท้จริง

 แล้วก็บำเพ็ญจิตตภาวนาเจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 เพื่อทำใจให้เข้าสู่ความว่างอีกชั้นหนึ่ง

 คือความว่างภายใน ได้ความว่างภายนอกแล้ว

ก็ต้องทำใจให้ว่างต่อไป

ก่อนที่จะทำใจให้ว่างได้ต้องทำกายให้ว่างก่อน

เพราะถ้ากายไม่ว่างไม่มีวันที่จะทำใจให้ว่างได้

ถ้ายังอยู่บนกองของลาภยศสรรเสริญ

ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่

 ไม่มีวันที่จะทำใจให้สงบได้

คนที่ต้องออกบวชกันที่ต้องไปปลีกวิเวกกัน

 ก็เพราะด้วยสาเหตุนี้เอง

ถ้าสามารถทำใจให้สงบเข้าสู่ความว่างได้

บนท่ามกลางลาภยศสรรเสริฐ

 รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ก็ไม่ต้องมาวัดให้เสียเวลา อยู่บ้านจัดงานเลี้ยง

กินเลี้ยงกันเสร็จแล้ว

ก็นั่งสมาธิเข้าสู่ความว่างกันไปเลย

 มันทำไม่ได้ มันคนละเรื่องกัน

ต้องมาอยู่ปลีกวิเวก อยู่ในวัดก็ไม่มีอะไร

 กุฏิก็มีแต่ฝามีแต่หลังคาไว้หลบแดดหลบฝนเท่านั้น

ไม่มีตู้เย็นไม่มีทีวีไม่มีอะไรให้ดู

 ให้ฟังให้ดื่มให้รับประทาน

 นั่นแหละคือความว่างทางกายภาพ เรียกว่ากายวิเวก

พอได้กายวิเวกแล้วทีนี้ ก็จะเจริญสติได้ง่าย

 ไม่มีอะไรมารบกวน มาทำลายสติทำลายสมาธิ

 พอสามารถเจริญสติได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง

 ไม่เผลอไม่ลืม จิตก็จะเข้าสู่ความว่างภายในต่อไป

เข้าสู่ความสงบที่เป็นความสุข

ที่ยิ่งใหญ่กว่า ความสุขทั้งหลาย

 พอได้ความสุขที่ยิ่งใหญ่นี้แล้ว

ก็รักษามันต่อไป เวลาออกจากสมาธิมา

 ก็ใช้ปัญญาป้องกันคอยรักษาความว่างไว้

ไม่ให้โจรผู้ร้ายมาฉกชิงเอาไป

 โจรผู้ร้ายที่จะมาฉกชิงความว่างความสงบนี้คือใคร

 ก็คือกิเลสตัณหานี่เอง

ความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ

พอมันโผล่ขึ้นมาปั๊บ

ปัญญาต้องชักดาบขึ้นมาฟันทันที

 ฟันด้วยอนิจจังทุกขังอนัตตา

มันอยากจะดื่มก็ต้องบอกว่ามันเป็นความทุกข์

ไม่ใช่เป็นความสุข สุขชั่วคราว สุขเดี๋ยวเดียว

พอไม่ได้ดื่มก็ทุกข์แล้ว อย่าไปดื่ม

อยู่กับความว่างดีกว่าอยู่กับความสงบดีกว่า

เพราะถ้าไปดื่มแล้วมันจะติด

 พอติดแล้วพอเวลามันไม่ได้ดื่มแล้วมันจะทุกข์

ต้องใช้ปัญญาแก้กันอย่างนี้

ปัญญาก็เป็นเหมือนผู้มาอารักขาความว่างนี้

 ความว่างของใจที่ได้จากการเจริญสติ

ที่ได้จากการนั่งสมาธิ พอออกจากสมาธิแล้ว

ก็ต้องใช้ปัญญาคอยรักษา

เวลาเกิดความโลภก็ต้องตัดมันทันที

 เกิดความโกรธก็ต้องตัดมันทันที

เกิดความหลงก็ต้องตัด เกิดความอยากก็ต้องตัด

ด้วยไตรลักษณ์ พอมีไตรลักษณ์มีอสุภะแล้ว

 ข้าศึกศัตรูที่จะมาทำลายความว่างความสงบของใจ

 ก็จะไม่สามารถเข้ามาทำลายได้ ใจก็จะสงบไปตลอด

พอสงบไปตลอดเราก็เลยเรียกว่า ปรมัง สุขัง

ว่างไปตลอดก็เรียกว่า ปรมัง สุญญัง

 นี่แหละคือเรื่องราวของพวกเราที่มากันวันนี้

 เรามาหาความว่างกัน

 เพราะความว่างเป็นความสุขที่แท้จริงนั่นเอง

 นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง

ไม่ใช่เป็นของที่สุดเอื้อมของพวกเรา

ถ้าสุดเอื้อมแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เสียเวลามาสอน

ให้เสียเวลาไปเปล่าๆ

 เพราะว่ามันอยู่ในความสามารถของพวกเราทุกคน

ที่จะหยิบมาเป็นสมบัติของเราได้

 และมีผู้ที่หยิบมาเป็นสมบัติแล้วหลายท่านด้วยกัน

นับจำนวนไม่ถ้วน นับตั้งแต่วันแรก

ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศ พระธรรมคำสอน

มาจนถึงปัจจุบันนี้ มีผู้ที่สามารถไขว่คว้า

เอาความว่างเอาปรมัง สุญญัง

เอาปรมัง สุขังนี้มาเป็นสมบัติของตนได้เป็นจำนวนมาก

 พวกเราก็เป็นผู้ที่กำลังไขว่คว้ากันอยู่

ขอให้พวกเราพยายามทำกันให้สุดกำลังเถิด

 แล้วผลต่างๆที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้รับ

ก็จะเป็นผลที่พวกเราจะได้รับกันต่อไป

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

กัณฑ์ที่ ๔๘๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๗

“ความว่าง”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 22 กันยายน 2559
Last Update : 22 กันยายน 2559 10:38:06 น.
Counter : 781 Pageviews.

0 comment
### การศึกษาและเจริญมรรค ๘ ###









“การศึกษาและเจริญมรรค ๘”

ขอให้เราทุ่มเทชีวิตจิตใจของเรา

ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์นี้มาศึกษาและมาปฏิบัติ

มาสร้างมรรค ๘ กัน

เพราะถ้าไม่ได้เป็นมนุษย์นี้จะไม่มีความสามารถ

ที่จะสร้างมรรค ๘ นี้ขึ้นมาได้

ถ้าเป็นเดรัจฉานก็จะไม่เข้าใจภาษาของมนุษย์

ไม่เข้าใจภาษาคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ถึงแม้จะมีพระพุทธศาสนาแต่ก็จะไม่มีความสามารถ

 ที่จะเข้าถึงพระธรรมคำสอนได้

 ต้องเป็นมนุษย์ที่สามารถที่จะศึกษา

มีความเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนาได้

 พวกเราเป็นมนุษย์แล้วพวกเราก็ได้มีโอกาส

ที่ได้มาสัมผัสรับรู้กับคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว

 เราจึงไม่ควรที่จะปล่อยโอกาสอันดีนี้ให้หลุดมือไป

ควรจะตักตวงโอกาสนี้ให้ได้อย่างเต็มที่

ด้วยการทุ่มเท ชีวิตจิตใจของพวกเรา

ให้กับการศึกษามรรค ๘ ให้กับการปฏิบัติมรรค ๘

 เพราะผลที่เราจะได้รับนี้ก็คือ บ้านที่ถาวร

เราไม่ต้องไปย้ายบ้านอยู่เรื่อยๆ

 เหมือนอย่างที่เรากำลังทำกันอยู่ในขณะนี้

ถ้าเรายังไม่สามารถ สร้างบ้านที่ถาวรได้

 หลังจากที่ร่างกายนี้ตายไปแล้ว

เราก็ต้องไปหาร่างกายใหม่

 ไปสร้างร่างกายใหม่ต่อ

 แล้วก็พอร่างกายแก่ เจ็บ ตายไป

ก็ต้องไปสร้างร่างกายใหม่อยู่เรื่อยๆ

ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญต่อการสร้างมรรค ๘

ถ้าเราทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการสร้างมรรค ๘

 ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ ในขณะนี้

เราจะสามารถสร้างบ้านที่ถาวร ให้เสร็จได้

ในเวลาอันไม่นานจนเกินไป

 คือสามารถสร้างบ้านที่ถาวรได้ในภพนี้ชาตินี้เลย

 เพราะมีผู้ที่สามารถทำกันได้มาแล้วมีเป็นจำนวนมาก

นั่นก็คือพระอรหันตสาวกทั้งหลายนั่นเอง

 ท่านเหล่านี้พอได้ยินได้ฟังได้ศึกษามรรค ๘

ก็น้อมนำเอาไปปฏิบัติกัน

สร้างมรรค ๘ กันอย่างขะมักเขม้น

ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการสร้างมรรค ๘

 ท่านจึงสามารถสร้างบ้านที่ถาวร

คือพระนิพพานได้ภายในชาตินี้

พวกเราก็สามารถที่จะสร้างมรรค ๘ นี้

 สร้างบ้านที่ถาวรนี้ได้เช่นเดียวกัน

 เพราะท่านเหล่านั้นกับเรา ก็ไม่มีความแตกต่างกัน

 ท่านก็เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา

ตอนที่ยังไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา

 พอได้พบกับพระพุทธศาสนาแล้วก็มีศรัทธาความเชื่อ

มีความเลื่อมใส ที่จะปฏิบัติตาม

 พอปฏิบัติตามแล้ว ผลก็คือบ้านที่ถาวร

คือพระนิพพานก็จะปรากฏขึ้นมา

พวกเราก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีศรัทธามีความเลื่อมใส

ในการที่จะปฏิบัติการสร้างมรรค ๘ ขึ้นมา

เราก็จะสามารถ ได้บ้านถาวรคือพระนิพพานได้

ในชาตินี้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นเราจึงต้องมาสร้างมรรค ๘ กัน

 มรรคข้อที่ ๑. สัมมาทิฏฐิ

 ความเห็นชอบความเห็นที่ถูกต้อง

 ก็คือเห็นตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 ทรงรู้ทรงเห็นนั่นเอง

 เรายังมีความเห็นที่ไม่ถูกต้อง

 เรายังไม่รู้สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น

 เราจึงต้องน้อมเอาคำสอน ของพระพุทธเจ้า

มาสอนเราเพื่อให้เราจะได้มีความเห็น

เช่นเดียวกันกับพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้ให้เราเห็น

ก็บาปมีจริงบุญมีจริง ผลของบาปคือนรกก็คือจริง

 ผลของบุญคือสวรรค์ก็มีจริง

 ตายแล้วต้องไปเกิดใหม่ก็เป็นความจริง

 การเวียนว่ายตายนี้เกิดเป็นความจริง

 และการยุติการสิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิด

ก็เป็นความจริงเหมือนกัน

 นี่สิ่งแรกที่เราต้องมีความเห็น ในแนวนี้ให้ได้

 ถ้าเรายังไม่เห็นเอง

เราก็ต้องเชื่อความเห็นของผู้ที่เห็นแล้ว

 เช่นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า

ทำบาปแล้วจะต้องไปนรก เราก็ต้องเชื่อ

ทำบุญแล้วจะได้ไปสวรรค์เราก็จะต้องเชื่อ

ตายแล้วก็ไปเกิดใหม่ เราก็ต้องเชื่อ

 ถ้าอยากที่จะไม่ไปเกิดใหม่หลังจากที่ตายแล้ว

 ก็ต้องสร้างมรรค ๘ ขึ้นมาให้ได้

 เพราะถ้ามีมรรค ๘ แล้วก็จะสามารถหยุด

การเวียนว่ายตายเกิดได้ ไปถึงพระนิพพานได้

นี่คือสัมมาทิฏฐิที่เราจะต้องสร้างขึ้นมาในใจ

ในเบื้องต้นก็ต้องสร้างด้วยการอาศัยศรัทธาความเชื่อ

 พวกเราตอนนี้เป็นเหมือนคนที่ปิดตาอยู่

มีผ้ามัดปิดตาพวกเราอยู่ทำให้เรา

ไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ

เหมือนคนที่ไม่มีผ้าปิดตาเห็นได้

พระพุทธเจ้าเป็นเหมือนคนที่ถอดผ้าปิดตาออกแล้ว

 ลืมตาขึ้นมา สาสามารถเห็นสิ่งต่างๆ

 รอบตัวของพระพุทธเจ้าได้

พวกเรานี้ยังไม่ได้เอาผ้าปิดตาออก

เราจึงมองไม่เห็นสิ่งต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น

เราจึงต้องอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทาง

คือต้องเชื่อพระพุทธเจ้า

 พระพุทธเจ้าทรงห้าม ไม่ให้ทำบาป

ทรงให้ทำบุญทรงให้กำจัดความอยากต่างๆ

ที่เป็นต้นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิด

เราก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า

 นี่คือการสร้างสัมมาทิฏฐิขึ้นมา

 สร้างด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม

ศึกษาธรรมะคำสอน ของพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ

แล้วคำสอนเหล่านี้ก็จะค่อยๆฝังตัว

เข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของเราแล้วต่อมา

 เราก็จะได้มีสัมมาสังกัปโปคือมรรค ขั้นที่ ๒

คือความคิดที่ถูกต้อง ถ้าเรามีความเห็นที่ถูกต้อง

ว่าบาปมีจริง บุญมีจริง นรกสวรรค์มีจริง

การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง

การยุติของการเวียนว่ายตายเกิดมีจริง

เราก็จะคิดไปในทางการไม่ทำบาป

 เพราะเราไม่อยากจะไปนรกกัน

 เราก็จะคิดที่จะทำบุญ เราก็จะไปสวรรค์

เพราะเราอยากจะไปสวรรค์กัน

ไม่มีใครอยากจะไปนรกกัน

แล้วเราก็จะหยุดความอยากด้วยการปฏิบัติมรรค ๘

เพราะถ้าเรามีมรรค ๘ เราก็จะมีเครื่องมือ

ที่จะหยุดความอยาก พอเราหยุดความอยากได้

เราก็จะไม่ต้องไป เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

 นี่คือสัมมาสังกัปโปความคิดที่ถูกต้อง

ขอให้เราคิดแบบนี้

 คิดทำบุญ คิดละบาป คิดกำจัดความอยากต่างๆ

 ด้วยการเจริญมรรค ๘ เจริญสัมมาทิฏฐิ

 สัมมาสังกัปโป สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา

 สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

 พอเรามีสัมมาสังกัปโป ความคิดที่ถูกต้องแล้ว

 เราก็จะสั่งให้ร่างกายกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ก็คือเราจะมีสัมมากัมมันโต คือจะไม่ฆ่าสัตว์

 จะไม่ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี

นี่คือองค์ประกอบของสัมมากัมมันโต

คือจะละจากการกระทำบาปทางกาย

 แล้วก็จะละการกระทำบาปทางวาจา

ก็คือจะละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ

พูดเพ้อเจ้อพูดส่อเสียดพูดคำหยาบ

 นี่เรียกว่าสัมมาวาจา การพูดที่ถูกต้อง

 สัมมากัมมันโต การกระทำที่ถูกต้อง

ก็คือการไม่ฆ่าไม่ลักทรัพย์

ไม่ประพฤติผิดประเวณี

เรียกว่าสัมมากัมมันโต

ถ้าเรามีสัมมาสังกัปโปความคิดที่ถูกต้อง

เราก็จะคิดไปในทางนี้ คิดไปในการไม่ทำบาป

คิดในการไม่พูดบาป

แล้วเราก็จะคิดไปในทาง

ที่จะทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต

 ที่เรียกว่าสัมมาชีพ สัมมาชีพก็คือ

อาชีพที่ไม่เกี่ยวกับการฆ่า

 ไม่เกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้า

ที่จะเอาไปใช้ ในการฆ่าผู้อื่น

 ทำร้ายผู้อื่น เช่นศาสตราวุธทั้งหลาย

 ยาพิษทั้งหลาย จะไม่ทำมาหากิน

บนความทุกข์ของผู้อื่น

 ไม่เอาเขามาฆ่า เช่นฆ่าเป็ดฆ่าไก่ ฆ่าวัว ฆ่าควาย

 อาชีพเหล่านี้จะไม่กระทำสำหรับผู้มีสัมมาทิฏฐิ

 สัมมาสังกัปโป จะละเว้นอาชีพ

ที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตของผู้อื่น

อาชีพที่ไม่ไปทำลายไม่ไปสร้างความทุกข์

สร้างความเดือดร้อนของผู้อื่นก็มีอยู่เยอะแยะ

ที่เราสามารถทำได้ เช่นอาชีพรักษาพยาบาล

อาชีพครูสั่งสอน

อาชีพการเงินการทองการธนาคาร

การค้าขายอะไรต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับชีวิต

หรือความเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้อื่น

ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่ถูกต้อง

 สัมมาชีพ แล้วก็มีสัมมาวายาโม

 คือจะมีความขยันหมั่นเพียรในการทำบุญ

ขยันหมั่นเพียรในการละการกระทำบาป

ขยันหมั่นเพียรในการตัดความอยากต่างๆ

 ให้หมดไปจากใจด้วยการเจริญสัมมาสติ

เพราะว่าสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วย

ให้สามารถทำลายความอยากต่างๆ

ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดไปได้

สัมมาสติก็คือการให้มีสติอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

เพียงเรื่องเดียว เพื่อระงับความคิดปรุงเเต่งต่างๆ

 เพื่อระงับการลอยไปลอยมาของใจ

 ให้ใจนี้เป็นสัมมาสมาธิก็คือให้ตั้งอยู่ในปัจจุบัน

 ถ้าใจยังไปอดีตไปอนาคตอยู่ ใจจะไม่ตั้งมั่น

จะไม่เป็นสมาธิใจ ใจจะลอยไปลอยมา

เพราะไม่มีสติคอยดึงเอาไว้

 เราจึงต้องใช้สติคอยดึงใจ

 ให้อยู่กับเรื่องเดียว เช่นให้อยู่กับพุทโธๆ ไป

หรือให้อยู่กับการเฝ้าดูร่างกาย

ดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย

 ไม่ว่าร่างกายกำลังทำอะไร

ใจก็ให้อยู่กับการเคลื่อนไหว

การกระทำของร่างกายเพียงอย่างเดียว

 ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องอื่น

ในขณะที่ร่างกายกำลังเคลื่อนไหวกำลังทำอะไรอยู่

 เช่นกำลังเดินก็ให้อยู่กับการเดิน

ให้อยู่กับการก้าวเท้าซ้ายเท้าขวาไป

เวลาเดินก้าวเท้าซ้ายก็บริกรรมซ้ายไป

เวลาก้าวเท้าขวาก็บริกรรมขวาไป ซ้ายขวาๆไป

 เพื่อที่จะได้ดึงใจเอาไว้ไม่ให้ไปคิดถึง

เรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

หรือเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต

เพื่อใจจะได้อยู่ในปัจจุบัน

เพราะถ้าใจตั้งอยู่ในปัจจุบัน

ก็ถือว่ามีสัมมาสมาธิใจจะสงบ

ใจจะสงบได้ ใจต้องอยู่ในปัจจุบัน

ใจจะสงบได้ร่างกายกับวาจาก็ต้องสงบด้วย

คือต้องนั่งเฉยๆ นั่งหลับตาแล้ว

ก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์

หรือจะบริกรรมพุทโธเป็นอารมณ์ก็ได้

ถ้าสามารถเกาะติดอยู่กับอารมณ์ ที่ได้กำหนดไว้

ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้

ถ้าใจไม่ไปคิดถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีต

 ไม่ไปคิดถึงเรื่องที่ยัง ไม่เกิดขึ้นในอนาคต

 ใจอยู่กับลมหายใจเข้าออก

หรืออยู่กับการบริกรรมพุทโธๆ เพียงอย่างเดียว

 ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้

เข้าสู่ความว่าง เข้าสู่อุเบกขาได้

ถ้าเข้าสู่ความสงบเข้าสู่ความว่างเข้าสู่อุเบกขา

 สักแต่ว่ารู้ได้ก็เรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิ

 นี่เรียกว่าเป็นการเจริญมรรครอบแรก

พอมีสัมมาสมาธิแล้ว

ทีนี้ก็สามารถที่จะสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นได้

เพราะผู้ที่มีสมาธิแล้วจะเห็นบุญเห็นบาป

จะเห็นนรกเห็นสวรรค์ด้วยตนเอง

 โดยที่ไม่ต้องอาศัยพระพุทธเจ้า เป็นผู้คอยบอก

 ตอนต้นตอนที่เรา ยังไม่มีสัมมาสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ

เราจะมองไม่เห็นเพราะเหมือนกับว่า

 เรามีผ้าปิดตาเราอยู่แต่พอเรา ได้เจริญสัมมาสติ

ได้เจริญสัมมาสมาธิแล้ว

 ใจของเราก็จะเปิดกว้างขึ้นมา

สักแต่ว่ารู้ขึ้นมา รู้การเคลื่อนไหว การกระทำของใจ

รู้ว่ากระทำแบบนี้แล้วทำให้ใจร้อนเป็นไฟขึ้นมา

 รู้ว่าการกระทำแบบนี้แล้วทำให้ใจเย็นสบาย

 นี่ก็คือรู้บุญรู้บาปรู้นรกรู้สวรรค์ รู้ที่ใจนี่เอง

 รู้ที่ใจที่มีสัมมาสมาธิ

พอรู้อย่างนี้แล้วก็จะไม่มีสัมมาทิฏฐิ

 คือทีนี้เป็นความเห็นที่ถูกต้องของตนเอง

 ไม่ได้เป็นความเห็น ที่เชื่อจากพระพุทธเจ้ามา

 ตอนแรกตอนที่ยังไม่มีสัมมาสติ

ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม

ยังไม่มีสัมมาสมาธิ เวลาพระพุทธเจ้าสอน

สวรรค์มีจริง นรกมีจริง บาปมีจริง บุญมีจริง

 ก็ได้แต่เชื่อแต่ยังไม่รู้จริงว่านรกเป็นอย่างไร

 สวรรค์เป็นอย่างไร บาปเป็นอย่างไร บุญเป็นอย่างไร

 แต่พอจิตได้สัมมาสมาธิแล้วจิตก็จะเห็นขึ้นมาทันที

 เวลาจิตคิดไปในการทำบาป ใจก็จะร้อนขึ้นมาทันที

 เวลาจิตคิดไปในทางทำบุญ จิตก็จะเย็นขึ้นมาทันที

 ก็จะรู้เลยทันทีว่า อ๋อ..นี่คือบุญ นี่คือบาป

 นี่คือนรก นี่คือสวรรค์ อันนี้เรียกว่ามีดวงตาเห็นธรรม

 มีสัมมาทิฏฐิของตนเองอย่างแท้จริง

ตอนต้นก็อาศัยสัมมาทิฏฐิของพระพุทธเจ้า

เป็นผู้นำทางไปก่อน เป็นผู้ลากจิตของเราไปก่อน

 ลากไปสู่สัมมาสังกัปโปความคิดที่ถูกต้อง

 ลากไปสู่การกระทำที่ถูกต้อง

 ลากไปสู่การพูดที่ถูกต้อง

 ลากไปสู่อาชีพที่ถูกต้อง

 แล้วก็ลากไปสู่ความเพียรที่ถูกต้อง

ก็คือการเจริญสติ พอเจริญสติได้อย่างถูกต้อง

ก็จะได้สัมมาสมาธิ ได้อุเบกขาได้ความสงบ

ได้ความว่างของจิตได้เห็นตัวรู้

ได้เห็นตัวที่เป็นตัวที่สร้างบุญตัวที่สร้างบาปขึ้นมา

ได้เห็นผลของบุญและบาป

ที่ได้ถูกสร้างขึ้นมา อยู่ในใจนี้ทั้งหมด

ผู้ที่เห็นอย่างนี้ก็จะไม่สงสัย

ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น

 เห็นชัดๆอยู่ภายในใจของเรานี่เอง

 ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย ที่เรียกว่าสันทิฏฐิโก อกาลิโก

ก็คือถึงแม้พระพุทธเจ้า จะตรัสคำสอนนี้

มาอยู่ถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้วก็ตาม

แต่คำสอนนี้เป็นความจริงตลอดเวลาไม่มีวันเสื่อม

 ตามกาลตามเวลา ทรงตรัสว่าเป็นอย่างนี้

เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ในปัจจุบันนี้

มันก็เป็นอย่างที่พระพุทธเจ้า

 ได้ทรงตรัสไว้เช่นเดียวกัน

 เพราะเห็นอยู่ภายในใจนี่เอง ต้องเห็นด้วยสัมมาสติ

 เห็นด้วยสัมมาสมาธิ พอเห็นแล้วทีนี้ก็จะไม่สงสัย

ในพระพุทธเจ้าว่ามีจริงหรือไม่มีจริง

ไม่ต้องไปประเทศอินเดียเพื่อไปพิสูจน์

 เพราะไปก็ไม่เจอพระพุทธเจ้าอยู่ดี

 ไปก็จะเจอแต่ซากปรักหักพังของสถานที่

ที่เขาอ้างว่าเป็นที่ประทับ ของพระพุทธเจ้า

 จะจริงหรือไม่จริง คนไปดูก็ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้

 แต่ถ้าพิสูจน์ด้วยการเจริญมรรค

ด้วยการเจริญสัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธินี้

ก็จะไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อีกต่อไป

แล้วก็จะมีมรรค มีแสงสว่างมีสัมมาทิฏฐินำทาง

ไปสู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 นำทางไปสู่พระนิพพานได้

โดยที่ไม่ต้องมีใครเป็นผู้นำทางอีกต่อไป

ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว

ถึงแม้ว่าจะเห็นขั้นแรกก็ตาม

แต่ก็จะเห็นไปตามลำดับถ้าตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่

 และดำเนินทางนี้อยู่ก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้

โดยที่ไม่ต้องมีผู้นำทางอีกต่อไป

แต่ถ้ามีผู้ที่นำทางไป ก็จะทำให้การเดินทางนี้

ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลา

มาคอยพิสูจน์เพราะเวลาไปถึงทางแยก

 บางครั้งก็ไม่แน่ใจว่า

จะไปทางซ้ายหรือทางขวาหรือตรงไป

 ก็อาจจะเสียเวลาพิสูจน์ดูกว่าจะได้พบ

กว่าจะได้รู้ว่าทางที่ถูกต้องนั้นเป็นทางไหน

 ก็จะช้าหน่อยถ้าไม่มีผู้ที่ผ่านมาแล้วเป็นผู้พาไป

แต่ถ้ามีผู้ที่ผ่านมาแล้ว เวลาไปถึงทางแยก

ก็เพียงแต่ถามผู้ที่รู้ ท่านก็จะบอกว่าให้ไปทางไหน

 แต่เราก็ปฏิบัติของเราไปจนกว่า

 เราจะถึงจุดที่เราต้องลังเลสงสัยไม่มั่นใจ

เราก็จะได้รับประโยชน์

จากการที่มีผู้ที่ได้เดินทางผ่านมาแล้ว

 เขาจะบอกเราได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

เราไม่ต้องเสียเวลามาทดลองทางซ้ายทางขวา

ทางตรงว่าทางไหน เป็นทางที่ถูก

นี่คือเรื่องของการเจริญมรรค ๘

ที่ให้เริ่มที่สัมมาทิฏฐิก็เพราะว่า

เราต้องมีความเห็นที่ถูกต้องก่อน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขาวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗

“การศึกษาและเจริญมรรค ๘”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 21 กันยายน 2559
Last Update : 21 กันยายน 2559 9:36:37 น.
Counter : 644 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ