Group Blog
All Blog
### ปรมัง สุขัง ###











“ปรมัง สุขัง”

ปรมัง สุขัง จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมี

 ปรมัง สุญญัง ปรมัง สุญญัง

ก็คือใจต้องว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง

ว่างจากลาภยศสรรเสริญ

 ไม่คิดถึงเรื่องการหาลาภยศสรรเสริญ

ไม่คิดถึงการดูแลรักษา ห่วงใยลาภยศสรรเสริญ

 ไม่คิดถึงการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ไม่คิดไปในทางความโลภความโกรธความหลง

ไม่คิดไปในทางกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าปรมัง สุญญัง

 คำว่า ปรมัง สุญญัง นี้ไม่ได้หมายความว่า

อันตรธานหายไป อะไรอันตรธานหายไป

 จิตเป็นสิ่งที่ไม่มีวันที่จะหายไปได้

จิตเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา

 ไม่ว่าจะปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรม

จิตก็มีอยู่เหมือนเดิม

 แต่ถ้าปฏิบัติก็จะเป็นจิตที่ว่าง

จากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อจิตใจ

ถ้าไม่ปฏิบัติจิตก็จะไม่ว่าง

จากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อจิตใจ

 ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความอยากต่างๆ ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส

 ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีไม่เป็น

 แล้วก็เข้าไปหาลาภยศสรรเสริญ

ไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

พอไปยุ่งกับสิ่งที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 ผลก็คือทุกขังก็จะเกิดขึ้นมา

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกขังนั่นเอง

 ไม่ว่าลาภยศสรรเสริญ

ไม่ว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 ความโลภความโกรธความหลงก็เป็นความทุกข์

 เวลาโลภแล้วใจมันสุขหรือทุกข์กันแน่

เวลาโกรธแล้วใจมันสุขหรือมันทุกข์กันแน่

เวลาหลงแล้วใจสุขหรือใจทุกข์

 เวลาอยากแล้วใจสุขหรือใจทุกข์ ลองพิจารณาดู

นี่แหละคือความว่างที่พวกเราต้องการกัน

ก็คือว่างจากลาภยศสรรเสริญ

ว่างจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

จะว่างได้ก็ต้องไปปลีกวิเวก

ไปอยู่ห่างไกลจากกองเงินกองทอง

ห่างไกลจากตำแหน่งฐานะต่างๆ

เวลาไปบวชนี้ท่านบอกให้โยนทิ้งไปหมด

ตำแหน่งอธิบดี นายกรัฐมนตรี มหาเศรษฐี

 มหากษัตริย์นี้

พระพุทธเจ้าบอกให้โยนทิ้งไปหมด

ผู้ที่บวชนี้เป็นผู้ที่มีฐานะเท่ากันหมด

เป็นนักบวชเป็นพี่เป็นน้องเท่านั้น

 ต่างกันที่อาวุโสภันเตเท่านั้นเอง

ผู้บวชก่อนก็เป็นอาวุโส ผู้บวชหลังก็เป็นภันเต

 หรือสลับกันก็ไม่รู้ ภันเตนี้เป็นผู้อาวุโส

 อาวุโสนี้กลับไม่ใช่เป็นผู้อาวุโส

ภาษาบาลีกับภาษาไทยเราจะใช้ตรงกันข้ามกัน

 เวลาพระกล่าวคำกับผู้ใหญ่ท่านจะพูดว่าภันเต

 เวลาพระผู้ใหญ่พูดกับพระผู้น้อย

ท่านจะเรียกพระผู้น้อยว่าอาวุโส

 เวลาแสดงอาบัตินี่อาวุโสหรือภันเต อามะ ภันเต

 เวลาที่ญาติโยมขอศีลแล้วพระให้ศีล

 ญาติโยมก็ว่าอามะ ภันเต

คำว่าภันเตนี้แปลว่าท่านผู้ใหญ่

อาวุโสแปลว่าท่านผู้น้อย

แต่ภาษาไทยเรามาสลับกัน

เรามาเรียกผู้น้อยว่าเป็นผู้อาวุโส

อันนี้เวลาพูดไปก็เลยงง แต่คือโดยสรุปก็คือ

ผู้มาบวชนี้ไม่มีฐานะทางโลกแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นมหากษัตริย์เป็นอะไร

 อย่างสมัยที่พระญาติของพระพุทธเจ้า

คือเจ้าชาย ๕ รูปด้วยกัน ๕ พระองค์ด้วยกัน

 มีความปรารถนาที่อยากจะบวช

 แล้วก็มีผู้รับใช้ที่เป็นช่างตัดผม

 ชื่ออุบาลีขอบวชตามด้วย

 เวลาที่จะบวชเจ้าชายทั้ง ๕ รูปก็เลยปรึกษากันว่า

 น่าจะให้อุบาลีเป็นผู้บวชก่อน

 เพื่อที่เวลาเขาบวชแล้วเขาจะได้เป็นภันเต

 แล้วพวกเราจะต้องกราบอุบาลี

นี่แหละคือการบวชที่แท้จริง

 บวชเพื่อละอัตตาตัวตน

ละลาภยศสรรเสริญสุขจริงๆ ต้องบวชแบบนี้

อุบาลีก็เลยต้องบวชก่อน แล้วพวกเจ้าชาย

 พระอานนท์ พระอนุรุทธะ พระเทวทัตที่เป็นเจ้าชาย

ที่บวชพร้อมกัน ๕ รูปด้วยกัน

พอบวชเสร็จแล้วเวลาเจอพระอุบาลี

ก็ต้องกราบพระอุบาลีก่อน

 เพราะพระอุบาลีท่านบวชก่อน ท่านเป็นภันเต

ผู้บวชหลัง ถึงแม้ว่าจะห่างกันเพียง ๑ นาที

 ก็ถือว่าต่างกันแล้ว เวลาพระเจอกันนี้

ท่านจะต้องสอบถามกันก่อน ว่าใครเกิดก่อนใคร

 ใครบวชก่อนใคร จะได้รู้ว่าใครควรจะกราบใคร

 ไม่มีความเกรงใจกัน เอาธรรมะเป็นหลัก

ถ้าเกรงใจกัน บางทีก็เขาอายุมากกว่าเรา

เขามีฐานะเดิมดีกว่าเรา

 ถึงแม้เราจะบวชก่อนเขาเราก็เกรงใจเขา

ไม่อยากจะให้เขากราบเรา

 เขาก็ไม่อยากจะกราบเรา

เพราะเขาก็ยังติดอยู่กับฐานะเดิมของเขาอยู่

ฉันเป็นอธิบดี เธอเป็นซี ๓ ซี ๔

จะมาให้ฉันกราบเธอได้อย่างไร

 อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้บวช

ตามที่พระพุทธเจ้าสอนให้บวช

 คือให้พวกเราสละลาภยศสรรเสริญ

 สละรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะออกไปให้หมด

อย่าให้มีสิ่งเหล่านี้มาเกี่ยวข้องกับจิตใจ

เพราะมันเป็นโทษกับจิตใจ

เป็นพิษเป็นภัยกับจิตใจ

 มันจะทำให้จิตใจทุกข์ว้าวุ่นขุ่นมัว

แล้วก็ต้องมากำจัดกิเลสตัณหา

 ความโลภความโกรธความหลง กำจัดความอยาก

คือกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา

 ให้หมดไปจากจิตจากใจ ถ้าสามารถทำได้แล้ว

 ใจก็จะว่างแต่ไม่ได้สูญหายไปไหน

 ใจของผู้ที่บรรลุพระนิพพาน

กับของผู้ที่ไม่บรรลุพระนิพพาน ก็ยังมีอยู่เท่ากัน

 อย่าไปคิดว่าพอบรรลุพระนิพพานปั๊บหายไปเลย

กลายเป็นมนุษย์ล่องหนไปเลย ไม่ใช่ ยังมีอยู่

จิตความจริงก็เป็นมนุษย์ล่องหนอยู่แล้ว

 ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ไม่เหมือนกับร่างกาย ร่างกายนี้มีรูปมีร่าง

 แต่สิ่งที่มีรูปมีร่างนี้มีปัญหา

เพราะมันจะต้องเสื่อมมันจะต้องหมด

แต่สิ่งที่ไม่มีรูปไม่มีร่างนี้

มันไม่มีวันเสื่อมไม่มีวันหมด

 เช่นความว่างที่อยู่รอบตัวเรานี้

 มันมีอยู่มาตลอดเวลา

 มันไม่มีวันหายไปไหน

 เรามาทีไรเราก็เจอมันทุกทีใช่ไหม

มาที่ศาลานี้เจอความว่างไหม

ความว่างที่อยู่รอบตัวเรานี้

 ที่ตรงไหนว่างก็ตรงนั้นก็เป็นความว่างแล้ว

มันมีอยู่ตลอดเวลาความว่าง

 แต่สิ่งที่ไม่ว่างนี่แหละเป็นสิ่งที่เกิดแล้วดับ

เช่นร่างกายนี้ ลาภยศสรรเสริญ

มันก็ไม่เป็นความว่าง

มันเกิดแล้วมันก็ต้องดับไป

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกัน

มันเกิดแล้วเดี๋ยวมันก็ต้องดับไป

ถ้าเราไปตั้งความสุขของเราไว้กับสิ่งเหล่านี้

เวลามันดับไปมันหายไป

 ความสุขที่เราตั้งไว้มันก็หายไปด้วย

 พอไม่มีความสุข เราก็เลยต้องอยู่กับความทุกข์ไป

ดังนั้นเราอย่าไปตั้งความสุขไว้กับสิ่งที่มันจะต้องหาย

ให้ตั้งความสุขไว้กับสิ่งที่ไม่มีวันหาย

 สิ่งที่ไม่มีวันหายก็คือความว่าง

 อยู่ได้จิตไม่มีลาภยศสรรเสริญ

ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อยู่ได้

อยู่มีความสุขยิ่งกว่าจิตที่อยู่กับลาภยศสรรเสริญ

 อยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 นั่นแหละจิตพระอรหันต์กับจิตพวกเราเป็นอย่างนี้

 จิตของพระอรหันต์จิตของพระพุทธเจ้า

ท่านอยู่กับความว่าง แต่จิตของพวกเรานี้

อยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

อยู่กับลาภยศสรรเสริญ

พอสิ่งเหล่านี้เสื่อมไปเป็นยังไง

 วุ่นวายกันไปหมด จะเป็นจะตายกันให้ได้

เหมือนกับขาดลมหายใจ

นี่แหละคือความหลง

มันหลอกให้เราไปยึดไปติดกับกองทุกข์

แทนที่จะให้เราไปยึดไปติดอยู่กับกองสุข

มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว

 ที่สามารถรู้ทันความหลง

แล้วก็ไม่ทำตามความหลง

 แทนที่จะตั้งความสุขให้อยู่บนลาภยศสรรเสริญ

อยู่บนรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 พระองค์ก็ไปตั้งความสุขอยู่กับความว่าง

เสด็จออกจากพระราชวัง ไปอยู่ตามโคนไม้

 ไปอยู่ตามเรือนร้าง ไปอยู่ตามป่าช้า

 ไปอยู่ตามเงื้อมผาตามถ้ำ

นั่นแหละคือที่ตั้งของความสุขที่แท้จริง

 แล้วก็บำเพ็ญจิตตภาวนาเจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 เพื่อทำใจให้เข้าสู่ความว่างอีกชั้นหนึ่ง

 คือความว่างภายใน ได้ความว่างภายนอกแล้ว

ก็ต้องทำใจให้ว่างต่อไป

ก่อนที่จะทำใจให้ว่างได้ต้องทำกายให้ว่างก่อน

เพราะถ้ากายไม่ว่างไม่มีวันที่จะทำใจให้ว่างได้

ถ้ายังอยู่บนกองของลาภยศสรรเสริญ

ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่

 ไม่มีวันที่จะทำใจให้สงบได้

คนที่ต้องออกบวชกันที่ต้องไปปลีกวิเวกกัน

 ก็เพราะด้วยสาเหตุนี้เอง

ถ้าสามารถทำใจให้สงบเข้าสู่ความว่างได้

บนท่ามกลางลาภยศสรรเสริฐ

 รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ก็ไม่ต้องมาวัดให้เสียเวลา อยู่บ้านจัดงานเลี้ยง

กินเลี้ยงกันเสร็จแล้ว

ก็นั่งสมาธิเข้าสู่ความว่างกันไปเลย

 มันทำไม่ได้ มันคนละเรื่องกัน

ต้องมาอยู่ปลีกวิเวก อยู่ในวัดก็ไม่มีอะไร

 กุฏิก็มีแต่ฝามีแต่หลังคาไว้หลบแดดหลบฝนเท่านั้น

ไม่มีตู้เย็นไม่มีทีวีไม่มีอะไรให้ดู

 ให้ฟังให้ดื่มให้รับประทาน

 นั่นแหละคือความว่างทางกายภาพ เรียกว่ากายวิเวก

พอได้กายวิเวกแล้วทีนี้ ก็จะเจริญสติได้ง่าย

 ไม่มีอะไรมารบกวน มาทำลายสติทำลายสมาธิ

 พอสามารถเจริญสติได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง

 ไม่เผลอไม่ลืม จิตก็จะเข้าสู่ความว่างภายในต่อไป

เข้าสู่ความสงบที่เป็นความสุข

ที่ยิ่งใหญ่กว่า ความสุขทั้งหลาย

 พอได้ความสุขที่ยิ่งใหญ่นี้แล้ว

ก็รักษามันต่อไป เวลาออกจากสมาธิมา

 ก็ใช้ปัญญาป้องกันคอยรักษาความว่างไว้

ไม่ให้โจรผู้ร้ายมาฉกชิงเอาไป

 โจรผู้ร้ายที่จะมาฉกชิงความว่างความสงบนี้คือใคร

 ก็คือกิเลสตัณหานี่เอง

ความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ

พอมันโผล่ขึ้นมาปั๊บ

ปัญญาต้องชักดาบขึ้นมาฟันทันที

 ฟันด้วยอนิจจังทุกขังอนัตตา

มันอยากจะดื่มก็ต้องบอกว่ามันเป็นความทุกข์

ไม่ใช่เป็นความสุข สุขชั่วคราว สุขเดี๋ยวเดียว

พอไม่ได้ดื่มก็ทุกข์แล้ว อย่าไปดื่ม

อยู่กับความว่างดีกว่าอยู่กับความสงบดีกว่า

เพราะถ้าไปดื่มแล้วมันจะติด

 พอติดแล้วพอเวลามันไม่ได้ดื่มแล้วมันจะทุกข์

ต้องใช้ปัญญาแก้กันอย่างนี้

ปัญญาก็เป็นเหมือนผู้มาอารักขาความว่างนี้

 ความว่างของใจที่ได้จากการเจริญสติ

ที่ได้จากการนั่งสมาธิ พอออกจากสมาธิแล้ว

ก็ต้องใช้ปัญญาคอยรักษา

เวลาเกิดความโลภก็ต้องตัดมันทันที

 เกิดความโกรธก็ต้องตัดมันทันที

เกิดความหลงก็ต้องตัด เกิดความอยากก็ต้องตัด

ด้วยไตรลักษณ์ พอมีไตรลักษณ์มีอสุภะแล้ว

 ข้าศึกศัตรูที่จะมาทำลายความว่างความสงบของใจ

 ก็จะไม่สามารถเข้ามาทำลายได้ ใจก็จะสงบไปตลอด

พอสงบไปตลอดเราก็เลยเรียกว่า ปรมัง สุขัง

ว่างไปตลอดก็เรียกว่า ปรมัง สุญญัง

 นี่แหละคือเรื่องราวของพวกเราที่มากันวันนี้

 เรามาหาความว่างกัน

 เพราะความว่างเป็นความสุขที่แท้จริงนั่นเอง

 นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง

ไม่ใช่เป็นของที่สุดเอื้อมของพวกเรา

ถ้าสุดเอื้อมแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เสียเวลามาสอน

ให้เสียเวลาไปเปล่าๆ

 เพราะว่ามันอยู่ในความสามารถของพวกเราทุกคน

ที่จะหยิบมาเป็นสมบัติของเราได้

 และมีผู้ที่หยิบมาเป็นสมบัติแล้วหลายท่านด้วยกัน

นับจำนวนไม่ถ้วน นับตั้งแต่วันแรก

ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศ พระธรรมคำสอน

มาจนถึงปัจจุบันนี้ มีผู้ที่สามารถไขว่คว้า

เอาความว่างเอาปรมัง สุญญัง

เอาปรมัง สุขังนี้มาเป็นสมบัติของตนได้เป็นจำนวนมาก

 พวกเราก็เป็นผู้ที่กำลังไขว่คว้ากันอยู่

ขอให้พวกเราพยายามทำกันให้สุดกำลังเถิด

 แล้วผลต่างๆที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้รับ

ก็จะเป็นผลที่พวกเราจะได้รับกันต่อไป

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

กัณฑ์ที่ ๔๘๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๗

“ความว่าง”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 22 กันยายน 2559
Last Update : 22 กันยายน 2559 10:38:06 น.
Counter : 781 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ