Group Blog
All Blog
### ต่างกันที่จิดใจ ###









“ต่างกันที่จิตใจ”

เรื่องเกิดแก่เจ็บตายนั้น ต้องเป็นด้วยกันทุกๆคน

 จึงไม่ควรลืม ควรพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

จะได้มีธรรมโอสถไว้ดูแลรักษาจิตใจ

ถ้าไม่พิจารณาอยู่เรื่อยๆ พอเกิดขึ้นมา

ใจก็จะป่วย ป่วยกายแล้วไม่พอ ยังป่วยใจด้วย

 แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ

ก็เหมือนมีธรรมโอสถ

 จะรู้สึกเฉยๆ รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา

 รู้ว่าใจไม่ได้ป่วยไปกับกาย

 สิ่งที่ป่วยก็ต้องเป็นไปตามสภาพของเขา

 ไม่มีใครอยู่เหนือสภาพนี้ได้

 ไม่ว่าจะเป็นปุถุชนธรรมดา

หรือพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก

ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เรากราบไหว้บูชา

 ก็ต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ต่างกันที่จิตใจ

 ของท่านมีเกราะคุ้มกัน มีธรรมโอสถรักษาใจ

ทำให้ใจไม่สะทกสะท้าน ไม่หวาดกลัว

 เพราะใจไม่ได้เป็นไปกับร่างกาย

 แต่ถ้าไม่ได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ

ความหลงก็จะหลอกให้ใจไปหลงคิดว่าเป็นกาย

เวลากายเป็นอะไรใจก็เดือดร้อนไปด้วย

 คิดว่าใจเป็นไปกับร่างกาย

 เพราะใจอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข

 เวลาร่างกายป่วย ชำรุดทรุดโทรม

ไม่สามารถไปหาความสุขได้

 ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า

 ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็จะไม่ยึดไม่ติด

ไม่หวังพึ่งอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข

 เพราะหาความสุขที่ไม่ต้องใช้ร่างกายก็ได้

ก็คือความสุขภายในใจที่มีรออยู่แล้ว

 เป็นเหมือนสมบัติที่ถูกโมหะอวิชชา

ความหลงกลบฝังไว้

 หน้าที่ของเราจึงต้องพยายามขุดเอาอวิชชา

เอาโมหะความหลงให้ออกไปจากใจ

 เพื่อจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง

 คือความสงบใจถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

เรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย

จนจิตรับความจริงได้ ความสงบก็จะปรากฏขึ้นมา

จะไม่รู้สึกอิดหนาระอาใจหรือท้อแท้

หรือไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป

เพราะการพิจารณาเป็นการทำสมาธิไปในตัว

 แทนที่จิตจะฟุ้งซ่าน กลับจะสงบ

ในเบื้องต้นอาจจะลำบากหน่อย

เพราะมีกิเลสคอยต่อต้านอยู่

เวลาคิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 จะรู้สึกไม่สดใสเลย

คิดถึงเวลาที่จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย

ทำอะไรไม่ได้ แล้วก็ต้องตายไปในที่สุด

ถ้ายังมีกิเลส มีอุปาทาน

ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆอยู่

 ก็จะรู้สึกสูญเสีย ทำให้ไม่อยากคิด

 พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปคิดมัน

 เพราะคิดแล้วทำให้เกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา

ถ้าคิดแบบนี้แล้วแทนที่จะเกิดประโยชน์

กลับเกิดโทษขึ้นมา เพราะจิตจะยิ่งถูกความหลง

 ความไม่รู้ครอบงำมากยิ่งขึ้นไป

 เพราะคนเราทุกคน

ควรจะรู้ความจริงของชีวิตเราว่าเป็นอย่างไร

 พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอริยสัจ ๔

 คือความจริงของชีวิตเรานั่นเอง

ถ้ารู้ความจริงทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว

 รู้จักวิธีปฏิบัติต่อความจริงนี้แล้ว

สักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็วเราก็จะไปถึงที่เดียวกัน

กับที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ไปถึง

 นั่นก็คือนิโรธความดับของทุกข์

ทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะใจหลง ใจไม่ยอมรับความจริง

ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆจนเห็นว่าไม่มีใครในโลกนี้

 ทั้งตัวเราและผู้อื่น จะต้องตกอยู่ในสภาพเหมือนกัน

 เป็นธรรมดาของร่างกายที่จะต้องเป็นไป

จิตใจก็เกิดความกล้าหาญขึ้นมา

กล้าสู้และเผชิญกับความจริง จะไม่หวาดกลัว

 เมื่อไม่หวาดกลัวความทุกข์ก็ไม่มี

 คนเราที่กลัวกันก็กลัวความตาย กลัวความเจ็บกัน

 แต่ถ้าไม่กลัวเสียอย่างแล้ว ใจก็จะไม่หวั่นไหว

 จะตั้งอยู่ในความสงบของสมาธิ

มีความแข็งแกร่งเหมือนกับก้อนหินก้อนใหญ่ๆ

 ที่สามารถรับพายุที่จะพัดโหมกระหน่ำมา

ไม่ว่าจะมีกำลังแรงมากน้อยเพียงไร

 ก็ไม่สามารถขยับหินก้อนนั้นได้

 จิตใจที่มีความสงบ มีความนิ่งด้วยปัญญา

จะไม่หวั่นไหวกับสภาพต่างๆ จะเผชิญกับมันได้

 ไม่มีปัญหาอะไร อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

อะไรจะดับก็ต้องดับ อะไรไม่ดับก็ไม่ดับ

 แต่เราไม่รู้ว่าอะไรดับ อะไรไม่ดับกัน

เพราะใจเราหลง คิดว่าร่างกายดับแล้ว

ทุกอย่างดับหมด ชีวิตเราดับหมด

ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเราดับไปหมด

แต่ยังมีตัวหนึ่งที่ยังไม่ดับ ก็คือใจนี้แหละ

 ใจไม่ดับ ร่างกายจะดับก็ดับไป

แต่ใจก็ยังเป็นอกาลิโกอยู่

เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นอยู่

 เป็นธาตุรู้ เป็นผู้รู้ แต่ขาดปัญญา ไ

ม่สามารถแยกแยะตนเอง

ออกจากสิ่งที่คลุกเคล้าด้วย

 เมื่อไปคลุกเคล้ากับสิ่งที่มีเกิดมีดับ

ก็เลยคิดว่าตนเองเกิดดับไปด้วย

ถ้าได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้า

แล้วนำไปปฏิบัติ พิจารณา

ความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่เรื่อยๆ

 ก็จะมีธรรมะมีอาวุธที่จะแยกแยะใจ

ให้ออกจากสิ่งที่ใจไปคลุกเคล้าด้วย

เมื่อแยกออกมาได้แล้ว ก็จะรู้ว่า

ใจไม่ได้เป็นอะไรตามไปด้วย

ร่างกายจะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่อย่างไร

ใจก็ไม่ได้เป็นตามร่างกาย แต่ใจมักจะหลง

 เหมือนคนดูฟุตบอล ชอบเชียร์

ทั้งๆที่ไม่รู้จักคนเล่นด้วยซ้ำไป

ถ้าฝ่ายที่เชียร์ชนะก็ดีอกดีใจตามไปด้วย

ถ้าแพ้ก็เสียอกเสียใจ

ทั้งๆที่ไม่ได้อะไรจากการแพ้การชนะเลย

แต่ใจชอบไปยุ่งกับเรื่องต่างๆแล้วก็ไปยึดติด

 เวลาชอบใครก็เชียร์เขา อยากให้เขาได้ดิบได้ดี

 มีความสุขมีความเจริญ

ถ้าไม่ชอบก็สาปแช่งให้เขาเป็นไป

นี่คือเรื่องของใจที่หลง

 ไม่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

มีทั้งเจริญและเสื่อมอยู่ควบคู่กันไป

เวลาสิ่งที่เราเชียร์เสื่อมลงไปก็เสียใจ

 เวลาสิ่งที่เราไม่ชอบมีความเจริญก็ไม่พอใจ

 เพราะลืมไปว่าความเจริญก็มีขอบเขต

เมื่อเจริญแล้วสักวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมไป

ไม่ต้องไปสาปแช่งเดี๋ยวก็เสื่อมไปเอง

นี่คือปัญหาของพวกเรา

คือไม่ค่อยพิจารณาความเสื่อมกัน

 ส่วนใหญ่จะมองแต่ความเจริญกัน

 ได้อะไรมาก็อยากจะให้มันเจริญ

 เปิดร้านเปิดบริษัทก็อยากจะให้เจริญอย่างเดียว

 ไม่คิดว่าจะต้องเสื่อมบ้าง

ไม่ว่าบริษัทจะใหญ่โตขนาดไหน

สักวันหนึ่งก็ต้องปิดตัวลง

จะมีตำแหน่งสูงขนาดไหน

สักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป

เพราะกิเลสจะคอยกีดกัน

ไม่ให้เราคิดถึงความเสื่อม

 เมื่อไม่ได้พิจารณาธรรมะ

ก็เหมือนกับไม่มีอาวุธไว้ต่อสู้

เวลาความเสื่อมปรากฏขึ้นมาคืบคลานเข้ามา

 ความทุกข์ก็จะรุมทำร้ายจิตใจ ให้เศร้าโศกเสียใจ

 แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า

ชีวิตของคนเรามีทั้งขึ้นมีทั้งลง มีทั้งสูงมีทั้งต่ำ

 แล้วก็เตรียมตัวรับกับสภาพที่จะเกิดขึ้น

ก็จะไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศกเสียใจ

เหมือนกับทหารที่ต้องซ้อมรบอยู่เรื่อยๆ

 เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีสงครามเกิดขึ้น

 ถ้าไม่เตรียมตัวไว้ เวลาเกิดสงครามขึ้นมา

ก็จะสู้เขาไม่ได้ ใจของเราก็เช่นเดียวกัน

ถ้าไม่ได้พิจารณาความเสื่อมอยู่เรื่อยๆ

เวลาพบกับความเสื่อม

ก็จะไม่รู้ว่าต้องทำใจอย่างไร

ใจมักจะถูกความอยากรุมเร้าอยู่ตลอดเวลา

 เมื่อไม่สามารถทำตามความอยากได้

ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณา

อริยสัจข้อแรก คือทุกขสัจ

 เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา

 มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

ถ้าพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้ว

 จะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับสภาพ

จิตใจจะได้ไม่หวั่นไหวหวาดกลัวแต่อย่างใด

 จะอยู่อย่างสบายอกสบายใจ ไม่ยึดติดกับอะไร

เพราะรู้ว่าสิ่งต่างๆต้องจากเราไป

หรือเราจะต้องจากมันไป การไปยึดไปติด

เป็นเหตุของความทุกข์ ความไม่สบายใจ

สังเกตดูสิ่งหนึ่งสิ่งใดบุคคลหนึ่งบุคคลใด

ที่เราไม่มีความผูกพันด้วย

ไม่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ยึดติด เวลาเป็นอะไรไป

 ก็ไม่กระทบกับเรา แต่ถ้ามีความผูกพัน

มีความยึดติด เวลาสิ่งนั้นสิ่งนี้ บุคคลนั้นบุคคลนี้

 มีอันเป็นไป เราก็วุ่นวายใจ เศร้าโศกเสียใจ

 คนที่ไม่มีธรรมะอยู่ในใจเลย จะไม่อยากอยู่ต่อไป

เวลาสูญเสียสิ่งที่ตนรักไป

 เช่นเสียคู่ครองที่เคยอยู่ด้วยกันมาตลอด

เมื่อเสียไปแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตของตนก็หมดไปด้วย

 เคยสังเกตเห็นอยู่เรื่อย

คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันมาเป็นเวลายาวนาน

พอคนใดคนหนึ่งเสียไป

 อีกคนหนึ่งก็จะเสียตามไปด้วยในเวลาไม่นาน

 เพราะความผูกพัน ความยึดติด

เหมือนกินอาหารที่เคยเติมเครื่องปรุงต่างๆ

พอวันไหนไม่มีเครื่องปรุงก็ไม่อยากจะกินเลย

 เพราะติดกับรสชาติ อย่างคนที่เป็นเบาหวาน

ก็รู้อยู่ว่ากินของหวานมากไม่ได้ แต่ก็อดไม่ได้

 เพราะความเคยชิน

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

กัณฑ์ที่ ๒๕๒ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙

 (จุลธรรมนำใจ ๖)

“ใจไม่ดับ”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 27 กันยายน 2559
Last Update : 27 กันยายน 2559 9:17:00 น.
Counter : 862 Pageviews.

0 comment
### เหตุที่ทำให้มีสมาธิก็คือสติ ###









“เหตุที่ทำให้มีสมาธิก็คือสติ”

ถาม : ฆราวาสควรป้องกันและปฏิบัติอย่างไร

เพื่อไม่ให้สมาธิความสงบที่ได้มาแล้วเสื่อมไป

พระอาจารย์ : ก็ต้องเจริญเหตุอยู่เรื่อยๆ

เหตุที่ทำให้มีสมาธิก็คือสติ

 ต้องเจริญสติอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เช่นบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ

อย่าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ถ้าไม่มีความจำเป็นจะต้องคิด คิดเท่าที่จำเป็น

ที่เกี่ยวกับเรื่องภารกิจการงานที่กำลังทำอยู่

พยายามรักษาสติคือดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน

 ให้ปราศจากความคิดปรุงเเต่ง

ให้คิดปรุงเเต่งให้น้อยที่สุด

 แล้วสมาธิก็จะคงอยู่ได้เวลานั่งสมาธิ

ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้

แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมความคิดได้

ปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย

เวลานั่งสมาธิ จะบริกรรมพุทโธ

มันก็จะไม่ยอมอยู่กับการบริกรรมพุทโธ

จะดูลมหายใจมันก็จะไม่ยอมอยู่กับลมหายใจ

 เพราะมันไม่ได้ถูกควบคุมบังคับเอาไว้

ถูกปล่อยให้มันคิดไปเรื่อยเปื่อย

 พอมานั่งสมาธิเพื่อจะควบคุมไม่ให้มันคิด

 มันก็จะควบคุมมันไม่ได้

เราจึงต้องควบคุมมันไว้ก่อนที่เราจะมานั่งสมาธิ

ควบคุมตลอดเวลาที่เราตื่น

 เพราะเราสามารถควบคุมได้

 ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็บริกรรมพุทโธไป

 ถ้าการกระทำของเรานั้นไม่จำเป็น

จะต้องใช้ความคิด

 เช่นเวลาอาบน้ำแปรงฟันล้างหน้า

แต่งเนื้อแต่งตัว รับประทานอาหาร

 การกระทำเหล่านี้ไม่ต้องใช้ความคิด

 หรือถ้าใช้ก็น้อยมากคิดว่าจะต้องหยิบสบู่

 เทน้ำอะไรเท่านั้นเอง ระยะเราก็สามารถ

บริกรรมพุทโธๆไปได้อย่างต่อเนื่อง

 หรือถ้าเราขี้เกียจบริกรรมพุทโธ

เราจะเฝ้าอยู่กับการกระทำของร่างกายไปก็ได้

 เช่นเวลาอาบน้ำตักน้ำใส่ร่างกายก็ให้รู้

ว่าเรากำลังตักน้ำใส่ร่างกาย

เวลาถูสบู่ ก็ให้รู้ว่ากำลังถูสบู่

ให้อยู่กับงานที่เรากำลังทำอยู่

อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการเจริญสติ

พอจิตของเราไม่ลอยไปอดีต

ไม่ลอยไปอนาคตอยู่ในปัจจุบัน

 จิตก็จะตั้งมั่นจะเป็นสมาธิได้ง่าย

พอเรานั่งอยู่เฉยๆ หลับตาไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ

ให้รู้อยู่กับเรื่องเดียวคือการบริกรรมพุทโธ

 ถ้าเราใช้การบริกรรมพุทโธ

ถ้าเราใช้การดูร่างกาย

เราก็ดูลมหายใจเข้าออก นั่งดูต่อไป

 เดี๋ยวใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้อย่างเต็มที่

ใจก็จะว่างเป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้

แล้วก็จะมีความอิ่ม

 มีความสุขจะไม่อยากได้อะไร

 พอเราออกจากสมาธินี้มา

เราก็จะได้เอามาเจริญปัญญาได้

 เพราะเราจะเห็นทันที

เวลาที่เราคิดไปในทางที่ไม่ดี

 ใจของเราจะร้อนขึ้นมาทันที

 เวลาที่เราคิดไปในทางที่ดี

ใจของเราจะเย็นขึ้นมาทันที

เวลาที่เราคิดไม่อยาก ไม่โลภได้

เราก็ยิ่งมีความสุข มีความสงบขึ้นมามากขึ้นไป

อันนี้มันจะเป็นการเจริญสติที่ต่อเนื่อง

ออกจากสมาธิมา

ก็คอยสังเกตดูการกระทำของใจ

ดูความคิดของใจก็จะเห็นว่า

ใจคิดไปในทางไหน

 คิดไปในทางบุญ ก็จะเย็นจะสงบ

 คิดไปในทางบาปก็จะร้อนขึ้นมา

คิดไปในทางความอยาก

 ความโลภก็จะร้อนขึ้นมา

 อันนี้ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา

ต่อไปก็จะสามารถที่จะกำจัดความคิดที่ไม่ดีได้

 กำจัดความโลภ ความอยากต่างๆ

ที่เป็นเหตุที่ทำให้ใจรุ่มร้อนขึ้นมาได้

พอกำจัดความโลภ ความอยากได้

กำจัดการกระทำที่ไม่ดีได้ ใจก็จะเย็นไปตลอด

นี่คือผลที่จะเกิดขึ้น

จากการที่เราเจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 พอเราเจริญสติเราก็จะได้สมาธิ

พอเราได้สมาธิ ถ้าเราใช้ปัญญาคอยสังเกต

ดูการเคลื่อนไหวทางความคิดของใจ

เราก็จะเห็นเลยว่า ความคิดของใจ

แยกไป ๒ ทาง ๓ ทางด้วยกัน

 แยกไปในทางบาป แยกไปในทางบุญ

แยกไปในทางตัณหาความอยากต่างๆ

ก็สามารถที่จะรู้เลยว่า

ควรจะกำจัดความคิดแบบไหน

 ควรจะรักษาความคิดแบบไหนไว้

ต่อไปเราก็จะมีแต่สิ่งที่ดีอยู่แต่ภายในใจของเรา

 มีความคิดที่ดี มีความสุขมีความสงบไปตลอดเวลา

 นี่คือวิธีรักษาจิตของเรา ต้องรักษาด้วยสติก่อน

จนกว่าจะมีสมาธิแล้วเวลาออกจากสมาธิ

ก็ใช้ปัญญารักษาต่อไป

หรือถ้าใช้ปัญญาไม่เป็น

ก็ใช้สติรักษาต่อไปก่อนก็ได้

 ออกจากสมาธิมาก็บริกรรมพุทโธต่อไป

หรือเฝ้าดูการเคลื่อนไหว

การกระทำของร่างกายต่อไป

 จนกว่าเราจะมีเวลาว่างกลับมานั่งสมาธิใหม่

 เราก็กลับมานั่งใหม่

 เราก็จะสามารถกลับเข้าสู่สมาธิได้อย่างง่ายดาย

เหมือนกับครั้งแรกที่เราเข้าสมาธิได้

ถ้าเราเข้าออกมาแล้วเราไม่เจริญสติ

ไม่ควบคุมความคิดต่อไปเวลาจะนั่งสมาธิ

มันก็จะเข้าไม่ได้อยู่ดี

ดังนั้นต้องพยายามรักษาสติจนเป็นมหาสติ

คือไม่มีเวลาที่เผลอเลยมีสติอยู่ตลอดเวลา

อยู่กับการเคลื่อนไหว ของร่างกาย

อยู่ในปัจจุบันอยู่กับพุทโธ นี่คือเรื่องของการมีสติ

 ต่อไปมันจะเป็นธรรมชาติของใจไป

 สตินี้ถ้าเราเจริญบ่อยๆ

ก็เหมือนกับการที่เราหัดทำอะไร

ตอนต้นเราก็ต้องบังคับ เช่นหัดพิมพ์ดีด

 เราก็ต้องคอยบังคับให้กดนิ้วอยู่เรื่อยๆ

พอเรากดไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

พอมันจำได้มันชำนาญ ต่อไปเราไม่ต้องบังคับ

 เพียงแต่เห็นตัวอักษร

หรือเพียงแต่อยากจะพิมพ์อักษรตัวไหน

เราก็พิมพ์ได้ทันทีเลย

 สติก็เหมือนกัน ตอนต้นนี้เราต้องบังคับ

 เพราะว่ามันไม่เคยมีสติ มันชอบลอยไปลอยมา

 จิตมันไม่ชอบอยู่นิ่ง ไม่ชอบอยู่ในปัจจุบัน

 เพราะไม่มีใครสอนให้มันอยู่ในปัจจุบัน

 พอเรามาสอนตอนต้น

ก็เป็นเหมือนกับ การที่จะต้องชักเยอกัน

คือความถนัดเดิมที่ชอบคิดไปทางอดีต ทางอนาคต

มันก็จะพยายามดึงจิตไป ทางอดีตทางอนาคต

ทางเรื่องนั้นทางเรื่องนี้

 เราก็ต้องพยายามดึงมันเข้าหาพุทโธให้ได้

 ดึงเข้ามาหาที่ร่างกาย

การกระทำของร่างกายให้ได้

ตอนต้นก็อาจจะแพ้มันบ้าง ชนะมันบ้าง

 ก็ไม่เป็นไรก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยๆ

อย่างนี้ไปก่อน แล้วต่อไปเราก็จะมีกำลังมากขึ้น

ที่จะดึงจิตให้อยู่กับพุทโธได้มากขึ้น

ดึงจิตให้อยู่กับการเคลื่อนไหว

กับการกระทำของร่างกายได้มากขึ้น

 แล้วต่อไปมันก็จะไม่ไป มันก็จะอยู่กับงาน

ที่เรามอบหมายให้จิตทำ

 ถ้าให้บริกรรมพุทโธมันก็จะพุทโธของมันไปเรื่อยๆ

ถ้าให้เฝ้าดูการกระทำของร่างกาย

มันก็จะเฝ้าดูการกระทำของร่างกายไปเรื่อยๆ

 พอเวลานั่งสมาธิให้มันสงบ

มันก็จะสงบได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้นขอให้เราอย่าท้อแท้

ในเรื่องของการเจริญสติ

 ขอให้พยายามทำให้มากๆ

เราเป็นเหมือนเด็กที่ยังคลานอยู่ ยังยืนไม่ได้

อย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องเดินเรื่องวิ่งเลยตอนนี้

ขอให้คิดถึงเรื่องยืนให้ได้ก่อน

ก็เหมือนกับพวกเรา ตอนนี้ไม่มีสติ

ตอนนี้อย่าไปคิดถึงเรื่องสมาธิเรื่องปัญญา

 ขอให้คิดอยู่แต่เรื่องสติอย่างเดียว สร้างสติขึ้นมา

หัดยืนให้ได้ก่อน พอยืนได้แล้วทีนี้ค่อยมาหัดเดิน

 พอเดินได้แล้วค่อยมาหัดวิ่ง

 นี่ก็เหมือนกันตอนนี้ยังไม่มีสติ

 ก็ขอให้สร้างสติขึ้นมาให้ได้ก่อน

พอมีสติแล้วทีนี้ก็รักษาสมาธิไว้ให้ได้

พอรักษาสมาธิได้แล้ว ทีนี้ก็มาเจริญปัญญาได้

มาดูเรื่องราวต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจของเรา

 พอแยกแยะส่วนที่ดีส่วนที่ไม่ดี แยกออกจากกัน

 ส่วนที่ดีก็รักษาเอาไว้ ส่วนที่ไม่ดีก็ทำลายมันไป

 แล้วต่อไปในใจของเราก็จะมีแต่สิ่งที่ดี

ให้ความสุขกับเรา

ให้ประโยชน์กับเราเพียงอย่างเดียว

จะไม่มีสิ่งที่ไม่ดีที่สร้างความทุกข์

 สร้างความปั่นป่วน สร้างความเครียด

สร้างความวุ่นวายใจให้กับเราหลงเหลืออยู่เลย

 นี่เป็นสิ่งที่พวกเราทำกันได้ทุกคน

 แต่ขอให้เราทำตามขั้นตอน

อย่าไปกระโดดข้ามขั้นกัน

 เพราะว่ามันจะทำไม่สำเร็จนั่นเอง

 เพราะว่ายังไม่มีสมาธิ อย่าเพิ่งไปทางปัญญา

 ถ้ายังไม่มีสมาธิก็ต้องมาทางสติก่อน

 มีสติแล้วก็จะมีสมาธิตามมา

พอมีสมาธิแล้วค่อยมาสร้างปัญญากัน

พอสร้างปัญญาได้ก็หลุดพ้นได้

 หลุดพ้นจากความทุกข์ความวุ่นวายใจ ต่างๆได้

นี่คือขั้นตอนของการปฏิบัติ ขอให้เราใจเย็นๆ

 มีคำพูดอยู่ว่า

กรุงโรมไม่ได้สร้างขึ้นมาภายในวันเดียว

 ฉันใดพระนิพพานก็ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว

 เกิดขึ้นจากการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง

จนสามารถเข้าสมาธิได้

อย่างง่ายดายและรวดเร็วทุกเวลาที่ต้องการจะเข้า

 แล้วพอออกจากสมาธิมาก็ให้ใช้ปัญญา

สังเกตดูแยกแยะดูว่า อะไรผิดอะไรถูก

อะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป

อะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ

ทั้งหมดนี้มันมีอยู่ภายในใจของเรา

ถ้ามองด้วยปัญญาก็จะเห็น

พอเห็นแล้วก็จะสามารถแยกแยะ

และกำจัดสิ่งที่เป็นโทษได้

ก็จะมีเหลือแต่สิ่งที่เป็นคุณเพียงเดียวอยู่ภายในใจ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

ธรรมะบนเขาวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗

“การศึกษาและเจริญมรรค ๘”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 กันยายน 2559
Last Update : 26 กันยายน 2559 10:15:25 น.
Counter : 630 Pageviews.

0 comment
### ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น ###










“ความพยายามอยู่ที่ไหน

ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

เวลาเราปฏิบัติธรรมวันไหนไม่สงบก็อย่าไปเสียใจ

 คิดว่าอย่างน้อยเราก็ได้ทำ

 เราได้พยายาม ก็ยังได้อยู่

ถ้าไม่ทำเลยนี้ถึงจะเรียกว่าไม่ได้เลย

 ดังนั้นอย่ายอมแพ้ อย่ายอม อย่าถอย

ทำไป จะได้มากได้น้อยก็ทำไป ทำบ่อยๆ

 แล้วมันจะได้มากขึ้นไปเอง

เพราะความชำนาญมันจะมีมากขึ้น

การฝึกหัดทำอะไรใหม่ๆ

 มันก็ล้มลุกคลุกคลานไปก่อน

เขียนหนังสือใหม่ๆ ก็เขียนผิดเขียนถูก

พอเขียนบ่อยๆ เข้าเดี๋ยวก็เขียนถูก

 ตัวอักษรก็สวย เพราะความชำนาญ

 ดังนั้นการฝึกฝนอบรม

จึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำกันบ่อยๆ

 ทำอยู่เรื่อยๆ อย่าท้อแท้อย่าไปมองที่ผล

 ให้ดูที่เหตุคือการฝึกฝนนี่แหละ

เป็นการสร้างผลขึ้นมาแล้ว ได้ผลขึ้นมาแล้ว

เพียงแต่การที่เรามาฝึกหัดมาฝึกฝนอบรมนี้

เราได้ผลแล้ว ได้ผลจากการได้มาฝึกฝนอบรม

ดีกว่า ปล่อยให้เวลาไปทำสิ่งที่ไร้สาระ

หรือสิ่งที่เป็นโทษกัน

มานั่งสมาธิดีกว่าไปนั่งกินเหล้ากัน

พูดง่ายๆ ถึงแม้ว่านั่งสมาธิแล้วจิตยังไม่สงบ

 ก็ดีกว่าไปนั่งกินเหล้ากัน

 เพราะนั่งสมาธิวันนี้ไม่สงบแต่นั่งไปเรื่อยๆ

ทั้งวันมันต้องสงบจนได้ เพราะมันจะจับประเด็นได้

 รู้เคล็ด ทำไปบ่อยๆ มันจะรู้ว่าผิดตรงไหน

 ถูกตรงไหน แล้วมันก็จะไปเสริมความถูก

แล้วมันก็จะไปตัดความผิดให้น้อยลงไป

 ต่อไปมันก็จะมีแต่ความถูก นั่งปุ๊บก็สงบได้เลย

 เหมือนขับรถใหม่ๆ ก็ขับแบบตะกุกตะกัก

 เหยียบเบรคเหยียบน้ำมันผิดบ้าง หัวทิ่มบ้าง

 แต่ต่อไปก็รู้ว่าต้องเหยียบแบบนี้

ต้องเหยียบอย่างนั้น

 แล้วต่อไปก็ชำนาญเอง

พอขึ้นรถปั๊บนี้พอสตาร์ทปั๊บก็วิ่งฉลุยเลย

อันนี้ก็เหมือนกันทุกสิ่งทุกอย่าง

อาศัยการฝึกฝนอบรม

 ความเพียรพยายามจะนำไปสู่ความสำเร็จ

 ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

 หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยความเพียร

 ฟังเทศน์ฟังธรรมเพียงอย่างเดียวยังไม่หลุด

 อย่างวันนี้มาฟังแล้วไม่เอาไปปฏิบัติ

ก็ยังไม่เห็นผลอะไร ถ้าไปปฏิบัติแล้ว

ผลอาจจะช้าบ้าง เร็วบ้าง มากบ้าง

 น้อยบ้างเดี๋ยวมันก็ได้เอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................

สนทนาธรรมะบนเขา

 วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๙








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 กันยายน 2559
Last Update : 26 กันยายน 2559 9:54:00 น.
Counter : 1095 Pageviews.

0 comment
### เจริญสติเพื่อหยุดความคิดเพื่อทำใจให้สงบ ###









“เจริญสติเพื่อหยุดความคิด

 เพื่อทำใจให้สงบ”

เวลาที่เราเจริญสติ อย่าไปคิด

ถ้าคิดแล้วก็อย่าไปเจริญสติให้มันเสียเวลา

เจริญไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 เราเจริญสติเพื่อหยุดความคิด

เพื่อทำใจให้สงบ

 เพื่อทำใจให้มีความสุข

 เพราะถ้าเราไม่มีความสุข

เราจะไม่มีความพอใจ

 เราจะไม่มีความพอใจกับการปลีกวิเวก

 กับการอยู่ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ

 เวลาเผลอไปคิดถึงทางของกิเลสตัณหา

ก็จะเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา

เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมา

จนทนไม่ได้ที่จะอยู่ในสภาพที่ไม่มี

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ไม่มีลาภยศสรรเสริญ

 แล้วก็จะต้องกลับไป

แสวงหาลาภยศสรรเสริญ

 แสวงหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่อไป

 การปฏิบัติก็ถือว่าล้มเหลว

ปฏิบัติแล้วไม่ได้อะไร

 เพราะว่าไม่มีความแน่วแน่

ต่อการเจริญสตินั่นเอง

ผู้ที่สามารถเจริญก้าวหน้าไปได้

ก็คือผู้ที่มีความแน่วแน่ต่อการเจริญสติ

จนสามารถดึงใจให้ออกจาก อิทธิพล

ของกิเลสตัณหาโมหะอวิชชา

 รวมเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่ความสุข

ที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขทั้งหลาย

 ความสุขที่ได้จากความว่างของใจ

พอได้ความสุขของสมาธิแล้ว

 เวลาออกจากสมาธิมา ก็จะมีกำลัง

ที่จะพิจารณาทางปัญญาได้

 จะมีกำลังที่จะต่อต้าน

โมหะอวิชชากิเลสตัณหา

 ที่จะดึงจิตให้คิดไปในทางของกิเลสตัณหา

ของโมหะอวิชชา จะสามารถดึงจิต

ให้คิดไปในทางที่พระพุทธเจ้า

ทรงสอนให้คิดได้

 ท่านให้พิจารณาร่างกายว่าไม่เที่ยง

ก็จะพิจารณาอยู่อย่างต่อเนื่อง

ว่าร่างกายนี้เกิดมาแล้ว

ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

 ล่วงพ้นความแก่ความเจ็บความตายไปไม่ได้

 เกิดมาแล้วต้องพลัดพรากจากของรัก

ของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวงไป

 จะพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จนมันไม่หลงไม่ลืม

ถึงจะเรียกว่าปัญญา

ถ้าพิจารณาเพียงครั้งสองครั้งแล้ว

บอกว่ารู้แล้ว

อย่างนี้ยังไม่ใช่เป็นปัญญา

 เพราะเดี๋ยวเวลาเกิดความแก่

ความเจ็บ ความตายขึ้นมา

 จิตจะเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา

 ถ้าเกิดความวุ่นวายใจ

 ก็แสดงว่าไม่มีปัญญาเสียแล้ว

 ปัญญาที่คิดว่าตนเองมีอยู่นั้น มันเป็นสัญญา

มันเป็นความจำ จำได้แล้วเดี๋ยวก็ลืมได้

ตอนที่พิจารณาตอนนั้นก็จำได้

จำได้ว่าเราเกิดมาแล้ว

ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

แต่พอหยุดพิจารณา

ความจริงที่ได้พิจารณาคือ

ความแก่ความเจ็บความตาย ก็จะจางหายไป

 พอไปพบกับความแก่ความเจ็บความตาย

ก็จะเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมาทันที

ถ้าเป็นปัญญาแล้ว

 เวลาพบกับความแก่ความเจ็บความตาย

 ใจจะเฉยเป็นอุเบกขา ใจจะว่างใจจะสงบ

 เหมือนกับเวลาที่อยู่ในสมาธิ

เพราะว่าปัญญานี่แหละ จะคอยควบคุมใจ

ให้อยู่ในความสงบ ให้อยู่ในความว่าง

 ไม่ให้เกิดวิภวตัณหาขึ้นมา

 คือความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย

 ถ้าไม่มีปัญญาก็จะเกิดความกลัวทันที

 เวลาคิดถึงความแก่

เวลาคิดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย

 เวลาคิดถึงความตาย จึงจำเป็น

จะต้องเจริญปัญญาอย่างสม่ำเสมอ

 เหมือนกับตอนที่เจริญสติ

 เวลาเจริญสติก็เจริญสติตลอดเวลา

 ยกเว้นเวลาที่ต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ก็หยุดเจริญสติชั่วคราว

 หยุดการบริกรรมชั่วคราว

 แล้วก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไป

 พอทำงานนั้นเสร็จแล้ว

ก็กลับมาบริกรรมใหม่

 เช่นเดียวกับการเจริญปัญญา

 พอออกจากสมาธิแล้วก็ให้เจริญปัญญา

 พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายอยู่เรื่อยๆ

 อยู่ตลอดเวลา จนมันติดอยู่กับใจตลอดเวลา

พอมองเห็นร่างกายทีไร

 ก็จะเห็นความแก่ความเจ็บความตายทันที

 อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นปัญญา

 พอเห็นแล้วว่าร่างกายนี้

จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายตลอดเวลา

 เวลาใดที่คิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย

 หรือเวลาที่เห็นความแก่ความเจ็บความตาย

 มันจะไม่สะทกสะท้านมันจะไม่หวั่นไหว

เพราะมันสามารถทำใจ

ให้เป็นอุเบกขาให้วางเฉยได้

 เพราะใจไม่ได้เป็นผู้แก่ผู้เจ็บผู้ตาย

ใจทำไมจะต้องไปหวั่นไหว

 ไปวุ่นวายกับความแก่ความเจ็บ

ความตายของร่างกาย

 ที่ไม่ใช่เป็นของใจไม่ใช่เป็นตัวใจ

ตัวใจคือตัวรู้ ร่างกายก็คือธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 เป็นอนัตตา เป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ แล้ว

ก็พอเวลาร่างกายตาย

 ก็เป็นเวลาแยกกันออกไป

ธาตุทั้ง ๔ ก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิม

 กลับสู่บ้านเดิมของตน น้ำก็กลับคืนไปสู่น้ำ

 ลมก็กลับคืนไปสู่ลม ไฟก็กลับคืนสู่ไฟ

 ดินก็กลับคืนสู่ดิน นี่คือปัญญา

 ต้องพิจารณาจนช่ำชอง

จนเป็นอาวุธคู่กายคู่ใจ

 คือเวลาเห็นร่างกาย

ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม

 จะเห็นความแก่ความเจ็บ

ความตายขึ้นมาทันที

จะรู้ทันทีว่าร่างกายนี้

ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายทันที

 ไม่มีวันหลงไม่มีวันลืม เมื่อไม่หลงไม่ลืมแล้ว

 จะไปกลัวความแก่ความเจ็บความตายได้อย่างไร

 เพราะความกลัวนี้ก็เป็นความทุกข์

ที่เกิดจากความอยากไม่แก่

อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย

 ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาก็จะไม่ปล่อยให้ใจทุกข์

ไปตามอำนาจของความอยาก

 ก็จะระงับความอยาก พอไม่มีความอยาก

ก็จะไม่มีความกลัว

 ไม่มีความกลัวก็จะไม่มีความทุกข์

นี่แหละเรียกว่าปัญญาอย่างแท้จริง

 ต้องเป็นปัญญาที่

รักษาใจให้สงบได้ตลอดเวลา

 ใจไม่วุ่นวายไปกับสิ่งต่างๆ

ที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

ไม่วุ่นวายไปกับร่างกายที่เกิดแก่เจ็บตาย

 แล้วก็เป็นอสุภะคือไม่สวยไม่งาม

ความสวยความงามนี้เป็นเหมือนกับกระดาษ

ที่เราเอาอุจจาระมาห่อ

เอากระดาษสวยๆมาห่ออุจจาระ

 ถ้ามองจากข้างนอกก็จะเห็นกระดาษสวยๆ

 ก็คิดว่าห่อขนมที่เอร็ดอร่อย

 แต่พอแกะกระดาษออกดู

 ถึงไปเจออุจจาระที่ห่อไว้อยู่ ฉันใด

 ร่างกายนี้ก็เหมือนกับกระดาษ

ที่ห่อหุ้มสิ่งสกปรก

 สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม

อะไรที่หุ้มห่อสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม

 ก็คือหนังบางๆนี่เอง

 ผิวหนังบางๆนี้ที่หุ้มห่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย

 หุ้มห่อเนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก

ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่

 ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า

 เยื่อในสมองศีรษะ

และน้ำต่างๆ ที่ถูกหนังหุ้มห่อเอาไว้

 จึงไปหลงคิดว่า หนังที่สวยงามนี้

เป็นสิ่งที่สวยงาม หนังที่หุ้มห่อสิ่งที่สกปรก

สิ่งที่น่าเกลียดนี้ กลับมองไม่เห็น

ก็เหมือนกับกระดาษสวยๆ

ที่เราเอามาห่ออุจจาระนี้

 ห่อแล้วก็ติดริบบิ้นแล้ว

ก็เขียนการ์ดอวยพรวันเกิด

 ลองส่งไปให้เพื่อนที่มีวันเกิดดู

 ดูซิว่าเขาจะยินดีหรือไม่

 พอเปิดกระดาษดูนี้เป็นลมเลย

 อันนี้ก็เหมือนกัน

ร่างกายนี้ลองเปิดกระดาษ คือผิว

ลองฉีกผิวออกมาดู แกะผิวออกมาดู

 แล้วดูซิว่ามันจะน่าดูไหม ใต้ผิวหนังคืออะไร

ก็คือเนื้อเอ็นอะไรต่างๆ ใต้เนื้อเอ็นคืออะไร

 ก็คือกระดูก ใต้กระดูกอวัยวะต่างๆ

มันอยู่ที่ตรงไหน มันก็อยู่ภายใต้ผิวหนังนี่เอง

 แต่กลับมองไม่เห็นกัน

กลับมาหลงใหลคลั่งไคล้

 มาประกวดกันว่าสวยว่างาม

 มีรางวงรางวัลออกอากาศ

ผ่านทั่วโลกไปทุกประเทศ

 ใครๆก็หลงใหลคลั่งไคล้กันว่าสวยว่างาม

 นั่นก็เป็นเพราะว่า

ดูแต่กระดาษที่หุ้มห่ออุจจาระ

 ไม่แกะกระดาษดูกัน ไม่แกะผิวหนังออก

ไม่มองเข้าไปใต้ผิวหนังดูกัน จึงมองไม่เห็น

ความไม่สวยไม่งามของร่างกาย

อันนี้ก็คือปัญญาเหมือนกัน

 ปัญญาที่ต้องพิจารณา

 จนเวลามองเห็นร่างกายของใคร

ไม่ว่าจะของตนเองหรือของผู้อื่น

 ก็จะเห็นเป็นอสุภะไปหมด

เห็นอาการ ๓๒ ถ้าเห็นแล้ว

ใจก็จะไม่กระเพื้อม

 ใจก็จะไม่วุ่นวาย

ใจก็จะไม่มีความคลั่งไคล้หลงใหล

 กับรูปร่างหน้าตาของร่างกาย

 ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม

 นี่แหละเรียกว่าปัญญา

 ต้องเห็นอย่างต่อเนื่องเห็นตลอดเวลา

ไม่ใช่เห็นเฉพาะเวลาที่อยู่ตามลำพังพิจารณา

 พอออกมาข้างนอก

พบปะผู้คนมองไม่เห็นเสียแล้ว

 อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่ปัญญาเรียกว่าสัญญา

 ถ้าปัญญาต้องเห็นตลอดเวลา

 เวลาพิจารณาอยู่ตามลำพัง

อยู่ในทางเดินจงกรม

 อยู่ในขณะเวลานั่งสมาธิ

อย่างนี้ยังไม่เรียกว่าเห็นจริง

จะเห็นจริงต้องเห็นเวลาที่เจอร่างกาย

 ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใครก็ตาม

 พอเห็นปุ๊บนี้ ต้องเห็นความแก่

 เห็นความเจ็บ เห็นความตาย เห็นธาตุ ๔

เห็นดินน้ำลมไฟ แยกออกมาจากร่างกาย

เห็นอสุภะ เห็นอาการ ๓๒

 ที่ถูกผิวหนังปกปิดหุ้มห่อไว้อยู่

 นี่แหละถึงจะเรียกว่าเห็นจริง

ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว ตัณหาความอยากนี้

จะไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้

 เมื่อไม่มีตัณหาความอยาก ใจก็จะไม่วุ่นวาย

ใจก็จะสงบ ใจก็จะอยู่กับความว่างได้

ใจก็จะอยู่กับความสุขที่แท้จริงได้

นี่คือหน้าที่ของปัญญาในการที่จะรักษาใจ

 ที่ได้พบกับความสุขได้พบกับความว่างแล้ว

เวลาออกจากความว่างมา

ก็ให้รักษาความว่างต่อไป

เวลาออกจากความสงบแล้ว

 ก็ให้รักษาความสงบไว้ต่อไป

 ด้วยการเจริญปัญญา

 ใช้ปัญญาคอยสกัดกั้นกิเลสตัณหา

 ตัวที่จะทำให้ใจกระเพื้อมขึ้นมา

ทำให้ใจออกจากความว่าง

ออกจากความสงบ

 เข้าสู่ความวุ่นวายใจต่อไป

นี่คือวิธีการของการที่เราจะเข้าหาความว่าง

เข้าหาความสุขที่แท้จริง

ต้องทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมา

และนำเอาวิธีของการปฏิบัติมาเผยแผ่

 มาสั่งสอนให้แก่ผู้ที่สนใจ

 ที่อยากจะได้สัมผัส

กับความสุขที่เกิดจากความว่าง

 อยากจะสัมผัสกับความสุขที่ยิ่งใหญ่

กว่าความสุขทั้งหลาย ที่เรียกว่า ปรมัง สุขัง

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

กัณฑ์ที่ ๔๘๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๗

“ความว่าง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 กันยายน 2559
Last Update : 25 กันยายน 2559 19:54:21 น.
Counter : 661 Pageviews.

1 comment
### การตัดภพตัดชาติ ###








“การตัดภพตัดชาติ”

ถาม : การภาวนาทำไมจึงสามารถ

ย่นภพย่นชาติให้สั้นน้อยลงได้

พระอาจารย์ : ก็เหมือนกับกองฟืนกองไฟ

 ถ้าเราไม่เติมฟืนเข้าไป ไฟมันก็จะค่อยๆ หมดไป

ถ้าเรายังคอยเติมฟืน เข้าไปในกองไฟอยู่เรื่อยๆ

 ไฟมันก็จะไม่ลดน้อยลง ไม่ดับ ฉันใด

การปฏิบัติด้วยการลดตัณหาละตัณหานี้

 ก็เป็นการตัดภพตัดชาติคือ

ตัณหานี้เป็นเหมือนเชื้อ

ของภพชาตินี้เป็นเหมือนเชื้อไฟ

ถ้าเราโยนเชื้อไฟ เข้าไปในกองไฟ

ไฟมันก็จะลุกต่อไป

 ความอยากนี้ก็เป็นเหมือนตัวที่จะพาให้เราไปเกิด

ไปต่อภพต่อชาติ ถ้าเรายังไม่ลดความอยาก

 เรายังเติมความอยากอยู่เรื่อยๆ

ภพชาติมันก็จะมีอยู่ไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าเราเริ่มตัดความอยากลงไป

ลดความอยากให้น้อยลงไป

ภพชาติมันก็จะน้อยลงไป

มันอยู่ตรงที่ความอยากนี้

ความอยากนี้เป็นเชื้อที่จะทำให้มีภพมีชาติ

 ถ้าอยากจะลดภพชาติก็ต้องลดความอยากลงไป

 เช่นคนที่ทำทานได้ก็ลดภพชาติลงไปหน่อย

รักษาศีล ๕ ได้ก็ลดไปอีกหน่อย

 รักษาศีล ๘ ได้ก็ลดไปอีกหน่อย

ถ้าเจริญสตินั่งสมาธิได้ก็ลดไปอีก

ถ้าเจริญปัญญาได้ก็จะลดได้หมดเลย

การปฏิบัติทั้งหมดที่พระพุทธเจ้า

ทรงสอนให้ปฏิบัตินี้มีเป้าหมายอยู่ที่การลดตัณหา

ความอยากทั้ง ๓ ตัวที่เป็นต้นเหตุ

ของการเวียนว่ายตายเกิด

ก็คือกามตัณหา ความอยากในกาม

ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น

 และวิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

 ถ้าเรายังมีความอยากทั้ง ๓ อยู่ในใจนี้

และทำตามความอยากทั้ง ๓ นี้อยู่

ก็เท่ากับต่อภพต่อชาติให้ยาวออกไปเรื่อยๆ

ถ้าเราสามารถลดหรือตัดตัณหาทั้ง ๓ นี้ให้น้อยลงไป

 แล้วก็จะทำให้ภพชาติมีเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ

 จนหมดไปในที่สุดได้

สามารถทำให้มันหมดภายในชาตินี้เลย

ถ้ามีพระพุทธศาสนาเป็นผู้นำทาง

เป็นโอกาสเดียวนี้เท่านั้นแหละ

ที่จะสามารถปฏิบัติตัดภพตัดชาติให้หมดไป

ภายในชาตินี้ได้ ต้องมีพระพุทธศาสนาเป็นผู้นำทาง

 เป็นผู้สอน ถ้ามาเกิดในยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนา

 ก็จะไม่มีโอกาสที่จะสามารถตัดภพตัดชาติ

ให้หมดไปได้ภายในชาตินี้

 เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนั่นเอง

ต้องมีพระพุทธศาสนาเป็นผู้รู้ทางเป็นผู้บอกทาง

 แล้วก็จะได้สามารถตัดภพตัดชาติ

ให้หมดไปภายในชาตินี้

ชาตินี้จึงเป็นชาติที่วิเศษที่สุดประเสริฐที่สุด

ซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้นมาได้สักครั้งหนึ่ง

 เพราะว่าพระพุทธศาสนานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาบ่อยๆ

 นานๆ จะเกิดขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง

 ท่านบอกว่าเวลาเป็นกัปนี้ เป็นเวลาที่ยาวนานมาก

 ที่เราไม่สามารถเขียนด้วยตัวเลขได้ว่า

ยาวขนาดไหนต้องใส่เลขศูนย์เข้าไปกี่เลขศูนย์ด้วยกัน

ดังนั้นการที่เราได้มาพบกับพระพุทธศาสนาในชาตินี้

จึงถือว่าเป็นเหมือนกับถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑

 ไม่ใช่เป็นของง่ายที่จะถูกได้

และถูกได้ด้วยกันทุกคนด้วย

ไม่ใช่ถูกได้เพียงคนเดียวลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑

ส่วนใหญ่จะถูกกันเพียงคนสองคนเท่านั้น

 แต่ลอตเตอรี่ทางพระพุทธศาสนานี้ถูกกันได้ทุกคนเลย

 ใครก็ตามถ้าได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

แล้วมีศรัทธาที่จะปฏิบัติตามก็จะได้รับรางวัล

คือการตัดภพตัดชาติ ให้หมดไปภายในชาตินี้เลย

 ดังนั้นพวกเราอย่าเสียเวลากับเรื่องราวต่างๆ

 ตอนนี้ทิ้งไปก่อน เอาเรื่องนี้ให้ได้ก่อน

 สมมุติว่าเราทุ่มเทเวลาให้กับเรื่องนี้แล้ว

ถ้าเรายังไม่สำเร็จเราก็กลับมาเกิดใหม่

 แล้วมายุ่งกับเรื่องอื่นต่อไปก็ได้

 เช่นกับมาเกิดชาติใหม่ ไม่มีพระพุทธศาสนา

อยากจะยุ่งกับเรื่องการหาความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกายต่อไปก็ทำได้

แต่ถ้าอยากจะหาการหลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิดก็ต้องทำในชาตินี้เท่านั้น

 เพราะจะสามารถ ทำให้มันสำเร็จได้

ภายในชาตินี้เลย

 ถ้าเราไม่ทำตอนนี้กลับมาเกิดคราวหน้า

 ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา เราก็จะไม่สามารถ

ที่จะทำให้มันเสร็จได้ภายในชาตินี้

ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ

ไม่รู้อีกยาวนานเท่าไร

จนกว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าเอง

หรือจนกว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาเองเท่านั้น

 จึงจะสามารถตัดภพตัดชาติให้หมดไปจากใจได้

เราจึงไม่ควรปล่อยโอกาสอันเลิศอันวิเศษนี้

ให้หลุดจากมือเราไป รีบตักตวงเสีย

ด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ด้วยการปฏิบัติมรรค ๘ ให้เต็มที่ตั้งแต่บัดนี้ไป

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขาวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗

“การศึกษาและเจริญมรรค ๘”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 กันยายน 2559
Last Update : 25 กันยายน 2559 10:48:46 น.
Counter : 1303 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ