Group Blog
All Blog
### ธรรมที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรม ###









“ธรรมที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรม”

ธรรมที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงธรรมทั้ง ๔ ขั้นนี้

ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นมรรค

 วิถีทางเดินสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์

ทาน ก็คือการให้ มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน

คือ ๑. ให้วัตถุ เรียกว่าวัตถุทาน

 ๒. ให้วิชาความรู้ เรียกว่าวิทยาทาน

๓. ให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคืองผู้ที่ล่วงเกินตน

 เรียกว่าอภัยทาน

 และ ๔. ให้ความรู้ทางด้านธรรมะ

อย่างในขณะนี้ญาติโยมกำลังฟังธรรมะกันอยู่

 การแสดงธรรมนี้เป็นการให้ธรรมะ

เรียกว่า ธรรมทาน นี่คือทานทั้ง ๔ ชนิด

ที่ผู้ปฏิบัติสามารถจะให้ได้

 ขึ้นอยู่กับตนว่ามีสิ่งใดที่จะให้ ก็ให้สิ่งนั้นไป

 ส่วนศีล ก็คือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

นี่คือศีล คือการละเว้น

จากการสร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่น

ด้วยกาย ด้วยวาจา เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

 การลักทรัพย์ การประพฤติผิดประเวณี

การพูดปดมดเท็จ การเสพสุรายาเมา

 นี่เป็นการกระทำที่จะสร้างความเดือดร้อน

ให้กับผู้อื่น แล้วความเดือดร้อนนั้น

ก็จะย้อนกลับเข้ามาหาตนเอง

ธรรมะที่จะต้องปฏิบัติขั้นที่ ๓ เรียกว่า ภาวนา

 การบำเพ็ญจิต หรือการพัฒนาจิตใจ

 ด้วยการกำจัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐

 ให้ออกไปจากจิตจากใจ แบ่งเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน

เรียกว่า ๑. สมถภาวนา

 และ ๒. วิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนาคือการทำจิตใจให้สงบ

ด้วยการกำหนดรู้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

 เช่น คำบริกรรม พุทโธๆๆ อยู่ในใจ

โดยให้มีสติระลึกรู้อยู่กับคำภาวนาพุทโธๆๆ

ไม่ให้จิตเถลไถลแว้บออกไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ

 ให้อยู่กับคำว่าพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ

แล้วคำว่าพุทโธๆๆนี้

ก็จะนำพาจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบเป็นหนึ่ง

 เมื่อสงบแล้วจิตก็จะมีความสุข

มีความปีติ มีความสบาย

 เปรียบเสมือนว่าในขณะนั้นไม่มีกิเลสตัณหา

ผู้ที่สร้างความวุ่นวายใจหลงเหลืออยู่เลย

 แต่ในความจริงแล้ว

เป็นเพียงแต่การทำให้กิเลสตัณหา

หรือสังโยชน์ทั้งหลายนั้น

สงบตัวลงไปเท่านั้นเอง แต่ยังไม่ได้ทำลาย

 ยังไม่ได้ขุดรากถอนโคนออกมา

ผู้ที่สามารถกำจัดกิเลสตัณหา

สังโยชน์ทั้งหลาย

ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจได้

ต้องบำเพ็ญภาวนาอีกขั้นหนึ่ง

เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา

 การเจริญจิตให้มีความเห็นที่ถูกต้อง

 ให้รู้ทันสภาวธรรมทั้งหลายว่า

 ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น

 ไม่ว่าอะไรทั้งหลายที่จิตเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

 เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ธรรมารมณ์ทั้งหลาย ที่มาสัมผัสกับตา

 หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น

คือไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

 เป็นทุกข์ ถ้าไปยึดไปติด ไม่มีตัวตน

รวมไปถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 ก็เป็นสภาวธรรมที่จิตเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

 ทุกๆคนที่เกิดมานี้ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร

 วิญญาณด้วยกันทั้งนั้น รูป

ก็คือร่างกายของเราที่มีอาการ ๓๒ เช่น

 ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น

 เวทนา ก็คือความรู้สึก สุขบ้าง ทุกข์บ้าง

ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง

สังขาร ก็คือความคิดปรุงแต่ง

คิดเรื่องดีบ้าง คิดเรื่องชั่วบ้าง

สัญญา คือความจำได้หมายรู้

จำว่าคนนั้นเป็นใคร จำได้สิ่งนี้เป็นอะไร

 วิญญาณ ก็คือการรับรู้

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ธรรมารมณ์ที่มาปรากฏในใจ

 ธรรมะเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่

ไม่เที่ยงแท้แน่นอนทั้งสิ้น

 ร่างกายเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

 เวทนาคือสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์

 ก็สลับผลัดเปลี่ยนกันเกิดขึ้น

 มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง มีไม่สุขมีไม่ทุกข์บ้าง

 สังขารก็คือความคิดปรุงก็คิดไปในทางที่ ดีบ้าง

 คิดไปในทางที่ไม่ดีบ้าง

สัญญาก็จำแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็จำ

วิญญาณก็รับรู้รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ

ธรรมารมณ์แล้วก็ดับไป

 สิ่งเหล่านี้มีการเกิดดับ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

 ไม่มีอะไรอยู่เที่ยงแท้แน่นอนไม่มีตัวไม่มีตน

 ท่านเปรียบเหมือนกับแสงของหิ่งห้อย

 ที่เกิดดับ เกิดดับในยามค่ำคืน

ฉันใด รูป เวทนา สัญญา สังขาร

 วิญญาณก็เป็นเช่นนั้น

 รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์

ก็เป็นเช่นนั้น

ผู้ปฏิบัติแล้วไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งเหล่านี้ได้

จำต้องพิจารณาให้เห็น

ถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 ให้เห็นว่าไม่มีตัวไม่มีตน

เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้วจะได้ปล่อยวาง

ถ้าไปยินดีแล้วจะต้องเกิดความทุกข์

 ความเสียใจตามมา

 เพราะเหตุใด สิ่งใดที่เรารักเราชอบ

 เราไปยินดี เราก็อยากจะให้สิ่งนั้น

อยู่กับเราไปตลอด

แต่เมื่อสิ่งนั้นได้แปรปรวน เปลี่ยนไป หายไป

 ความเศร้าโศกเสียใจก็จะต้องตามมา

ถ้าพิจารณาเห็นว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง

เป็นของไม่เที่ยง ล้วนไม่มีตัวไม่มีตนแล้ว

 ก็จะปล่อยวาง เมื่อปล่อยวางก็จะไม่ทุกข์

กับการแปรปรวน กับการสูญเสีย

กับการล่มสลายหมดไป

ของสภาวธรรมทั้งหลาย

 เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็จะหลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเอง

นี่ก็คือเครื่องมือที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ให้พุทธศาสนิกชนนำไปปฏิบัติ

ด้วยการศึกษาร่ำเรียนในเบื้องต้น

 เมื่อศึกษาแล้วก็นำไปปฏิบัติ

เช่น ทานก็ให้ทำอย่างสม่ำเสมอ

 ไม่จำเป็นจะต้องรอวันที่เป็นวันพระ

ถึงจะมาทำทาน

 เพราะชีวิตของเรานั้นมีเหตุการณ์

ที่จะต้องทำทานอยู่เสมอ

 เวลาไปเจอคนเดือดร้อน

พอที่จะช่วยเหลือเขาได้ ก็ควรช่วยเหลือกัน

 มีอะไรพอที่จะแบ่งปันให้กันได้ ก็ให้กันไป

เพราะถ้าไม่ทำทานแล้วการจะรักษาศีล

ซึ่งเป็นธรรมขั้นต่อไปก็จะเป็นไป

ด้วยความยากลำบาก

เพราะผู้ที่ไม่ทำทานนั้น

จะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยคำนึงถึงหัวอกของผู้อื่นนั่นเอง

 มัวแต่คิดถึงความต้องการของตนเอง

 คิดถึงประโยชน์สุขของตนเอง

ก็จะไม่ค่อยสนใจถึงความทุกข์

 ความเดือดร้อนของผู้อื่น

 เวลาจะทำอะไรก็ไม่สนใจ

ว่าจะไปกระทบไปสร้างความเดือดร้อน

กับผู้อื่นหรือไม่

ตราบใดถ้าได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ

แม้จะต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

 แม้จะต้องขโมย

 แม้จะต้องประพฤติผิดประเวณี

 แม้จะต้องโกหกหลอกลวงก็จะทำ

เพราะเป็นคนที่ไม่มีความเมตตานั่นเอง

คนที่ไม่มีความเมตตา

ไม่ชอบทำบุญให้ทาน

ย่อมไม่สามารถที่จะก้าวขึ้นสู่

ธรรมขั้นสูงต่อไป คือการมีศีลได้

จึงต้องมีการทำบุญให้ทานเป็นเบื้องต้นก่อน

 เพราะเมื่อทำบุญให้ทานแล้ว

จิตใจก็จะประกอบด้วยความเมตตา

 จะมีความกังวล มีความห่วงใย

กับความรู้สึกของผู้อื่น

 เวลาจะทำอะไรก็จะต้องคิดเสมอว่า

 เมื่อทำไปแล้วสร้างความเดือดร้อน

ให้กับผู้อื่นหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนั้น

ก็จะเป็นผู้ที่มีศีลขึ้นมาโดยปริยายนั้นเอง

 ผู้ที่มีศีลมีทานแล้วจิตใจย่อมสงบ

ไม่ค่อยฟุ้งซ่านเท่าไหร่

 ไม่ค่อยวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆทั้งหลาย

 เพราะไม่มีเหตุที่จะทำให้

เกิดความวุ่นวายนั่นเอง

 คนที่ไปทำผิดศีลแล้วนั้น

 มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความกังวล

 เช่นไปทำร้ายผู้อื่นก็ต้องกังวลว่า

ผู้ที่ถูกทำร้ายจะมาทำร้ายเราหรือไม่ต่อไป

 ไปทำผิดอะไร ก็ต้องกลัวว่าจะต้องถูกจับได้

ถูกเอาไปลงโทษ

จิตใจก็จะมีแต่ความวุ่นวาย

 เมื่อมีความวุ่นวาย เวลาจะไปทำสมถภาวนา

ก็จะทำได้ยาก ไม่สามารถที่จะทำได้เลย

 เพราะว่าจิตไม่มีศีลเป็นเครื่องรองรับนั่นเอง

แต่ผู้ที่มีศีลแล้ว เวลาที่จะทำจิตให้สงบนั้น

 ก็จะไม่มีอุปสรรคมากนัก

เพราะโดยธรรมชาติของจิต

ที่ไม่สร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น

ก็ไม่มีเหตุที่ทำให้เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่แล้ว

 พอกำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

 เช่น คำบริกรรม พุทโธๆๆ

ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมลงเป็นหนึ่ง

 เป็นเอกัคตารมณ์ มีความสุข ความสงบ

ตั้งมั่นอยู่ เป็นสมาธิขึ้นมา

เมื่อจิตมีฐานแห่งสมาธิแล้ว

ถ้าจะนำไปใช้ในการกำจัดกิเลสตัณหา

 ตัวที่สร้างความทุกข์ ความวุ่นวายใจ

 ก็จะสามารถทำได้อย่างง่ายดาย

เพราะกิเลสตัณหานี้เกิดจากความหลง

จะดับความหลงได้ก็จะต้องใช้ปัญญา

ทางวิปัสสนานั่นเอง

คือจะต้องศึกษาถึงสภาวธรรมทั้งหลาย

ให้เห็นไตรลักษณ์ให้ได้

ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้น

ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น

ถ้าเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว

 ความหลงก็จะสูญสลายไป

เมื่อความหลงสูญสลายไป

ความโลภความอยากก็จะไม่มีปรากฏขึ้นมา

 ความหลงนี้มักจะเห็นตรงข้ามกับความจริง

 เห็นความเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง

 เห็นความสุขในกองทุกข์

ในสิ่งที่มีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่

เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน

 เมื่อมีความหลงแล้วก็จะต้องมีอุปาทาน

 ความยึดมั่นถือมั่น เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่น

ก็ต้องมีความอยากที่จะให้

สิ่งที่ตนเองยึดติดอยู่นั้น

 อยู่ไปกับตนตลอดเวลา

 แต่ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้

 เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้น

 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

 ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

ไม่มีใครไปกำหนดบังคับ

ให้เป็นไปตามความต้องการของตนได้

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะต้องมีความทุกข์

ตามมาอย่างแน่นอน

แต่ถ้าเจริญวิปัสสนาภาวนา

คือพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่มาเกี่ยวข้องกับตน

เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 ธรรมารมณ์ทั้งหลาย ที่มาสัมผัสว่า

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว

 ก็จะไม่ยึดไม่ติด

 รู้ทันทันทีว่าเขาอยู่กับเราไม่นาน

 เขามาแล้วเดี๋ยวเขาก็ไป

อย่างตาของท่านตอนนี้มองอยู่

ก็จะเห็นรูปแบบหนึ่ง

เดี๋ยวอีกสักครู่หนึ่งรูปที่เห็นนั้นก็จะเปลี่ยนไป

 เช่น เวลาลุกออกไปจากศาลานี้

รูปที่เห็นในศาลานี้ก็จะหมดไปอย่างนี้เป็นต้น

 ต้องรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง มีการหมดสิ้นหมดไป

 ไม่มีอะไรคงเส้นคงวา

ล้วนแต่จะต้องมีการสูญสลายหมดไปทั้งสิ้น

 เช่น สังขารร่างกายของเราก็เป็นอย่างนั้น

 เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

เวลาตายเขาก็เอาไปเผาไฟ

ก็กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป

 ไม่มีร่างกายของใครที่จะอยู่ไปได้ตลอด

อยู่ค้ำฟ้าไปได้ จะต้องแยกแตกสลาย

กลับไปสู่ธาตุเดิม คือดิน น้ำ ลม ไฟ

ผู้เจริญวิปัสสนาจะรู้ทัน จะไม่ยึดไม่ติด

 จะปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริง

เวทนาก็เช่นกัน เวลาสุขก็ไม่ยึดติดกับความสุข

 เวลาทุกข์ก็ไม่รังเกียจกับความทุกข์

เปรียบเหมือนกับความมืดกับความสว่าง

 เวลาพระอาทิตย์ขึ้นมามีแสงสว่าง

ก็ไม่ยึดติดกับแสงสว่าง

 เวลาพระอาทิตย์ตกลงไปความมืดกลับคืนมา

 ก็ไม่รังเกียจความมืด

 อยู่ได้ทั้งกับความมืดทั้งกับความสว่าง

 ฉันใดสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เป็นอย่างนั้น

 อย่าไปยินดีกับความสุข

เพราะถ้าเกิดยินดีกับความสุข

ก็เท่ากับยึดติดอยู่กับความสุข

เมื่อความสุขนั้นหมดไป

ก็จะเกิดความทุกข์ตามมา

 ก็จะเกิดความเดือดร้อน เกิดความวุ่นวายใจ

แต่ถ้าไม่ยึดติดกับความสุข สุขมาก็รู้ว่ามา

 รู้ว่ามาเพื่อไป เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่หวัง

 ให้อยู่กับตนไปตลอด

 ก็ปล่อยไปตามเรื่องของเขา

ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว จิตก็ไม่มีความทุกข์

 ที่เกิดจากอุปาทาน ความยึดมั่น

ติดอยู่กับเวทนา ส่วนสัญญา สังขาร วิญญาณ

 ก็เป็นแบบเดียวกัน เขาเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป

 ให้รู้ทันแล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปยึดอย่าไปติด

 อย่าไปยินดียินร้ายกับเขา

อย่าไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

เพราะเราไปควบคุมบังคับให้เป็นไป

ตามความต้องการไม่ได้นั่นเอง

นี่คือการเจริญวิปัสสนาภาวนา

 ให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆตลอดเวลา

 เท่าที่จะสามารถทำได้ ถ้าจิตรู้สึกว่ามีความฟุ้งซ่าน

คือพิจารณาเกินขอบเขตของเหตุของผล

ก็ให้ย้อนจิตกลับมาสู่สมถภาวนา

 ทำจิตให้สงบเสียก่อน

เปรียบเหมือนกับเครื่องยนต์ที่วิ่งไป

แล้วมันร้อนมากจนเกินไป

ก็หยุดพักเครื่องสักพักหนึ่งก่อน

 ให้เครื่องเย็นแล้วค่อยติดเครื่องทำงานต่อไป

 การเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็เป็นเช่นนั้น

ถ้าภาวนาโดยไม่หยุดไม่หย่อน

พิจารณาโดยไม่หยุดไม่หย่อนไม่ช้าก็เร็ว

ก็จะเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา เลยเหตุเลยผล

ไม่สามารถเห็นตามความเป็นจริงได้

 อย่างนั้นก็ควรที่จะหยุดพัก

ย้อนจิตกลับมาสู่สมถภาวนา

 กำหนดจิตให้อยู่กับพุทโธๆๆ

 เมื่อจิตสงบตั้งมั่นอยู่ ก็ปล่อยให้สงบ

จนกว่าจิตจะอิ่มจะพอ แล้วก็จะถอนออกมา

 จากความสงบนั้น หลังจากนั้นแล้ว

จิตก็พร้อมที่จะไปทำงาน

ในทางด้านวิปัสสนาภาวนาต่อไป

 ก็ย้อนกลับมาพิจารณาธรรมต่อไป

 จะพิจารณาร่างกายก็ได้

ดูอาการ ๓๒ ให้เห็นว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม

 ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่จะต้องแตกต้องดับ

อย่างนี้เป็นต้น

 พิจารณาไปเรื่อยๆ พิจารณากลับไปกลับมา

จนกว่า จะเห็นชัดอยู่ในจิต

หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว

ก็จะสามารถเอาชนะความเห็นผิดได้

 แล้วก็จะปล่อยวาง หลุดพ้นจากทุกข์ไปในที่สุด

 เป็นการบรรลุธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๑๘๗ วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๗

 (กำลังใจ ๑๔)

“บรรลุธรรม”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 20 ตุลาคม 2559
Last Update : 20 ตุลาคม 2559 5:14:10 น.
Counter : 604 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ