Group Blog
All Blog
### จิตรวมเป็นสมาธิเป็นอย่างไร? เวลาจิตถอนเป็นอย่างไร? ###










“จิตรวมเป็นสมาธิเป็นอย่างไร

 เวลาจิตถอนเป็นอย่างไร”

ถาม : จิตรวมลงเป็นสมาธิเป็นอย่างไร

 และเวลาจิตถอนตัวออกจากสมาธิเองเป็นอย่างไร

พระอาจารย์ : ก็จิตรวมลงเป็นสมาธิ

เหมือนเวลาที่เราตีกอล์ฟลงเข้าไปในหลุม

เวลาลูกมันลงหลุมแล้ว

 มันก็ไม่กลิ้งไปไหนแล้วใช่ไหม

แต่ถ้ามันยังไม่ลงหลุมนี้บางทีมันก็กลิ้งลงเขา

กลิ้งไปทางโน้น กลิ้งมาทางนี้ได้

จิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้าสมาธิแล้ว

มันก็เหมือนกับตกลงไปในหลุมในบ่อ

แล้วมันก็จะนิ่ง มันก็จะไม่ไปคิดปรุงเเต่ง

 เรียกว่าจิตรวมเป็นสมาธิ

การใช้สตินี้ก็เป็นการต้อนจิต

ให้เข้าไปในหลุมนี่เอง

ดึงมันเข้าไปในหลุมพุทโธๆไป

 ถ้าเราไม่พุทโธๆ มันจะออกไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ไปทางรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ

 มันก็จะไม่เข้า มันก็จะไม่ลงหลุม

 แต่ถ้าเราใช้พุทโธดึงเอาไว้

เหมือนกับเราต้อนมันเข้ามาให้มันอยู่แถวปากหลุม

 พอเรามีเวลาว่างนั่งเฉยๆ พุทโธๆ๒ ปั๊บ

 มันก็ลงไปในหลุมเลย พอลงไปในหลุมแล้ว

มันก็จะว่างไม่คิดปรุงเเต่งจะสักแต่ว่ารู้

 รู้แล้วก็อุเบกขาจะอิ่ม จะพอจะมีความสุข

 อันนี้แหละคือสมาธิ แล้วมันอยู่ได้สักพักหนึ่ง

มันก็จะถูกกิเลสตัณหา ดันออกมา

คือตัณหากิเลสมันจะคอยดันจิตออกไป

ทางรูป เสียง กลิ่น รส

พุทโธคือสติก็พยายามจะดันมัน เข้าไปในสมาธิ

 ทีนี้พุทโธของเรามันก็มีกำลังอยู่ในระดับหนึ่ง

 พอดันเข้าไปอยู่ได้สักพักหนึ่งมันก็จะหมดกำลัง

 กิเลสมันมีกำลังมากกว่า

มันก็ดันให้จิตออกจากสมาธิมา

 ถ้าเราอยากจะกลับเข้าไปใหม่

เราก็ต้องบริกรรมพุทโธใหม่

แล้วเดี๋ยวมันก็จะกลับเข้าไปใหม่ได้

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๗

“การตัดภพตัดชาติ”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 17 ตุลาคม 2559
Last Update : 17 ตุลาคม 2559 9:57:03 น.
Counter : 823 Pageviews.

0 comment
### ทดแทนบุญคุณที่ยิ่งใหญ่ ###









“ทดแทนบุญคุณที่ยิ่งใหญ่”

วันออกพรรษา

พระพุทธเจ้าจึงเสด็จลงจากสวรรค์

 ลงมากลับมาสู่โลกมนุษย์

หลังจากที่ได้ทรงขึ้นไปโปรด

พระพุทธมารดา อยู่ ๓ เดือนด้วยกัน

ขึ้นไปสั่งสอนธรรมให้แก่พระพุทธมารดา

ด้วยความกตัญญูกตเวที

ถึงแม้ว่าพระมารดาจะอยู่กับพระราชโอรส

ได้เพียง ๗ วันพระมารดาก็เสด็จสวรรคตไป

แต่การให้กำเนิดนี้

ก็ถือว่าเป็นพระคุณอันใหญ่หลวง

 พระพุทธเจ้าจึงมีความปรารถนา

ที่ทดแทนบุญคุณ ให้แก่พุทธมารดา

 และวิธีที่จะทดแทนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 ก็มีอยู่วิสัยของพระพุทธเจ้าแล้วคือ

มีความสามารถ ที่จะสอนให้พุทธมารดา

ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันได้หลุดพ้น

จากการที่จะต้องไปเกิดในอบาย

ถึงแม้ว่าจะได้เคยทำบาป

มามากน้อยเพียงไรก็ตาม

ถ้าได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว

 ก็ไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป

แล้วก็จะมีภพชาติเหลืออยู่ไม่เกิน ๗ ชาติ

เป็นอย่างมาก ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

ยุติการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างถาวร

อันนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าปรารถนา

และได้มอบให้กับพระพุทธมารดา

โดยได้แสดงพระธรรมเทศนา

 อบรมสั่งสอนพระพุทธมารดา

ไว้อยู่ ๑ พรรษาด้วยกัน

 จนพุทธมารดาได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

 พระพุทธเจ้าก็เลยถือว่า

ได้ทดแทนบุญคุณที่ยิ่งใหญ่นี้

ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว

 วิธีอื่นนี้พระองค์ทรงบอกว่ายังไม่พอ

ทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ด้วยวิธีอื่น

จะให้เงินทองท่านเป็นกี่ร้อยล้านพันล้าน

จะเลี้ยงดูท่านอย่างดี

 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

จะจัดงานศพให้ยิ่งใหญ่

ตระการตาขนาดไหนก็ตาม

 บุญคุณที่ท่านมีต่อเราก็ยังไม่หมด

 จะหมดก็ต่อเมื่อ เราสามารถทำให้ท่าน

ได้เป็นพระโสดาบัน

ทำให้ท่านไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป

และทำให้ท่านหลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิด

ในเวลาไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก

ผู้ที่จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้อง

อย่างน้อยก็ต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไป

 ถ้าตนเองยังเป็นโสดาบันไม่ได้

สอนตนเองให้เป็นโสดาบันไม่ได้

 จะไปสอนให้คนอื่นเป็นโสดาบันได้อย่างไร

 พระพุทธเจ้านี้เป็นโสดาบัน

เป็นพระอรหันต์แล้ว

ท่านจึงสามารถสอนพุทธมารดา

ให้เป็นพระโสดาบันได้

ส่วนพระราชบิดา ตามตำราก็บอกว่า

ท่านก็สอนให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วัน

ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต

นี่ก็เป็นการทดแทนพระคุณ

ของพระพุทธเจ้าต่อพระพุทธบิดา

 และทรงตอบบุญคุณของพระมารดาเลี้ยง

 ด้วยการอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณี

 เป็นภิกษุณีรูปแรกของพระพุทธศาสนา

เป็นผู้ขออนุญาตจากพระพุทธเจ้า ให้ได้บวช

 ก่อนหน้านั้นจะไม่มีภิกษุณี

 เพราะการเป็นภิกษุณีนี้เป็นของที่ยากมาก

 ยากยิ่งกว่าการเป็นภิกษุ

 เพราะว่าภิกษุณีเป็นเพศหญิง

แล้วการอยู่แบบภิกษุ

 ภิกษุณีนี้จะต้องอยู่แบบทรหดอดทน

ทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจ

พระองค์ในเบื้องต้นนี้

 ไม่ปรารถนาที่จะบวชภิกษุณี

 เพราะทรงเห็นว่ามันค่อนข้างจะทุลักทุเล

 และก็จะเป็นภาระแก่พระภิกษุ

 เพราะว่าพระภิกษุณี

จะต้องมีพระภิกษุคอยเป็นผู้ดูแลอบรมสั่งสอน

 เป็นพี่เลี้ยงแล้วก็การอยู่ใกล้ชิดกัน

ระหว่างหญิงกับชายก็จะเกิดเป็นปัญหาได้

 ถ้าพระภิกษุนั้นมีจิตใจที่ไม่เข้มเเข็ง

ถ้าได้อยู่ใกล้ชิดกับภิกษุณี

ก็อาจจะเกิดการประพฤติที่ไม่เหมาะสม

แก่พรหมจรรย์ได้

พระองค์จึงไม่อยากที่จะบวชภิกษุณี

แต่หลังจากที่พระอานนท์

มากราบทูลถามพระพุทธเจ้า

 ถึงบุญคุณของพระพุทธมารดาเลี้ยง

ของพระพุทธเจ้าว่าท่านก็เลี้ยงดูพระพุทธเจ้ามา

ตั้งแต่หลังจากที่พระพุทธมารดา

ได้เสด็จสวรรคตไป บุญคุณของท่านก็ยิ่งใหญ่

ทำไมท่านจะตอบแทนบุญคุณนี้ ได้หรืออย่างไร

 ในที่สุดพระพุทธเจ้าก็เลยต้องยอมบวชภิกษุณี

 แต่ทรงตั้งเงื่อนไขไว้หลายประการด้วยกัน

 เพื่อที่จะให้ภิกษุณีนั้นอยู่อย่างมั่นคง

 อยู่อย่างปลอดภัย

มีผู้คอยคุ้มครองดูแลสั่งสอนอบรม

 เช่นมีอยู่ข้อหนึ่งที่ทรงตั้งเงื่อนไขไว้คือ

 ภิกษุณีถึงแม้จะบวชมาได้

เป็น ๑๐ เป็น ๒๐ เป็น ๓๐ พรรษา

 ก็ยังต้องเคารพพระภิกษุที่เพิ่งบวชใหม่ในวันเดียว

 จะให้ภิกษุณีนี้ต้องเคารพพระเสมอ

 เพราะพระจะต้องเป็นพี่เลี้ยงพระภิกษุณีนั่นเอง

 เพราะเพศของชายกับหญิงนี้มีความต่างกัน

 เพศชายนี้มีกำลังวังชามากกว่าเพศหญิง

 สมัยก่อนนั้นโจรผู้ร้ายอะไรก็มีมากมาย

 ถ้าปล่อยให้ผู้หญิงอยู่กันตามลำพังนี้

ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้หญิงได้

ก็เลยต้องอยู่กับพระ

แต่ไม่ได้อยู่ร่วมกันแยกกันอยู่

 แบ่งเป็นโซนกัน โซนพระกับโซนภิกษุณีไป

อันนี้ก็เป็นเรื่องการทดแทนบุญคุณ

ของพระพุทธเจ้าต่อผู้มีพระคุณเช่นเดียวกัน

 ทำให้พระพุทธบิดาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

 ทำให้พระพุทธมารดาเลี้ยงได้บวชเป็นภิกษุณี

และได้บรรลุ เป็นพระอรหันต์ตามลำดับต่อมา

 แม้แต่พระราชโอรสคือเจ้าชายราหุล

ก็ได้บวชเป็นสามเณร

 เป็นสามเณรรูปแบบ ราหุลนี้

เป็นลูกของพระพุทธเจ้า

ได้บวชตั้งแต่อายุ ๖ - ๗ ขวบ

 คือตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว

หลังจากที่ได้บำเพ็ญอยู่ ๖ ปี ได้ตรัสรู้

 ทางในวังทราบข่าวก็นิมนต์ให้ไปโปรดในวัง

พอไปถึงในวังก็พระมเหสี

ก็ส่งเจ้าชายราหุลมากราบ

ขอพระมรดกจากพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าก็เลยจับบวชเป็นเณร

 นี่คือมรดกของพระพุทธเจ้าคือ

จับมาบวชเป็นพระ มาบวชเป็นเณร

เพื่อจะได้ศึกษาได้ปฏิบัติ

และในที่สุด ก็ได้บรรลุ

เป็นพระอรหันต์เช่นเดียวกัน

 คิดดูความสามารถของคนคนเดียว

ที่ช่วยให้คนอื่นนี้ ที่ไม่เคยคิดเคยฝันมาก่อน

ว่าจะได้เป็นพระอรหันต์ ได้เป็นพระอริยบุคคล

สามารถเป็นขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย

ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าแล้วสัตว์โลกทั้งหมด

ที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอดีตนี้

จะไม่มีใครแม้แต่คนเดียว

ที่จะสามารถบรรลุถึงอริยมรรค อริยผลได้

สามารถบรรลุเป็นพระอริยเจ้า

เป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน

 พระสกิทาคา พระอานาคามี พระอรหันต์ได้เลย

เพราะว่าปัญญานั้นมีไม่พอที่จะเห็นเหตุ

ที่จะทำให้ได้บรรลุกัน

แต่พระพทุธเจ้านี้เป็นพระองค์เดียวเท่านั้น

ที่มีพระปัญญาบารมี

 มีความสามารถเช่นพระขันติบารมี

พระวิริยะบารมีที่จะสามารถมองเห็นเหตุ

ที่จะทำให้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า

เป็นพระอรหันต์ได้ พอรู้แล้วมาบอกคนที่ไม่รู้

คนไม่รู้ก็นำเอาไปปฏิบัติตาม

ไม่ช้าก็เร็วก็บรรลุได้อย่างง่ายดาย

 เพราะมีคนบอกวิธีแล้ว

ถ้าไม่มีคนบอกวิธีก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

นี่คือพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า

ที่ทรงมีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องคือพระราชวงศ์

และต่อบุคคลทั่วไป ผู้ใดที่ได้สัมผัส

ได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

เกิดศรัทธานำเอาไปปฏิบัติ ก็มักจะได้บรรลุ

มรรคผล นิพพานกันมาจนถึงปัจจุบัน

 พวกเราก็เช่นเดียวกัน

หลังจากที่ได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า

 พวกเราก็เกิดศรัทธา สามารถปฏิบัติตนเอง

แบบที่ไม่เคยคิดว่าจะปฏิบัติมาก่อนเลย

 เนื่องจากเห็นตัวอย่างที่ดีงามของพระพุทธเจ้า

และของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

 ก็เลยสามารถทำให้ปฏิบัติตน แบบท่านได้

 ทั้งๆที่เป็นการปฏิบัติที่ยากเเสนยาก

 แต่พอได้เห็นตัวอย่างได้เห็นผล

ที่จะเกิดจากการบำเพ็ญ

 ก็เลยทำให้มีความยินดีที่จะปฏิบัติ

ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน  เช่นถือศีล ๘

 ปกติพวกเรามนุษย์เราทุกคนเกิดมานี้

 ไม่มีใครอยากจะถือศีล ๘ กัน

มีแต่อยากจะดื่ม อยากจะหาความสุข

 อยากจะรับประทานอะไรต่างๆ

 ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

ไม่มีใครอยากที่จะมาปิดทวารทั้ง ๕

ปิดตา ปิดหู ปิดลิ้น ปิดกายไม่ให้รับ

ไม่ให้เสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ซึ่งเป็นเหมือนกับอุดรูจมูกไม่ให้หายใจอย่างนั้น

 แต่มันทรมานยิ่งกว่าการอุดรูจมูกไม่ให้หายใจ

 เพราะอุดรูจมูกไม่ให้หายใจมันก็แค่เดี๋ยวเดียว

มันก็ตายมันก็จบ แต่อุดตา หู จมูก ลิ้น กายนี้

มันต้องเป็นเดือนๆ เป็นปีๆ มันแสนจะทรมานใจ

 ถ้าปิดอย่างเดียวแล้วไม่ปฏิบัติ

ถ้าปิดตา หู จมูก ลิ้น กายแล้วไม่เปิดใจ

ก็จะไม่สามารถที่จะทำได้

 ถ้าปิดตา หู จมูก ลิ้น กายแล้วต้องมาเปิดใจ

เปิดใจให้เกิดสติ ให้เกิดปัญญาขึ้นมา

 เพื่อที่จะได้ทำใจให้สงบ ทำใจให้เย็น

 ทำใจให้มีความสุขถึงจะอยู่ได้

 ถ้าปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย เฉยๆ

โดยที่ไม่มีการภาวนา

ปิดได้ไม่นานจะทนไม่ไหว

จะต้องเปิดแล้วออกไปรับ

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทันที

แต่ถ้าผิดแล้วมาเปิดใจมาเปิดใจ

ให้มีสติให้มีปัญญา

 ใจก็จะสงบ ใจก็จะเย็น ใจก็จะอิ่มจะพอ

ก็จะไม่รู้สึกทรมานใจแต่อย่างใด

ในขณะที่ปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย

นี่คือวิธีการเข้าสู่มรรคผล นิพพาน

ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบ

 ต้องปิดทวารทั้ง ๕ แล้ว

เปิดทวารข้างใน เปิดตาใจ

เปิดใจขึ้นมาให้รับกับธรรมของพระพุทธเจ้า

 รับกับสติ รับกับสมาธิ รับกับปัญญา

รับกับวิมุตติ ความหลุดพ้นทั้งปวง

 เริ่มต้นด้วยการปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย

ด้วยการถือศีล ๘ แล้ว

ก็มาเปิดใจด้วยการเจริญสติ

เปิดใจรับสติเพื่อทำใจให้สงบเป็นสมาธิ

เมื่อเป็นสมาธิแล้วก็เปิดใจ

รับปัญญาได้ตามลำดับ

 พอได้ปัญญาแล้วก็จะได้วิมุตติการหลุดพ้น

หลุ้ดพ้นจากความทุกข์ที่มีอยู่เป็นขั้นๆ

 หลุดพ้นจากความทุกข์ของขั้นพระโสดาบัน

 ของขั้นพระสกิทาคามี ของขั้นพระอนาคามี

ของขั้นพระอรหันต์

หลุดด้วยปัญญาของแต่ละขั้น

 หลุดด้วยสติ ด้วยสมาธิ และปัญญา

ต้องมีทั้ง ๓ ส่วน

ถึงจะเป็นปัญญาที่ทำให้หลุดพ้นได้

ถ้าเป็นปัญญาปราศจากสติหรือสมาธินี้

 จะไม่สามารถที่จะทำให้หลุดพ้นได้

นี่คือวิธีการของการบรรลุ

เป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ

 ที่มีพระพุทธเจ้าของพวกเรานี้เป็นผู้ค้นพบ

แล้วนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่พวกเรา

 ด้วยการถ่ายทอดเป็นขั้นๆไป

สอนให้แก่ผู้ที่ไม่รู้ พอมาปฏิบัติจนรู้แล้ว

ก็กลายเป็นผู้ช่วยพระพุทธเจ้า

ถ่ายทอดความรู้ต่อไป

 ถ่ายทอดกันมาเป็นทอดๆจนถึงปัจจุบัน

ก็ยังมีการถ่ายทอดอยู่ ที่ไหนที่มีการฟังธรรม

 มีการแสดงธรรม ที่ไหนมีการปฏิบัติธรรม

มีการบรรลุธรรม ที่นั่นแหละคือเป็นที่ที่

มีการถ่ายทอดพระธรรมคำสอนอันประเสริ

ฐของพระพุทธเจ้า และมีการถ่ายทอดผล

 ที่เกิดจากการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน

 ก็คือการบรรลุมรรคผล นิพพานขั้นต่างๆ

นี่คือเรื่องพระพุทธศาสนาที่ได้นำเอามาแสดง

ให้ท่านได้ยินได้ฟังในวันสุดท้ายของพรรษานี้

 เพื่อเป็นเครื่องเตือน เครื่องสดับสติปัญญา

 เร่งความเพียร กระตุ้นความยินดี

ในการปฏิบัติตามคำสอน

 เพื่อที่จะได้นำไปสู่การหลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลาย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘

“วันปวารณา”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 17 ตุลาคม 2559
Last Update : 17 ตุลาคม 2559 9:35:32 น.
Counter : 463 Pageviews.

0 comment
### วิธีคลายความมืดบอด ที่ปิดกั้นดวงจิตดวงใจ ###









“วิธีคลายความมืดบอด

ที่ปิดกั้นดวงจิตดวงใจ”

การปฏิบัติธรรมจึงเป็นวิธีเดียว

ที่จะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ

 เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น

 พระพุทธเจ้าไม่สามารถเสกเป่า

ให้เห็นผิดถูกดีชั่วได้

แต่ทรงสามารถสอนให้ปฏิบัติ

จนกำจัดสิ่งที่เป็นเครื่องปกปิดจิตใจ

 ที่ทำให้มืดบอดออกไปได้

ทำให้มีดวงตาสว่าง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้

การปฏิบัติธรรมจึงเป็นสิ่งเดียวเท่านั้น

 ที่จะทำให้รู้เห็น แยกแยะเรื่องผิดเรื่องถูก

 เรื่องดีเรื่องชั่วได้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับการดำเนินชีวิต

ให้เป็นไปในทิศทางที่ดี ที่งาม ที่สุข ที่เจริญ

 จึงต้องปฏิบัติธรรมกัน เพื่อให้ดวงตาสว่าง

 มีแสงสว่างแห่งธรรม

การปฏิบัติธรรมแบ่งเป็น ๒ ขั้น

 ขั้นแรกเรียกว่าสมาธิ ขั้นที่สองเรียกว่าปัญญา

ทั้ง ๒ ขั้นนี้จะเป็นเครื่องมือ

 ที่จะทำให้โมหะความมืดบอดหมดไปจากจิตจากใจ

 เวลาที่ทำสมาธิแล้ว จิตจะสงบลง

แล้วก็จะใส เหมือนกับน้ำที่ขุ่น

 หลังจากได้รับการแกว่งสารส้มอยู่สักพักหนึ่ง

 ตะกอนต่างๆ ก็จะตกลงไปนอนก้น

 ทำให้น้ำใสขึ้น เห็นอะไรได้ชัด

ทำให้เห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในน้ำได้

ไม่ว่าจะเป็นปูปลา หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในน้ำ

 ก็จะเห็นได้ชัด ฉันใดเวลาทำจิตให้สงบ

ด้วยการทำสมาธิ เวลาจิตสงบนิ่งลงจิตก็จะใส

 จิตก็จะเห็นความสุข เห็นความทุกข์

 เห็นความดีความชั่วที่มีอยู่ในใจ

 แต่การทำสมาธิเป็นเพียงการกระทำจิตให้ใสได้

เป็นครั้งเป็นคราว ขณะที่จิตสงบเป็นสมาธิอยู่

ตอนนั้นจิตก็จะใส

 แต่พอจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว

เริ่มคิดถึงเรื่องราวต่างๆ เริ่มไปทำโน่นทำนี่

ตะกอนต่างๆที่อยู่ก้นของจิต ก็จะลอยขึ้นมา

 ทำให้น้ำจิตนั้นขุ่นไป เหมือนกับน้ำในตุ่ม

ที่หลังจากที่ได้แกว่งสารส้มทำให้ตกตะกอนแล้ว

 ถ้าเอาอะไรไปกวนน้ำในตุ่ม ตะกอนที่นอนก้นอยู่

 ก็จะลอยขึ้นมาปะปนกับน้ำอีก

ทำให้น้ำขุ่นมัวได้อีก

 จิตก็เช่นเดียวกันเวลาออกจากสมาธิ

ออกจากความสงบ ความใสก็จะหายไป

ทำให้เกิดความขุ่นมัวความมืดบอด กลับคืนมาอีก

 เวลาไปทำอะไรก็จะต้องทำ แบบผิดๆถูกๆอีก

แต่ถ้าใช้ธรรมะขั้นที่ ๒ ที่เรียกว่าปัญญา

 ให้แยกแยะว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว

 ทุกครั้งเวลาสัมผัสกับอะไร ทำอะไร

 คิดเสียก่อนว่าทำอย่างนี้ถูกหรือไม่ หรือผิด

 เพราะทุกการกระทำมีทั้งดีและชั่ว ทั้งผิดและถูก

 เวลาจะลักทรัพย์ถามตัวเองเสียก่อนว่า

 เป็นการกระทำที่ถูกหรือผิด

 เป็นคุณหรือเป็นโทษ ถ้ารู้ว่าผิดก็ไม่ทำเสีย

 โทษก็ไม่ตามมา

เวลาทำอะไรที่เป็นคุณเป็นประโยชน์

 เช่นเวลาทำบุญทำทาน

ได้ช่วยเหลือผู้อื่น อย่างนี้ถามตัวเองว่า

 เป็นคุณหรือเป็นโทษ

 เมื่อพิจารณาดูก็จะเห็นว่ามีแต่คุณไม่มีโทษ

 ถ้าเป็นคุณทำไปก็มีแต่ผลดีตามมา

 ไม่มีผลเสียตามมา นี่คือการใช้ปัญญา

 รู้จักแยกแยะผิดออกจากถูก ดีออกจากชั่ว

 นี่คือการเจริญปัญญาในระดับหนึ่ง

ส่วนปัญญาอีกระดับหนึ่ง

ก็คือการศึกษาทำความเข้าใจ

ถึงธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยว่า

 สิ่งต่างๆที่เราอยากมีอยากได้มาเป็นสมบัตินั้น

 ธรรมชาติที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร

 เป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเราตลอดไปได้หรือเปล่า

 หรือเป็นสิ่งที่ให้ความสุขในเบื้องต้นแล้ว

กลายเป็นความทุกข์ในเบื้องปลาย

ถ้าใช้ปัญญาวิเคราะห์ดู ก็ต้องถามว่า

สิ่งไหนที่เราอยากได้นั้น

ถ้าเป็นของที่เที่ยงแท้แน่นอน

เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเราได้

สิ่งนั้นย่อมสามารถให้ความสุขกับเราได้ไปตลอด

 ไม่ใช่เป็นแต่ความสุขในเบื้องต้น

เช่นไปได้อะไรมาสักอย่างหนึ่ง

ของชิ้นนั้นจะอยู่กับเราไปตลอดหรือเปล่า

 เราสามารถควบคุมดูแลให้อยู่กับเรา

 ให้เป็นเหมือนเดิม

 เหมือนกับที่ได้มาในวันแรกหรือเปล่า

ถ้าสามารถควบคุมได้

สามารถทำไม่ให้เปลี่ยนแปลงได้

 ของชิ้นนั้นก็สามารถให้ความสุขกับเราได้ไปตลอด

 แต่ความจริงแล้วของแบบนั้นมีหรือไม่ในโลกนี้

คิดว่าไม่มี เพราะว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่เราได้มา

 เวลาได้มาในเบื้องต้นก็จะเป็นของใหม่

แต่ปล่อยทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง

ก็จะต้องเป็นของเก่าไป

 เสื้อผ้าเวลาซื้อมาก็ใหม่

แต่พอใช้ไปใส่ไปได้สักระยะหนึ่งก็เก่า

 แล้วก็ขาดได้ หรือถ้าไปแขวนไว้ ไปตากไว้

เวลาเผลอก็อาจจะมีคนมาหยิบมาขโมยไปก็ได้

 เมื่อเป็นสิ่งที่เรารักแล้วต้องสูญเสียไป

ใจของเรายังจะมีความสุขอยู่หรือเปล่า

 หรือจะต้องเศร้าโศกเสียใจ

ร้องห่มร้องไห้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ

นี่คือการวิเคราะห์ด้วยปัญญา

ทุกครั้งที่ต้องการจะได้อะไรมา

เพื่อให้ความสุขกับเรา

ต้องถามตัวเองเสมอว่า

สิ่งที่จะให้ความสุขกับเรานี้

จะเป็นความสุขไปตลอดหรือเปล่า

 หรือจะเป็นสุขตอนต้นแล้วเป็นทุกข์ตอนปลาย

 ถ้าเป็นเช่นนั้นอย่าเอามาไม่ดีกว่า

หรือ ถ้าไม่มีสิ่งนั้นเสียแต่ต้น

 ก็ไม่ต้องมาร้องห่มร้องไห้ในภายหลัง

เพราะว่าของทุกสิ่งทุกอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือเป็นบุคคล

 เป็นมนุษย์หรือเป็นเดรัจฉาน

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้อยู่ภายใต้กฎ

ของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น คืออนิจจังไม่เที่ยง

ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา

 ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของใครทั้งสิ้น

ทุกสิ่งทุกอย่างไหลเวียนไป เปลี่ยนแปลงไป

 มีเหตุมีปัจจัยเหมือนกับเมฆบนท้องฟ้า

 ไม่มีใครสามารถไปบังคับ

ให้เมฆเป็นไปตามความต้องการได้

 เมฆจะต้องลอยไปตามลม

 แล้วจะต้องตกลงมาเมื่อมีความหนักเกินกว่า

ที่จะลอยอยู่บนท้องฟ้าได้ ก็ตกลงมากลายเป็นฝน

 เมื่อเป็นฝนก็ไหลลงไปในลำน้ำลำคลองลำห้วย

 ไหลลงไปในทะเล แล้วในที่สุดก็จะระเหย

กลับขึ้นไปบนฟ้า กลายเป็นเมฆไป

นี่เป็นเรื่องของสิ่งต่างๆในโลกนี้

ไม่มีอะไรคงสภาพเหมือนเดิมไปตลอดเวลา

 มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 เหมือนกับร่างกายของเรา ที่ไม่อยู่คงเส้นคงวา

ตั้งแต่เกิดมาก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด

 ไม่เชื่อลองกลับไปดูภาพ

ที่ถ่ายตอนคลอดออกมาใหม่ๆ

กับตอนนี้เหมือนกันไหม ไม่เหมือนกัน

 ส่วนภาพที่ถ่ายในวันนี้ถ้ารออีกสัก ๑๐ หรือ ๒๐ ปี

มาเปรียบเทียบดูอีก

 ก็จะรู้ว่าไม่เหมือนกันอีกเช่นกัน

 เพราะนี่ก็คือสภาพของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

จึงทรงสอนว่าเป็นของไม่เที่ยงอนิจจัง เป็นอนัตตา

 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครควบคุมบังคับได้

 เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

ถ้าไปยึดไปติดคิดว่าเป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับตน

 ก็จะต้องมีความทุกข์กับสิ่งนั้นๆ

 ในยามที่สิ่งนั้นๆเปลี่ยนแปลงไป สูญหายไป หมดไป

 จึงต้องมีปัญญา คือมีทั้งความเฉลียวและความฉลาด

 เป็นผู้นำทาง เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๑๗๓ วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๖

 (กำลังใจ ๑๒)

“ฉลาดกับเฉลียว”

 






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 ตุลาคม 2559
Last Update : 14 ตุลาคม 2559 9:13:59 น.
Counter : 814 Pageviews.

0 comment
### ฉลาดกับเฉลียว ###









“ฉลาดกับเฉลียว”

การมาวัดถือว่ามาสู่ที่สว่าง

ถ้าอยู่นอกวัดก็เหมือนอยู่ในที่มืด

เพราะเวลามาวัดจะทำแต่สิ่งที่ถูกที่ดี

 เพราะมีแสงสว่าง ทำให้สามารถแยกแยะ

สิ่งที่ถูกจากสิ่งที่ผิดได้ สิ่งที่ดีจากสิ่งที่ไม่ดีได้

 จึงมีการทำบุญทำทาน รักษาศีล

 ไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม

 นั่งทำสมาธิ เดินจงกรม เจริญปัญญา

เพื่อการหลุดพ้น จากความทุกข์ทั้งหลาย

เหตุที่ได้กระทำสิ่งเหล่านี้กัน

ก็เป็นเพราะว่ามีแสงสว่าง

 ทำให้เห็นความถูกต้องดีงาม

 ของการปฏิบัติเหล่านี้นั่นเอง

ถ้าอยู่นอกวัดก็เหมือนกับอยู่ในที่มืด

ย่อมไม่เห็นผิดเห็นถูก เห็นดีเห็นชั่ว

ก็เลยทำแต่สิ่งที่ผิดสิ่งที่ชั่ว เช่นฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

 ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี โกหกหลอกลวง

 เสพสุรายาเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน

คบคนชั่วเป็นมิตรเกียจคร้าน

เป็นการปฏิบัติที่จะนำมาแต่ความทุกข์

ความวุ่นวายใจ เวลาอยู่นอกวัด

จึงไม่เหมือนกับเวลาอยู่ในวัด

 อยู่นอกวัดเหมือนกับอยู่ในที่มืด

จึงมีแต่การกระทำที่ไม่ดีไม่งาม

นำมาซึ่งความทุกข์ความวุ่นวาย

 เวลามาวัดก็เท่ากับ มาที่ๆมีแสงสว่าง

จึงมีแต่การทำความดี

ทำสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์

 ผลที่ปรารถนาคือความสุขความเจริญ

 จึงเป็นสิ่งที่ตามมาต่อไป

การพูดว่าในวัดสว่าง นอกวัดมืด

เป็นการเปรียบเทียบให้ฟังว่า

จิตใจของคนเรานั้น มีมืดได้ มีสว่างได้

 เพราะมีเหตุที่ทำให้มืด และมีเหตุที่ทำให้สว่าง

 เหตุที่ทำให้มืดก็คือความหลง ความมืดบอด

 เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

เห็นทุกข์เป็นสุข เหตุที่ทำให้สว่างก็คือปัญญา

 คือธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง

พระพุทธเจ้าทรงมีแสงสว่างปรากฏขึ้น

ในพระทัยจากการศึกษาปฏิบัติธรรมจนตรัสรู้

 การตรัสรู้นี้หมายถึง

การได้รู้ในสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้

รู้ดี รู้ชั่ว รู้ถูก รู้ผิด รู้คุณ รู้โทษ

เมื่อทรงรู้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว

 ก็นำมาเผยแผ่ให้กับ

ผู้ที่ยังมีความมืดบอด

ครอบงำจิตใจอยู่ให้มีแสงสว่าง

 เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตไปในแนวทางที่ถูกต้อง

 นำมาซึ่งความสุขและความเจริญ

นี่คือความหมายของความสว่าง

 คือธรรมะเป็นแสงสว่างแห่งธรรม ธัมโม ปทีโป

 เพราะธรรมะสามารถแยกแยะ

สิ่งต่างๆออกได้ ว่า

เป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์

เป็นความเจริญหรือเป็นความเสื่อม

ถ้าปราศจากธรรมะ

จิตใจก็เหมือนกับอยู่ในที่มืด

 เหมือนถูกสิ่งปิดกั้นสายตา

ไม่ให้เห็นสิ่งต่างๆได้

 เรียกว่าความหลงทำให้ต้องคลำไป

 เวลาคลำไปก็เหมือนกับจับปลาแบบสุ่มสี่สุ่มห้า

 ไม่รู้ว่าปลาอยู่ที่ตรงไหน ก็สุ่มไป

 ถ้าโชคดีก็ได้ตัวปลา

 ถ้าโชคไม่ดีก็ต้องสุ่มไปเรื่อยๆ

 จนกว่าจะได้ ชีวิตของพวกเรา

ก็เปรียบเหมือน กับการสุ่มหาปลา

เราทุกคนแสวงหาความสุข

ความเจริญด้วยกันทุกคน

 แต่กลับไปเจอ แต่เรื่องวุ่นวายใจ

 เรื่องความทุกข์ เรื่องความไม่สบายใจ

เป็นเพราะความมืดบอดปิดกั้นสายตา

ทำให้ไม่สามารถเห็นตัวปลาได้

 คือไม่สามารถเห็นความสุขความทุกข์ที่แท้จริงได้

 ไม่รู้จักแยกแยะ ก็เลยคว้าผิดคว้าถูก

ส่วนใหญ่ก็มักจะไปคว้าเอาความทุกข์มา

 เช่นการกระทำบาปนั้น ทั้งๆที่รู้ว่าไม่ดี

 แต่ก็ยังไปทำกัน

 เพราะคิดว่าทำไปแล้วจะได้ความสุข

 เช่นไปลักทรัพย์ ไปฉ้อโกง จะทำให้มีความสุข

 เมื่อมีทรัพย์แล้วก็สามารถนำเอาไปซื้อ

ความสุขต่างๆได้

แต่ไม่คิดถึงความทุกข์ที่จะตามมา

ถ้าถูกจับได้ ก็ต้องเข้าคุกเข้าตะรางหมดอิสรภาพ

 อยู่แบบอดๆอยากๆ อยู่อย่างทุกข์ทรมาน

เพราะขาดความเฉลียวนั่นเอง

คนเราฉลาดแต่ขาดความเฉลียวก็ไม่ดี

ความฉลาดก็คือรู้จักคิดวิธีหาเงินหาทอง

 แต่ไม่เฉลียวว่าวิธีที่หาเงินทองมานั้น

เป็นคุณหรือเป็นโทษ เมื่อไม่เฉลียวก็ไปฉ้อโกง

 ไปคอรัปชั่น ไปลักเล็กขโมยน้อย

 แล้วในที่สุดก็ต้องถูกจับเข้าคุกเข้าตะรางไป

นี่คือความฉลาดแต่ไม่เฉลียว

 ถ้าเป็นคนที่ฉลาดและเฉลียว

 ก็ต้องคิดว่าเงินทองก็เป็นประโยชน์

 สามารถนำมาใช้อะไรได้หลายอย่าง

 เช่นมาดูแลรักษาอัตภาพร่างกาย

ให้อยู่ได้ด้วยความสุขด้วยความสบาย

 ถ้ามีเหลือก็สามารถนำเอาไป

สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข

 เมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นก็ทำให้จิตใจมีความสุข

 มีความสงบ เพราะจิตใจได้รับการชำระ

จากการช่วยเหลือผู้อื่น

 เป็นการชำระความเห็นแก่ตัว

 ความตระหนี่ ความโลภ

 อันเป็นเหตุที่ทำให้จิตใจมีความเศร้าหมอง

ไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น ไม่มีความสุข

นี่คือคุณของเงินทอง

 แต่ถ้าไม่มีความเฉลียวว่าวิธีหาเงินนั้นมี ๒ วิธี

คือหามาโดยปราศจากโทษ

กับหามาแล้ว เกิดโทษตามมา

ถ้าไม่เฉลียว ก็จะไม่สนใจ

คิดแยกแยะว่าวิธีไหนถูก

 วิธีไหนควร ถ้ามีความเฉลียว

ก็จะต้อง คิดเสียก่อนว่า

 การไปหาเงินทองมาแบบนี้ถูกหรือไม่

หรือผิดอย่างไร เช่นไปลักทรัพย์

 โกหกหลอกลวง ฉ้อโกง อย่างนี้ถูกหรือผิด

 ถ้ามีความเฉลียวก็จะรู้ว่า

การกระทำแบบนี้เป็นการทุจริต

 ทำไปแล้วต้องมีโทษตามมา

 ถ้าเป็นเช่นนั้นอย่าทำดีกว่า

ถึงแม้จะอดอยากยากจน

 ก็ไม่มีโทษร้ายแรงเท่ากับการทุจริต

นี่คือความเฉลียว เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้น

ก็จะไม่กล้าไปทำในสิ่งที่ ผิดที่เป็นโทษ

ทำแต่สิ่งที่เป็นคุณ ที่สุจริต

 เช่นทำมาหากินรับจ้างกินเงินเดือน

เป็นการกระทำที่ ไม่มีโทษตามมา

ตำรวจไม่จับเข้าคุกเข้าตะราง

 นี่คือความหมายของ

ความเฉลียวกับความฉลาด

ถ้าฉลาดอย่างเดียวไม่เฉลียวก็ร่ำรวยได้

เป็นเศรษฐีได้ แต่ชีวิตจะมีแต่ความวุ่นวาย

 ต้องคอยแก้ไขปัญหาต่างๆ

 ที่จะตามมาตลอดเวลา

 เพราะเมื่อทำอะไรที่ผิดไปแล้ว

โทษก็จะต้องตามมา ไม่ช้าก็เร็ว

ก็จะต้องถูกลงโทษ

 ในขณะที่โทษยังไม่ตามมา

ก็มีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจ

คนเราเวลาทำอะไรที่ผิดศีลผิดธรรมแล้ว

 จิตใจจะไม่สงบ ไม่นิ่ง จะต้องมีความวิตก

 มีความกังวลห่วงใย

ว่าจะต้องถูกจับในวันใด วันหนึ่ง

 นี่ก็เป็นโทษอีกอย่างหนึ่ง เป็นโทษทางใจ

ถึงแม้จะมีบ้านหลังใหญ่โตราคาเป็นสิบๆล้าน

มีสมบัติข้าวของเงินทองมากมาย

แต่เป็นทรัพย์ที่หามาด้วยความไม่ถูกต้อง

เวลานอนก็นอนแบบไม่สบายใจ มีแต่กังวล

 กินก็กินไม่เอร็ดอร่อย

 อยู่แบบกินไม่ได้นอนไม่หลับ

 เพราะการกระทำมีโทษนั่นเอง

 ในทางตรงกันข้ามถ้าหาทรัพย์มาด้วยความสุจริต

 ถูกต้องตามหลักศีลธรรม ไม่ผิดกฎหมาย

เงินทองที่ได้มาทุกบาทจะไม่มีโทษ

ไม่สร้างความวุ่นวายใจ จะอยู่อย่างสุขสบาย

กินก็สบายนอนก็สบาย ไม่ต้องห่วง

 ไม่ต้องกังวล ว่าจะมีใครมาจับเข้าคุกเข้าตะราง

 นี่คือความหมายของความฉลาดและความเฉลียว

ฉลาดคือรู้จักหาทรัพย์

 แต่วิธีหาทรัพย์ก็ต้องเฉลียว

ต้องรู้ว่าวิธีที่หามานั้นถูกหรือผิด

 ถ้าผิดก็อย่าไปหามา ถึงแม้จะได้มาแต่ไม่คุ้มค่า

 เพราะความสุขที่ได้จากการใช้ทรัพย์

จะไม่พอเพียงกับความทุกข์

 ที่เกิดจากการไปหาทรัพย์มาโดยมิชอบ

 ความทุกข์ใจจะกลบความสุข

ที่เกิดจากการได้ใช้ทรัพย์

 เวลาใช้เงินใช้ทอง

 ไปเที่ยวจับจ่ายใช้สอยอะไรก็ตาม

 จะมีความรู้สึกจืดๆ ไม่ค่อยสบายใจ

เพราะมีความกังวลอยู่ว่า จะถูกจับหรือไม่นั่นเอง

 แต่ถ้าหามาด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความสุจริตแล้ว

 เวลาใช้ทรัพย์ก็จะมีแต่ความสุข โดยถ่ายเดียว

ไม่มีความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำผิดมาบดบัง

 การที่จะฉลาดเฉลียวได้ก็ต้องอาศัย

คำสอนของพระพุทธเจ้า คือแสงสว่างแห่งธรรม

 ดังที่ได้มาที่วัดกันอย่างสม่ำเสมอ

 มาฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ฟังถึงเหตุของความเจริญ

และเหตุของความทุกข์ เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นเหตุ

ที่นำมาซึ่งความเจริญ ก็บำเพ็ญแต่เหตุนั้นๆไป

ความเจริญก็จะตามมา

อะไรที่เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความทุกข์

 ความวุ่นวายใจ ก็ละเสีย

 ความทุกข์ ความเสื่อมเสีย

 ความวุ่นวายใจทั้งหลาย ก็จะไม่ตามมา

ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังธรรม

ก็จะไม่มีแสงสว่างไปดับความมืดบอด

 ที่เกิดจากความหลงภายในใจ

 ก็จะดำเนินชีวิต ไปในทางที่ผิด

ดังคนที่อยู่นอกวัดมักจะทำกัน

 จะสังเกตเห็นได้ว่า คนที่อยู่นอกวัด

มักจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์

ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ

โกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมา เล่นการพนัน

 เที่ยวกลางคืน เกียจคร้าน

เป็นสิ่งที่ทำกันอยู่เป็นปกติวิสัย

 เมื่อทำไปแล้ว ก็มีแต่เรื่องวุ่นวายตามมา

 ดังที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่แทบทุกวัน

 มีข่าวฆ่ากัน ชิงทรัพย์กัน

ทำร้ายกันอยู่ตลอดเวลา

นี่ก็เป็นเพราะว่าจิตใจของคนที่อยู่นอกวัดนั้น

 มีความมืดบอดครอบงำ อยู่นั่นเอง

 ไม่มีแสงสว่างแห่งธรรมจึงไม่รู้จักผิด

ไม่รู้จักถูก ไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว

ก็เลยทำแต่สิ่งที่ผิดสิ่งที่ชั่ว

เมื่อทำไปแล้วก็ต้องรับเคราะห์กรรมไป

 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเลย

 ถ้าทุกคนแสวงหาเวลา

สละเวลาสักอาทิตย์ละครั้ง

เข้าวัดเข้าวากัน มาฟังเทศน์ฟังธรรม

 มาปฏิบัติธรรม ชำระขัดเกลาความมืดบอด

ที่มีอยู่ภายในใจให้ค่อยๆจางไป

เมื่อความมืดบอดจางไปมากน้อยเพียงไร

 ความสว่างในใจก็จะมีมากขึ้นเพียงนั้น
เหมือนกับคนที่ถูกปิดตาไว้

ถ้าเอาสิ่งที่ปิดตาออกได้

ก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวได้

 การที่จะทำให้คนที่ถูกปิดตา

ให้มองเห็นสิ่งต่างๆได้

 ให้เห็นว่าสีต่างๆ เช่นสีแดง สีเขียว

 สีขาว เป็นอย่างไร

 ก็ต้องบอกให้เขาเอาที่ปิดตาออก

ถ้ายังมีสิ่งปิดกั้นตาอยู่ จะไม่สามารถมองเห็นได้

 สีเดียวที่เห็นก็คือสีดำ

เพราะเวลาตาถูกปิดกั้น ก็จะไม่เห็นสีอื่น

 จะเห็นแต่สีดำอย่างเดียว

 จะบอกเขาว่าสีแดง สีเขียว สีขาว สีเหลือง

 เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

อธิบายอย่างไรเขาก็จะไม่สามารถเข้าใจได้

แต่ถ้าช่วยบอกเขา

ให้ถอดสิ่งที่ปิดตาเขาอยู่ออกไป

 เมื่อสิ่งที่ปิดกั้นตาถูกเปิดออก

 เขาก็จะสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้

ก็จะรู้จะเข้าใจได้ทันทีว่า

สีเขียว สีแดง สีเหลืองนั้นเป็นอย่างไร

ฉันใดความมืดบอดที่อยู่ในใจ

ก็เป็นเหมือนกับสิ่งที่ปิดกั้นดวงจิต

ไม่สามารถเห็นผิดถูกดีชั่วได้

ถ้าสอนให้เขาเอาสิ่งที่เป็นเครื่องปิดกั้นใจ

เขาออกได้ เขาก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆ ได้

เหมือนกับคนที่ไม่มีอะไรปิดกั้นใจ

เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

ปฏิบัติธรรม เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้

โมหะความมืดบอด ที่ปิดกั้นดวงจิตดวงใจ

 ไม่ให้เห็นผิดถูกดีชั่วนั้น

 ให้สลายหมดไป ทำให้มองเห็นได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

กัณฑ์ที่ ๑๗๓ วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๖

 (กำลังใจ ๑๒)

“ฉลาดกับเฉลียว”






ขอบคุณที่มา fbb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 13 ตุลาคม 2559
Last Update : 13 ตุลาคม 2559 14:24:58 น.
Counter : 792 Pageviews.

0 comment
### ฟังด้วยสติ ###










“ฟังด้วยสติ”

การที่จะรักษาจิตให้มีความสุขได้นั้น

ในเบื้องต้นต้องมีสติ

 คือสติจะเป็นตัวคอยควบคุมจิต

ไม่ให้คิดไปในเรื่องราวต่างๆ

ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ

ถ้าจะคิดก็คิดแต่เรื่องที่จำเป็น

เช่นวันนี้จะต้องไปทำอะไรบ้าง

เมื่อรู้แล้วก็หยุดคิด

 แล้วก็หันเอาจิตกลับมาให้ตั้งอยู่กับปัจจุบัน

 คือให้อยู่กับร่างกาย

ให้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

ร่างกายจะเคลื่อนไหวในอิริยาบถใด

 จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน

ก็ให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวนั้น

เฝ้าดูกายอยู่ตลอดเวลา

และเฝ้าดูใจความคิดปรุงของใจ

 ว่ากำลังคิดอะไรอยู่

ถ้ากำลังคิดเรื่องราวไม่เข้าเรื่อง

 ก็หยุดด้วยการกำหนดให้ใจอยู่กับอารมณ์

 ธรรมะที่เคยใช้อยู่เป็นประจำ

ถ้าเคยใช้บริกรรมพุทโธๆๆอยู่

 ก็ขอให้บริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ

 ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด

จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน

จะทำอะไรก็ตาม

ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความคิด

 ก็ขอให้จิตบริกรรมอยู่กับคำว่าพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ

 ถ้าทำอย่างนี้แล้วจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน

จะไม่สร้างอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา

 ความทุกข์หรืออารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ

 ก็เกิดจากความคิดปรุงแต่งของจิตนี้เอง

ถ้าปล่อยให้จิตคิดไปเรื่อยๆ

เห็นอะไรมาสัมผัสก็คิด

 ก็จะทำให้จิตแกว่งไปแกว่งมา

 เห็นสิ่งใดที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความไม่พอใจ

 เห็นสิ่งใดที่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความยินดี

 เกิดความอยาก เกิดความดิ้นทุรนทุราย

เพื่อที่จะหามาให้ได้ ในสิ่งที่ตนเองต้องการ

 เมื่อได้มาแล้วก็ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อรักษาไว้

จิตเลยไม่มีโอกาสที่จะสงบนิ่ง

 เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ

 ที่มาสัมผัสผ่านทวารทั้ง ๕

แต่ถ้าจิตมีสติแล้ว เวลามีอะไรเข้ามาสัมผัส

 เช่นรูปเข้ามาสัมผัสกับตา

 เสียงเข้ามาสัมผัสกับหู จิตมีสติรู้อยู่

 ก็เพียงแต่รับรู้ว่าเป็นรูป เป็นเสียง

 รู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง

 คือเมื่อเข้ามาสัมผัสแล้ว เดี๋ยวก็หายไป

เสียงมากระทบหูแล้วก็ผ่านไป

ไม่จำเป็นที่จะต้องให้มีอารมณ์ตามมา

 เสียงจะดีหรือจะชั่ว ไม่ได้อยู่ที่เสียงนั้นๆ

 แต่อยู่ที่ใจต่างหาก

ผู้ที่ไปให้ความหมายกับเสียงนั้น

เสียงเดียวกันสำหรับคนๆหนึ่ง

รู้สึกว่าไพเราะเพราะพริ้ง

แต่กับอีกคนหนึ่งกลับเป็นเหมือนมีดบาดหัวใจ

 เช่นพ่อแม่พูดชมลูกคนหนึ่งว่าเป็นคนดี

ลูกที่ไม่ได้รับคำชม ก็มีความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ

 ลูกที่ได้รับคำชมก็เกิดความดีอกดีใจ

ทั้งๆที่เป็นเสียงของคนๆเดียวกัน เรื่องเดียวกัน

แต่คนสองคนเมื่อฟังแล้ว กลับมีอารมณ์

 มีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป

นั่นก็เป็นเพราะว่าฟังโดยไม่มีสติ

ฟังโดยไม่มีปัญญานั่นเอง ฟังด้วยอารมณ์

ฟังด้วยความหลง ฟังด้วยอัตตาตัวตน

 ฟังว่าเขาชมคนนั้น เขาไม่ชมเรา

 เมื่อไม่ชมเรา เราก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ

เสียอกเสียใจขึ้นมา แต่ถ้าฟังด้วยสติ

 มันก็เป็นเสียงเท่านั้นเอง เสียงออกมาจากปากคน

 จะมาทำให้เราวิเศษ หรือทำให้เราเลวได้อย่างไร

 เพราะความดีความชั่วไม่ได้อยู่ที่ปากคน

แต่อยู่ที่การกระทำของเรา ถ้ากระทำความดี

 ถึงแม้จะไม่มีใครมาชม เราก็ยังดีอยู่อย่างนั้นแหละ

 ถ้ากระทำความชั่ว ถึงแม้จะมีใครมายกย่องสรรเสริญ

เราก็ไม่ดีตามคำยกย่องสรรเสริญของเขาเลย

แม้แต่นิดเดียว แต่ใจของเรากลับดีอกดีใจ

 ลืมไปว่าเราเพิ่งไปกระทำความชั่วมาหยกๆ

นี่คือลักษณะของจิตที่ไม่มีสติควบคุมดูแลนั่นเอง

ปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์อยาก อารมณ์ชอบ

 อารมณ์รัก อารมณ์ชังทั้งหลาย

 เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรที่ถูกอกถูกใจ

ก็เกิดความยินดี ดีอกดีใจ

เมื่อได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ

ก็เกิดความเสียใจ เกิดความอึดอัดใจ

ไม่สบายใจขึ้นมา แต่ถ้าได้ศึกษาธรรม

แล้วปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว

 รับรองได้ว่าต่อไปเวลาได้ยินได้ฟังอะไร

 จิตจะเป็นอุเบกขา คือจะวางเฉยทั้ง ๒ ด้าน

ไม่ว่าจะเป็นคำชมก็ดี หรือเป็นคำติก็ดี

 เพราะฟังด้วยสติ ฟังด้วยปัญญา

 รู้ว่าเสียงก็เป็นเพียงแต่เสียงเท่านั้นเอง

 ถ้าไม่เอาความหมายมาคิด มาแบก มายึด มาติด

แล้วละก็ เสียงนั้นเมื่อพูดไปแล้ว มันก็ผ่านไป

 เมื่อไม่เอามายึดเป็นของเราเสียอย่าง

ก็ไม่มีปัญหาอะไร เช่นเวลาใครพูดคำหยาบ

 คำผรุสวาท ด่าใคร เราอยู่ในที่นั้นด้วย

ถ้าเราฟังแล้ว เราไม่ได้คิดว่าเขาด่าเรา ว่าเรา

 ใจของเราก็ไม่มีความรู้สึกอะไร

 แต่ถ้าไปคิดว่าเขาด่าเรา ว่าเรา

ใจของเราก็จะต้องเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา

 ในทางหลักธรรมแล้ว

พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราฟังเฉยๆ

 ฟังเพื่อรู้ อย่าฟังเพื่อแบกรับ

 คืออย่าเอาอัตตาตัวตนออกไปแบกรับ

 แต่เอาใจผู้รู้ไปรับรู้ ใจเป็นผู้รู้ ใจไม่ใช่ตัวตน

 รู้เฉยๆ รู้แล้วก็ปล่อยวาง

รู้ว่ามีเสียงปรากฏขึ้นมา

แล้วเสียงนั้นก็ดับไป ผ่านไป

นี่คือรู้แบบธรรมะ รู้ด้วยปัญญา

ถ้ารู้ด้วยความหลง ก็รู้ด้วยตัวตน

ตัวตนออกไปรับ ว่าเขากำลังชมเรา

ก็เกิดอาการดีอกดีใจขึ้นมา

 ถ้าเขาด่าเรา ว่าเรา ก็เกิดอาการโมโหโทโสขึ้นมา

 เพราะฟังด้วยโมหะความหลงนั่นเอง

 เอาตัวตนออกไปรับ

และเมื่อเอาตัวตนออกไปรับแล้ว

ผลที่ตามมาคืออะไร ก็คือความทุกข์ใจนั่นเอง

ความไม่สบายอกไม่สบายใจ

 แต่ถ้าไม่เอาตัวตนออกไปรับ

เอาธรรมะออกไปรับ คือเอาความจริงออกไปรับ

คือจิตหรือใจนี้ไม่ใช่ตัวตนเป็นตัวรู้อย่างเดียว

 มีหน้าที่รับรู้ ใครพูดอะไรก็ฟังไป รับรู้ไป

 เหมือนกับไมโครโฟนอันนี้

 จะพูดอะไรมันก็รับเสียงเข้าไป

แล้วส่งต่อไปเข้าเครื่องขยายเสียง

ออกมาตามลำโพง ตัวไมโครโฟนนี้ไม่เคยบ่น

 ไม่เคยว่าอะไรเลย ว่าจะพูดดีหรือไม่ดีอย่างไร

 มันรับไปหมด รับแล้วก็ปล่อยวาง

 รับแล้วก็ส่งต่อไป

 แล้วมันก็ผ่านไป แล้วมันก็หมดไป

 เสียงต่างๆที่เราได้ยินได้ฟัง ก็เป็นอย่างนั้น

เสียงใครจะพูดอะไรอย่างไร พูดแล้ว เข้าหูเราแล้ว

 ใจรับรู้แล้ว มันก็ผ่านไปแล้ว

ถ้ามีสติมีปัญญา ก็ตัดมันเสีย อย่าเอาเข้ามาแบก

 มาหาม มาว่าเขาชมเรา หรือเขาติเรา

รู้ว่าเป็นเสียงของเขาที่ปรากฏขึ้น

ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เท่านี้ก็จบ

ถ้าจะฟังถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เขาพูด

ก็ฟังด้วยเหตุด้วยผล ฟังด้วยปัญญา

 ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นความจริง

หรือไม่เป็นความจริง เท่านั้นเอง

 ถ้าเป็นความจริงและเป็นประโยชน์

ก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์

อย่างที่เราฟังธรรมกันในวันนี้

 ฟังแล้วก็ใช้ปัญญาแยกแยะ

 ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นประโยชน์

หรือไม่เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าไม่เป็นประโยชน์

 ฟังเข้าหูซ้ายแล้วก็ปล่อยให้ออกหูขวาไป

 มันก็จบกัน ถ้าเป็นประโยชน์เราก็เอามาคิด

 เอามาไตร่ตรอง เอามาปฏิบัติต่อไป

ก็จะเป็นประโยชน์กับเรา

 นี่คือลักษณะของการฟังด้วยเหตุด้วยผล

 ด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยธรรมะ

 ไม่ได้ฟังด้วยอารมณ์ ถ้าฟังด้วยอารมณ์

 ถึงแม้สิ่งที่เขาพูดจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นความจริง

 แต่ไปกระทบกับอัตตาตัวตน

เช่นเขาตำหนิเราว่าเราเป็นคนไม่ดี

เพราะเราเป็นคนเกียจคร้าน ชอบเสพสุรายาเมา

 เล่นการพนัน พอฟังแล้ว

 ถ้าเอาอัตตาตัวตนออกไปรับ

ก็รับรองได้ว่าจะต้องไม่พอใจทันที

ที่เขามาว่าเราเป็นคนเกียจคร้าน เสพสุรายาเมา

เล่นการพนัน แต่กลับไม่คิดว่าเขากำลังเตือนเรา

 ชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา ชี้ความบกพร่องของเรา

ถ้าเห็นว่าเป็นความจริง แล้วนำไปแก้ไขดัดแปลง

 เปลี่ยนจากความเกียจคร้านเป็นความขยัน

 เลิกเสพสุรายาเมา เลิกเล่นการพนัน

 เราก็จะได้รับประโยชน์ จึงควรฟังด้วยสติ

 ฟังด้วยปัญญา เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

กัณฑ์ที่ ๑๖๒ วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๖

 (กำลังใจ ๑๑)

“ฟังด้วยสติ”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 12 ตุลาคม 2559
Last Update : 12 ตุลาคม 2559 10:42:47 น.
Counter : 714 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ