Group Blog
All Blog
### ปัญญา ๓ ระดับ ###









“ปัญญา ๓ ระดับ”

การศึกษานี้เป็นการเจริญปัญญา

 ซึ่งมีอยู่ ๓ ระดับ หรือ ๓ ขั้นด้วยกัน

ขั้นแรกเรียกว่า สุตมยปัญญา

คือปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง

 ได้ศึกษา ได้อ่านหนังสือ

 แล้วปัญญาขั้นที่ ๒ ก็คือ จินตามยปัญญา

คือปัญญาที่เกิดจากการใคร่ครวญ

พิจารณาอยู่เรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นเหมือนกับ

การทำการบ้าน

สุตมยปัญญานี้ก็เป็นเหมือนกับ

การเข้าห้องเรียน

 เข้าห้องเรียนเพื่อฟังคำสอนจากครูบาอาจารย์

เมื่อเราได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์แล้ว

ท่านก็ให้เรากลับไปทำที่บ้านต่อ

เรียกว่าไปทำการบ้าน

 เราได้ยินได้ฟังธรรมในวันนี้แล้ว

เราก็เอาธรรมที่เราได้ยินได้ฟังนี้

ไปเจริญต่อไปพิจารณาต่อ

 เพราะว่าถ้าเราไม่เจริญไม่พิจารณา เราก็จะลืม

เพราะชีวิตของเรานี้มีเรื่องราวมากมาย

 ที่เราต้องคอยคิดอยู่ตลอดเวลา

 พอเราไม่ได้คิดถึงเรื่องราว

ที่เราได้ยินได้ฟังในห้องเรียน

ที่เราได้ยินจากการฟังเทศน์ฟังธรรม

 เราไปทำภารกิจต่างๆ

 ธรรมที่เราได้ยินก็จะจางหายไป

ถ้าเราอยากจะรักษาธรรมที่เราได้ยินไว้

เราก็ต้องหมั่นพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

 ถ้าเราพิจารณาอยู่เรื่อยๆ แล้ว

ธรรมก็จะอยู่ภายในใจ

 แต่ธรรมทั้ง ๒ ระดับนี้คือ

 สุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา

 ยังไม่มีกำลังพอที่จะเอามาทำประโยชน์ได้

 คือประโยชน์ที่เราต้องการ

จากการเจริญปัญญาทางพระพุทธศาสนา

 ก็เพื่อหยุดความอยากต่างๆ

ดับความทุกข์ที่เกิดจาก

ความอยากต่างๆ นี้เอง

การที่เราจะสามารถหยุดความอยาก

ดับความทุกข์ต่างๆ ภายในใจเราได้

 เราต้องมีภาวนามยปัญญา

อันนี้เป็นปัญญาระดับที่ ๓

ภาวนามยปัญญาก็คือ ภาวนาที่ปัญญา

ที่มีสมถภาวนาเป็นผู้สนับสนุน

ถ้าเราไม่มีสมถภาวนาก็คือความสงบ

เราจะไม่มีอุเบกขาที่จะหยุดความอยากได้

 อุเบกขาก็คือการอยู่เฉยๆ รู้เฉยๆ

 เวลาเกิดความอยากขึ้นมา

ก็ไม่ทำตามความอยาก

ถ้าไม่มีอุเบกขาก็จะอยู่เฉยๆไม่ได้

 พอเกิดความอยากแล้ว

ก็ต้องไปทำตามความอยาก

 เพราะเวลาที่เกิดความอยาก

มีความทุกข์ทรมานใจ

ถ้าไม่ทำตามความอยาก

ความทุกข์ทรมานใจนั้นก็จะไม่หายไป

ถ้าไปทำตามความอยาก

ความทุกข์ทรมานใจนั้นก็จะหายไปชั่วคราว

แล้วเดี๋ยวพอเกิดความอยากใหม่ขึ้นมา

 ความทุกข์ทรมานใจก็จะเกิดขึ้นอีก

 เช่นเวลาที่อยากจะสูบบุหรี่

หรือ อยากจะดื่มสุรา ถึงเวลาแล้วไม่ได้ดื่ม

 ไม่ได้สูบเวลานั้นจะมีความทุกข์ทรมานใจ

 หงุดหงิดรำคาญใจ อารมณ์ไม่ดี

พอได้ดื่มได้สูบแล้ว ความทุกข์ทรมานใจ

 ความไม่สบายใจก็จะหายไปชั่วคราว

 พอเกิดความอยากขึ้นมาใหม่

 ความทุกข์ทรมานใจก็จะเกิดขึ้นมาใหม่อีก

 ถ้ามีปัญญาที่รู้ว่าการดื่มสุราไม่ดี

การสูบบุหรี่ไม่ดี

 แต่ถ้าไม่มีสมาธิก็จะไม่สามารถ

ที่จะหยุดความอยากสูบอยากดื่มสุราได้

ถึงแม้จะรู้ว่าการดื่มการสูบนี้ไม่ดีก็ตาม

 เพราะไม่มีกำลังที่จะสู้กับความอยากนั่นเอง

 แต่ถ้ามีสมาธิใจจะมีกำลัง

ที่จะสู้กับความอยากได้

กำลังของใจก็คืออุเบกขานี่เอง

 คือความนิ่งเฉยเวลาจิตสงบ

 จิตจะนิ่งเฉยจะไม่มีความหิวไม่มีความอยาก

 ถ้าเกิดความอยาก

ก็มีกำลังที่จะสู้กับความอยากได้

 ถ้ามีปัญญามาสอน มาเตือน

ว่าอย่าไปทำตามความอยาก

เพราะการทำตามความอยาก

ไม่ได้เป็นการนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง

 เป็นการนำความสุขมาให้เพียงชั่วคราว

พอเกิดความอยากขึ้นมาใหม่

ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาใหม่อีก

การทำตามความอยาก

จะไม่ทำให้ความอยากหมดไป

เพราะไม่ได้ทำให้ใจอิ่มให้ใจพออย่างถาวร

จะให้อิ่มให้พอเพียงชั่วคราว

 ถ้าอยากจะให้ใจอิ่มให้พออย่างถาวร

ก็ต้องไม่ทำตามความอยาก

ถ้าหยุดความอยากได้แล้ว

ต่อไปก็จะไม่มีความหิวความต้องการอะไร

 เพราะความหิวความต้องการนี้

เกิดจากความอยากนี่เอง

และการที่จะดับความอยากได้

ก็ต้องมีภาวนามยปัญญา

ก็คือจิตจะต้องมีสมถภาวนา

จิตมีอุเบกขาแล้วพอปัญญาสอนใจว่า

 การกระทำตามความอยาก

จะทำให้เกิดความทุกข์มากกว่าเกิดความสุข

 ใจก็จะหยุดกระทำตามความอยากได้
อันนี้เป็นภาวนามยปัญญา

คือปัญญาที่เกิดจาก

การได้บำเพ็ญสมถภาวนา

 แล้วก็เป็นปัญญาที่จะใช้กับเหตุการณ์จริง

 คือเป็นเหมือนกับการเข้าห้องสอบ

การทำการบ้านนี้ต่างกับการเข้าห้องสอบ

 ทำการบ้านนี้เราสามารถเปิดหนังสือ

เปิดหาข้อมูลอะไรต่างๆ เพื่อหาคำตอบได้

แต่เวลาเข้าห้องสอบนี้เราต้องหาความรู้

ที่เราสะสมไว้ภายในใจเรา

อันนี้ก็เหมือนกัน ภาวนามยปัญญานี้

 ก็จะใช้ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์จริง

เช่นเวลาเกิดความอยาก

เวลาได้พบกับเหตุการณ์จริงขึ้นมา

 เช่นพบกับความแก่

พบกับความเจ็บไข้ได้ป่วย พบกับความตาย

 พบกับการสูญเสียสิ่งที่รักที่ชอบไป

 เวลานั้นใจจะเกิดความอยาก

อยากไม่ให้สูญเสียสิ่งที่รักที่ชอบ

 อยากไม่ให้แก่ อยากไม่ให้เจ็บ

 อยากไม่ให้ตาย ถ้ามีภาวนามยปัญญา

คือ จิตได้มีสมาธิและได้ใคร่ครวญ

พิจารณามาอย่างต่อเนื่อง

ได้ทำการบ้านมาอย่างต่อเนื่อง

จนไม่หลงไม่ลืมว่าความทุกข์นี้

เกิดจากความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ

อยากไม่ตาย อยากไม่พลัดพราก

จากสิ่งที่รักที่ชอบไป

พอมีปัญญาคอยเตือนใจ

ใจก็จะหยุดอยากได้

 เพราะใจมีอุเบกขาอยู่แล้ว

ดังนั้นการที่จะเจริญปัญญาคือ

 ภาวนามยปัญญาเพื่อมาใช้

ในการดับความทุกข์ใจหยุดความอยาก

ที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจนี้ได้

จำเป็นจะต้องบำเพ็ญสมถภาวนามาก่อน

 ถ้ามีสมถภาวนาแล้วจิตมีสมาธิแล้ว

 เวลาได้ยินได้ฟัง

ปัญญาไม่ว่าจะเป็นสุตมยปัญญา

หรือจินตามยปัญญา

ก็จะกลายเป็นภาวนามยปัญญาไป

เช่นในสมัยพระพุทธกาล

ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก

ให้แก่พระปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงพระอริยสัจ ๔

 ทรงสอนพระปัญจวัคคีย์ว่า

ความทุกข์ใจนี้เกิดจากความอยาก

 และการดับความทุกข์ใจนี้

ก็ต้องดับด้วยการหยุดความอยาก

 เครื่องมือที่จะหยุดความอยากก็คือ

ศีล สมาธิ ปัญญา

 พระปัญจวัคคีย์ก็มีศีลอยู่แล้ว มีสมาธิอยู่แล้ว

 พอได้รับปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ว่าความทุกข์เกิดจากความอยาก

ถ้าอยากจะดับความทุกข์ก็ต้องหยุดความอยาก

 หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์

คือพระอัญญาโกณฑัญญะ ก็สอบผ่าน

ได้คำตอบว่าความทุกข์ของตนนี้

 เกิดเพราะว่าไม่อยากแก่ ไ

ม่อยากเจ็บ ไม่อยากตายนี่เอง

 จึงได้เปล่งวาจาขึ้นมาว่า

ธรรมใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

 ธรรมนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา

 เช่นร่างกายเมื่อมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

 ก็ย่อมมีการตายไปเป็นธรรมดา

ถ้าไม่ยอมรับความจริงอันนี้

หรือไม่เห็นความจริงอันนี้

ก็จะต่อต้านกับความตาย

เพราะใจมีความหลงมีความอยาก

ให้ร่างกายนี้ไม่ตาย ให้ร่างกายนี้อยู่ไป

กับตนไปนานๆ ไม่รู้ว่าร่างกายนี้

ไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา

ร่างกายนี้เป็นเหมือนกับ

เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง

เป็นเหตุการณ์อย่างหนึ่ง

เหมือนกับการปรากฏขึ้น

ของดวงอาทิตย์ในตอนเช้า

และการดับของดวงอาทิตย์ในตอนเย็น

อันนี้เป็นเรื่องปกติของธรรมชาติ

 ร่างกายนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

 ที่ใจได้มาครอบครองเป็นสมบัติชั่วคราว

ที่จะต้องมีการพลัดพรากจากใจไปในที่สุด

นี่คือเรื่องของถ้าเห็นด้วยใจที่สงบ

ก็จะไม่หวั่นไหว เวลาพิจารณา

ถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ก็จะรู้สึกเฉยๆ

 เพราะว่าใจมีอุเบกขา มีสมาธินั่นเอง

ผู้ใดที่มีสมาธิแล้วพอได้ยินได้ฟังธรรม

ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็จะสามารถบรรลุได้

 ดับความทุกข์ต่างๆ ได้

ในสมัยแรกๆของการแสดงธรรม

พระพุทธเจ้าจึงทรงมุ่งไปสอน

แก่พวกที่มีสมาธิอยู่แล้ว

คือบรรดานักบวชทั้งหลาย

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา

 บวชภายใต้ลัทธิอื่นแต่ก็ปฏิบัติมีศีล มีสมาธิ

พอมีศีล มีสมาธิพอได้ยินได้ฟัง

ปัญญาทางพระพุทธศาสนา

ปัญญาของพระพุทธศาสนา

ก็คืออริยสัจ ๔ นี่เอง

 ที่สอนให้หยุดความอยากด้วยการใช้ปัญญา

 ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากได้นี้ ไม่เที่ยง

ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของเรา

 ที่เราจะไปสั่งไปควบคุมบังคับ

ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้

 ทุกสิ่งทุกอย่างมีมาแล้ว

ก็ต้องมีไปเป็นธรรมดา

 ถ้ามีความอยากให้อยู่ ไม่อยากให้ไป

ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 ถ้าไม่มีความอยากให้อยู่ปล่อยให้มาให้ไป

 ไปตามธรรมชาติของเขา

ใจก็จะไม่มีความทุกข์

 ผู้ที่จะทำใจให้เฉย

เพื่อปล่อยให้ทุกอย่างมาแล้วไปได้

ก็คือต้องมีสมาธิต้องมีอุเบกขานี่เอง

แต่การมีสมาธิแล้วไม่มีปัญญา

ก็ไม่รู้จักวิธีที่จะดับทุกข์ได้เช่นเดียวกัน

เช่นผู้ที่มีสมาธิแล้วแต่ไม่รู้จักใช้ปัญญา

ไม่รู้จักหยุดความอยาก

 เวลาเกิดความอยากก็ไปทำตามความอยาก

 อย่างนี้ก็จะไม่สามารถดับความทุกข์ได้

อย่างถูกต้อง ดับได้แบบไม่ถูก

 เช่นเวลาอยากก็ไปทำตามความอยาก

พอทำตามความอยากแล้ว

ความทุกข์ที่เกิดจากความอยาก

ก็จะดับไปชั่วคราว เช่นอยากจะดื่มสุรา

อยากจะสูบบุหรี่ก็ไปทำตามความอยาก

 ความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นก็จะหายไปชั่วคราว

 พอเกิดความอยากขึ้นมาใหม่

 ความทุกข์ใจก็จะเกิดขึ้นมาใหม่

 เพราะการทำตามความอยากนี้

ไม่ได้เป็นการหยุดความอยากอย่างถาวร

หยุดเพียงชั่วคราว

การที่จะหยุดความอยากอย่างถาวรนี้

ต้องหยุดด้วยการไม่ทำตามความอยาก

 เช่นอยากจะสูบบุหรี่ก็ไม่สูบ

 ครั้งแรกมันก็จะรู้สึกทรมานใจมากหน่อย

 พอเราฝืนได้ครั้งต่อไป

มันก็จะอ่อนกำลังลงไป

แล้วไม่นานความอยากมันก็จะหมดไป

อันนี้ถ้ามีปัญญาก็จะหยุดได้

เพราะจะบอกจะสอนใจว่า

การทำตามความอยากนี้

ไม่ได้ให้ความสุขให้ความทุกข์มากกว่า

 เพราะว่าสิ่งที่ได้มานี้

ให้ความสุขเพียงชั่วคราว

 พอความสุขนั้นหมดไป

ความอยากก็จะเกิดขึ้นมาใหม่

ก็ต้องดิ้นรนหาสิ่งที่อยาก

มาตอบสนองใจอยู่เรื่อยๆ

 เวลาใดที่ไม่สามารถหาสิ่งที่อยากได้

 เวลานั้นก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 แต่ถ้าหยุดความอยากแล้ว

 ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่างๆ

 ที่ใจอยากได้ หาได้หรือหาไม่ได้

ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

เพราะสามารถมีความสุขอยู่เฉยๆ

 มีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องมีอะไร

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖

“ปัญญา ๓ ระดับ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 03 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2559 5:47:54 น.
Counter : 738 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ