Group Blog
All Blog
### เหตุที่ทำให้มีสมาธิก็คือสติ ###









“เหตุที่ทำให้มีสมาธิก็คือสติ”

ถาม : ฆราวาสควรป้องกันและปฏิบัติอย่างไร

เพื่อไม่ให้สมาธิความสงบที่ได้มาแล้วเสื่อมไป

พระอาจารย์ : ก็ต้องเจริญเหตุอยู่เรื่อยๆ

เหตุที่ทำให้มีสมาธิก็คือสติ

 ต้องเจริญสติอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เช่นบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ

อย่าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ถ้าไม่มีความจำเป็นจะต้องคิด คิดเท่าที่จำเป็น

ที่เกี่ยวกับเรื่องภารกิจการงานที่กำลังทำอยู่

พยายามรักษาสติคือดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน

 ให้ปราศจากความคิดปรุงเเต่ง

ให้คิดปรุงเเต่งให้น้อยที่สุด

 แล้วสมาธิก็จะคงอยู่ได้เวลานั่งสมาธิ

ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้

แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมความคิดได้

ปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย

เวลานั่งสมาธิ จะบริกรรมพุทโธ

มันก็จะไม่ยอมอยู่กับการบริกรรมพุทโธ

จะดูลมหายใจมันก็จะไม่ยอมอยู่กับลมหายใจ

 เพราะมันไม่ได้ถูกควบคุมบังคับเอาไว้

ถูกปล่อยให้มันคิดไปเรื่อยเปื่อย

 พอมานั่งสมาธิเพื่อจะควบคุมไม่ให้มันคิด

 มันก็จะควบคุมมันไม่ได้

เราจึงต้องควบคุมมันไว้ก่อนที่เราจะมานั่งสมาธิ

ควบคุมตลอดเวลาที่เราตื่น

 เพราะเราสามารถควบคุมได้

 ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็บริกรรมพุทโธไป

 ถ้าการกระทำของเรานั้นไม่จำเป็น

จะต้องใช้ความคิด

 เช่นเวลาอาบน้ำแปรงฟันล้างหน้า

แต่งเนื้อแต่งตัว รับประทานอาหาร

 การกระทำเหล่านี้ไม่ต้องใช้ความคิด

 หรือถ้าใช้ก็น้อยมากคิดว่าจะต้องหยิบสบู่

 เทน้ำอะไรเท่านั้นเอง ระยะเราก็สามารถ

บริกรรมพุทโธๆไปได้อย่างต่อเนื่อง

 หรือถ้าเราขี้เกียจบริกรรมพุทโธ

เราจะเฝ้าอยู่กับการกระทำของร่างกายไปก็ได้

 เช่นเวลาอาบน้ำตักน้ำใส่ร่างกายก็ให้รู้

ว่าเรากำลังตักน้ำใส่ร่างกาย

เวลาถูสบู่ ก็ให้รู้ว่ากำลังถูสบู่

ให้อยู่กับงานที่เรากำลังทำอยู่

อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการเจริญสติ

พอจิตของเราไม่ลอยไปอดีต

ไม่ลอยไปอนาคตอยู่ในปัจจุบัน

 จิตก็จะตั้งมั่นจะเป็นสมาธิได้ง่าย

พอเรานั่งอยู่เฉยๆ หลับตาไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ

ให้รู้อยู่กับเรื่องเดียวคือการบริกรรมพุทโธ

 ถ้าเราใช้การบริกรรมพุทโธ

ถ้าเราใช้การดูร่างกาย

เราก็ดูลมหายใจเข้าออก นั่งดูต่อไป

 เดี๋ยวใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้อย่างเต็มที่

ใจก็จะว่างเป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้

แล้วก็จะมีความอิ่ม

 มีความสุขจะไม่อยากได้อะไร

 พอเราออกจากสมาธินี้มา

เราก็จะได้เอามาเจริญปัญญาได้

 เพราะเราจะเห็นทันที

เวลาที่เราคิดไปในทางที่ไม่ดี

 ใจของเราจะร้อนขึ้นมาทันที

 เวลาที่เราคิดไปในทางที่ดี

ใจของเราจะเย็นขึ้นมาทันที

เวลาที่เราคิดไม่อยาก ไม่โลภได้

เราก็ยิ่งมีความสุข มีความสงบขึ้นมามากขึ้นไป

อันนี้มันจะเป็นการเจริญสติที่ต่อเนื่อง

ออกจากสมาธิมา

ก็คอยสังเกตดูการกระทำของใจ

ดูความคิดของใจก็จะเห็นว่า

ใจคิดไปในทางไหน

 คิดไปในทางบุญ ก็จะเย็นจะสงบ

 คิดไปในทางบาปก็จะร้อนขึ้นมา

คิดไปในทางความอยาก

 ความโลภก็จะร้อนขึ้นมา

 อันนี้ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา

ต่อไปก็จะสามารถที่จะกำจัดความคิดที่ไม่ดีได้

 กำจัดความโลภ ความอยากต่างๆ

ที่เป็นเหตุที่ทำให้ใจรุ่มร้อนขึ้นมาได้

พอกำจัดความโลภ ความอยากได้

กำจัดการกระทำที่ไม่ดีได้ ใจก็จะเย็นไปตลอด

นี่คือผลที่จะเกิดขึ้น

จากการที่เราเจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 พอเราเจริญสติเราก็จะได้สมาธิ

พอเราได้สมาธิ ถ้าเราใช้ปัญญาคอยสังเกต

ดูการเคลื่อนไหวทางความคิดของใจ

เราก็จะเห็นเลยว่า ความคิดของใจ

แยกไป ๒ ทาง ๓ ทางด้วยกัน

 แยกไปในทางบาป แยกไปในทางบุญ

แยกไปในทางตัณหาความอยากต่างๆ

ก็สามารถที่จะรู้เลยว่า

ควรจะกำจัดความคิดแบบไหน

 ควรจะรักษาความคิดแบบไหนไว้

ต่อไปเราก็จะมีแต่สิ่งที่ดีอยู่แต่ภายในใจของเรา

 มีความคิดที่ดี มีความสุขมีความสงบไปตลอดเวลา

 นี่คือวิธีรักษาจิตของเรา ต้องรักษาด้วยสติก่อน

จนกว่าจะมีสมาธิแล้วเวลาออกจากสมาธิ

ก็ใช้ปัญญารักษาต่อไป

หรือถ้าใช้ปัญญาไม่เป็น

ก็ใช้สติรักษาต่อไปก่อนก็ได้

 ออกจากสมาธิมาก็บริกรรมพุทโธต่อไป

หรือเฝ้าดูการเคลื่อนไหว

การกระทำของร่างกายต่อไป

 จนกว่าเราจะมีเวลาว่างกลับมานั่งสมาธิใหม่

 เราก็กลับมานั่งใหม่

 เราก็จะสามารถกลับเข้าสู่สมาธิได้อย่างง่ายดาย

เหมือนกับครั้งแรกที่เราเข้าสมาธิได้

ถ้าเราเข้าออกมาแล้วเราไม่เจริญสติ

ไม่ควบคุมความคิดต่อไปเวลาจะนั่งสมาธิ

มันก็จะเข้าไม่ได้อยู่ดี

ดังนั้นต้องพยายามรักษาสติจนเป็นมหาสติ

คือไม่มีเวลาที่เผลอเลยมีสติอยู่ตลอดเวลา

อยู่กับการเคลื่อนไหว ของร่างกาย

อยู่ในปัจจุบันอยู่กับพุทโธ นี่คือเรื่องของการมีสติ

 ต่อไปมันจะเป็นธรรมชาติของใจไป

 สตินี้ถ้าเราเจริญบ่อยๆ

ก็เหมือนกับการที่เราหัดทำอะไร

ตอนต้นเราก็ต้องบังคับ เช่นหัดพิมพ์ดีด

 เราก็ต้องคอยบังคับให้กดนิ้วอยู่เรื่อยๆ

พอเรากดไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

พอมันจำได้มันชำนาญ ต่อไปเราไม่ต้องบังคับ

 เพียงแต่เห็นตัวอักษร

หรือเพียงแต่อยากจะพิมพ์อักษรตัวไหน

เราก็พิมพ์ได้ทันทีเลย

 สติก็เหมือนกัน ตอนต้นนี้เราต้องบังคับ

 เพราะว่ามันไม่เคยมีสติ มันชอบลอยไปลอยมา

 จิตมันไม่ชอบอยู่นิ่ง ไม่ชอบอยู่ในปัจจุบัน

 เพราะไม่มีใครสอนให้มันอยู่ในปัจจุบัน

 พอเรามาสอนตอนต้น

ก็เป็นเหมือนกับ การที่จะต้องชักเยอกัน

คือความถนัดเดิมที่ชอบคิดไปทางอดีต ทางอนาคต

มันก็จะพยายามดึงจิตไป ทางอดีตทางอนาคต

ทางเรื่องนั้นทางเรื่องนี้

 เราก็ต้องพยายามดึงมันเข้าหาพุทโธให้ได้

 ดึงเข้ามาหาที่ร่างกาย

การกระทำของร่างกายให้ได้

ตอนต้นก็อาจจะแพ้มันบ้าง ชนะมันบ้าง

 ก็ไม่เป็นไรก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยๆ

อย่างนี้ไปก่อน แล้วต่อไปเราก็จะมีกำลังมากขึ้น

ที่จะดึงจิตให้อยู่กับพุทโธได้มากขึ้น

ดึงจิตให้อยู่กับการเคลื่อนไหว

กับการกระทำของร่างกายได้มากขึ้น

 แล้วต่อไปมันก็จะไม่ไป มันก็จะอยู่กับงาน

ที่เรามอบหมายให้จิตทำ

 ถ้าให้บริกรรมพุทโธมันก็จะพุทโธของมันไปเรื่อยๆ

ถ้าให้เฝ้าดูการกระทำของร่างกาย

มันก็จะเฝ้าดูการกระทำของร่างกายไปเรื่อยๆ

 พอเวลานั่งสมาธิให้มันสงบ

มันก็จะสงบได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้นขอให้เราอย่าท้อแท้

ในเรื่องของการเจริญสติ

 ขอให้พยายามทำให้มากๆ

เราเป็นเหมือนเด็กที่ยังคลานอยู่ ยังยืนไม่ได้

อย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องเดินเรื่องวิ่งเลยตอนนี้

ขอให้คิดถึงเรื่องยืนให้ได้ก่อน

ก็เหมือนกับพวกเรา ตอนนี้ไม่มีสติ

ตอนนี้อย่าไปคิดถึงเรื่องสมาธิเรื่องปัญญา

 ขอให้คิดอยู่แต่เรื่องสติอย่างเดียว สร้างสติขึ้นมา

หัดยืนให้ได้ก่อน พอยืนได้แล้วทีนี้ค่อยมาหัดเดิน

 พอเดินได้แล้วค่อยมาหัดวิ่ง

 นี่ก็เหมือนกันตอนนี้ยังไม่มีสติ

 ก็ขอให้สร้างสติขึ้นมาให้ได้ก่อน

พอมีสติแล้วทีนี้ก็รักษาสมาธิไว้ให้ได้

พอรักษาสมาธิได้แล้ว ทีนี้ก็มาเจริญปัญญาได้

มาดูเรื่องราวต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจของเรา

 พอแยกแยะส่วนที่ดีส่วนที่ไม่ดี แยกออกจากกัน

 ส่วนที่ดีก็รักษาเอาไว้ ส่วนที่ไม่ดีก็ทำลายมันไป

 แล้วต่อไปในใจของเราก็จะมีแต่สิ่งที่ดี

ให้ความสุขกับเรา

ให้ประโยชน์กับเราเพียงอย่างเดียว

จะไม่มีสิ่งที่ไม่ดีที่สร้างความทุกข์

 สร้างความปั่นป่วน สร้างความเครียด

สร้างความวุ่นวายใจให้กับเราหลงเหลืออยู่เลย

 นี่เป็นสิ่งที่พวกเราทำกันได้ทุกคน

 แต่ขอให้เราทำตามขั้นตอน

อย่าไปกระโดดข้ามขั้นกัน

 เพราะว่ามันจะทำไม่สำเร็จนั่นเอง

 เพราะว่ายังไม่มีสมาธิ อย่าเพิ่งไปทางปัญญา

 ถ้ายังไม่มีสมาธิก็ต้องมาทางสติก่อน

 มีสติแล้วก็จะมีสมาธิตามมา

พอมีสมาธิแล้วค่อยมาสร้างปัญญากัน

พอสร้างปัญญาได้ก็หลุดพ้นได้

 หลุดพ้นจากความทุกข์ความวุ่นวายใจ ต่างๆได้

นี่คือขั้นตอนของการปฏิบัติ ขอให้เราใจเย็นๆ

 มีคำพูดอยู่ว่า

กรุงโรมไม่ได้สร้างขึ้นมาภายในวันเดียว

 ฉันใดพระนิพพานก็ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว

 เกิดขึ้นจากการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง

จนสามารถเข้าสมาธิได้

อย่างง่ายดายและรวดเร็วทุกเวลาที่ต้องการจะเข้า

 แล้วพอออกจากสมาธิมาก็ให้ใช้ปัญญา

สังเกตดูแยกแยะดูว่า อะไรผิดอะไรถูก

อะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป

อะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ

ทั้งหมดนี้มันมีอยู่ภายในใจของเรา

ถ้ามองด้วยปัญญาก็จะเห็น

พอเห็นแล้วก็จะสามารถแยกแยะ

และกำจัดสิ่งที่เป็นโทษได้

ก็จะมีเหลือแต่สิ่งที่เป็นคุณเพียงเดียวอยู่ภายในใจ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

ธรรมะบนเขาวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗

“การศึกษาและเจริญมรรค ๘”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 กันยายน 2559
Last Update : 26 กันยายน 2559 10:15:25 น.
Counter : 631 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ