Group Blog
All Blog
### เรื่องของจิตที่ได้สะสมบุญบารมีมาไม่เท่ากัน ###











“เรื่องของจิตที่ได้สะสมบุญบารมีมาไม่เท่ากัน”

เวลาจะเข้าหาธรรมะจึงเหมือนกับการแหกคุก

จะไปวัดสักที จะไปทำบุญสักที

 จะไปปฏิบัติธรรมสักที

มันยิ่งกว่าการแหกคุกเสียอีก

แต่ถ้าไปเที่ยว ไปได้อย่างสบายเลย

ที่บอกว่า ยังพิจารณาไม่ค่อยเห็น

 เป็นเพราะใจไม่มาทางนี้

แต่ถ้าได้ยินได้ฟังได้ศึกษา

แล้วเห็นว่ามาทางนี้มีคุณประโยชน์

เหมือนกับออกจากกองขยะ

มาสู่กองเพชรกองเงินกองทอง

 ก็จะทำให้มีฉันทะ มีกำลังใจที่จะออกกัน

 แต่เราไม่เห็นว่าเรากำลังอยู่บนกองขยะกัน

 กลับเห็นกองขยะเป็นเพชรนิลจินดา

เพราะความหลงเลย

ทำให้เราหลงติดอยู่กับกองขยะ

 ก็ดูพระพุทธเจ้าขนาดอยู่ในวัง

 ในสายตาของกิเลสก็จะเห็นเป็นสวรรค์

แต่ในสายตาของนักปราชญ์กลับเห็นเป็นกองขยะ

เพราะจะผูกให้ติดอยู่กับวงจร

ของความแก่ ความเจ็บ ความตาย

พระพุทธเจ้าทรงต้องการที่จะดิ้นให้หลุดพ้น

จากวงจรของความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ทรงศึกษาถามเรื่องราวต่างๆ

 ตอนที่เสด็จประพาสนอกพระราชวัง

ทรงเห็นคนแก่ ก็ทรงถามว่าคนแก่นี้มาจากไหน

ก็ได้รับคำตอบว่า ก็มาจากพระองค์นั่นแหละ

 พระองค์สักวันก็ต้องเป็นเหมือนเขา

คนเจ็บก็เหมือนกัน คนตายก็เหมือนกัน

คือพระองค์ในที่สุดก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

พอไปเห็นสมณะนักบวช

ก็ทรงถามพวกนี้เขามาจากไหน

 เขาทำอะไร เขาก็เป็นคนเหมือนพระองค์นี่แหละ

แต่เขาแสวงหาทางออกจากความแก่

 ความเจ็บ ความตายกัน

 พระองค์ก็ทรงอยากจะหลุดพ้นจากความทุกข์

 ของความแก่ ความเจ็บ ความตายเหมือนกัน

 ก็เลยอยากจะทดลองดูบ้าง

 พอดีได้ข่าวพระมเหสีได้คลอดพระโอรส

ก็ทรงอุทานว่าราหุล แปลว่าบ่วง

 เพราะลูกจะเป็นบ่วง ร้อยคอผูกมัดพ่อแม่

ด้วยความผูกพัน จึงทรงตัดสินพระทัย

หนีออกจากวังไปในคืนนั้นเลย หนีไปผนวช

แต่ในสายตาของพวกเรา

ก็เหมือนกับลงจากสวรรค์ไปสู่นรก

จากวังไปอยู่เหมือนขอทาน จะกินที่ไหน

 จะนอนที่ไหนก็ไม่รู้ นอนก็นอนตามโคนไม้หรือในถ้ำ

 กินก็แล้วแต่ชาวบ้านจะสงเคราะห์ ก็เหมือนขอทาน

 ทรงถือบาตรไปที่หมู่บ้าน

 เพื่อรับอาหารที่ชาวบ้านถวาย แล้วแต่ศรัทธา

แต่ก็ไม่ได้ทรงถือเป็นเรื่องหนักอกหนักใจ

 เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการนั้น

มีค่ามากกว่าสิ่งที่พระองค์ได้ทรงเสียสละไป

คือความสะดวกสบายทางด้านร่างกาย

 ทางด้านปัจจัย ๔

พระองค์ทรงต่อสู้อยู่ถึง ๖ ปีด้วยกัน จึงได้บรรลุผล

 ได้ปัญญา ได้เห็นว่าธรรมทั้งหลาย

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 เมื่อรู้แล้วก็ทรงปล่อยวาง

 จิตก็หลุดพ้น ไม่ยึดไม่ติดกับอะไรอีกต่อไป

 เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น

 จิตเป็นเหมือนกับกระจกสะท้อนเงา

สะท้อนตามความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง

 ที่เราเห็นว่าดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่จิตที่เป็นเหมือนกระจก

 ไม่ได้เห็นว่าดีหรือไม่ดี เป็นสักแต่ว่าทั้งนั้น

ดังที่ทรงสอนไว้ว่า เวลาเห็นอะไรก็ให้สักแต่ว่าเห็น

เวลาได้ยินอะไรก็ให้สักแต่ว่าได้ยิน

อย่าไปเห็นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นเราเป็นของเรา

แล้วจิตจะได้ไม่เดือดร้อนกับสิ่งต่างๆที่เห็น

ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม

กับความรู้สึกนึกคิดของพวกเรา

 ถ้าไม่ได้วิเคราะห์พิจารณาอย่างจริงๆจังๆ

 ก็จะไม่เข้าใจ แต่ถ้ามองความตายอยู่เรื่อยๆแล้ว

ก็จะมีเครื่องเตือนสติ ให้คิดว่าสักวันหนึ่ง

เราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป

หรือคนที่เรารักก็จะต้องจากเราไป

เราจะรู้สึกอย่างไร

 ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่เป็นความสุขเลย

 เป็นความสุขตอนต้น แต่เป็นความทุกข์ตอนปลาย

เรามาหาวิธีทำให้ไม่ทุกข์ไม่ดีกว่าหรือ

เป็นบุญเป็นวาสนาของพวกเรา

ที่ได้ยินได้ฟังจากผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้า

 เพราะโดยลำพังแล้ว

 เราคงจะไม่คิดอย่างพระพุทธเจ้าทรงคิดกัน

 เราก็จะกอดอยู่กับกอง

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ไปตลอด

 ถึงแม้จะทุกข์จะทรมานอย่างไร

ก็ปล่อยวางไม่ได้

 เพราะยังไม่เคยสัมผัสกับความสุข

อีกแบบหนึ่งนั่นเอง

 ถ้าได้สัมผัสกับความสุข

ที่เกิดจากความสงบของจิตแล้ว

จะเห็นว่าถึงแม้จิตจะไม่มีอะไรเลย

 ถึงแม้จะต้องอยู่ตามลำพัง

 แต่จิตที่สงบจะไม่รู้สึกว้าเหว่

 จะไม่รู้สึกว่าขาดอะไรเลย เป็นจิตที่มีความอิ่ม

มีความสุข มีความพออยู่ในตัว

 ที่พวกเราต้องมาวัดกันนี้ ก็เพื่อมาทำจิตใจให้สงบ

 จิตของแต่ละคนก็อยู่ในระดับต่างกัน

บางคนก็ทำจิตให้สงบง่าย

 แสดงว่าเคยทำมาแล้วในอดีต

ถ้าเป็นนักเรียนก็เหมือนกับการย้ายจากโรงเรียน

 เคยเรียนชั้นป.๖ แล้ว พอมาเข้าโรงเรียนใหม่

ก็เรียนชั้นป.๗ได้เลย

 บางคนยังไม่เคยได้เรียนหนังสือมาก่อน

 ก็ต้องเรียนชั้นป.๑ไปก่อน

จิตของพวกเราก็เป็นแบบนี้ ได้สะสมบุญบารมี

ในแต่ละภพในแต่ละชาติมาไม่เท่ากัน

ทำบุญทำบาปมาไม่เท่ากัน เมื่อมาเกิดชาตินี้แล้ว

อยากจะเรียนชั้นสูงๆ อยากจะภาวนา

 แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคไปหมด

จะกินจะอยู่แบบนักภาวนาก็รู้สึกลำบาก

จะให้นั่งเฉยๆให้สงบสัก ๑๕ นาที

รู้สึกอึดอัดใจ นั่งไม่ได้

ก็แสดงว่ายังไม่ได้ผ่านขั้นที่ต่ำกว่านี้มา

 เราจึงต้องเลื่อนกลับลงไป รักษาศีลก่อน

 ถ้ารักษาศีลยังรู้สึกว่ายาก

 ก็ต้องลงไปขั้นทำทานก่อน

 ทำทานทำไปเรื่อยๆ เพราะการทำบุญทำทาน

เป็นการปล่อยวาง ความยึดติดในวัตถุ

ข้าวของเงินทองต่างๆ

 เมื่อทำบุญทำทานไปเรื่อยๆแล้ว

 จิตใจจะได้ความสุขจากการปล่อยวาง

วัตถุข้าวของเงินทอง ก็จะเห็นว่า

ยังมีความสุขอีกแบบหนึ่ง

 ที่เกิดจากการให้ ไม่ได้เกิดจากการได้มา

ซึ่งเป็นความสุขที่ละเอียดกว่า

ความสุขที่เกิดจากการได้มา

 เวลาได้มาเราก็มีความสุข

 แต่เป็นความสุขที่ทำให้

เกิดความทุกข์ตามมา

เพราะอยากจะได้มากกว่าเดิม

 วันนี้ได้ ๑๐ บาท พรุ่งนี้ก็อยากจะได้ ๒๐ บาท

แต่เวลาเราทำบุญทำทาน

 จิตใจจะมีความอิ่มเอิบ

 ไม่รู้สึกเสียดายเงินที่ให้ไป

 และจะไม่รู้สึกอยากจะได้ใหม่

 ถ้าทำมากๆแล้วต่อไปก็จะเห็นว่า

 เงินทองที่มีเหลือใช้นี้ถ้าไม่ฉลาด

 ก็จะเพิ่มความทุกข์ให้กับเราได้

ถ้าเอาไปเลี้ยงกิเลสตัณหา

 เห็นเสื้อผ้าสวยๆงามๆก็ซื้อมาใส่

 เห็นอะไรใหม่ๆก็ซื้อมาใช้

ใส่ไปใช้ไปได้ครั้งสองครั้งก็เบื่อ

แล้วก็อยากจะได้ของใหม่อีก

 ก็จะทำให้หิวกระหายอยากได้ของใหม่ๆไปเรื่อยๆ

ถ้าเป็นอย่างนี้หาเงินมาได้เท่าไรก็จะไม่พอใช้

 ก็จะต้องไปทำผิดศีล

 ถ้าหาเงินมาด้วยความสุจริตไม่ได้

 ก็ต้องไปฉ้อโกงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

 ถ้าให้ทานอยู่เรื่อยๆแล้ว จิตใจจะมีความอิ่ม

ไม่หิวกับเสื้อผ้าอาภรณ์ของใช้ใหม่ๆต่างๆ

ของเก่าที่ยังใช้ได้อยู่ก็ใช้ไป พอใจใช้ของเก่า

 ไม่หิวกระหายกับของใหม่ๆ

 เงินทองที่มีอยู่ก็จะไม่หมดไป

ไม่ต้องไปทำความทุจริต

 ก็เลยทำให้มีศีลขึ้นมาจะทำอะไร

ก็จะทำด้วยความถูกต้อง

 เพราะรู้ว่าเวลาทำผิดศีลแล้ว จิตใจจะวุ่นวาย

 จิตใจจะทุกข์ ถ้าจะหาเงินมา

ก็ต้องหามาด้วยวิธีที่สุจริต

 ไม่ไปละเมิดศีล ทานจึงเป็นเครื่องสนับสนุนศีล

เมื่อเรารักษาศีลไป จิตของเราก็จะมีความสงบ

เมื่อมีความสงบเราก็อยากจะหาความสงบเพิ่มขึ้น

 ทีนี้เราก็จะภาวนาได้ นั่งสมาธิก็จะง่ายขึ้น

เพราะกิเลสตัณหา

ที่อยากจะหาความสุขจากภายนอก

ได้ถูกตัดไป ถ้าเป็นต้นไม้

ก็เหมือนกับกิ่งก้านของต้นไม้

ได้ถูกตัดไป แต่ตัวต้นยังไม่ได้ถูกตัด

ต้องอาศัยการภาวนาที่จะทำจิตให้สงบเต็มที่

ด้วยการนั่งสมาธิ ทำจิตให้สงบ

 เมื่อจิตรวมเป็นสมาธิแล้ว

 ก็จะเห็นความสุขที่แท้จริง

แต่จะเป็นความสุขในขณะที่อยู่ในสมาธิ

พอจิตออกมาจากสมาธิแล้ว

ไปเห็นรูปหรือไปได้ยินเสียง กิเลสก็จะทำงานต่อ

 จากความสงบก็จะกลายเป็นความรุ่มร้อนขึ้นมา

 เช่นไปเห็นใครเขาทำอะไร แล้ว

ทำให้เกิดความโกรธขึ้นมา

เป็นเหมือนไฟลุกขึ้นมา

 จิตที่มีความสงบแล้วจะรู้ทันทีเลยว่า

นี่คือสิ่งที่ต้องกำจัด คือความโกรธ

 ปล่อยให้โกรธไม่ได้ เพราะเวลาโกรธ

เหมือนกับเอาไฟมาเผาใจ

ทีนี้จะทำอย่างไรถึงจะดับความโกรธได้

 ก็ต้องใช้ปัญญา เช่นวิปัสสนาปัญญา

ก็ต้องคิดว่าไม่ต้องไปโกรธหรอก

ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามเรื่องของเขา

คนที่เราโกรธ เราไม่ต้องไปทำอะไรเขาหรอก

 เดี๋ยวถึงเวลาเขาก็เป็นไปตามเรื่องของเขาเอง

 เดี๋ยวเขาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไป

ไปมีเรื่องกับเขา ก็จะเป็นการสร้างเวรสร้างกรรม

สร้างความทุกข์ สู้ยอมรับความจริงของเขาดีกว่า

 เขาอยากจะทำอะไรก็เป็นสิทธิของเขา

ถ้าหลีกได้ก็หลีก ถ้าหลีกไม่ได้

ก็ต้องทำใจให้นิ่งเฉยไว้

 แล้วก็รอให้ผ่านไป ถ้าไปมีปฏิกิริยาต่อสู้กัน

เดี๋ยวเรื่องจะยาว อาจจะต้องตายจากโลกนี้ไปด้วยกัน

ก่อนเวลาอันสมควร นี่คือวิปัสสนา

 การทำสมาธิเพียงแต่ทำให้จิตสงบ

เวลาจิตอยู่ในสมาธิก็ไม่ต้องไปเจริญปัญญา

 เพราะการเจริญสมาธินี้ ต้องการให้จิตนิ่ง

 เหมือนกับคนที่ต้องการพักผ่อนหลับนอน

 เวลาหลับไปแล้วอย่าไปปลุกขึ้นมา ให้นอนให้เต็มที่

 จนกระทั่งตื่นขึ้นมาเอง จิตเวลาอยู่ในสมาธิ

จะนิ่งอยู่นานสักเท่าไร ก็ปล่อยให้อยู่ไป จิตกำลังพัก

 เมื่ออิ่มตัวแล้วก็จะถอนออกมาเอง

เมื่อถอนออกมาแล้ว ก็จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

 พอคิดในเรื่องที่จะสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้น

 ก็ต้องใช้ปัญญาเข้ามาแก้ ห่วงคนนั้นคนนี้

ห่วงได้อย่างไรเดี๋ยวเขาก็ต้องตายอยู่ดี

ห่วงอย่างไรก็ต้องตายอยู่ดี ไม่ห่วงไม่ดีกว่าหรือ

ไม่ห่วงก็ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงเรื่องของเขา

 ห่วงก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเรื่องของเขา

แต่ห่วงแล้วจะทำให้เราทุกข์ ไม่ห่วงก็ไม่ทำให้เราทุกข์

 ความห่วงไม่ห่วงเราเปลี่ยนได้

 แต่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนผู้อื่นได้

คนที่เราห่วง กลัวจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 ถ้าเขาจะเป็น เราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี จึงอย่าไปห่วง

 มีหน้าที่ดูแลกันก็ดูแลกันไป

 มีหน้าที่เลี้ยงดูก็เลี้ยงดูกันไป แต่ไม่ต้องห่วง

ห่วงไม่ได้หรอก แล้วในที่สุดก็ต้องสลายหมดไป

ชีวิตของคนเราทุกคนมีจุดจบด้วยกันทั้งนั้น

แต่เราจะอยู่แบบไหน อยู่แบบห่วงแบบทุกข์

 หรือจะอยู่แบบไม่ห่วง แบบสบายใจ

 จุดจบก็มีเท่ากัน เหมือนกัน นี่คือวิปัสสนาปัญญา

ถ้าเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์

เห็นว่าไม่ใช่เป็นของเราแล้ว

มันก็ง่ายขึ้นในการปล่อยวาง

 เวลาลูกคนอื่นเขาตายไปเราเดือดร้อนไหม

 เราไม่ได้เดือดร้อน ไม่ร้องห่มร้องไห้

แต่พอลูกเราตายไปนี่ วุ่นวายใจ

 กินไม่ได้นอนไม่หลับ

ลูกของเขากับลูกของเราก็มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน

 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน

 เมื่อถึงเวลาที่เขาจะต้องตาย ก็ต้องตาย

เขาทำบุญมาแค่นี้

หรือมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาอยู่ได้เพียงแค่นี้

เราไปร้องห่มร้องไห้ เขาก็ไม่ฟื้นกลับคืนมา

 มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา เปล่าๆ

เพราะขาดปัญญานี่เอง

 แต่ถ้ามีปัญญาแล้ว เราก็เฉย

 ตายก็จัดงานศพให้ เผาให้เสร็จ

 ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย นี่คือวิปัสสนา

 เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ให้กับใจของเรา

 แต่การจะเจริญวิปัสสนาปัญญาได้

จะต้องมีสมาธิก่อน

 ถ้าจิตไม่มีสมาธิ ก็จะทำใจไม่ได้ ถ้าจิตมีสมาธิแล้ว

พอระลึกถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ความว้าวุ่นขุ่นมัวก็จะดับลงไปเอง

 จิตก็จะกลับไปสู่จุดของสมาธิ จุดที่สงบ

แต่ถ้าไม่มีสมาธิ เวลาจะปลงจะวาง

ก็ไม่รู้จะไปปลงไปวางไว้ที่ตรงไหน

 เพราะจิตไม่เคยสงบมาก่อน

ก็ปลงอยู่บนความวุ่นวายนั่นเอง คิดไม่ตก ปลงไม่ตก

 แต่ถ้ามีสมาธิแล้วจะปลงตก เช่นเราจะต้องเสียสมบัติ

เสียงานเสียการไป ถ้าเรามีสมาธิเราจะปลงตก

 ไม่เป็นไร ไม่มีงานทำฉันเข้าสมาธิของฉันได้

พออยู่ในสมาธิแล้วฉันสบาย

เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 คนที่มีสมาธิแล้วจะมีที่พึ่ง

 เพียงแต่ว่ายังไม่เป็นที่พึ่งที่ถาวรเท่านั้นเอง

 ที่พึ่งที่ถาวรต้องอาศัยปัญญา

เพราะปัญญาจะเป็นตัวตัด

ถอนรากถอนโคนของความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากต่างๆให้หมดไปจากจิตจากใจ

 สมาธิเป็นเหมือนกับตัวไปบีบไปกด

 ไม่ให้กิเลสตัณหาทำงาน เหมือนกับหินทับหญ้า

เวลาหินทับอยู่บนหญ้าๆก็จะเจริญงอกงามออกมาไม่ได้

 แต่พอยกหินออก ทิ้งไว้สักพักหนึ่ง

 เดี๋ยวหญ้าก็โผล่กลับขึ้นมาใหม่

 ถ้าต้องการทำลายหญ้าอย่างถาวร

 ก็ต้องถอนรากถอนโคนด้วยจอบด้วยเสียม

 กิเลสก็ต้องถอดถอนด้วยปัญญา

ปัญญาก็คือไตรลักษณ์นี่เอง

ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้ว

 ใจจะไม่โลภ ไม่โกรธอีกต่อไป

 เพราะเกิดจากความหลง ความโลภ

 ความโกรธมาจากความหลง หลงว่าเป็นของเรา

 พออะไรที่เป็นของเราหายไป ก็ร้องห่มร้องไห้

กินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ถ้าเป็นของคนอื่นหายไป

 ก็ไม่เดือดร้อนเลย ทั้งๆที่เป็นสมบัติชิ้นเดียวกัน

 เช่นเรามีรถคันหนึ่ง แล้วเราให้เขาไป

พอรถคันนี้คว่ำ หายไปพังไป เราก็ไม่รู้สึกอะไร

แต่ถ้ายังไม่ได้ให้ใคร ยังเป็นของเราอยู่

 พอเป็นอะไรขึ้นมา ใจของเราก็ทุกข์แล้ว

อยู่ที่ว่าเรามองอย่างไรกับสิ่งนั้น

 ถ้ามองว่าเป็นของเรา

 ก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา

 ถ้ามองว่าไม่ใช่ของเรา

 ก็จะไม่สร้างความทุกข์ให้กับเรา

 พระพุทธองค์จึงทรงสอน

ให้มองเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา

ธรรมทั้งหลายไม่มีตัว ไม่มีตน

ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา เป็นของยืมไว้ใช้

มีอะไรก็ใช้กันไปให้เกิดประโยชน์

เช่นเอาไว้ดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย

ชีวิตของเราให้อยู่ได้อย่างสะดวก อย่างสบาย

 แล้วก็มาทำคุณ ทำประโยชน์ ทำบุญทำกุศล

เพื่อทำให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์

สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็มีหน้าที่เพียงแค่นี้เอง

 เป็นเครื่องมือรับใช้เราในการปฏิบัติธรรม

 เพื่อให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย

สักวันหนึ่งเราก็ต้องทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปหมด

จะเป็นมหาเศรษฐี จะเป็นนายกฯ

จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นประธานาธิบดี

 ก็ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเองมีอยู่เป็นอยู่ไป

เพราะเป็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 ไม่เป็นสมบัติของใครทั้งสิ้น

ถ้าเราเข้าใจเรื่องเหล่านี้แล้ว เราก็ปล่อยวางได้

ปัญหาของพวกเราจึงอยู่ที่การต่อสู้กับกิเลส

 เพราะทุกขณะจิตของเราจะคิดไปในทางกิเลส

 เราต้องพยายามดึงให้มาทางธรรมะให้ได้

เช่นวันนี้แทนที่จะไปเที่ยว เราก็ดึงกันมาทางนี้

 เราอาจจะมาบ่อยขึ้น

 อาจจะมาวัดทุกๆ ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน

 แทนที่จะไปอินเดียกัน ไปวัดปฏิบัติธรรมกันดีกว่า

 แต่ไปอินเดียสำหรับคนบางคนก็อาจจะจำเป็น

 เพราะยังมีความผูกพันอยู่กับสถานที่

กับเรื่องราวต่างๆภายนอก

 สำหรับบางคนไปก็อาจจะเป็นประโยชน์

 ไปแล้วจิตของเขาก็อาจจะเกิดความซาบซึ้งใจ

เกิดความสงบขึ้นมา แต่ก็สู้ความสงบ

ที่เกิดจากการไปปฏิบัติในป่าในเขาไม่ได้

 แต่เขาก็ต้องอาศัยแบบนั้นไปก่อน

ขึ้นอยู่กับจิตใจของแต่ละคน

 ที่ได้รับการพัฒนามามากน้อยเพียงไร

บางคนไปแล้วมีความซาบซึ้งใจ ก็กลับไปอีก.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

กัณฑ์ที่ ๒๓๐ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

 (จุลธรรมนำใจ ๒)

“ศาสนาสอนให้เห็นความจริง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 18 กันยายน 2559
Last Update : 18 กันยายน 2559 11:18:50 น.
Counter : 1449 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ