Group Blog
All Blog
### ต่างกันที่จิดใจ ###









“ต่างกันที่จิตใจ”

เรื่องเกิดแก่เจ็บตายนั้น ต้องเป็นด้วยกันทุกๆคน

 จึงไม่ควรลืม ควรพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

จะได้มีธรรมโอสถไว้ดูแลรักษาจิตใจ

ถ้าไม่พิจารณาอยู่เรื่อยๆ พอเกิดขึ้นมา

ใจก็จะป่วย ป่วยกายแล้วไม่พอ ยังป่วยใจด้วย

 แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ

ก็เหมือนมีธรรมโอสถ

 จะรู้สึกเฉยๆ รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา

 รู้ว่าใจไม่ได้ป่วยไปกับกาย

 สิ่งที่ป่วยก็ต้องเป็นไปตามสภาพของเขา

 ไม่มีใครอยู่เหนือสภาพนี้ได้

 ไม่ว่าจะเป็นปุถุชนธรรมดา

หรือพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก

ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เรากราบไหว้บูชา

 ก็ต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ต่างกันที่จิตใจ

 ของท่านมีเกราะคุ้มกัน มีธรรมโอสถรักษาใจ

ทำให้ใจไม่สะทกสะท้าน ไม่หวาดกลัว

 เพราะใจไม่ได้เป็นไปกับร่างกาย

 แต่ถ้าไม่ได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ

ความหลงก็จะหลอกให้ใจไปหลงคิดว่าเป็นกาย

เวลากายเป็นอะไรใจก็เดือดร้อนไปด้วย

 คิดว่าใจเป็นไปกับร่างกาย

 เพราะใจอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข

 เวลาร่างกายป่วย ชำรุดทรุดโทรม

ไม่สามารถไปหาความสุขได้

 ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า

 ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็จะไม่ยึดไม่ติด

ไม่หวังพึ่งอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข

 เพราะหาความสุขที่ไม่ต้องใช้ร่างกายก็ได้

ก็คือความสุขภายในใจที่มีรออยู่แล้ว

 เป็นเหมือนสมบัติที่ถูกโมหะอวิชชา

ความหลงกลบฝังไว้

 หน้าที่ของเราจึงต้องพยายามขุดเอาอวิชชา

เอาโมหะความหลงให้ออกไปจากใจ

 เพื่อจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง

 คือความสงบใจถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

เรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย

จนจิตรับความจริงได้ ความสงบก็จะปรากฏขึ้นมา

จะไม่รู้สึกอิดหนาระอาใจหรือท้อแท้

หรือไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป

เพราะการพิจารณาเป็นการทำสมาธิไปในตัว

 แทนที่จิตจะฟุ้งซ่าน กลับจะสงบ

ในเบื้องต้นอาจจะลำบากหน่อย

เพราะมีกิเลสคอยต่อต้านอยู่

เวลาคิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 จะรู้สึกไม่สดใสเลย

คิดถึงเวลาที่จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย

ทำอะไรไม่ได้ แล้วก็ต้องตายไปในที่สุด

ถ้ายังมีกิเลส มีอุปาทาน

ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆอยู่

 ก็จะรู้สึกสูญเสีย ทำให้ไม่อยากคิด

 พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปคิดมัน

 เพราะคิดแล้วทำให้เกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา

ถ้าคิดแบบนี้แล้วแทนที่จะเกิดประโยชน์

กลับเกิดโทษขึ้นมา เพราะจิตจะยิ่งถูกความหลง

 ความไม่รู้ครอบงำมากยิ่งขึ้นไป

 เพราะคนเราทุกคน

ควรจะรู้ความจริงของชีวิตเราว่าเป็นอย่างไร

 พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอริยสัจ ๔

 คือความจริงของชีวิตเรานั่นเอง

ถ้ารู้ความจริงทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว

 รู้จักวิธีปฏิบัติต่อความจริงนี้แล้ว

สักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็วเราก็จะไปถึงที่เดียวกัน

กับที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ไปถึง

 นั่นก็คือนิโรธความดับของทุกข์

ทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะใจหลง ใจไม่ยอมรับความจริง

ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆจนเห็นว่าไม่มีใครในโลกนี้

 ทั้งตัวเราและผู้อื่น จะต้องตกอยู่ในสภาพเหมือนกัน

 เป็นธรรมดาของร่างกายที่จะต้องเป็นไป

จิตใจก็เกิดความกล้าหาญขึ้นมา

กล้าสู้และเผชิญกับความจริง จะไม่หวาดกลัว

 เมื่อไม่หวาดกลัวความทุกข์ก็ไม่มี

 คนเราที่กลัวกันก็กลัวความตาย กลัวความเจ็บกัน

 แต่ถ้าไม่กลัวเสียอย่างแล้ว ใจก็จะไม่หวั่นไหว

 จะตั้งอยู่ในความสงบของสมาธิ

มีความแข็งแกร่งเหมือนกับก้อนหินก้อนใหญ่ๆ

 ที่สามารถรับพายุที่จะพัดโหมกระหน่ำมา

ไม่ว่าจะมีกำลังแรงมากน้อยเพียงไร

 ก็ไม่สามารถขยับหินก้อนนั้นได้

 จิตใจที่มีความสงบ มีความนิ่งด้วยปัญญา

จะไม่หวั่นไหวกับสภาพต่างๆ จะเผชิญกับมันได้

 ไม่มีปัญหาอะไร อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

อะไรจะดับก็ต้องดับ อะไรไม่ดับก็ไม่ดับ

 แต่เราไม่รู้ว่าอะไรดับ อะไรไม่ดับกัน

เพราะใจเราหลง คิดว่าร่างกายดับแล้ว

ทุกอย่างดับหมด ชีวิตเราดับหมด

ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเราดับไปหมด

แต่ยังมีตัวหนึ่งที่ยังไม่ดับ ก็คือใจนี้แหละ

 ใจไม่ดับ ร่างกายจะดับก็ดับไป

แต่ใจก็ยังเป็นอกาลิโกอยู่

เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นอยู่

 เป็นธาตุรู้ เป็นผู้รู้ แต่ขาดปัญญา ไ

ม่สามารถแยกแยะตนเอง

ออกจากสิ่งที่คลุกเคล้าด้วย

 เมื่อไปคลุกเคล้ากับสิ่งที่มีเกิดมีดับ

ก็เลยคิดว่าตนเองเกิดดับไปด้วย

ถ้าได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้า

แล้วนำไปปฏิบัติ พิจารณา

ความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่เรื่อยๆ

 ก็จะมีธรรมะมีอาวุธที่จะแยกแยะใจ

ให้ออกจากสิ่งที่ใจไปคลุกเคล้าด้วย

เมื่อแยกออกมาได้แล้ว ก็จะรู้ว่า

ใจไม่ได้เป็นอะไรตามไปด้วย

ร่างกายจะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่อย่างไร

ใจก็ไม่ได้เป็นตามร่างกาย แต่ใจมักจะหลง

 เหมือนคนดูฟุตบอล ชอบเชียร์

ทั้งๆที่ไม่รู้จักคนเล่นด้วยซ้ำไป

ถ้าฝ่ายที่เชียร์ชนะก็ดีอกดีใจตามไปด้วย

ถ้าแพ้ก็เสียอกเสียใจ

ทั้งๆที่ไม่ได้อะไรจากการแพ้การชนะเลย

แต่ใจชอบไปยุ่งกับเรื่องต่างๆแล้วก็ไปยึดติด

 เวลาชอบใครก็เชียร์เขา อยากให้เขาได้ดิบได้ดี

 มีความสุขมีความเจริญ

ถ้าไม่ชอบก็สาปแช่งให้เขาเป็นไป

นี่คือเรื่องของใจที่หลง

 ไม่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

มีทั้งเจริญและเสื่อมอยู่ควบคู่กันไป

เวลาสิ่งที่เราเชียร์เสื่อมลงไปก็เสียใจ

 เวลาสิ่งที่เราไม่ชอบมีความเจริญก็ไม่พอใจ

 เพราะลืมไปว่าความเจริญก็มีขอบเขต

เมื่อเจริญแล้วสักวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมไป

ไม่ต้องไปสาปแช่งเดี๋ยวก็เสื่อมไปเอง

นี่คือปัญหาของพวกเรา

คือไม่ค่อยพิจารณาความเสื่อมกัน

 ส่วนใหญ่จะมองแต่ความเจริญกัน

 ได้อะไรมาก็อยากจะให้มันเจริญ

 เปิดร้านเปิดบริษัทก็อยากจะให้เจริญอย่างเดียว

 ไม่คิดว่าจะต้องเสื่อมบ้าง

ไม่ว่าบริษัทจะใหญ่โตขนาดไหน

สักวันหนึ่งก็ต้องปิดตัวลง

จะมีตำแหน่งสูงขนาดไหน

สักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป

เพราะกิเลสจะคอยกีดกัน

ไม่ให้เราคิดถึงความเสื่อม

 เมื่อไม่ได้พิจารณาธรรมะ

ก็เหมือนกับไม่มีอาวุธไว้ต่อสู้

เวลาความเสื่อมปรากฏขึ้นมาคืบคลานเข้ามา

 ความทุกข์ก็จะรุมทำร้ายจิตใจ ให้เศร้าโศกเสียใจ

 แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า

ชีวิตของคนเรามีทั้งขึ้นมีทั้งลง มีทั้งสูงมีทั้งต่ำ

 แล้วก็เตรียมตัวรับกับสภาพที่จะเกิดขึ้น

ก็จะไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศกเสียใจ

เหมือนกับทหารที่ต้องซ้อมรบอยู่เรื่อยๆ

 เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีสงครามเกิดขึ้น

 ถ้าไม่เตรียมตัวไว้ เวลาเกิดสงครามขึ้นมา

ก็จะสู้เขาไม่ได้ ใจของเราก็เช่นเดียวกัน

ถ้าไม่ได้พิจารณาความเสื่อมอยู่เรื่อยๆ

เวลาพบกับความเสื่อม

ก็จะไม่รู้ว่าต้องทำใจอย่างไร

ใจมักจะถูกความอยากรุมเร้าอยู่ตลอดเวลา

 เมื่อไม่สามารถทำตามความอยากได้

ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณา

อริยสัจข้อแรก คือทุกขสัจ

 เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา

 มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

ถ้าพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้ว

 จะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับสภาพ

จิตใจจะได้ไม่หวั่นไหวหวาดกลัวแต่อย่างใด

 จะอยู่อย่างสบายอกสบายใจ ไม่ยึดติดกับอะไร

เพราะรู้ว่าสิ่งต่างๆต้องจากเราไป

หรือเราจะต้องจากมันไป การไปยึดไปติด

เป็นเหตุของความทุกข์ ความไม่สบายใจ

สังเกตดูสิ่งหนึ่งสิ่งใดบุคคลหนึ่งบุคคลใด

ที่เราไม่มีความผูกพันด้วย

ไม่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ยึดติด เวลาเป็นอะไรไป

 ก็ไม่กระทบกับเรา แต่ถ้ามีความผูกพัน

มีความยึดติด เวลาสิ่งนั้นสิ่งนี้ บุคคลนั้นบุคคลนี้

 มีอันเป็นไป เราก็วุ่นวายใจ เศร้าโศกเสียใจ

 คนที่ไม่มีธรรมะอยู่ในใจเลย จะไม่อยากอยู่ต่อไป

เวลาสูญเสียสิ่งที่ตนรักไป

 เช่นเสียคู่ครองที่เคยอยู่ด้วยกันมาตลอด

เมื่อเสียไปแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตของตนก็หมดไปด้วย

 เคยสังเกตเห็นอยู่เรื่อย

คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันมาเป็นเวลายาวนาน

พอคนใดคนหนึ่งเสียไป

 อีกคนหนึ่งก็จะเสียตามไปด้วยในเวลาไม่นาน

 เพราะความผูกพัน ความยึดติด

เหมือนกินอาหารที่เคยเติมเครื่องปรุงต่างๆ

พอวันไหนไม่มีเครื่องปรุงก็ไม่อยากจะกินเลย

 เพราะติดกับรสชาติ อย่างคนที่เป็นเบาหวาน

ก็รู้อยู่ว่ากินของหวานมากไม่ได้ แต่ก็อดไม่ได้

 เพราะความเคยชิน

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

กัณฑ์ที่ ๒๕๒ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙

 (จุลธรรมนำใจ ๖)

“ใจไม่ดับ”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 27 กันยายน 2559
Last Update : 27 กันยายน 2559 9:17:00 น.
Counter : 860 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ