ฉัน-บ้า-กาม คำ ผกา เขียน

ความเรียงร่วมสมัย หยอกเอินและหยิกกัดความสัมพันธ์หญิง-ชายของคอลัมนิสต์สาวเปรี้ยวและร้อนแรงแห่งปี คำ ผกา
วันนี้ได้ฤกษ์เขียนถึงนักเขียนที่ชอบเสียที หลังจากจดจ้องๆ มานาน ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ เวลาที่พูดถึงสิ่งที่ชอบมากๆ มันมักจะมีอาการพูดไม่ออกบอกไม่ถูกอยู่พักใหญ่
เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้จักนักเขียนคนนี้มาพอสมควรแล้ว คงไม่ต้องพูดถึงกรณีที่ถ่ายนู้ดลงนิตยสารผู้ชายเล่มนึงไป บอกคร่าวๆไว้ ณ ที่นี่ว่าเธอเป็นนักเขียนที่ใช้นามปากกาสองชื่อคือ ฮิมิโตะ ณ เกียวโต และคำผกา
สำหรับฉัน-บ้า-กาม เล่มนี้เธอใช้นามปากกาว่าคำ ผกา
คนที่ซื้อหนังสือเล่มนี้เพราะชื่อหนังสือและคาดว่าจะได้อ่านบทบรรยายถึงฉากเซ็กซ์อันเร่าร้อน หรือคู่มือสร้างความชำนาญเรื่องบนเตียงอาจจะผิดหวัง--แต่ช้าก่อนเธอไม่ได้ตั้งชื่อหนังสือมาหลอกล่อผู้อ่านเพื่อกลยุทธ์ทางการขายแต่อย่างใด เพราะชื่อหนังสือฉัน-บ้า-กาม มีเหตุรองรับอย่างแข็งแรงถึงที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ โปรดสังเกตว่าคำมันแยกกันหมด
ฉัน (Me) คือตัวของเธอ คำ ผกา ผู้มีความคิด
บ้า (madness) ไม่เหมือนชาวบ้านเท่าไรนัก
กาม (lust) ที่เธอพูดถึงในหนังสือเล่มนี้มีความหมายกว้างกว่าความต้องการทางเพศ แต่มันครอบคลุมถึงความปรารถนา ความทะเยอทะยาน(ต่อความคิดบางประการ ซึ่งอันนี้โยงได้กับการคิดไม่เหมือนใครของเธอได้ดี )
หนังสือเล่มนี้เป็นการคัดสรรความเรียงจากคอลัมน์Sexter จากหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ คิดดูเถิดมันน่าจะเป็นความเรียงที่
ตลาดล่าง ขนาดไหนคัดสรรมาจากหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ หนังสือพิมพ์ที่ขายข่าวคาวๆ ของดาราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เธอเคยพูดเล่นๆ ว่าความเรียงพวกนี้เหมือน
ศาลาคนเศร้า เพราะมันรวบรวมเรื่องเศร้า รักขม อกหัก รักไม่ได้อย่างใจ รักคนมีเจ้าของ รักผัวชาวบ้าน รวมปัญหาว่าด้วยความรักของเธอและปัญหาความรักที่เพื่อนๆ ของเธอชอบมาเล่าให้ฟัง
แล้ว ทำไมเธอไม่ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ฉัน-บ้า-ความรัก ล่ะ โอว์ คำตอบแทบจะทำวิทยานิพนธ์ได้เล่มนึงทีเดียวเชียว
ลองมาดูคำตอบของเธอจากคำนำหนังสือของเธอกันค่ะ
เธอเกริ่นๆ ถึง ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและการแต่งงาน และสงสัยว่าความรักและการแต่งงานถูกทำให้เป็นเรื่องเดียวกันตั้งแต่เมื่อไรในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เธอไปพบคำตอบจากหนังสือที่กำลังอ่านอยู่เล่มนึงมีชื่อว่า Histry of wife และพบว่าความรักเข้ามาเทคโอเวอร์ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตคู่และการแต่งงานตั้งแต่หลังศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้น ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้แต่งงานเพราะความรัก แต่แต่งงานด้วยด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างตระกูล หรือ
เพียงเพื่อจะได้เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ฯลฯ (ที่จริงปัจจุบันนี้ผู้หญิงแต่งงานก็ด้วยเหตุผลเหล่านี้ก็ยังมีอยู่มาก)
"...เราอ่านเรื่องความสูงส่งและศักดิ์ศิทธิ์ของความรักมาก็มาก ฟังเพลงรัก อ่านนิยายรัก อ่านบทกวีที่พรรณาเรื่องความรัก ซาบซึ้งกับการแต่งงานของคู่ดาราหลายๆ คู่ อิจฉาก้องกับหมิว อ่านเรื่องแหวนแต่งงานคาร์เทียร์ของคู่รักไฮโซด้วยความเคลิบเคลิ้ม เราไม่ทันรู้ตัวว่านี่คือกระบวนการหนึ่งที่ทำให้ความรักที่แสนใหม่แสนแปลกหน้าค่อยๆ กลายมาเป็นความจริง และเป็นส่วนสำคัญที่สุดในชีวิตที่เราไม่พึงจะขาดมัน
ถ้า Histry of Wife อยากรู้ว่าความรักเข้ามาเทคโอเวอร์ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตคู่และคอรบครัวตั้งแต่เมื่อไรในประวัติศาสตร์ ฉันเองอยากรู้ว่าคนเรารับมือกับความแปลกปลอมและกำกวมของความรักอย่างไร เราวางกามารมณ์ไว้ตรงไหนของความรัก และเราทำให้ความรักลงตัวกับสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ชนชั้น ไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงในอนาคตอย่างไร ไปจนถึงเราต่างพยศกับความรักนั้นอย่างไรบ้าง..
...และเมื่อความรักล่องลอย เหลวไหลได้ถึงเพียงนี้ ฉันจึงไม่ลังเลที่จะตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ฉัน-บ้า-กามแทนที่จะเป็นฉัน-บ้า-ความรัก " (บางตอนจากคำนำหนังสือเล่มนี้ )
นี่ขนาดแค่คำนำนะคะ ข้างในยังเต็มไปด้วยความเรียงที่มันส์มากๆ อย่างเรื่อง
โสด,
พรหมจรรย์ ,
ยี้ เซ็กซ์แอนด์เดอะซิตี้ (เธอไม่ชอบซีรี่ย์ที่ครองใจสาวๆ เรื่องนี้เอามากๆ )
เซ็กซ์ฟรีๆ ไม่มีในโลก (สำหรับคนที่ชอบคำว่าฟรีเซ็กซ์ น่าอ่านความเรียงชิ้นนี้ค่ะ ) หรือ อ๊ะ อย่าตกใจกับชื่อความเรียงอันนี้
ฉันไม่อยากได้ผัวคุณ นอกจากนี้ยังมีความเรียงชื่อง่ายๆ อย่าง
อกหัก บทเรียนรัก ฯลฯ
ฟังดูเป็นศาลาคนเศร้าไหมคะ แต่เตือนกันไว้ก่อนว่ามันเป็นศาลาคนเศร้าฉบับคำ ผกา เพราะฉะนั้นมันอาจจะเปลี่ยนความคิดของคุณเกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ ชีวิตคู่ การแต่งงาน ของคุณเสียใหม่หมด และเมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบ มันอาจจะทำให้คุณเริ่มต้นต่อการตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นในระดับสิ่งเล็กๆ รอบตัว ไปจนถึงสิ่งใหญ่ๆ ที่เรียกว่ารัฐชาติ
อ้าว เริ่มต้นด้วยความรักแต่กลับจบลงด้วยเรื่องการเมือง แต่หนังสือของคำผกามักจะเป็นแบบนี้ค่ะ ลองอ่านอันนี้ดู
...อันที่จริงไม่ว่ารัฐสมัยใหม่ของที่ไหน ๆ ในโลกก็ไม่ชอบให้พลเมืองมีเซ็กซ์ทั้งนั้น เพราะเชื่อกันว่า คนเป็นกำลังผลิตที่สำคัญของประเทศชาติ หากประชากรของประเทศมัวแต่หมกมุ่นเอาแต่หาความสำราญในการเล่นจ้ำจี้ ประเทศชาติก็เกรงว่าผู้คนจะไม่เป็นอันทำมาหากิน ผลผลิตโดยรวมของประเทศก็จะตกต่ำ รายได้และภาษีที่รัฐจัดเก็บจากประชากรก็จะหดหายลงไปด้วย (บางตอนจากความเรียงเรื่องความเสื่อม )
เห็นไหมว่าเธอโยงเรื่องเซ็กซ์เข้ากับการเมืองและเศรษฐกิจได้เสมอ
แต่ไม่ได้หมายความอีกเช่นกันว่าหนังสือเล่มนี้จะอ่านไม่สนุก คุณจะอ่านแบบ
เอามันส์ จากหนังสือเล่มนี้ด้วยก็ได้ เพราะความเรียงส่วนใหญ่มีทีท่าราวกับว่าเรากำลังอ่านลีลาของเพื่อนผู้หญิงกำลังปลอบเพื่อนผู้หญิงผู้กำลังอกหักช้ำรัก หรือบางชิ้นก็เหมือนการเม้าส์อย่างสนุกสนานเรื่องความรักของผู้หญิงคนนึง เรียกได้ว่าปนๆ กันไปทั้งเรื่อง ความรัก ความเกลียด ความเศร้า หึงหวง เซ็กซ์ เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ
และ ศาลาคนเศร้าฉบับคำ ผกา ก็มีรสชาติแบบนี้ หลากหลาย จัดจ้าน และชัดเจน หมายเหตุ 1
หนังสือที่ควรอ่านคู่กับหนังสือเล่มนี้อย่างมากมีชื่อว่า
รักไม่เคยชิน (มีนาคม 2547 ) ของผู้เขียนคนเดียวกัน Case study ของหนังสือเล่มนั้นหนักและรุนแรงกว่าหนังสือเล่มนี้มากนัก
หมายเหตุ 2
คุณ it ซียู พูดถึงคำ ผกา ไว้ด้วยค่ะ
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=unit-maxx&group=3หมายเหตุ 3
หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนที่กำลังมีความรักหวานชื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้ง คำ ผกา
และเจ้าของบล็อคปฎิเสธความรัก (อิอิ)
ได้ทั้งความหมาย และความน่าสนใจ เคยหยิบมาดูเหมือนกัน ...แต่ไม่เคยอ่านจริงจัง