รีวิว ประวัติศาสตร์ของความเงียบ ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์





“รอย” ในประวัติศาสตร์ของ “ความเงียบ”
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
 สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ประจำวันที่ 4-10 พฤษภาคม 2555 

ประวัติศาสตร์ของความเงียบ เป็นนิยายเล่มใหม่ของ อติภพ ภัทรเดชไพศาล นักประพันธ์ดนตรี กวี นักเขียน คอลัมนิสต์ และอีกสารพัดเครดิตจะนำมาอ้างอิง โดยทั่วไปแล้วงานเขียนของอติภพ มักจะเป็นบทกวี เรื่องสั้น หรือข้อเขียนในคอลัมน์ประจำต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ซึ่งหลายท่านอาจจะผ่านตามาบ้าง หรือบางท่านอาจจะเห็นจนชินตา แต่ “ประวัติศาสตร์ของความเงียบ” นับเป็นนิยายเรื่องแรกของอติภพ และก็เป็นนิยายที่ซับซ้อนพอดูทีเดียว 

“ประวัติศาสตร์ของความเงียบ” พูดถึงตัวละครหลักที่ชื่อ “อภิต” นักประพันธ์ดนตรีประกอบละคร (หรือ “เพลย์บอยหนุ่ม” ในอีกสถานภาพ) “อติภพ” เปิดตัว “อภิต” ด้วยฉากการเดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งคงเป็นชนบทที่ไหนสักแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก เพื่อสืบหาความจริงที่เขาค้างคาใจ 

“โกเมศ อิศรา” กวี นักเขียน และปัญญาชน ผู้ลึกลับที่ผลิตงานเขียนออกในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 - 6ตุลา 19 คือสิ่งที่อภิตค้นหา
การสืบหาโกเมศ และการปล่อยช่วงเวลาในการสืบหาให้เป็นเหมือนวันหยุดพักร้อนตลอดหนึ่งสัปดาห์ ชักนำให้อภิตถูกดึงเข้าไปอยู่ในคดีฆาตกรรมปริศนา แต่หลังการค้นพบหลักฐานสำคัญที่กำลังจะทำให้อภิตเข้าใจในเงื่อนงำของคดีที่เกิดขึ้น อยู่ๆคนทั้งชุมชนก็ดูเหมือนจะหลงลืมเรื่องราวทั้งหมดไปเสียอย่างนั้น 

ไม่มีคดีฆาตกรรม ไม่มีสถานที่ลึกลับที่อภิตไปพบเข้าโดยบังเอิญ ไม่มีแม้กระทั่งความทรงจำร่วมกันระหว่างอภิตกับเพื่อนๆ หรือคนรู้จักในชุมชนนั้น แต่จู่ๆ “อติภพ” ก็กระชากผู้อ่านออกมาจากเหตุการณ์น่าตื่นเต้นสงสัยที่ว่า ไม่มีคดีฆาตกรรม ไม่มีสถานที่ปริศนา ไม่มีแม้กระทั่งความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญในหัวของอภิตเอง 

ตอนท้ายของนิยาย อติภพได้สอดแทรกบทปริศนาที่มีชื่อบทว่า “ระหว่างทาง” คั่นเข้ามาในเนื้อเรื่อง ตัวละครหลักในบทนี้เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านตีความว่าหมายถึงใคร? แต่ก็อาจจะไม่ได้หมายถึงตัวละครใดๆ ในเนื้อเรื่องเลยก็ได้ อันที่จริงแล้วเราแทบจะไม่สามารถระบุทั้งสถานที่ และเวลาของเหตุการณ์ในท้องเรื่องของบทนี้เลยด้วยซ้ำไป 

 ตัวละครลึกลับนี้ถูกเล่าผ่านสถานภาพของสรรพนามบุรุษที่ 1 ต่างจากการดำเนินเนื้อเรื่องโดยปกติของนิยายเรื่องนี้ที่ “อภิต” มีฐานะเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 เพราะถูกเล่าผ่าน “อติภพ” ในฐานะผู้เล่าคือสรรพนามบุรุษที่ 1ที่จริงแล้วยังมีอีกสองบทที่ชื่อ ข้อสังเกตจากผู้เขียน (1) และข้อสังเกตจากผู้เขียน (2) ที่เล่าเรื่องผ่านสรรพนามบุรุษที่ 1 แต่ทั้งสองบทนั้นอติภพกำลังเล่าเรื่องโดยสร้างตัวตนของ “อติภพ” เองเข้าไว้ในนิยายในฐานะของ “ผู้เขียน” ต่างจากตัวละครลึกลับซึ่งอติภพไม่ได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้สืบสาวในฐานะของตัวละครในท้องเรื่องเลย 

ตัวละครลึกลับอีกคนหนึ่งก็คือ “โกเมศ อิศรา” ที่ “อภิต” พยายามสืบหา ผู้เขียนคือ “อติภพ” จงใจแทรกบทความ “ศิลปะคืออะไร: การต่อสู้เพื่อฐานที่มั่นทางวัฒนธรรม” ไว้ในตอนท้ายๆ ของเรื่อง อติภพอ้างว่าบทความเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ใน วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนตุลาคม 2519 (?) เดือนและปีเดียวกันกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ผมไม่ค่อยคุ้นทั้งชื่อบทความ และชื่อของโกเมศ สักเท่าไหร่ทั้งๆ ที่บทความของโกเมศ กำลังพูดถึงเรื่องศิลปะ น่าแปลกใจที่บทความที่โต้แย้ง อ.ศิลป์ พีระศรี และแสดงถึงหัวคิดที่ก้าวหน้าสำหรับคนในยุคนั้นจะผ่านตานักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายๆ คนไปได้(?) อย่างไรก็ตาม ชื่อของ โกเมศ อิสรา ยังสามารถค้นหาได้ผ่านเสิร์ช เอนจิ้น ทุกเครือข่าย แม้จะมีข้อมูลอยู่ไม่มากนักก็ตาม 

 อติภพจบนิยายของเขาด้วยบทที่ชื่อ “รอย” ซึ่งย้อนเรื่องไปถึงช่วงเวลาก่อนที่อภิตจะเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเล็กน้อย บทนี้ทั้งบทไม่มีอะไรเป็น “ร่องรอย” ให้สืบสาวถึงคดีฆาตกรรมปริศนาตามท้องเรื่องนี้ได้เลย คดีฆาตกรรมจึงอาจจะเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริงก็ได้ ตัวบทที่ชวนให้งุนงงสงสัยนี้จึงไม่สามารถอ่านตามถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในตัวบทล้วนๆ แต่จะต้องพิจารณาถึงสิ่งที่ถูกอ้างอิงถึง ทั้งที่อ้างอิงกันซึ่งๆหน้า และที่อ้างอิงอย่างไม่เปิดเผยออกมาโต้งๆ 

 ผมคิดว่าตัวผู้เขียนคือ “อติภพ” สร้างพื้นที่ไว้ในนิยายเรื่องนี้อยู่หลายพื้นที่ พื้นที่ในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงตัวพื้นที่อย่าง บ้านร้างผีสิง โรงพิมพ์ของจิตติน โพรงลับใต้ดิน หรือสถานที่อื่นๆที่อภิตเดินทางไปในนิยาย แต่เป็นพื้นที่ในหัวและรอบๆ ตัวของตัวละครต่างๆ ในกรณีนี้พื้นที่ที่สำคัญที่สุดคือพื้นที่ของ “อภิต” และ “อติภพ” ในฐานะตัวละครที่เป็น “คนเขียน” นิยายเรื่องนี้ขึ้น 

 (แม้ว่า “อติภพ” จะพยายามเบลอพื้นที่ทั้งสองส่วนนี้ให้เหลื่อมซ้อนกันอยู่ เช่น การใช้ห้องส่วนตัวเดียวกันในการพูดถึง “อภิต” ในบท รอย กับบันทึกหลังการเขียนซึ่งเป็นตัว “อติภพ” เอง ในที่นี้ อติภพในบันทึกหลังการเขียนจึงมีสถานภาพเป็นตัวละคร ไม่ใช่ตัวผู้เขียนจริงๆ) 

พื้นที่แรกคือตัวของ “อภิต” เอง “อติภพ” สร้างตัวละครนี้ขึ้นมาเพื่อดำเนินเรื่องเกือบทั้งหมด พื้นที่ของอภิตจึงเป็นพื้นที่กว้างๆ ที่ทำหน้าที่ “ตบตา” ผู้อ่านให้งุนงงไปกับตัวบท และนำเสนอสัญลักษณ์ที่มีอยู่อย่างลับๆ เราจะไม่สามารถเข้าใจข้อความที่ซ่อนอยู่ได้เลยถ้าเราอินไปกับภาพกว้างของตัวอภิตเสียแล้ว แต่ตัวอภิตเองก็เป็นศูนย์กลางของพื้นที่ใช้สำหรับร้อยรัดเรื่องราวต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน 

ในขณะที่พื้นที่อีกส่วนหนึ่ง คือพื้นที่ของตัวละครที่ชื่อ “อติภพ” ซึ่งผู้เขียนคือ “อติภพ” ได้สร้างขึ้น (ที่จริงแล้วไม่มีตอนไหนในท้องเรื่องเลยที่ ตัวละครที่เรียกตัวเองว่า “ผู้เขียน” จะบอกว่าตัวเองชื่อ “อติภพ” เว้นก็แต่เครดิตที่ปกหนังสือ และหน้าเครดิต) และแสดงมันออกมาอย่างชัดเจนในบทที่ชื่อ ข้อสังเกตของผู้เขียน (1) และ (2)ซึ่งที่จริงแล้วยังมีแทรกตามบทต่างๆ อยู่เกือบจะตลอดทุกบท 

พื้นที่นี้ส่วนใหญ่แล้ว “อติภพ” จะทำหน้าที่อธิบายสิ่งต่างๆ ที่ “อภิต” คิดและแสดงออก หรือบางครั้งก็เปิดพื้นที่ในการสร้างอำนาจในการประดิษฐ์หรือจินตนาการถึงตัวละครให้กับ “ผู้อ่าน” ด้วยการแสดงออกว่าแม้แต่ตัวผู้เขียนคือ “อติภพ” เองก็ต้อง “เดา” ว่าอภิตกำลังคิดอะไรอยู่ หรืออภิตแสดงออกอย่างนั้นเพราะอะไร? ทั้งๆที่คนที่เดาอยู่คือ “อติภพ” ที่เป็นตัวละคร ไม่ใช่ “อติภพ” ที่มีตัวตนจริงๆ 

อย่าลืมนะครับว่า เราติดตามนิยายเรื่องนี้ผ่านมุมมองของสรรพนามบุรุษที่ 1 คือ “อติภพ” ในฐานะตัวละคร “ผู้เขียน” ไม่เคยมีครั้งไหนที่ “อภิต” จะออกมาสื่อสารกับเราเองเลย อภิตเป็นเพียงคนที่ถูกพูดถึงเท่านั้น พล็อตเรื่องจึงกำลังเล่าซ้อนพล็อตกันอยู่ และสิ่งที่เรากำลังอ่านคือสิ่งที่ตัวละคร “อติภพ” ที่เรียกตัวเองว่า “ผู้เขียน” เป็นคนเล่าให้เราฟัง 

 ตัวละครที่ชื่อ “อติภพ” จึงกำลังใช้ “อภิต” เพื่อพูดถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการจะสื่อถึง ด้วยอำนาจของความเป็น “ผู้เขียน” อย่างที่ “อภิต” ในฐานะตัวละครที่ซ้อนลงไปอีกพล็อตหนึ่งไม่สามารถโต้แย้งได้เท่านั้น 

 ไม่ต่างกันกับที่ในเนื้อเรื่องมีการพูดถึงข้อความสั้นๆที่มักพบขีดเขียนอยู่ตามผนังกำแพงอย่าง “กูรู้มึงต้องอ่าน” ว่าทุกคนไม่สามารถปฏิเสธที่จะอ่านมันได้ เพราะมันเป็นประโยคสั้นๆที่สุด อย่างชนิดที่กว่าจะรู้ตัวคุณก็ต้องอ่านมันแล้ว ซ้ำยังเป็นข้อความที่ทำลายช่องว่างชนชั้นให้เหลือแค่ “มึง” กับ “กู” และกูที่ว่าก็ไม่ปรากฏกายให้สามารถเถียงกลับได้เลยไม่ว่าในกรณีใดๆ 

 “อภิต” จึงไม่มีโอกาสที่จะเถียงตอบ “อติภพ” ได้เลย 

 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือเรื่องของ “สิน สีสมุด” ผู้เขียนมอบหมายหน้าที่เล่าเรื่องของสินให้กับบุคคลสองคนคือ “อภิต” และ “อติภพ” ในฐานะตัวละครที่เป็นผู้เขียน สินจึงไม่เคยปรากฏกายในฐานะสรรพนามบุคคลที่ 1หรือ 2 เลย ไม่ต่างไปจากอภิต 

 “สิน” เป็นนักร้องยอดนิยมชาวกัมพูชา ที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ตามท้องเรื่อง “อภิต” กำลังทำละครเพลงเกี่ยวกับอัตตชีวประวัติของสินอยู่ อภิตทำหน้าที่เล่าถึงกระบวนการทำงานในการทำละครดังกล่าว ไม่ว่าการค้นคว้า อภิตอาจจะใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อครุ่นคิดถึงอารมณ์ความรู้สึกในการทำเพลง ทำละคร 

 แต่เมื่อ “อติภพ” พูดถึงสิน (โดยเฉพาะในบท ข้อสังเกตของผู้เขียน (2)) อติภพกำลังถอดรื้อข้อมูลให้เราเห็นว่า เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่เกี่ยวกับสิน เป็นเพียงมายาคติและละครฉากใหญ่อันเป็นผลมาจากการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นเท่านั้น และก็ไม่ต่างกันกับที่อติภพยืมปากอภิตพูดว่า เรื่องทหารญี่ปุ่นที่หลบซ่อนอยู่ในฟิลิปปินส์และยังไม่ยอมแพ้สงครามหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปเป็นสามสิบปีแล้วนั้น เป็นเพียงละครฉากใหญ่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้เพื่อสร้างกระแสความรักชาติ 

 “คอนลอน แนนแคโรว์” นักประพันธ์เพลงอัจฉริยะ เป็นอีกคนที่ควรจะกล่าวถึง อภิตแค่ครุ่นคิดถึงแนนแคโรว์ในฐานะคนทำงานเพลง เรื่องของแนนแคโรล์ถูกตัวละครที่ชื่ออติภพบรรยายถึงความเกี่ยวข้องกับการเมือง การถูกเนรเทศออกนอกอเมริกาด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ 

 ทั้ง “สิน” และ “แนนแคโรว์” ก็ไม่ต่างจาก “โกเมศ อิศรา” ทั้งสามคนเป็นบุคคล ที่อยู่ในยุคของการต่อสู้ระหว่าง ประชาธิปไตย เผด็จการ และคอมมิวนิสม์ เพียงแต่แตกต่างกันไปในรายละเอียดและอุดมการณ์ของแต่ละคน แต่ “โกเมศ” ก็ยังเป็นตัวละครที่เลือนรางที่สุดในนิยายเรื่องนี้ เรียกได้ว่าเราไม่มีโอกาสได้เห็นโกเมศปรากฏตัวออกมาเลย ที่สำคัญคือมีเพียงเฉพาะ “อภิต” ที่พูดถึงโกเมศ ตัวละครที่ชื่อ “อติภพ” ไม่เคยพูดถึงโกเมศเลย 

 อติภพจะหลบซ่อนตัวเองไว้ทางด้านหลังของอภิตอยู่เสมอเมื่อพูดถึงโกเมศ นี่ไม่ต่างจากบทเจ้าปัญหาอย่าง ระหว่างทาง หรือบทความของโกเมศ ที่อติภพหายไปเฉยๆ แต่ยังมีอีกหลายต่อหลายตอนที่อติภพจะไม่ปรากฏกายออกมาอธิบาย หรือคาดเดาเอาว่าอภิตคิดอย่างไร เช่นความฝันของอภิตที่เห็น ดอน กิโฆเต้ มาปรากฏกายอยู่ที่ปลายเตียง แล้วปลุกแม่สาวข้างๆ มาถามว่าเธอเห็นรึเปล่า? 

 การหายตัวไปของปัญญาชนอย่าง “โกเมศ อิศรา” ในช่วงปี พ.ศ.2519 โดยที่แทบจะไม่มีใครในชุมชนจำเขาได้เลย ไม่ต่างไปจากการที่ผู้คนต่างกันพาลืมเหตุการณ์ฆาตกรรมที่เกิดขึ้น โดยมีเพียงอภิตที่พยายามบอกเล่าและค้นหาจนกลายเป็นเหมือนคนบ้า ความพยายามของอภิตไม่ต่างอะไรไปจากคลื่นวิทยุ Arecibo ซึ่งบรรจุเรื่องราวของโลกมนุษย์ส่งไปยังดาวคลัสเตอร์ M13 ทั้งที่ไม่มีทางที่ใครจะได้รับข้อความเพราะเป็นดาวที่แตกสลายไปแล้ว ตามข้อมูลที่เล่าอยู่ในนิยาย 

 สารของอภิตไม่มีทางสื่อถึงใครในเมื่อเป็นสารที่ไม่เข้าพวกกับคนส่วนใหญ่ อภิตเป็นเหมือนด้านที่ย้อนกลับของคลื่นวิทยุ Arecibo อภิตเป็นคนที่ตาย หรือสูญหายไปแล้วเหมือนโกเมศ แต่กลับพยายามส่งสารไปยังคนที่ยังมีชีวิตอยู่ 

 สุดท้ายอภิตเป็นคนคิดขึ้นมาเองว่า “คลื่นวิทยุ Arecibo” เป็นคู่ตรงข้ามกับประโยคสั้นๆ ที่ว่า “กูรู้มึงต้องอ่าน” เพราะในขณะที่คลื่ดังกล่าวไม่ต้องการสื่อสารกับใคร แต่ประโยคสั้นกะทัดรัดนั้นกลับเรียกร้องที่จะสื่อสารกับทุกคน เพราะ “มึง” ไม่ได้หมายถึงใครเป็นการเฉพาะเจาะจง และก็เป็นอภิตที่สุดท้ายต้องจำนนกับเสียงส่วนใหญ่ที่สื่อสารให้ “มึงต้องอ่าน” นั้น จนทำให้บทกวีแสนงดงามของโกเมศที่อภิตจำได้ไม่ลืมเพียงสองบาทต้น กลายเป็นบทกลอนชาตินิยมดาดๆ ของพวกเผด็จการ 

 อติภพเล่าให้ผมฟังว่าเดิมทีเขาตั้งชื่อนิยายเรื่องนี้ว่า “รอย” แต่ภายหลังต้องเปลี่ยนมาเป็น “ประวัติศาสตร์ของความเงียบ” ด้วยเหตุผลทางเทคนิคบางประการ ผมชอบชื่อ รอย มากกว่า เพราะ “ประวัติศาสตร์” เป็นผลจาก “จินตกรรม” ของคนในยุคปัจจุบันที่มีถึงอดีต ไม่ใช่ตัวของ “อดีต” เอง ประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่คนในยุคปัจจุบันสร้างขึ้น และมักจะถูกสร้างโดยผู้ชนะ หรือบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลาย และไม่ว่าพวกเขาจะพยายามสร้างประวัติศาสตร์ให้มัน “เงียบ” สักเท่าไร มันก็มักจะมี “รอย” ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ 




Create Date : 19 มิถุนายน 2555
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:02:08 น.
Counter : 4630 Pageviews.

0 comments

A-wild-sheep-chase.BlogGang.com

grappa
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]

บทความทั้งหมด