
ในที่สุดงานที่ดิฉันรับหน้าที่บรรณาธิการและแม่งานกำลังจะออกมาให้ผู้อ่านยลโฉมอีกเล่มแล้วค่ะ ใครที่อ่าน "เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน" รวมเรื่องสั้นแปลชุดแฟนมูราคามิรวมหัวเล่มแรกไปแล้ว คงจะรู้ว่างานรวมเรื่องสั้นแปลชุดนี้มีสามเล่มด้วยกัน และเดือนตุลานี้ก็ถึงคราวของเล่ม 2
ฮารุกิ มูราคามิ มีอายุหกสิบปีเต็มเมื่อวันที่ 12 มกราคม ต้นปี 2552 นี้ เขาฉลองแซยิดแห่งการดำรงอยู่ของเขาด้วยนวนิยายเล่มใหม่- 1Q84 ที่หนากว่า 1500 หน้าให้ผู้อ่านชาวญี่ปุ่นได้สัมผัสไปแล้ว คงอีกสักพักใหญ่ๆ กว่าที่ตัวหนังสือจะเดินทางมาถึงผู้อ่านด้วยภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น ( รวมทั้งภาษาไทย)
เมื่ออ่านเรื่องสั้นหลายเรื่องในเล่มนี้ มันทำให้ดิฉันย้อนกลับไปหานวนิยายเรื่องก่อนหน้าของเขา ฝาแฝดและทวีปที่จมดิ่ง นี้เป็นดั่งภาคต่อของพินบอล 1973 ผมกับการเศร้าสร้อยอาลัยหาคู่แฝดที่ปรากฎตัวครั้งแรกในพินบอล 1973 และมันทำให้ดิฉันต้องย้อนกลับไปอ่านปฐมบทแห่งการลาจากนั้น พบว่ามูราคามิช่างเป็นคนที่เขียนหนังสืออย่างมีแผนการอย่างคนที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี กล่าวคือ เขาได้ทิ้งรอยต่อของแต่ละเรื่องไว้ และตัวละครชองเขาพร้อมที่จะไปปรากฎตัวในเรื่องสั้นหรือนวนิยายเรื่องอื่นได้ในกาลต่อไป ดั่งเช่นพินบอล 1973 กับฝาแฝดและทวีปที่จมดิ่งอันนี้
ตำนานนกไขลานเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี 1986 เป็นที่มาของ บันทึกนกไขลานที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1994 ( ปีที่พิมพ์หมายถึงฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาญี่ปุ่น ) เวลาที่เราอ่านเรื่องสั้นและนวนิยายเขามันจะทำให้เราคิดกลับไปกลับมาระหว่างเรื่องที่เขาเขียนในเวลากาลต่อมาเสมอ และมันทำให้ดิฉัน (เมื่อเชื่อมหารอยต่อได้แล้ว) ถึงกับรำพึงออกมาว่ามูราคาช่างฉลาดล้ำ เขาคิดไว้ล่วงหน้าหมด ตระเตรียมแผนการอย่างชัดเจนว่า ตัวละครตัวนี้จะไปปรากฎในนวนิยายและเรื่องสั้นต่อๆ ไปของเขา
หรือเราจะอ่านแยกออกมาเป็นเรื่องสั้นเดี่ยวๆ ก็ซาบซึ้งได้โดยไม่ต้องคิดว่ามันเป็นรอยต่อมาจากเรื่องไหน
มีประเด็นที่ค้างคาอยู่ในใจของมูราคามิและเขามักจะตอกย้ำต่อคนอ่าน ดิฉันคิดว่า การบุกร้านเบเกอรี และการเผาโรงนาใน มือเพลิง (อยู่ในรวมเรื่องสั้นชุดแฟนมูราคามิรวมหัวเล่ม 1) มีอะไรบางอย่างที่เหมือนกัน มันคือการตั้งคำถามต่อขนบธรรมเนียมที่คนส่วนใหญ่นิยมทำเหมือนๆ กัน และขนบเหล่านั้นทำให้ผู้คนมีความสุขหรือไม่ ดิฉันคิดว่ามูราคามิกำลังจะถามคนอ่านว่าสิ่งเหล่านี้มันนำความสุขมาสู่เราจริงหรือ ตัวเอกของเรื่องในคำสาปร้านเบเกอรี เคยบุกร้านเบเกอรีเมื่อหลายปีก่อน สมัยที่เขายังเรียนมหาวิทยาลัย และหลังจากนั้น
...ผมกลับไปมหาวิทยาลัย เรียนจนจบ เข้าทำงานในบริษัทกฏหมาย และเรียนต่อเพื่อสอบเนติบัณฑิต แล้วผมก็พบคุณ แต่งงาน ผมไม่เคยทำอะไรแบบนั้นอีกเลย ไม่บุกร้านเบเกอรี่อีกแล้ว แต่ในที่สุด คำสาปบางอย่างก็กลับมาทำให้เขาบุกร้านเบเกอรี่อีกครั้ง คำสาปนั้นอาจจะเป็นคำสาปเดียวกับที่ตัวเอกของเรื่อง มือเพลิง เคยผจญมาแล้ว ถ้าชีวิตแบบคนส่วนใหญ่นำความสุขมาให้จริงๆ ทำไมคนเรายังต้องออกไปบุกร้านเบเกอรี หรือเผาโรงนาอีก
ระหว่างการจัดทำต้นฉบับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ดิฉันสนุกสนานกับการทำเชิงอรรถท้ายเรื่องเพิ่มเติมเข้าไปในบางเรื่อง มันทำให้ดิฉัน ทำให้รู้ว่ามูราคามิฟังเพลงแบบไหน กินอาหารแบบไหน อ่านหนังสืออะไร ยุคสมัยของเขาเป็นอย่างไร เหมือนเราได้แกะรอยนักเขียนคนโปรดของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขของนักอ่านไม่ใช่หรือ
คิดเอาเองว่าคนอ่านคงสนุกกับการแกะรอยความคิดและชีวิตของมูราคามิเหมือนเช่นดิฉัน
ใกล้วางแผงแล้วล่ะค่ะ

แวะไปดูหน้าตาและโปรไฟล์เหล่าบรรดานักแปลได้ที่นี่
//www.gammemagie.com/content/view/107/167/lang,thai/
ป.ล. คน "ห้องนั้น" ไม่ชอบการวิเคราะห์จริ ๆ ด้วยพี่ ผมอ่านประโยคที่บอกว่าคนห้องนั้นชอบวิจารณ์ทำนอง เนื้อเพลง ฯลฯ ไม่ชอบให้วิเคราะห์การเมือง
ขออภัยนะครับ ผมคิดว่าความคิดแบบนี้หยาบมาก (หยาบที่แปลว่าไ่ม่ละเอียดนะครับ มิใช่แปลว่าหยาบคาย อิอิ)