เมื่อวันอาทิตย์เย็นที่ผ่านมา ดิฉันไปงาน
"ปิดนิทรรศการภาพถ่ายจากป่าลึกสู่ปารีส" มาค่ะ สำนักพิมพ์โอเพ่นเขาจัดงานเก๋ นอกจากจะมีวันเปิดงานแล้ว ยังมีวันปิดงานอีก ใครไปงานนี้นับว่าไปด้วยใจกันจริงๆ ก่อนงานเริ่ม ฝนตกหนักมาก รถติดมากกกกกกกกก
งานภาพถ่ายจากปารีสเป็นงานแสดงและขายภาพขาว-ดำ ของนิว ศุภชัยเกศการุณกุล ช่างภาพคนแรกๆ ของนิตยสารโอเพ่น คงยังจำหน้าปกนิตยสาร
โอเพ่นรุ่นแรกๆ ที่มีภาพพอร์ดเตรทสวยๆ สีขาว-ดำได้ นิวเป็นช่างภาพที่ทำหน้าที่ถ่ายภาพสวยๆ ขาวดำ เหล่านั้น ก่อนหน้าที่เขาจะเดินทางไปใช้ชีวิตที่ปารีสดิฉันมักจะเจอเขาบ่อยๆ ที่ร้านเฮมล็อค ถนนพระอาทิตย์ มันเป็นร้านที่เรามักจะมานั่งพักผ่อน คุยกับเพื่อน ปรับทุกข์กับเพื่อนหลังเลิกงาน
ดิฉันมักจะทราบข่าวว่า นิว กำลังจะถ่ายรูปใคร หรือทำงานอะไรอยู่จากร้านนี้ แต่บ่อยครั้งที่เรามักจะเป็นฝ่ายฟังคนโน้น คนนี้พูดกันมากกว่า ดิฉันเคยเอาสมุดสเก็ตงานของนิวมาอ่าน นิวมักจะมีโน้ตๆ สั้นๆ ประกอบการคิดเรื่องงานถ่ายภาพ ตอนที่ได้อ่านโน้ตอันนั้นดิฉันคิดว่า นิวเขียนหนังสือได้ดีเทียว ฝีมือการเขียนหนังสือของเขาไม่แพ้การถ่ายรูปเลย
หกปีผ่านไป นิวกลับมาจากฝรั่งเศส ดิฉันรู้สึกว่า นิวก็ยังเป็น นิวคนเดิม ไม่ค่อยพูด มักเป็นฝ่ายยิ้มๆ ฟังคนอื่นพูดมากกว่า วันปิดงานวรพจน์ซักถามนิว เรื่องการใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส นิวไปเรียนปริญญาโททางทฤษฏีภาพยนตร์ที่ปารีสด้วย ( ตอนเรียนปริญญาตรี นิวเรียนเอกภาพยนตร์ คณะวารสารฯ )
นิวบอกว่า คนฝรั่งเศสรู้จักหนังไทยดีทีเดียว และคนที่ทำให้คนฝรั่งเศสรู้จักหนังไทยคือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เพื่อนร่วมคลาส มักจะมาซักถามถึงหนังไทยจากเขาบ่อยๆ
นิวบอกอีกว่า ตอนไปใหม่ๆ ปีสองปีแรกเขาถ่ายรูปปารีสไม่ได้เลย ถ่ายออกมาก็ดูผิวเผิน เปลือกๆ ดิฉันถามว่า ถ่ายแบบนักท่องเที่ยวใช่ไหม เขาบอกว่าใช่ ถ่ายถ้วยกาแฟ ถ่ายร้าน ถ่ายป้ายไปเรื่อย พออยู่ไปสักปีที่ห้า ปีที่หก เขาถึงพบว่า เขาถ่ายปารีสได้แล้ว รูปที่ไปดูมาวันนี้ก็ยืนยัน มันดูเป็นภาพในชีวิตประจำวัน เหมือนจะถ่ายง่าย แต่ไม่เลย ดิฉันคิดว่าไม่ได้ถ่ายภาพแบบนี้กันได้ง่ายๆ
ตอนออกมาคุยนอกรอบกับนิว สิ่งที่ทำให้ดิฉันอิจฉานิวมากคือ นิว อ่าน South Of the Border , West of the Sun หนังสือของมูราคามิ ในเวอร์ชั่นภาษาฝรั่งเศส ฟังแล้วกรี๊ดสลบมาก นิวไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่นั่น หกปีผ่านไปเขาอ่านนวนิยายภาษาฝรั่งเศสได้แล้ว คนที่ไม่ค่อยได้ไปไหนอย่างดิฉัน อิจฉาจริงๆ
และนี่คือหนังสือเล่มแรกของนิว ซึ่งแน่นอนว่า ภาพปกคือฝีมือการถ่ายรูปของเขา
.....
ใกล้ปิดงาน คนที่มากล่าวปัจฉิมกถา คือ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ คุณเชนบอกว่าเขาพูดไม่เก่ง ( อีกคนหนึ่ง ) เขาจึงใช้วิธีเขียนมา แล้วให้นอมีนี คือ วรพจน์ พันธ์พงศ์ ช่วยอ่านให้ โดยมีเขานั่งอยู่ข้างๆ นั่งยิ้มๆ ฟังวรพจน์อ่านสุนทรพจน์สั้นๆ ของเขาไปด้วย
นก คน ฝน ไฟ
ดิฉันชอบที่วรพจน์ เขียนถึง ม.ล.ปริญญากร ไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขามาก มันอยู่ในหน้าคำนำ วรพจน์บอกว่า
...สัตว์แต่ละตัวมีหน้าที่ของมัน
เขาใช้คำพูดนี้บ่อยๆ
สิ่งที่เขาทำอยู่ก็คล้ายเป็นเช่นนั้น
คือมั่นคงในหน้าที่การงานของตัวเอง
ยืนยัน ยืนหยัด ยืนระยะ
ผมชอบคำว่า
" ยืนระยะ" มันมีความหมายว่า อยู่ทน อยู่นาน อยู่อย่างเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่คิด ที่เชื่อ พูดตรงๆ พูดโต้งๆ คืออุทิศชีวิตให้ ไม่ใช่ทำเอามัน หรือเพียงแวะมาตากอากาศ ฮิตอะไรที ก็ เห่อ-แห่ตามกัน สังคมโดยภาพรวมของเราเป็นกันเอามาก แต่ไม่ใช่เขา ม.ล .ปริญญากร วรวรรณ
------
ป.ล. ใครที่รอการรายงาน
"รวมพลคนอ่านและไม่อ่านมูราคามิ "รอแป๊บนะคะ ตัวเองก็กำลังรอรูปจากสนพ.กำมะหยี่ แต่ขอเกริ่นๆ ว่า ที่น่าตื่นเต้นคือ คุณอนุสรณ์ ติปยานนท์ เล่าว่า เจอ หว่องกาไวในเมืองไทยนี่เอง แถมยังได้ถามด้วยว่า ตอนจบของ In The Mood For Love เฮียเหลียงแกพูดอะไรใส่ในโพรงไม้หนอ..
ฝนตกหนัก นั่งลุ้นกับน้องสาวอยู่ว่ามันจะกลับบ้านได้ไหม ไฟลท์จะแคนเซิลไหม ฯลฯ
ป.ล. ภาพคุณว่าที่ฯ ในเงามืดนั่น พยายามแต่งและทำสีแบบหนังหว่องฮ่ะพี่