- - - - ประเทศใต้ -หนึ่งในเจ็ด เรื่องที่เข้ารอบซีไรต์ประเภทนวนิยาย ปีนี้ - -- - -

หลังจากที่ได้บอกกล่าวถึงนวนิยายเจ็ดเล่มที่เข้ารอบซีไรต์ไปเมื่อบล็อกที่แล้ว และได้แนะนำแถมเชียร์ไปอย่างออกหน้าออกตาไปแล้วหนึ่งเล่ม คือเล่มของอุทิศ เหมะมูล มีเสียงเรียกร้องจากเพื่อนๆ บล็อกว่าให้ลองหาหนังสือเล่มอื่นที่เข้ารอบซีไรต์มาแนะนำอีก ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของเจ้าของบล็อกนี้อยู่เหมือนกัน
อาทิตย์ก่อนโน้น ไปร้านหนังสือที่เจ้าของบล็อกนี้ชอบไปคือ คิโนะคุนิยะ สาขาพารากอน เดินตามหามุมหนังสือที่เข้ารอบซีไรต์ ยังไม่เห็นจัด ถามไถ่พนักงานได้ความว่า หนังสือยังมาไม่ครบเลยยังไม่สามารถจัดมุมหนังสือเข้ารอบซีไรต์ได้ (แต่คาดว่า ณ ขณะนี้น่าจะจัดมุมได้แล้ว)
ประเทศใต้ โดย ชาคริต โภชะเรือง เป็นหนังสือเล่มบาง หนา 112 หน้า ว่าด้วยชายหนุ่ม "ผม" ตัวเอก ชื่อ สุธน ตามหาผู้หญิงที่ชื่อ มโนราห์ ดั่งคำโปรยบนปก-พระสุธนใช้เวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วันตามหามโนราห์ ผมใช้เวลาตามหามโนราห์ 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แล้วเราก็จากกัน-
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวของชายหนุ่มที่ชื่อเหมือนตัวเอกในวรรณดคีพระสุธน -มโนราห์ ตามหาสาวคนรัก แต่มันคือวรรณกรรมที่มี่ฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของภาคใต้ แทรกแซมไปด้วยปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและคนท้องถิ่นเป็นระยะๆ คนเขียนไม่ได้พุ่งเป้าเน้นไปที่ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พูดถึงประวัติศาสตร์และปัญหา"ภาคใต้" ที่มีมาตั้งแต่อดีต ในเนื้อเรื่องจะมีคำว่า "คอมมิวนิสต์" "ถังแดง" ปรากฎขึ้นมาเป็นระยะๆ และยังฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาปัจจุบันของภาคใต้ด้วย
ฟังดูเหมือนหนังสือเล่มบางนี่จะบรรจุปัญหาอันหลากหลายของภาคใต้ไว้ได้หมด และมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ด้วยวิธีการทางวรรณกรรมทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่น่าเบื่อเหมือนตำราปัญหาสังคม มีความลึกลับของอารมณ์เมจิคัลแบบใต้ๆ ปรากฎแทรกเข้ามาบ่อยครั้ง นำพาให้ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ไปได้จนจบ
วิธีการนำเล่าเรื่องก็ไม่ได้เล่าเป็นเส้นตรงของกาลเวลา มีการย้อนสลับ เล่าแทรกจากปัจจุบัน ย้อนกลับไปสู่อดีต และกลับเข้ามาสู่ปัจจุบันใหม่ ทำให้การอ่านหนังสือเล่มบางนี้ต้องใช้สมาธิอยู่พอควร มองอีกแง่ความซับซ้อนของการเล่าเรื่องนี้ อาจเป็นข้อเด่นของหนังสือเล่มนี้ก็ได้
มีข้อสังเกตว่า นวนิยายที่สะท้อนปัญหาภาคใต้มักจะเจ้ารอบซีไรต์มาเสมอๆ
เรื่องนี้ก็เช่นกัน
ลองหามาอ่านกันดูนะคะ