Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
20 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 

ควรดูใจกันก่อนตายไหม


ถาม
อาลัยในโลกมนุษย์ และถ้าเป็นไปได้ ก็ควรให้ตัดห่วงตัดอาลัยในภพภูมิทั้งหลายไม่ว่าสูงหรือต่ำด้วย
อย่างนี้ถ้าญาติมิตรอันเป็นที่รัก มีโอกาสไปรุมล้อมและฟังคำสั่งเสียของคนใกล้ตาย
แล้วพวกเขาห้ามใจกันไม่ได้ ต้องร้องห่มร้องไห้ ส่งเสียงวิงวอนให้คนใกล้ตายอยู่ต่อ
ทำให้คนใกล้ตายจิตใจเศร้าหมอง มิเป็นการทำบาปต่อผู้ตายหรือ?
หากเป็นบาป ก็น่าคิดว่าแล้วจะทำอย่างไรกันล่ะ?
เพราะตามธรรมเนียมแล้ว ถ้าทำได้ก็ควรได้ไปล่ำลา ไปดูใจกันเป็นครั้งสุดท้ายมิใช่หรือ?
แต่ไปแล้วห้ามปากห้ามใจไม่อยู่ ก็เท่ากับผิดหลักการส่งคนตายที่ดีอีก
ในความเห็นของคุณดังตฤณควรให้เป็นเช่นไร?



ตอบ
ก่อนอื่นต้องออกตัว ว่าหลักการส่งคนตายที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ
ก็อย่างที่ระบุไว้แล้วว่าเป็นแนวอุบายของพระพุทธเจ้าท่านนะครับ ผมไม่ได้คิดเอง เพียงนำมาบอกคุณๆ เท่านั้น
ถ้าอยากได้วิธีส่งคนตายที่ดีที่สุดในโลก ก็ขอให้เชื่อพระพุทธองค์
ซึ่งทรงหยั่งทราบอุบายธรรมอันสว่างดีกว่าใครทั้งหมด นั่นคือให้ซักถามคนใกล้ตายว่ายังห่วงอะไร
ก็หาทางพูดให้เขาคลายห่วง คลายพะวง เช่น ถ้ายังห่วงลูกเมีย ก็บอกเขาว่าลูกเมียจะไม่อยู่ในโลกนี้ตลอดไป
วันหนึ่งก็ต้องตายตามเขาเหมือนกัน นอกจากนั้นก็ควรชักจูงให้คิดถึงโลกสวรรค์ที่ดีกว่าโลกมนุษย์
กับทั้งลงท้ายเหนี่ยวนำให้เห็นการเกิดในภพใดๆ ไม่เป็นสุข ต้องจากตายหายสูญจากโลกนั้นๆ กันถ้วนหน้า
คลายจิตจากความยึดมั่นถือมั่นในกายใจนี้และกายใจอื่นๆ เสียเป็นดีที่สุด

สรุปคือ พูดเหนี่ยวนำให้คนใกล้ตายตัดความอยากอยู่ต่อ และตัดความอยากเกิดใหม่ได้ นับว่าประเสริฐแท้
เพราะจิตที่คลายความยึดมั่นในความมีความเป็นทั้งหลาย คือจิตที่สว่างพ้นจากทุคติแน่นอน
และแม้ยังมีกำลังส่งไม่ถึงนิพพาน อย่างน้อยก็เที่ยงที่จะไปดี มีสุคติเป็นที่หวังได้
กับทั้งจะเป็นสัญญาณนำร่องไปสู่ความเป็นผู้เห็นถูกเห็นชอบ แสวงทางพ้นทุกข์อย่างถูกทางในกาลต่อๆ ไป

อาจกล่าวได้ว่าวาระแห่งการส่งคนตาย
คือวาระอันเหมาะ ควรแก่การให้ที่พึ่งสำคัญสูงสุดกับบุคคลอันเป็นที่รักของเรา

ที่นี้มาดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลก
ทุกวันมีคนตาย และคนตายจำนวนหนึ่งก็มีโอกาสพบญาติในวาระสุดท้าย ก่อนลมหายใจสิ้นจากร่าง
บรรดาญาติมิตรอันเป็นที่รักเขาทำอะไรกัน?
พวกเขาพากันร้องไห้ระงมเป็นจักจั่น นั่นเท่ากับสร้างภพแห่งความอาลัยขึ้นในจิตของผู้ตายชัด
ยิ่งถ้าคนใกล้ตายโชคไม่ดีหน่อย เจอญาติวิกลจริตส่งเสียงปี๊ดๆ พร่ำแต่ร้องว่าอย่าตายๆ ก็จะยิ่งใจไม่ดี
เหมือนโดนห้ามไม่ให้โดดลงเหว การที่คนเราใจไม่ดีตอนสายตากำลังพร่าพรายนี่ หูหาเรื่องง่ายนะครับ
เสียงปี๊ดๆ อาจฟังคล้ายเปรตเป่านกหวีดเรียกให้ไปเป็นพวกเร็วๆ ก็ได้

คนกำลังจะตาย ฝ่ายคนเป็นก็มารั้งแข้งรั้งขาหน่วงเหนี่ยวไว้ จนจิตเขาดิ้นรนอยากอยู่ต่อ
จิตที่ดิ้นรนนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
แล้วจิตที่เป็นทุกข์ มีความเศร้าหมอง มีความยึดติดอาลัยในภพเดิม จะมีกำลังอ่อนแอหรือแข็งแรงเล่า?
แล้วจิตอ่อนแอที่ไหนจะระลึกนึกถึงบุญกุศลอันน่าเบิกบานปีติยินดีได้?

สรุปคือส่วนหนึ่งที่คนตายไม่ค่อยได้ไปดี
ก็เห็นทีจะต้องโทษบรรดาญาติๆ ที่ไม่ค่อยเห็นใจคนตาย ไม่รู้วิธีทำให้คนตายสบายใจนี่แหละ
นี่ยังไม่นับพวกที่ไปตีกันในห้องคนไข้นะครับ เห็นพ่อแม่ร่อแร่เจียนอยู่เจียนไป ไม่ทันไรก็ทวงถามกันต่อหน้า
ทำพินัยกรรมไว้หรือยัง? จ้างทนายที่ไหนทำ? ที่ดินตรงโน้นกับรถคันนั้นเป็นของน้องหรือของหนู? ฯลฯ
ยิ่งถ้าได้รู้ความจริงว่าตัวเองได้น้อย คำถามไม่ดีจะยิ่งโถมเข้ากระแทกแก้วหูคนใกล้ตายอย่างไม่ปรานีปราศรัย
นั่นคือธรรมดากิเลสมนุษย์ รู้ๆกันอยู่แต่ที่ไม่ค่อยจะรู้กัน ก็คือเรื่องร้อนรุมเร้าคนใกล้ตาย
อาจเป็นมหันตภัยใหญ่กับเขาได้อย่างสมบูรณ์แบบสูงสุดทีเดียว!

หากถามถึงความเหมาะสมหรือแนวปฏิบัติว่าควรทำเช่นไร ผมคงบอกได้เป็นกลางๆ
แค่ว่าการมีญาติมิตรลูกหลานห้อมล้อมพร้อมหน้าพร้อมตานั้น ยังเป็นสิ่งสมควร
หากขาดไปจะเป็นการละเลยและดูดาย แต่ถ้าเห็นแก่คนตายจริงๆ ก็ขอให้หลีกเลี่ยงคำพูดสะเทือนใจทั้งหลายเถิด

ร้องไห้น่ะไม่เป็นไรนะครับ ดีเหมือนกัน คนตายจะได้รู้ว่ามีคนอาลัย แต่เตรียมๆ คำพูดไว้หน่อย
อย่าพร่ำเพ้อแบบนึกอยากพูดอะไรก็พูด หรือขออะไรที่คนตายให้กับเราเป็นครั้งสุดท้ายไม่ได้
เช่น ‘อย่าเพิ่งตายนะครับ’ หรือ ‘อยู่กับหนูต่อเถอะได้โปรด’
ขอให้อดกลั้นไว้ หันมาพูดแสดงความอาลัยในแบบที่ก่อความรู้สึกด้านดี เช่น ‘รอผมบนสวรรค์นะครับ’
หรือ ‘แล้วหนูจะพยายามทำบุญตามไปข้างบนนะคะ’
คำสั้นๆที่ออกมาจากใจจริงจะมีผลใหญ่เกินกว่าที่คุณคิด ขนาดที่จิตคนตายอาจยึดไว้เป็นเข็มทิศนำทางทีเดียว

แต่ที่ประเสริฐกว่านั้นคือคุณข่มความอาลัยไว้ได้ สะกดก้อนสะอื้นไม่ให้เจือในน้ำเสียง
พูดอย่างอบอุ่นคงเส้นคงวา เช่น
‘ไม่ต้องห่วงผมแล้ว อย่ายึดอะไรไว้อีกเลย วันหนึ่งผมก็จะจากโลกนี้ไปอย่างไม่อาลัยเหมือนกัน’
หรือ ‘ตามพระพุทธเจ้าไปถึงนิพพานอันไม่เกิดไม่ตายนะคะ’
ถ้าได้อย่างนี้หรือประมาณนี้ เสียงของคุณอาจปรุงแต่งจิตให้คนตายคลายความยึดติดทั้งหลาย
และกลายเป็นผู้ที่มีความสุขหลังความตายในระดับที่คุณนึกไม่ถึง!



โดย ดังตฤณ
จากหนังสือเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่ม ๙
ที่มา : //dungtrin.com




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2553
0 comments
Last Update : 20 มิถุนายน 2553 21:27:13 น.
Counter : 1550 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.