Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

คนพูดเก่งควบคุมโลกมาโดยตลอด และจะเป็นเช่นนั้นต่อไป ... ที่มา FB Amarinbooks





เครดิต   https://www.facebook.com/amarinpublishing/posts/1521795711247573

มาดู 6 ไอดอลนักพูดของนากกัน!
.
ผลวิเคราะห์จากหนังสืออัตชีวประวัติบุคคลผู้ประสบความสำเร็จกว่าพันเล่มได้ทำให้บรูซ บาร์ตัน(Bruce Barton) นักการเมืองและนักเขียนแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวสรุปชัดเจนว่า "คนพูดเก่งควบคุมโลกมาโดยตลอด และจะเป็นเช่นนั้นต่อไป"
.
แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ

หากลองสังเกตดูด้วยตัวเอง เราจะพบว่าคนเก่งมีจุดแตกต่างจากคนธรรมดาเพียงไม่กี่เรื่อง พวกเขาอาจมีไอคิวสูงกว่า มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า หรือมีความพยายามมากกว่า แต่ที่แน่ๆ คนเก่งย่อมมีทักษะการพูดที่เหนือชั้นกว่าคนอื่น
.
ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า “คนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นไม่เพียงต้องมีความรู้ แต่ต้องมีความสามารถด้านการพูดด้วย”
.
เรื่องเล่าจากนักพูดในตำนานทั้ง 6 คนต่อไปนี้ สามารถพิสูจน์คำกล่าวนั้นได้ดีเลยล่ะ



อารมณ์ขันคือเครื่องมือสำคัญในการพูด

ปี ค.ศ. 1981 ‘ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน’ (Ronald Wilson Reagan) ถูกลอบสังหารบาดเจ็บ เมื่อพาตัวเขาขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉิน พวกนางพยาบาลต่างช่วยกันจับตัวเรแกนเพื่อห้ามเลือด

แม้จะบาดเจ็บแต่ท่านประธานาธิบดีก็ยังมีอารมณ์ขัน เรแกนถามพวกนางพยาบาล

"นี่คุณขออนุญาตแนนซี (ภรรยา) แล้วเหรอ"

พวกเธอรีบตอบรับเป็นเสียงเดียวว่า "พวกเราขออนุญาตจากท่านสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแล้วค่ะ"

มุกตลกของเรแกนได้ลดบรรยากาศกดดันแก่นางพยาบาลที่ต้องปฐมพยาบาลคนไข้ที่เป็นถึงประธานาธิบดีซึ่งกำลังเลือดตัวท่วมลงได้โข



แม้คนพูดเก่งก็ต้องวางแผนก่อนพูด

นักพูดผู้เปี่ยมอารมณ์ขันและคารมคมคายเช่นอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรสองสมัย
‘วินสตัน เชอร์ชิลล์’ (Winston Leonard Spencer-Churchill)

เดิมที่นั้นเชอร์ชิลล์พูดไม่ชัดขนาดเลขาฯ ที่เขาจ้างมาแรก ๆ มักจะฟังคำพูดเขาไม่เข้าใจเลยทีเดียว แต่เขารู้จุดอ่อนของตนและพยายามทุ่มเทแก้ไข กระทั่งสร้างสไตล์การพูดของตนเองได้สำเร็จ

ทุกสุนทรพจน์ของเชอร์ชิลล์มาจากการเตรียมตัวอย่างละเอียดลออ

ปกติหากต้องพูดในรัฐสภานาน 40 นาทีเขาจะเตรียมตัวประมาณ 6-8 ชั่วโมง ถ้าต้องกล่าวสุนทรพจน์ที่สำคัญมาก ๆ เชอร์ชิลล์กับที่ปรึกษาจะต้องทำงานหนักเพื่อเตรียมและปรับแก้แบบร่างสุนทรพจน์กันโต้รุ่งเลยทีเดียว

อีกทั้งเชอร์ชิลล์พยายามไม่ใช้คำตามสมัยนิยมหรือคำศัพท์เฉพาะแบบนักพูดคนอื่น สมมตินักการเมืองคนอื่นพูด "ทั้งสองฝ่ายลงนามตกลงกัน" เชอร์ชิลล์จะพูด "ทั้งสองฝ่ายจับมือกัน" หรือคำว่า "ชนชั้นกรรมาชีพ" เขาก็จะพูดว่า "คนยากจน"

ในต้นฉบับเขียนรายละเอียดถึงขนาดว่า "ตรงนี้ให้หยุดพักหายใจ -->ตรงนี้ต้องพูดตะกุกตะกักเล็กน้อยทำทีว่าคิดหาศัพท์ที่เหมาะสม -->ตรงนี้ต้องสำรวม" ขณะเดียวกันเชอร์ชิลล์ก็วางแว่นตาไว้บนปลายจมูกเพื่อให้เหมือนกับว่าเขากำลังพูดกับผู้ฟังโดยตรงทั้งที่จริง ๆ แล้วเขากำลังอ่านร่างสุนทรพจน์อยู่ วิธีนี้ได้ผลดีมากเพราะผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเชอร์ชิลล์อ่านมัน

ผลลัพธ์ของการเตรียมตัวอย่างรอบคอบและการวางแผนอันแยบคายช่วยให้เขาพูดด้วยบุคลิกเป็นธรรมชาติ เหมือนคนพูดด้วยอิริยาบถปกต



คำพูดที่เอาใจใส่ผู้อื่นนั้นยอดเยี่ยมที่สุด

หลังดยุคแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley) ได้ชัยชนะเหนือกองทัพของนโปเลียนในยุทธการวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษก็โปรดให้จัดงานฉลองชัยชนะ มีขุนนางชั้นสูงและสุภาพบุรุษสุภาพสตรีผู้ทรงเกียรติมาร่วมงานกันมากมาย เมื่อรับประทานอาหารร่วมกันเสร็จ บริกรก็จัดแจงยกชามใส่น้ำล้างมือมาที่โต๊ะ

ทหารหนุ่มจากชนบทคนหนึ่งไม่รู้ธรรมเนียมจึงยกน้ำในชามขึ้นดื่ม เล่นเอาแขกในงานตกใจได้แต่ร้อง "ดะ... เดี๋ยว!" ส่วนสาว ๆ ก็หัวเราะกันคิกคัก ทหารหนุ่มรู้ตัวว่าทำเปิ่นเข้าแล้ว เขาอับอายจนหน้าแดงก่ำ เพื่อนทหารคนอื่นก็เสียหน้าเพราะเขาเช่นกัน

ดยุคแห่งเวลลิงตันเห็นเหตุการณ์นี้ก็ลุกขึ้นกล่าว

"ท่านสุภาพบุรุษสุภาพสตรีที่รัก! ขอเชิญทุกท่านดื่มน้ำในชามอย่างพลทหารหนุ่มนายนี้ผู้ร่วมรบอย่างองอาจจนพวกเราได้ชัยชนะในยุทธการวอเตอร์ลูครับ!"

ว่าแล้วท่านดยุคก็ดื่มน้ำในชาม ในเมื่อพระเอกของงานดื่ม ทั้งขุนนางทั้งแขกเหรื่อทุกคนในที่นั้นจึงดื่มน้ำในชาม พร้อมกับเสียงปรบมือดังสนั่นหวั่นไหวในสถานที่จัดงาน

มันช่างเป็นการแก้สถานการณ์และรักษาน้ำใจผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างเยี่ยมยอด ว่าไหม




คนติดอ่างก็เป็นนักพูดผู้ยิ่งใหญ่ได้

หลายคนหวาดหวั่นกับการพูดต่อหน้าสาธารณชนแต่ไม่ใช่กับเขาคนนี้

ลี ไอเอคอคคา (Lee Iacocca) ผู้บริหารระดับตำนานของธุรกิจรถยนต์ในอเมริกา อธิบายถึงความสำเร็จของเขาว่า "ยกความดีให้ทักษะการพูด"

ต้นทศวรรษ 1980 ตอนเขารับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทรถยนต์ไครสเลอร์ (Chrysler) ที่จวนเจียนล้มละลายเพราะขาดทุนสะสม ผู้คนต่างเย้ยหยันว่าเขา "สติไม่ดี" แต่ไอเอคอคคาไม่สะทกสะท้านกับความเห็นจากภายนอก เขาบุกเดี่ยวไปวอชิงตันเพื่อโน้มน้าวรัฐบาลกลางให้อนุมัติค้ำประกันเงินกู้จำนวน 1,700 ล้านดอลลาร์ให้ พร้อมทั้งปลุกใจพนักงานในบริษัทที่กำลังท้อ และเรียกความมั่นใจของผู้บริโภคชาวอเมริกันว่า "ไครสเลอร์คืนชีพแล้ว"

ไอเอคอคคาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในโฆษณาทางโทรทัศน์ด้วยตัวเอง เขาพูดออกอากาศอย่างมั่นใจ
ว่า "เราเคยภูมิใจกับคำว่า Made in USA เพราะมันหมายถึงคนอเมริกันผลิตสินค้าคุณภาพระดับโลก โชคร้ายที่ทุกวันนี้ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่เชื่อเช่นนั้นแล้ว ซึ่งจะถือว่าสมควรแล้วก็ได้”

ไอเอคอคคายกย่องไครสเลอร์เป็นสุดยอดนวัตกรรมรถยนต์ที่แตกต่างจากรถยนต์ในอดีต

"หากท่านเจอรถที่ดีกว่าไครสเลอร์ก็ซื้อมันได้เลย"

ก่อนจะเสริมว่าหากเจอรถยนต์ของบริษัทอื่นที่สมรรถนะดีกว่ารถของไครสเลอร์ บริษัทยินดีจ่ายให้ลูกค้า 50 ดอลลาร์

โฆษณาชิ้นนี้กระตุ้นความภูมิใจของชาวอเมริกัน บ่งบอกถึงการกลับมาอันยิ่งใหญ่ของไครสเลอร์ และเพิ่มความนิยมในตัวไอเอคอคคาจนพุ่งสูงขนาดมีสิทธิ์ลงสมัครประธานาธิบดีเลยทีเดียว

ทุกวันนี้ไอเอคอคคาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักพูดแถวหน้าของอเมริกา

อันที่จริงเขาไม่ได้พูดเก่งมาตั้งแต่แรก ไอเอคอคคาพูดติดอ่างกระทั่งอายุ 25 ปี ก่อนจะเข้าอบรม "คอร์สฝึกการพูด" ทำให้เขาเข้าใจหลักการพูดอย่างแตกฉาน เขาหมั่นฝึกฝนจนมั่นใจ ผลลัพธ์คือเกียรติยศชื่อเสียงที่เรารู้จักถึงตอนนี้



ทักษะการพูดไม่ใช่พรสวรรค์ แต่คือพรแสวง

ความล้มเหลวจากธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ส่งผลให้คุณพ่อของจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) นักวิจารณ์และนักเขียนบทละครชื่อดังของอังกฤษ กลายเป็นคนติดเหล้าและไม่ดูแลครอบครัว ชอว์จบการศึกษาแค่ระดับประถมก็ต้องไปทำงานเป็นเด็กรับใช้ในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ด้วยวัยเพียง 15 ปีเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง

พออายุ 20 ปีเขาเดินทางจากกรุงดับลินบ้านเกิดไปหางานทำยังกรุงลอนดอน

เย็นวันหนึ่งขณะหางานทำ เขาจับพลัดจับผลูได้เข้าชมการโต้วาที ฝีปากของพวกนักโต้วาทียอดเยี่ยมมาก ฝ่ายเสนอพูดตรรกะของตนอย่างจัดเจน ส่วนฝ่ายค้านก็โต้แย้งได้ชาญฉลาด ชอว์ประทับใจการโต้วาทีมากจนอยากลองโต้วาทีด้วยบ้าง เขาลองลงโต้วาทีดูแต่ปรากฏว่าเป็นได้เพียงตัวตลก เขาอับอายเพราะตนมีทักษะการพูดอันน้อยนิด ภายหลังเมื่อมีการจัดโต้วาทีที่ไหน ชอว์จะไปฟังทุกครั้งและร่วมลงโต้วาทีเองอีกหลายครั้ง แม้จะตะกุกตะกักบ้างแต่เขาไม่เคยถอดใจ อีกทั้งไม่เกียจคร้านพยายามเรียนรู้เคล็ดลับการโต้วาที ผลสุดท้ายจึงมีชื่อเสียงว่าเป็นนักพูดผู้เก่งกาจ

จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์กลายเป็นนักพูดชื่อก้องก็ด้วยความเพียรของตน เขาได้รับเชิญให้ไปพูดบรรยายทั่วประเทศนานถึง 12 ปี

วันหนึ่งมีหนุ่มน้อยผู้ประทับใจทักษะการพูดของเขาได้เอ่ยถามเคล็ดลับการพูด ชอว์ตอบว่า

"การพูดเหมือนการเล่นสเก็ตครับเวลาหัดเล่นสเก็ต เรามักจะจินตนาการภาพตัวเองวาดลวดลายงามสง่าเหนือลานน้ำแข็ง แต่สำหรับการเล่นครั้งแรก อย่าว่าแต่งามสง่า เราได้แต่ลื่นล้มเสียมากกว่า การลื่นล้มมันน่าอาย แต่ถ้าเราไม่ยี่หระและมุ่งมั่นทรงตัวเล่นต่อไป ไม่นานเราก็จะสเก็ตอย่างคล่องแคล่วด้วยท่วงท่าสง่างามจนได้

“การพูดก็เหมือนกัน ตอนแรกเราจะสั่น พูดตะกุกตะกัก ประหม่า แต่เมื่อมุ่งมั่นตั้งใจฝึกพูดไปเรื่อย ๆ เราจะพูดได้อย่างชำนาญชนิดที่ว่าชินชากับเสียงปรบมือและเสียงเชียร์ไปเลย การพูดต้องฝึกเหมือนกับการฝึกเล่นสเก็ตนั่นละ ต้องขัดเกลาทักษะโดยมีความตั้งใจว่า ‘ฉันจะต้องพูดเก่ง’ตั้งใจฝึกไปจนกว่าจะได้ยินคำชมจากผู้คนว่า‘เธอพูดเก่ง’ แล้วคุณก็จะพูดคล่องได้อย่างที่ผมเป็น"

ใช่แล้ว เช่นเดียวกับทักษะส่วนใหญ่ การพูดคือพรแสวง ไม่ใช่พรสวรรค์ ขอเพียงตั้งใจแน่วแน่มากพอและขยันฝึกฝน ไม่ว่าใครก็พัฒนาทักษะการพูดได้สำเร็จ



คนไม่รีบร้อนพูดคือผู้ชนะ

เจ. พี. มอร์แกน (John Pierpont Morgan มีชีวิตอยู่ในปี ค.ศ. 1837-1913) นักการเงินระบบทุนนิยม "ระดับตำนาน" คือผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาต่อรอง

ครั้งหนึ่งชายหนุ่มสองพี่น้องผู้ถือครองหุ้นจำนวนมากในบริษัทยู.เอส.สตีลมาพบมอร์แกนในที่ทำงานเพราะต้องการขายหุ้นให้ ก่อนมาพวกเขาทุ่มเถียงกันว่าควรเรียกราคาเท่าไรดี

"ห้ามต่ำกว่า 9 ล้านเหรียญเด็ดขาด"
พี่ชายพูด น้องชายจึงแก้ให้ว่า

"ตลกละ มอร์แกนเขี้ยวจะตาย เราเรียกเยอะขนาดนั้นไม่ได้หรอก สัก 7 ล้านเหรียญกำลังเหมาะ"

ทว่าเมื่อมอร์แกนมาถึง เรื่องดันกลับตาลปัตร
"ผมไม่มีเวลาคุยนาน ขอบอกเลยแล้วกันว่า
ถ้าเกิน 15 ล้านเหรียญ ผมสู้ไม่ไหว"

ถ้าเป็นคนอื่นอาจดีใจเนื้อเต้น รีบขายหุ้นให้ทันที
แต่สองพี่น้องคู่นี้ไม่ใช่แบบนั้น

"น่าผิดหวังจังเราตั้งใจว่าราคาต่ำสุดจะขายที่ 20 ล้านเหรียญน่ะครับ"

มอร์แกนจึงต่อรองราวกับคำนวณรอไว้แล้ว

"งั้นคงต้องพบกันครึ่งทางนะครับ"

เพราะสองพี่น้องไม่เป็นฝ่ายเสนอไปก่อน จึงได้เงินเพิ่มอีกหลายล้านเหรียญจากผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดนักต่อรองระดับโลก

การไม่รีบร้อนเป็นฝ่ายเสนอก่อน รอให้อีกฝ่ายเสนอมา น่าจะเรียกว่าเป็นสุดยอดของบทสนทนาจูงใจในการต่อรองได้เลย การเจรจาต่อรองสำคัญตรงที่เราต้องไม่รีบเร่ง มีเวลาให้หยุดคิดก่อนพูด







Create Date : 19 ธันวาคม 2560
Last Update : 19 ธันวาคม 2560 13:50:23 น. 0 comments
Counter : 1349 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]